ลูกล่าสุดจ่อถล่มไทย
สั่งปรับการระบายน้ำ
บรรเทา15จังหวัดจม
คนบางบาลชักธงแดง
วอนช่วย-ท่วมนาน2ด.

สั่งทุกหน่วยเกี่ยวกับน้ำจับตาพายุลูกใหม่ ‘หมาเหล่า’ จ่อถล่มไทย แถมน้ำทะเลหนุนช่วงอีกไม่กี่วันนี้ เผย ‘บิ๊กป้อม’ ออกโรงพร้อมเร่งช่วย 15 จังหวัดอุทกภัย กรมชลฯ ระบุน้ำเจ้าพระยาตอนบนลดลง ต่อเนื่อง กำลังเร่งระบายน้ำออกทะเลให้เร็วที่สุด ชาวบ้านกุ่ม อ.บางบาล ต้องปักธงแดงประท้วง สุดทนหลังถูกน้ำท่วมเกือบมิดหลังคานาน 2 เดือน เผยชีวิตสุดลำบากวอนรัฐช่วยเหลือด่วน ที่ศรีสะเกษอ่างเก็บน้ำทะลักเกินปริมาณกักเก็บถึง 14 แห่ง เอ่อไหลท่วมถึง 7 อำเภอ เขื่อนราษีไศลต้องชักธงแดง เตือนวิกฤตอันตราย ขอให้ชาวบ้านเตรียมเก็บของหนีน้ำ ที่โคราช น้ำในลำมูนก็เพิ่มระดับขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังชลประทานเร่งผลักดันน้ำจากลำตะคอง จนไหลท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ ผวจ.ขอนแก่นก็สั่งจับตาพายุ เตรียมระบายน้ำเขื่อนอุบลรัตน์เพิ่ม

ตลาดสามพราน – น้ำจากแม่น้ำท่าจีนและน้ำหนุนจากทะเลทะลักเข้าตลาดสามพราน จ.นครปฐม ร้านค้านับร้อยคูหาถูกน้ำท่วมสูง บางร้านต้องปิดหนี ชาวบ้านระบุเหลือเพียง 10 ซ.ม.จะเท่าน้ำท่วมใหญ่ 2554 เมื่อวันที่ 24 ต.ค.

วันที่ 24 ต.ค. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานจากอิทธิพลความกดอากาศสูงจากประเทศจีนที่แผ่ลงมาปกคลุมบริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมีลมตะวันออก และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ซึ่งจะทำให้มีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตั้งแต่วันที่ 21-24 ต.ค. อาจเกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 11 จังหวัด คือ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ลำปาง อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ เลย ขอนแก่น กาญจนบุรี ราชบุรี และสุราษฎร์ธานี

ขณะที่สถานการณ์อุทกภัยจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศลาวตอนบนและประเทศเวียดนามตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ตั้งแต่ วันที่ 17-19 ต.ค. ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สระแก้ว ชลบุรี สมุทรปราการ นครปฐม และกาญ จนบุรี สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 4 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 6 จังหวัด

ด้านนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรม ชลประทานเปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์สภาพอากาศในระยะนี้ว่า ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ประกอบกับมีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมบริเวณภาคใต้และ อ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคกลางตอนล่าง และภาคใต้ ยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง

ขอให้ประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ ตกสะสม อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในระยะนี้ไว้ด้วย

ส่วนสถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่สถานีวัดน้ำท่า ซี.2 อ.เมืองนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,546 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ก่อนไหลลงสู่เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,766 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มเริ่มทรงตัว แต่ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาน้ำมีเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ด้านลุ่มน้ำป่าสัก เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ยังคงระบายที่ 580 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มปริมาณน้ำทางตอนบนลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ในพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนยังคงมีฝนตกในหลายพื้นที่ ทำให้มีน้ำท่าไหลหลากลงสู่แม่น้ำป่าสัก ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย อาทิ อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 3 ซ.ม. อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 7 ซ.ม. อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 7 ซ.ม. เขื่อนพระรามหกได้ควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่าน 746 ลบ.ม./วินาที พร้อมกับปรับการรับน้ำเข้าคลองระพีพัฒน์ เพื่อช่วยแบ่งเบาปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าสู่จ.พระนครศรีอยุธยาให้มากที่สุด

ด้านพล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รอง นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงประชาชนในพื้นที่ 15 จังหวัดที่ยังประสบปัญหาอุทกภัย

โดยกังวลพายุลูกใหม่ที่จะเข้ามาซ้ำเติม ขณะที่ฝนยังมีอย่างต่อเนื่องแทบทุกภาค รวมทั้งยังมีน้ำทะเลหนุนสูงระหว่างวันที่ 23-27 ต.ค.นี้ จึงกำชับให้สทนช.ติดตามพยากรณ์สภาพอากาศและพายุ “หมาเหล่า” โดยให้ประเมินสถานการณ์น้ำเข้าเขื่อน พิจารณาปรับการระบายน้ำลงแม่น้ำสายหลัก ไม่ให้น้ำล้นตลิ่งกระทบพื้นที่โดยรอบ

สำหรับการบริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำท่าจีนก็ขอให้ประสานกรมชลประทาน ใช้ระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาช่วยลดปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีน โดยให้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในแม่น้ำท่าจีนตามจุดต่างๆ เร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วขึ้น เพื่อลดปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่จ.สุพรรณบุรีและนครปฐม

สำหรับภาพรวมการช่วยเหลือของกระทรวงกลาโหม ยังคงสนับสนุนส่วนราชการต่างๆ และทำงานร่วมกับจิตอาสา ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่องมา โดยมีการหมุนเวียนกำลังพลกว่า 15,000 นาย รวมทั้งเครื่องมือช่างและยานพาหนะกว่า 900 คัน กระจายลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือเร่งด่วน

ชักธงแดง – นายสมศักดิ์ สุดเสือ ชาวบ้าน ต.บ้านกุ่ม อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ปักธงแดงบนหลังคาบ้านที่น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาท่วมสูงเข้าสู่เดือนที่ 2 โดยไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ชี้ให้เห็นความยากลำบากของชาวบ้าน เมื่อวันที่ 24 ต.ค.

ขณะที่จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านต.บ้านกุ่ม อ.บางบาล ที่ถูกน้ำท่วมขังจนเข้าสู่เดือนที่ 2 แล้ว บ้านบางหลังถูกน้ำท่วมจนไม่สามารถพักอาศัยอยู่ได้ ต้องไปอาศัยบ้านญาติ ชาวบ้านบางคนที่ยังห่วงทรัพย์สินก็ยอมสู้ที่จะอยู่ในบ้าน ต้องหนุนบ้านเพื่อใช้หลับนอน ข้าวของบางอย่างต้องปล่อยจมน้ำเสียหาย

นายสมศักดิ์ สุดเสือ อายุ 55 ปี กล่าวว่า ตนหนุนบ้านเพื่อหนีระดับน้ำมาถึง 3 รอบแล้ว จนตอนนี้น้ำขึ้นจะถึงพัดลมเพดานของบ้านแล้ว ใช้ชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบาก คิดอะไรไม่ออกจะสะท้อนปัญหาความเดือดร้อนของตน จึงแสดงสัญลักษณ์ด้วยการปักธงแดงไว้บนหลังคา เพื่อให้หน่วยงานรัฐหรือผู้ที่เกี่ยวข้องมองเห็นความยากลำบากของชาวบ้านกุ่ม เพราะระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ท่วมอยู่ในขณะนี้ ระดับน้ำมากกว่าปี 2554 แล้วประมาณ 10 เซนติเมตร

ส่วนนางปราณี สาระสัย อายุ 59 ปี ก็กล่าวว่า บ้านของตนเป็นบ้านไม้ใต้ถุนสูงถูกน้ำท่วมจนถึงหลังคาบ้านแล้ว จนไม่สามารถพักอยู่ในบ้านได้ ต้องเก็บข้าวของไปอาศัยอยู่กับบ้านญาติที่อยู่ใกล้กัน

ที่จ.นครปฐม ระดับน้ำบริเวณริมแม่น้ำท่าจีน บริเวณด้านข้างสภ.สามพราน วัดได้ 1.80 เซนติเมตร อีก 20 ซ.ม.ก็จะเข้าขั้นวิกฤต โดยมีน้ำเอ่อเข้าท่วมถึง 3 อำเภอ ได้แก่บางเลน,นครชัยศรี และสามพราน ล่าสุดยังเข้าท่วมตลาดสดสามพราน พ่อค้าแม่ค้าบางร้านก็ต้องหยุดขาย เพราะระดับน้ำสูงกว่า 30 ซ.ม.

ส่วนวัดกลางบางพระ อ.นครชัยศรี ที่มีพระพุทธรูปขนาดใหญ่สูง 30 เมตร น้ำท่วมเข้ามาถึงลานองค์พระ เจ้าอาวาสต้องระดมชาวบ้านและเจ้าหน้าที่มูลนิธิทำคันถมดินสูงกว่า 1 เมตรเพื่อล้อมรอบวัด ส่วนหลังวัดซึ่งเป็นถนนบางเลน-นครชัยศรี ก็ถูกน้ำท่วมตลอดสายระดับน้ำสูงกว่า 50 ซ.ม.รถไม่สามารถวิ่งผ่านได้ ชาวบ้านต้องใช้เรือพายออกมาหาซื้อสิ่งของ นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผวจ.นครปฐม ต้องสั่งการด่วนให้ความช่วยเหลือเป็นการด่วน

ส่วนที่จ.ศรีสะเกษ โครงการชลประทานได้รายงานว่า ขณะนี้อ่างเก็บทั้ง 16 แห่งของศรีสะเกษ มีน้ำล้นอ่างเก็บน้ำเกินปริมาณที่เก็บกักจำนวน 14 แห่งด้วยกัน และไม่เกินระดับน้ำที่เก็บกักเพียง 2 แห่งเท่านั้น ที่อ่างเก็บน้ำห้วยศาลา ต.โคกตาล อ.ภูสิงห์ มีปริมาณน้ำ 103.77 เปอร์เซ็นต์ อ่างเก็บน้ำห้วยติ๊กชู มีปริมาณน้ำ 106.87 เปอร์เซ็นต์ อ่างเก็บน้ำห้วยสำราญ มีปริมาณน้ำ 102.61 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนราษีไศล ปริมาณน้ำ 111.41 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนหัวนาปริมาณน้ำ 156.67 เปอร์เซ็นต์

วิกฤต – น้ำจำนวนมหาศาลล้นทะลักเขื่อนราษีไศล จ.ศรีสะเกษ เจ้าหน้าที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่างต้องปักธงแดงแสดงระดับน้ำอยู่ในขั้นวิกฤต เตือนชาวบ้านใต้เขื่อนให้รีบอพยพขึ้นที่สูง เมื่อวันที่ 24 ต.ค.

นายบุญประสงค์ นวลสายย์ หน.ปภ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ปริมาณล้นอ่างเก็บน้ำลงมาได้ไหลเอ่อล้นเข้าไปท่วมไร่นาบ้านเรือนของชาวบ้านในเขต 7 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมือง, ขุขันธ์,ปรางค์กู่, อุทุมพรพิสัย, ศรีรัตนะ, วังหิน และห้วยทับทัน ระดับน้ำยังสูงขึ้นเรื่อยๆ มีเพียงอ.ปรางค์กู่และห้วยทับทันที่ระดับน้ำเริ่มทรงตัว ตนได้ประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยอย่างเร่ง ด่วนแล้ว

ด้านนายภานรินทร์ ภาณุพินทุ ผอ. โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง อ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศล เปิดเผยว่า ตนมอบหมายให้เจ้าหน้าที่นำธงแดงไปติดไว้เหนือเขื่อน เป็นสัญลักษณ์ “วิกฤต อันตราย” เพราะระดับน้ำอยู่ในขั้นวิกฤต เริ่มล้นตลิ่ง

โดยได้ประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนอพยพเคลื่อนย้ายทรัพย์สินขึ้นที่สูง และให้ระวังภัยจากน้ำท่วมไหลหลาก เนื่องจากมวลน้ำจากจ.นครราชสีมา บวกกับน้ำจากลำห้วยทับทัน ส่งผลให้น้ำที่เขื่อนราษีไศลมีระดับน้ำสูงขึ้น โดยในวันนี้ ระดับน้ำของเขื่อนอยู่ที่ 119.97 ร.มทก.สูงขึ้นกว่าเมื่อวานนี้ถึง 24 ซ.ม. ต้องแขวนประตูระบายน้ำทั้ง 7 บาน มาตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้น้ำไหลตามธรรมชาติ สภาพน้ำยังไหลแรงมาก

ที่จ.นครราชสีมา จากสถานการณ์น้ำท่วมขังในเขตตัวเมืองนครราชสีมา ทางชลประทานต้องเปิดประตูระบายน้ำข่อยงาม ทั้ง 3 บาน พร้อมติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ จนสามารถเพิ่มอัตราการไหลของน้ำได้เร็วขึ้น

ส่วนประตูระบายน้ำจอหอ ก็มีการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำอีกหลายเครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำใน ลำตะคองให้ไหลตามคลองบริบูรณ์ ลงสู่แม่น้ำมูนที่ต.ท่าช้าง อ.เฉลิม พระเกียรติ โดยเร็วที่สุด ส่งผลให้ปริมาณน้ำในลำน้ำมูนสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งมวลน้ำก่อนนี้จะไหลต่อไปยังพื้นที่อ.พิมาย เป็นมวลน้ำก้อนใหญ่รวมกันระหว่างลำมูน ลำตะคอง และน้ำจาก ลำเชียงไกร จึงขอให้ประชาชนพื้นที่ลุ่มริมฝั่งให้ติดตามข่าวสารและประกาศแจ้งเตือนอย่างใกล้ชิด

ส่วนที่จ.ขอนแก่น ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์น้ำในต.ท่ากระเสริม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น หลังจากเขื่อนอุบลรัตน์ปรับการระบายน้ำจากวันละ 25 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน เป็น 35 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน พร้อมเตรียมพิจารณาปรับเพิ่มการระบายน้ำอย่างน้อยวันละ 54 ล้าน ลบ.ม. หากสถานการณ์น้ำไหลเข้าเขื่อนยังคงเพิ่มสูงต่อเนื่อง

ขณะที่ชลประทานขอนแก่น นำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 2 เครื่อง มาตั้งสูบน้ำออกจากลำห้วยใหญ่ เพื่อระบายลงไปที่ลำน้ำพอง นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์นั้นสรุปได้ว่า มีการระบายน้ำวันละ 25 ล้าน ลบ.ม. แต่ระดับน้ำยังมีความเสี่ยงสูง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อคันดินโนนสัง จ.หนองบัวลำภู จึงปรับการระบายเพิ่มเป็น 35 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน

และช่วงวันที่ 28-30 ต.ค.นี้ อาจจะได้รับผลกระทบจากหย่อมความกดอากาศต่ำ อาจมีพายุส่งผลให้มีฝนตกหนักในพื้นที่รับน้ำของเขื่อนเพิ่ม ก็อาจพิจารณาปรับเพิ่มการระบายน้ำ อย่างน้อยวันละ 54 ล้าน ลบ.ม. เริ่มจากวันที่ 25 ต.ค.ระบายที่ 34 ล้าน ลบ.ม.จากนั้นมีแผนจะระบายวันละ 35 ล้าน ลบ.ม.โดยประเมินสถานการณ์แบบวันต่อวันด้วย

ขณะเดียวกัน นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผวจ.อุบลราชธานี นำคณะล่องเรือจาก ปากแม่น้ำชี อ.วารินชำราบ มาตามแม่น้ำมูน เพื่อประเมินการรับมือระดับแม่น้ำมูนที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งจากแม่น้ำมูนและแม่น้ำชีจากจังหวัดด้านเหนือที่ไหลมาสมทบกัน

คาดว่าน้ำในแม่น้ำมูนจะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 28 ต.ค.นี้ จะทำให้มีน้ำล้นตลิ่งไม่น่าจะเกิน 30 ซ.ม.ทั้งนี้ระดับน้ำอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้อีก เพราะมีการก่อตัวของพายุลูกใหม่ที่พัดเข้าสู่จังหวัดในช่วงเดียวกัน จึงได้แจ้งเตือนประชาชนที่มีบ้านเรือนอยู่สองฝั่งแม่น้ำมูน ให้เตรียมรับมือกับอิทธิพลของพายุลูกใหม่ด้วย

ส่วนที่อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 23 ต.ค.ที่ผ่านมา เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องนาน 2-3 ชั่วโมง ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากอย่างรวดเร็ว ท่วมลำคลองและบ้านเรือนราษฎรที่อยู่ริมคลอง น้ำป่ายังพัดพาเอาดินโคลนมากองไว้บนถนนและบ้านเรือน

นายเจริญศักดิ์ วงศ์สุวรรณ นายอำเภอไชยา ได้ออกตรวจเยี่ยมดูสถานการณ์ พบถนนบางจุดมีน้ำท่วม บางแห่งระดับน้ำเริ่มลดลงแล้ว แต่ได้ทิ้งร่องรอยความเสียหายไว้ เช่น ไฟฟ้าดับทุกจุด สัญญาณโทรศัพท์ใช้การ ไม่ได้

ล่าสุดนายวิชวุทย์ จินโต ผวจ.สุราษฎร์ธานี สั่งติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยให้จัดเจ้าหน้าที่คอยช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเป็นการเร่งด่วนด้วย

ที่ ต.พระธาตุ อ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งกำลังประสบปัญหามวลน้ำจากแม่น้ำชีเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้าน วัด และพื้นที่การเกษตร นาปีที่ข้าวกำลังตั้งท้องกว่า 2,500 ไร่ก็เสียหาย ชาวบ้านบุ่งค้า หมู่ 3, บ้านแก่งข่า หมู่ 1 และบ้านปากบุ่ง หมู่ 8 ต้องอพยพนำข้าวของ พร้อมด้วยเด็กและคนชราหนีน้ำขึ้นไปสร้างเพิงพักบนพนังกั้นน้ำหน้าหมู่บ้านกันอย่างเร่งด่วน

นางบัวเรียน พิมพ์รัตน์ ผญบ.หมู่ 1 เปิดเผยว่า สิ่งที่ชาวบ้านต้องการมากที่สุดในตอนนี้คือ หญ้าอาหารสัตว์ เพราะชาวบ้านต้องซื้อหญ้ามาเลี้ยงโค-กระบือ ซึ่งตอนนี้ก็หายากมาก ส่วนพระภิกษุก็ไม่สามารถออกบิณฑบาตได้ตามปกติ เพราะน้ำท่วมสูงถึง 2-4 เมตร พระและชาวบ้านต้องอพยพหนีน้ำขึ้นมาสร้างเพิงพักอาศัย และจำวัดบนพนังกั้นน้ำด้านทิศใต้ของหมู่บ้าน การเข้า-ออกหมู่บ้านก็ต้องใช้เรือพายและเรือท้องแบนเท่านั้น เนื่องจากระดับน้ำท่วมสูง

พล.ต.วรเชษฐ์ ชวนะนรเศรษฐ์ ผอ.ศบภ.มทบ.27 ได้สั่งการให้ ร.อ.บรรพต แดงอาจ ผบ.ร้อยบรรเทาสาธารณภัยฯ นำกำลังพลลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน พร้อมนำคณะออกติดตาม ตรวจเยี่ยม กำกับดูแล ผู้ประสบภัยพิบัติในพื้นที่ รวมทั้งเยี่ยมให้กำลังใจกองร้อยบรรเทาสาธารณภัย ที่ออกปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนด้วย ทั้งนี้ทาง มทบ.27 ถือเป็นหน่วยงานที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน มีภารกิจเข้าไปให้ความช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัยในลำดับแรก ซึ่งตรงกับปรัชญา ที่ว่า “ทหารเป็นที่พึ่งของประชาชน” อีกด้วย

ส่วนที่จ.สระบุรี ตลาดต้าน้ำต้นตาล หรือตลาดท่าน้ำต้นตาล ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก อ.เสาไห้ จ.สระบุรี ช่วงมีน้ำท่วมตลาด บรรดาพ่อค้า-แม่ค้าต้องขนย้ายสินค้าชุมชนมาขาย ที่ลานจอดรถ บริเวณด้านหน้าอุโบสถวัดต้นตาล พอน้ำลดก็กลับลงไปขายที่ตลาด ริมน้ำตามเดิม แม้ว่าระดับน้ำลดลงแล้ว แต่ก็ยังพอมาตั้งขายสินค้าชุมชนได้ พอตอนเช้าก็วางสินค้าขายได้ พอตกสายๆ น้ำเริ่มเพิ่มระดับสูงขึ้น แม่ค้าต้องยืนเท้าแช่น้ำขายของ แต่ทุกคนต่างบอกว่าก็ต้องปรับตัวให้ได้ สำหรับบรรยากาศในวันนี้ มีนักท่องเที่ยว ค่อนข้างบางตา เพราะส่วนใหญ่จะไปร่วมงานบุญกฐิน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน