สธ.เจอ18รายจาก3จว.
ชี้ฤทธิ์หลบภูมิต้านทาน

สั่งคุมเข้มโควิดกลายพันธุ์ หลังเจอ ‘เดลตาพลัส’ มี ‘อัลฟา พลัส’ โผล่มาอีกสธ.ตรวจเจอ 16 ราย ที่เชียงใหม่ 2 ราย และล้งผลไม้ที่จันท์-ตราด 16 ราย ชี้อันตรายมีความสามารถหลบภูมิต้านทานได้ เตือนอย่าตื่นตระหนก เผยป่วยใหม่ 7,706 เฉพาะ 4 จังหวัดใต้รวม 1,810

รับเปิดเกาะ – เจ้าหน้าที่ร.พ.สมุย จ.สุราษฎร์ธานี ฉีดวัคซีนให้ชาวเกาะสมุย ชาวต่างชาติ และแรงงาน 3 สัญชาติ เพื่อเตรียมพร้อมเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล สมุย

4 จว.ใต้ป่วยใหม่ 1,810 ราย

เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อใหม่ 7,706 ราย สะสม 1,866,863 ราย หายป่วย 9,532 ราย สะสม 1,748,848 ราย เสียชีวิต 66 ราย สะสม 18,865 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 98,150 ราย อยู่ในร.พ. 41,896 ราย ร.พ.สนามและอื่นๆ 56,254 ราย มีอาการหนัก 2,414 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 544 ราย

ภาพรวมผู้ติดเชื้อวันนี้มาจาก 67 จังหวัดรวมกันสูงสุด 4,446 ราย คิดเป็น 59% 4 จังหวัดชายแดนใต้ 1,810 ราย คิดเป็น 24% กทม.และปริมณฑล 1,312 ราย คิดเป็น 17% ส่วนเรือนจำพบ 128 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศมี 10 ราย ได้แก่ เบลเยียม 4 ราย อังกฤษ 2 ราย รัสเซีย เดนมาร์ก ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา ประเทศละ 1 ราย ขณะที่น่านและมุกดาหารไม่มีผู้ติดเชื้อ

เมื่อพิจารณารายภาคพบว่า ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสาน ส่วนใหญ่การติดเชื้อลดลง ส่วนใหญ่อยู่ในหลักสิบราย ที่ยังเกิน 100 ราย ภาคกลางมีเพียง กทม. นครสวรรค์ นนทบุรี สมุทรปราการ เชียงใหม่ ขอนแก่น และอุดรธานี ส่วนภาคตะวันออกยังติดเชื้อสูงในจันทบุรี ชลบุรี ระยอง ภาคใต้และตะวันตกยังสูงเกือบทุกจังหวัด

สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 วันที่ 25 ต.ค. ฉีดเพิ่มขึ้น 731,718 โดส สะสม 71,237,520 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 40,346,281 ราย คิดเป็น 56% ของประชากร เข็มสอง 28,713,904 ราย คิดเป็น 39.9% ของประชากร และเข็มสาม 2,177,335 ราย คิดเป็น 3% ของประชากร

สธ.พบกลายพันธุ์‘อัลฟาพลัส’

วันเดียวกัน นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วยนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการเฝ้าระวังเชื้อโควิดกลายพันธุ์ โดยนายสาธิตกล่าวว่า ขอย้ำว่า อย่าตื่นตระหนก สธ.ติดตามเชื้อกลายพันธุ์ เมื่อเราพบสายพันธุ์ใหม่ๆ ในแต่ละพื้นที่

กรมวิทย์มีการชี้แจงมาตลอด เช่น เบตา เดลตา เก็บจากแต่ละพื้นที่ เก็บตามหลักเกณฑ์ เราเปิดเผยข้อมูลโปร่งใส ติดตามข้อมูลได้ ไม่มีการปกปิด ไวรัสกลายพันธุ์เป็นเรื่องปกติ ในหลักการถ้ากลายพันธุ์ที่มีนัยสำคัญ คือ อาการโรครุนแรงขึ้น ติดต่อง่ายขึ้น เหมือนอัลฟาเป็นเดลตา ถ้าดื้อยารักษาหรือวัคซีนมากขึ้น เป็นต้น

แต่ขณะนี้ที่พบสายพันธุ์ย่อยๆ ในประเทศไทย ยังไม่ถือว่ามีนัยสำคัญที่ต้องทบทวนเรื่องการเปิดประเทศ และองค์การอนามัยโลกยังไม่จัดให้ต้องจับตาเป็นพิเศษ ทั้งนี้ การเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใส เข้าถึงได้ ช่วยให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเกิดความเชื่อมั่น

ด้านนพ.ศุภกิจกล่าวว่า กรมวิทย์ร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการตรวจการกลายพันธุ์ ซึ่งช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาวันที่ 16-22 ต.ค. ตรวจ 1,085 ตัวอย่าง พบสายพันธุ์เดลตา 1,069 ตัวอย่าง คิดเป็น 98.6% สายพันธุ์อัลฟา 7 ตัวอย่าง คิดเป็น 0.6% และสายพันธุ์เบตา 9 ตัวอย่าง คิดเป็น 0.8% ส่วน 4 จังหวัดชายแดนใต้ที่พบว่าเคยเป็นอัลฟาเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากยังมีการตรวจตัวอย่างไม่มาก ขณะนี้ตรวจมากขึ้นก็พบเป็นเดลตามากขึ้นเรื่อยๆ โดย 4 จังหวัดชายแดนใต้พบสายพันธุ์เดลตา 377 ราย คิดเป็น 96.9% เบตา 9 ราย คิดเป็น 2.3% และอัลฟา 3 ราย คิดเป็น 0.8%

“สำหรับสายพันธุ์เดลตาพลัส หมายถึงมีส่วนของสายพันธุ์เดลตาเดิมและมีการกลายพันธุ์บางอย่างขึ้น ทั้งนี้ที่ผ่านมาเราตรวจพบ ‘อัลฟาพลัส’ คืออัลฟาที่มีการกลายพันธุ์ตำแหน่ง E484K คือหลบภูมิได้ อาการอาจมากกว่าเดิม” นพ.ศุภกิจกล่าว

ชี้ใกล้เคียงที่ระบาดในกัมพูชา

นพ.ศุภกิจกล่าวต่อว่า ตรวจพบสายพันธุ์ ‘อัลฟาพลัส’ 18 ราย ได้แก่ ผู้ติดเชื้อที่เป็น ผู้ต้องขัง จ.เชียงใหม่ 2 ราย และแรงงานล้งลำไย จ.จันทบุรีและตราด 16 ราย เป็นแรงงานกัมพูชา 12 ราย และคนไทย 4 ราย ซึ่งอัลฟาพลัสที่พบในไทยลักษณะพันธุกรรมใกล้เคียงกับเชื้อที่ระบาดอยู่ในกัมพูชา สำหรับการ กลายพันธุ์ตำแหน่งนี้ E484K มีอยู่ในเบตา และแกมมา ที่มีปัญหาเรื่องหลบภูมิ ดังนั้นอัลฟาพลัสก็รุนแรง อิทธิฤทธิ์อยู่ระหว่างอัลฟา เบตา และแกมมา หากมีเยอะในบ้านเราอาจหลบภูมิได้บ้าง แต่ของเราถูกเบียดโดยเดลตา อำนาจแพร่กระจายจึงไม่สูง แต่จะตรวจเพิ่มว่ามีที่อื่นหรือไม่ ซึ่งเชื้ออัลฟาพลัสไม่ใช่เชื้อใหม่ พบที่อังกฤษตั้งแต่ปลาย ธ.ค.2563

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ส่วนสายพันธุ์เดลตาปกติ คือ B.1.6.17.2 มีตระกูลลูกหลานออกมา จึงเรียกส่วนที่กลายพันธุ์ของเดลตาว่า AY ตอนนี้มี 47 ชนิด คือ AY1-AY47 ทั้งหมดเรียกว่าเดลตาพลัสได้ สายพันธุ์เดลตาย่อยที่มีในประเทศไทย ระบบเราตรวจจับได้ 18 สายพันธุ์ ที่พบมาก คือ AY.23 พบ 12 ราย AY.30 พบ 1,341 ราย และ AY.39 พบ 83 ราย เป็นต้น ส่วนเดลตาพลัส AY.4.2 ที่พบในอังกฤษและยุโรป มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง Y145H และ A222V อำนาจการแพร่กระจายเพิ่มขึ้น 10-15% หรือเร็วกว่าเล็กน้อย แต่ยังไม่พบสายพันธุ์นี้ในประเทศไทยเลย แต่อนาคตก็อาจตรวจพบได้

ส่วนกรณีเดลตาที่สถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหารตรวจพบ เมื่อเดือนก.ย.จากการตรวจตัวอย่างที่กำแพงเพชร มีผู้ป่วยชาย 1 ราย ออกมาพบเดลตาพลัส AY.1 สายพันธุ์นี้เกิดการกลายพันธุ์ที่ K417N ยังไม่มีข้อมูลในโลกนี้ว่า ตำแหน่งที่กลายพันธุ์ทำให้เกิดอิทธิฤทธิ์อิทธิเดชอะไรมากกว่าเดลตาเดิมหรือไม่ ยังไม่ถูกขึ้นบัญชีว่าจะมีปัญหา ขณะนี้เพียงแต่เรากลัวว่าตำแหน่งกลายพันธุ์นี้มีอยู่ในเบตาด้วย ก็คงเป็นเรื่องที่ต้องจับตาดู

ซึ่งผู้ป่วยรายนี้เข้า ร.พ.สนาม รักษาหายดี ไม่มีปัญหาอะไร แต่ต้องเก็บตัวอย่างคนที่มีความสัมพันธ์มาตรวจเพิ่มเติม และประสานกับทาง AFRIMS เพื่อสอบสวนโรคเพิ่มเติมว่า มาจากแหล่งใด ส่วนความรุนแรง หรือหลบภูมิ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูล จึงต้องมีการติดตามต่อเนื่อง

ศบค.สั่งรับมือ‘เดลตาพลัส’

ที่ทำเนียบ พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศปก.ศบค.)

โดยพล.อ.สุพจน์สั่งให้เตรียมความพร้อมรับมือหลังพบการติดเชื้อของสายพันธุ์เดลตา พลัส ในจ.พระนครศรีอยุธยา ให้คณะทำงานไปหารายละเอียดเพิ่มเติมมาก่อน และมอบหมายให้เตรียมแผนรองรับการเปิดประเทศ รวมไปถึงการผ่อนคลายเพิ่มเติมในส่วนที่จำเป็นและเหมาะสม

ส่วนปัญหาแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ศปก.ศบค.ย้ำหน่วยงานด้านความมั่นคงให้เพิ่มความเข้มงวดในการกวดขันมากขึ้นกว่าเดิม ที่ทำมาในรอบสองสัปดาห์ พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ให้ทำงานบูรณาการร่วมกันอย่างเข้มแข็ง และใช้ทางการทูตขอความร่วมมือไปยังเมียนมาด้วย

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดทำแผนรองรับนโยบายเปิดประเทศใน 120 วัน ครั้งที่ 4/2564 ว่า แม้ช่วงแรกอาจจะยังไม่มีนัก ท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาจำนวนมาก

แต่เนื่องจากหลายประเทศที่เปิดประเทศแล้วพบปัญหาการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ทั้งจากคนในประเทศหรือผู้เดินทางจากต่างประเทศ เพราะมีการเดินทางและใช้แรงงานเพิ่มมากขึ้นเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้นต้องควบคุมกำกับมาตรการอย่างดี เพื่อลดความเสี่ยงการระบาดของโรค และคงบรรยากาศของการท่องเที่ยวช่วงปลายปีที่มีวันหยุดและใกล้เทศกาลปีใหม่ ให้การติดเชื้ออยู่ในระดับที่ควบคุมได้และระบบสาธารณสุขรองรับได้

โดย สธ.ต้องเตรียมความพร้อมใน 5 ด้าน คือ 1.การเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค ตั้งแต่ขั้นตอนลงทะเบียนก่อนเดินทาง 2.การตรวจทางห้องปฏิบัติการให้รวดเร็วแม่นยำ และการตรวจสายพันธุ์กลายพันธุ์ 3.มาตรการ COVID Free Setting ในสถานประกอบการพื้นที่เปิดรับนักท่องเที่ยว

4.ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ปรับรูปแบบการรักษาพยาบาลที่สอดคล้องกับสถานการณ์ และ 5.เวชภัณฑ์และการส่งกำลังบำรุง ภาพรวมคงคลังประมาณ 3-6 เดือน และสามารถจัดหายาและเวชภัณฑ์เพิ่มเติมต่อเนื่องตลอดเวลา

1 พย.เปิดเข้าชมวัง-วัดพระแก้ว

วันเดียวกัน เว็บไซต์หน่วยราชการในพระองค์ www.royaloffice.th แจ้งว่า สำนักพระราชวังขอแจ้งเปิดการเข้าชมพระราชฐานและสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป โดยสำนักพระราชวัง เตรียมความพร้อมในการให้บริการนักท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพ เพื่อให้นักท่องเที่ยวเกิดความปลอดภัยและมีความมั่นใจ เมื่อเข้าชมพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเขตพระราชฐาน

ด้านนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า สพฐ.ได้ออกแนวปฏิบัติการเตรียมการก่อนเปิดภาคเรียน โดยให้โรงเรียนดูองค์ประกอบ 6 ประการ โรงเรียนไหนพร้อมก่อน มีมาตรการควบคุมโรคที่ดี ก็สามารถเปิดเรียนก่อนได้ และโรงเรียนอื่นสามารถทยอยเปิดตามหลัง เชื่อว่าหากเรามีต้นแบบ มีมาตรการที่เพียงพอ ก็สามารถเปิดเรียน On Site ได้ครบทุกโรงเรียน

วันนี้โรงเรียนส่วนใหญ่มีความพร้อมที่จะเปิดเรียน On Site ในวันที่ 1 พ.ย.นี้ ส่วนจะเปิดเรียนได้หรือไม่นั้น ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะเป็นผู้พิจารณาว่าโรงเรียนควรจะเปิดวันใด จากที่ได้รับรายงานมา มีบางจังหวัดที่ให้เปิดวันที่ 1 พ.ย. และมีบางจังหวัดที่ให้เปิดวันที่ 15 พ.ย. ซึ่งในวันที่ 28 ต.ค.นี้ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะแถลงความพร้อมในการเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 ซึ่งจะมีรายละเอียดมาตรการต่างๆ และจำนวนโรงเรียนที่มีความพร้อมเปิด On Site ในวันที่ 1 พ.ย.

ปัตตานี-สงขลาป่วยนำโด่ง

ที่ จ.สงขลา สำนักงานสาธารณสุข (สสจ.) จ.สงขลา เปิดเผยผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ในพื้นที่ 620 คน อยู่ในอันดับ 3 ของประเทศ รองจาก กทม.และ จ.ปัตตานี ซึ่งติดเชื้อขยับตัวเพิ่มขึ้นวันที่ 25 ต.ค. ที่พบ 586 คน รวมยอดสะสม 45,412 คน รวมผู้ติดเชื้อในเรือนจำและเดินทางจากต่างประเทศ ขณะนี้รักษาหายกลับบ้านแล้ว 39,200 กว่าคน เสียชีวิตสะสม 179 คน โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันยังพบจากกลุ่มเดิม คือกลุ่มผู้สัผัสผู้ติดเชื้อในพื้นที่มากที่สุด ซึ่งวนเวียนอยู่ใน 8 อำเภอ มี อ.จะนะ หาดใหญ่ รัตภูมิ เมือง เทพา นาทวี สิงหนคร สะบ้าย้อย และ อ.สะเดา ส่วนอำเภออื่นพบในอัตราลดลงต่อเนื่อง

รายงานข่าวสถานการณ์โควิดใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 1,810 คน พบผู้ติดเชื้อ จ.ปัตตานี 621 คน จ.สงขลา 620 คน จ.นราธิวาส 322 คน และ จ.นราธิวาส 247 คน

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา กล่าวว่า โดยสภาพชุมชนของ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ใกล้เคียงกับชุมชนแออัดใน กทม. บ้านเรือนจะค่อนข้างหลังเล็กและใกล้ชิดกัน และคนที่อยู่ในบ้านหลังหนึ่ง จะอาศัยอยู่กันหลายคนและหลายช่วงอายุ ถือเป็นการระบาดในชุมชน ผู้ป่วยที่โรงพยาบาลจะนะขณะนี้ 1 ใน 3 เป็นเด็ก ซึ่งอาการไม่มากตามทฤษฎีเพียงแต่เป็นกลุ่มหนึ่งที่มีการแพร่โรค

ซึ่งพบว่าบางครอบครัวผู้ใหญ่ดูแลตัวเองดีมาก ไม่ยุ่งกับใคร แต่ติดจากลูกเพราะลูกไปเล่นกับเพื่อนบ้าน และนำเชื้อมาสู่ครอบครัว การเพิ่มวัคซีนเป็นทางแก้ปัญหา โควิด 4 จังหวัดชายแดนใต้

สภ.เมืองโคราชติดเชื้อ 29 คน

พ.ต.อ.กรกฎ โปชยะวณิช ผกก.สภ.เมืองนครราชสีมา เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองนครราชสีมาส่งผู้ต้องหาชาวต่างชาติหลายรายมาฝากขังไว้ที่ สภ.เมืองนครราชสีมา และมีชายชาวเยอรมันรายหนึ่ง อายุ 70 ปี กำลังจะถูกส่งตัวกลับไปประเทศเยอรมัน ทางเจ้าหน้าที่จึงตรวจหาเชื้อโควิด-19 ชายชาวเยอรมันคนดังกล่าวและมีผลยืนยันติดเชื้อ จากนั้นเจ้าหน้าที่จึงตรวจ ATK หาเชื้อเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ และผู้ต้องหาชาวต่างชาติที่ถูกฝากขังด้วยกันทั้งหมดอีก 39 คน และผลพบว่าติดเชื้อ 29 คน

จำนวนนี้เป็นคนต่างชาติ 26 ราย และเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 3 นาย โดยขณะนี้กำลังรอยืนยันผลการตรวจหาเชื้อซ้ำ พร้อมกันนี้ได้สั่งให้กักตัวบุคคลกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด และดำเนินมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มงวด

บึงกาฬสั่งคุมเข้ม 3 คลัสเตอร์

ที่จ.บึงกาฬ นายสนิท ขาวสอาด ผวจ.บึงกาฬ ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบึงกาฬ เรียกประชุมด่วนคณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัด เพื่อติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด หลังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ มีลักษณะการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน หรือคลัสเตอร์ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ติดตามความคืบหน้าการฉีดวัคซีน และมาตรการเตรียมพร้อมต้อนรับการเปิดเทอมที่จะถึงในเร็ววันนี้

นพ.ภมร ดรุณ สสจ.บึงกาฬ กล่าวว่า สถานการณ์ในเดือนตุลาคม พบการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน 3 คลัสเตอร์สำคัญ ได้แก่ 1.คลัสเตอร์งานศพ ที่บ้านหนองนาแซง ต.วิศิษฐ์ อ.เมืองบึงกาฬ มีผู้ติดเชื้อขณะนี้ 42 ราย 2.คลัสเตอร์บ้านสายปัญญา ต.เซกา อ.เซกา พบผู้ติดเชื้อขณะนี้แล้ว 53 ราย 3.คลัสเตอร์บ้านโพธิ์น้อย ต.ท่ากกแดง อ.เซกา มีผู้ติดเชื้อ 31 ราย ทั้งนี้เมื่อรวม 3 คลัสเตอร์ มีผู้ติดเชื้อแล้ว 126 ราย

เชียงใหม่เฝ้าระวัง2ตลาด

ที่จ.เชียงใหม่ สสจ.เชียงใหม่ เผย พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 270 ราย โดยเป็นผู้ติดเชื้อในจังหวัดถึง 261 ราย อีก 9 รายเป็นผู้ติดเชื้อจากต่างจังหวัด ยอดป่วยสะสม 14,806 ราย โดยพบว่าการระบาดระลอกนี้รุนแรงมากขึ้น ตัวเลขผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ล่าสุดมีผู้ป่วยสีแดงแล้วกว่า 75 รายกระจายรักษาอยู่ตามโรงพยาบาลต่างๆ ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ วันนี้เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ราย รวมยอดสะสมผู้เสียชีวิต 53 ราย

ส่วนการควบคุมการแพร่ระบาด คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดยังเฝ้าระวังคลัสเตอร์ตลาดประตูเชียงใหม่ อ.เมืองเชียงใหม่ ที่พบพ่อค้าแม่ค้าและประชาชนที่เข้าไปจ่ายตลาดติดเชื้อแล้ว 106 ราย

ขณะที่คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด สั่งปิดตลาดประตูเชียงใหม่ เป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 26-28 ต.ค. เพื่อล้างทำความสะอาดและพ่นยาฆ่าเชื้อ เช่นเดียวกับคลัสเตอร์ตลาดเมืองใหม่ มีผู้ติดเชื้อสะสม 1,383 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่พบระหว่างการกักตัว จึงยังต้องมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง และขยายการเฝ้าระวังออกไปยังชุมชนต่างด้าวบริเวณใกล้เคียงที่เริ่มพบการติดเชื้อ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน