ปม-แถลงการณ์
ยุติแบกพระเกี้ยว
อจ.ชี้ใช้อารมณ์ขู่

บานอีกปมมติยกเลิกแบกพระเกี้ยว ฝ่ายกิจการนิสิตจุฬาฯ ออกประกาศ เตรียมสอบฟันวินัยกรณีออกแถลงการณ์ดังกล่าว อ้างอันเป็นที่เคารพสักการะของผู้อื่น พร้อมยืนยันไม่ได้ลิดรอนเสรีภาพทางความคิด เพียงแค่ต้องดำเนินการให้อยู่ในครรลองที่ควรจะเป็นเท่านั้น อาจารย์คณะอักษรฯ ออกโรง ชี้ใช้อารมณ์ข่มขู่ลูกศิษย์ ระบุมหาวิทยาลัยโลกสมัยใหม่ไม่ทำกันแบบนี้แล้ว

เมื่อวันที่ 27 ต.ค. สำนักบริหารกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกประกาศว่าจะดำเนินการสอบหาข้อเท็จจริง หากปรากฏว่านิสิตของจุฬาฯ กระทำการลักษณะที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าแสดงออกทางแถลงการณ์ หนังสือสิ่งพิมพ์ ที่มีเนื้อหากระทบกระเทือนต่อบุคคลที่เป็นที่เคารพเทิดทูนสักการะของผู้อื่น โดย มิได้เป็นไปตามหลักวิชาการ รวมทั้งมีการ กระทำขัดต่อกฎหมาย หรือกฎระเบียบของมหาวิทยาลัย โดยมหาวิทยาลัยจะได้ดำเนินการทางวินัยต่อไป

ทั้งนี้ จุฬาฯ ยืนยันว่าการดำเนินการของมหาวิทยาลัยตามแนวทางนี้ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อลิดรอน หรือจำกัดเสรีภาพทางความคิด เสรีภาพทางวิชาการ หรือทางอื่นใด หากแต่เป็นไปเพื่อให้นิสิตเป็นผู้มีความรู้คู่คุณธรรมงามพร้อมทุกด้าน

ประกาศฉบับเต็มระบุว่า โดยที่ประเทศไทยเป็นดินแดนที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา ตลอดจนความเชื่อถือ ความเลื่อมใสศรัทธาต่างๆ หากแต่สามารถอยู่ร่วมกันได้โดยสันติมาช้านาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตระหนักและให้ความสำคัญกับคุณลักษณะของสังคมไทยดังกล่าวที่สอดคล้องกับอุดมคติในวงวิชาการเสมอมา

มหาวิทยาลัยจึงให้ความสำคัญกับการยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางความคิด ความเชื่อ อายุ เพศ ภูมิหลังทางสังคม หรือแม้แต่ความเชื่อทางการเมือง ดังจะเห็นได้จากการที่มหาวิทยาลัยเคารพในเสรีภาพทางความคิดและทางวิชาการของบุคลากร และนิสิตของมหาวิทยาลัยมาตลอด ยิ่งไปกว่านั้น มหาวิทยาลัยตระหนักดีว่าการเปลี่ยนแปลงทางความคิดย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ และเป็นเหตุการณ์ปกติสามัญของทุกสังคม

ในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นสูง ที่มีหน้าที่ผลิตบัณฑิตให้เป็นผู้มีความรู้คู่คุณธรรม สมดังปณิธานของมหาวิทยาลัย จุฬาฯ ถือเป็นบทบาทตลอดมาที่จะต้องแนะนำ และดูแลให้กิจกรรมของนิสิตอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ตลอดจนกฎระเบียบของมหาวิทยาลัย โดยดำเนินการหนักเบาตามควรแก่กรณี

ฉะนั้น หากความปรากฏว่า นิสิตของมหาวิทยาลัยได้กระทำการในลักษณะที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกผ่านการออกแถลงการณ์ หรือหนังสือสิ่งพิมพ์ ที่มีเนื้อหากระทบกระเทือนต่อบุคคลที่เป็นที่เคารพเทิดทูนสักการะของผู้อื่น โดยมิได้เป็นไปตามหลักวิชาการ

กล่าวคือ มิได้กระทำไปด้วยความมุ่งหมายที่จะให้ข้อมูลอย่างสุจริตและรอบด้าน อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อคุณธรรม ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ยอมรับในระดับสากล หรือเป็นการแสดงออกที่ไม่เคารพต่อความเห็นต่าง หรือความเชื่อ ความเลื่อมใสของผู้อื่น

จุฬาฯ มิอาจนิ่งเฉย พร้อมกับถือเป็นหน้าที่ที่จะดำเนินการที่จำเป็นและเหมาะสม เพื่อกล่อมเกลานิสิตของมหาวิทยาลัยให้อยู่ในครรลองของหลักความรู้คู่คุณธรรม รวมทั้งจะได้ดำเนินการสอบหาข้อเท็จจริงโดยเร็ว หากพบว่ามีการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย หรือ กฎระเบียบของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยจะได้ดำเนินการทางวินัยต่อไป

มหาวิทยาลัยขอยืนยันว่าการดำเนินการของมหาวิทยาลัยตามแนวทางดังกล่าว ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อลิดรอน หรือจำกัดเสรีภาพทางความคิด เสรีภาพทางวิชาการ หรือทางอื่นใด หากแต่เป็นไปเพื่อให้นิสิตของมหาวิทยาลัยเป็นผู้มีความรู้คู่คุณธรรมพร้อมทุกด้านเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นหลังองค์การบริหารนิสิตจุฬาฯ หรืออบจ.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้เปลี่ยนการจัดขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีโดยยกเลิกการใช้คนแบกหาม อันเป็นวัฒนธรรมที่แสดงถึงความไม่เทียมกัน นอกจากนี้ สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ ก็ออกประกาศยกเลิกการจัดงานฟุตบอลประเพณี ตามที่สมาคมธรรมศาสตร์ฯ ซึ่งเป็นเจ้าภาพมีมติงดจัดงานอันเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ยืนยันจะสืบสานการอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีต่อไป

ด้านศาสตราจารย์ ดร.โสรัจจ์ หงส์ลดารมภ์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ได้โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นต่อประกาศของสำนักบริหารกิจการนิสิตว่าใช้อารมณ์มากไป ไม่เป็นมืออาชีพ ออกทำนองขู่นิสิต ซึ่งไม่เป็นผลดีแก่ฝ่ายไหนทั้งสิ้น หน้าที่ของกิจการนิสิต คือดูแลให้บริการนิสิต จัดการชีวิตของเขาให้ดีขึ้นทุกด้าน ไม่ใช่ขู่ มหาลัยในโลกยุคใหม่ เค้าไม่ทำกันแบบนี้ โดยมีผู้เข้าไปแสดงความคิดเห็นในทางสนับสนุนเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังอาจารย์จุฬาฯ คนอื่นๆ ก็แสดงความคิดเห็นต่อประกาศดังกล่าวด้วย เช่น นายเข็มทอง ตันสกุลรุ่งเรือง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ นางพวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ เป็นต้น

ขณะที่เฟซบุ๊กนิสิต รีคอร์ดเดอร์ ซึ่งเป็นสื่อของกลุ่มนิสิตจุฬาฯ ระบุว่านี่เป็นอีกหนึ่งภาคต่อจากมหากาพย์การยกเลิกกิจกรรมขบวนผู้อัญเชิญพระเกี้ยว และการโต้ตอบระหว่างมหาวิทยาลัยและองค์กรนิสิต ที่เรายังคงต้องติดตามกันต่อไป ทั้งนี้ การกระทำที่ “ไม่เหมาะสม” ในการจัดกิจกรรมของจุฬาฯ คืออะไร และการออกประกาศเช่นนี้ ถือเป็นการลิดรอนเสรีภาพทางความคิด รวมถึงเป็นการควบคุมและคุกคามการทำงานขององค์กรนิสิตหรือไม่ พร้อมกับเชิญชวนผู้อ่านทุกท่านร่วมขบคิด และแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวนี้ และทางจุฬาฯ จะมีท่าทีอย่างไรต่อไป

ด้านนพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ อดีตนายกองค์การบริหารนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ให้กำลังใจนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายกอบจ.คนปัจจุบันด้วย ความว่า จุฬาฟ้าใหม่ให้กำลังใจเนติวิทย์ ข่าวอบจ.ยุคนายกเนติวิทย์ มีมติยกเลิกกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ ด้วยเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่า คนไม่เท่ากันนั้น ทำให้ผมย้อนนึกถึงปรากฏการณ์เมื่อ 30 ปีที่แล้วคือปี 2534 ที่ทีมจุฬาฟ้าใหม่ได้ขึ้นมาบริหาร อบจ. โดยมีผมเป็นนายก อบจ.ในปีนั้น

หลังจากที่ได้บริหาร อบจ.ทีมเราพบว่างบประมาณ อบจ.ก้อนใหญ่ต้องใช้กับงานฟุตบอลประเพณีฯ ซึ่งไม่ได้เกิดประโยชน์กับกิจกรรมนักศึกษาตามแนวทางที่ทีมจุฬาฟ้าใหม่วางไว้ และในขณะนั้นคณะรสช.ใช้อำนาจรัฐประหาร กดดันไม่ให้นักศึกษาแสดงออกทางการเมืองผ่านงานฟุตบอลประเพณีฯ อบจ.ในปีนั้นได้ประชุม กรรมการกลางสโมสร 10 คนและนายกสโมสรอีก 15 คณะ รวม 25 คน มีมติว่า “อบจ.เองจะไม่จัดงานฟุตบอลประเพณี แต่มอบหมายให้ประธานฝ่ายนิสิตสัมพันธ์เป็น ผู้ประสานจัดกิจกรรมงานฟุตบอลประเพณี แทนคณะกรรมการ อบจ.ทั้ง 25 คน” เพื่อที่คณะกรรมการ อบจ.จะสามารถเอาเวลาและงบประมาณไปทุ่มเทกับการจัดกิจกรรมอื่นเช่น มหกรรมวัฒนธรรมประชาชน และการคัดค้านเผด็จการ รสช.แทน แต่หลังจากปีนั้น อบจ. ก็กลับมาจัดงานนี้เรื่อยมาถึงปัจจุบัน

จาก 30 ปีที่แล้วถึงปี 2564 อบจ.ยุคนายกเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ได้แสดงเอกภาพในขบวนนิสิตอีกครั้ง ด้วยการมีมติ 29-0 ยกเลิกกิจกรรมการอัญเชิญขบวนพระเกี้ยว นับเป็นมติที่ชัดเจนและกล้าหาญ ผมยืนยันว่า อบจ.คือตัวแทนประชาคมนิสิตที่ผ่านการเลือกตั้งอย่างชอบธรรม มีสิทธิที่จะจัดหรือไม่จัดหรือปรับเปลี่ยนกิจกรรมใดๆ ของงานฟุตบอลประเพณีหรือกิจกรรมอื่นใด กิจการนิสิตหรือสมาคมศิษย์เก่าเป็นเพียงผู้สนับสนุน

เมื่อองค์กรของนิสิตมีมติชัดเจน เราต้องเคารพเสียงของนิสิตปัจจุบัน รุ่นพี่ไม่เห็นด้วยก็เป็นสิทธิ แต่ก็ต้องยอมรับและเคารพการตัดสินใจของน้องๆ ในปัจจุบัน นี่คือประชาธิปไตยพื้นฐานของสังคม

การที่ อบจ.ตัดสินใจเช่นนี้ แล้วจะถูกมหาวิทยาลัยและองคาพยพจะหักโค่นเอาลงให้จงได้ หรือบีบบี้บีฑาให้ติดดิน นั่นก็เสมือนการที่ทหารเอาปืนมาก่อรัฐประหารนั้นเอง ซึ่งเราไม่ควรยอมรับ สำหรับผม ปรากฏการณ์ครั้งนี้ บ่งบอกถึงวิญญาณขบถที่ไม่เคยจางหายไปในสายธารแห่งคนหนุ่มสาวผู้หวังเห็นการเปลี่ยนแปลง ผมและพี่ๆ จุฬาฟ้าใหม่ขอชื่นชมและให้กำลังใจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน