กทม.สอนออนไลน์ต่อ
เหตุฉีดวัคซีนยังไม่ครบ
สธ.จับตา-10จว.ป่วยสูง
‘โมเดอร์นา’ถึงไทยแล้ว

เปิดเรียนออนไซต์ วันแรกกร่อย หลายจังหวัดยังผวาโควิดระบาด ผู้ว่าฯ กทม.สั่ง 437 โรงเรียนในสังกัดเรียนออนไลน์ไปก่อน เพราะเด็กม.ต้นยังฉีดวัคซีนไม่ครบโดส รอ 2 สัปดาห์ประเมินอีกที โคราชพ่อแม่ไม่มั่นใจ ไม่ยอมส่งลูกมาเรียน ที่ปัตตานีห้าม 1.6 พันโรงเรียนทั้งจังหวัดเรียนออนไซต์ เพราะเชื้อยังระบาดหนัก ฉีดวัคซีนก็ต่ำกว่าเป้า ‘รมต.ตรีนุช’ ลุยตรวจเปิดเรียนที่สมุทรสาคร กำชับทำตามมาตรการป้องกันโควิดเคร่งครัด สพฐ.เผยวันแรกเปิดเรียนออนไซต์ 2 หมื่นโรงเรียน ศบค.เผยติดเชื้อรายวัน 8,165 เสียชีวิตเพิ่ม 55 ห่วงคลัสเตอร์งานแต่ง-งานบุญบั้งไฟ สั่งเร่งฉีดวัคซีนเหนือ-อีสาน ตั้งเป้าพ.ย.นี้ฉีดครอบคลุมทั่วประเทศ 70% ‘โมเดอร์นา’ ล็อตแรก 5.6 แสนโดสมาถึงไทยแล้ว เตรียมตรวจคุณภาพ จัดสรรตามโควตาจอง 10%

ติดเชื้อเพิ่ม 8,165-เสียชีวิต 55

เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,165 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 7,631 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 7,241 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 390 ราย มาจากเรือนจำ 525 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 6 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,920,189 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 9,574 ราย ยอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1,801,702 ราย อยู่ระหว่างรักษา 99,227 ราย อาการหนัก 2,221 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 494 ราย

เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 55 ราย เป็นชาย 26 ราย หญิง 29 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 40 ราย มีโรคเรื้อรัง 12 ราย พบผู้เสียชีวิตมากสุดอยู่ในกทม. 10 ราย ไม่มีรายงานมาจาก 4 จังหวัดชายแดนใต้เป็นวันแรก ตัวเลขสูงอยู่ที่ภาคกลางและตะวันออก 15 ราย กทม.รายงาน 3 ราย ส่วนภูเก็ตเป็นชายอายุ 60 ปี มีโรคประจำตัว และไม่ได้รับวัคซีน ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 19,260 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 247,461,079 ราย เสียชีวิตสะสม 5,014,947 ราย

จับตา 10 จว.ติดเชื้อยังสูง

พญ.อภิสมัย กล่าวต่อว่า สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 1 พ.ย. ได้แก่กทม. 625 ราย นครศรีธรรมราช 539 ราย สงขลา 476 ราย ปัตตานี 448 ราย เชียงใหม่ 378 ราย นราธิวาส 351 ราย ตรัง 295 ราย ยะลา 290 ราย ชลบุรี 259 ราย สมุทรปราการ 249 ราย ขณะที่ จ.อำนาจเจริญและนครพนม เป็น 2 จังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ในวันที่ 1 พ.ย.

“โดยภาพรวมของทั้งประเทศทุกพื้นที่ถือว่าตัวเลขการติดเชื้อลดลง รวมถึง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กทม.ปริมณฑลลดลงต่อเนื่อง สัดส่วน 16% หากดู 10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด จะเห็นว่าอันดับ 2 นครศรีธรรมราช อันดับ 3 สงขลา และอันดับ 4 ปัตตานี แต่ยังเป็นสีเขียว มีแนวโน้มลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว ส่วนกทม.เหลือ 625 ราย ที่ยังเป็นสีแดงเพิ่มขึ้น คือนราธิวาส 351 ราย และตรัง 295 ราย

แต่กระทรวงสาธารณสุขยังเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา นครศรีธรรมราช เชียงใหม่ ตาก ระยอง จันทบุรี และขอนแก่น เนื่องจากยังพบการติดเชื้อสูงอยู่ ขณะเดียวกันพบคลัสเตอร์ใหม่หลายแห่ง อาทิ พบผู้ติดเชื้อจากบุญบั้งไฟ ที่จ.หนองคาย และเดินทางข้ามไปยังจ.อุดรธานี คลัสเตอร์งานแต่งที่จ.เชียงใหม่ คลัสเตอร์แคมป์คนงานที่จ.ชลบุรี นครนายก เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ คลัสเตอร์โรงเรียนและวิทยาลัยที่จ.เชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน คลัสเตอร์แรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมืองที่จ.กำแพงเพชร และพิจิตร จึงฝากผู้ที่จัดงานต่างๆ ให้เข้มข้นมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ทั้งการคัดกรองผู้ร่วมงานและจัดสถานที่ให้มีระยะห่าง”

เร่งฉีดวัคซีนเหนือ-อีสาน

พญ.อภิสมัย กล่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ที่ผ่านมา ฉีดวัคซีนโควิด-19 เพิ่มขึ้น 320,719 โดส สะสม 75,710,277 โดส เป็นเข็ม 1 ครอบคลุม 58.8% เข็มสอง 42.9% และเข็มสาม 3.3% จำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีนภาคเหนือและอีสาน ซึ่งเป็นพื้นที่ติดขอบแนวชายแดน ที่ประชุมห่วงภาคอีสานที่เทียบกับพื้นที่อื่นของประเทศมีการฉีดวัคซีนค่อนข้างน้อย ส่วนพื้นที่สีฟ้า 17 จังหวัด มีไม่กี่จังหวัดที่ฉีดวัคซีนไม่ถึงเกณฑ์เป้าหมาย 70%

โดยพ.ย.นี้ ตั้งเป้าทั่วประเทศต้องครอบคลุม 70% ขอให้จังหวัดสีฟ้าเร่งฉีดให้ทัน ช่วงนี้วัคซีนมีเพียงพอ โดยเฉพาะจังหวัดนำร่องท่องเที่ยวและแรงงาน ซึ่งศบค.ชุดเล็กหารือแนวทางบริหารวัคซีนให้แรงงานต่างด้าว อธิบดีกรมควบคุมโรคลงนามแล้ว เมื่อวัคซีนเพียงพอแต่ละจังหวัดจะประกาศให้ผู้ประกอบการนำต่างด้าวในความดูแลไปฉีดวัคซีน ถ้าวัคซีนเป็นไปตามแผนจะมี 24 ล้านโดสเข้ามาในประเทศ เราจะมีเพียงพอสำหรับครอบคลุมชาวไทย และจากนี้เริ่มฉีดแรงงานต่างด้าวภาคธุรกิจในบ้านเราด้วย และจะจัดสรรวัคซีนให้กับแรงงานที่อยู่ในประเทศในภาคอุตสาหกรรมด้วย

ยังไม่เปิด – โรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่สังกัดกทม.และกระทรวงศึกษาธิการ ยังไม่เปิดให้นักเรียนมาเรียนออนไซต์ แม้รัฐบาลกำหนดให้เปิดเรียนได้พร้อมๆ กับเปิดประเทศ เมื่อวันที่ 1 พ.ย.

กทม.เปิดเรียนออนไซต์ 15 พ.ย.

นายเกรียงยศ สุดลาภา รองผู้ว่าฯ กทม.เปิดเผยว่า วันนี้เป็นการเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ของโรงเรียนในสังกัดกทม.ในระดับอนุบาล-มัธยมศึกษาเป็นวันแรก ซึ่งแต่ละระดับชั้นมีรายละเอียดการจัดการเรียนการสอนภายใต้มาตรการป้องการแพร่ระบาดของโรค ดังนี้

1.ระดับอนุบาลและประถมศึกษาตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.64 ให้จัดการเรียนการสอนในรูปแบบ 4 On ประกอบด้วย 1.Online ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ 2.On-Air ผ่านช่องทางโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม เช่น DLTV 3.On Hand โดยจัดส่งหนังสือ แบบเรียน แบบฝึกหัด หรือใบงานที่โรงเรียนจัดทำขึ้น และ 4.On School Line โดยจัดให้มีกลุ่มไลน์ของแต่ละห้องเรียนหรือรายวิชา

2.นักเรียนระดับมัธยมศึกษา กทม.ดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่นักเรียนระดับชั้นม.4-6 ครบ 2 เข็มแล้ว โดยฉีดเข็มที่ 1 เมื่อวันที่ 4 ต.ค. และฉีดเข็มที่ 2 เมื่อวันที่ 25 ต.ค. ส่วนนักเรียนระดับชั้นม.1-3 ฉีดเข็มที่ 1 แล้ว เมื่อวันที่ 18-20 ต.ค. และจะฉีดเข็มที่ 2 ระหว่างวันที่ 8-10 พ.ย. กทม.จึงวางแผนจัดการเรียนการสอนให้แก่นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาของโรงเรียนในสังกัดกทม.ที่เปิดสอนระดับมัธยมศึกษา 109 โรงเรียน ดังนี้ ช่วงวันที่ 1-14 พ.ย.64 ให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ 4 On และตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย.64 เป็นต้นไปให้เพิ่มการเรียนแบบ On-Site โดยจัดการเรียนแบบจัดเป็นกลุ่มเล็กๆ และเรียนในสถานที่ที่ปลอดภัย

ทั้งนี้ โรงเรียนที่เปิดสอนระดับมัธยม ให้ดำเนินการภายใต้มาตรการแซนด์บ็อกซ์

63 ร.ร.นานาชาติ-เอกชนเปิดได้

สำหรับโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ได้รับอนุญาตให้เปิดการเรียนการสอนได้ โดยขอให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรค โควิด-19 อย่างเคร่งครัดซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนนานาชาติและเอกชนรวม 63 แห่ง

437 ร.ร.กรุงยังเรียนออนไลน์

วันเดียวกัน ที่ห้างสรรพสินค้าไอคอนสยาม พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้สัมภาษณ์กรณีการเปิดเรียนแบบออนไซต์ของโรงเรียนในสังกัดกทม.ทั้ง 437 แห่งว่า สำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายปีที่ 4-6 นักเรียนฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครบ 2 เข็มไปแล้ว แต่เด็กมัธยมต้นปีที่ 1-3 จะเริ่มฉีดเข็มที่ 2 ในวันที่ 6-8 พ.ย.นี้ และจะต้องนับต่อไปอีก 7 วัน เพราะว่าทางการแพทย์ต้องการให้รอดูผลไปอีก 7 วัน

“ฝากไว้ด้วยนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กผู้ชายเกี่ยวกับโรคหัวใจฉีดเข็มที่ 2 ไปแล้ว อย่าได้ออกกำลังกาย หมอเขาบอกมาเลย อย่าเพิ่งออกกำลังกาย โดยเฉพาะผู้ชาย แต่ผู้หญิงนั้นไม่เป็นไร อย่างเด็กที่ต้องไปเล่นบาส เตะบอล ตีปิงปอง อะไรอย่างนี้ ขอให้หยุดก่อน พอครบกำหนดวันที่ 15 พ.ย. ทางสำนักการศึกษา กทม.จะพิจารณาดูอีกทีว่าจะเปิดออนไซต์ได้แค่ไหน แต่ช่วงนี้เรียนออนไลน์ไปก่อน เพราะเราต้องการให้ฉีดเข็มที่ 2 ให้ครบก่อน” พล.ต.อ.อัศวินกล่าว

โคราชยังไม่พร้อมเรียนออนไซต์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเด็กนักเรียนต้องเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้านมาตลอดช่วงเทอมแรกที่ผ่านมา เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อโควิด-19 วันนี้เปิดเรียนออนไซต์วันแรก โดยโรงเรียนมัธยมชื่อดังของจ.นครราชสีมา เช่นร.ร.ราชสีมาวิทยาลัย ร.ร.สุรนารีวิทยา ร.ร.บุญวัฒนา ร.ร.บุญเหลือวิทยานุสรณ์ ร.ร.อุบลรัตนราชกัญญาราชวิทยาลัย นครราชสีมาฯ

ส่วนร.ร.ประถมศึกษายอดนิยม เช่น ร.ร.อนุบาลนครราชสีมา ร.ร.เมืองนครราชสีมา ร.ร.วัดสระแก้ว ร.ร.สวนหม่อนฯ รวมทั้งโรงเรียนเอกชน เช่น ร.ร.อัสสัมชัญนครราชสีมา ร.ร.มารีย์วิทยา และโรงเรียนเทศบาล 6 แห่ง สังกัดเทศบาลนครนครราชสีมา ร.ร.มัธยมศึกษา 58 แห่ง สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครราชสีมา ร.ร.ประถมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครราชสีมา เขต 4 (สพป.นม.4) 180 แห่งยังไม่พร้อมเปิดเรียนแบบออนไซต์ ต้องเรียนแบบออนไลน์ไปก่อน

เนื่องจากเด็กนักเรียนยังฉีดวัคซีนไฟเซอร์ไม่ครบ และบางส่วนเพิ่งทยอยฉีดเข็มที่ 2 เมื่อวันที่ 29-31 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่สำคัญพบคลัสเตอร์ใหม่เชื่อมโยงชุมชน ครอบครัวต่อเนื่อง ทำให้ผู้บริหาร ครูและผู้ปกครองไม่กล้าส่งบุตรหลานมาเรียน

ส่วนที่โรงเรียนธารปราสาทเพชรวิทยา อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา บรรยากาศสุดคึกคัก ผู้ปกครองมาส่งบุตร-หลานเพื่อเรียนหนังสือวันแรก ทางโรงเรียนธารปราสาทเพชรวิทยาจัดครูและบุคลากรทางการศึกษา ตั้งจุดคัดกรองก่อนที่นักเรียนจะเดินเข้ามาในโรงเรียน โดยให้มีการสวมใส่หน้ากากอนามัย การตรวจวัดไข้ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และการเว้นระยะห่าง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและการติดเชื้อโควิด-19 ตามมาตรการของสธ.

อย่างไรก็ตาม มีบางโรงเรียนในพื้นที่อ.โนนสูง อ.ชุมพวงและอ.พิมาย ยังไม่ได้เปิดเทอม เพราะโรงเรียนถูกน้ำท่วม โดยให้เด็กเรียนออนไลน์อยู่บ้านแทนจนกว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะคลี่คลายเข้าสู่สภาวะปกติ

อุบลฯ เปิดเรียนวันแรกไม่คึกคัก

ส่วนที่จ.อุบลราชธานี ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการอุบลราชธานี อ.เมือง ผู้ปกครองทยอยขับรถมาส่งนักเรียนกลุ่ม A ตั้งแต่ชั้นม.1-6 ที่จะต้องมาเข้าเรียนในสัปดาห์นี้ โดยไม่อนุญาตให้ขับเข้ามาในโรงเรียนเพื่อป้องกันโควิด ก่อนเข้าไปยังอาคารชั้นเรียน โรงเรียนจัดเตรียมให้เรียนห้องละไม่เกิน 20 คน และสลับกันมาเรียนเป็นรายสัปดาห์ โดยนักเรียนส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนไปแล้วกว่าร้อยละ 90 ส่วนนักเรียนที่ยังไม่ฉีดก็ให้เรียนในระบบออนไลน์ แต่ถ้าต้องการมาโรงเรียนให้แสดงผลตรวจด้วย ATK สำหรับวันแรก มีนักเรียนเข้ามาเรียนน้อยกว่าที่กำหนดไว้คือสัปดาห์ละประมาณ 800 คน

ขณะที่โรงเรียนบางแห่งในจังหวัดยังไม่เปิดให้เรียนแบบออนไซต์ ยังต้องเรียนในระบบออนไลน์ เพราะยังไม่มีความพร้อม โดยจะเปิดให้มาเรียนที่โรงเรียนได้ในสัปดาห์หน้า

ออนไซต์ – การเปิดเรียนออนไซต์ที่โรงเรียนอนุบาลพิจิตร จ.พิจิตร หลังปิดมานาน เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 คณะครูและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เข้มมาตรการป้องกันการแพร่เชื้ออย่างเคร่งครัด เมื่อวันที่ 1 พ.ย.

พ่อแม่ผวาไม่ให้ลูกมาเรียน

ที่โรงเรียนอนุบาลพิจิตรในเขตเทศบาลเมืองพิจิตร มีเด็กนักเรียนระดับชั้นต่างๆ ทั้ง อนุบาลและป.1-6 เดินทางเข้ามาเรียนหนังสือกันจำนวนมาก และครบทุกชั้นเรียนเป็นวันแรก บรรยากาศคึกคัก โดยเด็กนักเรียนต้องปฏิบัติตามหลักสาธารณสุขภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ซึ่งทางโรงเรียนปฏิบัติตามนโยบายที่กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุขกำหนด ด้วยการลดจำนวนนักเรียนลง 50% หรือเรียนแบบสลับกลุ่ม A และกลุ่ม B ขณะที่ผู้ปกครองยังหวั่นเกรงการระบาดระลอกใหม่ จึงยังไม่อนุญาตให้บุตรหลานเดินทางมาเรียนหนังสือ

‘ตรีนุช’ตรวจสมุทรสาคร

ที่โรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย จ.สมุทร สาคร น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมด้วยนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และผู้บริหาระดับสูงลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 เป็นวันแรก

น.ส.ตรีนุช เปิดเผยว่า วันนี้ตนลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนในจ.สมุทรสาคร ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง โดยโรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ มีนักเรียน 3,034 คน ทางโรงเรียนให้นักเรียนแบ่งกลุ่มมาเรียน ซึ่งการเรียนลักษณะนี้เป็นรูปแบบหนึ่งที่ศธ.ออกมาตรการเพื่อให้เด็กรักษาระยะห่างและได้รับความปลอดภัย ทราบว่านักเรียนทุกคนได้รับวัคซีนไฟเซอร์ครบ 2 เข็มแล้ว ส่วนครูได้รับวัคซีนมากกว่า 90% แล้ว

“แม้นักเรียนไม่ได้รับวัคซีนก็สามารถมาเรียนได้ ขณะนี้มีผู้ปกครองยื่นความประสงค์ให้ลูกฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น คาดว่าเพราะผู้ปกครองมั่นใจมากขึ้น ทั้งนี้ศธ.ไม่เร่งให้โรงเรียนเปิดออนไซต์ทั้งหมด แต่ศธ.เน้นเรื่องความปลอดภัยของเด็กเป็นหลัก ถ้าโรงเรียนมีความพร้อมก็สามารถเปิดเรียนออนไซต์ได้ ทราบว่าขณะนี้มีโรงเรียนที่สอนระดับชั้นประถมศึกษาบางแห่งได้รับอนุญาตจากจังหวัดให้เรียนออนไซต์วันที่ 5 พ.ย.นี้ และในวันที่ 15 พ.ย. จะเปิดออนไซต์เพิ่มมากขึ้น ศธ.แจกคู่มือให้โรงเรียนทุกแห่งรับมือถ้าพบนักเรียน และบุคลากรติดเชื้อ เช่นหากพบคนติดเชื้อ ให้ปิดแค่ห้องเรียน 3 วัน และทำความสะอาดห้องเรียน แต่จะไม่ปิดทั้งโรงเรียน เป็นต้น ขอให้ผู้ปกครองมั่นใจ”

2 หมื่นโรงเรียนเปิดออนไซต์

ด้านนายอัมพรกล่าวว่า จากที่ได้รับรายงานโรงเรียนทุกแห่งทั่วประเทศมีความพร้อมเปิดเรียน โดยมีโรงเรียนเปิดเรียนรูปแบบ ออนไซต์จำนวน 20,000 แห่ง และมีโรงเรียนส่วนหนึ่งที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอนุมัติให้เปิดเรียนออนไซต์ ในวันที่ 15 พ.ย. ทั้งนี้โรงเรียนเตรียมความพร้อมรับเปิดเรียนเช่นกัน

“ส่วนจะเปิดออนไซต์ได้ 100% เมื่อไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับบริบทของพื้นที่ แต่จะสามารถเปิดเรียนทั้งหมดได้หรือไม่ สพฐ.ไม่ได้ตั้งเป้าตรงนั้น แต่อยากให้โรงเรียนเปิดได้มากที่สุด และปลอดภัยที่สุด” นายอัมพรกล่าว

นายอัมพรกล่าวต่อว่า การฉีดวัคซีนให้นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา จากข้อมูล วันที่ 1 พ.ย. มีดังนี้ นักเรียนที่ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 252,765 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 16,579 ราย จำนวนครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 320,292 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 214,734 ราย

1.6 พันร.ร.ปัตตานีงดออนไซต์

ส่วนที่จ.ปัตตานี สถานศึกษาต่างๆ ทั้ง 1,600 แห่งทุกสังกัดต่างต้องปิดโรงเรียน ไม่สามารถเปิดเรียนแบบออนไซต์ที่โรงเรียนได้ เนื่องจากโควิดยังคงแพร่ระบาดอย่างหนักในหลายพื้นที่ ล่าสุพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 634 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 37,880 ราย ผู้เสียชีวิตรายใหม่สูงสุดในรอบเดือนจำนวน 7 ราย เสียชีวิตสะสม 376 ราย

ทำให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดปัตตานียังไม่อนุญาตให้โรงเรียนเปิดให้นักเรียนเดินทางมาเรียนที่โรงเรียนได้ เพราะเกรงจะเกิดการแพร่ระบาดในหมู่เด็กนักเรียน และจะนำเชื้อไปสู่ครอบครัว ประกอบกับการฉีดวัคซีนให้กับเด็กและครูยังไม่ถึงจำนวนตามที่กำหนดไว้ ขณะนี้โรงเรียนต้องทำการเรียนการสอนแบบ on line, on hand, on demand และ on air เท่านั้น สำหรับการฉีดวัคซีน ทางจังหวัดตั้งเป้าไว้ว่าสิ้นเดือนต.ค. จะฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ร้อยละ 70 แต่ปรากฏว่าฉีดได้เพียง 46% เท่านั้น

ยะลาเรียนออนไลน์

ส่วนบรรยากาศการเปิดภาคเรียนที่ 2 ประจำปี 2564 ในพื้นที่จ.ยะลา เป็นไปอย่างเงียบเหงา โรงเรียนหลายแห่งในพื้นที่ยังคงจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ เนื่องจากศบค.ยะลายังไม่อนุญาตให้เปิดเรียนอย่างเต็มรูปแบบ

โดยที่โรงเรียนคณะราษฎรบำรุงจังหวัดยะลา ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองยะลา ครูผู้สอนยังคงเดินทางมาทำงานตามปกติ โดยสอนนักเรียนผ่านระบบออนไลน์ เช่นเดียวกับที่โรงเรียนบ้าน เบอเส้ง ต.สะเตงนอก และโรงเรียนสตรีอิสลามวิทยามูลนิธิ ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามก็ยังไม่มีการเปิดทำการเรียนแบบออนไซต์

สายบุรีปิด 20 หมู่บ้าน

ที่อำเภอสายบุรี จ.ปัตตานี มีการติดเชื้อภายในชุมชนมากในช่วงที่ผ่านมา ทางจังหวัดจึงต้องออกประกาศปิดพื้นที่ 20 หมู่บ้าน ใน 8 ตำบลของอ.สายบุรี ได้แก่ต.กะดุงนง ต.ตะบิ้ง ต.เตราะบอน ต.บางเก่า ต.บือเระ ต.ปะเสยะวอ ต.มะนังดาลำ และต.ละหาร เป็นเวลา 14 วัน

ถึงไทยแล้ว – วัคซีนโมเดอร์นาล็อตแรก 5.6 แสนโดสถึงไทยแล้ว บริษัทนำเข้าเตรียมส่งตรวจคุณภาพที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากนั้นจัดสรรให้สภากาชาดไทย ศิริราช รามาธิบดี และร.พ.เอกชนตามโควตา ฉีดให้ผู้สั่งจองและจ่ายเงินก่อน เมื่อวันที่ 1 พ.ย.

โมเดอร์นาล็อตแรกถึงไทยแล้ว

วันเดียวกัน ภญ.สุนัยนา กิจเกษตรไพศาล ผู้จัดการทั่วไป แซดพี เทอราพิวติกส์ ซิลลิค ฟาร์มา ประเทศไทย พร้อมด้วยภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผอ.องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และนพ.ไพบูลย์ เอกแสงศรี เลขาธิการสมาคมโรงพยาบาลเอกชน แถลงข่าวภายหลังการรับวัคซีนทางเลือกโมเดอร์นาล็อตแรก 560,200 โดสที่ขนส่งมาถึงประเทศไทยวันนี้

ภญ.สุนัยนากล่าวว่า วัคซีนโมเดอร์นาล็อตแรกส่งมาถึงประเทศไทยแล้ว เป็นไปตามที่บริษัทได้แจ้งไว้ว่าจะนำเข้ามาให้ได้ภายในพ.ย.นี้ จากการหารือกับทางโมเดอร์นา ล่าสุดจะทยอยส่งมอบ 1.9 ล้านโดสภายในไตรมาส 4 ปี 2564 ส่วนอีก 6.8 ล้านโดส ทยอยส่งไตรมาส 1 ปี 2565 เช่นเดิม

สำหรับล็อตที่ 2 ซึ่งวัคซีนผลิตล็อตต่อล็อตต้องผ่านการตรวจสอบคุณภาพ ถ้าทราบจะรีบแจ้งทันที ส่วนการขออนุญาตขึ้นทะเบียนต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการเพิ่มแหล่งผลิตจากสหรัฐอเมริกาอยู่ระหว่างการดำเนินการพิจารณา หลังจาก วัคซีนโมเดอร์นาถึงคลังเก็บวัคซีนของบริษัท ซิลลิคฯ แล้ว วันที่ 2 พ.ย. กรมวิทยศาสตร์การแพทย์จะมารับตัวอย่างเพื่อไปตรวจวิเคราะห์คุณภาพ หากผ่าน บริษัทจะจัดส่งวัคซีนตามยอดที่ได้รับแจ้งจากอภ.

เผยเกณฑ์กระจายโมเดอร์นา

นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคม ร.พ.เอกชน กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีให้นโยบายจัดหาวัคซีนให้ได้มากที่สุด เพื่อประโยชน์คนไทยและการเปิดประเทศ หลังจากนี้คาดหวังจะนำเข้ามาครบ 8.7 ล้านโดส ภายในไตรมาส 1 ของปี 2565 ขณะนี้ประเทศไทยเปิดประเทศแล้ว สิ่งที่คนกังวลคือจะมีการระบาดรอบใหม่หรือไม่ และตอบโจทย์บางประเทศที่อนุญาตชนิดวัคซีนเดินทางเข้าได้ไม่เหมือนกัน

เมื่อถามว่าวัคซีนโมเดอร์นาล็อตแรก จะจัดสรรให้หน่วยงานที่จองไว้อย่างไร นพ.เฉลิมกล่าวว่า ล็อตแรกนี้จะรวมของสภากาชาดไทย ศิริราช และรามาธิบดีด้วย การจัดสรร 5.6 แสนโดสนี้ จะแบ่งตามสัดส่วนของผู้ที่จองโดยจัดสรร 10%

ซึ่งจะกระจายไปยังร.พ.เอกชนทั่วประเทศ ทำให้คนเข้าถึงได้ง่าย ลำดับการฉีด ร.พ.เอกชนจะพิจารณาจากผู้ที่จองก่อน ชำระเงินก่อน ก็ได้คิวฉีดก่อน คนที่จองวัคซีนโมเดอร์นาไว้สามารถเช็กกลับไปยังร.พ.ที่สั่งจองไว้ได้ เพื่อรับทราบคิวการฉีดของตัวเอง โดยร.พ.จะแจ้งว่า ผู้ที่ได้รับคิวฉีดล็อตแรก คือคนที่จองลำดับที่เท่าไร ได้คิวฉีดเมื่อไร ผู้จองมีสิทธิแจ้งเปลี่ยนวันฉีดและโอนสิทธิ์ได้ และวันที่ 1 พ.ย. เว็บไซต์ของร.พ.เอกชนเปิดระบบแล้วทั้งหมด สามารถเข้าไปดูใน ร.พ.สาขาที่จองไว้ได้

เมื่อถามถึงกรณีการชดเชยหากมีอาการข้างเคียง ภญ.ศิริกุลกล่าวว่า อภ.มีการทำประกันไว้ เบื้องต้นหากมีอาการโคมา หรือเสียชีวิต จะได้รับชดเชย 1 ล้านบาท กรณีทุพพลภาพถาวร ชดเชย 5 แสน และกรณีมีอาการจนต้องเข้ารับการรักษาเป็นคนไข้ในของร.พ. จะมีค่าชดเชยค่ารักษาพยาบาล 1 แสนบาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน