นิสิตจุฬาจี้สอบ
อจ.ร่วมนกหวีด

อดีตจำเลย 6 ตุลา 19 นัดรวมตัวยื่นประกันแกนนำม็อบน.ศ.-ราษฎร 63 ขณะที่ศาลอาญาสั่งลงโทษ‘เบนจา’ คุก 6 เดือน ฐานละเมิดอำนาจศาล ‘ณัฐชนน’ ก็โดนลงโทษด้วย คุก 4 เดือน ส่วน ‘โตโต้’ แกนนำวีโว่นำผู้ชุมนุมที่ถูกตร.จับกุมบุกสภาฯ ร้องกมธ.กฎหมาย โวยทำเกินกว่าเหตุ ซ้อมและข่มขู่ให้หวาดกลัว ด้านสภานิสิตจุฬาฯ ยื่นหนังสือจี้สำนักบริหารกิจการนิสิตสอบกลุ่มอาจารย์ร่วมม็อบนกหวีด

เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ศาลอาญา ศาลอ่านคำสั่งคดีละเมิดอำนาจศาลหมายเลขดำ ล.ศ.6/2564 ตามที่ ผอ.สำนักอำนวยการประจำศาลอาญา เป็นผู้กล่าวหา น.ส.เบนจา อะปัญ ผู้ถูกกล่าวหา และคดีละเมิดอำนาจศาลหมายเลขดำ ล.ศ.8/2564 ตามที่ ผอ.สำนักอำนวยการประจำศาลอาญา เป็นผู้กล่าวหานายณัฐชนน ไพโรจน์ ผู้ถูกกล่าวหา

โดยสืบเนื่องจากกรณีเมื่อวันที่ 29 เม.ย.64 กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมทำกิจกรรมยื่นจดหมาย อ่านกลอนที่ศาลอาญา เข้ามารวมตัวกันที่บันไดทางขึ้นหน้าศาล ใช้เครื่องขยายเสียง ตะโกนปล่อยเพื่อนเรา ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในศาลอาญา

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานและผลไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว มีคำสั่งว่าน.ส.เบนจา ผู้ถูกกล่าวหา มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ให้ลงโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหามีกำหนด 6 เดือน ส่วนคดีนายณัฐชนน ศาลมีคำสั่งให้ลงโทษจำคุกเป็นเวลา 4 เดือน

ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต. จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผบช.น. ในฐานะโฆษกบช.น. กล่าวว่าการชุมนุมเมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา บริเวณแยกราชประสงค์ กลุ่มมวลชนนำแผงเหล็กมาปิดกั้นผิวการจราจร ส่งผลให้การจราจรเริ่มติดขัด เจ้าหน้าที่อ่านประกาศแจ้งข้อกฎหมายให้ผู้ชุมนุมทราบว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมตั้งเวทีและปราศัย จนกระทั่งเวลา 20.28 น. ประกาศยุติการชุมนุม

โฆษกบช.น.กล่าวอีกว่า จากการปฏิบัติการแก้ไขปัญหากลุ่มก่อความไม่สงบเมื่อวันที่ 31 ต.ค. ถึงวันที่ 1 พ.ย. ตามนโยบายพล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผบช.น. ในการป้องกันการก่อเหตุความรุนแรงรอบพื้นที่การชุมนุมโดยรอบแยกราชประสงค์ จับกุม ผู้ต้องหาพกพาอาวุธมีด สนับมือ และยาเสพติดรวม 11 ราย นอกจากนี้ยังพิสูจน์ทราบ ผู้กระทำผิดในกรณีการชุมนุม 3 คดี ผู้ต้องหา 5 คน อยู่ระหว่างออกหมายเรียกต่อไป ส่วนกรณีเด็ก 15 ปีที่ถูกยิงบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตหลังรักษาตัวอยู่ในร.พ.นานกว่า 2 เดือน หลายคนบิดเบือนข้อเท็จจริงว่าไม่มีการดำเนินคดีนั้น มีการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด 1 ราย พร้อมกับแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม

ที่รัฐสภา นายปิยรัฐ หรือโตโต้ จงเทพ แกนนำกลุ่มวีโว่ นำนายอรรถสิทธิ์ นุสสะ อายุ 35 ปี ที่ถูกจับกุมหน้าสน.ดินแดง ในเหตุการณ์รำลึกเยาวชนวัย 15 ปีเสียชีวิต เมื่อวันที่ 29 ต.ค. เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ผ่านนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานกมธ.การกฎหมายฯ

นายปิยรัฐกล่าวว่าในวันดังกล่าวขณะที่มวลชนทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ยังไม่มีเหตุรุนแรงใดๆ ทั้งสิ้น ตำรวจพร้อมโล่และอาวุธเข้าล้อมจับกุมผู้ร่วมกิจกรรม แม้กระทั่งร้านค้าก็ถูกยิงเสียหาย มีผู้บาดเจ็บหลายราย หนึ่งในนั้นบาดเจ็บจากการควบคุมตัวของ เจ้าหน้าที่ โดยการซ้อมทรมานตั้งแต่จับกุมจนถึงห้องสอบสวน สน.ดินแดง บังคับขู่เข็ญไม่ให้พบทนายความ กระทำต่อหน้าสื่อมวลชน มีพยานหลักฐานชัดเจน รวมทั้งบังคับขู่เข็ญเอารหัสโทรศัพท์เพื่อเข้าถึงข้อมูล ผู้เสียหายไปตรวจร่างกายที่ร.พ.ศิริราช ได้รับใบรับรองแพทย์ว่าถูกทำร้ายร่างกาย มีบาดแผลบริเวณใบหน้า ลำตัว แขน รอยฟกช้ำที่ลำคอ

ขณะที่นายอรรถสิทธิ์กล่าวว่าถูกตำรวจจับและลากเข้าไปในสน.ดินแดง พาไปห้องสืบสวน ปิดมิดชิด ระหว่างนั้นตำรวจนอกเครื่องแบบพูดว่าจะทำให้เหมือนอุบัติเหตุตาย จากนั้นเริ่มซ้อมเตะที่ท้อง ใช้กระบองแทง ที่ซี่โครง จับหัวโขกกับเก้าอี้ไม้หลายครั้ง บีบคอบังคับเอารหัสโทรศัพท์ จำไม่ได้เพราะใช้วิธีสแกนนิ้ว เมื่อใส่รหัสไม่ถูกต้องก็บีบคออีกจนเกือบหมดสติ รู้สึกหวาดกลัว ไม่คิดว่าจะถูกตำรวจทำแบบนี้ อยากสอบถามสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าอนุญาตให้ตำรวจซ้อมผู้ต้องหาได้หรือไม่

ด้านนายสิระกล่าวว่าจะนำเรื่องนี้เข้าพิจารณาในวันที่ 3 พ.ย. เพื่อขอมติที่ประชุมว่าจะบรรจุเข้าสู่การพิจารณาหรือไม่และวันไหน รวมถึงจะขอเอกสารอะไรบ้าง เช่น ตำรวจเป็นใคร หากมีคลิปวิดีโอก็ต้องขอจากตำรวจมาด้วย เราจะให้ความยุติธรรมทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้อง ขอให้ผู้ร้องมั่นใจได้ว่ากมธ.จะให้ความยุติธรรมจนถึงที่สุด

ส่วนนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หนึ่งในกมธ.การกฎหมายฯ กล่าวว่ากมธ.จะไม่อยู่เฉย ตนจะพยายาม ผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย หากพิสูจน์ได้ว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นจริง จะไม่ปล่อยให้คนชั่วอยู่ในระบบ ใช้กระบวนการยุติธรรมกระทำความผิดอย่างที่เป็นมา

จากนั้นนายปิยรัฐนำนายอรรถสิทธิ์ พร้อมทนายความ เข้าพบ พ.ต.อ.รัฐชัย ศรีวิชัย ผกก.สน.ดินแดง เพื่อแจ้งความดำเนินคดี โดยภายหลังสอบปากคำแล้ว ทางพนักงานสอบสวนรับแจ้งความ และจะเรียกตัวผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์มาสอบปากคำเพื่อดำเนินคดีต่อไป

ยื่นประกัน – กลุ่มนักกิจกรรม 6 ตุลา ประกาศเชิญชวนเพื่อนเดือนตุลาร่วมเป็นกำลังใจ กลุ่มอดีตจำเลยคดี 6 ตุลาคม 2519 จะร่วมเป็นนายประกันให้เยาวชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยและถูกคุมขังในเรือนจำ โดยนัดเจอกันเวลา 10.00 น. วันที่ 3 พ.ย.นี้ ที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก

วันเดียวกัน กลุ่มออคท์เดมแจ้งว่า ในวันที่ 3 พ.ย. เวลา 10.00 น.เป็นต้นไป กลุ่มออคท์เดม ร่วมกับ 18 อดีตผู้ต้องหาคดี 6 ตุลา, อดีต ผู้ถูกติดตามตัวเนื่องจากหลบหนีในคดี 6 ตุลา, อดีตกรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.) ยุค 6 ตุลา และนักคิดนักเขียน นักวิชาการ ปัญญาชนช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ถึง 6 ตุลา 2519 จะร่วมกันไปเป็นนายประกันให้กับผู้ต้องหาการเมืองที่ศาลอาญา

ส่วนกรณีสำนักบริหารกิจการนิสิต จุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกประกาศเมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา จะดำเนินการทางวินัยต่อนิสิต โดยสืบเนื่องจากองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) มีมติเอกฉันท์ให้ยกเลิกการแบกเสลี่ยงอัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์

ล่าสุดนายฐิติ ชิวชรัตน์ ประธานสภานิสิต จุฬาฯ ยื่นหนังสือถึงสำนักบริหารกิจการนิสิต จุฬาฯ เพื่อแสดงความเห็นต่อกิจการของมหาวิทยาลัย พร้อมเรียกร้องให้เปิดการสอบสวนความเกี่ยวข้องของคณาจารย์และบุคลากรที่มีความเชื่อมโยงต่อการชุมนุมคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ในปีพ.ศ.2556-2557

ซึ่งเป็นการชุมนุมที่นำไปสู่การล้มล้างรัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตย อันเป็นการแสดงความไม่เคารพต่อความเห็นต่างของประชาชนส่วนมากในประเทศ โดยให้มหาวิทยาลัยดำเนินการกล่อมเกลาให้คณาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัยเหล่านั้น ให้อยู่ในครรลองของหลักความรู้คู่คุณธรรม

จี้ปล่อย – น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม พร้อม น.ส.ปิยนุช โคตรสาร ผอ.แอมเนสตี้ประเทศไทย นำรายชื่อประชาชน 28,426 ชื่อยื่นถึงนายกฯ เรียกร้องให้หยุดดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม และให้ปล่อยผู้ต้องขังทางการเมืองที่อยู่ในเรือนจำทุกคน เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล

รุ้งยื่น2.8หมื่นชื่อจี้ยุติคดีผู้ชุมนุม

เวลา 10.00 น. วันที่ 1 พ.ย. ที่ทำเนียบ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม พร้อม น.ส.ปิยนุช โคตรสาร ผอ.แอมเนสตี้ประเทศไทย นำรายชื่อประชาชน 28,426 รายชื่อ ยื่นถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม เรียกร้องให้หยุดดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม และปล่อยผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคน ผ่านนายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีนพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีตส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย ร่วมสังเกตการณ์

น.ส.ปิยนุชกล่าวว่า สำนักเลขาธิการใหญ่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วนรณรงค์เชิญชวนสมาชิก นักกิจกรรมและผู้สนับสนุนทั่วโลกและในไทย ร่วมส่งจดหมายเรียกร้องผ่านปฏิบัติการด่วนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

และแคมเปญออนไลน์ทาง Change.org ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนของทางการไทย เรียกร้องถึงรัฐบาลไทย 1.ยุติการดำเนินคดีโดยทันที และปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวโดยพลการ 2.อนุญาตให้แสดงความเห็นและชุมนุมโดยสงบ ไม่กำหนดเงื่อนไขการประกันตัวจนเกินขอบเขต 3. สอบสวนโดยทันที อย่างโปร่งใส ต่อรายงานการใช้กำลังโดยไม่จำเป็นและเกินกว่าเหตุของตำรวจ และประกาศใช้แนวปฏิบัติที่สอดคล้องมาตรฐานระหว่างประเทศ

น.ส.ปนัสยากล่าวว่า ขอเรียกร้องสิทธิประกันตัวผู้ต้องขังที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในคุกตั้งแต่แรก ปล่อยตัวเพื่อนเราให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน