รพ.กันทรารมย์เร่งสอบหาสาเหตุ
คลัสเตอร์สังสรรค์ปากช่องบาน
ชายแดนใต้ยังหนักติดเชื้อไม่ลด
จองเข้ามาเที่ยวไทยแล้ว9หมื่นคน

ป่วยเพิ่มอีก 7,960 ราย ตาย 53 สธ.ห่วงแรงงานต่างด้าวลอบเข้าเมืองเสี่ยงแพร่เชื้อโควิด ขอความร่วมมือ สถานประกอบการจ้างแรงงานถูกกฎหมาย หนุ่มศรีสะเกษร้องพ่อวัย 68 ปี เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มแรกได้แค่ 4 วัน ผอ.ร.พ.กันทรารมย์ แจงยังไม่ได้รับรายงาน เร่งสอบสวนสาเหตุ คุกโคราชยังวิกฤต ติดเชื้อเจออีก 625 ราย เร่งคุมคลัสเตอร์สังสรรค์ปากช่อง เชียงใหม่สั่งปิด 7 สถานที่เสี่ยงคุมโรค ทั้งแคมป์คนงาน หอ และบ้านพักคนงาน หลังยอดป่วยยังพุ่ง 429 ราย ภูเก็ตป่วยอีก 57 ราย จากแซนด์บ็อกซ์ 1 นายกฯ ขอบคุณทุกภาคส่วนขานรับเปิดประเทศ แห่เดินทางเที่ยวไทยแล้ว 2 หมื่นคน ยอดลงทะเบียนไทยแลนด์ พาส ทะลุ 9 หมื่น อนุมัติแล้วกว่า 3 หมื่นคน

ป่วยเพิ่ม 7,960-ตาย 53

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์ โควิด-19 ประจำวันว่า พบผู้ติดเชื้อใหม่ 7,960 ราย สะสม 1,967,999 ราย หายป่วย 6,950 ราย สะสม 1,849,968 ราย เสียชีวิต 53 ราย สะสม 19,664 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 98,367 ราย อยู่ใน ร.พ. 43,069 ราย ร.พ.สนามและอื่นๆ 55,298 ราย มีอาการหนัก 2,048 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 449 ราย

ภาพรวมผู้ติดเชื้อวันนี้มาจาก 67 จังหวัดรวมกันสูงสุด 4,779 ราย คิดเป็น 64% 4 จังหวัดชายแดนใต้ 1,517 ราย คิดเป็น 20% กทม.และปริมณฑล 1,226 ราย คิดเป็น 16% เรือนจำ 427 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศมี 11 ราย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย สหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ ประเทศละ 1 ราย กัมพูชา 2 ราย และเมียนมา 6 ราย (ช่องทางธรรมชาติ)

ผู้เสียชีวิต 53 ราย มาจาก 27 จังหวัด มาจากภาคใต้ 18 ราย ภาคกลางและตะวันออก 13 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 ราย กทม. 6 ราย ภาคเหนือ 4 ราย และปริมณฑล 4 ราย เป็นชาย 26 ราย หญิง 27 ราย อายุ 35-95 ปี ค่ากลางอายุ 72 ปี โดยเป็นผู้สูงอายุ 60 ปี และมีโรคประจำตัวรวมกัน 96% ไม่มีโรคเรื้อรัง 4%

เชียงใหม่-จว.ใต้ยังพุ่ง

ภาพรวมแนวโน้มการติดเชื้อของวันนี้ ลดลงและต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 7 วัน ส่วนจังหวัดที่ติดเชื้อเกิน 100 รายมี 23 จังหวัด โดย 10 อันดับที่ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ 1.กทม. 736 ราย สะสม 404,691 ราย 2.เชียงใหม่ 482 ราย สะสม 19,189 ราย 3.สงขลา 417 ราย สะสม 50,389 ราย 4.ปัตตานี 408 ราย สะสม 40,029 ราย 5.นครศรีธรรมราช 392 ราย สะสม 32,443 ราย 6.นราธิวาส 348 ราย สะสม 38,072 ราย 7.ยะลา 344 ราย สะสม 43,055 ราย 8.ชลบุรี 249 ราย สะสม 103,240 ราย 9.สมุทรปราการ 216 ราย สะสม 124,026 ราย และ 10.ประจวบคีรีขันธ์ 204 ราย สะสม 16,235 ราย

สำหรับ 13 จังหวัดที่เหลือ ได้แก่ ราชบุรี 194 ราย, ตรัง 169 ราย, ระยอง 167 ราย, จันทบุรี 157 ราย, พัทลุง 150 ราย, สุราษฎร์ธานี 147 ราย, ขอนแก่น 130 ราย, ตาก 119 ราย, พระนครศรีอยุธยา 113 ราย, นนทบุรี 110 ราย, ฉะเชิงเทรา 108 ราย, ปราจีนบุรี 106 ราย และนครราชสีมา 100 ราย

ฉีดวัคซีนแล้ว 80.2 ล้านโดส

ขณะที่ติดเชื้อต่ำกว่า 20 ราย มี 20 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ 19 ราย, มหาสารคาม 19 ราย, สุโขทัย 17 ราย, ร้อยเอ็ด 17 ราย, อุตรดิตถ์ 16 ราย, หนองบัวลำภู 15 ราย, กำแพงเพชร 14 ราย, ลำพูน 13 ราย, บึงกาฬ 13 ราย, สกลนคร 12 ราย, สิงห์บุรี 10 ราย, ชัยนาท 8 ราย, ระนอง 8 ราย, อำนาจเจริญ 7 ราย, แพร่ 6 ราย, มุกดาหาร 5 ราย, พะเยา 4 ราย, น่าน 3 ราย, อุทัยธานี 1 ราย และยโสธร 1 ราย

สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 วันที่ 6 พ.ย. ฉีดเพิ่มขึ้น 703,581 โดส สะสม 80,221,553 โดส แบ่งเป็น เข็มแรก 43,914,118 ราย คิดเป็น 61% ของประชากร เข็มสอง 33,719,280 ราย คิดเป็น 46.8% ของประชากร และเข็มสาม 2,588,155 ราย คิดเป็น 3.6% ของประชากร

แห่เที่ยวไทยแล้ว 2 หมื่นคน

ส่วนผู้เดินทางเข้าประเทศ วันที่ 6 พ.ย. ผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีจำนวน 1,620 คน เข้าระบบ Test&Go มากสุด 1,421 คน กักตัว 125 คน และแซนด์บ็อกซ์ 74 คน รวมสะสม 6 วันเปิดประเทศมีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้ว 12,978 คน เป็นระบบ Test&Go 11,478 คน ระบบกักตัว 968 คน แบ่งเป็น กักตัว 7 วัน 248 คน และกักตัว 10 วัน 720 คน และระบบแซนด์บ็อกซ์ 532 คน

ส่วนท่าอากาศยานภูเก็ตมีเข้ามารวม 6,722 คน และท่าอากาศยานสมุย เข้ามาสะสม 309 คน รวมทั้ง 3 สนามบิน มีผู้เดินทางสะสม 20,092 คน มีผู้ติดเชื้อรวมกัน 15 คน คิดเป็น 0.07% สำหรับประเทศที่เข้ามามากที่สุด ยังเป็นสหรัฐอเมริกา 2,465 คน ตามด้วยเยอรมนี 2,334 คน และอังกฤษ 1,376 คน

ยอดลงไทยแลนด์พาส 9 หมื่น

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ติดตามผลการเปิดประเทศและขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมกันสร้างความ เชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ในการเปิดประเทศนับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา ข้อมูล ณ วันที่ 5 พ.ย.2564 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทย ทั้งแบบการยกเว้นการกักตัว (Test and Go) พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (Sandbox Programme) และการกักตัว ณ สถานกักกัน รวมจำนวน 16,595 คน

ส่วนใหญ่มาจากสหรัฐอเมริกา เยอรมนี สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และสวิตเซอร์แลนด์ นอกจากนี้ในส่วนของความคืบหน้าการเปิดประเทศด้วยระบบ Thailand Pass ณ วันที่ 6 พ.ย. มีผู้ลงทะเบียนขอเดินทางเข้าประเทศไทยผ่านระบบนี้ ทางเว็บไซต์ https://tp.consular.go.th แล้วจำนวน 90,165 คน ได้รับอนุมัติแล้ว 33,788 คน

และฝากเตือนว่าขณะนี้มีกลุ่มมิจฉาชีพสร้างเว็บไซต์ www.thailandpass.org อ้างว่าเป็นของภาครัฐซึ่งเว็บไซต์ดังกล่าวเป็นเว็บไซต์ปลอม ขอให้ทุกคนระวังอย่าหลงเชื่อ

นายกฯจี้ปรับไทยแลนด์พาส

ส่วนปัญหาผู้ลงทะเบียนในระบบ ไทยแลนด์ พาส บางรายไม่ได้รับ คิวอาร์โค้ด หรือได้รับล่าช้านั้น นายกฯ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งปรับปรุงระบบแล้ว ล่าสุดกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กรมควบคุมโรค (คร.) ได้ร่วมกันเพิ่มประสิทธิภาพระบบให้บริการผู้เดินทางได้สะดวกขึ้น ได้แก่ พัฒนาให้ ผู้ยื่นคำร้อง ยื่นเอกสารในรูปแบบ ไฟล์ พีดีเอฟ ด้วย ทำ ดร็อป ดาวน์ ลิสต์ ให้เลือกโรงแรมที่ผูกกับร.พ. เพิ่มฟังก์ชัน ให้ตรวจสอบสถานะการลงทะเบียนได้ โดยไม่ต้องลงทะเบียนซ้ำ รวมทั้งเร่งประสานงานเพิ่มรายชื่อประเทศที่อ่าน ดิจิตอล วัคซีน เซอทิฟิเคต แบบอัตโนมัติให้ได้มากขึ้นจากที่มีอยู่ปัจจุบัน 30 ประเทศ เพื่อลดภาระเจ้าหน้าที่ในการตรวจเอกสาร จากเดิมระบบกำหนดให้รอผลการตรวจสอบใบวัคซีนภายใน 7 วัน ปัจจุบันให้ลดลงเหลือ 3 วันแล้ว

นายธนกรกล่าวต่อว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดว่า ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ คือ เดือน พ.ย.-ธ.ค. จะมี นักท่องเที่ยวเข้ามาเดือนละ 300,000 คน (คิดจากจำนวน 10% ของปี 62 ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเดือนละ 3 ล้านคน) เมื่อรวมกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาก่อนหน้านี้ ตลอดปีนี้คงอยู่ที่ประมาณ 700,000 คน

ทั้งนี้ ในส่วนของโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ที่เปิดรับนักท่องเที่ยวชาว ต่างชาติ ไปก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ตอนนี้ยอดนักท่องเที่ยวสะสมอยู่ที่ 65,661 คน มียอดการจองโรงแรมที่ได้เครื่องหมายมาตรฐานความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวและสุขอนามัย SHA Plus ตลอดไตรมาส 3 (ก.ค.64-ก.พ.65) จำนวน 951,710 คืน มีเที่ยวบินเข้ามาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกวัน

ชี้ต่างชาติมั่นใจระบบสธ.ไทย

ส่วนโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 3 มีประชาชนให้ความสนใจลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ แล้วจำนวน 809,255 คน ผู้ประกอบการ 5,941 ราย ยอดการจองโรงแรมที่พักสะสม 808,315 ห้อง ทำให้ยอดสะสมโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 1-3 กว่า 8.9 ล้านคน มูลค่าสะสมรวมกว่า 3,266.8 ล้านบาท และในส่วนของโครงการทัวร์เที่ยวไทย ที่รัฐบาลจะสนับสนุนค่า แพ็กเกจท่องเที่ยว 40% ไม่เกิน 5,000 บาทต่อสิทธิ จำนวน 1 ล้านสิทธิ

ล่าสุดมีบริษัททัวร์สมัครลงทะเบียนเพิ่มขึ้นจำนวนกว่า 727 ราย และบริษัทนำเที่ยวที่เปิดถุงเงินแล้วจำนวน 1,816 ราย ยอดรวมมูลค่าการเดินทางและค่าใช้จ่ายการสะสม 1.4 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 4 พ.ย.64)

โดยประชาชนสามารถจองแพ็กเกจทัวร์ผ่านผู้ประกอบการนำเที่ยวโดยตรง และใช้สิทธิ์ทั้ง 2 โครงการได้ถึง 31 ม.ค.2565 เชื่อมั่นว่าภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงปลายปีจะมีความคึกคักมากขึ้น จากการประกาศเดินหน้าเปิดประเทศของนายกฯ นักท่องเที่ยวต่างชาติให้ความสนใจเลือกประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางในการพักผ่อนหลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย

นายธนกรกล่าวว่า นอกจากนี้ส่วนหนึ่งยังมาจากความเชื่อมั่นในระบบสาธารณสุขของไทยกับการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีแนวโน้มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น รัฐบาลเร่งเดินหน้าฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย

เข้มสกัดต่างด้าวลอบเข้าเมือง

ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีคร. กล่าวว่าถึงกรณียังพบแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย เสี่ยงต่อการแแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า เป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะเป็นปัจจัยการระบาดในหลายครั้งที่ผ่านมา ที่เห็นชัด คือในตลาด หากลงไปสอบสวนโรคจะเริ่มต้นที่แรงงานต่างด้าวก่อน ไม่ว่าจะเป็นตลาดใน กทม. สมุทรสาคร หรือที่เชียงใหม่

“ผู้มีบทบาทสำคัญคือนายจ้าง หากนายจ้างเข้มงวด เชื่อว่าแรงงานยินดีที่จะทำตามทุกคน ดังนั้นต้องขอความร่วมมือทุกคน เจ้าของสถานประกอบการ องค์กร ให้ช่วยเน้นย้ำตรงส่วนนี้ ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปพูดอย่างเดียว อาจไม่ได้ผลมากนัก บางครั้งอาจเกิดความเข้าใจไม่ตรงกัน” นพ.โอภาสกล่าว

เชียงใหม่ปิด 7 สถานที่เสี่ยง

ด้านนายประจญ ปรัชญ์สกุล ผวจ.เชียงใหม่ ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ลงนามคำสั่ง ปิด 7 สถานที่เสี่ยงใน 5 อำเภอ ชั่วคราว เพื่อควบคุมและป้องกันโรค ภายหลังพบว่ามีการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน ได้แก่ แคมป์คนงาน หมู่ 7 ต.สุเทพ อ.เมือง หอพัก ในพื้นที่หมู่ 5 บ้านเทพาราม ต.ป่าบง อ.สารภี ถึงวันที่ 13 พ.ย., แคมป์คนงาน หมู่ 11 บ้านช้างค้ำ ต.ท่าวังตาล อ.สารภี และบ้านพักแรงงานต่างชาติ เลขที่ 50/2 หมู่ 7 บ้านบวกหัวช้าง ต.ท่าวังตาล อ.สารภี ถึงวันที่ 15 พ.ย.

ภูเก็ตป่วยอีก 56-ดับ 1

ที่สสจ.ภูเก็ต รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อใหม่ 56 ราย จากแซนด์บ็อกซ์ 1 ราย และเสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย

ด้านคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.สงขลา รายงานว่า พบผู้ป่วยใหม่ 417 ราย ลดลงจากวันที่ 6 พ.ย. ไม่พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม โดยพื้นที่ตรวจพบติดเชื้อรายใหม่สูงสุดอยู่ใน 4 อำเภอชายแดนคือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี

คลัสเตอร์ดริงก์ปากช่องลาม

ด้านนพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นพ.สสจ.นครราชสีมา กล่าวว่า มีผู้ป่วย รายใหม่ 97 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง 4 ราย และสัมผัสผู้ป่วยในพื้นที่ 93 ราย และเสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย เป็นชายอายุ 65 ปี ต.สูงเนิน อ.สูงเนิน และชายอายุ 64 ปี ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว รวมเสียชีวิตสะสม 234 ราย ส่วนสถานการณ์ผู้ต้องขังติดเชื้อล่าสุดมีจำนวนป่วยสะสม 625 ราย โดยมีเรือนจำกลางนครราชสีมา 416 ราย และทัณฑสถานเกษตรอุตสาหกรรมเขาพริก อ.สีคิ้ว 209 ราย

ทั้งนี้ ได้เฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดคลัสเตอร์กิจกรรมสังสรรค์ ต.คลองม่วง อ.ปากช่อง ไทม์ไลน์ พบผู้ป่วยรายแรกวันที่ 28 ต.ค. เป็นชายอายุ 55 ปี สอบสวนโรค มีการพบปะกลุ่มเพื่อนร่วมกิจกรรมสังสรรค์หลายแห่งในพื้นที่ อ.ปากช่อง ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเดิมๆ จำนวน 27 คน ได้นำผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและครอบครัวรวมทั้งเพื่อนบ้านมาตรวจพบติดเชื้อ ล่าสุดป่วยสะสม 10 ราย เบื้องต้นทราบข้อมูลเป็น กลุ่มประกอบอาชีพเกี่ยวกับการซื้อขายผัก

ฉีดเข็มแรก – ลูกของนายสุรัตน์ ศรปัญญา อายุ 68 ปี ร้องตรวจสอบและขอความเป็นธรรม กรณีพ่อฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มแรกแล้วล้มป่วยจนเสียชีวิต ที่บ้านใน ต.ยาง อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 7 พ.ย.

ศรีสะเกษร้องพ่อฉีดวัคซีนดับ

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านเลขที่ 15 หมู่ 5 ต.ยาง อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ นายทนงศักดิ์ ศรปัญญา อายุ 46 ปี และนายธนกฤต ศรปัญญา อายุ 42 ปี พร้อมครอบครัว ญาติพี่น้อง ได้เข้าร้องทุกข์ว่า นายสุรัตน์ ศรปัญญา อายุ 68 ปี บิดาได้เสียชีวิตอย่างกะทันหัน ทั้งที่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ไม่ได้มีอาการป่วยไข้มาก่อนเลย แต่หลังจากไปฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้วมีอาการป่วยไข้และเสียชีวิตในเวลาเพียงไม่กี่วันเท่านั้น โดยได้นำเอาหลักฐานการฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มแรก และเอกสารต่างๆ มาแสดงให้ทราบ

นายทนงศักดิ์กล่าวด้วยน้ำตาว่า เมื่อวันที่ 27 ต.ค. พ่อได้ไปฉีดวัคซีนเข็มแรกที่ รพ.สต.ยาง อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ จากนั้นได้ทำงานบ้านทุกอย่างตามปกติ ต่อมาวันที่ 29 ต.ค. พ่อมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัวเป็นไข้เหมือนกับไม่สบาย จึงได้บอกกับภรรยาของตนซึ่งเป็นลูกสะใภ้ว่าไม่สบายเป็นไข้ พอตอนเย็นของวันที่ 29 ต.ค. พ่อได้มากินข้าวตอนเย็นได้อาเจียนเจ็บปวดท้องมาก จึงรีบนำตัวพ่อส่งไปยัง ร.พ.กันทรารมย์ หลังจนถึงเช้าของวันที่ 30 ต.ค. พ่อเริ่มปัสสาวะและอุจจาระไม่ออก

จากนั้น เริ่มร่างกายอ่อนแรง พยาบาลได้เจาะเลือดเพื่อนำเอาไปตรวจดู เพื่อเตรียมส่งไปยัง ร.พ.ศรีสะเกษ จนถึงเวลา 12.30 น. ทางร.พ.ได้นำรถมารับตัวพ่อซึ่งขณะนั้นร่างกายอ่อนแรงมาก แต่พอถึงกลางทางหัวใจหยุดเต้น จึงได้นำตัวพ่อกลับมาที่ร.พ.กันทรารมย์อีกครั้ง เพื่อปั๊มหัวใจเป็นครั้งที่ 2 พ่อได้รู้สึกตัวขึ้นมาแพทย์ได้นำเข้าห้องฉุกเฉิน ก่อนเสียชีวิตเมื่อเวลา 01.44 น. วันที่ 31 ต.ค. 2564

ด้านนพ.อดุลย์ โบจรัส ผอ.ร.พ. กันทรารมย์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า ยังไม่ได้รับรายงานเรื่องนี้ ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของนายสุรัตน์ ด้วย สาเหตุของการเสียชีวิตน่าจะเป็นเหตุประจวบเหมาะ เพราะนายสุรัตน์ อายุมากแล้ว อย่างไรก็ตาม ต้องรอผลการสอบสวนสาเหตุของการเสียชีวิตเสียก่อนจึงจะทราบสาเหตุที่แท้จริง เพื่อได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน