งานศพ-กฐินทำโควิดพุ่ง
โมเดอร์นาส่งอีกสิ้นพย.

กทม.สั่งคลายล็อกร้านเน็ต ร้านเกมเปิดได้ พร้อมร้านอาหารเครื่องดื่มที่ผ่านประเมินแล้ว เริ่ม 16 พ.ย. ขณะที่คลัสเตอร์งานบุญทอดกฐิน-งานศพ-ขึ้นบ้านใหม่ทำโควิดลามหลายจว.เหนือ-อีสาน ไทยติดเชื้ออีก 7 พัน เสียชีวิตเพิ่ม 55 ศบค.ชี้ภาพรวมทรงตัว กทม.แนวโน้มลดลง แต่ 5 จว.ชายแดนใต้ยังหนัก ป่วยอีก 1.3 พัน สธ.ห่วง 10 ล้านคนไม่ยอมฉีดวัคซีน ‘บิ๊กตู่’ สั่งเร่งฉีด 6 กลุ่มเป้าหมายที่ไม่ใช่คนสัญชาติไทย นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยแล้วเกือบ 4 หมื่น พบติดเชื้อ 46 อภ.เผยวัคซีนโมเดอร์นาล็อต 2 อีก 1.4 ล้านโดสมาถึงไทยปลายพ.ย.นี้

ติดเชื้ออีก 7 พัน-ตาย 55

เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด -19 ประจำวันว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อใหม่ 7,057 ราย ติดเชื้อสะสม 2,011,331 ราย หายป่วยเพิ่ม 7,393 ราย หายป่วยสะสม 1,895,929 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 55 ราย เสียชีวิตสะสม 19,989 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 95,413 ราย อยู่ในร.พ. 43,752 ราย ร.พ.สนามและอื่นๆ 51,661 ราย มีอาการหนัก 1,818 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 430 ราย

ภาพรวมผู้ติดเชื้อวันนี้มาจาก 67 จังหวัดรวมกันสูงสุด 4,423 ราย คิดเป็น 65% ส่วน 4 จังหวัดชายแดนใต้ 1,239 ราย คิดเป็น 18% กทม.และปริมณฑล 1,182 ราย คิดเป็น 17% เรือนจำ 198 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศมี 15 ราย ได้แก่ รัสเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประเทศละ 2 ราย มาเลเซีย เยอรมนี โปแลนด์ สิงคโปร์ ประเทศละ 1 ราย และกัมพูชา เข้าช่องทางธรรมชาติ 7 ราย

สำหรับผู้เสียชีวิต 55 ราย มาจาก 26 จังหวัด มาจากภาคใต้ 18 ราย ภาคเหนือ 11 ราย ภาคกลางและตะวันออก 9 ราย กทม. 7 ราย ปริมณฑล 6 ราย และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 ราย ผู้เสียชีวิตเป็นชาย 27 ราย หญิง 28 ราย อายุ 31-92 ปี ค่ากลางอายุ 70 ปี โดยเป็นผู้สูงอายุ 60 ปีและมีโรคประจำตัวรวมกัน 98% ไม่มีโรคเรื้อรัง 2%

ฉีดเข็มสองแล้วเกิน 50%

จังหวัดที่ติดเชื้อเกิน 100 ราย มี 20 จังหวัด โดย 10 อันดับที่ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ 1.กทม. 667 ราย สะสม 409,326 ราย 2.สงขลา 463 ราย สะสม 53,257 ราย 3.เชียงใหม่ 455 ราย สะสม 21,651 ราย 4.ปัตตานี 377 ราย สะสม 42,258 ราย 5.นครศรีธรรมราช 346 ราย สะสม 34,456 ราย 6.สมุทรปราการ 251 ราย สะสม 125,394 ราย 7.สุราษฎร์ธานี 245 ราย สะสม 21,282 ราย 8.ยะลา 213 ราย สะสม 44,393 ราย 9.ชลบุรี 189 ราย สะสม 104,477 ราย และ 10.นราธิวาส 186 ราย สะสม 39,343 ราย

สำหรับ 10 จังหวัดที่เหลือ ได้แก่ ขอนแก่น 183 ราย, ตรัง 163 ราย, ระยอง 144 ราย, จันทบุรี 117 ราย, ราชบุรี 114 ราย, พัทลุง 114 ราย, ปราจีนบุรี 111 ราย, กาฬสินธุ์ 103 ราย, กาญจนบุรี 103 ราย และนครราชสีมา 101 ราย โดยจ.อุทัยธานีไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่

ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด-19 วันที่ 12 พ.ย. ฉีดเพิ่มขึ้น 773,944 โดส ฉีดสะสม 84,094,565 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 45,069,302 ราย คิดเป็น 62.6% ของประชากร เข็มสอง 36,281,904 ราย คิดเป็น 50.4% ของประชากร และเข็มสาม 2,743,359 ราย คิดเป็น 3.8% ของประชากร

ต่างชาติบินเข้าเกือบ 4 หมื่น

ขณะที่ผู้เดินทางเข้าประเทศ วันที่ 1-12 พ.ย. สะสม 39,519 คน ได้แก่ ระบบ Test&Go 23,715 คน แซนด์บ็อกซ์ 1,325 คน กักตัว 7 วัน 517 คน และกักตัว 10 วัน 1,263 คน โดยกลุ่ม Test&Go เข้ามาผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 22,711 คน ท่าอากาศยานดอนเมือง 202 คน ท่าอากาศยานเชียงใหม่ 211 คน ท่าอากาศยานภูเก็ต 3,592 คน และท่าอากาศยานสมุย 645 คน ภาพรวมพบผู้ติดเชื้อ 46 คน คิดเป็น 0.12%

สำหรับ 10 ประเทศต้นทางที่มีอัตราการติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ ไนจีเรีย 9.52% ศรีลังกา 1.85% ตุรกี 1.82% รัสเซีย 0.65% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 0.55% กาตาร์ 0.49% โปแลนด์ 0.42% อังกฤษ 0.33% อิตาลี 0.25% เบลเยียม 0.2% และอื่นๆ 0.48%

10 ล้านคนไม่ยอมฉีดวัคซีน

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า สธ.ตั้ง เป้าหมายฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ครอบคลุมประชากรมากที่สุด ปัจจุบันประเทศไทยฉีดวัคซีนไปแล้วเกือบ 84 ล้านโดส เป็นเข็มที่ 1 จำนวน 44,809,613 คน จากประชากร 66,174,314 คน หรือ 62.2%

ขณะนี้ประเทศไทยมีวัคซีนเข้ามามากและสม่ำเสมอ แต่จำนวนผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนกลับเริ่มชะลอตัว สาเหตุจากประชาชนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว เหลือกลุ่มที่รอวัคซีนทางเลือก หรือไม่ยอมฉีดวัคซีนจากเหตุผลส่วนตัวกว่า 10 ล้านคน หรือ 17% และบางส่วนเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว แต่ยังไม่ได้บันทึกข้อมูลในระบบ

นพ.เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า คณะผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญของสธ.จึงวางกลยุทธ์เพื่อฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากที่สุด เพื่อช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิตจากโควิด-19 โดยกำหนดเป้าหมายในพ.ย.นี้ ภาพรวมต้องฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากร 70% หรือ 100 ล้านโดส และมีอำเภอไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งฉีดวัคซีนถึงเป้า 70%

นอกจากนี้ออกแบบวิธีการดำเนินงานเพื่อให้การฉีดวัคซีนเป็นไปตามเป้าหมาย ได้แก่ จัดการฐานข้อมูล ค้นหาประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่และยังไม่ได้รับวัคซีน นำเข้ารับการฉีดวัคซีน โดยอำเภอไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งต้องฉีดวัคซีนถึงเป้า 70%, ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดประสานภาคส่วนต่างๆ เช่น ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชมรม/สมาคม ภาคเอกชน นำประชาชนมาฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด

“จุดฉีดวัคซีนต้องลงข้อมูลให้ครบถ้วนเป็นปัจจุบัน ขอความร่วมมือสื่อรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจเข้ารับวัคซีน จัดสัปดาห์ฉีดวัคซีนเนื่องในวันสถาปนากระทรวงสาธารณสุข 27 พ.ย.-5 ธ.ค.2564, ขยายเป้าหมายฉีดวัคซีนในกลุ่มแรงงานต่างด้าว, จัดทีมฉีดวัคซีนเชิงรุกและเพิ่มจุดฉีดวัคซีน, เพิ่มจำนวน Covid Free Setting ในทุกจังหวัด

กำหนดให้ทั้งพนักงานและลูกค้าต้องฉีดวัคซีนแล้ว, ติดตามความก้าวหน้าการฉีดวัคซีนระดับจังหวัดทุกวัน, ให้หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่จัดกิจกรรมจูงใจคนมาฉีดวัคซีน เช่น ให้รางวัล หรือร่วมกับภาคเอกชนลดราคาสินค้าอุปโภค บริโภค ค่าโดยสาร ในผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว เป็นต้น”

‘บิ๊กตู่’ชวนคนไทยฉีดวัคซีน

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เชิญชวนประชาชนที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เข้ารับการฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในเกิดขึ้นโดยเร็ว สร้างความแข็งแกร่งในระบบสาธารณสุขรองรับการระบาด ลดความรุนแรงและเสียชีวิตในประชากรกลุ่มเสี่ยง และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจการท่องเที่ยว และเปิดประเทศตามแผนที่กำหนด

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ข้อมูลการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.2564-11 พ.ย.2564 ฉีดวัคซีนสะสม 83,320,621 โดส เข็มที่ 1 สะสม 44.8 ล้านราย หรือร้อยละ 62.2 เข็มที่ 2 สะสม 35.8 ล้านราย หรือร้อยละ 49.7 เข็มที่ 3 สะสม 2.7 ล้านราย หรือร้อยละ 3.8 มี 9 จังหวัดที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ร้อยละ 70 คือเชียงใหม่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ชลบุรี ภูเก็ต ปทุมธานี สมุทรสาคร สงขลา ฉะเชิงเทรา

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขคาดว่าจะฉีดวัคซีนได้ครบจำนวน 100 ล้านโดส ครอบคลุมประชากรร้อยละ 70 ภายในเดือนพ.ย.นี้ โดยรัฐบาลกำหนดเป้าหมายที่จะฉีดเข็มที่ 1 ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 70 ภายในเดือนพ.ย. 2564 ร้อยละ 80 ภายในเดือน ธ.ค. 2564 เข็มที่ 2 อย่างน้อยร้อยละ 70 ภายในเดือน ธ.ค.2564 ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยจัดหาวัคซีนแล้ว 128.6 ล้านโดส มากกว่าแผนเดิมที่กำหนดไว้

“ประชาชนที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน สามารถแจ้งความประสงค์ได้ผ่านช่องทางต่างๆ ที่ภาครัฐกำหนด รวมถึงติดต่อสถานพยาบาลโดยตรง หรือแจ้งกับเจ้าของสถานประกอบการ”

ไฟเขียว 11 จว.นำเข้าแรงงาน

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้แนวทางขับเคลื่อนการเปิดประเทศในส่วนภาคแรงงาน ให้เดินหน้าโครงการแฟคทอรี แซนด์บ็อกซ์ ระยะที่ 2 และเปิดให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานเสริมทัพภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย ตามเอ็มโอยูที่กระทรวงแรงงานเสนอ

โดยเน้นการดำเนินการตามมาตรการ ตรวจ ควบคุม รักษา ดูแล และขยายจังหวัดดำเนินการ จากเดิม 4 จังหวัด เพิ่มเป็น 11 จังหวัดได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ และปรับลดหลักเกณฑ์ขนาดสถานประกอบการ จากเดิมกำหนด 500 คนขึ้นไป ให้เป็น 100 คนขึ้นไป

“จากการประชุมหลังประชุม ศบค.เมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา ให้กระทรวงแรงงานเปิดนำเข้าแรงงานตามเอ็มโอยู คาดว่าหลังวันที่ 30 พ.ย.นี้ นายจ้างสามารถยื่นความต้องการจ้างแรงงานที่กรมการจัดหางาน ส่วนแรงงานต่างด้าวที่จะเดินทางเข้ามาประเทศไทยต้องเข้ารับการกักตัว และตรวจหาเชื้อโควิด-19 ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 สำหรับแรงงานต่างด้าวที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มต้องกักตัว 7 วัน หากฉีด 1 เข็ม หรือยังไม่เคยรับวัคซีน จะต้องกักตัว 14 วัน

ระหว่างกักตัวจะตรวจหาเชื้อโควิดด้วยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง โดยให้นายจ้างหรือสถานประกอบการรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ค่าสถานที่กักกัน วันละ 500-1,000 บาท และค่าตรวจหาเชื้อโควิด 2 ครั้ง รวม 2,600 บาท กรณีที่คนต่างด้าวติดเชื้อ นายจ้างหรือบริษัทประกันภัยเป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษา และวันสุดท้ายของการกักตัวแรงงานต่างด้าวที่ยังรับวัคซีนไม่ครบเกณฑ์จะได้รับการฉีดวัคซีน โดยกระทรวงแรงงานจะประสานสาธารณสุขจังหวัดปลายทาง เพื่อนัดหมายฉีดวัคซีนให้แก่แรงงานต่างด้าวตามกำหนด โดยนายจ้างเป็นผู้จ่ายแค่ค่าบริการทางการแพทย์”

ปลายปีวัคซีนมาอีก 155 ล.โดส

นายธนกรกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีพอใจการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของไทยที่สามารถจัดหาวัคซีนเกินเป้าหมาย โดยปลายปี 64 จะมีวัคซีนรวมทั้งหมด 155.6 ล้านโดส ได้แก่ วัคซีนที่รัฐจัดหา 128.6 ล้านโดส ทั้งซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า ไฟเซอร์ และวัคซีนทางเลือก ซิโนฟาร์มและโมเดอร์นา 27 ล้านโดส และตั้งเป้าหมายการฉีดวัคซีนภายในปีนี้ให้ครอบคลุมผู้ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 อย่างน้อยร้อยละ 80 เข็ม 2 อย่างน้อยร้อยละ 70 ภายในเดือนธ.ค.นี้

ส่วนผลการดำเนินการให้บริการวัคซีน โควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-12 พ.ย.นี้ มีผู้ได้รับวัคซีนสะสม 84.5 ล้านราย เข็มที่ 1 จำนวน 45.2 ล้านราย คิดเป็น 67.3% เข็มที่ 2 จำนวน 36.5 ล้านราย คิดเป็น 54.4% เข็มที่ 3 จำนวน 2.7 ล้านราย คิดเป็น 3.8% ส่วนการฉีดวัคซีนในกลุ่มอายุ 12-17 ปี ระหว่างวันที่ 4 ต.ค.-11 พ.ย.64 รวม 4.3 ล้านโดส เข็มที่ 1 จำนวน 2.8 ล้านโดส และเข็มที่ 2 จำนวน 1.5 ล้านโดส และการฉีดวัคซีนชาวต่างชาติในไทยอยู่ที่ 2,196,744 โดส คิดเป็นร้อยละ 26.5 ของจำนวนชาวต่างชาติทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในไทย

เร่งฉีด 6 กลุ่มไม่ใช่คนไทย

นายธนกรกล่าวด้วยว่า นายกฯ เห็นชอบให้มีการจัดสรรให้กลุ่มประชากรอื่นที่ไม่ใช่สัญชาติไทยทั้งหมด สามารถรับการฉีดวัคซีนได้ตามความสมัครใจ โดย ศบค.มอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบกำหนดและจัดทำทะเบียนรายชื่อและจำนวนผู้ประสงค์รับวัคซีนในกลุ่มประชากรที่มิใช่สัญชาติไทย และติดตามให้มารับการฉีดวัคซีนตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด กรณีกลุ่มเป้าหมายไม่มีเลขประจำตัว จะสร้างฐานข้อมูลตัวแปร เพื่อออกใบรับรองการฉีดวัคซีนได้ โดยแต่ละหน่วยงานให้ร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด สำรวจ จัดทำทะเบียนฉีด รวมทั้งพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการฉีดให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ดังนี้

1.แรงงานภาคประมง จังหวัดชายทะเล (จังหวัดชายทะเล 21 จังหวัด) มอบศรชล. 2.คนประจำเรือไทยหรือผู้ปฏิบัติงานบนเรือไทย ณ บริเวณท่าเรือในพื้นที่จังหวัด (จังหวัดชายทะเล 21 จังหวัด) มอบกรมเจ้าท่ากระทรวงคมนาคม 3.แรงงานต่างด้าวในสถานประกอบการ บ้านนายจ้างที่ทั้งขึ้นทะเบียนและไม่ขึ้นทะเบียน มอบกอ.รมน. กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย

4.แรงงานต่างด้าวตามชายแดนไทย 5.ผู้หนีภัยการสู้รบ พื้นที่พักพิงราชบุรี กาญจนบุรี แม่ฮ่องสอน และตาก และ 6.กลุ่มประชากรอื่นที่ไม่ใช่สัญชาติไทยทั้งหมดในทุกจังหวัด มอบกระทรวงมหาดไทย โดยกำชับผู้รับผิดชอบระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน เร่งสำรวจประชากรที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนให้ได้รับการฉีดวัคซีนโดยเร็ว เพื่อลดความรุนแรงของการแพร่ระบาด พร้อมทั้งปกป้องระบบสาธารณสุขไทย

“ทั้งนี้ในที่ประชุมผู้นำเอเปก ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ เห็นพ้องกันว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 อย่างทั่วถึง เป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาทั้งการระบาดโควิด-19 และนำเศรษฐกิจให้กลับมาเดินหน้าได้อีก ซึ่งตรงกับนโยบายนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่ให้เร่งจัดหาและฉีดวัคซีน มั่นใจไทยเข้าถึงเป้าหมาย 100 ล้านโดสภายในเดือนพ.ย.นี้”

งานศพพะเยาติดอีก 35

ที่จ.พะเยาพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดต่อเนื่อง โดยเฉพาะคลัสเตอร์งานศพ ในพื้นที่บ้านสันติสุข อ.ปง จ.พะเยา พบผู้ป่วยเพิ่ม 35 ราย ทำให้คลัสเตอร์ดังกล่าวมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 119 ราย ศบค.จังหวัดยังคงเข้าตรวจเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง

โดยวันนี้ในพื้นที่จ.พะเยาพบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 45 ราย เป็นผู้ป่วยติดเชื้อจากนอกจังหวัด 7 รายและติดเชื้อในจังหวัด 38 ราย มีนักศึกษาม.พะเยา 1 ราย ติดเชื้อในครอบครัว พื้นที่ต.ท่าวังทอง อ.เมืองพะเยา 2 ราย รวม ผู้ป่วยติดเชื้อสะสมตั้งแต่เดือนเม.ย.64 ทั้งสิ้น 2,249 ราย มีผู้ป่วยกลับบ้านเพิ่ม 20 ราย รวมกลับบ้านสะสม 2,061 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 180 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 8 ราย

ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด มียอดฉีดแล้วสะสม 262,104 ราย คิดเป็นร้อยละ 55.97 ของเป้าหมายประชาชน 468,292 ราย

คลัสเตอร์แม่เมาะติดเชื้อแล้ว 18

ด้านนายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าฯ ลำปาง พร้อมนายพนมพร ตุ้ยกาศ นายอำเภอแม่เมาะ จ.ลำปาง เดินทางลงพื้นที่ไปยังรพ.สต.บ้านทาน ต.จางเหนือ อ.แม่เมาะ เพื่อติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อ โควิด-19 ในต.จางเหนือ ซึ่งมีผู้ป่วยติดเชื้อแล้ว 18 ราย แยกเป็นชาย 7 ราย หญิง 11 ราย กระจายอยู่ในพื้นที่ 3 หมู่บ้าน คือบ้านนาแช่ หมู่ 2 จำนวน 3 ราย บ้านทาน หมู่ 4 จำนวน 14 ราย และบ้านวังตม หมู่ 5 อีก 1 ราย โดยเข้ารักษาตัวอยู่ที่ ร.พ.แม่เมาะ 3 ราย ร.พ.ห้างฉัตร 7 ราย ร.พ.แม่ทะ 7 ราย และร.พ.สนาม อบจ.ลำปาง 1 ราย

สาเหตุหลักคาดว่าน่าจะเกิดจากพฤติกรรมการรวมกลุ่มของชาวบ้าน ทั้งงานบุญ งานเลี้ยง รวมถึงการลงแขกช่วยกันเก็บเกี่ยวข้าวโพด ซึ่งมีการดื่มน้ำ กินข้าว และดื่มสุราร่วมกัน

ทั้งนี้เตรียมจัดทำศูนย์พักคอยไว้ 2 แห่ง คือที่ศาลาโรงเรียนบ้านทาน ขนาด 20 เตียง และที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านทานหลังเก่า 10 เตียง

สงขลาติดเชื้อเพิ่ม 463

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 เปิดเผยผลตรวจคัดกรองโควิดในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า พบติดเชื้อรายใหม่ 1,337 คน และเสียชีวิต 9 ราย คิดเป็นร้อยละ 50 ของผู้ติดเชื้อ 14 จังหวัดภาคใต้ 2,535 คน มีผู้เสียชีวิต 18 ราย

พื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อโควิดสูงสุดคือจ.สงขลา 463 คน เสียชีวิต 3 ราย จ.ปัตตานี 377 คน เสียชีวิต 2 ราย จ.ยะลา 213 คน เสียชีวิต 3 ราย จ.นราธิวาส 186 คน เสียชีวิต 1 ราย จ.สตูล 98 คน สาเหตุหนึ่งคือได้รับวัคซีนร้อยละ 50 ยกเว้นจ.สงขลาที่มีผู้ได้รับวัคซีนร้อยละ 71

สำหรับจ.สงขลายังน่าวิตก เพราะจะเปิดเมืองท่องเที่ยวเดือนธ.ค.64 แต่มีผู้ติดเชื้อสูงเฉลี่ย 400 คนต่อวัน แม้จะฉีดวัคซีนเข็ม 1 ได้ร้อยละ 71 ก็ตาม เนื่องจากอ.หาดใหญ่ อ.เมือง และอ.สะเดา เป็นพื้นที่ที่เตรียมเปิดเมือง ท่องเที่ยว ยังพบผู้ติดเชื้อในระดับต้นๆ ของจังหวัด 3 เดือนติดต่อกัน โดยพบติดเชื้อรายใหม่ 463 คน อันดับ 2 ของประเทศ และอันดับ 1 ของภาคใต้นาน 1 เดือนติดต่อกัน รวมผู้ติดเชื้อสะสม 54,451 คน ผู้เสียชีวิตทะลุ 200 ราย

กาฬสินธุ์วุ่น 3 คลัสเตอร์ใหญ่

จากกรณีพบคลัสเตอร์โควิด-19 งานศพ ในชุมชนบ้านบัวขาว ม.12 ต.บัวขาว อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ พบมีผู้ติดเชื้อแล้วหลายสิบรายและกลุ่มเสี่ยงสูงหลายร้อยคนนั้น

ด้านนพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า คลัสเตอร์งานศพในพื้นที่ชุมชนบ้านบัวขาว ม.12 ต.บัวขาว ล่าสุดพบผู้ป่วยติดเชื้อแล้ว 92 ราย และมีกลุ่มเสี่ยงหลายร้อยคน เร่งสอบสวนโรค และติดตามตัวบุคคลกลุ่มเสี่ยงอีกจำนวนหนึ่ง วันนี้เจ้าหน้าที่ตั้งจุดตรวจคัดกรองประชาชนในพื้นที่เสี่ยงในต.บัวขาว จากคลัสเตอร์งานศพบ้านบัวขาว ม.12 รถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัยพระราชทานออกให้บริการ 3 จุด พร้อมทั้งเปิดวอล์กอินฉีควัคซีนป้องกันโควิด 3 สูตรให้ประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปอีกด้วย มีเป้าหมาย 3,000 คน

“ได้รับรายงานว่าพบอีก 2 คลัสเตอร์ใหม่ โดยคลัสเตอร์แรกเป็นงานบุญกฐินสามัคคี วัดบ้านบึง อ.กมลาไสย พบผู้ป่วยติดเชื้อแล้ว 20 ราย เจ้าหน้าที่กำลังสอบสวนโรค และคัดกรองกลุ่มเสี่ยง คาดว่าอีก 2-3 วันจะติดตามตัวกลุ่มเสี่ยงได้ทั้งหมด ส่วนคลัสเตอร์ที่ 2 เป็นงานบุญขึ้นบ้านใหม่ในชุมชนหนองผ้าอ้อม อ.สมเด็จ พบผู้ป่วยแล้ว 9 ราย และใน อ.สหัสขันธ์อีก 1 ราย เป็นผู้มาร่วมงานขึ้นบ้านใหม่ เร่งสอบสวนโรค และคัดกรองกลุ่มเสี่ยงนำเข้าสู่ระบบ คาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มอีกจำนวนหนึ่ง

ทั้ง 3 คลัสเตอร์นี้ส่วนใหญ่สาเหตุเกิดจากการรับประทานอาหารร่วมกันในงาน จึงอยากฝากไปยังพี่น้องประชาชนที่จัดงานบุญ งานประเพณีต่างๆ สามารถทำได้ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการและคำสั่งของจังหวัดอย่างเคร่งครัด ควรงดและหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกันก่อนในช่วงนี้ แนะนำให้ห่อกลับบ้าน เพื่อป้องกันหากมีผู้ติดเชื้อมาร่วมงาน”

สำหรับจ.กาฬสินธุ์ พบผู้ป่วยรายใหม่ 103 ราย เป็นผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์งานศพใน ต.บัวขาว 67 ราย คลัสเตอร์งานบุญกฐินสามัคคี วัดบ้านบึง อ.กมลาไสย 20 ราย คลัสเตอร์งานขึ้นบ้านใหม่ในชุมชนหนองผ้าอ้อม อ.สมเด็จ 9 ราย และอ.สหัสขันธ์ 1 ราย ซึ่งมาร่วมงานขึ้นบ้านใหม่ สัมผัสกับผู้ป่วยเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ในอ.เมืองกาฬสินธุ์ 4 ราย และพบเชื้อระหว่างกักตัว 2 รายยอด ผู้ป่วยสะสมของจังหวัด 9,719 ราย หายป่วยแล้ว 9,258 ราย กำลังรักษาตัว 398 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสม 63 ราย

‘โมเดอร์นา’ล็อต 2 มาปลายพย.

วันเดียวกัน เว็บไซต์องค์การเภสัชกรรม (อย.) แจ้งความคืบหน้าของวัคซีนโมเดอร์นา บริษัทซิลลิคฯ แจง พร้อมนำเข้าวัคซีน โมเดอร์นาจากแหล่งผลิตสหรัฐอเมริกาคาดถึงไทยปลายเดือนพฤศจิกายน 64

โดยระบุว่า จากเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 มีการส่งมอบวัคซีนโมเดอร์นา จำนวน 560,000 โดส จากบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด และกระจายไปยังโรงพยาบาลเอกชนเพื่อฉีดให้กับประชาชนที่จองวัคซีนไปแล้วนั้น องค์การเภสัชกรรมได้ติดตามสอบถามกับบริษัท ซิลลิคฯ อย่างต่อเนื่องถึงกำหนดการนำเข้า วัคซีนโมเดอร์นาล็อตต่อไป ซึ่งได้รับการชี้แจงจากบริษัท ซิลลิคฯ ดังนี้

บริษัท ซิลลิคฯ ได้ประสานงานกับผู้ผลิตวัคซีนโมเดอร์นาจากแหล่งผลิตสหรัฐอเมริกา ในการเตรียมความพร้อมนำเข้าวัคซีน จำนวน 1.4 ล้านโดสมายังประเทศไทยได้ประมาณปลายเดือนพ.ย.2564

กทม.คลายล็อกร้านเกม-เน็ต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 32 เมื่อวันที่ 12 พ.ย. มีมติเห็นชอบปรับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 46) เพื่อผ่อนคลายมาตรการให้บางสถานที่สามารถเปิดดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างได้ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบ และมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด และเพื่อการดำเนินการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจควบคู่กับการกำหนดมาตรการควบคุมและป้องกันโรคในพื้นที่แบบบูรณาการ ดังนี้

1.ร้านเกม และร้านอินเตอร์เน็ต หรือตู้เกม สามารถเปิดดำเนินการได้ เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนครบเข็มสองแล้วตั้งแต่ 10 พ.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ยังคงต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขเวลา และมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดโดยเคร่งครัด เช่น มาตรการ DMHTTA มาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (Covid Free Setting) รวมทั้งมาตรการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะ

2.ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่ผ่านการตรวจประเมินตามมาตรฐานความปลอดภัยป้องกันโรคโควิด- 19 รองรับสุขภาพดีวิถีใหม่ (Thai Stop Covid Plus) ของกรมอนามัย สามารถเปิดให้บริการได้เช่นเดียวกับร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ที่ผ่านการตรวจประเมินตามมาตรฐานความปลอดภัยด้าน สุขอนามัย ในระดับ SHA ของกระทรวง การท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 16-30 พ.ย.64 หรือจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง

ทะลักไทยอีก – เจ้าหน้าที่จับกุมชาวเมียนมาอีก 131 คน ลักลอบเข้าประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย ผ่านช่องทางธรรมชาติบ้านมุ่งฉาง ต.ศรีมงคล อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี จะไปทำงานที่กรุงเทพฯ และจังหวัดภาคกลางตอนใน เมื่อวันที่ 13 พ.ย.

จับพม่า-เขมรทะลักไทยอีกอื้อ

เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ทหารหน่วยเฉพาะกิจลาดหญ้า กองกำลังสุรสีห์ สนธิกำลังร่วมกับตชด.136 ตำรวจ สภ.ไทรโยค เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ลาดตระเวนและจับกุมชาวเมียนมา 131 คน เป็นผู้ชาย 72 คน และผู้หญิง 59 คน ลักลอบเข้าประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายที่บริเวณช่องทางธรรมชาติ บ้านทุ่งฉาง ต.ศรีมงคล อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี

จากการสอบสวนให้การว่าเสียค่าใช้จ่ายรายละ 17,000-20,000 บาท เดินทางมาจากหลายจังหวัดในประเทศเมียนมา เพื่อจะเข้าไปทำงานที่กรุงเทพฯ จ.สมุทรสาคร จ.กาญจนบุรี จ.ชลบุรี และ จ.ปราจีนบุรี ตรวจวัดอุณหภูมิร่างขั้นต้นไม่พบเกิน 37.5 องศาเซลเซียส นำส่งสภ.ไทรโยค เพื่อผลักดันกลับประเทศ

ขณะที่ จ.สระแก้ว ทหารหน่วยเฉพาะกิจคลองหาด กองกำลังบูรพา ร่วมกับตำรวจ สภ.คลองน้ำใส กำนันและผู้ใหญ่บ้าน ต.ทับพริก อ.อรัญประเทศ ลาดตระเวนและจับกุม ชาวกัมพูชา 22 คน เป็นผู้ชาย 19 คน ผู้หญิง 2 คน และเด็กหญิง 1 คน เข้าลอบเข้าประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย เพื่อจะไปทำงานก่อสร้างที่ จ.ชลบุรี จ.ฉะเชิงเทรา รับจ้างตัดอ้อยที่ อ.วังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว โดยทั้งหมดจ่ายเงินค่านำพาให้ชาวกัมพูชารายละ 3,500-5,000 บาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน