แถมก๊าซพุ่ง-บาทลด
มติ กกพ.ระบุ-สุดอั้น
เริ่มปีหน้า-อัตราใหม่
เก็บหน่วยละ3.78บ.

คิวต่อไปรัฐบาลขึ้นค่าไฟฟ้า มติคณะกรรมการพลังงานอ้างค่าเงินบาทลด น้ำมันตลาดโลก ก๊าซธรรมชาติราคาแพงต้องนำเข้ามาปั่นไฟเพิ่ม เพราะลดใช้ถ่านหิน ระบุเป็นการปรับค่าไฟขึ้นครั้งแรกในรอบ 2 ปี เพิ่มอีก 17 สตางค์ต่อหน่วย อยู่ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย เริ่มในงวดเดือนม.ค.-เม.ย.2565

เมื่อวันที่ 19 พ.ย. นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.มีมติให้เรียกเก็บค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (ค่าเอฟที) งวดเดือนม.ค.-เม.ย.2565 เพิ่มขึ้น 16.71 สตางค์ต่อหน่วย จากเดิม 15.32 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้เรียกเก็บค่าเอฟทีในอัตรา 1.39 สตางค์ต่อหน่วย เป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 2 ปี โดยอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่เรียกเก็บกับประชาชนงวดเดือนม.ค.-เม.ย.2565 จะอยู่ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย เพิ่มขึ้น 17 สตางค์ ต่อหน่วย จากงวดเดิมอยู่ที่ 3.61 บาทต่อหน่วย

นายคมกฤชกล่าวว่า การปรับขึ้นค่าเอฟทีครั้งนี้เป็นการทยอยปรับเพิ่มแบบขั้นบันได เพื่อเฉลี่ยค่าใช้จ่ายตลอดทั้งปี 2565 ที่คาดว่ามีแนวโน้มต้นทุนจะสูงขึ้น จากอัตราแลกเปลี่ยนที่คาดเฉลี่ยจะอยู่ในระดับ 32.1 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ราคาน้ำมันตลาดโลกคาดเฉลี่ยลดลงมาเป็น 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และให้บริหารจัดการผลิตไฟฟ้าโดยใช้น้ำมันทดแทนก๊าซธรรมชาติเหลวแบบราคาตลาดจร (สปอตแอลเอ็นจี) ซึ่งมีราคาสูง จากค่าเอฟทีที่ต้องปรับเพิ่มขึ้น 22.50 สตางค์ เป็น 7.18 สตางค์ หากไม่เฉลี่ยทยอยปรับขึ้นจะส่ง ผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าในระยะสั้นเป็น อย่างมาก แต่ กกพ.จะพิจารณาทยอยปรับปรุงค่าเอฟทีตามค่าจริงในรอบต่อๆ ไป

เลขาฯ กกพ.กล่าวอีกว่า หากไม่ทำอะไรเลย ค่าเอฟทีในงวดเดือนม.ค.-เม.ย.2565 จะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 48.01 สตางค์ เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลง การนำเข้าพลังงานไฟฟ้าจากต่างประเทศในส่วนของพลังน้ำลดลงตามฤดูกาล และการผลิตไฟฟ้าจากถ่านลิกไนต์ลดลงตามแผนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ส่งผลให้เดินเครื่องโรงไฟฟ้าต้นทุนราคาถูกลดลง ประกอบกับราคาก๊าซธรรมชาติ เชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากตามภาวะราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเป็นช่วงขาขึ้น และปริมาณนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจีที่มากขึ้น เพื่อทดแทนปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ลดลงช่วงปลายสัมปทาน

นายคมกฤชกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยในการพิจารณาค่าเอฟทีในรอบเดือนม.ค.-เม.ย.2565 กกพ.ประเมินความต้องการพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือนม.ค.-เม.ย.2565 จำนวน 65,325 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้นจากประมาณการงวดเดือนก.ย.-ธ.ค.2564 ที่คาดว่าจะมีความต้องการพลังงานไฟฟ้า 64,510 ล้านหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 1.26 เปอร์เซ็นต์ จากสถานการณ์วิกฤตพลังงานในต่างประเทศเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ส่งผลให้เกิดภาวะพลังงานตึงตัว ทำให้ความต้องการใช้พลังงาน ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นมาก

เลขาฯ กกพ.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้ายังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก 60.27 เปอร์เซ็นต์ ของเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าทั้งหมด เป็นการซื้อไฟฟ้าจากประเทศลาวและมาเลเซีย รวม 13.92 เปอร์เซ็นต์ และค่าเชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้าโรงไฟฟ้าเอกชน 7.68 เปอร์เซ็นต์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 7.55 เปอร์เซ็นต์ และอื่นๆ อีก 6.92 เปอร์เซ็นต์

นายคมกฤชกล่าวว่า ขณะเดียวกันราคาเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่ใช้คำนวณค่าเอฟทีเดือนม.ค.-เม.ย.2565 ทั้งราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ และราคาถ่านหินนำเข้าปรับตัวสูงขึ้นมากจากประมาณการในรอบเดือนก.ย.-ธ.ค.2564 ขณะที่เชื้อเพลิงอื่นปรับตัวขึ้นเล็กน้อยและคงที่ ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ใช้ในการประมาณการอยู่ที่ 33.0 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อ่อนค่าจากประมาณการในงวดเดือนก.ย.-ธ.ค.2564 ที่ผ่านมา ที่ประมาณการไว้ที่ 31.3 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน