ประณามรัฐสลายชุมนุม
‘บิ๊กตู่’โบ้ย-ไม่เคยรับปาก

สลาย ‘เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น’ ข้างทำเนียบบาน ชาวบ้านประกาศยกทัพเข้ากรุงเสริมกำลัง ‘บิ๊กตู่’ ชี้แค่ตักเตือนไม่ได้ลงโทษรุนแรง ยันรัฐบาล-ครม.ไม่เคยรับปากอะไร จี้เร่งคลอดกม.คุมเอ็นจีโอ ‘ธรรมนัส’ ลั่นไม่เคยทำเองพลการ หลังถูกนายกฯ โบ้ยเซ็นเอ็มโอยูกับชาวบ้านเอง ตร.แจง 6 เหตุผลจับหวั่นหัวรุนแรงแฝง ตัวก่อวุ่นวาย กสม.-เครือข่ายเอกชนรุมประณาม ‘ไครียะห์-ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ’ ลั่นสู้ต่อไม่ว่าจะถูกจับกี่รอบ

‘ตู่’ชี้แค่ตักเตือน-จับม็อบจะนะ

เมื่อเวลา 13.10 น. วันที่ 7 ธ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์กรณีการสลายการชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นข้างทำเนียบรัฐบาล เมื่อค่ำวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา ว่า เรื่องนี้ต้องไปชี้แจงกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจจำเป็นต้องทำ เพราะมีข่าวว่าจะมีคนมามั่วสุมเพิ่มเติม ตรงนี้ต้องช่วยรัฐบาลหน่อย เพราะตามกฎหมายสถานที่ราชการมีระยะห่าง 150 เมตร ที่ผ่านมาเมื่อมากันตรงนี้แล้วไม่ไป แต่เราก็ไปฟังเขา ขณะอยู่ในขั้นตอนที่จะทำประชาพิจารณ์อีกครั้งหนึ่ง ตอนนี้ให้หน่วยงานไปฟังว่าอะไรอย่างไร สิ่งใดก็ตามเคยบอกแล้วว่า การไปเจรจาอะไรกับเขาอย่าไปรับปากอะไรเขามาทันที ถ้ายังไม่เข้าการพิจารณาของครม. หรือรัฐบาล ไม่ว่าใครก็ตาม

เมื่อถามว่าเอ็มโอยูหรือข้อตกลงที่เคยทำร่วมกันเมื่อปีที่ผ่านมามีความเป็นไปได้แค่ไหน พล.อ.ประยุทธ์ย้อนถามว่า ใครตกลงล่ะ เมื่อถามอีกว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรมช.เกษตรฯ เมื่อครั้งเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดำเนินการขยายผลเมืองต้นแบบ สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ไปสู่เมืองต้นแบบ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต เป็นผู้ไปเจรจา พล.อ. ประยุทธ์กล่าวตอบว่า แล้วตนไปตกลง หรือยัง ครม.ตกลงหรือยัง

เมื่อถามว่าต้องตั้งคนมาดูแลแทน ร.อ. ธรรมนัส หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า จะให้ศอ.บต. และสำนักนายกรัฐมนตรีไปดูแลและติดตามดูว่าเกิดอะไรขึ้นและควรจะแก้ไขอย่างไร เราต้องมองสิ่งที่เป็นประโยชน์ สิ่งไหนที่ไม่เป็นประโยชน์และเป็นปัญหา ไม่ต้องไปทำแค่นั้น ต้องทำให้ถูกต้องตาม กติกากฎหมาย การไปพบปะเจรจาของใครแล้วแต่เวลาไปพูดไปตกลงกับเขาอย่าลืมว่าไม่ได้ผ่านครม. เตือนหลายครั้งแล้วเวลาไปให้รับข้อสังเกตมาแล้วนำมาสู่การแก้ไขปัญหาในรัฐบาล นั่นคือวิธีการทำงานของรัฐบาลจะต้องรอบคอบ

เมื่อถามว่ากลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ภาคใต้ประกาศว่าจะเดินทางมาที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า อย่ามาเลยไปทำกันที่โน่นแหละ เดี๋ยวส่งคนไปดูแล ไปรับมาว่าอะไรที่เป็นข้อเท็จจริงและอะไรที่อาจจะถูกบิดเบือน อันไหนอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ควรจะทำ อันไหนทำได้เราก็ทำ เพราะเรามุ่งหวังให้ภาคใต้มีเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตมากขึ้น ต้องมองในแง่นี้ ส่วนคนทำก็ต้องทำด้วยความรอบคอบเข้าใจหรือไม่ โดยต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย

“ผมฟังอยู่แล้วประชาชน ถ้าไม่ฟังก็ไม่ใช่ เพราะนี่คือกระบวนการประชาธิปไตย แต่การทำประชาธิปไตยที่มีกฎหมายก็ต้องดูกฎหมายด้วย ซึ่งผมได้สั่งการไปแล้ว ไม่ได้ไปลงโทษอะไรกันมากมาย ให้ไปตักเตือนกันก็แค่นั้น” นายกฯ กล่าว

เมื่อถามว่ากลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกจับตัวไปจะมีการสั่งการอะไรหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เดี๋ยวเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ปล่อย โดยการให้ประกันตัวอะไรสักอย่าง คงไม่มีอะไรหนักหนาหรอก ก็อย่าทำอีก ถ้าทำสิ่งที่ถูกต้องฟังอยู่แล้ว แต่ถ้าเราปล่อยปละละเลยในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ มีการขยายบานปลายไปทุกที

ย้อนเหตุสลายประชาชน

สำหรับเหตุการณ์สลายการชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล เกิดขึนเมื่อเวลา 21.30 น. วันที่ 6 ธ.ค. เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนกว่า 2 กองร้อย พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.นางเลิ้ง นำรถควบคุมผู้ต้องหา 2 คันเข้ากระชับพื้นที่เพื่อสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมชาวสงขลาในนามเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ตั้งเต็นท์สร้าง “หมู่บ้านลูกทะเล จะนะรักษ์ถิ่น” บริเวณแยกพาณิชยการ สะพานชมัยมรุเชฐ ถนนพิษณุโลก แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพฯ เตรียมปักหลักค้างคืนเพื่อรอทวงถามต่อรัฐบาลตามข้อตกลงที่ได้ทำข้อตกลงกันไว้กรณีปัญหาสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะภายหลังครบรอบ 1 ปี แต่ไม่มีความคืบหน้าแม้แต่อย่างใด

เจ้าหน้าที่มีการประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงให้กลุ่มมวลชนยุติการชุมนุมและให้เก็บสิ่งของออกจากพื้นที่ ก่อนมีการโต้เถียงกันประมาณ 10 นาที โดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรงแม้แต่อย่างใด กลุ่มมวลชนยังคงปักหลักกันตามปกติ เจ้าหน้าที่เข้ากระชับพื้นที่เพื่อสลายการชุมนุมก่อนควบคุมกลุ่มผู้ชุมนุมขึ้นรถควบคุมผู้ต้องหาทั้งหมด 37 ราย ก่อนนำไปกักตัวชั่วคราวยังสโมสรตำรวจ ถนนวิภาวดี

ต่อมาเวลา 23.30 น.วันเดียวกัน พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ เข้าเยี่ยมพี่น้องกลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ภายในสโมสรตำรวจ หลังทราบว่าถูกเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล โดยเข้าเยี่ยมพี่น้องที่ถูกควบคุมตัวและพยายามเจรจากับตำรวจให้ปล่อยตัวโดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา เพราะเขาเดินทางมาเพื่อเรียกร้องขอให้ได้มีชีวิตในท้องถิ่นของตัวเองอย่างสันติ

พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า ที่น่าเป็นห่วงคือ ในจำนวนนี้มีเด็ก สตรี และผู้สูงอายุ เขามาใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ และเป็นห่วงว่าเจ้าหน้าที่อาจไม่เข้าใจเรื่องวัฒนธรรม และอาหารการกิน สิ่งสำคัญคือพวกเขาเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐ เพราะเขากลัวว่าจะต้องพรากจากแผ่นดินที่เกิดจากการพัฒนาของรัฐ

กสม.-เครือข่ายรุมประณาม

รายงานข่าวแจ้งว่า หลังเกิดเหตุสลายการชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น กลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนหลายองค์กร เช่น สภาประชาชนภาคใต้, กลุ่มพีมูฟ-ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.), สมัชชาคนจน ออกแถลงการณ์ประณามการใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ และจับกุมผู้ชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงสูงอายุ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าผู้ชุมนุมมิได้มีเจตนามาเพื่อก่อความรุนแรง เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมทันที

นอกจากนั้น ยังเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามข้อเรียกร้องของผู้ถูกจับกุม ซึ่งทวงสัญญาให้รัฐบาลหยุดกระบวนการทุกขั้นตอนของโครงการ “จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” โดยเฉพาะการรับฟังความคิดเห็นซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม กำหนดจัดระหว่างวันที่ 13-23 ธ.ค.นี้ เนื่องจากเป็นขั้นตอนที่เร่งรัดให้มีการก่อสร้างโครงการอย่างไม่ชอบธรรม พร้อมกันนี้ขอพี่น้องมุสลิมทั่วประเทศ ร่วมดุอาเพื่อพี่น้องจะนะ และร่วมสนับสนุนสิทธิในการธำรงวิถีชีวิต ศาสนา และวัฒนธรรม รวมถึงประณามการกระทำที่ไร้ความชอบธรรมของรัฐบาลในครั้งนี้

นอกจากภาคเอกชนแล้ว สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ยังออกแถลงการณ์ว่า เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ได้รับการรับรองตามกติการะหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญปี 60 รัฐมีหน้าที่ต้องเคารพและคุ้มครองให้ประชาชนสามารถใช้เสรีภาพดังกล่าวได้ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย กสม.จึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อการเข้าควบคุมตัวผู้ชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น และขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการดังนี้

1.ปล่อยตัวผู้ชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นที่ถูกควบคุมโดยไม่มีเงื่อนไข 2.เร่งรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างเปิดเผยและจริงใจ โดยเฉพาะในการดำเนินโครงการพัฒนาที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่โดยตรง และ 3.อำนวยความสะดวกและเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนและผู้สังเกตการณ์อื่นๆ ได้ทำหน้าที่รายงานสถานการณ์และ ข้อเท็จจริงอย่างเสรี โดยไม่สร้างอุปสรรคอันเป็นการขัดขวางหรือคุกคามการปฏิบัติหน้าที่

กสม.หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลในฐานะ ผู้บังคับใช้กฎหมายและมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จะรับฟังเสียงของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบและอำนวยให้การใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบของประชาชนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนสากลเป็นสำคัญ

ตร.แจง 6 เหตุผลต้องจับ

ด้าน พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก โฆษก บช.น. กล่าวชี้แจงกรณีจับกุมกลุ่มผู้ชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นว่า เจ้าหน้าที่จับกุม ผู้กระทำผิด 37 คน แบ่งเป็นชาย 6 คน หญิง 31 คน สาเหตุที่ต้องจับกุม 1.ชุมนุมกีดขวางจราจรตั้งวางสิ่งของบนพื้นจราจร 2.เกรงว่าจะแพร่เชื้อโรคขอตรวจสอบผู้ชุมนุมก็ไม่ยินยอม 3.เจ้าหน้าที่เจรจาหลายครั้งตั้งแต่เริ่มชุมนุม 15.40 น. เพื่อขอให้ย้ายไปสถานที่อื่นที่จัดเตรียมไว้ แต่ก็ไม่ยอมย้าย

4.กลุ่มนี้เคยเรียกร้องครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปี 63 รัฐบาลอยู่ระหว่างดำเนินการ และการชุมนุมฝ่าฝืนกฎหมายอย่างต่อเนื่อง 5.การข่าวทราบมีกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มอื่นเข้ามาร่วมอาจทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงและก่อความ ไม่สงบ และ 6.การเข้าจับกุมไม่ใช่สลายชุมนุม เป็นการเจรจาก่อนเข้าจับกุมผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย ไม่ใช้ความรุนแรง โดยใช้กำลังเจ้าหน้าตำรวจคฝ.หญิง และหยิบสิ่งของออกที่กีดขวางออกจากพื้นที่

พล.ต.ต.จิรสันต์กล่าวว่า ทั้ง 6 ข้อเป็นเหตุผลความจำเป็นต้องจับกุมผู้ชุมนุมดำเนินคดี สิ่งที่ยืนยันว่ามีกลุ่มผู้ชุมนุมอื่นจะเข้ามาร่วมและใช้ความรุนแรงนั้น จะเห็นได้ว่าหลังจากนำตัวไปควบคุมที่บช.ปส. ถนนวิภาดีรังสิต มีกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบตามไปยิงพลุประทัดที่หน้าสโมสรตำรวจ ฉะนั้น ยืนยันได้ว่าในการชุมนุมมีกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเข้ามาร่วมการชุมนุมดังกล่าวด้วย เบื้องต้นดำเนินคดีผู้ชุมนุมจะนะ ตามความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เนื่องจากจัดกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากเสี่ยงต่อความแพร่โรค และความผิดอื่น เช่น กีดขวางการจราจรตามความผิดพ.ร.บ.จราจรฯ

โทรโข่งโต้-นายกฯสั่งสลาย

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีฝ่ายค้านตำหนิรัฐบาล โดยกล่าวหาสั่งสลายการชุมนุมว่า ยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหมไม่ได้สั่งการใดๆ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบและตามกฎหมาย ทั้งนี้รัฐบาลพร้อมรับฟังข้อเรียกร้องของประชาชนเสมอ แต่ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายด้วย ไม่ใช่มารวมตัวกันตั้งเต็นท์ กางผ้าใบ ทำเป็นหมู่บ้านลูกทะเล จะนะรักษ์ถิ่น ปักหลักค้างคืนซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะขณะนี้รัฐบาลยังคงต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มงวดอยู่ อาจกลายเป็นคลัสเตอร์ใหม่ขึ้นมาได้

นายธนกรกล่าวต่อว่า การเข้าจับกุมได้รับรายงานว่า กองร้อยน้ำหวานนำขบวนเข้าจับกุม เพราะทราบดีว่ามีผู้หญิงรวมอยู่ด้วย แสดงให้เห็นเจตนาว่ารัฐบาลไม่ได้ต้องการใช้ความรุนแรงใดๆ เลย แต่จำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ เพราะผู้ชุมนุมฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจํานวนมากในลักษณะมั่วสุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันง่าย ชุมนุมทํากิจกรรมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทําการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวน จากนั้นจะปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน สำหรับผู้ถูกจับกุมนั้น เป็นชาย 6 คน และหญิง 31 คน ซึ่งเป็นการจับกุมซึ่งหน้า

ลูกจะนะ – น.ส.ไครียะห์ ระหมันยะ เยาวชนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น พร้อมด้วย ลูกหลานชาวจะนะ จ.สงขลา ที่ถูกตำรวจสลายการชุมนุมแล้วจับกุมไป 37 คน เมื่อคืนวันที่ 6 ธ.ค. อ่านแถลงการณ์ยืนยันสู้ต่อที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.

ลูกสาวทะเลจะนะลั่นสู้ต่อ

เวลา 10.30 น. ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไครียะห์ ระหมันยะ เยาวชนนักเคลื่อนไหว เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น หรือ ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ พร้อมเยาวชนประมาณ 10 คน ที่เป็นลูกหลานของผู้ชุมนุมที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ ในนามเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ว่า การเดินทางมาทำเนียบรัฐบาลในวันนี้ เพื่อบอกรัฐบาลให้หยุดคุกคามแผ่นดินของคนจะนะ เพื่อให้หยุดสร้างนิคมอุตสาหกรรม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นรัฐบาลกลับนำที่ดินไปให้นายทุนเพียงสองบริษัทเกือบ 2 หมื่นไร่ และเหตุการณ์วันที่ 6 ธ.ค. ย้ำชัดถึงการปกป้องกลุ่มทุน เราขอยืนยันแม้จะถูกจับกุมอีกกี่ครั้ง เมื่อออกมาแล้วจะกลับมายังทำเนียบรัฐบาลเหมือนเดิม เราไม่ไปไหน แม้จะถูกทำลายจากกลุ่มอำนาจสักกี่ครั้งก็ตาม ภารกิจนี้ขอเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ขอยืนหยัดจนถึงที่สุด

วันนี้ภาคีเครือข่าย 5 จังหวัดภาคใต้ถึงเวลาแล้วที่ต้องลุกขึ้นแสดงตนปกป้องแผ่นดิน โดยจะต่อสู้จนกว่าโครงการดังกล่าวจะยุติ และในวันเดียวกันนี้เครือข่ายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะรวมตัวกันที่ อ.จะนะ เพื่อร่วมออกแถลงการณ์ร่วมกัน ส่วนการเคลื่อนไหวในกรุงเทพฯ ขอประเมินสถานการณ์ก่อน นอกจากนี้ ยังทราบว่า ขณะนี้ มีการแจ้งข้อหาดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมไป แต่มีการให้ข้อเสนอไม่ดำเนินคดีแลกกับการหยุดเคลื่อนไหว ซึ่งผู้ที่ถูกจับกุมไม่ยอมและยืนยันว่าคดีเพียงแค่นี้ ไม่สามารถหยุดการเคลื่อนไหวของพวกเราได้

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ข้อเสนอดังกล่าวมาจากใคร น.ส.ไครียะห์ กล่าวว่า ไม่ทราบรายละเอียด เพียงแต่ทราบจากคำบอกเล่าของผู้ถูกจับกุมเท่านั้นว่ามีการยื่นข้อเสนอให้ ตอนนี้เหลือแค่หนูและน้องๆ เราได้สารจากผู้ที่ถูกจับกุมคุมขังไปเมื่อคืน ที่ระบุว่าเขาจะมาเจรจาไม่ดำเนินคดีกับพวกเรา แลกกับการไม่เรียกร้องเรื่องนิคมอุตสาหกรรมจะนะอีกต่อไป แต่พี่น้องทุกคนไม่ยอมรับและพร้อมที่จะสู้คดี และยืนยันว่าถ้าออกจากการถูกคุมขังไปได้จะมาหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้อง ต่อไปอีก จนกว่าข้อเรียกร้องจะบรรลุ เพราะคดีแค่นี้ทำลายความตั้งใจของพวกเราไม่ได้ เราพร้อมจะเอาชีวิตเข้าแลก

เมื่อถามว่า กรณีที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรมช.เกษตรและสหกรณ์ ที่เคยลงนามเอ็มโอยูให้มีการศึกษาโครงการอีกครั้ง แต่ขณะนี้ร.อ.ธรรมนัสพ้นจากตำแหน่งแล้ว กังวลว่าจะมีผลกับเอ็มโอยู ที่ทำไว้หรือไม่ น.ส.ไครียะห์ กล่าวว่า ร.อ.ธรรมนัส เป็นผู้ลงนาม แต่เอ็มโอยูดังกล่าวเป็นการลงนามของรัฐบาลไม่ใช่ตัวบุคคล จึงต้องดำเนินการต่อเนื่อง แต่ตอนนี้เหมือนรัฐบาลดำเนินการแบบมั่วกันไปหมด

“ปีที่แล้วเราได้ทำเอ็มโอยูไว้กับร.อ.ธรรมนัสก็จริง แต่ในนามสัญญานี้คือเราทำร่วมกับรัฐบาล ไม่ได้ทำโดยบุคคล ทุกอย่างยังเป็นเหมือนเดิม รัฐบาลเซ็นมั่วกันไปหมด เซ็นไปแล้วเซ็นทิ้งๆ ขว้างๆ โดยไม่รับผิดชอบอะไรสักอย่างเลยตอนนี้ พวกเราจะสู้จนกว่าจะมีการยุติโครงการอุตสาหกรรมนิคมจะนะ และทำตามข้อเรียกร้องที่ได้ทำกันไว้เมื่อหนึ่งปีที่แล้ว” น.ส.ไครียะห์ กล่าว

‘ธรรมนัส’ลั่นไม่ได้ทำพลการ

วันเดียวกัน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และอดีตรมช.เกษตรฯ สัมภาษณ์เรื่องเดียวกันว่า สมัยที่ดำรงตำแหน่งรมช.เกษตรฯ ได้รับมอบหมายจากนายกฯ ให้เจรจาชาวบ้าน ผลการเจรจาตัวแทนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นนำไปสู่การลงนามในบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ร่วมกัน ก่อนนำเสนอที่ประชุมครม. เพื่อรับทราบ

“การเจรจากับเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น รัฐบาลให้ยุติการดำเนินการทุกอย่าง โดยให้ประชาพิจารณ์อีกครั้ง ให้ศอ.บต.ดำเนินการ คู่ขนานกับสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ขณะนี้ดำเนินการอยู่ตาม เอ็มโอยูที่ตกลงกันไว้ และเมื่อผมพ้นจากตำแหน่ง ก็ไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ไม่ได้มีตำแหน่งในคณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการใดๆ ของรัฐบาล จึงไม่ขอออกความคิดเห็นในเรื่องนี้ รัฐบาลต้องชี้แจง วันนั้นระหว่างที่คุยกันกับตัวแทนของพี่น้องชาวจะนะ มีปลัดสำนักนายกฯ เป็นคณะทำงานด้วย เป็นที่มาที่ไปของเอ็มโอยู ทั้ง 3 ข้อ ถามว่า ครม.รับทราบไหม ถ้าเท้าความไปแล้วกว่าจะออกฉบับนั้นและเสนอเข้า ครม.วันนั้น ถกเถียงใน ครม.เกือบชั่วโมง ไม่ใช่ว่าผมไปตกลงเอง คงเป็นความเข้าใจผิด” ร.อ.ธรรมนัส กล่าว

รายงานข่าวจากทำเนียบ เผยว่า รัฐบาลนี้มีจุดอ่อนคือไม่เคยชี้แจงข้อเท็จจริงให้กับประชาชนรู้ เรื่องของเอ็มโอยูระหว่างรัฐบาลกับเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ขณะนี้ยังดำเนินการต่อเนื่อง โดยไม่ได้ยกเลิกเอ็มโอยูที่ ร.อ.ธรรมนัสทำไว้ แต่รัฐบาลไม่ได้ชี้แจง เมื่อเขามาถามความคืบหน้าและชัดเจนก็ไม่ชี้แจงให้เขาเข้าใจ มันเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลนี้จริงๆ ไม่บอกให้ประชาชนรู้แล้วประชาชนหรือชาวจะนะจะรู้ความคืบหน้าของการดำเนินการตามเอ็มโอยูหรือไม่

เรื่องที่เกิดขึ้น เกิดจากเอกชนผู้รับเหมาก่อสร้างต้องการทำประชาพิจารณ์เอง โดยไม่รอ ศอ.บต.ที่ดำเนินการอยู่กับสศช. อาจเป็นเพราะเอกชนผู้ก่อสร้างมองว่ารัฐบาลทำประชาพิจารณ์ล่าช้า ไม่ทันใจ จึงไม่ขออนุญาตจากผู้ว่าฯ เพื่อจะทำประชาพิจารณ์เอง โดย ไม่รอศอ.บต.และสภาพัฒน์ ที่ร่วมดำเนินการกับสถาบันการศึกษา แต่ผู้ว่าฯ ก็ไม่อนุญาตให้ดำเนินการ อย่างไรก็ตาม เมื่อภาคเอกชนต้องการทำประชาพิจารณ์อง ภายใต้กฑหมายของกระทรวงอุตสาหกรรม จะไม่ดำเนินการภายใต้กฎหมายพื้นที่พิเศษ ทำให้ประชาชนชาวจะนะไม่เข้าใจ คิดว่ารัฐบาลไม่รักษาสัญญาจะก่อสร้างต่อเนื่อง ดังนั้น รัฐบาล ต้องเร่งชี้แจงให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาล ว่าอยู่ในขั้นตอนไหนแล้ว

‘นิพนธ์’รับกว้านซื้อที่-หนุนนิคม

ด้าน นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย อดีตส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ตอบผู้สื่อข่าวที่ถามในฐานะคนพื้นที่จะสามารถพูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้านได้หรือไม่ ว่า ต้องปล่อยให้เป็นกระบวนการของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปล่อยไปตามขั้นตอน ถึงแม้ว่าจะเป็นคนในพื้นที่ขอให้ไปฟังคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ดูแล้วกัน ส่วนกรณีที่มีกลุ่มคนมาคัดค้านที่หน้าทำเนียบ ต้องขอให้ไปพิจารณาดูด้วยว่าโครงการจะต้องทำตามขั้นตอนกฎหมายอย่างไร เพราะกฎหมายกำหนดไว้แล้วว่ากรณีไหนต้องทำอีไอเอ กรณีไหนต้องทำอีเอชไอเอ ต้องดำเนินการตามที่กฎหมายบังคับใช้ ความจริงเรื่องนี้มีการพูดคุยกันมาหลายปีแล้ว ตั้งแต่ประมาณปี 59 ก่อนที่รัฐบาลนี้จะมาเสียอีก

ส่วนกรณีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวมาเรียกร้องอยู่หน้าทำเนียบ และกล่าวหาว่านายนิพนธ์เองเป็นผู้รวบรวมโฉนดให้กับนายทุน นายนิพนธ์กล่าวว่า เรื่องที่ดินนั้นหากเอกชนเขาสนใจมีสิทธิ์ที่จะดำเนินการเหมือนกับเรื่องทั่วๆ ไป แต่เมื่อรวบรวมที่ดินแล้วต้องทำตามขั้นตอนกฎหมายอยู่ดี

เมื่อถามย้ำว่า มีส่วนเข้าไปรวบรวมที่ดินตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ นายนิพนธ์กล่าวว่า หลายคนที่ไปรวบรวมเป็นสิทธิของเขา เพราะการรวบรวมที่ดินไม่ผิดกฎหมาย แต่ถ้าการที่จะทำโรงงานแล้วไม่ทำตามขั้นตอนกฎหมายนั่นถือเป็นประเด็น ส่วนที่กล่าวหาตนว่าเป็นคนรวบรวมที่ดินนั้น หากเขาถามว่าเห็นด้วยกับโครงการนี้หรือไม่ ตนเห็นด้วยที่จะเข้าไปทำตรงที่ดินนั้น เนื่องจากที่ดิน อ.จะนะ เป็นที่ดินที่ปลูกอะไรก็ลำบาก เป็นพื้นทราย ตนรู้จักคนที่นั่น รู้จักที่ดิน เพราะที่ดินที่นั่นใช้ปลูกแตงโมเป็นส่วนใหญ่ มันปลูกอย่างอื่นไม่ได้

จะนะฮือ – เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นรวมตัวละหมาดและปราศรัยที่ชายหาดสวนกง อ.จะนะ จ.สงขลา คัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ และให้ปล่อยตัวชาวบ้านที่ถูกจับระหว่างชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล กทม. เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.

ชาวจะนะลุยเสริมทัพบุกกรุง

ที่ชายหาดสวนกง อ.จะนะ จ.สงขลา เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นและพี่น้องผู้รักความเป็นธรรมประมาณ 300 คน จัดละหมาดและปราศรัย หลังสมาชิกถูกจับที่ข้างทำเนียบรัฐบาลหลังจากเดินทางจาก อ.จะนะ ขึ้นไปทวงสัญญาข้างทำเนียบรัฐบาล และถูก เจ้าหน้าที่ใช้กำลังเข้าสลายและจับกุมเมื่อคืนวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยทางเครือข่ายจัดละหมาดและมีตัวแทนเครือข่ายฯ ในพื้นที่และจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมปราศรัยจำนวนมาก

นอกจากนั้นยังอ่านแถลงการณ์ ประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่ พร้อมประกาศยกขบวนเข้าร่วมการชุมนุมที่ข้างทำเนียบรัฐบาล ส่วนผู้ที่ไม่สะดวกเดินทางจะปักหลักทำกิจกรรมในพื้นที่ นอกจากนั้นยังยื่นคำขาดให้ยุติเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อนิคมอุตสาหกรรม 4 เวที ที่จะจัดขึ้นในพื้นที่ อ.จะนะ และจ.สงขลา มิเช่นนั้นภาคประชาชนจะช่วยยุติเวทีให้ด้วยพลังประชาชนเอง

‘บิ๊กตู่’จี้กม.คุมเอ็นจีโอ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง พล.อ.ประยุทธ์มอบหมายให้รับผิดชอบการแก้ปัญหาโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งมีกลุ่มชาวบ้านคัดค้านมาอย่างต่อเนื่องว่า คงต้องดูรายละเอียดก่อนว่า โครงการดังกล่าว รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นมาอย่างไร คืบหน้าถึงไหน มีการรับฟังประชาชนในพื้นที่และ รายละเอียดของโครงการคืบหน้าอย่างไร และคงต้องลงพื้นที่จริงเพื่อดูข้อเท็จจริงที่ อ.จะนะด้วย

เพราะถ้าเป็นข้อสั่งการของนายกฯ ก็ต้องรีบลงไปดู และรับดำเนินการรวมทั้งรับฟังปัญหาและข้อคิดเห็นของหลายๆ ฝ่ายรวมถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบหากดำเนินการและหน่วยงานเจ้าของโครงการเราก็ต้องฟังเขา รวมถึงภาคใต้มีหลายปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณา อย่างไรก็ตาม ไม่หนักใจที่จะพูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ทั้งที่เห็นด้วยและคัดค้านเพราะต้องพูดคุยอยู่บนพื้นฐานของประเทศชาติ ของประชาชนเป็นที่ตั้งไม่ได้มีวาระซ่อนเร้น ทุกอย่างต้องทำเพื่อสังคมเป็นหลัก

รายงานข่าวแจ้งว่า ในช่วงท้ายของการประชุมครม. มีการรายงานเรื่องการสลายการชุมนุมกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น บริเวณข้างทำเนียบ เมื่อคืนวันที่ 6 ธ.ค. ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า หากจะชุมนุมจะต้องขออนุญาตและปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ โดยให้คำนึงถึงระยะห่างรัศมี 150 เมตร เพื่อความปลอดภัยของสถานที่ราชการ อีกทั้งไม่ต้องการให้ม็อบมาชุมนุมค้างคืนข้างทำเนียบ เหตุที่ต้องดำเนินการเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. เพราะเกรงว่าหากให้ปักหลักอยู่ตรงนี้ จะมีคนมาเติมมากขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องรีบดำเนินการ

หากไม่รีบเคลียร์ก่อนจะทำให้จัดการยาก ในอนาคตหากมีการมาชุมนุมข้างทำเนียบ เช่นนี้อีก อาจจำเป็นต้องปิดถนนพิษณุโลกก่อนที่ม็อบมาจะชุมนุม เราไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย อะไรที่ทำได้ก็ทำ ถ้าไม่ทำจะเดินหน้าไปได้อย่างไร

จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์สอบถามเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาถึงความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน หรือ ร่างกฎหมายควบคุม เอ็นจีโอ โดยเลขาฯกฤษฎีกาชี้แจงว่า ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกากำลังดำเนินการอยู่ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2-3 สัปดาห์ จากนั้นจะนำเสนอเข้าสู่ครม.ต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน