นอนหน้าUNทวงเอ็มโอยู
จัดต้านนิคมอุตที่สงขลา

ชาวจะนะบุกถึงมหาดไทยจี้ ‘รมช.นิพนธ์’ ลาออกปมทุบหม้อข้าวชาวบ้านหนุนผุดนิคมอุตฯจะนะ ส่วนที่สงขลาปักหลักจัดกิจกรรมทางเรือ 10 ธ.ค. บ่งชี้ความสมบูรณ์ของทะเลจะนะ โทรโข่งรัฐเผยนายกฯ เซ็นตั้งรมว.พลังงานตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด ส่วน ‘วิษณุ’ รับมีเอ็มโอยูจริง แต่แค่นำเข้าแจ้งต่อครม.รับรู้เท่านั้น ไม่ได้อนุมัติอะไร

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 9 ธ.ค. นายรุ่งเรือง หรือบังนี ระหมันยะ นายกสมาคมรักษ์ทะเลจะนะ จ.สงขลา เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นกว่า 70 คน ผู้ชุมนุมชาวจะนะ ที่มาปักหลักค้างแรมที่บริเวณทางเท้าริม ถนนราชดำเนินกลาง หน้าสำนักงานสห ประชาชาติ (ยูเอ็น) ประจำประเทศไทย รวมตัวกันขึ้นรถตู้ 3 คัน เดินทางไปยังกระทรวงมหาดไทย ยื่นหนังสือลาออกให้กับนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ที่ให้การสนับสนุนการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา

พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลส่งตัวแทนไปคุยกับพี่น้องเครือข่ายฯ ที่ปักหลักอยู่บริเวณหน้าองค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็นด้วย ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม และกองอาสารักษาดินแดน หรือ อส. กระทรวงมหาดไทย ที่กระจายกำลังอำนวยความสะดวกอยู่ทั้งภายใน และภายนอกกระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ มี นพ.ทศพร เสรีรักษ์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) เดินทางมาให้กำลังใจพี่น้องเครือข่ายฯ

สำหรับบรรยากาศการชุมนุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย บริเวณประตูสิงห์ พร้อมนำแผ่นป้ายข้อเรียกร้อง ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษชุมนุมอยู่ด้านหน้ารอให้นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ลงมารับหนังสือลาออก ตัวแทนเครือข่ายสลับกันปราศรัยด้านหน้ากระทรวงมหาดไทย โดยรับไม่ได้กับเหตุการณ์การสลายชุมนุมของรัฐบาลเมื่อคืนวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา หลายคนต้องมีคดีติดตัว พร้อมทั้งต่อว่านายนิพนธ์ที่ทุบหม้อข้าวตัวเอง ทุบหม้อข้าวพี่น้องชาว อ.จะนะ จากนั้นตัวแทนอ่านหนังสือลาออกจากตำแหน่งที่ทางเครือข่ายฯ ได้ร่างขึ้นมาให้นายนิพนธ์ โดยมีตัวแทนจากศูนย์ดำรงธรรมเดินทางมารับหนังสือดังกล่าว

วันเดียวกัน ตัวแทนกลุ่มชุมชนจะนะต้นแบบ กลุ่มที่คัดค้านโครงการเมืองต้นแบบจะนะแบบมีเงื่อนไข เข้ายื่นหนังสือถึงเลขาฯ ศอ.บต. และผวจ.สงขลา ให้หยุดเวทีรับฟังความเห็นและการเปลี่ยนสีผังเมืองจะนะ จนกว่าจะมีการออกใบอนุญาตโรงไฟฟ้าขนาด 1,100 เมกะวัตต์ให้กับกลุ่ม ตามที่ได้ยื่นข้อเรียกร้องเอาไว้ ผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสงขลา โดยมีนายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผวจ.สงขลา พร้อมนายรุ่งโรจน์ และสุบ ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสงขลาเป็นตัวแทนรับเรื่อง

หนังสือดังกล่าวนั้นเรียกร้องให้ยกเลิกการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 ของบริษัททีพีไอโพลีนเพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) และระงับการแก้ไขผังเมืองของอำเภอจะนะ จนกว่าทางกลุ่มฯ จะได้รับหนังสืออนุญาตให้ดำเนินการโรงไฟฟ้าในโครงการ จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ภายใต้การบริหารของกลุ่ม ซึ่งได้ดำเนินการก่อตั้งในรูปแบบบริษัทชุมชนต้นแบบจำกัด (มหาชน)

ก่อนหน้านี้กลุ่มชุมชนจะนะต้นแบบ ส่งหนังสือถึงเลขาฯ ศอ.บต. ขอจัดการประชุมเป็นเวทีคู่ขนานกับเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2563 ที่ลานอเนกประสงค์องค์การบริหารส่วนตำบลตลิ่งชันซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวนหนึ่ง และนำข้อเรียกร้องของกลุ่มชุมชนจะนะต้นแบบไปยัง ศอ.บต. 5 ข้อ โดยตัวแทน ศอ.บต.ยอมรับข้อเสนอและบรรจุข้อเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) และมีมติเห็น ชอบให้กลุ่มชุมชนจะนะต้นแบบได้รับใบอนุญาตโรงไฟฟ้าขนาด 1,100 เมกะวัตต์ ผลิตขายให้กับการไฟฟ้าฯ ซึ่ง กพต.นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว

นายอาทิตย์ หมัดสะอิ รองนายกเทศมนตรีตำบลนาทับ ระบุว่า การเป็นเมืองต้นแบบควรจะมีอะไรใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นกับชุมชน มากกว่าไปจับวางโครงการต่างๆ ในพื้นที่ ทางกลุ่มจึงรวมตัวกันเรียกร้อง ซึ่ง ศอ.บต.รับข้อเสนอ เมื่อมีการจัดสรรโรงไฟฟ้าให้กับกลุ่มลงทุน บริหาร และแบ่งปันผลกำไรกันเอง จะสามารถจัดสรรรายได้เข้าสู่การพัฒนาสาธารณ ประโยชน์ในพื้นที่กันเอง ขณะนี้มีชาวบ้านร่วมลงชื่อพร้อมที่จะเข้าร่วมในโครงการของเรามากกว่า 15,000 คน

ดังนั้นก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้ดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้า ส่วนหนึ่งในโครง การเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ขอให้ระงับการรับฟังความเห็นของบริษัททีพีไอฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 13-23 ธ.ค.นี้ ออกไปก่อน

สำหรับกำหนดการจัดเวทีรับฟังความเห็นของประชาชนครั้งที่ 1 ของบริษัท ทีพีไอฯ กำหนดขึ้นตั้งแต่วันที่ 13-23 ธ.ค. โดยเป็นการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ Zoom Cloud Meeting เท่านั้น เปิดให้มีการลงทะเบียนออนไลน์ พร้อมมีลิงก์เข้าร่วมประชุมออนไลน์แล้ว และในแต่ละประเด็นนั้น ใช้เวลาประมาณครึ่งวัน

รายงานข่าวแจ้งว่า ชาวบ้านในเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ที่อยู่ในพื้นที่ อ.จะนะ เตรียมพร้อมในการจัดกิจกรรมคู่ขนานกับมวลชนอีกกลุ่มที่ปักหลักทวงคำสัญญาที่กรุงเทพฯ แม้จะถูกสลายการชุมนุมและจับกุมไปก่อนหน้านี้ แต่ยืนยันเจตนารมณ์ไม่กลับบ้านจนกว่าจะได้รับคำตอบ โดยกลุ่มชาวบ้านเตรียมที่จะจัดกิจกรรมร่วมกันในวันที่ 10 ธ.ค. อีกครั้งในพื้นที่บ้านบ่อโชน ต.สะกอม อ.จะนะ เป็นการจัดกิจกรรมทางเรือ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของความสมบูรณ์ทางทะเลของอำเภอจะนะ

ด้านนายบรรจง นะแส ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย เผยว่า รัฐบาลโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ควรจะยอมรับข้อเสนอของชาวบ้าน เพราะการทำเอ็มโอยูโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรมช.เกษตร นายกฯ เป็นผู้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง ดังนั้นจะบอกว่าไม่ทราบ ไม่ได้เป็นมติครม.คงไม่ได้ ที่สำคัญการดำเนินโครงการนั้นควรเป็นไปอย่างชอบธรรม เป็นไปตามขั้นตอนไม่ใช่เป็น การตั้งธงเอาไว้แล้ว แล้วมาทำให้กระบวน การต่างๆ ถูกต้องตามกฎหมาย ขณะนี้กระบวนการเปลี่ยนผังเมืองจากสีเขียวเป็นสีม่วงยังไม่ได้ดำเนินการ แต่ปล่อยให้เอกชนข้ามขั้นตอนเปิดเวทีรับฟังความเห็น ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะนำไปสู่กระบวนการทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมไปแล้ว

วันเดียวกัน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า นายกฯ ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 330/2564 ลงวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา แต่งตั้งนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รอง นายกฯ และรมว.พลังงาน เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อ.จะนะ จ.สงขลา “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” โดยสั่งให้เน้นการตรวจสอบและรับฟังปัญหาให้ครบทุกมิติ เพื่อนำไปสู่ การพัฒนาภาคใต้อย่างยั่งยืน โดยต้องยึดประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนในพื้นที่

โฆษกรัฐบาลยังยืนยันว่า ที่ผ่านมา ครม.ประชุมเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2563 มีมติเพียงรับทราบรายงานผลการหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาของกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น ตามที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมเสนอ โดย ครม.มอบหมายให้คณะกรรมการแก้ไขฯ นำรายงานผลการหารือไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้แนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อกลับมาเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงโครงการเมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าจะนะ เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงสำหรับรัฐบาลหรือไม่ ว่า ไม่มีอะไร อธิบายไปตามข้อเท็จจริงก็หมดเรื่อง เดิมเรื่องนี้ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานรับผิดชอบให้ดูแลเกี่ยวกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ทั้งประเทศ ต่อมาการเมืองแรง และเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงจึงเปลี่ยนให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ดูแล โดยมีนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นรองประธานและมีรองกรรมการอีกจำนวนหนึ่ง

เมื่อเกิดเรื่องที่จะนะ จึงตั้งคณะอนุกรรม การอีกชุดหนึ่งลงไปดูในเรื่องนี้โดยเฉพาะ ร.อ.ธรรมนัสเป็นประธานลงไปดูเรื่องนี้ในพื้นที่ และตามบันทึกความเข้าใจ หรือเอ็ม โอยู จากนั้นนำทั้งรายงานผลการศึกษาและเอ็มโอยูเข้า ครม. เมื่อเดือนธ.ค. 2563 เป็นวาระรับทราบ โดยคำว่าครม.รับทราบ แปลว่าการรับรู้เท่านั้น ไม่ใช่การอนุมัติและเป็นเพียงการรับทราบรายงานการศึกษา แต่ขอไม่ดูเรื่องเอ็มโอยู เพราะไม่รู้ว่ารัฐจะทำตามได้หรือไม่ เนื่องจากทางคณะอนุกรรมการที่ไปเจรจา ยังต้องพูดคุยอีกเยอะ จึงให้ไปเจรจาให้จบก่อน แล้วค่อยนำเข้าครม.ไม่ใช่เอาเอ็มโอยู มาปิดปากครม.

“เขาเอาเรื่องเอ็มโอยู เข้ามาด้วย แต่ครม.ไม่ได้เห็นชอบ และไม่มีประโยคที่บอกว่าเห็นชอบ หรืออนุมัติตามเอ็มโอยูนั้น แค่รับทราบแค่ว่ามีการทำเอ็มโอยู แต่เรื่องยัง ไม่จบ เพราะยังต้องเจรจากันต่อ ครม.จึงให้ไปทำต่อให้จบเพราะเห็นว่าถ้านำเอ็มโอยูเข้ามา และครม.พิจารณาแสดงว่าเรื่องจบแล้ว เพราะตอนที่เขานำเข้ามาตั้งใจว่าจะ ให้จบ แต่ครม.บอกว่ายังไม่จบ ถ้าจะให้จบ ต้องผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการกฤษฎีกา อัยการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อนจะมาถึงครม. แต่หน่วยงานที่กล่าวมายังไม่ได้ดูเลยฉะนั้นยังไม่ไปยุ่งกับเอ็มโออยู่ แต่ยอมรับว่ามีการทำเอ็มโอยู “ นายวิษณุกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ารายงานผลการศึกษาฯ ที่เสนอเข้ามาจะต้องเดินหน้าต่อหรือจะต้องให้ไปศึกษาใหม่ นายวิษณุกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับคณะทำงานชุดใหม่ เนื่องจากร.อ. ธรรมนัส พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว เมื่อถามถึงความชัดเจนถึงผู้ลงนามแต่งตั้งให้ ร.อ. ธรรมนัสเข้าไปดูแลเรื่องนี้เป็นนายกรัฐมนตรี หรือพล.อ.ประวิตร นายวิษณุกล่าวว่า พล.อ.ประวิตร เป็นผู้ลงนามแต่งตั้ง ส่วนที่นายกฯ ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน มารับผิดชอบเรื่องนี้ แทนร.อ.ธรรมนัส จะดูเฉพาะเรื่องนิคมอุตสาหกรรมจะนะเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภาที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภา เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาญัตติด่วน 5 ญัตติ ของส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐ, พรรคประชาชาติ, พรรคก้าวไกล, พรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ให้สภาตั้งกมธ.วิสามัญตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ ที่เข้าสลายการชุมนุมเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ที่ทำเนียบเมื่อ 6 ธ.ค. เและให้ตรวจสอบโครงการจะนะเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ทั้งนี้ มีข้อเสนอให้รื้อกระบวนการจัดสร้างนิคมฯจะนะใหม่ เพื่อให้เกิดการรับฟังประชาชนอย่างรอบด้าน

หลังจากที่ผู้อภิปรายอภิปรายครบถ้วนแล้ว นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะผู้เสนอญัตติ กล่าวปิดท้ายว่า เห็นถึงความจำเป็นและความต้องการของส.ส.ต้องการตรวจสอบตำรวจ ผู้ใดสั่งการสลายการชุมนุม หากพบผู้กระทำความผิดหรือการกระทำเกินกว่าเหตุ เกินความจำเป็น ขอให้ลงโทษทางอาญาและดำเนินการลงโทษทางวินัย พร้อมทบทวนนิคมอุตฯจะนะ เพราะพบพิรุธและข้อเท็จจริง หากรัฐบาลเห็นว่าจะนะเป็นคนไทย ต้องพิจารณาตามข้อเสนอที่สภาจะเสนอต่อไป

จากนั้น นายชวน กล่าวว่า การเสนอญัตติดังกล่าวไม่มีผู้ที่คัดค้าน ดังนั้นจะ ขอใช้ข้อบังคับเพื่อส่งญัตติดังกล่าวให้รัฐบาลรับไปพิจารณา จากนั้นปิดประชุม ในเวลา 20.17 น

จะนะบุกมท. – เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นชุมนุมหน้ากระทรวงมหาดไทย เรียกร้องนายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ลาออก เนื่องจากเป็นคนพื้นที่แต่กลับสนับสนุนโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา เหมือนทุบหม้อข้าวตัวเอง เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน