มวลชนเข้ากรุงสมทบ
ยื่นร้องยูเอ็น-ตู่สั่งสลาย

ม็อบจะนะเดินหน้าลุยต่อ แนวร่วมแกนนำคณะราษฎร และกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย บุกยูเอ็นยื่นหนังสือร้องรัฐบาล‘ประยุทธ์’ ละเมิดสิทธิมนุษยชนทั้งจับกุมคุมขังนักศึกษาด้วยม.112 วอนตุลาการ-ศาลยุติธรรมให้สิทธิประกันตัวผู้ถูกคุมขัง สองหนุ่ม-สาวเผาพานรัฐธรรมนูญจำลอง ฉีกรธน.ฉบับปี 60 สน.นางเลิ้งปรับผิดพ.ร.บ.ความสะอาด 200 บาท ด้านกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นจัดกิจกรรมจำลองสถานการณ์ถูกจับ เผยความรู้สึกหวาดกลัว แฉตร.ไม่ฟังมาชุมนุมเพื่ออะไร ด้านบช.น.จัดกำลังตรึงคุมม็อบหลายจุด ส่วนที่สงขลาเครือข่ายจัดปราศรัย ที่หาดบ่อโซน อ่านแถลงการณ์ประกาศเจตนารมณ์ต่อสู้ ย้ำรัฐต้องสั่งยุติโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะไว้ก่อน พร้อมเดินทางไป กทม. 13 ธ.ค.นี้ อัดภาครัฐรวมหัวกับนายทุนปล้นทรัพยากรในทะเลจะนะ

เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. ที่ชายหาดบ่อโซน อ.จะนะ จ.สงขลา เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ร่วมกันทำกิจกรรมขบวนเรือเซฟจะนะ ในคลองสะกอม อันเป็นคลองสายหลักในอำเภอจะนะ และเป็นแหล่งน้ำดิบที่นิคมอุตสาSกรรมจะนะจะใช้ หลังจากนั้นจัดกิจกรรมปราศรัยที่ชายหาดบ่อโซน และอ่านแถลงการณ์ประกาศเจตนารมณ์การต่อสู้ พร้อมทั้งนัดหมายเดินทางขึ้นไปกรุงเทพมหานครในวันที่ 13 ธ.ค.

ด้าน น.ส.สารีด๊ะ นิยมเดชา อ่านแถลงการณ์ มีรายละเอียดดังนี้ “ทัพเรือประมงพื้นบ้าน ณ ชายฝั่งทะเลจะนะ พื้นที่ชายฝั่งทะเล ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา คือแหล่งทำประมงพื้นบ้านที่สำคัญของประเทศ อาหารทะเลที่ผลิตได้ที่นี่ไม่เพียงแต่เลี้ยงคนในชุมชน แต่ยังเลี้ยงคนจังหวัดอื่นๆ ของประเทศ อีกทั้งยังส่งออกไปยังมาเลเซีย สิงคโปร์ จีน และเกาหลีด้วย ในยามเผชิญกับโควิด-19 พวกเรายังได้แบ่งปันอาหารทะเลจะนะไปยังคนหาเช้ากินค่ำในเมืองหาดใหญ่ บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงพี่น้องชุมชนแออัดที่คลองเตย กรุงเทพฯ

การที่ทะเลจะนะสมบูรณ์เป็นเพราะพวกเราได้ร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูมาเกือบ 30 ปี แต่วันนี้รัฐบาลกลับรวมหัวกันกับนายทุนเพื่อปล้นทรัพยากรไปจากพวกเรา ให้ทุนทำอุตสาหกรรม แม้พวกเราเรียกร้องให้หยุดโครงการ และทำการประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA และรัฐบาลตกลงกับพวกเราแล้ว แต่กลับไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงและยังเดินหน้าโครงการต่อไป เมื่อพวกเราทวงสัญญาก็ถูกจับกุมยัดข้อหา วันนี้พวกเราจึงนำเรือประมงพื้นบ้านฝ่าคลื่นลมในฤดูมรสุมมารวมตัวกันเท่าที่ทำได้ เพื่อประกาศจุดยืนและข้อเรียกร้องดังนี้

1.ขอทวงสัญญาจากรัฐบาลที่ตกลงกับพวกเราเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2563 ว่ารัฐบาลจะจัดให้มีการประเมินผลเชิงยุทธศาสตร์การพัฒนาหรือ SEA แบบมีส่วนร่วม ที่จะมีคณะศึกษาอันเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพื่อให้รัฐบาลมีข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้องครบถ้วน และมาประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

2.รัฐบาลต้องสั่งให้ยุติการเดินหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะไว้ก่อนตามข้อตกลง ข้อ 1 รวมถึงหยุดจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ที่จะจัดขึ้นในเดือนธ.ค.นี้ ซึ่งขัดกับข้อตกลงและยังขัดต่อหลักสากล ด้วยการจัดรับฟังความเห็นไม่มีคณะกรรมการรับฟังความเห็นที่เป็นกลาง แต่จัดโดยผู้ศึกษา อีกทั้งยั้งจัดทางออนไลน์ ทำให้คนในชุมชนจำนวนมากเข้าร่วมไม่ได้เพราะไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้”

เวลา 11.00 น. ที่ด้านหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และกลุ่มคณะราษฎร โดยมีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำคณะราษฎร พร้อมมวลชนรวม 50 คน เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนรัฐบาล “ประยุทธ์” ละเมิดสิทธิมนุษยชน ในประเด็นการสลายการชุมนุมกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น การปล่อยนักโทษการเมือง การดำเนินคดี ม.112 และขอให้ยกเลิกมาตราดังกล่าว โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองร้อยควบคุมฝูงชนบช.น. หรือคฝ. ตำรวจสน.นางเลิ้ง คอยอำนวยความสงบเรียบร้อยและอำนวยความสะดวกด้านการจราจรบริเวณดังกล่าว








Advertisement

นายสมยศกล่าวปราศรัยบริเวณดังกล่าวว่า วันนี้เป็นวันสิทธิมนุษยชนสากล และเป็นวันรัฐธรรมนูญของไทย แต่ที่มากันในวันนี้เพื่อให้ประชาคมโลกได้รับรู้ความเป็นจริงเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่มีความร้ายแรงและรุนแรงมากยิ่งขึ้น ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีปัญหาที่รุนแรงตั้งแต่มีผู้ลี้ภัยเกิดขึ้นแล้วมีการสังหารผู้ลี้ภัย อีกทั้งยังพบศพ 2 ศพที่แม่น้ำโขง ทั้งหมดนี้รัฐบาลไม่ได้ตรวจสอบ หรือสอบสวน ไม่ได้ดำเนินการแต่ อย่างใด เพื่อหาความจริงเกี่ยวกับการอุ้มหาย

“นอกจากนี้ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการบังคับสูญหายก็ยังไม่ออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ อีกทั้งยังจับกุม คุมขัง นิสิตนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องด้วย ม.112 และขอส่งเสียงเรียกร้องสิทธิการประกันตัวแก่ผู้ถูกคุมขังจาก ม.112 ขอให้ปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข เพื่อให้ออกมาต่อสู้อย่างเต็มที่ต่อไป” นายสมยศกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังปราศรัย นายสมยศพร้อมกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมรวม 5 คน เข้าไปยื่นหนังสือร้องเรียนให้เจ้าหน้าที่สหประชาชาติ โดยไม่มีกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นเข้าร่วม แต่มีกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นบางส่วน ถือป้ายวันสิทธิมนุษยชนให้เห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ และนำโมเดลพานรัฐธรรมนูญจำลองมาวางไว้หน้าป้ายยูเอ็นในบริเวณดังกล่าว ซึ่งทางกลุ่มร้องเรียนจะนำพานรัฐธรรมนูญจำลองไปเผาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยต่อไป

ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผบช.น. โฆษก บช.น. เปิดเผยว่า กรณีวันที่ 10 ธ.ค. มีการนัดรวมตัวของกลุ่มผู้ชุมนุมฯ กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และกลุ่มแนวร่วม เวลา 10.00 น. บริเวณหน้า UN, กลุ่ม People go network เวลา 17.00 น. บริเวณลานหอศิลป์กรุงเทพ ขอให้หลีกเลี่ยงเส้นทางบริเวณ ดังกล่าว, กลุ่ม People ศิลปินเพลงเพื่อราษฎร บริเวณหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในเวลา 17.00 น. ขอให้หลีกเลี่ยงการจราจรบริเวณนั้น กลุ่มพลเมืองโต้กลับ บริเวณหน้าศาลฎีกา เวลา 17.30 น. และกลุ่มทะลุแก๊ส บริเวณแยกดินแดง เวลา 17.30 น. ทั้งนี้ผบช.น.ได้จัดเตรียมกำลังพลและยุทโธปกรณ์ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมฯ โดยเน้นย้ำให้ปฏิบัติภายใต้กรอบกฎหมาย และคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก

สำหรับการปฏิบัติเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส), กลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น, กลุ่ม People ศิลปินเพลงเพื่อราษฎร และกลุ่มพลเมืองโต้กลับ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ด้านกลุ่มก่อความไม่สงบทะลุแก๊ส ไม่พบการรวมกลุ่ม ส่วนการดำเนินการทางกฎหมาย ตั้งแต่เดือนก.ค.2563 จนถึงปัจจุบัน มีคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมในเขตพื้นที่กทม. ทั้งสิ้น 800 คดี ขณะนี้สอบสวนเสร็จสิ้นและสั่งฟ้องไปแล้ว 401 คดี อยู่ระหว่างสอบสวน 399 คดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นยังคงปักหลักอยู่ใกล้กับทำเนียบรัฐบาล บริเวณหน้าสำนักงานสหประชาชาติ เป็นวันที่ 5 เพื่อทวงคำตอบกับรัฐบาล ซึ่งวันที่ 10 ธ.ค.ครบรอบ 1 ปีที่เครือข่ายจะนะเข้ากรุงเทพฯ เพื่อขอให้รัฐบาลหยุดโครงการนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เดินหน้าทำกระบวนการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA ให้ทุกฝ่ายยอมรับ พร้อมกันนี้ยังร่วมกันเขียนข้อความลงบนป้ายผ้า สะท้อนถึงความไม่ต้องการให้ก่อสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะฯ ใน จ.สงขลา

นายสมบูรณ์ คำแหง แกนนำเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ระบุกรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เป็นประธานกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการจะนะ แทนพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ว่า ไม่ใช่ทางแก้ปัญหา และไม่ได้ตอบโจทย์หลักที่เครือข่ายขอให้หยุดโครงการดังกล่าว และให้เดินหน้าทำกระบวนการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์

เวลา 18.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นจัดกิจกรรมการแสดงอ่านบทกวีและมีผู้หญิงจำนวน 15 คน เปรียบเทียบตัวเองเป็นนักเรียนชั้นอนุบาล 1/1 โรงเรียนผังเมืองสีเขียว ออกมาแสดงการจำลองสถานการณ์ช่วงถูกจับกุมเมื่อคืนวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา จากนั้นร้องเพลงดัดแปลงเพลงจำเลยรักเป็นจำเลยรักถิ่นไทย ยืนยันว่าจะไม่ยอมแพ้แม้ถูกดำเนินคดี และไม่ได้ถูกจ้างมาเพื่อชุมนุมแต่อย่างใด

ต่อจากนั้นมีการจัดเวทีเสวนาที่มาของปัญหาในการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ โดยดร.กฤษฎา บุญชัย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย และตัวแทนกลุ่ม ชาวบ้านจะนะ ส่วนกิจกรรมสุดท้ายจัดฉายหนังสารคดีเรื่องจะนะสู้สุดจะนะ

ระหว่างกิจกรรมการแสดงสถานการณ์จำลองการถูกจับกุมนั้น หนึ่งในผู้ต้องหากรณีถูกจับกุมกล่าวถึงความรู้สึกทั้งน้ำตาระหว่างที่ถูกจับกุมว่า “การแสดงดังกล่าวทำให้เรารู้สึกหวาดกลัวอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งเวลานอน เราขอให้ตำรวจฟังเราก่อนได้หรือไม่ว่าเรามาชุมนุมเพื่ออะไร แต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ฟังเสียงพวกเราเลย จะสลายการชุมนุมเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ ช่วงเวลาการถูกจับกุม ยืนยันว่าให้คนที่แข็งแรงอยู่ด้านหน้า และให้คนที่ไม่สบายกับผู้สูงอายุอยู่ด้านหลัง แต่ เจ้าหน้าที่ตำรวจไปอุ้มคนสูงอายุจากบริเวณดังกล่าวก่อนเลย เรากล่าวย้ำว่าอย่าทำเราได้หรือไม่ ฟังเราก่อนได้ไหมว่าเรามาเพื่ออะไร แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ฟังเอาเราขึ้นรถ และเราทั้ง 37 คนถูกดำเนินคดีกันทั่วหน้า”

เวลา 13.00 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนินกลาง น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และนายณัฐกรณ์ ชูเสนาะ จากกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ หนึ่งในเครือข่ายกลุ่มราษฎร เดินทางมายังฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นำป้ายผ้าที่เขียนข้อความไปแขวนบนฐานอนุสาวรีย์ แล้วนำพานรัฐธรรมนูญจำลองทำด้วยกระดาษมาวางบนถนน และราดสีน้ำเงินใส่บนพาน อีกทั้งนำหนังสือ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560” มาฉีก และยืนชู 3 นิ้วเป็นสัญลักษณ์ เพื่อแสดงออกถึงการไม่ยอมรับในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่สืบทอดอำนาจเผด็จการ

ต่อมาตำรวจสน.สําราญราษฎร์ เชิญทั้งสองคนไปโรงพัก เปรียบเทียบปรับตามพ.ร.บ.ความสะอาด เป็นเงิน 200 บาท

เวลา 16.30 น. ที่ลานหน้าหอศิลปและวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และลาน สกายวอล์ก สี่แยกปทุมวัน กลุ่ม People Go NetWork นำโดยนายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ และ ภาคีเครือข่าย ร่วมจัดชุมนุมเนื่องในวันรัฐธรรมนูญ ใช้ชื่อ “ราษฎร์ธรรมนูญ” โดยกลุ่มต่างๆ จัดกิจกรรมกันอย่างคึกคัก เพื่อแสดงออกความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม รวมถึงการเรียกร้องรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน อาทิ คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หรือ ครช. แจกกระดาษโพสต์อิตให้คนเขียนสิ่งที่ต้องการในรัฐ ธรรมนูญ ขณะที่กลุ่มไอลอว์ชวนคนลงชื่อยกเลิก ม.112 ส่วนกลุ่ม “เยาวชนจะนะ” เรียกร้องธรรมนูญจะนะและนำเสนอปัญหาสิ่งแวดล้อม ด้านกลุ่มสมัชชาคนจนที่มีนายบารมี ชัยรัตน์ เป็นแกนนำ เสนอรธน.ฉบับคนจน

นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมชวนผู้เข้าร่วมงานถ่ายภาพแล้วปรินต์สดให้เจ้าของภาพเขียนข้อความที่เป็นความฝันเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเข้าไปด้วย อีกทั้งมีการเสวนากลุ่มย่อยใน 4 หัวข้อ เช่น เสรีภาพ อธิปไตยเป็นของปวงชน คนเท่ากัน ลดเหลื่อมล้ำ สิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรม การเมืองสร้างสรรค์ มีนายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า และ น.ส.ไครียะห์ ระหมันยะ เยาวชนนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเข้าร่วม

จากนั้นการแสดงดนตรี การแสดง Performance Art ต่อมาเวลา 20.50 น. มีการแถลงการณ์ เดินทางไกล น้ำท่วมฟ้า ปลากินดาวเพื่อราษฎร์ธรรมนูญ และประกาศยุติการชุมนุมในเวลาประมาณ 21.00 น.

เซฟจะนะ – กลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น ยังปักหลักทวงสัญญารัฐบาลเรื่องยุติโครงการ นิคมอุตสาหกรรมใน อ.จะนะ จ.สงขลา พร้อมเสวนาและจำลองเหตุถูกตำรวจบุกสลาย ในคืนวันที่ 6 ธ.ค. ที่หน้าองค์การสหประชาชาติ กทม. เมื่อค่ำวันที่ 10 ธ.ค.

ฟ้องโลก – นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำคณะราษฎร ยื่นหนังสือร้องเรียนยูเอ็น ระบุรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ละเมิดสิทธิมนุษยชน สลายการชุมนุม กลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นและเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษการเมือง ที่หน้าสำนักงานยูเอ็น ถ.ราชดำเนิน กทม. เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน