บุกทำเนียบวันนี้ยื่น4ข้อ
ครย.พรึบราชประสงค์
เรียกร้องสิทธิประกัน

ม็อบราษฎรพรึบราชประสงค์ เรียกร้องยกเลิกมาตรา 112 พร้อมคืนสิทธิประกันตัว หวิดวุ่น ตร.ดึงป้ายผ้าทิ้ง ด้านม็อบจะนะ ฝ่า 12 ด่าน สมทบกรุงแล้ว ยัน 4 ข้อเรียกร้องพร้อมชุมนุมกดดันหน้าทำเนียบรัฐบาล ขณะที่พีมูฟออกแถลงการณ์พร้อมต่อสู้เคียงข้าง เผยมีกลุ่มม็อบเชียร์นิคมอุตสาหกรรมจะนะเดินทางเข้ากรุง ชุมนุมหน้าทำเนียบเหมือนกัน หวั่นเกิดเผชิญหน้า ด้านสุพัฒนพงษ์ รองนายกฯ เรียกแกนนำหารือ ระบุขออย่ามาชุมนุมหน้าทำเนียบ ขณะที่ปัตตานี หน่วยงานความมั่นคงคุมเข้ม หลังนายกฯ เตรียมลงพื้นที่ 15 ธ.ค. หวั่นม็อบต้านบุกยื่นหนังสือ

สู้ไม่ถอย – กลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น พร้อมภาคีเครือข่าย อ่านแถลงการณ์จุดยืนเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามบันทึกข้อตกลง หรือเอ็มโอยู ที่ทำไว้กับผู้ชุมนุม ที่หน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนิน เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.

จากกรณีผู้ชุมนุมกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นชุมนุมหน้าองค์การสหประชาชาติเพื่อติดตามคำสัญญาจากนายกรัฐมนตรีที่ลงนามในข้อตกลงร่วมกันเมื่อเดือนธ.ค. 2563 แต่ผ่านมาร่วมปีแล้วยังไม่มีความคืบหน้า ขณะที่นายกฯ ระบุรัฐบาลไม่เคยรับปากหรือทำข้อตกลงร่วมกัน เพราะทุกอย่างต้องผ่านมติครม.ตามที่เสนอไปก่อนหน้านี้

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ที่บริเวณหน้าองค์การสหประชาชาติ (UN) กลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น พร้อมด้วยภาคี เครือข่าย ประกอบด้วย สมาพันธ์สมาคมประมง พื้นบ้านแห่งประเทศไทย สมาคมสมาพันธ์โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามภาคใต้ ภาคีภาคประชาชน เครือข่าย saveนาบอน และกลุ่ม พีมูฟ อ่านแถลงการณ์ประกาศจุดยืนที่จะเข้าร่วมการเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามบันทึกข้อตกลงที่ทำไว้กับผู้ชุมนุมเมื่อเดือนธ.ค. 2563 เนื่องจากรัฐบาลทำผิดสัญญา ไม่มีการแจ้งความคืบหน้าของโครงการให้คนในพื้นที่ทราบ

ในขณะเดียวกัน บริษัทเอกชนและกลุ่มสนับสนุนได้ลักไก่เดินหน้าจัดทำ EIA ของโครงการต่างๆ ในพื้นที่จะสร้างอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา มีการตั้งเวทีรับฟังความคิดเห็นก็จริง แต่ทำผ่านระบบออนไลน์โดยอ้างเรื่องสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ที่ไม่มีความชำนาญหรือเข้าถึงเทคโนโลยีได้ไม่มีพื้นที่แสดงแนวคิดหรือผลกระทบในท้องถิ่นซึ่งเป็นข้อมูลที่เป็นความจริงได้ ถือเป็นการลักไก่ หรือที่คนภาคใต้เรียกว่า “ขี้ฉ้อ” ทำให้ก่อนหน้านี้เรามา รวมตัวกันเพื่อทวงสัญญาจากรัฐบาล แต่กลับโดนสลายการชุมนุมและดำเนินคดี ทั้งที่ประชาชนอย่างเรามาเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมจากความเดือดร้อนที่เจ้าหน้าที่รัฐได้กระทำโดยไม่มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่รัฐบาลกลับพยายามยัดเยียดเรื่องการเมืองให้เราและดำเนินคดีกับชาวบ้านในลักษณะเดียวกับการชุมนุมทางการเมือง

ทั้งนี้ ยืนยันว่าพวกเรามีเจตนารมณ์เพียงแค่จะปกป้องทะเล ดูแลอากาศ ไม่ใช่แค่อำเภอจะนะแต่เป็นอุตสาหกรรมทุกแห่ง ทุกภาคเมื่ออุตสาหกรรมเข้ามาโดยไม่มีประชาชนเป็นส่วนร่วมก็จะเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน ในวันนี้กลุ่มเราจะเป็นเสมือนต้นแบบที่จะแสดงออกถึงการเรียกร้องเพื่อปกป้องและพัฒนาที่ยั่งยืนหลังจากนี้

นายจำนงค์ หนูพันธ์ ประธานพีมูฟกล่าวว่า เรายังคงย้ำและเรียกร้อง 4 อย่างคือ 1.รัฐบาลต้องตรวจสอบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อีกครั้ง 2.รัฐบาลจะจัดให้มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างครบถ้วน เพื่อให้มีข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้องประกอบการตัดสินใจเดินหน้าหรือยุติโครงการต่อไป

3.รัฐบาลต้องยุติการดำเนินการทั้งหมดไว้ก่อนจนกว่าจะดำเนินการตามข้อ 1 และ 2 แล้วเสร็จ และ 4.รัฐบาลต้องยุติการดำเนินคดีกับเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นทั้ง 37 คน ที่เกิดจากการสลายการชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล ต้องการหาทางออกความขัดแย้งด้วยกระบวนการ แนวทางการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA เราไม่เคยยืนกระต่ายขาเดียวว่าโครงการนี้ต้องหยุด แต่เราเสนอว่าจะทำต่อหรือยกเลิก เอาเหตุผลทางวิชาการมาเป็นตัวตัดสินได้หรือไม่ ใช้นักวิชาการที่มีความชำนาญแต่ละเรื่อง และมี 3 ด้านที่ควรศึกษาคือ ด้านสิ่งแวดล้อม, สังคมวัฒนธรรม และเศรษฐศาสตร์ จากนั้นเอาข้อเท็จจริงมาประกอบการตัดสินใจให้กับชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่

สิ่งที่เราอยากได้วันนี้ไม่ใช่ MOU อีกต่อไป เราได้ทำร่างกระบวนการ SEA ไว้ให้ท่านแล้ว ร่างนี้ถูกรับรองจากนักวิชาการในมหาวิทยาลัยที่จ.สงขลา หากมีการตกลงในขั้นหลักการ นายกรัฐมนตรีสามารถเซ็นแต่งตั้งคำสั่งนี้ พวกผมกลับบ้านเลย แต่ถ้าไม่เซ็น ไม่มีกำหนดกลับ จะนั่งอยู่จนกว่าจะได้สิ่งที่ต้องการ

ที่ปรึกษาเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเปิดเผยว่า ในวันที่ 13 ธ.ค.เราและเครือข่ายที่จะเดินทางมาจากภาคใต้อีกนับ 100 คนจะเดินทางมาที่ประตู 1 ทำเนียบรัฐบาล ถึงแม้จะรู้ว่าตอนนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจวางสิ่งกีดขวางไว้ตามเส้นทางที่จะเคลื่อนขบวน แต่อย่างไรก็จะเดินทางไปให้ใกล้ที่สุด จากการหารือกับชาวบ้านเราพร้อมจะแลกทุกสิ่งทุกอย่างแม้กระทั่งชีวิตเพื่อให้ได้ข้อตกลงที่ต้องการ และข้อตกลงของเราต้องเป็นข้อตกลง ที่ผ่าน มติครม.จึงจะเดินทางกลับ

นอกจากนี้ อยากให้ทุกคนตั้งข้อสังเกต ตนได้ข่าวมาว่าวันนี้มีกลุ่มสนับสนุนโครงการอุตสาหกรรมทางภาคใต้กำลังจะเดินทางขึ้นมา เป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ และจะขึ้นมาเพื่ออะไร และตนก็ได้ข่าวมาว่ามีบุคคลที่สนิทกับนักการเมืองกำลังพยายามเข้ามาเคลียร์ ซึ่งตนประกาศไว้ตรงนี้ว่าอย่าให้เห็นว่าเข้ามาในพื้นที่ ตนไม่รับรองความปลอดภัย ถ้าอยากคุยหรือเจรจาอะไรไปเจอกันพรุ่งนี้ที่ทำเนียบรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.30 น. นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เชิญแกนนำและตัวแทนเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นหารือที่กพร.ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล

ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่านายสุพัฒนพงษ์ได้ขอร้องให้กลุ่มผู้ชุมนุมยุติการเคลื่อนขบวนมาที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 13 ธ.ค.นี้

วันเดียวกัน ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ ออกแถลงการณ์เรื่อง ขอประกาศเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับพี่น้องเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ทวงคืนที่ดินและทรัพยากร เนื้อหาระบุว่า ดังปรากฏข้อมูลว่ามีนักการเมืองได้รวมหัวกับกลุ่มทุนแล้วกว้านซื้อที่ดิน ผลักดันให้ผืนดินการเกษตรต้องปรับเปลี่ยนเป็นที่ดินอุตสาหกรรม แก้ไขผังเมืองโดยการผลักดันเข้าสู่คณะรัฐมนตรีเพื่อให้สามารถดำเนินการโครงการเมกะโปรเจ็กต์นิคมอุตสาหกรรมจะนะได้ รวมถึงพฤติกรรมของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์แน่นแฟ้นของรัฐ ทุน กองทัพ และกลุ่มชนชั้นนำในประเทศนี้อย่างชัดเจนที่สุด

นอกจากนั้นหากประเมินจากท่าทีของรัฐบาล นำโดยประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมถึงนักการเมืองบางคนที่ยังดันทุรังเดินหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ตลอดจนการสลายการชุมนุมและจับกุมดำเนินคดี พี่น้องเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นอย่างป่าเถื่อน ได้สะท้อนชัดเจนแล้วว่าที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และฐานทรัพยากรทั้งหมดของประเทศนี้ได้ถูกผูกขาดศูนย์อำนาจไว้อย่างเบ็ดเสร็จ ไม่หลงเหลือที่ทางให้ประชาชนสามารถปกปักรักษาผืนดินของบรรพบุรุษและดำรงวิถีชีวิตได้อย่างอิสระและปลอดภัยอีกแล้ว

พวกเราขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ ในนามขบวนการภาคประชาชนที่ต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนในที่ดิน ที่อยู่อาศัย และทรัพยากร เป็นอีกหนึ่งเครือข่ายที่ได้รับผลกระทบใกล้เคียงกัน หลายครั้งที่พวกเราเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาทั้งในเชิงประเด็นและโครงสร้าง พวกเราก็ได้รับคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการและบันทึกข้อตกลง หรือ MOU มา แต่จากท่าทีของประยุทธ์ที่กล่าวว่าไม่ได้เห็นชอบ MOU ที่ทำร่วมกับเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น พวกเราก็ไม่อาจไว้วางใจฝากความหวังและชีวิตของพี่น้องผู้เดือดร้อนไว้ในกำมือของรัฐบาลนี้อีกต่อไป

เมื่อพี่น้องเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นประกาศขอแลกชีวิตเพื่อปกป้องบ้านเกิด พีมูฟจึงขอประกาศต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่พี่น้องจะนะ โดยการย้ำเตือนให้ผู้มีอำนาจทั้งหลายจงปฏิบัติตามข้อเรียกร้องทั้งหมดของพี่น้องจะนะ ทั้งการตรวจสอบกระบวนการที่ผิดปกติของโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ การจัดให้มีการศึกษาผลกระทบในเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA แบบมีส่วนร่วม การยุติการดำเนินการโครงการทั้งหมด รวมถึงยุติการดำเนินคดีพี่น้องเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น 37 คน โดยต้องออกเป็นมติคณะรัฐมนตรีภายในวันอังคารที่ 14 ธ.ค.นี้ นอกจากนั้น เราขอประกาศว่าในวันที่ 13 ธ.ค.นี้ พวกเราพีมูฟจะนำมวลชนเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับพี่น้องเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นที่ทำเนียบรัฐบาลแน่นอน

และพวกเราขอย้ำเตือน เรียกร้องจิตสำนึกของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่าอย่าได้ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมพี่น้องอีก เพราะพวกเราพร้อมจะยกระดับการเคลื่อนไหวและระดมมวลชนเพิ่ม หากรัฐบาลยังเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องและกระทำความรุนแรงกับ พี่น้องของเรา

ต่อมาเวลา 19.20 น. ที่บริเวณหน้าองค์การสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน ซึ่งเป็นสถานที่การชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมในนาม “เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น” บรรยากาศตลอดช่วงเย็นที่ผ่านมาชาวบ้านที่ร่วมปักชุมนุมได้ร่วมกันทำกิจวัตรประจำวัน พร้อมทั้งแบ่งหน้าที่ปรุงอาหารเพื่อรับประทานอาหารค่ำ รวมถึงมีการละหมาดตามหลักศาสนาอิสลาม

จนกระทั่งในช่วงค่ำมีการขึ้นเวทีปราศรัย และมีการแสดงละครโดยมีเนื้อหาสะท้อนสังคมให้เห็นถึงความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

นายเรือง สีแก้ว ที่ปรึกษาเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเปิดเผยว่า สำหรับกิจกรรมในเวลา 13.00 น. วันที่ 13 ธ.ค.นี้ กลุ่มผู้ชุมนุมจะเคลื่อนขบวนไปยังประตูหนึ่ง ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นข้อเรียกร้อง 4 ข้อตามที่ได้มีการนำเสนอไปแล้ว ส่วนที่หลายคนแสดงความเป็นห่วงเรื่องที่มีกลุ่มเครือข่ายจากจ.ชุมพรที่จะขึ้นมาสมทบ แต่กลับถูก เจ้าหน้าที่ตำรวจสกัดไว้ตลอดเส้นทางรวม 12 ครั้ง ขณะนี้เดินทางมาถึงที่หน้าองค์การสหประชาชาติแล้วตั้งแต่เมื่อคืน ไม่ต้องเป็นห่วงแต่อย่างใด สำหรับเรื่องการพูดคุย หรือเจรจาในวันนี้มีการคุยกับเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องแล้วบางส่วน แต่ก็ยังไม่ได้ข้อยุติตามเดิม ดังนั้น วันพรุ่งนี้จึงยืนยันกำหนดการเดิมที่จะเดินทางไปทำเนียบรัฐบาล และจะปักหลักอยู่จนกว่าจะได้คำตอบที่พอใจ

ขณะที่ นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ใน วันที่ 13 ธ.ค. ตนเตรียมหารือที่ประชุมกมธ.เพื่อเชิญร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรมช.เกษตรและสหกรณ์ เข้าชี้แจงต่ออนุกมธ.พิจารณาศึกษาติดตามกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนจากการดำเนินการโครงการของรัฐ ในกมธ.พัฒนาการเมืองฯ ต่อกรณีโครงการ “จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” โดยพิจารณาแล้วว่าเรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับร.อ.ธรรมนัส ในฐานะผู้ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลในขณะที่ดำรงตำแหน่งรมช.เกษตรและสหกรณ์ เพื่อเจรจา ยุติเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา

นายณัฐชากล่าวต่อว่า นอกจากนี้จะเชิญแกนนำกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นเข้าให้ข้อมูลและพูดคุยด้วย เพราะในการออกมาเรียกร้องของพ่อแม่พี่น้องครั้งนี้ รัฐบาลยังไม่ส่งใครที่เกี่ยวข้องหรือมีอำนาจในการตัดสินใจเข้ารับฟังและพูดคุยกับชาวบ้านเลย จึงอยากใช้พื้นที่ของกมธ.ในการพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกัน และหวังเป็นอย่างยิ่งจะได้รับความร่วมมือจากร.อ.ธรรมนัส

ที่จ.ปัตตานี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หน่วยงานความมั่นคงเตรียมซักซ้อมแผนต้อนรับพล.อ.ประยุทธ์ ที่จะเดินทางมาลงพื้นที่ปัตตานี ในวันที่ 15 ธ.ค. และมีรายงานว่ากลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อต้านนิคมอุตสาหกรรมจะนะ เตรียมเดินทางมายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ทำให้ฝ่ายความมั่นคงจับตาการเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด

ที่จ.สงขลา ชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 5 ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา กังวลต่อสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นที่จะเดินจากหน้าองค์การสหประชาชาติไปที่หน้าทำเนียบในวันที่ 13 ธ.ค. เนื่องจากเคยถูกสลายการชุมนุมและถูกจับกุมมาแล้วก่อนหน้านี้ โดยต่างร่วมกันส่งกำลังใจ ให้ได้รับชัยชนะในการปกป้องบ้านเกิด

นางกี่รอม๊ะ อนันทบริพงศ์ ตัวแทน ชาวบ้านต.สะกอม กล่าวว่า ในการเดินทางเข้าร่วมชุมนุมนั้นส่วนใหญ่ส่งตัวแทนไปร่วม ส่วนผู้ที่ยังอยู่ในพื้นที่นั้นเป็นกลุ่มที่มีภาระต้องดูแลครอบครัวซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กและผู้สูงวัย จึงทำได้เพียงร่วมส่งกำลังใจและติดตามข่าวสารของพี่น้อง ยืนยันว่าทะเลจะนะนั้นมีความสมบูรณ์เกินกว่าที่จะเปลี่ยนเป็นเมืองอุตสาหกรรม เพราะชาวบ้านสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัวได้โดยไม่เดือดร้อน และกังวลว่าหากเกิดอุตสาหกรรมขึ้นจะส่งผลกระทบจนไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในบ้านเกิดต่อไปได้

ทั้งนี้ตัวแทนผู้นำศาสนา ครูโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา รวมถึงเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้าน 3 ตำบลในอำเภอจะนะ ทยอยเดินทางเข้า กทม.เพื่อสมทบกับเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ตั้งแต่เมื่อวานนี้ต่อเนื่องจนถึงวันนี้ ทำกิจกรรมทวงสัญญา SEA ที่หน้าทำเนียบรัฐบาลในวันพรุ่งนี้ ส่วนผู้ที่อยู่ในพื้นที่นั้นยังคงเฝ้าติดตามข่าวสาร และส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าร่วมในการรับฟังความเห็น ครั้งที่ 1 ที่ บริษัท ทีพีไอโพลีนพาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ยังคงยืนยันที่จะจัดขึ้นตามกำหนดเดิมเป็นเวทีแรกในวันพรุ่งนี้ โดยเป็นการเปิดเวทีด้วยระบบออนไลน์ร้อยเปอร์เซ็นต์

ในขณะที่ฝ่ายกลุ่มสนับสนุนโครงการ ก็เดินทางมุ่งหน้าไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อทำกิจกรรมที่ทำเนียบรัฐบาลในวันพรุ่งนี้เช่นเดียวกัน

ม็อบราษฎร – กลุ่มราษฎรพร้อมแนวร่วมและประชาชนจำนวนมาก รวมตัวชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์ ตั้งเวทีปราศรัย เรียกร้องสิทธิการประกันตัว และยกเลิกกฎหมายปิดกั้นสิทธิเสรีภาพประชาชน เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.

ที่แยกราชประสงค์ กลุ่มราษฎรและ แนวร่วมประชาธิปไตย ในนาม ‘คณะราษฎรยกเลิก 112 หรือ ครย.112 นัดหมายชุมนุม “ราษฎรพิพากษามาตรา 112” ระหว่างเวลา 16.00-21.00 น. เพื่อเรียกร้องยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 และเรียกร้องให้คืนสิทธิการประกันตัวชั่วคราวแก่นักกิจกรรม ที่ถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง

สำหรับกลุ่มที่ร่วมกิจกรรม อาทิ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, กลุ่มทะลุฟ้า, กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก, กลุ่มสลิ่ม กลับใจ, กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย, เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี, เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน และ We Volunteer เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศเวลา 15.30 น. มีการตั้งเวทีปราศรัย ด้านหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ โดยปิดถนน 5 ช่องถนนฝั่งมุ่งหน้า แยกประตูน้ำ และเริ่มมีประชาชนทยอย เดินทางมาร่วมกิจกรรม รวมถึงกลุ่มกิจกรรมหลายกลุ่มเริ่มตั้งบูธกิจกรรม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินี เข้าอ่านประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมสังเกตการณ์ตามจุดต่างๆ รอบพื้นที่ตั้งแต่ช่วงก่อนการรวมตัวของ ผู้ชุมนุม

เวลา 15.47 น. กลุ่มไอลอว์จัดตั้งบูธ เพื่อให้ประชาชนได้มาลงชื่อเพื่อยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีการผูกป้ายผ้ากับรั้วเหล็กหน้าเวที ข้อความว่า ‘12.12 ยกเลิก 112’ จากนั้น กลุ่มทะลุฟ้าได้จัดตั้งบูธทะลุฟ้าเพื่อวางขายสินค้า เช่น น้ำพริกทะลุฟ้าและ เสื้อยืดลวดลายต่างๆ

ต่อมา เวลา 17.03 น. ผู้ร่วมชุมนุมหญิงรายหนึ่งพ่นสีสเปรย์สีแดงเป็นข้อความลงบนถนนบริเวณพื้นที่ชุมนุมว่า ‘ออกไป’ จากนั้นมีการแสดงตีกลองจากกลุ่มราษดรัมส์ และร้องเพลงประกอบจังหวะโดยกลุ่มราษดรัมส์

ช่วงหนึ่งที่กำลังดำเนินกิจกรรม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จนท.ตำรวจหลายสิบนายได้เข้ารื้อป้ายผ้า ทำให้เกิดเหตุชุลมุนขึ้น ผู้ชุมนุมเริ่มตะโกนคำว่า “หยุดคุกคามประชาชน“ จากนั้นผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งได้เดินตามจนท.ตำรวจเข้าไปในห้างสรรพสินค้า the market แยกราชประสงค์ เพื่อทวงถามสาเหตุที่รื้อป้ายดังกล่าวของผู้ชุมนุม บางช่วงมีการ ปาขวดน้ำพลาสติกตกกระทบบนหัวของกลุ่ม จนท.ตำรวจ ที่มารื้อป้ายของผู้ชุมนุม บางรายตะโกนวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของจนท.ตำรวจกลุ่มดังกล่าว ซึ่งต่อมา เหตุการณ์ได้ผ่อนคลายลง เมื่อ จนท.กลับเข้าที่ตั้ง บริเวณหลังห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีราชดำริ โดยมีกลุ่มการ์ดเข้าไปเคลียร์กับ จนท. และผู้ชุมนุมให้แยกออกจากกัน และกลับไปที่บริเวณเวทีชุมนุม

เวลา 17.30 น. มีการเสวนาแลกเปลี่ยนถึงประเด็นการแก้ไขและยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 นายอุเชนท์ เชียงเสน อาจารย์ สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า กรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีนักนิติศาสตร์ได้วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง และสะท้อนให้เห็นว่าคำวินิจฉัยนี้มีปัญหามากที่สุดในประวัติศาสตร์ รวมทั้งความกังขาที่เกิดขึ้นในใจของพี่น้องประชาชน ก็คือเรากังขาในความสามารถของการวินิจฉัยเองด้วย

“อยากให้เราลองกลับไปอ่านใหม่ อ่านในฐานะที่เป็นการสะท้อนความเห็นของชนชั้นนำไม่เฉพาะกระบวนการยุติธรรม ที่มีต่อการเคลื่อนไหวของคณะราษฎรที่ผ่านมาเท่านั้น ถ้าเราอ่านคำวินิจฉัยของศาลเราก็จะเห็นว่าโอกาสในการปฏิรูปมีความเป็นไปได้มากน้อยขนาดไหนและชนชั้นนำที่เกี่ยวข้องที่มีอำนาจอยู่ขณะนี้มีความพร้อมในการปรับตัวแค่ไหน ผมคิดว่าสำหรับคำวินิจฉัยตอนนี้ไม่ได้อ้างอิงอยู่บนหลักกฎหมาย ผมจึงคิดว่ามันมีฐานะแค่ความเห็นเท่านั้น” นายอุเชนท์กล่าว

น.ส.คอรีเยาะ มานุแช ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ตนอยากยืนยันว่ามาตรา 112 เป็นคดีความผิดในประมวลกฎหมายอาญา ไม่ใช่ตัวรัฐธรรมนูญ จึงไม่เข้าใจว่าผู้ที่ออกมาเรียกร้องเรื่องการแก้ไขและยกเลิกมาตรา 112 กลายเป็นเรื่องของการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร

“กฎหมายที่ใช้ตบปากประชาชนเป็นการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อปิดกั้นประชาชนไม่ให้แสดงออกซึ่งสิทธิเสรีภาพในเรื่องที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ ในหลายประเทศการใช้กฎหมายลักษณะนี้เป็นเรื่องผิดกฎหมายเพราะมันเป็นเครื่องมือของทุนและรัฐที่ใช้เพื่อคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน การฟ้องคดีตบปากส่วนใหญ่เป็นคดีที่ไม่มีมูล และเป็นคดีที่สร้างภาระให้กับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระยะเวลาในการดำเนินคดีและค่าใช้จ่าย ทำให้ประชาชนที่ไม่มีศักยภาพในการต่อสู้จะต้องจำยอมรับเงื่อนไขภายใต้การกดขี่ของมาตรานี้ไม่ว่าจะเป็นการขอโทษ การลบโพสต์ที่รัฐได้บันทึกไว้ คนที่ถูกดำเนินคดีก็มีทั้งประชาชนทั่วไป นักเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมทั้งนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หลักที่เป็นสาเหตุสำคัญในการฟ้องร้องจะมาจากการพูดหรือปราศรัยในพื้นที่สาธารณะหรือการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์” นางสาวคอรีเยาะ กล่าว

นายอนุลักษณ์ กุลสิงห์ หรือ ป๊อก แนวร่วม มมส. กล่าวว่า หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ถูกแก้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อยู่ต่ออย่างแน่นอน และส.ว. 250 คน ก็ยังอยู่ต่อเช่นกัน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังพ่วงด้วยมาตราต่างๆ ที่ทำให้อำนาจของคสช.ที่อยู่ในยุคก่อนเลือกตั้งและยังมีอำนาจอยู่ในยุคหลังเลือกตั้ง ส่วนตัวคิดว่ามีอยู่สองแบบที่รัฐบาลจะต้องทำ คือจะร่างรัฐธรรมนูญก่อนหรือคุณจะยุบสภาก่อน ถ้ารัฐบาลยุบสภาจะเป็นการส่งต่ออำนาจให้ประชาชน และ จะต้องใช้อำนาจของประชาชนสร้างรัฐธรรมนูญคิดว่าดีที่สุด

“สำหรับมาตรา 112 เป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของเรา เป็นมาตราหลักที่ใช้ปราบปรามผู้ออกมาเรียกร้อง ปราบปรามประชาชน เพื่อนของเราติดคุกด้วยมาตรานี้ ในช่วงก่อนที่จะประกาศใช้มาตรานี้มีความพยายามใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่มีอัตราโทษไม่สูงเท่ามาตรา 112 ถือเป็นกฎหมายที่สมควรยกเลิก ถ้าไม่ยกเลิกตอนนี้จะไปยกเลิก ตอนไหน” นายอนุลักษณ์กล่าว

ต่อมาเมื่อเวลา 19.30 น. นายอรรถพล บัวพัฒน์ หรือครูใหญ่ ขึ้นเวทีปราศรัย กล่าวว่า สำหรับกรณีการยกเลิกมาตรา 112 นั้น ไม่ใช่เป็นการล้มล้างสถาบัน แต่เป็นการปฏิรูปเพื่อให้คงอยู่ไว้ซึ่งประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งนี้การชุมนุมใหญ่ครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนก.พ. ปี 65 และจะมีการต่อสู้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีการปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองในคดี ม.112 รวมไปถึงการยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 ต่อไป

เวลา 20.00 น. นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นตัวแทนขึ้นอ่านแถลงการณ์ ระบุคณะราษฎรเสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และองคาพยพต้องลาออก 2. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เป็นฉบับของประชาชน 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ทั้งสามข้อคือข้อเรียกร้อง ที่จะนำไปสู่หลักการประชาธิปไตยโดยที่ว่า “อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย” แต่กลับมีประชาชนถูกกล่าวหาด้วยมาตรา 112 เป็นจำนวนถึง 162 คนด้วยกัน โดย พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, ภานุพงศ์ จาดนอก, เบนจา อะปัญ และคนอื่นอีก 20 คน ยังถูกคุมขัง และไม่ได้รับสิทธิ์การประกันตัวอยู่ในขณะนี้

ทั้งนี้จากการประชุม 193 ประเทศทั่วโลกทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน 10 พ.ย. 64 ประเทศไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาสิทธิพลเมืองหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบังคับใช้มาตรา 112 เป็นการปิดกั้นเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น หากรัฐไทยยังใช้มาตรา 112 อยู่ ประเทศไทยจะถูกมองว่าเป็นประเทศที่ล้าหลังด้านสิทธิมนุษยชน

ยิ่งไปกว่านั้น ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร 57 ยังได้ออกคำวินิจฉัยว่า การแสดง ความคิดเห็นและการชุมนุมของแกนนำคณะราษฎรเมื่อวันที่ 3 และ 10 สิงหาคม 63 เป็นการล้มล้างการปกครอง ทำให้มีการฉวยโอกาสใช้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนี้ข่มขู่ที่จะยุบพรรคการเมืองที่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 คุกคามเสรีภาพสื่อมวลชน ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น การชุมนุมโดยสงบของประชาชน

ประชาชน ณ ถนนราษฎรประสงค์แห่งนี้จึงมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน ยกเลิกมาตรา 112 และให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญและปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ให้ทำหน้าที่ปกป้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยต่อไป

ต่อมาเมื่อเวลา 21.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มผู้ชุมนุมได้ร่วมกันร้องเพลง พร้อมทั้งเล่นดนตรีสดเพื่อผ่อนคลายบรรยากาศ ก่อนประกาศยุติการชุมนุมในทันที

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน