ให้ระวัง-แนะร่นฉีดเข็ม3-4
ศบค.ถกรับมือระบาดปีใหม่
ยอดตายลดเหลือแค่20ราย

ศูนย์จีโนมฯ แพทยศาสตร์รามาฯ มหิดล เตือนระวังอีกสายพันธุ์ไฮบริด‘ลูกผสม’ ระหว่าง ‘เดลตา’ กับ ‘โอมิครอน’ ชี้หากเชื้อแลกเปลี่ยนพันธุกรรมกัน อาจเกิด ลักษณะพิเศษ ทั้งการแพร่ระบาด ความรุนแรง ของอาการ แนะสุ่มตรวจให้มากขึ้น ร่นระยะ เวลาฉีดวัคซีนเข็ม 3 และ 4 ให้เร็วขึ้น ขณะที่ ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันลดลง เหลือต่ำ 4 พันคน เสียชีวิตลดลงมากที่สุด เหลือ 20 คน ‘บิ๊กตู่’ ถกศบค.ชุดใหญ่ ปรับแผนรับมือป้องกันเชื้อลามช่วงปีใหม่

ติดโควิดต่ำ 4 พัน-เสียชีวิต 20

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานว่ามีผู้ติดเชื้อใหม่ 3,787 ราย สะสม 2,168,646 ราย, หายป่วยเพิ่ม 5,606 ราย หายป่วยสะสม 2,095,859 ราย, เสียชีวิต 20 ราย สะสม 21,171 ราย, อยู่ระหว่างรักษา 51,616 ราย อยู่ในร.พ. 25,757 ราย ร.พ.สนามและอื่นๆ 25,059 ราย, อาการหนัก 1,105 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 309 ราย

สำหรับผู้ติดเชื้อมาจากการติดเชื้อในประเทศ 3,785 ราย เรือนจำ 5 ราย และจากต่างประเทศ 24 ราย ขณะที่ผู้เสียชีวิต 20 ราย มาจาก 16 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี สตูล ปราจีนบุรี พิษณุโลก จังหวัดละ 2 ราย และกระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี เพชรบุรี จันทบุรี ชลบุรี ราชบุรี เชียงราย อุตรดิตถ์ เลย และอุบลราชธานี จังหวัดละ 1 ราย ผู้เสีย ชีวิตเป็นชาย 9 ราย หญิง 11 ราย อายุ 35-90 ปี ค่ากลางอายุ 73 ปี เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีและมีโรคประจำตัวรวมกัน 100 เปอร์เซ็นต์

กทม.ยังมาก-ตามด้วยนครศรีฯ

สำหรับจังหวัดที่ติดเชื้อเกิน 100 ราย มี 6 จังหวัด โดย 10 อันดับที่ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ 1.กทม. 631 ราย 2.นครศรีธรรมราช 349 ราย 3.ชลบุรี 167 ราย 4.สมุทรปราการ 155 ราย 5.สงขลา 145 ราย 6.สุราษฎร์ธานี 125 ราย 7.ปัตตานี 87 ราย, 8.เชียงใหม่ 87 ราย, 9.ตรัง 87 ราย และ 10.พัทลุง 78 ราย

ส่วนจังหวัดติดเชื้อเพียงหลักหน่วยมี 18 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ 9 ราย, พิจิตร 9 ราย, เพชรบุรี 7 ราย, ระนอง 7 ราย, สิงห์บุรี 7 ราย, สุโขทัย 7 ราย, หนองคาย 7 ราย, อำนาจเจริญ 6 ราย, สุรินทร์ 5 ราย, หนองบัวลำภู 5 ราย, อุทัยธานี 5 ราย, สมุทรสงคราม 4 ราย, ชัยนาท 3 ราย, อุตรดิตถ์ 3 ราย, นครนายก 2 ราย, มหาสารคาม 2 ราย, แพร่ 1 ราย และมุกดาหาร 1 ราย ส่วนจังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อคือพะเยา








Advertisement

‘โอมิครอน’ลามแล้ว 68 ปท.

สำหรับการฉีดวัคซีนวันที่ 11 ธ.ค. ฉีดเพิ่ม 144,423 โดส สะสม 97,321,750 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 49,901,591 ราย คิดเป็น 69.3 เปอร์เซ็นต์ของประชากร เข็มสอง 43,297,863 ราย คิดเป็น 60.1 เปอร์เซ็นต์ของประชากร และเข็มสาม 4,122,296 ราย คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของประชากร

ส่วนผู้เดินทางเข้าประเทศวันที่ 1-11 ธ.ค. สะสม 78,169 คน ติดเชื้อ 135 คน คิดเป็น 0.17 เปอร์เซ็นต์ โดยเข้ามาผ่าน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 56,456 คน ท่าอากาศยานดอนเมือง 508 คน ท่าอากาศยานภูเก็ต 19,736 คน ท่าอากาศยาน สมุย 1,126 คน และท่าอากาศยานอื่นๆ 343 คน

ด้านรายงานการพบโควิดสายพันธุ์ โอมิครอนทั่วโลก พบแล้ว 68 ประเทศ/พื้นที่ โดยพบใหม่ที่บาห์เรน บังกลาเทศ และไต้หวัน พบจากผู้เดินทางเข้าพื้นที่ รวม 44 ประเทศ ส่วนที่พบติดเชื้อในประเทศมี 24 ประเทศ

จับตาลูกผสม‘เดลตา-โอมิครอน’

ขณะเดียวกัน ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล เปิดเผยว่าที่กังวลคือ ขณะนี้มีการระบาดของเชื้อเดลตาที่ครองพื้นที่ และมีโอมิครอนเข้ามา หากคนหนึ่งติดเชื้อ 2 สายพันธุ์อะไรจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะ หากมีการแลกเปลี่ยนสายพันธุกรรมจนเกิด ลูกผสม หรือไฮบริด อาจจะก่อให้เกิดลักษณะเด่นพิเศษที่ไม่เหมือนโอมิครอน ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าหากมีการ แลกเปลี่ยนสายพันธุกรรมของเชื้อ 2 ตัวในร่างกายคนคนเดียว จะส่งผลต่อการ แพร่กระจาย รวมถึงจะก่อให้เกิดอาการรุนแรงมากขึ้นหรือน้อยลง จึงต้องสุ่มตรวจเพื่อติดตามเฝ้าระวัง

“ที่ผ่านมาเราเคยพบเพียงการติดเชื้อ 2 สายพันธุ์ ทั้งเดลตาและอัลฟาในคนเดียวกัน ที่คลัสเตอร์แคมป์คนงาน แต่ไฮบริดลูกผสม ยังไม่เคยเกิดขึ้น จากข้อมูลที่ผ่านมาใน ต่างประเทศเคยมีการผสมแลกเปลี่ยน สายพันธุ์ในคนคนเดียว ระหว่างเชื้อโควิดกับไข้หวัดธรรมดา แต่ไม่พบอาการรุนแรง ดังนั้นการสุ่มตรวจสายพันธุ์จำนวนมากๆ เป็นสิ่งจำเป็น เมื่อพบความผิดปกติ จะได้ควบคุม หากพบในคลัสเตอร์ใด กรมควบคุมโรคก็ต้องรีบเข้าไปบริหารตัดตอนไม่ให้เกิดการแพร่กระจายออกไป” ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์กล่าว

แนะร่นฉีดเข็ม 3-4 เร็วขึ้นอีก

หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ กล่าวว่า ดังนั้นการฉีดวัคซีนจึงมีบทบาทเช่นกัน เดิมวางแผนฉีดเข็ม 3 หลังเข็ม 2 ประมาณ 6 เดือน เข็ม 4 ก็วางแผนว่าอาจจะห่างจากเข็ม 3 ประมาณ 1 ปี แต่เมื่อมีโอมิครอนก็วางแผนกันว่า เข็ม 3 อาจร่นเวลาเหลือ 3 เดือน และเข็ม 4 อาจจะลดลงมา 6 เดือนก็ได้ รวมถึงอาจต้องเปลี่ยนหัวเชื้อใหม่ ที่ทันต่อการระบาดในปัจจุบัน แต่ระยะห่าง ระหว่างเข็มควรเป็นเท่าไหร่ นักวิทยาศาสตร์ กำลังพิจารณาว่าแค่ไหนถึงจะพอ โดยพิจารณา จากคนที่ติดเชื้อว่าภูมิคุ้มกันลดลงเร็ว แค่ไหน เมื่อฉีดวัคซีนเข้าไป เหมือนไข้หวัดใหญ่ทั่วไปเวลาติดเชื้อภูมิคุ้มกันจะสูงมากใน 2-3 เดือนแรก จากนั้นก็จะลดลงเป็นปกติ เป็นเรื่องธรรมดา

“แนวโน้มว่าสายพันธุ์โอมิครอน จะทำให้โควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่ เรากำลังติดตามการระบาดที่แอฟริกาใต้ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้น แต่ต้องรอดูอีกสักพักช่วง 1-2 เดือนนี้ แนวโน้มน่าจะดี เหมือนการเล่นฟุตบอล ตอนนี้เราแข่งขันจบไปแล้วครึ่งแรก มองดูแล้วเรานำยิงเข้าประตูไปแล้ว 1 ลูก ความหมายคือระบาดแต่อาการไม่รุนแรง ทุกคนก็คาดหวังว่าครึ่งหลังน่าจะชนะ แต่ลูกบอลขลุกขลิก อยู่หน้าประตูยังไม่รู้ผลอะไรก็เกิดขึ้นได้” ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์กล่าว

ลุ้นผลตรวจเจ้าหน้าที่ยูเอ็น

ส่วนนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงความ คืบหน้าตรวจเชื้อโควิดชายไทยอายุ 41 ปี เจ้าหน้าที่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) เดินทางมาจากประเทศดีอาร์คองโก ว่าเป็นสายพันธุ์ โอมิครอนหรือไม่ ว่าผลยังไม่ออก ขอให้รอสรุปผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 13 ธ.ค. โดยจะนำเสนอในการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (อีโอซี) กระทรวงสาธารณสุข ขออย่าวิตกเกินเหตุ เนื่องจากสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์ และข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ หลายแหล่งก็ค่อนข้างตรงกันว่า โอมิครอนอาการไม่ค่อยรุนแรงมากนัก

ผู้สื่อข่าวถามถึงการเฝ้าระวังการติดเชื้อลูกผสมเดลตาและโอมิครอน นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่พบการติดเชื้อเดลตาและโอมิครอนใน 1 คน แต่ติดตามตลอด ทั้งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และเครือข่าย รวมทั้งศูนย์ต่างๆ การพบคนติดเชื้อโอมิครอนเป็นปรากฏการณ์ที่ต้องเกิด เนื่องจากหลายประเทศก็เจอ สิ่งสำคัญ เราต้องป้องกันให้ดี และมีมาตรการเข้มงวด

ผู้ต้องขังโคราชติดเชื้อลด

สำหรับสถานการณ์ในจังหวัดต่างๆ นั้น จ.กาญจนบุรี พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 27 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ทั้ง 27 ราย เป็นชาย 15 ราย หญิง 12 ราย แหล่งติดเชื้อสัมผัสผู้ป่วยภายในจังหวัด 9 ราย พื้นที่เสี่ยง 11 ราย และคลัสเตอร์กลุ่มกิจกรรมสัมพันธ์ ต.บ้านเก่า อ.เมืองกาญจนบุรี จำนวน 7 ราย

ขณะที่ จ.นครราชสีมา พบผู้ติดเชื้อ รายใหม่ จำนวน 62 ราย และเสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เป็นผู้หญิงอายุ 79 ปี อยู่ ต.ในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่พบมากสุดที่ในพื้นที่ชุมชน อ.เมืองนครราชสีมา รองลงมาคือ อ.ปากช่อง อ.โนนสูง 6 ราย ขณะที่ผู้ป่วยโควิดในทัณฑสถานหญิงนครราชสีมา อ.สีคิ้ว จำนวน 506 ราย รักษาหายทั้งหมดแล้ว ส่วนเรือนจำกลางนครราชสีมา ป่วยสะสม 1,946 ราย เหลือแค่เคสสีเขียว 3 รายเท่านั้นที่ยังรักษาตัวอยู่ในเรือนจำ และยังไม่พบ ผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม

เชียงใหม่ใกล้ปิดร.พ.สนาม

ด้าน จ.ภูเก็ต พบผู้ติดเชื้ออีก 56 ราย เสียชีวิต 1 ราย ผู้ติดเชื้อยังคงรักษาตัวในโรงพยาบาล 734 ราย หายป่วยกลับบ้านอีก 102 ราย ยอดรวมผู้ติดเชื้อสะสม 18,639 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตสะสม 140 ราย

ส่วน จ.เชียงใหม่ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 85 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล ทุกประเภท 1,633 ราย และมีผู้เสียชีวิต เพิ่ม 2 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 150 ราย ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อสะสมระลอกเดือนเม.ย. 2564 ทั้งหมด 27,766ราย รักษาหายแล้ว 25,963 ราย ส่วนการตรวจเอทีเค 223 ราย พบผู้มีผลบวก 62 ราย และด้วยจำนวน ผู้ติดเชื้อรายใหม่ และหายป่วยมากขึ้น เตรียมที่จะปิดโรงพยาบาลสนาม

ที่ จ.ลำปาง พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 35 ราย และเสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย เป็นชายอายุ 68 ปี ติดจากกลุ่มคลัสเตอร์เกี่ยวข้าวบ้านสบเติ๋น ต.สบป้าด อ.แม่เมาะ และชายอายุ 64 ปี ชาวบ้านสบเติ๋น เกี่ยวเนื่องกับงานศพ ในหมู่บ้าน เป็นคนป่วยติดเตียงญาติ พานั่งรถเข็ญมาร่วมงานศพและติดเชื้อ จากญาติ

รัฐบาลปลื้มหยุดยาว-เงินสะพัด

วันเดียวกัน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าช่วงวันหยุดยาวต่อเนื่องวันรัฐธรรมนูญ วันที่ 10-12 ธ.ค.นี้ ภาพรวมท่องเที่ยวภายในประเทศไทยกลับมาคึกคัก เม็ดเงินไหลเข้าสู่ภาคท่องเที่ยวแล้วกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากอากาศเย็นลงในหลายพื้นที่ และมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาลผ่านโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3 ทำให้อัตราการเข้าพักในโรงแรมและที่พักสูงขึ้นในหลายพื้นที่

โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า แม้สถานการณ์ ผู้ป่วยติดเชื้อรายวันอยู่ในระดับที่ดีขึ้น สำหรับผู้ป่วยสายพันธุ์โอมิครอน 3 รายของไทย อยู่ในการควบคุมของทีมแพทย์และสาธารณสุข อย่างไรก็ตาม ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ฝากกำชับผู้ประกอบการท่องเที่ยว ศูนย์การค้า ร้านค้า ร้านอาหาร ปฏิบัติตามมาตรการศบค.อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาด หรือคลัสเตอร์ ภาคการท่องเที่ยว ภาคบริการ และในวันที่ 13 ธ.ค. ในการประชุมศบค. คาดว่าจะหารือ เพิ่มเติมสำหรับปรับมาตรการเข้าออกประเทศ และการจัดงานรื่นเริงช่วงเทศกาลปีใหม่

ศบค.ถกปรับแผนรับมือปีใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในวันจันทร์ที่ 13 ธ.ค. เวลา 09.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผอ.ศบค.เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศบค.ชุดใหญ่ ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมีวาระที่สำคัญได้แก่ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 หรือศปก.สธ. จะรายงานสถานการณ์และแนวโน้มการแพร่ ระบาดและผู้ติดเชื้อ ศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือศบค.ส่วนหน้า จะรายงาน ผลการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้

ขณะที่ ศบค.ชุดใหญ่จะพิจารณาแผนการ ให้บริการวัคซีนปี 2565 ที่เสนอโดยศปก. สธ. และเรื่องการปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ ทั่วประเทศ นอกจากนี้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการท่องเที่ยวและกีฬา โดยกระทรวงท่องเที่ยวฯ กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พร้อมด้วยศปก.สธ.จะเสนอให้พิจารณามาตรการป้องกันโรคโควิดในการจัดงานช่วงเทศกาล ปีใหม่ และการปรับมาตรการป้องกันโรคสำหรับการเดินทางเข้าประเทศ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน