ยกเหตุผล4ข้อ
พท.คึก-เปิดตัว
บิ๊กเนมคัมแบ๊ก

รัฐบาลส่อวุ่นอีก ปชป. งัด 4 เหตุผล สกัดพลังประชารัฐ ส่งเลือกตั้งซ่อม 2 จว.ใต้ ชุมพร-สงขลา ยันพรรครัฐบาลไม่ควรแข่งกันเอง ชี้ไม่ใช่แค่มารยาท แต่เป็นเรื่องเสถียรภาพรัฐบาล พรรคกล้าเปิดตัว 2 ผู้สมัครท้าชิง ‘นิพนธ์’ มั่นใจสนามพัทลุง ตระกูล ‘ธรรมเพชร’ ยังอยู่ ปชป. ‘หมอชลน่าน’ อุบ ‘จาตุรนต์’ คัมแบ๊ก แย้มมีหลายคน ให้ติดตามเปิดตัว 14 ธ.ค. ‘พงศ์เทพ’ ยื่นหนังสือลาออกแล้ว ยันวางมือเพราะ อายุมาก ไม่ได้ขัดแย้ง ‘เรืองไกร’ ยื่นร้อง ป.ป.ช.สอบศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจขัด รธน. กรณีวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครอง

นิพนธ์เชื่อ‘ธรรมเพชร’อยู่ปชป.

วันที่ 12 ธ.ค. นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และรักษาการดูแลภาคใต้ กล่าวกรณี นายนิติศักดิ์ ธรรมเพชร เปิดตัวในฐานะว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พัทลุง เขต 2 ในนามพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ทั้งที่ผ่านมามีข่าวจะลงให้พรรค ปชป. ว่า เดิมมีการพูดคุยกันระดับหนึ่งแล้ว แต่พอมีเหตุการณ์ความไม่พอใจกัน ตอนหลังก็ไม่ได้มีการประสานกัน ถือเป็นการตัดสินใจของแต่ละคน แต่เชื่อมั่นว่า น.ส.สุพัชรี ธรรมเพชร อดีตส.ส.พัทลุง ยังมั่นคงกับพรรค และคิดว่าตระกูลธรรมเพชรยังอยู่กับปชป. เพราะนายสุพัฒน์ ธรรมเพชร บิดาของน.ส.สุพัชรี ก็อยู่ ปชป.มา 30 ปีแล้ว

“เมื่อเป็นเช่นนี้พรรคก็ต้องหาคนที่มี ความพร้อม มีความสามารถและเชื่อมั่นในอุดมการณ์พรรค เพราะพัทลุงถือเป็นฐานที่มั่นของปชป. เราก็ต้องหาตัวผู้สมัครที่ดีที่สุดมาทำหน้าที่ ก็มีผู้เสนอตัวมาแล้ว จะพยายามพิจารณาให้รอบคอบที่สุด ยืนยันว่าไม่มีปัญหากับพี่น้องตระกูลธรรมเพชร คนสนามสกุลเดียวกันอยู่คนละพรรคก็มีให้เห็นเยอะแยะ ในที่สุดก็อยู่ที่ประชาชนจะตัดสินใจให้ความไว้วางใจ” นายนิพนธ์กล่าว เมื่อถามว่าปัญหาเกิดจากความไม่พอใจของนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตรองหัวหน้าพรรคและอดีตส.ส.พัทลุง พรรคปชป.หรือไม่ นายนิพนธ์ กล่าวว่า ตนไม่อยากพูดถึงเหตการณ์ที่ผ่านไปแล้ว ไม่อยากหวนกลับไปอีก

อลงกรณ์โพสต์เหน็บ พปชร.

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรค ปชป. โพสต์เฟซบุ๊ก ส่วนตัวเรื่อง “มารยาททางการเมือง และ 4 เหตุผล กรณีพรรคร่วมรัฐบาลไม่ส่งผู้สมัครแข่งกันเองในการเลือกตั้งซ่อม” ซึ่งตรงกับความสนใจของสาธารณชน เนื่องจากจะมีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ชุมพร เขต 1 และ สงขลา เขต 6

นายอลงกรณ์ระบุ คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าเป็นมารยาททางการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาลที่จะหลีกทางให้พรรคเจ้าของที่นั่งเดิมส่งผู้สมัคร ส.ส.โดยไม่แข่งกันเองในการเลือกตั้งซ่อม ความจริงเหตุผลเรื่องมารยาททางการเมือง เป็นเพียงเหตุผลหนึ่งเท่านั้น ยังมีเหตุผลอื่นอีกที่อธิบายว่าทำไมพรรคร่วมรัฐบาล ชุดก่อนๆ จึงไม่ส่งผู้สมัคร ส.ส.แข่งกันเอง จนถือปฏิบัติเป็นธรรมเนียมทางการเมืองสืบต่อกันมา ด้วยเหตุผล 4 ข้อ 1.เป็นการให้เกียรติกันและกันของพรรคร่วมรัฐบาลในฐานะพันธมิตรทางการเมือง 2.เป็นการรักษาที่นั่ง ส.ส.ซีกรัฐบาลในฐานะเสียงข้างมากในสภาเพื่อรักษาเสถียรภาพของรัฐบาล 3.เป็นการสร้างความสามัคคีและความเป็นเอกภาพของรัฐบาล และ 4.เป็นโอกาสโฆษณาผลงานสร้างความนิยมของรัฐบาล และชี้แจงประเด็นต่างๆ ที่ถูกโจมตีจากฝ่ายค้าน ในอดีตจะเห็น ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลไปช่วยหาเสียงให้ผู้สมัครของพรรคร่วม เป็นการแสดงน้ำใจและช่วยสนับสนุนกันและกัน ทำให้เกิดความแน่นแฟ้น








Advertisement

เตือนพปชร.-รัฐบาลปริ่มน้ำ

นายอลงกรณ์กล่าวว่า เกณฑ์พิจารณาว่าพรรคร่วมพรรคใดจะได้สิทธิ์ส่งผู้สมัคร ส.ส.ในการเลือกตั้งซ่อม คือ 1.กรณีเป็นที่นั่งเดิมของพรรคร่วมรัฐบาล จะให้สิทธิ์พรรคที่เป็นเจ้าของที่นั่งเดิมส่งผู้สมัคร และ 2.กรณีเป็นที่นั่งเดิมของพรรคฝ่ายค้าน จะให้สิทธิ์พรรคร่วมรัฐบาลที่ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลส่งผู้สมัคร ซึ่งแนวทางเช่นนี้มิใช่เพียงฝ่ายรัฐบาลที่ยึดถือปฏิบัติ แม้แต่ฝ่ายค้านก็ยึดถือปฏิบัติเป็นส่วนใหญ่ เพราะเป็นโอกาสที่จะวัดความนิยมระหว่างฝ่ายค้านและรัฐบาลอีกทางหนึ่ง

ยิ่งในยุคที่เสียงรัฐบาลผสมเกินกึ่งหนึ่ง ไม่มาก แต่ละเสียงในสภาสำคัญมาก พรรคร่วมรัฐบาลจะช่วยกันรักษาที่นั่งในการเลือกตั้งซ่อมไม่ให้ฝ่ายค้านช่วงชิงไปได้ เพื่อความมีเสถียรภาพของรัฐบาล เพราะการส่ง ผู้สมัครแข่งกันเองจะตัดคะแนนเสียง อาจเพลี่ยงพล้ำฝ่ายค้านได้ง่าย การถือแนวปฏิบัติเช่นนี้จึงเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลผสมโดยรวม พรรคปชป.ยึดถือธรรมเนียมการเมืองเช่นนี้ตลอดมาด้วยการรักษามารยาท และให้เกียรติพรรคร่วมรัฐบาลทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งซ่อม ส่วนพรรคอื่นจะถือปฏิบัติหรือไม่ ไม่ขอก้าวล่วง

ทั้งนี้ การเลือกตั้งซ่อม 2 เขตดังกล่าว เพื่อทดแทน 2 ส.ส.ปชป. อดีตแกนนำ กปปส.ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) มีแนวโน้มส่งผู้สมัครลงแข่ง โดยที่ประชุมกก.บห.พรรคจะมีมติอย่างเป็นทางการ 14 ธ.ค.นี้

ก้าวไกลพร้อมส่งผู้สมัคร

นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล(ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงการส่ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ชุมพร และสงขลา ว่า รอประสานไปยังคณะกรรมการระดับจังหวัดชุมพรและสงขลาของพรรค ก.ก. สัปดาห์นี้คณะกรรมการคงมีความเห็นขึ้นมา หากคณะกรรมการเห็นว่าพร้อมจะลงสมัครเราก็จะส่ง ซึ่ง กก.บห.พรรคสนับสนุนให้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งซ่อม และช่วงที่ผ่านมาเรามีการรับสมัครผู้ที่สนใจลงสมัครส.ส. รวมถึงมีการประเมินการทดลองงาน ฉะนั้น หากคณะกรรมการคิดว่าพร้อม มีความเหมาะสมที่จะส่งเราก็จะส่ง กก.บห.พรรคก็จะมีมติตามนั้น

พรรคกล้าท้าชิงชุมพร-สงขลา

เวลา 10.30 น. ที่ทำการพรรคกล้า ถ.รัชดาฯ นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรค พร้อม ผู้บริหารพรรค เปิดตัว พ.ต.อ.ทศพล โชติคุตร์ หรือผู้กำกับหนุ่ย เป็นว่าที่ผู้สมัครเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 1 จ.ชุมพร และนายพงศธร สุวรรณรักษา หรือทนายอาร์ม ทนายความด้านแรงงานและสิทธิมนุษยชน เป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 6 จ.สงขลา

นายกรณ์กล่าวว่า ทั้ง 2 คนเป็นนักการเมืองเลือดใหม่ เป็นคนท้องถิ่นมีคุณภาพ ไม่เคยลงสมัครที่ไหนมาก่อน แต่มาลงพรรคกล้า เพื่อความเปลี่ยนแปลงการเมืองใน 2 จังหวัดนี้ การเมืองที่ผ่านมาไม่ตอบโจทย์ประชาชนในพื้นที่ จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงการเมือง ขอโอกาสให้กับผู้สมัครหน้าใหม่ของพรรค เพื่อให้การเมืองพ้นจากการผูกขาดของรัฐและอิทธิพลเดิม วันที่ 15 ธ.ค.นี้จะลงพื้นปราศรัย จ.สงขลา ส่วน จ.ชุมพร ปราศรัย 18 ธ.ค.

พท.เปิดตัวสมาชิกใหม่ 14 ธค.

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงการส่งผู้สมัครเลือกตั้งซ่อมส.ส.ใน จ.สงขลา ว่า พรรค พท.กำลังปรึกษาหารือกันอยู่เพื่อให้รอบคอบถี่ถ้วนว่าเราส่งแล้วเราได้อะไร เราเสียอะไร เราจึงยังไม่ได้ตัดสินใจ เพราะถ้าส่งเพื่อเป็นการเปิดตัวอาจไม่คุ้ม สู้เตรียมจะทำงานใหญ่ในไม่กี่เดือนข้างหน้าดีกว่า พรรคคงต้องแถลงอีกครั้งหนึ่งว่าจะส่งหรือไม่ส่งอย่างไร

ส่วนกรณีที่มีข่าวว่านายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กลับมาสมัครเข้าพรรคพท. หัวหน้าพรรคพท. กล่าวว่า จะแถลงข่าวเรื่องคนที่จะมาสมัครเข้าพรรคพร้อมกันทีเดียวในวันที่ 14 ธ.ค.นี้ โดยได้ประสานและพูดคุยกับทั้งอดีตสมาชิกพรรคของเรา ที่มีโอกาสจะกลับมาทำงานร่วมกันอยู่หลายคน ซึ่งได้รับการตอบรับกลับมาอย่างดี ส่วนจะมีใครอย่างไรบ้างอยากให้ติดตาม เพราะพรรคเตรียมแถลงข่าววันที่ 14 ธ.ค.นี้

เสนอกม.ลูกเข้าสภาสัปดาห์นี้

เมื่อถามถึงความคืบหน้ากรณีเสนอร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับของพรรคพท. นพ.ชลน่านกล่าวว่า เราพร้อมแล้ว ความจริงเมื่อ 10 ธ.ค.ที่ผ่านมาก็จบแล้ว เพียงแต่ให้สมาชิกได้ร่วมลงชื่อไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 คือ 47 คน ทั้ง 2 ฉบับ คาดว่าจะสามารถเสนอเข้าสภาได้ในสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ตาม พรรคร่วมฝ่ายค้านได้ประกาศเชิญชวนเลยว่าถ้าพรรคใดที่จะมาร่วมลงชื่อกับพรรค พท. เรายินดี หรือพรรคใดที่สามารถรวบรวมรายชื่อได้เกินหนึ่งใน 10 แล้วจะส่งในนามของตนเอง เราก็ให้เสรีภาพในการเสนอของแต่ละพรรค

พงศ์เทพยื่นลาออกพท.

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา แกนนำพรรค พท. เผยถึงการยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคพท. ว่า ตนเข้ามาอยู่การเมืองนานตั้งแต่ปี 2538 ตั้งใจวางมือเมื่ออายุ 55 ปี แต่เกิดการยึดอำนาจเมื่อปี 49 ทำให้การทำงานการเมืองสะดุดไป เนื่องจากตนถูกเพิกถอนสิทธิจาก กก.บห.พรรคไทยรักไทย 5 ปี ที่ตั้งใจจะทำการเมือง 15 ปีเลยยังไม่ถึงจึงต้องอยู่ต่อ แต่ตอนนี้รู้สึกว่าชราแล้วอายุ 60 กว่า ความเข้มแข็ง สุขภาพไม่เหมือนเดิม รวมถึงได้เห็นนักการเมือง รุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้การเมืองมากขึ้น ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ก็ถึงเวลาวางมือและดูคนรุ่นหลังๆ ทำงานการเมืองต่อไป ซึ่งตนพร้อมให้การสนับสนุน เพียงแต่ไม่ได้ลงไปเล่นเองเท่านั้น

เมื่อถามถึงเหตุที่ตัดสินใจยื่นใบลาออก ไม่ได้เกิดจากเหตุความขัดแย้งใช่หรือไม่ นายพงศ์เทพกล่าวว่า ไม่มี กับพรรค พท.ตนได้เรียนไปก่อนการประชุมใหญ่พรรคที่จ.ขอนแก่นแล้ว แต่ทั้งนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรค พท.ขณะนั้น และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค ขอให้ตนทบทวน เมื่อการประชุมใหญ่ผ่านไปแล้วตนก็ได้ยื่นหนังสืออีกครั้ง ซึ่งเข้าพรรคไปด้วยตัวเอง และยังยืนยันเสมอว่าหากพรรคมีอะไรก็สามารถเรียกใช้ตนได้เสมอ ยินดีให้ความช่วยเหลือทุกอย่างเช่นเดิม

พปชร.ชูเขต-พรรคต่างเบอร์

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประธานคณะกรรมการกฎหมายและข้อบังคับพรรค พปชร. กล่าวถึงความคืบหน้าการยื่นร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ว่า กระบวนการแก้ไขร่างทั้ง 2 ฉบับภายในพรรคเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้นำเรียนหัวหน้าพรรคเพื่อทราบ และส่งให้นายนิโรธ สุนทรเลขา ประธานวิปรัฐบาล สัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อสอบถามความคิดเห็นพรรคร่วมรัฐบาลว่าใครจะร่วมกับพรรคเราบ้าง ส่วนจะเสนอร่างแก้ไขทั้ง 2 ฉบับได้ช่วงใดนั้นต้องรอผลหารือจากทางประธานวิปรัฐบาลก่อน

สาระสำคัญการแก้ไขร่างพ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. เรื่องการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อใช้แนวทางเดียวกับ กกต. แต่กรณีเมื่อรอบแรกแบ่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อแล้วไม่ถึง 100 มีเศษเหลือ เราเขียนให้พรรคที่มีเศษจำนวนมากสุดได้ ส.ส.ไป ซึ่งพรรคนั้นอาจยังไม่เคยได้ ส.ส.เลยก็ได้ ต่างจาก กกต.ที่ให้พรรคที่ได้แบ่ง ส.ส.ไปแล้วมาได้อีก ส่วนเบอร์ผู้สมัครไม่ควรใช้เบอร์เดียวกันทั้งประเทศทั้ง ส.ส.แบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ เมื่อเป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เจตนาเราคือใครต้องการเลือกพรรคก็เลือกเบอร์พรรค ใครเลือกเขตคนใดก็เลือกตามที่ผู้สมัครส.ส.คนนั้นได้

ไพรมารีโหวตเฉพาะ ส.ส.เขต

ส่วนร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง เบื้องต้นปรับปรุงด้วย เช่นเรื่องเขตของตัวแทนพรรคประจำจังหวัด สาขาพรรค จากเดิมใช้เขตเลือกตั้งเปลี่ยนมาเป็นเขตจังหวัด รวมทั้งเขียนว่าถ้ามีสมาชิกในจังหวัดถึง 500 คน ไม่ต้องตั้งเป็นสาขาพรรคก็ได้ ซึ่งกฎหมายเดิมบังคับไว้ ส่วนไพรมารีโหวตอาจทำในเขตจังหวัด เฉพาะส.ส.แบ่งเขต ส่วนส.ส.บัญชีรายชื่อ ควรใช้กระบวนการเปิดให้สมาชิกมีส่วนร่วมเหมือนไปรับฟังความคิดเห็น รวมทั้งปรับลดค่าสมัครสมาชิกตลอดชีพอยู่ที่ 200 บาท

ก้าวไกลยื่นร่างแก้ไขปลายธ.ค.

นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์เรื่องกฎหมายลูกว่า สัปดาห์ที่ผ่านมามีการนำร่างเข้าพิจารณาในที่ประชุม ส.ส. เหลือเพียงแค่เอาความเห็นล่าสุดที่อภิปรายกันไปปรับปรุงร่าง ซึ่งจัดทำได้ 90 กว่าเปอร์เซ็นต์แล้ว คาดว่าสัปดาห์หน้าน่าจะเสร็จ ซึ่งพรรคก้าวไกลน่าจะพร้อมยื่นต่อสภาปลายธ.ค.นี้ เรื่องวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชี รายชื่อ ไม่น่าจะใช่ประเด็นหลักแล้ว ประเด็นหลักน่าจะเป็นการทำให้ระบบการเลือกตั้งเป็นธรรมมากขึ้น เพิ่มกลไกการตรวจสอบ หรือความรับผิดของผู้จัดการเลือกตั้งมากขึ้น ไม่ใช่มุ่งเน้นแต่การตรวจสอบและการรับผิดของผู้สมัคร ที่ผ่านมา กกต.กลายเป็นปัญหาสำคัญในการจัดการเลือกตั้ง โดยที่เราแทบไม่เห็นกลไกในการรับผิด เช่น มีบัตรเขย่ง แต่แค่สั่งจัดการเลือกตั้งใหม่ในหน่วย

สำหรับ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ไม่ใช่แก้เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งเท่านั้น เราจะแก้ไขในส่วนที่มุ้งเน้นส่งเสริมให้เกิดพรรคของประชาชนที่เข้มแข็ง จัดตั้งได้ง่าย ยุบยากหรือยุบไม่ได้เลย เรื่องไพรมารีโหวต ที่เสนอจะเป็นกระบวนการส่งเสริมให้เกิดกลไกประชาธิปไตยภายในพรรคมากกว่าบังคับให้ทำเหมือนๆ กันหมด ไพรมารีโหวตควรมี แต่ควรเป็นพัฒนาการของแต่ละพรรคและรูปแบบอาจต่างกัน

เด็กพปชร.ยื่นป.ป.ช.สอบศาลรธน.

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรค พปชร. เผยว่า ได้อ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 19/2564 ทั้งส่วนกลางและส่วนตนโดยละเอียด มีกรณีต้องขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อาจใช้อำนาจขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสองหรือไม่ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 19/2564 (กลาง) ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ที่สั่งการให้ผู้ถูกร้อง และกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการในอนาคต รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง ไม่มีข้อความใดบัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำในอนาคตใด อีกทั้งวินิจฉัยไปถึงกลุ่มองค์กรเครือข่าย ซึ่งไม่รู้ว่าคือใคร และไม่ใช่คู่กรณีหรือผู้ถูกร้อง จึงมีปัญหาควรตรวจสอบว่า คำสั่งห้ามกระทำในอนาคต โดยอ้างมาตรา 49 วรรคสอง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งการให้เลิกการกระทำที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้นั้นชอบหรือไม่

สงสัยตัดสินคดีล้มล้างขัดรธน.

พิจารณามาตรา 49 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.ป.วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 และข้อกำหนดศาลฯ ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2562 จะเห็นว่ามีเฉพาะกรณีตามความใน พ.ร.ป.วิธีพิจารณาฯ มาตรา 74 ซึ่งศาลอาจกำหนดให้มีผลในอนาคต หรืออาจกำหนดเงื่อนไข หรือมาตรการในการบังคับ ตามความจำเป็นหรือสมควร ตามความเป็นธรรมแห่งกรณีเท่านั้น คำสั่งดังกล่าวจึงมีปัญหาว่าอาจไม่เป็นไปตามมาตรา 74 อีกด้วย

จึงต้องส่ง ป.ป.ช. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 (1) ตรวจสอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรณีมีคำวินิจฉัยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการมีคำสั่งห้ามกระทำการในอนาคต โดยอ้างอำนาจตามมาตรา 49 วรรคสอง ว่าใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง และพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาฯ มาตรา 7 (3) มาตรา 73 และมาตรา 74 หรือไม่ และขัดต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง และขัดต่อมาตรา 188 หรือไม่ วันที่ 13 ธ.ค.จะส่งคำร้องไปถึง ป.ป.ช. ทางไปรษณีย์อีเอ็มเอส

กมธ.กาสิโนยันทำประชามติ

นายชัยชนะ เดชเดโช รองโฆษกพรรคปชป. ในฐานะรองประธานกมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงแบบ ครบวงจร ในรูปแบบเอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ กล่าวถึงการทำงานของกมธ.วิสามัญ เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาและศึกษาเกี่ยวกับการพนันว่า เรื่องการพนันมีความจำเป็นที่ต้องปฏิรูปทุกมิติ การตั้งเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ในไทย เป็นการลดปัญหาการนำเงินไหลออกนอกประเทศ ส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยว ร้านอาหารและโรงแรมที่พัก ให้กลับมาคึกคักและมีเงินหมุนเวียนภายในประเทศอีกจำนวนมาก แต่ต้องฟังเสียงประชาชนซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง

การทำงานของกมธ.จึงต้องละเอียดรอบคอบ จำเป็นต้องเชิญแต่ละฝ่ายมาให้ข้อมูลและข้อคิดเห็น ชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียและผลกระทบ และสุดท้ายหากต้องตัดสินใจจริงๆ กรณีแบบนี้ถือว่าเข้าข่ายตามมาตรา 166 ของรัฐธรรมนูญ และมาตรา 9 วรรคสอง (4) พ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ.2564 ต้องให้ประชาชนทั้งประเทศตัดสินใจจะให้มีหรือไม่

ปชป.เคาะวันนี้-เอ้ชิงผู้ว่าฯ กทม.

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค ปชป. ดูแลกทม. กล่าวถึงการประชุมกก.บห.พรรค เพื่อพิจารณาผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ว่า วันที่ 13 ธ.ค.นี้ ตนจะเสนอชื่อ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ให้ที่ประชุม กก.บห.พรรคพิจารณา เชื่อมั่นจะให้การสนับสนุนนาย สุชัชวีร์ ลงสมัคร นอกจากนี้ ตนจะเสนอชื่อผู้สมัคร ส.ก. 50 คน 50 เขต ที่ผ่านคณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร ส.ก. มาแล้ว ให้ กก.บห.พรรค พิจารณาด้วยเช่นกัน ก่อนจะเปิดตัวผู้สมัคร ส.ก.อย่างเป็นทางการ โดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ เลขาธิการพรรค วันที่ 14 ธ.ค.

นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก.ก. กล่าวถึงการเปิดตัวผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ของพรรค ว่า ขอให้รอดูทีเดียวตอนคิกออฟเปิดตัวกลาง ม.ค. เป็นต้นไป เป็นบุคคลที่เป็นที่รู้จักแน่นอน และครั้งนี้จะแข่งขันกันสูงและเข้มข้น มีผู้สมัครหลายทีม ไม่ว่าจะเป็นจากพรรค ก.ก. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง และอาจมีคนของพรรคพลังประชารัฐที่ไม่ใช่ พล.ต.อ.อัศวิน รวมถึงผู้สมัครจากพรรค ปชป. อีกทั้งไม่แน่ใจว่าพรรคกล้ากับพรรคไทยสร้างไทยจะส่งผู้สมัครหรือไม่ และอาจมีผู้สมัครอิสระอื่นๆ อีกด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน