คลองยาวนับร้อยกม.
ไม่ตำนํ้าพริกละลาย

แจงยิบ ‘บิ๊กป้อม’ ยันโครงการฟื้นฟูคลองแสนแสบมูลค่า 8.2 หมื่นล้านบาท ไม่ได้ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ แต่เนื่องจากเป็นลำคลองที่ทอดยาวจากกรุงเทพฯไปถึงฉะเชิงเทรา จึงวางระบบการจัดการ ทั้งบำบัดน้ำเสีย เส้นทางสัญจร เขื่อนกั้นและทางเดินริมคลอง ด้านปลัดกทม.ระบุเป็นแผนหลักการพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมมีเป้าประสงค์ 5 ด้าน 84 โครงการ

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายเจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาวิพากษ์วิจารณ์มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ที่อนุมัติงบประมาณรวม 8.2 หมื่นล้านบาท ในการฟื้นฟูคลองแสนแสบ ระยะเวลาตั้งแต่ปีพ.ศ.2564-2574 ว่าเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำหรือไม่ ว่า คลองแสนแสบยาวเกือบ 100 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างแม่น้ำบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ถึงแม่น้ำเจ้าพระยา โครงการดังกล่าวช่วยจะระบายน้ำที่เสียอยู่ รวมถึงยังเป็นเส้นทางสัญจรของประชาชน

ส่วนเรื่องงบประมาณเป็นของกระทรวงมหาดไทยกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่จะทำโครงการบำบัดน้ำเสียได้วันละ 1.3 แสนลิตร น้ำจะได้ไม่ดำ นอกจากนี้ ยังจะสร้างเขื่อนและทางเดินริมคลองตลอดระยะทาง 100 กิโลเมตร โครงการนี้ใช้เวลา 11 ปี ใช้งบประมาณตกปีละ 7 พันกว่าล้านบาท เมื่อถามว่า มั่นใจหรือไม่ว่าโครงการดังกล่าวจะทำให้น้ำกลับใส พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “วันนี้น้ำก็ดีขึ้นเรื่อยๆ และมันดีขึ้นเยอะแล้ว”

ที่ศาลาว่าการกทม. นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายฟื้นฟูคลองแสนแสบอย่างเร่งด่วน โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันกำหนดแผน เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. คณะรัฐมนตรี เห็นชอบกรอบแนวทางการพัฒนาคลองแสนแสบ โดยแผนหลักการพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ มีเป้าประสงค์ 5 ด้าน 84 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 82,563 ล้านบาท

ปลัดกทม.เปิดเผยว่า โครงการนี้ ประกอบด้วย โครงการด้านเสริมสร้างความปลอดภัยในการสัญจรทางน้ำ อาทิ การพัฒนาระบบขนส่งทางน้ำ การพัฒนาด้านกายภาพ ก่อสร้างท่าเรือ จัดหาเรือ ไฟฟ้า และบริหารจัดการเดินเรือ โครงการด้านปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณคลอง ทำความสะอาด จัดระเบียบริมคลอง การจัดระเบียบโครงสร้างพื้นฐาน และภูมิทัศน์ริมคลอง โครงการด้านการแก้ปัญหามลภาวะและคุณภาพน้ำ อาทิ การบังคับใช้กฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางน้ำ การทำความสะอาดคลองและจัดระเบียบพื้นที่ในคลอง ก่อสร้างรวบรวมระบบน้ำเสีย การก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนขนาดใหญ่

นอกจากนี้ ยังมีโครงการด้านป้องกันปราบปรามการบุกรุกทรัพยากร อาทิ สำรวจสิ่งก่อสร้างหรืออาคารต่างๆ ที่รุกล้ำลำคลองแสนแสบ คลองสาขา การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และโครงการด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ อาทิ บริหารจัดการน้ำ การปรับปรุงเพิ่มประสิทธิ ภาพการระบายน้ำ การก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำ ก่อสร้าง เขื่อนป้องกันตลิ่ง

โดยแบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ระยะ ระยะเร่งด่วน 2564 ระยะกลาง 2565-2570 ระยะยาว 2571-2574 โดยในส่วนของกทม. มีประมาณ 32 โครงการ ใน 5 ด้านดังกล่าว ซึ่ง กทม.จะทยอยเขียนโครงการ ก่อนเสนอผู้ว่าฯกทม. ให้ความเห็นชอบ จากนั้นจึงจะเสนอโครงการต่อรัฐบาล เพื่อขอจัดสรรงบประมาณมาดำเนินการต่อไป








Advertisement

ด้าน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า ต้องประชุมหารือรายละเอียดกันอีกทีก่อน

ก่อนหน้านี้ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมครม. เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ว่า ครม.เห็นชอบแผนหลักการพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ ระยะเวลา 11 ปี (พ.ศ.2564-2574) จำนวน 84 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 82,563 ล้านบาท ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเสนอ ซึ่งเป็นการสนองพระบรมราโชบายในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาดูแลแหล่งน้ำลำคลอง

โดยแผนฉบับนี้มุ่งแก้ปัญหาน้ำเสียในคลองแสนแสบที่เป็นปัญหาอย่างมาก น้ำเสียส่วนใหญ่ร้อยละ 70 เกิดจากกิจกรรมชุมชนบริเวณริมคลอง รองลงมาเกิดจากโรงงานและสถานประกอบการ ในปี 2563 มีปริมาณน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดถูกปล่อยลงคลองแสนแสบและคลองสาขารวม 807,672 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน มีค่าเฉลี่ยความสกปรกหรือบีโอดี (BOD) อยู่ระหว่าง 6.9-12.2 มิลลิกรัมต่อลิตร (แหล่งน้ำที่มีค่าบีโอดีมากกว่า 8 มิลลิกรัมต่อลิตร ถือเป็นแหล่งน้ำที่มีมลพิษอย่างรุนแรง)

สำหรับ ปัญหาน้ำเสียในคลองแสนแสบ ไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบถึงแม่น้ำบางปะกงในจังหวัดฉะเชิงเทราด้วย เนื่องจากคลองแสนแสบมีความยาวตลอดสายประมาณ 74 ก.ม. อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร 47.5 ก.ม. และจังหวัดฉะเชิงเทรา 26.5 ก.ม.

น.ส.รัชดากล่าวว่า ขณะที่วิสัยทัศน์ของแผนพัฒนาฟื้นฟู คือเพื่อให้คลองแสนแสบกลับมามีระบบนิเวศอยู่ในเกณฑ์ดี มีระยะเวลาดำเนินการ 11 ปี แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน (พ.ศ.2564) ระยะกลาง (พ.ศ.2565-2570) และระยะยาว (พ.ศ.2571-2574) ซึ่งจะดำเนินการโดย 8 หน่วยงาน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กรมชลประทาน จังหวัดฉะเชิงเทรา องค์การจัดการน้ำเสีย กรมเจ้าท่า กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ และกรมโรงงานอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ จะขับเคลื่อนภายใต้ 5 เป้าประสงค์ คือ 1.การเสริมสร้างความปลอดภัยในการสัญจรทางน้ำของประชาชน 2.การปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บริเวณคลองแสนแสบ 3.การแก้ไขปัญหามลภาวะและคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบ

4.การป้องกันปราบปราม การบุกรุกทำลายทรัพยากรในคลองแสนแสบ 5.การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในคลองแสนแสบ รวม 84 โครงการ อาทิ โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมน้ำเสีย โครงการก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสีย โครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย โครงการก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามคลองแสนแสบ โครงการเดินเรือคลองแสนแสบส่วนต่อขยายระยะทาง 10 กิโลเมตร โครงการต่อเรือไฟฟ้า 12 ลำ และการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางน้ำ เป็นต้น

น.ส.รัชดากล่าวต่อว่า แหล่งที่มาของงบประมาณแผนพัฒนาฟื้นฟูรวม 82,563 ล้านบาท มาจาก 1.งบประมาณแผ่นดิน ร้อยละ 81.40 2.งบประมาณกทม. ร้อยละ 3.50 และ 3.เงินจากเอกชนร่วมลงทุน (PPP) ร้อยละ 15.10 สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับจากแผนพัฒนาฟื้นฟู อาทิ การแก้ไขปัญหามลภาวะและคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบอย่างครบวงจร สร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียรวม 39 แห่ง รองรับการบำบัดน้ำเสียในคลองแสนแสบได้ 1,364,525 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน

การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในคลองแสนแสบ โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สามารถเร่งการระบายน้ำผ่านอุโมงค์ระบายน้ำได้ 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และเขื่อนป้องกันตลิ่ง 33.32 กิโลเมตร ช่วยเพิ่มพื้นที่ที่ได้รับการป้องกันน้ำท่วม 96,875 ไร่

ส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา มีสถานีสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำและปรับปรุงคลอง ช่วยให้คลองระบายน้ำได้ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ช่วยเพิ่มพื้นที่ที่ได้รับการป้องกันน้ำท่วม 15,625 ไร่ และการพัฒนาระบบขนส่งและความปลอดภัยทางน้ำ มีท่าเทียบเรือเพิ่มขึ้นครอบคลุมคลองแสนแสบใน กทม. ทั้งสาย โดยใช้เรือไฟฟ้ารองรับการใช้บริการ 800-1,000 คนต่อวัน พร้อมติดตั้งกล้องวงจรปิดในท่าเรือ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน