3จังหวัดใหญ่ก็ให้ปิดด้วย
สธ.ห่วงร้านกึ่งผับแพร่เชื้อ
ชงศบค.เลื่อนเทสต์แอนด์โก
ถึงสิ้นมค.-รอประเมินอีกที

ปิดโรงเรียนกรุง ให้เรียนออนไลน์ ป้อง ‘โอมิครอน’ ระบาดในกรุงเทพฯ ขณะที่ ‘เชียงใหม่-อุบลฯ-ขอนแก่น’ ก็สั่งปิดร.ร.แล้ว สธ.ห่วงคลัสเตอร์จากร้านอาหารกึ่งผับ เตือนนักเที่ยวตรวจเอทีเคด้วย อนุทินเผยเตรียมชงศบค.สั่งเลื่อนเปิดเทสต์แอนด์โกไปถึงสิ้นม.ค. ส่วนที่ขอเข้าไทยมีเดดไลน์ถึง 10 ม.ค. อย.ฮึ่มฟันโฆษณาเกินจริง เอทีเคตรวจได้ยันสายพันธุ์โควิด

โควิด-ป่วยใหม่ 2.9 พัน-ดับ 18

เมื่อวันที่ 3 ม.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์ โควิด-19 ประจำวันว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อใหม่ 2,927 ราย สะสม 2,232,485 ราย หายป่วย 2,903 ราย สะสม 2,177,633 ราย เสียชีวิต 18 ราย สะสม 21,738 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 33,114 ราย มีอาการหนัก 556 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 148 ราย โดยอันดับที่ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ 1.กทม. 358 ราย สะสม 441,328 ราย 2.ชลบุรี 351 ราย สะสม 114,105 ราย 3.อุบลราชธานี 206 ราย สะสม 23,299 ราย 4.ขอนแก่น 143 ราย สะสม 24,665 ราย 5.เชียงใหม่ 97 ราย สะสม 29,305 ราย

ขณะที่การติดเชื้อมาจากเรือนจำ 21 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 168 ราย โดยเข้าระบบ Test&Go 112 ราย แซนด์ บ็อกซ์ 31 ราย และระบบกักตัว 25 ราย ส่วนผู้เดินทางเข้าประเทศ วันที่ 1-2 ม.ค.2565 มี 16,989 คน ติดเชื้อ 313 คน คิดเป็น 1.84% ได้แก่ ระบบ Test&Go 10,102 คน ติดเชื้อ 207 คน คิดเป็น 2.05% แซนด์บ็อกซ์ 5,721 คน ติดเชื้อ 62 คน คิดเป็น 1.08% และกักตัว 1,166 คน ติดเชื้อ 44 คน คิดเป็น 3.77% (กักตัว 7 วัน 901 คน กักตัว 10 วัน 236 คน และกักตัว 14 วัน 29 คน) โดยเข้ามาผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 9,396 คน ท่าอากาศยานดอนเมือง 8 คน ท่าอากาศยานภูเก็ต 7,151 คน ท่าอากาศยานสมุย 423 คน และ ท่าอากาศยานอื่นๆ 11 คน

สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 วันที่ 2 ม.ค. ฉีดเพิ่มขึ้น 19,692 โดส สะสม 104,491,859 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 51,305,090 ราย คิดเป็น 71.2% ของประชากร เข็มสอง 46,161,437 ราย คิดเป็น 64.1% ของประชากร และเข็มสาม 7,025,332 ราย คิดเป็น 9.8% ของประชากร

พบโอมิครอนแล้ว 1,780 ราย

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่ากรมวิทยา ศาสตร์การแพทย์รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อ โควิดสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มขึ้น 229 ราย สะสม 1,780 ราย กทม.ยังพบมากที่สุด ตามด้วยกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ชลบุรี และภูเก็ต

นายอนุทินยังกล่าวถึงข้อสั่งการให้เลื่อนมาตรการ Test&Go ว่า ทั่วโลก พบการติดเชื้อโอมิครอนเพิ่มขึ้น ทำให้เราต้องประกาศชะลอการเดินทางเข้าประเทศระบบ Test&Go เพื่อประเมินสถานการณ์จนถึงวันที่ 4 ม.ค. แต่ขณะนี้เรายังพบผู้เดินทางเข้าประเทศติดเชื้อโอมิครอนต่อเนื่อง ซึ่งวันนี้ในที่ประชุม EOC ของสธ.ให้ความเห็นว่า สธ.จะเสนอต่อศบค.พิจารณาเลื่อนมาตรการ Test&Go เพื่อประเมินสถานการณ์ไปจนถึงสิ้นม.ค. เพื่อความปลอดภัยของคนในประเทศ

ซึ่งจะเสนอ ศบค.พิจารณาเห็นชอบทันที สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนมาก่อนหน้านี้ ต้องขอความร่วมมือว่า หากต้องการใช้สิทธิตามที่ลงทะเบียน จะต้องเดินทางเข้ามาภายในวันที่ 10 ม.ค.นี้ ถือเป็นเดดไลน์ หลังจากนั้น ทุกคนหากใครต้องการเข้าไทย จะต้องเข้าระบบแซนด์บ็อกซ์ภูเก็ต หรือระบบกักตัวเท่านั้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจ

ห่วงร้านอาหารกึ่งผับแพร่เชื้อ

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ. กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์พบจุดที่น่าเป็นห่วงคือ การแพร่ระบาดลักษณะคลัสเตอร์ในหลายจังหวัดที่มีร้านอาหารกึ่งผับเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อ จากการติดตามสอบสวนโรคพบว่าร้านเหล่านี้ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting ระบบระบายอากาศไม่ดี จัดที่นั่งแออัด ไม่เว้นระยะห่าง พนักงานไม่สวมหน้ากาก จำหน่ายสุราและแสดงดนตรี จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ซึ่งหลังเทศกาลปีใหม่ คนกลุ่มนี้อาจได้รับเชื้อโควิด-19 และเมื่อกลับมาเรียนหรือทำงานอาจนำเชื้อมาแพร่กระจายต่อได้

“ดังนั้น ก่อนเดินทางกลับขอให้ตรวจคัดกรองด้วยแอนติเจน เทสต์ คิต หรือ เอทีเค (ATK) และควรทำงานที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน แต่หากต้องเริ่มปฏิบัติงานทันทีขอให้ตรวจเอทีเคก่อนเข้าทำงาน และสัปดาห์แรกให้ตรวจ 2 ครั้งห่างกันอย่างน้อย 3 วัน เฝ้าระวังอาการจนครบ 14 วัน และงดรวมกลุ่มพูดคุย/รับประทานอาหาร หากเกิดการติดเชื้อในโรงงานไม่จำเป็นต้องปิด แต่ให้ใช้มาตรการ Bubble & Seal ไม่ให้แพร่กระจายเชื้อออกไปภายนอก” ปลัดสธ.กล่าว

ฮึ่มฟันโฆษณาตรวจโอมิครอน

ด้าน นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า จากกรณีพบโฆษณาขายชุดตรวจเอทีเค ในเว็บไซต์อ้างสรรพคุณตรวจหาเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนได้นั้น เข้าข่ายเป็นการโฆษณาที่ผิด โฆษณาเกินจริง โดยจะต้องเรียกบริษัทต้นทางที่ผลิตมาพูดคุยถึงขอบเขตของการโฆษณา

เนื่องจากการใช้ชุดตรวจเอทีเคเป็นเพียงการ คัดกรอง หรือตรวจหาการติดเชื้อเบื้องต้นเท่านั้น แต่ไม่สามารถบอกถึงสายพันธุ์ได้ว่าเป็นสายพันธุ์อะไร ถ้าโฆษณาแบบนี้จะทำให้ประชาชนเข้าใจผิดได้ โดย อย.ส่งหนังสือไปยังบริษัทที่ผลิตชุดตรวจเอทีเคว่า ไม่ให้ทำเช่นนั้น สำหรับชุดตรวจที่ ผ่านอย. ไม่ว่าจะติดเชื้อสายพันธุ์ไหนก็ตรวจเจอ แม้ไม่ได้ระบุสายพันธุ์ ซึ่งผลก็ไม่ต่างกัน และตรวจสอบ ทดลอง ทุกยี่ห้อที่นำเข้ามา

ตรวจเข้ม – ตำรวจ สภ.บางละมุงพร้อมจนท.ฝ่ายปกครอง สนธิกำลังตรวจตราสถานบันเทิงในโซนตลาดรีทาวน์ พัทยา จ.ชลบุรี พร้อมกำชับให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดอย่างเคร่งครัด เมื่อวันที่ 3 ม.ค.

ชลบุรีผวาโอมิครอนในพัทยา

ที่จ.ชลบุรี สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ชลบุรี รายงาน พบผู้ติดเชื้อโควิด – 19 รายใหม่ 351 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ยอดสะสม ผู้เสียชีวิตสะสม 794 ราย ยังพบผู้ติดเชื้อกระจาย 9 อำเภอ วันนี้พบผู้ติดเชื้อที่มากที่สุดที่อ. บางละมุง 264 ราย เมืองชลบุรี 25 ราย ศรีราชา 19 ราย พานทอง 7 ราย พนัสนิคม 9 ราย สัตหีบ 14 ราย บ้านบึง 6 ราย หนองใหญ่ 1 ราย โดย ผู้ติดเชื้อมาจากคลัสเตอร์ที่ตรวจเชิงรุก ร้านอาหารและเครื่องดื่มที่จำหน่ายแอลกอฮอล์ พื้นที่พัทยา อ.บางละมุง 67 ราย สะสมแล้วถึง 163 ราย และยังพบคลัสเตอร์ตรวจเชิงรุก ร้านอาหารและเครื่องดื่มที่จำหน่ายแอลกอฮอล์ พื้นที่บางแสน หาดวอนนภา อ.เมืองชลบุรี 3 ราย สะสม 3 ราย

นพ.อภิรัต กตัญญุตา สสจ.ชลบุรี เปิดเผยว่า สุ่มตรวจโควิดที่ระบาดในอ.บางละมุง พบสายพันธุ์โอมิครอนเกินกว่าร้อยละ 80 ในช่วงนี้ และยังระบาดอย่างรวดเร็ว จึงขอความร่วมมือประชาชนในอ.บางละมุงดังนี้ ผู้ที่มีประวัติเดินทางไปยังร้านอาหารจำหน่ายสุรา หรือเข้าไปบริเวณตลาดทรีทาวน์ ซอยบัวขาว วอล์กกิ้งสตรีต หรือได้เข้าไปบริเวณที่แออัด เบียดเสียด อากาศไม่ถ่ายเท หรือมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ ให้ตรวจเอทีเคด้วยตนเอง หรือไปตรวจที่ศาลาประชาคม อ.บางละมุง

โดยตรวจ 2 ครั้ง ครั้งแรกและอีก 5 วัน ผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อโควิดหากฉีดวัคซีนครบให้กักตัวอยู่บ้าน 7 วัน ถ้าฉีดวัคซีนไม่ครบให้กักตัว 14 วัน ทั้งนี้ขอความร่วมมือให้ทุกท่านปฏิบัติตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคอย่างเคร่งครัดทั้งส่วนบุคคลและสถานประกอบการ ขอความร่วมมือประชาชนทุกท่านฉีดวัคซีนให้ครบ

อุบลฯสั่งเรียนออนไลน์

ที่จ.อุบลราชธานี คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอุบลราชธานี มีมติจากการระบาดของโควิดที่ยังคงรุนแรง โดยให้โรงเรียนทุกระดับกลับไปเรียนออนไลน์ถึงวันที่ 17 ม.ค. ขณะเดียวกันยังมีคำสั่งให้ปิดโรงภาพยนตร์ไปจนถึงวันที่ 17 ม.ค. และไม่ให้นั่งกินอาหารในห้องแอร์ ขอให้ซื้อกลับบ้าน เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อที่ลุกลามขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย

นายนคร ศิริปริญญานันท์ นายอำเภอเมืองอุบลราชธานี พร้อมคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่ออำเภอเมือง นำหลักฐานเข้าแจ้ง สภ.เมืองอุบลราชธานี ให้ดำเนินคดีกับผู้ประกอบการร้านอาหารกึ่งผับเอกมัย 487 ข้อหาฝ่าฝืนประกาศ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ 2558 จากกรณีไม่ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ทั้งการเว้นระยะห่าง ปล่อยให้นักเที่ยวเข้าไปรวมกันจำนวนมาก จนเกิดการระบาดของโควิด 19 เป็นวงกว้างไปแล้ว 22 อำเภอจาก 25 อำเภอ

โดยวันนี้มีผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก 84 คน รวมมีผู้ป่วยตั้งแต่เกิดการระบาดเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.ถึงปัจจุบัน 619 คน มีกลุ่มเสี่ยงถึง 1,685 คน และจากการสุ่มตัวตรวจอย่าง ผู้ติดเชื้อ 3 ครั้ง 16 ตัวอย่าง พบเป็นสายพันธุ์โอมิครอนทั้ง 16 คน คิดเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ของการตรวจ สำหรับอำเภอที่พบผู้ป่วยติดเชื้อสูงสุดคือ อ.เมือง 412 คน รองลงมาเป็นอ.วารินชำราบ 62 คน และอ.เหล่าเสือโก้ก 33 คน

ผัวเมียกาฬสินธุ์ทำลาม 195 ราย

ศบค.กาฬสินธุ์ รายงานสถานการณ์พบผู้ป่วยใหม่วันนี้ 40 ราย เป็นผู้ป่วยคลัสเตอร์สายพันธุ์โอมิครอน เชื่อมโยงกับสองสามีภรรยากลับจากต่างประเทศ และร้านอาหารกึ่งผับในตลาดโรงสี 11 ราย การระบาดเชื่อมโยงในสถานศึกษา ใน อ.นามน 11 ราย การระบาดในสถานศึกษา อ.ห้วยเม็ก 6 ราย พบจากสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน 3 ราย และมาจากพื้นที่เสี่ยง 9 ราย จ.กาฬสินธุ์มีผู้ป่วยสะสม 10,925 ราย หายป่วยแล้ว 10,372ราย กำลังรักษา 480 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสมเท่าเดิม 73 ราย

นพ.อภิชัย ลิมานนท์ สสจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สำหรับกรณีคลัสเตอร์ที่เชื่อมโยงกับสองสามีภรรยากลับจากต่างประเทศ และร้านอาหารกึ่งผับในตลาดโรงสี จากการสอบสวนโรคของเจ้าหน้าที่อย่างละเอียด พบผู้ป่วยคลัสเตอร์นี้แล้วรวม 235 ราย และเชื่อมโยงไปยังงานแสดงดนตรีหาดแสงจันทร์ อ.สหัสขันธ์อีก 16 ราย รวม 251 ราย

โดยล่าสุดมีรายงานว่า ผลตรวจยืนยันของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นโควิดสายพันธุ์โอมิครอน 195 ราย ซึ่งเจ้าหน้าที่กำชับให้ประชาชนอย่าได้ประมาทต้องปฏิบัติตามมาตรการและคำสั่งของจังหวัดอย่างเคร่งครัด

ขอนแก่นงดจัด‘วันเด็ก’

นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ จ.ขอนแก่น มีมติยกระดับมาตรการควบคุมและป้องกันโควิดเข้มงวดมากยิ่งขึ้น โดยมีคำสั่งปิดโรงเรียนหรือสถานศึกษาในทุกระดับและทุกสังกัด รวมทั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทุกแห่งและทุกสังกัด ไปจนถึงวันที่ 14 ม.ค. โดยให้จัดกระบวนการการเรียนการสอนตามที่ กระทรวงศึกษาธิการกำหนดในรูปแบบของออนไลน์แทน และยังคงขอความร่วมมือไปยังภาคเอกชนพิจารณาดำเนินการตามมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ หรือสถานประกอบการและสถานที่อื่นๆ หรือ Work From Home เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ไปจนถึงวันที่ 14 ม.ค. รวมไปถึงการงดจัดกิจกรรมงานวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2565 อย่างเด็ดขาด

นพ.ภาคี ทรัพย์พิพัฒน์ สสจ.ขอนแก่น เผยว่า วันนี้ขอนแก่นพบผู้ติดเชื้อโควิด 232 ราย ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการสอบสวนโรคทำให้ยังไม่มีการระบุสายพันธุ์

ที่จ.นครราชสีมา คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 23 ราย เป็นการติดเชื้อนอกพื้นที่ 4 ราย ประกอบด้วย จ.ชลบุรี 2 ราย จ.เพชรบูรณ์ 1 ราย และประเทศฝรั่งเศส 1 ราย และติดเชื้อในพื้นที่ 19 ราย รักษาหาย 33,609 ราย รักษาอยู่ 474 ราย รวมป่วยสะสม 34,364 ราย เสียชีวิตรายใหม่ 1 ราย เป็นหญิง อายุ 98 ปี ต.ลำคอหงษ์ อ.โนนสูง ประวัติมีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง,ไตวายเรื้อรัง เสียชีวิตสะสม 281 ราย

ทั้งนี้พบผู้ป่วยสายพันธุ์ โอมิครอนเพิ่ม 2 ราย เป็นหญิง อ.บัวใหญ่ ทำงานบริษัทในพื้นที่พัทยา จ.ชลบุรี รายที่ 2 เป็นหญิง อ.ครบุรี ประวัติสัมผัสเพื่อนที่ป่วยโอมิครอน รวมป่วยสะสม 11 ราย ทั้งหมดอยู่ในการควบคุมของแพทย์ยังไม่พบอาการแทรกซ้อน อยู่ในเกณฑ์สีเขียว

ระยองเจอโอมิครอนอีก 4

นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผวจ.เชียงใหม่ ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ลงนามคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ที่2/2565 เรื่อง มาตรการชะลอการเปิดเรียนของสถานศึกษาทุกประเภทในรูปแบบปกติ ให้เป็นรูปแบบอื่นตามความเหมาะสม ตั้งแต่วันที่ 4 – 9 ม.ค. และขอให้หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานของรัฐ รวมถึงเจ้าของสถานประกอบการ พิจารณาสั่งการให้ข้าราชการ พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลในความรับผิดชอบ ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง หรือเวิร์กฟรอมโฮม เพื่อลดจำนวนการเดินทาง ในระหว่างวันที่ 4-14 ม.ค. โดยให้ทุกส่วนราชการ สถานประกอบการ ตลาดทุกแห่ง ตรวจหาเชื้อโควิดแบบเอทีเค 2 ครั้ง คือครั้งแรกในวันที่ 4 ม.ค. และครั้งที่สองในวันที่ 10 ม.ค.รวมถึงให้ทุกหน่วยปฏิบัติตามมาตรการปลอดภัยองค์กรอย่างเคร่งครัด

กทม.สั่งเรียนออนไลน์ป้องระบาด

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้พื้นที่ และจังหวัดเป็นผู้ตัดสินใจ ว่าควรจะจัดการเรียนการสอนอย่างไรหลังจากหยุดยาวปีใหม่ โดยให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และผู้อำนวยการโรงเรียน วินิจฉัยร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด พิจารณาว่าจะจัดการเรียนการสอนอย่างไร เช่น ควรให้งดเรียนออนไซต์ 1 สัปดาห์ และเรียนรูปแบบอื่นๆ แทน ทั้งนี้จากที่รับรายงานมาทราบว่า มีสถานศึกษาในกรุงเทพฯ ที่ประกาศเรียนออนไลน์ทั้งหมด เพราะมีความเสี่ยงเนื่องจากมีนักเรียน ผู้ปกครองเดินทางกลับจากต่างจังหวัดจำนวนมาก

นายบัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า จากการประชุม ทปอ. ครั้งที่ผ่านมา ที่ประชุมหารือถึงหลักการในการจัดการเรียนการสอนหลังหยุดยาวปีใหม่ไว้บ้าง โดยเห็นว่าหากสถานการณ์ไม่รุนแรงก็อาจจะจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ ออนไซต์ได้ แต่ต้องเตรียมตัวรับมือไว้ด้วย หากมีการระบาดเพิ่มขึ้น จะจัดการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ ทั้งนี้ต้องดูสถานการณ์ และดูนโยบายจากกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ด้วย

“อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ขณะนี้เมื่อเดินทางกลับต่างจังหวัด หลังปีใหม่จำนวนการติดเชื้ออาจจะเพิ่มขึ้น หากจะการจัดการเรียนการสอนออนไซต์ ต้องมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดที่เคร่งครัด ในส่วนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้เตรียมการและหารือร่วมกันอยู่ว่าจะจัดการเรียนการสอนอย่างไร ทั้งนี้ขอดูสถานการณ์ก่อน เบื้องต้นเห็นว่าหากจะจัดการเรียนการสอนออนไซต์จะต้องมีมาตรการที่เข้มงวด เช่น ตรวจ ATK ก่อนเข้าเรียน เป็นต้น” นายบัณฑิตกล่าว

ศธ.สั่งสถานศึกษาสกัดโควิด

วันเดียวกัน น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ออกประกาศ ศธ. เรื่อง มาตรการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกระทรวงศึกษาธิการ (เพิ่มเติม ครั้งที่ 1) เพื่อให้สถานศึกษาในสังกัดและในกำกับทุกระดับ ทุกประเภททั่วประเทศ ดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของศธ.เพิ่มเติม ดังนี้ 1.ให้สถานศึกษาประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงอย่างรอบด้านของนักเรียนหรือครูที่อาจเป็นกลุ่มเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงการเปิดเรียนตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.เป็นต้นไป หากมีนักเรียนหรือครูที่เป็นกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว ให้สถานศึกษาสามารถพิจารณาปรับการเรียนการสอนเป็นระบบการศึกษาทางไกล คือ On air , Online, On hand และ On demand) ได้ตามความเหมาะสม และประสานกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอย่างใกล้ชิด

2.ให้สถานศึกษาประเมินมาตรการการเปิดเรียนของ Thai stop COVID plus และปฏิบัติตามข้อกำหนดของ 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC), 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) และแนวทาง 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษาโดยเคร่งครัด โดยพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างให้ปฏิบัติตามแนวทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

และ 3. ให้สถานศึกษาดำเนินมาตรการตามแผนเผชิญเหตุที่กำหนด กรณีนักเรียน ครู หรือ บุคลากรในสถานศึกษามีการติดเชื้อโควิด-19 หรือ มีผลตรวจคัดกรองหาเชื้อเป็นบวก โดยให้มีการซักซ้อมอย่างเคร่งครัด และประสานความร่วมมือกับสถานพยาบาลเครือข่ายในพื้นที่ที่ดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้ เป็นต้นไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน