เลิกอุ้มแอลพีจี 31มค.อ่วมซ้ำ‘ไก่-ปลา’ก็ขึ้น

‘แก๊สหุงต้ม-ค่าไฟ’ จ่อปรับขึ้นราคา ซ้ำเติมวิกฤตข้าวปลาหมูแพง31 ม.ค.นี้รัฐเลิกอุ้มแก๊สแอลพีจี จากที่ตรึงราคาไว้ 318 บาท/ถังขนาด 15 กิโลมานาน ชี้ราคาแก๊สหุงต้มอยู่ในช่วงขาลง อยู่ที่ 412 บาท/ถัง 15 ก.ก. หากรัฐไม่มีมาตรการอุดหนุนจะพุ่งขึ้นสูงถึง 440 บาท กระทรวงพาณิชย์ระดมตั้งจุดขายหมูถูกทั่วประเทศ กิโลละ 150 บาท ตรังโอด ไก่ ปลา ก็ปรับราคาขึ้นรายวันเช่นกัน ชาวยโสธรตั้งแผงขาย ปลา กบ เขียด หอย จากท้องนา สร้างรายได้เพิ่ม ร้านข้าวขาหมูเจ้าดังดอยสะเก็ด เชียงใหม่ ขอพักเมนูเด็ดชั่วคราว ทั้งข้าวขาหมู และขาหมูหมั่นโถว ขณะที่หมูทอดตลาดนัดหาดใหญ่ก็ขึ้นราคาด้วย

จากปัญหาราคาเนื้อสุกรที่เพิ่มสูงขึ้นกิโลกรัมละ 230-260 บาท สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ขณะที่ร้านอาหารต่างทยอยปรับขึ้นราคา ทั้งร้านบุฟเฟต์หมูกระทะ หมูปิ้ง และหมูหัน ตามจังหวัดต่างๆ ก็ปรับราคาเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นไม่ไหว ตามข่าวที่เสนอมานั้น

เมื่อวันที่ 7 ม.ค. ที่หน้าห้างเทสโก้โลตัส ต.ท่าหลวง อ.เมือง จ.พิจิตร นายชนก มากพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร พร้อมด้วย นายพิชัย เมืองมัจฉา พาณิชย์จังหวัด ร่วมกันเปิดจุดจำหน่ายเนื้อหมูราคาถูกในช่วงที่เกิดวิกฤตราคาเนื้อหมูแพง โดยบรรยากาศเต็มไปด้วยความคึกคัก มีประชาชนมาต่อแถวรอซื้อเนื้อหมู ทั้งหมูเนื้อแดง และหมูสามชั้น ในราคากิโลกรัมละ 150 บาท ซึ่งจำกัดจำนวนการซื้อคนละไม่เกิน 1 กิโลกรัม มีจำนวน 80 กิโลกรัมต่อวันต่อจุด ต่อเนื่อง 15 วัน ตั้งแต่เวลา 10.00 น.เป็นต้นไป จนกว่าเนื้อหมูจะหมดของในแต่ละวัน ไปจนถึงวันที่ 21 ม.ค. เพื่อกระจายเนื้อหมูให้กับประชาชนผู้บริโภค ได้เลือกซื้อราคาถูกอย่างทั่วถึง เนื่องจากราคาถูกกว่าท้องตลาดเฉลี่ยกิโลกรัมละ 50-100 บาท และยังมีจุดขายหมูที่หน้าห้างเทสโก้โลตัส สาขาอำเภอตะพานหิน และระหว่างวันนี้ไปจนถึง 15 ม.ค. ตั้งแต่เวลา 07.00 น. ร้านหมูเอสเคอินเตอร์ฟู้ด สาขาพิจิตร และสาขาตะพานหิน ด้วย

นายชนกกล่าวว่า การเปิดจุดขายหมูราคาถูก ในระยะเวลา 15 วันก่อน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นในช่วงที่ราคาเนื้อหมูแพง และจะประเมินอีกครั้งเพื่อดำเนินมาตรการต่อไป โดยในท้องตลาดสดปัจจุบันเนื้อหมูทุกประเภทจำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 220-260 บาท และมีแนวโน้มจะราคาสูงขึ้นไปจนถึงเทศกาลตรุษจีน

ด้านร้านขายอาหารในจ.เชียงใหม่ หลายรายจำเป็นต้องปรับเพิ่มราคาขายหรือลดปริมาณอาหารลงพร้อมกับทำชี้แจงทำความเข้าใจกับลูกค้า ส่วนอีกหลายร้านเลือกที่จะงดใช้หมูเป็นวัตถุดิบหลักชั่วคราว เพื่อตัดปัญหา

โดยที่ ร้านตี๋น้อยโอชา ตั้งอยู่ริมถนนเชียงใหม่-เชียงราย อ.ดอยสะเก็ด เจ้าของเมนูเด็ดข้าวขาหมู และขาหมูหมั่นโถว ได้ติดป้ายประกาศแจ้งให้ลูกค้าทราบว่าจะทำขาหมูออกขายในวันที่ 6 ม.ค. เป็นวันสุดท้าย

นายนพดล ศิริพิทยกุล หรือ “เฮียตี๋น้อย” อายุ 46 ปี เจ้าของร้าน เปิดเผยว่า ข้าวขาหมู และขาหมูหมั่นโถว ถือเป็นเมนูหลักของร้าน แต่ราคาหมูที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบอย่างมากกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 40-50% เพราะปกติซื้อขาหมูสดในราคากิโลกรัมละไม่เกิน 70 บาท แต่เวลานี้กิโลกรัมละกว่า 100 บาทแล้ว แม้ที่ผ่านมาทางร้านยังคงตรึงราคาขายไว้เท่าเดิมและไม่มีการลดปริมาณด้วย แต่ล่าสุดไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนได้อีกต่อไป จึงตัดสินใจที่งดทำเมนูนี้ออกขายไปจนกว่าราคาหมูจะลดลงมาเป็นปกติ เพื่อตัดปัญหา เพราะทางร้านไม่ต้องการที่จะขึ้นราคาขายหรือลดปริมาณอาหารลง เนื่องจากมองว่าเป็นการเอาเปรียบลูกค้า แม้การทำเช่นนี้จะส่งผลให้ยอดขายของทางร้านยิ่งลดลงไปอีก ซ้ำเติมจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ยอดขายหายไปอยู่แล้ว 70-80% แต่ก็ต้องทำ อยากเรียกร้องวิงวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาราคาหมูแพงให้ได้โดยเร็วที่สุดก่อนที่ประชาชนจะเดือดร้อนไปมากกว่านี้

ด้านนายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ กล่าวว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรสนับสนุนมาตรการเร่งแก้ปัญหาสุกรของภาครัฐ ด้วยการส่งเสริมเกษตรผู้เลี้ยงรายย่อยให้ฟื้นอาชีพกลับมาเลี้ยงสุกร เพื่อให้มีปริมาณผลผลิตเข้าสู่ระบบโดยเร็ว หลังจากที่พี่น้องเกษตรกรต้องเลิกเลี้ยงหรือชะลอการเลี้ยงไปถึง 60% ของจำนวนผู้เลี้ยงทั่วประเทศ จากที่เคยมีถึง 200,000 ราย เลิกเลี้ยงไปแล้ว 120,000 ราย เหลือเพียง 80,000 รายในปัจจุบัน

ขณะที่ตลาดสดเทศบาล 1 เทศบาลเมืองยโสธร จ.ยโสธร นายชัยวัฒน์ แสงศรี รอง ผวจ.ยโสธร พร้อมด้วย น.ส.อลเวง ศรีหิรัญ พาณิชย์จังหวัด และคณะ ได้ตรวจติดตามราคาเนื้อหมูแพงจากกลไกลของตลาดที่สร้างปัญหาด้านค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อยขณะนี้ โดยนำหมูเนื้อแดง มาจำหน่ายให้กับประชาชน ในราคา 150 บาท/กิโลกรัม ครั้งที่ 2 พร้อมกัน 5 จุด จุดละ 200 กิโลกรัม/ต่อวัน ตามนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อช่วยเหลือประชาชน

จากการสอบถาม นางวรนันท์ โสมณวัฒน์ อายุ 54 ปี แม่ค้าขายเนื้อหมูที่ตลาดสดเทศบาล 1 เทศบาลเมืองยโสธร กล่าวว่า รับหมูเนื้อแดงมาในราคา 210 บาท/กิโลกรัม ขายปลีก 220 บาท หมูสามชั้นซื้อมา ราคา 220 บาท ขายปลีก 230 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งแพงมากและจำหน่ายให้ประชาชนมากว่า 1 เดือนแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศที่ร้านขายเนื้อหมูในตลาดเทศบาลเมืองยโสธรนั้นเงียบเหงาลงไปมากแทบไม่มีคนเดิน ส่วนโซนขายปลา ขายผัก จะคึกคักกว่า เพราะมีแม่ค้าตามหมู่บ้านรอบนอกได้พากันนำปลาจากสระและทุ่งนา ขุดหอย ขุดปู กบเขียดมาวางขายกันแทน

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการจับจ่ายสินค้าจำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชนในตลาดท่ากลาง เทศบาลนครตรัง พบว่า ผู้คนเริ่มบางตาลง จากปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น

นางวิศาสตร์ คงวัฒนานนท์ เจ้าของแผงไก่ป้าดาไก่สด กล่าวว่า ไก่สดขณะนี้มีการปรับราคาสูงขึ้นสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ครั้งละ 2-3 บาท ปรับไล่ขึ้นตามราคาหมู จากเดิมไก่สด กิโลกรัมละ 47 บาท ตอนนี้ปรับขึ้นมาอยู่ที่กิโลกรัมละ 60 บาท หรือขึ้นมาแล้ว 13 บาท ในระยะเวลา 1 เดือน ซึ่งตนนำมาขายที่กิโลกรัมละ 65 บาท เอากำไรเพียง 5 บาท เพื่อให้ลูกค้าได้ซื้อ และสงสาร เพราะทุกคนก็เดือดร้อนจากราคาหมู และสินค้าอื่นๆ ที่แพงขึ้นทุกอย่าง เมื่อสอบถามกับเจ้าของฟาร์มไก่ว่า ทำไมแพงขึ้น ได้รับคำตอบว่า เกิดจากอุบัติเหตุระหว่างการขนส่งลูกไก่ประมาณนับล้านตัว ทำให้ไก่หายไปจากระบบจำนวนมาก ราคาไก่จึงต้องปรับตัวสูงขึ้น เพราะของมีน้อย จึงทำให้พ่อค้าแม่ค้าและประชาชนผู้บริโภคเดือดร้อน เช่นเดียวกับแผงอื่นๆ ราคาไก่สด จะอยู่ประมาณกิโลกรัมละ 65-68 บาท และจำเป็นต้องปรับราคาขึ้นต่อเนื่อง

นายอาซิม ตัดสายชล เจ้าของแผงไก่บังซิมไก่สด กล่าวว่า ตอนนี้ราคาสินค้าปรับขึ้นทุกวัน ปรับขึ้นแล้วไม่ลง และปรับขึ้นครั้งละหลายบาท โดยราคาหมู ไก่ ที่ปรับขึ้น อยากให้รัฐบาลไปตรวจสอบกับบริษัทผู้ค้าอาหาร ว่า ขึ้นราคาเอาตามอำเภอใจ หรือขึ้นตามสภาพความเป็นจริง ขณะที่ราคายางกลับลดลงเรื่อยๆ ทำให้กำลังซื้อของประชาชนไม่มี ชาวบ้านจะตายกันหมด เพราะไม่มีช่องทางการต่อสู้ ดังนั้น รัฐบาลควรจะช่วยให้ราคายางปรับขึ้น ให้เหมือนกับราคาสินค้า หรือค่าครองชีพอื่นๆ เพื่อให้ทุกคนอยู่ได้

ส่วนนางสุนิสา ศรีกระจ่าง และนายมานพ ศรีกระจ่าง เจ้าของเขียงหมูสดเจ๊สุ กล่าวว่า ล่าสุดราคาหมูหน้าฟาร์มที่ตนสั่งซื้อมาได้ปรับราคาขึ้นอีกกิโลกรัมละ 5 บาท เป็นกิโลกรัมละ 106 บาท ซึ่งเป็นการปรับขึ้นราคากลางวันพระ ทั้งที่ปกติจะปรับราคาขึ้นในช่วงทุกๆ วันพระ ทำให้ตนเองเดือดร้อน โดยปกติจะขายวันละ 5 ตัว แต่ตอนนี้เหลือวันละ 3 ตัว หายไป 2 ตัว เพราะขายยากมาก คนซื้อลดลง ทั้งที่แผงของตนเองจะขายถูกที่สุดแล้ว ส่วนตัวมองว่าเป็นการฉวยโอกาสปรับราคาขึ้น อยากให้หน่วยงานรัฐเข้าไปตรวจสอบอย่างจริงจังว่า การปรับราคาขึ้นเกือบทุกวันของหมูนั้น สมเหตุสมผลหรือไม่ เป็นการค้ากำไรเกินควร ฉวยโอกาสกับผู้บริโภค หรือมีการฮั้วกันด้านราคาหรือไม่ ถึงแม้ตนเองจะเข้าใจว่าหมูขาดตลาดจริง แต่ในการจำหน่ายนั้นแพงเกินจริงหรือไม่ เช่น หมูราคา 8,000 บาท แต่มาขาย 10,000 บาท หรือราคาอาหารปรับขึ้นตามความเป็นจริงหรือไม่

ทางด้านประชาชนชาวตรังที่มาซื้อสินค้าในตลาดสดก็บอกว่า ขณะนี้เลิกกินหมูสักพักแล้ว เพราะแพงเกินไป หันมาซื้อไก่ ซื้อปลาแทน แม้ราคาจะเพิ่มขึ้น แต่ยังถูกกว่าหมู อย่างไรก็ตาม ล่าสุดราคา กุ้ง หอย ปู ปลาบางชนิด ก็ปรับขึ้นมาต่อเนื่องในระยะเวลา 2 เดือน เช่น ปลากะพง ปรับขึ้นมาแล้วประมาณ 20 บาทต่อกิโลกรัม จึงทำให้ประชาชนเดือดร้อนหนัก เพราะหันไปซื้อสินค้าอะไรก็แพงทั้งสิ้น ขณะที่เงินในกระเป๋าไม่มี

ส่วนที่ตลาดโก้งโค้ง ซึ่งเป็นตลาดนัดใหญ่ กลางเมืองหาดใหญ่ จ.สงขลา บรรยากาศเป็นไปอย่างเงียบเหงา มีลูกค้ามาเลือกซื้อสินค้าอย่างบางตา โดยเฉพาะแผงขายเนื้อหมูชำแหละ ที่มีลูกค้าเลือกซื้อลดน้อยลง พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนแปลงไป โดยลดปริมาณการซื้อลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 50

ด้านนายปรีชา เจริญเลิศวรากุล พ่อค้าขายหมูทอด ในตลาดโก้งโค้ง กล่าวว่า จำเป็นต้องรับราคาขายหมูทอดเพิ่มสูงขึ้น จากเดิม ขีดละ 30 บาท ค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้นมาอีกขีดละ 5 บาท หลังราคาเนื้อหมูปรับเพิ่มสูงขึ้น จนขณะนี้ราคาหมูสามชั้นทอดขีดละ 55 บาท หมูเนื้อแดงทอด ขีดละ 50 บาท ทำให้ลูกค้าซื้อลดน้อยลงไปกว่าร้อยละ 80 แต่ถ้าไม่ปรับราคาขึ้นมาก็อยู่ไม่ได้ เพราะต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นมาก ส่วนข้าวหมูทอดกล่อง 30 บาทปรับเพิ่มเป็น 40 บาท ข้าวเหนียวหมูทอดจาก 20 เป็น 30 บาท โดยจะให้ขายราคาเดิมแต่ลดปริมาณลงก็ไม่ได้ เพราะลูกค้าเองก็จะกินไม่อิ่ม จึงอยากให้เร่งแก้ไขปัญหา

น.ส.ฉัตร์สุดา ชุมแสง พาณิชย์จังหวัดสงขลา กล่าวว่า สาเหตุราคาเนื้อหมูแพงมาจากโรคระบาดในหมูเมื่อปี 2564 ทำให้เกษตกร ผู้เลี้ยงหมูไม่มีเงินทุนจึงหยุดเลี้ยงชั่วคราว ส่งผลให้ขาดแคลนลูกหมู ทำให้หมูเป็นเข้าสู่ตลาดน้อยลง กระทรวงพาณิชย์เป็นห่วง ผู้บริโภคด้วยการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจัดกิจกรรมลดราคาช่วยประชาชน จำหน่ายเนื้อหมูราคาถูก ตั้งแต่วันที่ 6-15 ม.ค.65 จำนวน 4 จุด จุดละ 100 ก.ก. ทุกวัน ใน อ.เมือง ร้านเตชินท์อาหารแช่แข็ง ตรงข้ามสำนักงานควบคุมโรคสวนตูล อ.หาดใหญ่ เขียงหมูคุณกิตติพล ช่วยมณี ริมถนนรัตนอทิศ อ.นาหม่อม และเขียงหมูคุณจรูญ บัวเพชร ริมถนนข้างป้อมตำรวจสี่แยกนาหม่อม เนื้อแดงราคา ก.ก.ละ 150 บาท”

รายงานข่าวจากบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ช่วงครึ่งแรกปี 2565 ราคาเนื้อสุกรจะยังยืนสูงและอาจปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะก่อนช่วงเทศกาลตรุษจีนและช่วงเทศกาลสงกรานต์ ภายใต้สมมติฐานที่การระบาดของโควิดในประเทศไม่รุนแรง ขณะที่มาตรการต่างๆ ของภาครัฐมีส่วนช่วยบรรเทาสถานการณ์ได้บ้าง แต่คงต้องรอจนกว่าผลผลิตสุกรรอบใหม่จะเริ่มทยอยเข้าสู่ตลาดในช่วงครึ่งปีหลัง ราคาเนื้อสุกรจึงจะย่อตัวลง

เศรษฐกิจไทยในช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา แม้ยังคงไม่ได้ฟื้นตัวกลับสู่ระดับเดิมก่อนโควิด-19 แต่กลับเริ่มเห็นสัญญาณการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ สะท้อนผ่านราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคที่ปรับเพิ่มขึ้น ทั้งราคาพลังงานและอาหารสด โดยเฉพาะราคาเนื้อสุกรที่ปรับตัวสูงสุดในรอบ 10 ปี โดยราคาเนื้อสุกร (เนื้อแดง) ล่าสุดขยับมาอยู่ที่ราวกิโลกรัมละ 200 บาทและคาดว่าราคาอาจจะขยับสูงขึ้นอีก ส่งผลให้ผู้ประกอบการขายปลีกเนื้อสุกร (หมูเขียง) โดยเฉพาะรายย่อย และผู้ประกอบร้านอาหารหลายรายเริ่มแบกรับต้นทุนไม่ไหว จนต้องทยอยปรับเพิ่มราคา หรือแม้กระทั่งชะลอ/หยุดขายชั่วคราว

ทั้งนี้ คาดว่าราคาเนื้อสุกรเฉลี่ยตลอดทั้งปี 2565 จะยังคงเคลื่อนไหวในระดับสูง โดยราคาอาจอยู่ในกรอบ 190-220 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นราว 30% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่งผลให้ผู้ประกอบการขายปลีกเนื้อสุกร (หมูเขียง) โดยเฉพาะรายย่อยที่มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 5,000 รายทั่วประเทศไม่สามารถแบกรับต้นทุนได้

จากราคาเนื้อสุกรที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้ผู้บริโภคบางส่วนหันไปบริโภคเนื้อสัตว์อื่นๆ ทดแทน ซึ่งจะผลักดันให้ราคาเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อไก่ปรับสูงขึ้นตาม นอกจากนี้ ราคาวัตถุดิบอาหารอื่นๆ เช่น ผัก น้ำมันพืชก็มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า จากราคาเนื้อสัตว์ (เนื้อสุกรและเนื้อไก่) และวัตถุดิบอาหารที่สำคัญอื่นๆ ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น น่าจะกดดันให้ค่าใช้จ่ายด้านอาหารของผู้บริโภคต่อคนต่อเดือนในปี 2565 เพิ่มขึ้นราว 8-10% ซึ่งส่วนนี้ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ที่ก็เริ่มมีสัญญาณปรับตัวสูงขึ้น เช่น ค่าสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม) ค่าเดินทาง เป็นต้น สวนทางกับรายได้ครัวเรือนที่ยังคงเปราะบางซึ่งสะท้อนถึงกำลังซื้อครัวเรือนที่น่าจะยังไม่ฟื้นตัวดีนัก

ด้านนายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ. เตรียมเสนอแนวทางอุดหนุนราคาแก๊สหุงต้ม (แอลพีจี หรือแก๊สปิโตรเลียมเหลว) ให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีกำหนดการประชุมช่วงกลางสัปดาห์หน้าพิจารณาเห็นชอบ เพิ่มเติมจากปัจจุบันมาตรการตรึงราคาไว้ 318 บาท/ถังขนาด 15 กิโลกรัม (ก.ก.) จะสิ้นสุดลงวันที่ 31 ม.ค.นี้ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนจากผล กระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

อย่างไรก็ตาม จากการใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปอุดหนุนราคาแก๊สหุงต้มตั้งแต่เดือนเม.ย.2563 จนถึงปัจจุบันสถานะเงินกองทุนในส่วนของบัญชีแอลพีจีติดลบ 23,178 ล้านบาท แต่หากรวมกับเงินจากบัญชีน้ำมันที่มี 17,233 ล้านบาท สถานะกองทุนสุทธิจะติดลบ 5,945 ล้านบาท

รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้ประเมินทิศทางราคาแก๊สหุงต้มอยู่ในช่วงขาลง ปัจจุบันอยู่ที่ 412 บาท/ถัง 15 ก.ก. จากช่วงเดือนต.ค.2564 หากรัฐไม่มีมาตรการใดๆ เข้ามาอุดหนุนราคาแก๊สหุงต้มที่แท้จริงจะปรับตัวขึ้นไปสูงถึง 440 บาท/ถัง 15 ก.ก.

“แนวทางการปรับขึ้นราคาแก๊สหุงต้มอาจเป็นไปได้ทุกรูปแบบ ทั้งการปรับขึ้นแบบขั้นบันไดไตรมาสละ 1 บาท/ถัง 15 ก.ก. หรืออาจปรับขึ้นทันที 2-3 บาท แต่แนวทางนี้คงเป็นไปได้ยาก ส่วนราคาจะปรับขึ้นไปจนถึงเพดานที่เท่าไหร่นั้น ยังไม่สามารถระบุได้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะทยอยปรับขึ้นไปจนชนเพดานราคาก่อนเกิดโควิดที่ 363 บาท/ถัง 15 ก.ก. หรืออาจทยอยปรับขึ้นไปอยู่ในระดับหนึ่งที่เหมาะสม เพื่อลดภาระการอุดหนุน ทุกอย่างขึ้นอยู่กับ กบง.จะพิจารณา”

รายงานข่าวแจ้งว่าในส่วนของค่าไฟฟ้าเป็นไปตามมติคณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.) ก่อนหน้านี้ที่เห็นชอบให้เรียกเก็บค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (ค่าเอฟที) งวดเดือนม.ค.-เม.ย.2565 ในอัตรา 1.39 สตางค์ต่อหน่วย เพิ่มขึ้น 16.71 สตางค์ต่อหน่วย จาก -15.32 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้อัตราค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับประชาชนงวดเดือนม.ค.-มี.ค.อยู่ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย จากงวดเดือนก.ย.-ธ.ค.2564 อยู่ที่ 3.61 บาทต่อหน่วย ตามสูตรการปรับอัตราค่าเอฟทีขึ้นแบบขั้นบันได ทำให้ค่าเอฟทีปรับเพียง 22.50 สตางค์ จากค่าเอฟทีที่แท้จริงต้องสูงขึ้นอยู่ที่ 48.01 สตางค์

นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังมีเอกสารจากคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม ยืนยันการตรวจซากหมูที่ป่วยตายกะทันหัน ว่าเกิดจากการติดเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาหมู หรือเอเอสเอฟว่า ส่วนตัวยังไม่เห็นเอกสารยืนยันอย่างเป็นทางการว่าหมูในประเทศไทยมีการป่วยตายโดยโรคเอเอสเอส ดังนั้นขอดูรายละเอียดก่อน ส่วนวันที่ 8 ม.ค. จะเรียกประชุมปศุสัตว์ และเกษตรกรคนเลี้ยงหมูประมาณ 200 คน ที่จ.เชียงใหม่ เพื่อสนองนโยบายของนายก รัฐมตรี ที่เร่งสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยให้มีการเลี้ยงหมู เพื่อฟื้นฟูเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู รายย่อย ของคนไทย

งดเมนูหมู – ร้านตี๋น้อยโอชา เจ้าของเมนูขาหมูเด็ดระดับตำนาน ถนนเชียงใหม่-เชียงราย อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ติดป้ายแจ้งลูกค้างดขายเมนูขาหมูชั่วคราว จนกว่าราคาหมูที่สูงขึ้นมากจะปรับลดลงเป็นปกติ

แก้หมูแพง – กระทรวงพาณิชย์นำหมูเนื้อแดงออกมาขายให้ประชาชนในราคากิโลกรัมละ 150 บาท เพื่อแก้ไขปัญหาราคาเนื้อหมูสูงขึ้น มากเป็นประวัติการณ์ ที่ตลาดสดเทศบาล 1 เทศบาลเมือง จ.ยโสธร เมื่อวันที่ 7 ม.ค.

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน