กุ้งขยับกิโลกรัม30บาท ชี้ราคาแพงไปถึงตรุษจีน ร้านตามสั่งแห่ปรับตาม รบ.โต้ปิดข่าวโรคระบาด ภาคีอธิการบดีสัตวแพทย์ เปิดจม.เตือนพิษอหิวาต์

ทยอยปรับราคา อาหารทะเล ไก่ ไข่ หลังคนแห่ซื้อกินแทนหมูที่ราคาแพงเผยกุ้งเพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 30 บาท ไก่ก็ขึ้นก.ก. 20-30 บาท คาดราคาสูงไปถึงตรุษจีน ส่วนไข่ไก่ขึ้นทันทีวันนี้แผงละ 6 บาท โฆษกรัฐบาลโต้ ไม่ได้ปกปิดข้อมูลโรคระบาด อหิวาต์แอฟริกาหมู แต่พบภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยทำหนังสือถึงกรมปศุสัตว์ตั้งแต่ธ.ค.64 ชี้มีการระบาดแน่ อจ.มธ.แนะรัฐบาลวางแผนรับมือ ขณะที่ฟาร์มหมูระบุปัญหาขาดแคลนแม่พันธุ์ เพราะไม่กล้านำเข้าเนื่องจากหวั่นโรคระบาด คาดปัญหายาวไปอีก 6 เดือนเป็นอย่างน้อย

กินไก่แทน – บรรยากาศการจับจ่ายในตลาดยิ่งเจริญ ย่านบางเขน กรุงเทพฯ ชาวบ้านหันมาซื้อไก่สดไปทำอาหารมากขึ้น หลังจากหมูราคาแพง ขณะเดียวกันผู้ค้าบางรายเริ่มปรับขึ้นราคาไก่และอาหารทะเลบ้างแล้ว

รบ.โต้ปิดข่าวอหิวาต์หมูระบาด

วันที่ 9 ม.ค. นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีราคาหมูแพงที่เกิดจากการขาดแคลนเนื้อหมูที่ตายเพราะโรคระบาดว่า ภาครัฐไม่เคยปกปิดข้อมูลโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในประเทศ ที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ติดตามสถานการณ์โรคระบาดในสัตว์ หลังจากมีข่าวโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรระบาดในหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์เร่งตรวจสอบและแก้ปัญหา

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังสนับสนุนงบประมาณสำหรับการเฝ้าระวัง ป้องกันและกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ส่งเสริมการปรับปรุงยกระดับฟาร์มให้ได้มาตรฐาน GAP หรือให้ได้มาตรฐาน GFM เพื่อการป้องกันควบคุมโรค รวมทั้งมีมาตรการเยียวยาเจ้าของฟาร์มด้วยการจ่ายค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558

นายธนกรกล่าวว่า สำหรับกระแสข่าวที่ว่าพบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในประเทศไทยแล้วว่า กรมปศุสัตว์ลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างต่อเนื่องตามขั้นตอน หลักวิชาการ และมาตรฐานสากล หากพบการแพร่ระบาดจะต้องแจ้งการพบโรคไปยังองค์การสุขภาพสัตว์ระหว่างประเทศเพื่อแจ้งเตือนให้ประเทศสมาชิกทราบด้วย ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่สามารถปกปิดข้อมูล และพร้อมรายงานให้สาธารณชนทราบตามความเป็นจริง กรมปศุสัตว์ดำเนินการตามบัญชานายกรัฐมนตรี และรมว.เกษตรและสหกรณ์ จัดชุดเฉพาะกิจลงตรวจสอบสภาวะโรคในพื้นที่เสี่ยง

สุ่มตรวจเพิ่มเติมโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสุกรหนาแน่น มีเจ้าหน้าที่กองสารวัตรและกักกันจะเข้าไปสำรวจโรคและเก็บตัวอย่างจากเลือดสุกรนำไปตรวจหาโรคโดยสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ พร้อมทั้งประเมินพื้นที่เสี่ยงและความเสี่ยงระดับฟาร์ม หากพบมีความเสี่ยงสูงและไม่สามารถปรับปรุงระบบการป้องกันโรคได้จะทำลายสุกรเพื่อลดความเสี่ยงและจ่ายเงินชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือเกษตรกรหากพบสัตว์ป่วยต้องแจ้งกรมปศุสัตว์ตามกฎหมาย เพื่อควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัด ลดความเสียหายแก่เกษตรกร ที่ผ่านมาการเกิดโรคระบาดในหมูไทยเป็นโรค PPRS เป็นกลุ่มอาการของโรคในระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจในสุกร แต่ไม่พบว่ามีการเกิดโรคอหิวาต์แอฟริกาหมู (ASF)

สำหรับโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรพบครั้งแรกในปีพ.ศ.2464 ที่ทวีปแอฟริกา และลุกลามไปทั่วโลก ปัจจุบันยังไม่สามารถพัฒนาวัคซีนในการป้องกันโรคได้ ซึ่งประเทศจีนทำลายสุกรไม่น้อยกว่า 500 ล้านตัว ในเวียดนามสุกรเสียหายไม่น้อยกว่า 5 ล้านตัว และยังพบการระบาดในพม่า ลาว และกัมพูชาด้วย

ไข่ไก่ขยับราคาหน้าฟาร์ม

นายธนกรกล่าวว่า นายกฯ ยังให้มีการแก้ปัญหาโรคระบาดในหมูอย่างยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนงบประมาณเพื่อการวิจัย พัฒนาวัคซีน ขณะนี้กรมปศุสัตว์ร่วมกันกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพัฒนาวัคซีนผลิตโปรโตไทป์ได้ผล 60-70 เปอร์เซ็นต์ กำลังเข้าสู่การทดสอบฉีดในหมูในห้องทดลอง หากประสบความสำเร็จจะเป็นครั้งแรกของโลกที่มีวัคซีนมาใช้ควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกา จะช่วยปกป้องอุตสาหกรรมหมูของไทยทั้งระบบที่มูลค่าการส่งออกสุกรมีชีวิต เนื้อสุกรรวมทั้งผลิตภัณฑ์จากสุกรมากกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งคนไทยผู้บริโภคทุกคนด้วย

สำหรับกรณีราคาหมูแพง รัฐบาลโดยกระ ทรวงพาณิชย์เปิด 667 จุดบริการทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 116 หน่วยบริการ รถโมบายตระเวนตามพื้นที่ 50 คัน ตั้งจุดบริการ 50 แห่ง และสมาคม 16 แห่ง ต่างจังหวัด 551 แห่ง เพื่อจำหน่ายเนื้อหมูราคาถูก เพิ่มช่องทางในการเลือกซื้อเนื้อหมู ช่วยลดภาระค่าครองชีพ เป็นมาตรการเสริมถึงสิ้นเดือนนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสมาคมผู้ผลิตและส่งออกไข่ไก่ออกประกาศแจ้งราคาแนะนำไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม ขอแจ้งราคาแนะนำไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเกษตรกรวันที่ 10 ม.ค. 2565 อยู่ที่ฟองละ 3 บาท โดยก่อนหน้านี้ราคาแนะนำอยู่ที่ 2.80 บาทต่อฟอง

ด้านนายสุธาศิน อมฤก นายกสมาคมผู้ค้าไข่ไก่ เปิดเผยว่า จากการที่สมาคมผู้ผลิตผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ และสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว จำกัด ปรับขึ้นราคาไข่ไก่ 3.00 บาท หรือปรับขึ้น 20 สตางค์ต่อฟอง คิดเป็น 6 บาทต่อแผง มีผลวันที่ 10 ม.ค.นั้นถือเป็นราคาที่ชนเพดานที่กรมการค้าภายในกำหนดแล้ว สาเหตุที่ราคาปรับขึ้นจากปลายทางนั้นเพราะราคาอาหารสัตว์ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกษตรกรแบกรับภาระต้นทุนไว้ตลอด แม้ว่าราคาไข่จะปรับขึ้นก็ไม่ได้ทำให้กำไรมากขึ้นตาม

อจ.มธ.แนะรัฐบาลเร่งรับมือ

นายวีระวัฒน์ ภัทรศักดิ์กำจร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ราคาเนื้อหมูแพงขึ้นเป็นเพราะเกิดโรคระบาดในหมูจนทำให้หมูล้มตายเป็นจำนวนมาก อาจเทียบเคียงกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา นั่นคือโรคระบาดที่เกิดขึ้นในวัวที่ชื่อว่า “โรคลัมปีสกิน” หรือ LSD ซึ่งโรคดังกล่าวไม่ใช่โรคประจำถิ่น ประเทศไทยจึงไม่มียารักษาในขณะนั้น

“ในขณะนั้นมีความพยายามที่จะนำยาเข้ามา แต่ก็ถูกรัฐปรามว่ายาดังกล่าวต้องผ่านการรับรอง ซึ่งรัฐจะเป็นผู้จัดหาให้ สุดท้ายก็ทอดเวลายาวนานออกไปจนกระทั่งบริษัทยาเอกชนได้รับการอนุมัติให้นำยาเข้ามาขาย โรค LSD จึงสิ้นสุด ซึ่งในปัจจุบันสถานการณ์ในหมูก็คล้ายคลึงกัน การเกิดโรคระบาดในหมูจึงสะท้อนถึงประสิทธิภาพและการวางมาตรการรองรับที่อาจไม่ดีพอของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานหลักในการควบคุมดูแลในเรื่องนี้

ฉะนั้น ความตระหนักถึงปัญหาและการเตรียมความพร้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญ เราคงไม่ทราบว่าเหตุการณ์นี้มีเบื้องลึกเบื้องหลังหรือมีอะไรที่ซ่อนเร้นอยู่หรือไม่ เราคงไม่สามารถไปกล่าวโทษใครได้ แต่สิ่งที่สะท้อนคือประสิทธิภาพในการป้องกันและการมีมาตรการรองรับเมื่อเกิดเหตุที่ต้องมีมากกว่านี้” นายวีระวัฒน์กล่าว

นายวีระวัฒน์กล่าวอีกว่า เราทราบข่าวเรื่องโรคระบาดภายหลังที่ผลกระทบเกิดขึ้นเป็นห่วงโซ่ไปแล้ว เราพบว่ามีผู้เลี้ยงสุกรจำนวนหนึ่งที่หยุดประกอบการไปแล้ว เนื่องจากต้นทุนสูงขึ้นจนแบกรับไม่ไหวทั้งจากอาหารสัตว์ที่ราคาแพงและการเกิดโรคระบาด ขณะที่ผู้บริโภคปลายทางก็เผชิญกับราคาเนื้อหมูที่แพงขึ้นแล้ว ฉะนั้น มาตรการของรัฐบาล อาทิ สั่งห้ามส่งออกเนื้อหมู หรือการตั้งจุดจำหน่ายเนื้อหมูราคาถูกอาจเป็นสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ในขณะนี้ แต่หากต้องการทำให้ดีกว่า รัฐจำเป็นต้องอุดหนุนราคาด้วย ซึ่งก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าจะอุดหนุนไปที่ไหนระหว่างเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู พ่อค้าคนกลาง เขียงหมู หรือทั้งหมด

ม.เกษตรฯแจ้งพบระบาดจริง

นายวีระวัฒน์กล่าวว่า ณ จุดนี้ คงเป็นเรื่องยากที่จะกลับไปแก้ที่โครงสร้างหรือกลับไป ที่การป้องกันตั้งแต่แรก ที่สำคัญคือเราไม่สามารถไปกล่าวหาใครได้ว่าเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากมาตรการห้ามส่งออก หรือการปล่อยให้เกิดโรคระบาดในหมูหรือไม่ อย่างไรก็ตามหมูเป็นสัตว์ที่ใช้เวลาเลี้ยงไม่นานก็สามารถจำหน่ายได้ คาดการณ์กันว่าประมาณ 6 เดือน สถานการณ์จะคลี่คลายลง ฉะนั้นประเด็นจึงอยู่ที่ว่า หลังจากนี้กรมปศุสัตว์จะเตรียมความพร้อมในการรับมือกับโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคตอย่างไร เพราะเป็นหน้าที่โดยตรงของกรมปศุสัตว์ที่จะทำงาน เชิงรุกเพื่อติดตามสถานการณ์ คาดการณ์ และเฝ้าระวังเหตุการณ์อย่างสม่ำเสมอ

“เมื่อปีที่ผ่านมาผู้บริหารของกรมปศุสัตว์ได้ให้สัมภาษณ์ว่าประเทศไทยไม่มีโรคอหิวาต์ในหมูอย่างแน่นอน แต่ผลการตรวจสอบของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กลับพบโรคระบาดในปี 2564 ซึ่งก็คือปีที่แล้ว คำถามคือมีการปิดข่าวหรือไม่ เนื่องจากการส่งออกเนื้อสัตว์หรือการส่งออกอาหาร เป็นอุตสาหกรรมใหญ่ที่มีความสำคัญของประเทศ หากเกิดโรคระบาดในประเทศย่อมกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค ในฐานะผู้บริโภคที่เป็นประชาชนทั่วไป ควรได้รับคำอธิบายถึงสาเหตุที่ราคา เนื้อหมูแพงขึ้นอย่างทันทีทันใด และที่สำคัญ คือหากสาเหตุเกิดจากโรคระบาดตามที่สื่อมวลชนรายงาน ความรับผิดชอบโดยตรงก็จะต้องตกอยู่ที่กรมปศุสัตว์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง” นายวีระวัฒน์กล่าว

ขายถูก – นายศารุมภ์ โหม่งสูงเนิน พาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา ลงพื้นที่ติดตามโครงการหมูพาณิชย์ลดราคา ช่วยชาวนครราชสีมา ที่ตลาดเทิดไท เทศบาลเมือง จ.นครราชสีมา ล่าสุดอาหารทะเล ไก่สด เริ่มปรับราคาตามแล้ว เมื่อ 9 ม.ค.

โคราชตั้งจุดขายหมูก.ก.150บาท

ที่จ.นครราชสีมา นายศารุมภ์ โหม่งสูงเนิน พาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินโครงการหมูพาณิชย์ลดราคา ช่วยประชาชน จังหวัดนครราชสีมา (ครั้งที่ 2) ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ โดยร่วมกับตลาดเทิดไทและผู้ประกอบการค้าเนื้อสุกรชำแหละจัดโปรโมชั่นหมูเนื้อแดง ลดราคาเพื่อผู้บริโภค ราคากิโลกรัมละ 150 บาท 6 จุด ได้แก่ 1.ร้านหมูไอที 2.ร้านธนพร 3.ร้านสถานีหมูสด 4.ร้านเฮียเขียว 5.ร้านเจ้บีหมูสด 6.ร้าน อุ๊บอิ๊บ เริ่มตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 15 มกราคม 2565 โดยจำหน่ายจำนวนวันละ 300 กิโลกรัม ซึ่งจะจำหน่ายจนกว่าเนื้อหมูจะหมดทุกวัน

ที่จ.เชียงใหม่ บรรยากาศที่ตลาดศิริวัฒนา อำเภอเมือง ในโซนอาหารสดไม่คึกคักเหมือนที่ผ่านมาหลังจากราคาเนื้อหมูปรับเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ร้านค้าขายเนื้อไก่สด-อาหารทะเล มีลูกค้าทยอยมาซื้อต่อเนื่อง ขณะที่แผงร้านไก่สด ระบุว่า ไม่เพียงแต่ราคาเนื้อหมูที่แพงขึ้นราคาเนื้อไก่ก็เพิ่มขึ้นเหมือนกัน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 10-20 บาท อย่างเช่นอกไก่ที่ก่อนหน้านี้ขายกิโลกรัมละ 80 บาท ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาปรับขึ้นเป็น 95 บาท

ขณะที่ร้านขายอาหารทะเลสดระบุว่า ราคาอาหารทะเลก็ปรับขึ้นเฉลี่ยประมาณกิโลกรัมละ 30 บาท เช่น กุ้งปกติกิโลกรัมละ 270 บาท พอต้นทุนแพงต้องขาย 300 บาท แต่ก็ยังพอมีลูกค้ามาซื้อต่อเนื่อง

ทั้งนี้พบว่าลูกค้าเปลี่ยนจากการซื้อเนื้อหมู มาซื้อไก่แทน เพราะแม้จะปรับราคาสูงขึ้น แต่ก็ยังถูกกว่าเนื้อหมู

‘ไส้อั่ว-แคบหมู’ราคาพุ่ง

ที่ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ ของฝากที่ใช้วัตถุดิบหลักจากเนื้อหมู อย่างเช่น แคบหมู ไส้อั่ว หมูทอด ของฝากขึ้นชื่อ วันนี้ยังคงมีลูกค้าทยอยเข้ามาซื้อของฝากอย่างต่อเนื่อง จากการเดินสำรวจร้านค้าเกือบ 20 ร้าน พบว่ามีการติดป้ายบอกลูกค้าว่าขออนุญาตปรับราคาสินค้าขึ้นเนื่องจากวัตถุหลักเนื้อหมูมีราคาแพง และส่วนใหญ่จะปรับขึ้นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 30-50 บาท

นางเมธาวรี พิชญาพรพงศ์ เจ้าของร้านดำรงค์ หมูทอด ไส้อั่ว น้ำพริกหนุ่ม ร้านดังในตลาดวโรรส บอกว่าตอนนี้ที่ร้านปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอีกกิโลกรัมละ 50 บาท ทุกเมนู ซึ่งติดป้ายประกาศบอกลูกค้าตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ก็เข้าใจ ยอมรับว่าครั้งนี้เนื้อหมูราคาเพิ่มขึ้นสูงมากที่สุดตั้งแต่เปิดร้านมาในรอบ 50 ปี กระทบกับยอดขายที่ลดลง แต่ก็ยังพอขายได้เมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตโควิด-19 เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา

นางพนัชกร พรหมนิเทศ เจ้าของร้านเหมียวแหนมป้าย่น บอกว่าเธอเปิดร้านที่ตลาดวโรรสมานานกว่า 50 ปี ก็ปรับราคาขายแคบหมู ขึ้นมาอีกกิโลกรัมละ 50 บาท เป็นกิโลกรัมละ 450 บาท หมูยอแท่งละ 25 บาท ปรับขึ้นเป็นแท่งละ 30 บาท

ฟาร์มหมูชี้ปัญหาขาดแม่พันธุ์

ที่จ.ตราด น.ส.เพ็ญนภา เศษคง อายุ 49 ปี ผู้จัดการสุรัตน์ฟาร์ม เปิดเผยว่า ที่ราคาหมูแพง มาจากปัญหาหมูเป็นโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ (ASF) หรืออหิวาต์สุกร ซึ่งทำให้หลายๆ ฟาร์มไม่กล้าสั่งแม่พันธุ์จากบริษัทใหญ่ๆ เข้ามา เพราะเกรงว่าจะมีโรคติดมาด้วย นำเชื้อมาแพร่ต่อในฟาร์มหมู และหากหมูในฟาร์มติดเชื้อโรคแล้ว จะต้องทำลายหมูทิ้งทั้งหมดในรัศมี 1-3 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องเสี่ยงพอสมควร และเชื่อว่าทุกฟาร์มจะไม่มีใครกล้าเสี่ยงซื้อแม่พันธุ์หมูเข้ามาแน่นอนในช่วงนี้

โดยสุรัตน์ฟาร์ม เป็นฟาร์มหมูฟาร์มหนึ่งที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดตราด ปัจจุบันมีแม่พันธุ์ พ่อพันธุ์ และลูกหมู ไม่ต่ำกว่า 2,000 ตัว ส่งหมูขายในอำเภอบ่อไร่และอำเภอใกล้เคียงทุกวัน แต่เมื่อมีการระบาดของโรค ทำให้ฟาร์มไม่สามารถสั่งซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เข้ามาได้ ทำให้วงจรการผลิตลูกหมูไม่สามารถทำได้ตามปกติ

จากเดิมที่ฟาร์มมีแม่พันธุ์จำนวน 350 ตัว แม่พันธุ์ 1 ตัว จะผลิตลูกหมูประมาณ 10-12 ตัว และลูก 1 ตัว จะต้องขุนประมาณ 1 ปี จึงจะขายออกสู่ตลาดได้ ส่วนแม่พันธุ์ 1 ตัว เลี้ยงเป็นแม่พันธุ์ประมาณ 10 ปี จึงลดระวาง และจะซื้อแม่พันธุ์จากบริษัทในราคา 9,800 บาท มาแทนที่ ซึ่งสุรัตน์ฟาร์มดำเนินกิจการแบบนี้มานานกว่า 30 ปีแล้ว

และเมื่อปี 2563 เริ่มเกิดโรคระบาด ทำให้ฟาร์มตัดสินใจไม่ซื้อพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์เข้ามาอีกจนถึงปัจจุบัน เพราะกลัวปัญหาโรคที่ติดมาจากพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ขณะที่ราคาพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ราคาพุ่งสูงขึ้นจากเดิมเป็น 12,000-15,000 บาท ทำให้ฟาร์มเหลือแม่พันธุ์เพียง 250 ตัวเท่านั้น เพราะ 100 ตัวที่หายไป ต้องลดระวางเพราะไม่สามารถผลิตลูกได้แล้ว ทำให้ยอดการผลิตลูกหมูนั้นลดน้อยลง แต่ความต้องการยังคงเดิม

ส่วนการแก้ปัญหาในตอนนี้ คือดึงแม่พันธุ์ที่ปลดระวางไปแล้ว มาผสมพันธุ์แทนไปก่อน แต่การผลิตลูกหมูจะทำได้เพียง 8-10 ตัวเท่านั้น และยอมรับว่าตอนหมูขาดแคลน เพราะหมูโตไม่ทัน กำลังผลิตลดน้อยลง จนส่งผลให้ราคาหมูหน้าฟาร์มราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 100-105 บาท แพงกว่าเดิมถึง 30-40 บาท และเมื่อหมูไปอยู่บนเขียงราคาก็จะสูงขึ้นไปอีกประมาณ 200-250 บาท เพิ่มขึ้นกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์

น.ส.เพ็ญนภายอมรับว่า มีความกังวลเป็นอย่างมากที่ในอนาคตจะขาดแคลนแม่พันธุ์ เพราะปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคแอฟริกัน สไวน์ฟีเวอร์ (ASF) และไม่มีแนวโน้มที่โรคนี้จะหายไป แม้ว่าการเพาะลูกของฟาร์มจะสามารถเพาะเองได้โดยไม่ต้องใช้แม่พันธุ์ แต่หมูจะไม่ได้คุณภาพเท่านั้น

ส่วนการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลที่ห้ามส่งออกหมูไปยังต่างประเทศนั้น น.ส.เพ็ญนภาเชื่อว่าไม่สามารถแก้ไขได้จริง เพราะปัญหาหลักคือหลายๆ ฟาร์มไม่กล้าซื้อพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ เข้าฟาร์ม เพราะกลัวเรื่องโรคระบาดที่อาจจะทำให้หมูในฟาร์มติดเชื้อจากพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ที่สั่งซื้อเข้ามา เว้นแต่ว่าโรคระบาดจะหายไป จะทำให้สถานการณ์นั้นดีขึ้น

ไก่ก็แพงขึ้นคาดสูงถึงตรุษจีน

ที่จ.พิจิตร หลังธนาคารออมสิน สาขาราชรถ ในเขตเทศบาลเมืองพิจิตร ร้านป้าขวัญใจไก่ย่าง ข้าวเหนียวห่อละ 5 บาท ขายดี เนื่องจากราคาหมูแพง ทำให้ผู้บริโภคชาวพิจิตรหันมาอุดหนุนเลือกซื้อข้าวเหนียวไก่ย่างในราคาไม้ละ 5 บาทและ 10 บาท ส่วนข้าวเหนียวก็ยังคงจำหน่ายในราคาห่อละ 5 บาทเหมือนเดิม

อย่างไรก็ตามการที่ผู้บริโภคหันมากินไก่ กินปลาแทน ทำให้ราคาไก่สดก็ขึ้นราคาตาม ถึงก.ก.ละ 20-30 บาท ขณะที่ร้านอาหารต่างๆ ในจังหวัดพิจิตรก็ปรับราคาอาหารขึ้นเป็นเท่าตัว อย่างเช่น ผัดผักรวมใส่หมูกรอบจากเดิม 80 ขึ้นมาเป็น 120/จาน ข้าวผัดใส่หมู จากเดิม 30 บาทขึ้นมา 50 บาท

ที่จ.ราชบุรี จากราคาหมูแพงส่งผลให้ ผู้บริโภคต่างหันมาลดภาระค่าครองชีพ ด้วยการบริโภคเนื้อสัตว์ชนิดอื่นแทน โดยเฉพาะเนื้อไก่ ทำให้ราคาไก่ขยับขึ้น โดยราคาเนื้อไก่สดจากโรงชำแหละแต่ละประเภทขยับขึ้นกิโลกรัมละ 1-2 บาท ราคาเนื้ออกไก่อยู่ที่กิโลกรัมละ 70 บาท น่อง 65 บาท เนื้อไก่บด 68 บาท ปีกเต็ม 77 บาท ปีกกลาง 105 บาท และโครงไก่ 25 บาท โดยราคาเนื้อไก่จะมีการขยับขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงเทศกาลตรุษจีน

เปิดจม.เตือนส่งถึงก.ปศุสัตว์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.สพ.ดร.คงศักดิ์ เที่ยงธรรม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประธานภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ทำหนังสือถึงกรมปศุสัตว์ เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2564 ว่าตามที่ปรากฏการตายเป็นจำนวนมากของสุกรในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทยมาระยะหนึ่ง ก่อให้เกิดความสูญเสียแก่เกษตรกร ผู้เลี้ยงสุกรเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะเกษตรกร ผู้เลี้ยงสุกรขนาดกลางและขนาดเล็ก ภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศ ไทย ซึ่งประกอบด้วยคณบดีคณะสัตวแพทย ศาสตร์ในประเทศไทยทั้ง 14 สถาบัน มีความกังวลกับสถานการณ์ครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง ประกอบกับได้รับคำถามเป็นจำนวนมากจากเกษตรกรและประชาชน ถึงสาเหตุและแนวทางในการแก้ไข

ทั้งนี้ จากการตรวจวินิจฉัยโรคโดยหน่วยงานของสถาบันการศึกษาสัตวแพทยศาสตร์ในประเทศไทย พบเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร Afican Swine Fever : ASF ในซากสุกรที่ส่งชันสูตรโรค และได้รายงานการตรวจพบโรคต่อกรมปศุสัตว์ตามข้อกำหนด ของพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 แล้วนั้น ภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย

จึงขอให้กรมปศุสัตว์พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อการควบคุมโรคอย่างเร่งด่วน เพื่อมิให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นแก่เกษตรกรและอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรในประเทศไทย และพร้อมสนับสนุนทางวิชาการแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน สร้างความน่าเชื่อถือ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน