ชลบุรีชวนเปิบเนื้อ‘จระเข้ ’ น้ำมันปาล์มจ่อขึ้นราคาอีก รัฐบาลจ่ายคนละครึ่งกพ.นี้

คนหันกิน ‘ปลานิล’ แทนหมูแพง กระชังปลาเผยเลี้ยงไม่ทันส่ง ผักสดเริ่มถูกลง ส่วนเนื้อราคาขึ้นไปแตะ โลละ 300 บาท น้ำมันปาล์มจ่อขึ้นราคา จุรินทร์ชูไข่ไก่ลดราคาลงแล้ว ปศุสัตว์เร่งลดต้นทุนเกษตรกร โดยปรับสูตรอาหารสัตว์ รัฐบาลยันแจกแน่คนละครึ่งเฟส 4 เริ่มใช้จ่ายได้ 21 ก.พ.

แจกหมู – ศิษยา นุศิษย์ของพระญาณวิกรม (พระอาจารย์ อุเทน) เจ้าอาวาสวัดท่าไม้ จ.สมุทรสาคร ร่วมกันจัดกิจกรรมมอบหมู เนื้อแดงและผักปลอดสารพิษให้แก่ผู้บริโภค โดยมีผู้เข้าคิวรับกันอย่างต่อเนื่องที่วัดท่าไม้ เมื่อวันที่ 15 ม.ค.

พระราชทานของช่วยเกษตรกร

วันที่ 15 ม.ค. ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอพิมาย จ.นครราชสีมา สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติย ราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โปรดให้นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา เชิญสิ่งของพระราชทาน เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคสุกร ในพื้นที่จังหวัดนครราช สีมา จำนวน 7 อำเภอ เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร 200 ราย เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร

ในนามของเกษตรกรชาวจังหวัดนครราชสีมา ผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคสุกร ต่างสำนึกในพระกรุณาธิคุณที่สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงมีพระเมตตาต่อเกษตรกรชาวจังหวัดนครราชสีมา ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคสุกร และทรงพระกรุณาพระราชทานสิ่งของให้แก่เกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบในครั้งนี้

ผวาซากหมู – ชาวบ้าน ต.บ้านยาง อ.เมือง จ.นครปฐม ผวาพบซากสุกร 3 ตัวลอยมาติดที่บริเวณประตูน้ำคลองชลประทาน ก.ม.22 เกรงเป็นแหล่งแพร่โรคระบาด รีบแจ้งเจ้าหน้าที่นำรถแบ๊กโฮ มาตักซากขึ้นมาฝังกลบ พร้อมนำน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ฉีดพ่นบริเวณหลุม เพื่อเป็นการป้องกัน เมื่อวันที่ 15 ม.ค.

เกษตรฯถกพณ.หาเหตุหมูแพง

ที่ตลาดสวี อ.สวี จ.ชุมพร นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลงพื้นที่หาเสียงช่วยลูกพรรค มีเจ้าของร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้ารายหนึ่งกล่าวกับนายจุรินทร์ว่า ขออย่าปล่อยให้ราคาสินค้าขึ้นอีกเลย เพราะตอนนี้ราคาสินค้าขึ้นหนักสุดๆ ขณะที่พัดลมปรับราคาสูงขึ้นตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.2564 โดยนายจุรินทร์กล่าวว่า กำลังแก้ปัญหานี้กันอยู่ โดยราคาไข่ไก่เริ่มลดลงแล้วเมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากได้กำหนดราคากันไว้ว่าราคาขายหน้าฟาร์มอย่าให้เกินฟองละ 2.90 บาท ส่วนสินค้าอื่นๆ ตนจะไปดูแลให้

ขณะที่นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรฯ กล่าวว่า ได้ประสานกระทรวงพาณิชย์ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับราคาสุกรแพง จากกระแสข่าวว่าต้นเหตุเกิดจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (เอเอสเอฟ) จึงตรวจข้อมูล ปี 2564 พบมีลูกสุกรเข้าคอกเลี้ยงเฉลี่ย 350,000 ตัว ปัจจุบันปริมาณลูกสุกรเข้าเลี้ยงก็ยังคงมีตัวเลขใกล้เคียงกัน อีกทั้งยังมีจำนวนสุกรที่เข้าโรงเชือดที่มีปริมาณคงที่มาโดยตลอด จึงน่าสนใจว่าเหตุใดราคาเนื้อสุกรจึงมีราคาแพงขึ้น

ปรับสูตรอาหารหมู-ลดต้นทุน

ด้านน.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า หลังการประชุมหารือกับนายกฯ เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องโรคระบาดในสุกรที่ผ่านมา นายกฯ ได้มอบนโยบายให้กรมปศุสัตว์เร่งแก้ปัญหาในประเด็นราคาเนื้อสุกรแพงที่มาจากหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยด้านต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ที่มีผลมาจากอาหารสัตว์ที่ปรับราคาเพิ่มขึ้น จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ เร่งศึกษาและหาแนวทางในการผลิตอาหารสัตว์เพื่อลดต้นทุนด้านอาหารสัตว์และให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยและรายเล็ก

โดยเตรียมสูตรอาหารสุกรลดต้นทุนสำหรับผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยและรายเล็กที่มีความพร้อมในการนำสุกรเข้าเลี้ยงในการเลี้ยงที่มีการจัดการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ ภายหลังจากผ่านการตรวจประเมินความเสี่ยงโรค ASF ในสุกรตามข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

น.สพ.สรวิศกล่าวต่อว่า ปัจจุบันกรมปศุสัตว์เน้นย้ำการเลี้ยงสุกรในระบบฟาร์มที่มีความปลอดภัยทางชีวภาพทุกขนาดฟาร์มทั้งรายย่อย (จำนวนสุกรน้อยกว่า 50 ตัว) รายเล็ก (จำนวนสุกร 50-500 ตัว) รายกลาง (จำนวนสุกร 500-5,000 ตัว) และรายใหญ่ (จำนวนสุกรตั้งแต่ 5,000 ตัวขึ้นไป) เพื่อเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันโรคและสามารถลดความเสียหายได้ การเลี้ยงสุกรของเกษตรกรที่ต้องซื้อลูกสุกรมาเลี้ยง มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ยในปี 2564 กิโลกรัมละ 78.40 บาท ปรับเพิ่มขึ้นจากปี 2563 อัตรา 14%

21 กพ.จ่อแจกคนละครึ่งเฟส 4

วันเดียวกัน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ความคืบหน้าโครงการคนละครึ่งเฟส 4 ล่าสุด กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. ได้นำเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดการดำเนินโครงการ เช่น จำนวนสิทธิที่จะเข้าร่วมโครงการ วันแรกที่จะเปิดรับลงทะเบียน ซึ่งเบื้องต้นจะเปิดลงทะเบียนวันที่ 14 ก.พ. 65 และเริ่มใช้จ่ายได้ในวันที่ 21 ก.พ. 65

นายธนกรกล่าวว่า สำหรับเงื่อนไข และรายละเอียดว่าจะได้รับตัววงเงินสิทธิจำนวนเท่าใดนั้น ต้องให้คณะกรรมการกลั่นกรองเคาะอนุมัติวงเงินก่อน จากนั้นก็จัดทำแนวทางแล้วนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก แล้วจึงสามารถเปิดลงทะเบียนคนละครึ่งเฟส 4 ให้กับพี่น้องประชาชนได้ต่อไป โดยวงเงินที่จะนำมาใช้จ่ายในโครงการคนละครึ่ง เฟส 4 จะนำมาจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฉุกเฉิน 5 แสนล้านบาท ที่ถูกจัดไว้เพื่อใช้ในการดูแลเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 และก่อนหน้านี้ โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 ยังมียอดใช้จ่ายไม่เต็มจำนวน โดยเหลือวงเงินที่ส่งคืนรัฐอีกประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

โดยโครงการคนละครึ่งเฟส 4 ครอบคลุมกลุ่มคนที่มีแอพฯเป๋าตัง และ ผู้ที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการใหม่ รวมทั้งโครงการอื่นที่ดูแลกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษควบคู่ไปพร้อมกัน

กินปลา – บรรยากาศตลาดค้าปลาใน จ.นครราชสีมา เป็นไปอย่างคึกคัก ตั้งแต่ราคา เนื้อหมูแพง ประชาชนส่วนใหญ่หันมาบริโภคเนื้อปลาแทน เพราะราคาถูกกว่า โดยเฉพาะปลานิลอยู่ที่กิโลกรัมละ 70-80 บาทเท่านั้น จนเกษตรกรเลี้ยงโตแทบไม่ทันขาย เมื่อวันที่ 15 ม.ค.

หันกินปลานิลจนเลี้ยงไม่ทัน

ที่จ.นครราชสีมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ราคาเนื้อหมูสูงขึ้น ถึงกิโลกรัมละ 200-220 บาท ประชาชนส่วนใหญ่จึงหันมา บริโภคเนื้อปลาที่ราคาถูกกว่าแทน โดยเฉพาะปลานิลราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 70-80 บาท เท่านั้น ทำให้ตลาดขายปลาคึกคักมากขึ้น

นางบัวหลัน ทองประดิษฐ์ อายุ 69 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังรายหนึ่งใน อ.พิมาย จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ประกอบอาชีพเลี้ยงปลากระชังขายมานานหลายปีแล้ว ปลาที่เลี้ยงไว้ส่วนใหญ่จะเป็นปลานิลและปลาทับทิม หลังจากที่ราคาเนื้อหมูสูงขึ้น ทำให้คนส่วนใหญ่หันมาซื้อปลานิลไปประกอบอาหารมากขึ้น เพราะยังขายในราคาถูกกว่าเนื้อหมูหลายเท่าตัว ทำให้ปลา กระชังที่ตนเองเลี้ยงไว้ขายดี มีพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสดพิมายมารับซื้อปลานิลและปลาทับทิมไปขายวันละกว่า 200 กิโลกรัม จนปลานิลในกระชังโตไม่ทัน อีกทั้งในช่วงนี้ลูกปลานิลก็เริ่มจะขาดตลาดแล้ว ผู้เลี้ยงปลากระชังส่วนใหญ่ต่างสั่งซื้อลูกปลานิลไปเลี้ยงกันเป็นจำนวนมาก

ที่จ.กาฬสินธุ์ นายวุฒิชัย วังคะฮาต ประมงจังหวัดกาฬสินธุ์ออกตรวจกระชังปลานิลและเยี่ยมเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลในกระชังบริเวณเขื่อนลำปาวพื้นที่อ.สหัสขันธ์ และอ.หนองกุงศรี โดยนายวุฒิชัยกล่าวว่า เขื่อนลำปาวมีเกษตรกรเลี้ยงปลานิลในกระชังจำนวนมาก มีปลาออกสู่ตลาดมากกว่าวันละ 10 ตัน ขณะที่ราคายังคงตรึงไว้เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ในตลาดสดปลานิลสดจะจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 70-90 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทางขนส่งปลา

นายสงวน คุณพิลา เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง อ.สหัสขันธ์ กล่าวว่า ตอนนี้ปลาที่เลี้ยงอยู่มีจำนวนมาก หลังปีใหม่ยังมีปลาที่พร้อมออกสู่ตลาดได้ต่อเนื่อง ปลานิลจะใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 3-4 เดือน โดยปลาที่จะออกจำหน่ายจะมีขนาด 8 ขีด-1.2 กิโลกรัมต่อตัว และมีเกษตรกรเลี้ยงจำนวนมาก ปลานิลน่าจะไม่มีภาวะขาดตลาดสามารถผลิตปลานิลส่งตลาดได้ต่อเนื่อง ซึ่งหลังจากเนื้อหมูราคาสูงขึ้น ปลานิลขายดีเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นแต่ราคาปลายังคงที่ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งหากราคายังอยู่ในระดับนี้เกษตรกรที่เลี้ยงปลากระชังพอใจ

ผักถูกลง-เนื้อพุ่งแตะ 300

ที่จ.ขอนแก่น ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจบรรยากาศการเลือกซื้อสินค้าในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ตลาดสดบางลำภู เขตเทศบาลนครขอนแก่น พบว่า วันนี้ร้านจำหน่ายผักสดแทบทุกแผงมีการปรับชนิดราคาลงเมื่อ เทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ท่ามกลางการเลือกซื้อของลูกค้าทุกเพศ ทุกวัย ที่ต่างทยอยกันมาใช้บริการเลือกซื้อสินค้าต่างๆ กันอย่างคึกคัก ขณะที่ราคาเนื้อวัวชำแหละได้ปรับขึ้นราคาอีกกิโลกรัมละ 30 บาท จากกิโลกรัมละ 270 บาทเป็น 300 บาท

นางพรรณี สีภา เจ้าของร้านแม่เพ็ญผักสด กล่าวว่า ราคาจำหน่ายผักสดขณะนี้นั้นถูกลงเกินครึ่ง ไม่ว่าจะเป็นมะเขือเทศกิโลกรัม 50 บาท จากเดิม 150 บาท, พริกแดงจินดากิโลกรัมละ 60 บาท จากเดิม 170 บาท, กะหล่ำปลีกิโลกรัมละ 25 บาท จากเดิม 50 บาท, โหระพากิโลกรัมละ 50 บาท จากเดิม 90 บาท, ผักชีฝรั่งกิโลกรัมละ 60 บาท จากเดิม 90 บาท, ผักกาดขาวกิโลกรัมละ 25 บาท จากเดิม 60 บาท, คะน้ากิโลกรัมละ 20 บาท จากเดิม 60 บาท และผักชีกิโลกรัมละ 50 บาท จากเดิม 80 บาท แต่ราคาเนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ และน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงแพงอยู่จึงอยากให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาโดยด่วน เนื่องจากขณะนี้ผู้บริโภคแย่แล้ว จึงอยากให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาดูแลให้ราคาลดลงเหมือนผัก ไม่ใช่ขึ้นแล้วไม่ลงเลย เพื่อให้ผู้บริโภคจะได้ไม่ต้องซื้อของในราคาแพงแบบที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้”

นางสุพร ใจสนุก เจ้าของร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อแม่พร กล่าวว่า ราคาวัตถุดิบหลักของทางร้านคือเนื้อวัวที่ใช้ในการทำก๋วยเตี๋ยว ปรับขึ้นราคาเป็นกิโลกรัมละ 300 บาท จากเดิมราคากิโลกรัมละ 270 บาท สอบถามไปยังผู้ที่นำเนื้อวัวมาส่งถึงราคาที่แพงขึ้น ได้รับคำตอบว่ากลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงวัว ส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศเยอะขึ้น ในขณะที่ความต้องการในการบริโภคภายในประเทศมีจำนวนมาก ทำให้ราคาจึงต้องปรับขึ้นตามไปด้วย และยังได้สัญญาณจากร้านจำหน่ายแก๊สหุงต้มว่า ในช่วงเดือนมี.ค. ราคาแก๊สน่าจะปรับราคาสูงขึ้น ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะปรับราคาขึ้นอีกเท่าใด หากถึงตอนนั้นทางร้านก๋วยเตี๋ยวเนื้อของเราก็คงต้องขอปรับราคาจำหน่ายขึ้นจากเดิมอย่างแน่นอน ซึ่งขณะนี้ก็ได้เริ่มทยอยแจ้งลูกค้าไว้แล้วถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

ฟาร์มปลื้มเนื้อจระเข้ขายดี

ที่จ.ยะลา นายเกริกฤทธิ์ โรจนรวีวงศ์ ปศุสัตว์อำเภอเบตง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอเบตง ลงพื้นที่ตรวจติดตามฟาร์มสุกรรายย่อยในพื้นที่ ต.ยะรม ที่เป็นฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม มีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี ตามมาตรฐาน GFM และ GAP เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี และปลอดภัยตามมาตรฐานที่กำหนด พร้อมให้คำปรึกษาเรื่องปัญหาราคาเนื้อสุกรเพิ่มสูงขึ้นในช่วงก่อนเทศกาลตรุษจีนที่ใกล้จะมาถึงนี้ และสร้างความรับรู้และความเข้าใจให้แก่เกษตรกร เรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อ ASF

นายวีระชัย เกษตรกรสุกรรายย่อย กล่าวว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงหมูเพิ่มขึ้น ตั้งแต่การทำฟาร์ม การจัดการอาหารสัตว์ซึ่งขึ้นราคามาหลายรอบแล้ว และยังมีค่าใช้จ่ายอีกหลายอย่าง ราคาหมูจึงปรับเพิ่มขึ้นในช่วงนี้และอาจลากยาวไปถึงช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งตอนนี้มีกระแสข่าวพบการระบาดของโรค ASF ในประเทศ มีความกังวลใจเรื่องโรคอยู่บ้าง จึงได้ปิดพื้นที่ฟาร์ม สั่งห้ามคนนอกเข้า-ออก ฟาร์มเด็ดขาดและทำความสะอาดฆ่าเชื้อทุกวัน เพื่อป้องกันพาหะนำโรคเข้ามาสู่หมูได้

ที่จ.ชลบุรี นายสุเมธ ปัญญาสาคร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีราชาฟาร์มจระเข้และผลิตภัณฑ์ จำกัด ผู้จำหน่ายและส่งออกผลิตภัณฑ์จากจระเข้และฟาร์มเพาะเลี้ยงจระเข้ขนาดใหญ่ กล่าวว่า ขณะนี้ยอดการผลิตเนื้อจระเข้เพื่อป้อนตลาดผู้บริโภคใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี และใกล้เคียงที่มีประมาณ 1,000 กิโลกรัมต่อวัน เริ่มไม่เพียงพอต่อความต้องการหลังประชาชนหันมา บริโภคเนื้อจระเข้แทนเนื้อหมูและไก่มากขึ้น และยืนยันว่าไม่ขึ้นราคา ยังคงขายส่งให้กับคู่ค้าที่ซื้อเนื้อจระเข้ตั้งแต่ 30 กิโลกรัมขึ้นไปในราคากิโลกรัมละ 85 บาทและราคาขายปลีกที่กิโลกรัมละ 120 บาท

ซึ่งก่อนเกิดสถานการณ์เนื้อหมู-ไก่แพงเราผลิตเนื้อจระเข้เพื่อการส่งออกมากถึง 70% และส่งขายในประเทศเพียง 30% แต่ในช่วงนี้สัดส่วนการขายในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 50% แล้วและหากความต้องการยังสูงอยู่ก็เชื่อว่าจะสามารถขยับขึ้นได้อีก 30%

“เชิญชวนนะครับให้คนไทยหันมารับประทานเนื้อจระเข้เพราะนอกจากจะมีคุณค่าทางอาหารที่สูงมากแล้วยังมีแคลอรี่ที่ต่ำมาก อีกทั้งยังไม่มีไขมันที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจึงเหมาะสำหรับผู้รักสุขภาพ ทั้งนี้ที่ผ่านมาหลายคนอาจไม่กล้ารับประทานเนื้อจระเข้แต่ในวันนี้คงถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะหันมาเปิดใจรับประทานเนื้อจระเข้ เป็นเนื้อทางเลือกที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่สูงมากแทนเนื้อหมูและไก่ที่มีราคาแพง ” นายสุเมธกล่าว

ปาล์มน้ำมันจ่อปรับขึ้น

วันเดียวกัน นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศ ไทย เปิดเผยว่าขณะนี้ยอมรับผลผลิตปาล์มสดออกสู่ตลาดอยู่ที่ประมาณ 700,000-800,000 ตันต่อเดือน ลดลงจากช่วงเดียวกันของก่อนอยู่ที่ประมาณ 900,000-1,000,000 กว่าตันต่อเดือน เนื่องจากผลกระทบในเรื่องของฤดูกาลที่ปกติในช่วงต.ค.-ธ.ค.ของทุกปี ผลผลิตปาล์มสดจะลดลงเพราะปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้ราคาปาล์มสดช่วงนี้ปรับขึ้นไปอยู่ที่กิโลกรัม(ก.ก.) ละ 11 บาท จากเดือนธ.ค.ที่ผ่านมาอยู่ที่ก.ก.ละ 9.90-10 บาท

นอกจากนี้ยังมีผลจากเมื่อช่วงปี 2561-2563 ชาวสวนปาล์มประสบปัญหาราคาปาล์มตกต่ำเพียงก.ก. ละ 2-4 บาท เกษตรกรชาวสวนปาล์มจึงไม่ได้ใส่ปุ๋ยบำรุงปาล์มอย่างเต็มที่ จนรัฐบาลต้องเข้ามาดำเนินโครงการประกัน รายได้ผลผลิตปาล์ม ทำให้ปี 2564-2565 มีผลผลิตออกสู่ตลาดไม่มากนัก

นายมนัสกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ต้องขอติดตามสถานการณ์ปาล์มในช่วงเดือนก.พ.-มี.ค.ที่คาดว่าจะมีผลผลิตปาล์มออกสู่ตลาดมากขึ้น ประกอบกับติดตามเพื่อประเมินแนวโน้มราคาปาล์มอีกครั้งว่าจะไปในทิศทางใด โดยเบื้องต้นคาดว่าปีนี้ทั้งปีจะมีผลผลิตปาล์มสดออกสู่ตลาดประมาณ 16.7 ล้านตัน ใกล้เคียงกับปีก่อน ซึ่งถือว่าเพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศ จากช่วงปกติก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 18-19 ล้านตัน

เวลา 10.30 น. วันเดียวกัน ที่วัดท่าไม้ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร คณะศิษยา นุศิษย์ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “มอบหมู เนื้อแดงและผักปลอดสารพิษ” ให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งก็มีทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ และนักท่องเที่ยวที่มากราบไหว้สักการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของวัดท่าไม้ เข้าคิวรับกันอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งแต่ละคนที่จะเข้ารับหมูเนื้อแดงและผักสดปลอดสารพิษได้นั้น จะต้องผ่านการตรวจคัดกรองจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ อสม.ตามมาตรการของสาธารณสุข และคณะกรรมการโรคติดต่อ จากนั้นก็รับบัตรคิวแล้วเข้าแถวเว้นระยะห่าง ค่อยๆ ทยอยรับกันไปเรื่อยๆ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่วนการแจกนั้นจะแจกหมูให้ครอบครัวละ 1 กิโลกรัม กับ ผักปลอดสารพิษอีก 1 ถุง เพื่อเป็นการกระจายอาหารสู่ผู้บริโภคได้อย่างถ้วนหน้า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน