ต้องแจ้ง‘เลี้ยง-ยอดขาย’สั่งด่วนผู้ว่าฯเข้มของแพงปศุสัตว์ยังไม่เจอกักตุนหมู

พาณิชย์มีมติให้ ‘ไก่-เนื้อไก่’ เป็นสินค้าควบคุม รมต.อู๊ดด้าชงครม.ให้ผู้เลี้ยงไก่ตั้งแต่แสนตัว โรงชำแหละ 4,000 ตัวต่อวัน รวมทั้ง 55 โรงอาหารสัตว์ แจ้งสต๊อก ต้นทุนราคาทุกเดือน พร้อมกำชับห้ามขึ้นราคาปาล์มน้ำมันเด็ดขาด สมาคมผู้เลี้ยงสุกรปูดแก๊งพ่อค้าทุบราคาหมูหน้าฟาร์ม อ้างคนกินน้อยลง-ตลาดเงียบ ปลัดมหาดไทยส่งหนังสือด่วน สั่งผู้ว่าฯ คุมสินค้าแพงในจังหวัด ปรามลักลอบขึ้นราคา ปศุสัตว์หลายจังหวัดลุยเอกซเรย์พื้นที่ ยังไม่พบกักตุน-ลอบค้าเนื้อหมู ขณะที่น้ำมันปรับขึ้นอีกวันนี้ เป็นรอบที่ 5 ในม.ค. ดีเซล 10 สตางค์ต่อลิตร เป็น 29.94 บาท กลุ่มเบนซินขึ้นอีก 50 สตางค์ ทะลุ 40.56 บาทต่อลิตร

ไก่-เนื้อไก่สินค้าควบคุม
เมื่อวันที่ 19 ม.ค. นายจุรินทร์ ลักษณ วิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ว่า ที่ประชุมมีมติกำหนดให้ไก่และเนื้อไก่เป็นสินค้าควบคุม และให้ความเห็นชอบกำหนดมาตรการให้ผู้เลี้ยงไก่ที่มีปริมาณการเลี้ยงตั้งแต่ 100,000 ตัวขึ้นไป และโรงชำแหละไก่ที่มีกำลังการผลิตมากกว่า 4,000 ตัวต่อวัน แจ้งปริมาณ สต๊อก และต้นทุนราคาจำหน่ายทุกเดือน และมีมติให้โรงงานผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 55 โรง แจ้งต้นทุนราคาจำหน่าย ปริมาณการผลิต และสต๊อก รวมทั้งกำหนดมาตรการให้ การปรับราคาต้องได้รับอนุญาตจากกรมการค้าภายใน

นายจุรินทร์กล่าวว่า การกำหนดให้ไก่เป็นสินค้าควบคุมนั้น ต้องผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งคาดว่าจะนำเข้าที่ประชุมครม.ได้ในสัปดาห์หน้า อย่างไรก็ตามขณะนี้ในเรื่องของการกำกับราคาไก่ถือว่าได้รับความร่วมมืออย่างดีจากเกษตรกรและ ผู้ประกอบการ ซึ่งได้ประชุมร่วมกันมา 2 ครั้ง และกำหนดราคาหน้าฟาร์มและราคาจำหน่ายไก่ในราคาที่เป็นธรรมกับผู้บริโภคซึ่งในภาพรวมถือว่าตรึงราคาไก่ไว้ได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน โดยตนมอบหมายให้กรมการค้าภายใน ประชุมร่วมกับเกษตรกรและผู้ประกอบการด้านไก่โดยต่อเนื่อง และใกล้ชิดต่อไป เพื่อไม่ให้มีการซ้ำเติมอาหารทางเลือกกับผู้บริโภค

นายจุรินทร์ยังกล่าวถึงกรณีที่ปรากฏเป็นข่าวว่า เครื่องใช้ไฟฟ้ากำลังจะขึ้นราคาว่า ได้สั่งการผ่านอธิบดีกรมการค้าภายในไปแล้วว่า ห้ามเครื่องใช้ไฟฟ้าขึ้นราคา เพราะยังไม่เห็นเหตุผลที่สมควร ซึ่งขณะนี้มีผู้พยายามฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าตามอำเภอใจ ซึ่งถือเป็นการซ้ำเติมผู้บริโภคมาก ถ้าพบเห็นการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าหรือกักตุนสินค้าให้แจ้งสายด่วน 1569 ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และพาณิชย์จังหวัดจะใช้เป็นข้อมูลในการลงไปตรวจสอบและดำเนินคดีต่อไป ถ้าพบการกระทำผิดกฎหมาย เช่น กรณีของการขึ้นราคาไข่ไก่

ตรวจตลาด – นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ รองผวจ.บุรีรัมย์ นำพาณิชย์จังหวัดออกตรวจเขียงหมู และร้านขายไข่ไก่ทั้งปลีกและส่ง ในเขตเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ พบว่าราคายังเป็นไปตามกลไกตลาด หมูเนื้อแดงก.ก.ละ 215-220 บาท ไข่ไก่เบอร์ 0 ไม่เกินฟองละ4.30 บาท เมื่อวันที่ 19 ม.ค.

ย้ำห้ามขึ้นราคาปาล์มน้ำมัน
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ยังไม่อนุญาตให้สินค้ารายการประเภทใดขึ้นราคา ถ้าจะขึ้นผู้ประกอบการต้องมาขออนุญาตกรมการค้าภายในก่อน ซึ่งในส่วนของสินค้าปาล์มน้ำมันเป็นสินค้าที่พณ.ยังไม่อนุญาตให้ขึ้นราคา หากพบว่ามีผู้ประกอบการรายใดขายปลายทางแพง ถือว่าผิดพ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการ โดยให้ประชาชนที่พบเห็นการเอารัดเอาเปรียบของผู้ประกอบการโทร.สายด่วน 1569 ทางกรมจะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบและดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยหากพบการกักตุนหรือฉวยโอกาสจำหน่ายสินค้าในราคาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งมีโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 140,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่าช่วงปลายปี 2564 นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายในได้ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการโรงสกัดในการตรึงราคาน้ำมันปาล์ม แม้ว่าราคาน้ำมันปาล์มดิบจะมีราคาปรับสูงขึ้นจากเฉลี่ยปี 2563 ที่ 28.10 บาทต่อกิโลกรัม (ก.ก.) เป็นเฉลี่ย เดือนม.ค.-พ.ย. 2564 ที่ 37.24 บาทต่อก.ก. หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 33%








Advertisement

ล่าสุดนายวัฒนศักย์ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยระบุว่าสินค้าเกษตรอื่นๆ ที่ราคาอยู่ในช่วงขาขึ้นก็คือ ปาล์มน้ำมัน ซึ่งในช่วงนี้ถือว่าเป็นปกติเพราะผลผลิตออกมาน้อยตามฤดูกาล แต่คาดว่าเร็วๆ นี้ ราคาจะลดลงมาเนื่องจากผลผลิตจะทยอยออกมาสู่ตลาด ขณะนี้จึงยังไม่น่ามีอะไรต้องจับตาดูเป็นพิเศษ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์ราคาปาล์มน้ำมัน ปาล์มบรรจุขวดในช่วงนี้ เป็นผลต่อเนื่องจากในปีการผลิต 2564 ผลผลิตปาล์มของประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียซึ่งถือเป็นประเทศผู้ผลิตสำคัญมีปริมาณผลปาล์มออกสู่ตลาดลดลงไม่น้อยกว่า 5% เป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อแรงงานและการเก็บเกี่ยวผลปาล์ม ทำให้ภาพรวมปริมาณผลปาล์มในตลาดโลกลดลง และราคาน้ำมันปาล์มตลาดโลกสูงขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถส่งออกน้ำมันปาล์มดิบได้มากขึ้น และราคา ผลปาล์มในประเทศไทยปรับสูงขึ้นตาม โดยในช่วงปลายปี 2564 ปาล์มคุณภาพดีสามารถขายได้ในราคา 10 บาทต่อก.ก. สูงสุดในรอบ 10 ปี จากเดิมราคาเฉลี่ยปี 2563 อยู่ที่ 4.78 บาท ต่อก.ก. หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 41% และราคาก็ยังสูงต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

จับตากพ.แจ้งสต๊อกปาล์ม
นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สาเหตุที่ราคาน้ำมันปาล์มขวดขยับราคาขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นการผลิตในล็อตที่ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจากปีที่แล้ว โดยในปี 2564 ราคาผลปาล์มขยับขึ้นเป็น ก.ก.ละ 9 บาท ถือเป็นราคาที่สูงสุดในรอบ 10 ปี จากก่อนหน้านี้ราคา ก.ก.ละ 8.40 บาท ซึ่งเป็นผลจากตลาดโลกต้องการปาล์มมากขึ้น ขณะที่ประเทศผู้ปลูกปาล์มมีผลผลิตลดลงเนื่องจากประสบภัยแล้ง โดยขณะนี้ในปี 2565 ราคาผลปาล์มของไทยอยู่ระหว่าง 10-11.50 บาท ถือเป็นราคาที่สูงที่สุดเท่าที่ เคยมีมา ขณะที่ผลิตปี 2565 คาดว่าจะออกมาไม่เกิน 16 ล้านตัน ดังนั้น คาดว่าราคาปาล์มน้ำมันจะยังอยู่ในระดับที่สูงประมาณ 6-8 บาทต่อก.ก. และจะไม่ต่ำลงมาเหมือนที่ผ่านมาโดยเฉพาะในปี 2560 ที่ราคาเคยตกต่ำเหลือก.ก.ละ 2-3 บาทเท่านั้น

“การที่ราคาน้ำมันปาล์มปรับสูงขึ้นขณะนี้เป็นไปตามกลไกตลาด หากสินค้ามีน้อยราคาก็ปรับสูงขึ้น อยู่ที่รัฐจะมีมาตรการใดออกมาช่วยเหลือไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ ต้องจับตาดูว่าในวันที่ 5 ก.พ. จะมีการประกาศสต๊อกน้ำมันปาล์มว่ามีอยู่เท่าไหร่ จากล่าสุดที่เคยประกาศในวันที่ 5 ธ.ค.2564 ว่ามีสต๊อกเหลือ 160,000 ตัน โดยทั้งปี 2564 มีสต๊อกเหลือ 80,000 ตัน ซึ่งถือว่ายังต่ำกว่าปกติที่ภาครัฐต้องการให้มีสต๊อกประมาณ 200,000 ตัน เพื่อความมั่นคงทางอาหาร อย่างไรก็ตามก็เป็นไปตามสถานการณ์ของตลาดโลก และต้องจับตาดูผลผลิตในช่วงเดือนก.พ.ถึงมี.ค. เพราะเป็นช่วงที่ลูกปาล์มสดหรือปาล์มทะลายจะออกมาสู่ตลาดประมาณ 800,000-900,000 ตัน ซึ่งคาดว่าจะทำให้ราคาน้ำมันปาล์มในช่วงนั้นปรับตัวลดลงได้บ้าง แต่ก็ยังถือว่าราคาไม่ต่ำลงมากเพราะผลผลิตยังน้อยกว่าปกติจากเดิมที่จะ อยู่ประมาณ 1.2 ล้านตัน” นายมนัสกล่าว

แก้แพง – ตัวแทนเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย ยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาหมูมีราคาแพง พร้อมจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ โดยนำผักโปรยลงบนถนนพิษณุโลก หน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 19 ม.ค.

ยังไม่พบกักตุนซากสุกร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังคำสั่งนายกรัฐมนตรี ในการสแกนทุกพื้นที่เพื่อป้องกันการกักตุนสุกร ซากสุกร รวมถึงลักลอบการค้าซากสุกร เพื่อการส่งออก นายสัตวแพทย์ สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้สั่งการปศุสัตว์ทุกรวมถึงด่านกักกันสัตว์ ทุกพื้นที่เข้าตรวจสอบ

ที่ด่านกักกันสัตว์นครพนม ร่วมกับ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอเรณูนครปฏิบัติหน้าที่เข้าตรวจสอบห้องเย็น เพื่อป้องกันการกักตุนซากสุกร รวมถึงตรวจสอบการลักลอบนำเข้าสัตว์ซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ. โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 จำนวน 2 แห่ง จากการตรวจสอบไม่พบว่ามีการกักตุน ซากสุกร และไม่พบการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558

ส่วนชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจ ด่านกักกันสัตว์ฉะเชิงเทรา ปฏิบัติหน้าที่เข้าตรวจสอบห้องเย็น เพื่อป้องกันการกักตุนซากสุกร ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้สุกรมีราคาที่เพิ่มสูงขึ้น และเป็นแนวทางป้องกันการระบาดของโรค ASF รวมถึงตรวจสอบการลักลอบนำเข้าสัตว์ซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 จากการตรวจสอบพบว่าไม่มีการกักตุนซากสุกรและไม่พบการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยโรคระบาดสัตว์ 2558

ด้านจ.นครนายก ด่านกักกันสัตว์นครนายก ร่วมกับปศุสัตว์จังหวัด เข้าตรวจห้องเย็น ไม่พบการกระทำผิดเช่นกัน

ขึ้นน้ำมันครั้งที่ 5 รอบม.ค.
รายงานข่าวแจ้งว่าหลังจากสิ้นสุดการตรึงราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศในช่วงเทศกาลปีใหม่ ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศได้ปรับขึ้นไปแล้ว 5 ครั้ง ในเดือนม.ค. ได้แก่ วันที่ 5, 8, 11, 14 และล่าสุดวันที่ 20 ม.ค. มีการประกาศปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มดีเซลขึ้นอีก 10 สตางค์/ลิตร มีผลตั้งแต่เวลา 05.00 น. เป็นต้นไป ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซล บี 7 ปรับขึ้นไปแล้วรวม 1.50 บาท/ลิตร อยู่ที่ 29.94 บาท/ลิตร ซึ่งเป็นน้ำมันพื้นฐานที่รัฐยังคงควบคุมราคาไว้ไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร และดีเซล บี20 อยู่ที่ 29.94 บาท/ลิตร เนื่องจากเป็นน้ำมันที่ใช้ในรถบรรทุกที่ขนส่งสินค้า รัฐจึงมีมาตรการตรึงราคาไว้เพื่อไม่ให้ส่งผ่านไปยังต้นทุนราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในตลาด ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ขณะที่ดีเซลพรีเมียม บี7 อยู่ที่ 35.96 บาท/ลิตร

ส่วนราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินวันที่ 20 ม.ค. ปรับขึ้น 50 สตางค์/ลิตร รวมปรับขึ้น 2 บาท/ลิตร ทำให้ราคาน้ำมันเบนซินทะลุ 40 บาท/ลิตรไปอยู่ที่ 40.56 บาท/ลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 33.15 บาท แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 32.88 บาท ยกเว้น อี 20 ปรับขึ้น 30 สตางค์/ลิตร อยู่ที่ 31.64 บาท

ถกคลังลดภาษีดีเซล
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน เตรียมหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณามาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลอีกครั้ง ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ก่อนหน้านี้ที่เคยมีมติให้เจรจากับกระทรวงการคลัง หากเกิดปัญหาราคาน้ำมันแพงเกินคาด เพราะถือเป็นความจำเป็นในการร่วมกันลดภาระให้ประชาชน เนื่องจากล่าสุดราคาน้ำมันดิบตลาดโลกสูงเกินคาดการณ์ไว้ จากปัจจัยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลกหลังโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ประกอบกับความไม่สงบในสหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ ปัญหายูเครน และล่าสุดตุรกีระงับการลำเลียงน้ำมันผ่านท่อส่งที่เชื่อมต่อระหว่างตุรกีและอิรัก จากเหตุระเบิดที่ระบบการขนส่งยิ่งกดดันราคาเพิ่มขึ้น

“ก่อนหน้านี้กระทรวงพลังงานได้เคยหารือกับกระทรวงคลังไปแล้วครั้งหนึ่ง เพื่อขอลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงมา 1-2 บาท/ลิตร จากที่เก็บอยู่ 5.99 บาท/ลิตร แต่กระทรวงการคลังปฏิเสธ มารอบนี้จึงขอหารืออีกครั้ง เพราะราคาน้ำมันสูงเกินคาดการณ์ ซึ่งยอมรับว่ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงแบกรับภาระไม่ไหว” นายวัฒนพงษ์กล่าว

เครือข่ายรามฯจี้แก้หมูแพง
ด้านตัวแทนเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย เข้ายื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาหมูราคาแพง และการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (เอเอสเอฟ) ควบคุมราคาน้ำมัน หากแก้ไขไม่ได้ให้นายกฯ ลาออก ก่อนจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ โดยนำผักมาโปรยลงบนถนนพิษณุโลก โดยกลุ่มผู้เรียกรัองได้ถอดเสื้อออก และใช้แผ่นกระดาษปกปิดร่างกายไว้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรต้องขาดทุน จนหมดตัว มีหนี้สินเพิ่มขึ้น และประชาชนต้องเดือดร้อนจากการที่หมูมีราคาแพง ขณะที่นายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมารับหนังสือ ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เดินทางเข้าปฏิบัติภารกิจที่ตึกไทยคู่ฟ้า ตั้งแต่เวลา 08.45 น.

ลุยฟาร์มหมู – 3 หน่วยงานทั้งปศุสัตว์ พาณิชย์ และเกษตรจังหวัด เข้าตรวจสอบบรรทมฟารม์ หมู ในอ.แกลง จ.ระยอง หลังเจ้าของฟารม์ ออกมาเผยเรอื่ งราคาหมหู นา้ ฟารม์ ก.ก.ละ 60 บาทพบว่าฟาร์มแห่งนี้เป็นคู่สัญญาเลี้ยงหมูกับบริษัทแห่งหนึ่ง เมื่อวันที่ 19 ม.ค.

แฉเล่ห์กดราคา-หมูค้างฟาร์ม
นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ กล่าวถึงสถานการณ์การผลิตสุกรในขณะนี้ ว่า เกษตรกรกำลังได้รับผลกระทบจากภาวะราคาสุกรปรับตัวในช่วงสั้นๆ ที่ผ่านมา โดยเฉพาะผู้รวบรวมสุกร หรือพ่อค้าคนกลาง (broker) เสนอราคาซื้อสุกรต่ำกว่าราคาประกาศ โดยให้เหตุผลว่าประชาชนเริ่มลดการบริโภคเนื้อหมู เนื่องจากราคาหมูที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นปัจจัยลบต่อการตัดสินใจ เลือกซื้อ ปริมาณผลผลิตสุกรอาจเกิดล้นตลาด การกล่าวอ้างของพ่อค้าคนกลางดังกล่าว กลายเป็นผลกระทบเชิงจิตวิทยา ทำให้ผู้เลี้ยงต้องตัดสินใจขายหมูในราคาต่ำกว่าต้นทุน บางฟาร์มขายหมูไม่ออก เพราะผู้ซื้อขอเลื่อน จับหมู บอกว่าการซื้อขายหดตัวอย่างหนัก ส่งผลให้เกษตรกรจำต้องเลี้ยงหมูต่อ ทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น ขณะที่ข้อมูลของพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ระบุว่า ภาวะโรคระบาดส่งผลกระทบให้ปริมาณเนื้อหมูในภาคเหนือลดลงร้อยละ 50 จากปริมาณความต้องการวันละ 6,000-7,000 ตัว จนต้องนำเข้ามาจากภาคอื่น ทำให้มีต้นทุนค่าขนส่งเพิ่ม

“ปัจจุบันเกษตรกรทั่วประเทศต่างร่วมกันรักษาระดับราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มไว้ไม่เกิน 110 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อไม่ให้เป็นจำเลยของสังคมว่า คนเลี้ยงหมูคือต้นเหตุทำให้ราคา หมูแพง แม้ต้องแบกภาระต้นทุนสูง โดยบางฟาร์มต้นทุนพุ่งไป 120 บาทต่อกิโลกรัมแล้วก็ตาม เพราะต้องการให้สังคมเข้าใจ และผ่อนคลายสถานการณ์ให้ดีขึ้น การที่ผู้ซื้อกดราคาหน้าฟาร์มจึงเป็นการซ้ำเติมความทุกข์ของเกษตรกร อาจมีผลต่อการตัดสินใจของผู้เลี้ยงที่กำลังจะกลับเข้าสู่ระบบ ทั้งๆ ที่แนวทางแก้ปัญหาที่หลายฝ่ายดำเนินการอยู่ กำลังขับเคลื่อน ไปในทางที่ดีแล้ว” นายสุนทราภรณ์กล่าว

โต้กักสต๊อกแช่แข็งเก็งกำไร
สำหรับประเด็นที่มีการกล่าวถึงผู้ประกอบการห้องเย็นอาจเก็บสต๊อกไว้เพื่อเก็งกำไรนั้น นายสุนทราภรณ์กล่าวว่า ช่วง 5 เดือนก่อนหน้านี้ เกษตรกรประสบปัญหาภาวะราคาตกต่ำอย่างหนัก จากปริมาณสุกรล้นตลาด ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเก็บเนื้อสุกรเข้าไว้ในสต๊อก แม้ต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก และตามปกติแล้วห้องเย็นจะเก็บสต๊อกสินค้าพื้นฐาน เพื่อรอส่งมอบแก่ลูกค้าประจำ หรือนำไปแปรรูปเป็นสินค้าของตนเอง อย่างไรก็ตาม เนื้อสุกรเป็นสินค้าที่แช่เย็นได้ไม่นาน เนื่องจากจะส่งผลต่อคุณภาพและเกิดการเน่าเสีย ดังนั้นการกล่าวอ้างว่ามีผู้เก็บเนื้อสุกรเพื่อเก็งกำไรนั้นไม่เป็นความจริง

ผู้เลี้ยงค้านนำเข้าหมู
น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวถึงข้อเสนอให้นำเข้าเนื้อสุกรเพื่อเพิ่มปริมาณในประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศในแถบยุโรป ว่า สมาคมและเกษตรกรคัดค้านเรื่องนี้ เพราะนอกจากจะมีความเสี่ยงเรื่องโรคต่างถิ่นที่อาจปนเปื้อนเข้ามากระทบกับฝูงสุกรของไทยแล้ว ยังมีความเสี่ยงที่จะต้องเปิดรับเนื้อสุกรจากยุโรปตลอดไป และมีโอกาสที่จะส่งเข้ามาไม่จำกัด ซึ่งประเด็นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เช่นในเวียดนาม ที่สำคัญ การนำเข้าเนื้อสุกร ชิ้นส่วน และสุกรแปรรูปจากต่างประเทศ มาพยุงราคา เป็นการทำลายกลไกการเลี้ยงสุกรในประเทศ เพราะราคาถูกกว่าไทยมาก จากต้นทุนการเลี้ยงที่ต่ำกว่ามาก เนื่องจากรัฐบาลของต่างประเทศให้การอุดหนุนต้นทุนการเลี้ยง จึงสามารถขายสุกรในราคาถูกได้ ขณะที่ประเทศไทย คนเลี้ยงสุกรต้องแบกรับภาระต้นทุนการเลี้ยงที่พุ่งสูงเองทั้งหมด

น.สพ.วิวัฒน์กล่าวว่า ปัจจุบันผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศ ร่วมกันยืนราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มไว้ไม่เกิน 110 บาทต่อกิโลกรัม. ไปจนถึงเทศกาลตรุษจีน เพื่อลดภาระผู้บริโภค ส่วนทางแก้ที่เหมาะสมของเรื่องนี้คือ ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด หากสุกร มีน้อย ราคาสูงขึ้น ก็จะกดดันให้ความต้องการ บริโภคลดลง ตามกลไกตลาด ในที่สุดปริมาณ และการบริโภคจะกลับสู่สมดุลเอง โดยที่ไม่ต้องมาควบคุมให้เสียเวลา

‘ปลัดเก่ง’จี้ผู้ว่าฯคุมหมูแพง
ด้านนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) กล่าวว่า ตนได้มีหนังสือด่วนถึงผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดสั่งการให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ตามคำสั่งคณะกรรมการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ เรื่อง แต่งตั้งพนักงาน เจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.สำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ พ.ศ.2497 ลงวันที่ 10 เม.ย.2563 พิจารณาให้ความสำคัญกับการออกปฏิบัติหน้าที่ในการสำรวจการกักตุนเนื้อสุกรในพื้นที่ และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามพ.ร.บ.ดังกล่าวอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติจึงได้สั่งการดังนี้

1.ให้ทุกจังหวัดจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (เอเอสเอฟ) โดยมอบหมายปศุสัตว์จังหวัดเป็นเลขานุการ 2.เร่งสำรวจข้อมูลฟาร์มสุกร/จำนวนสุกร/ผู้เลี้ยงสุกร ทั้งรายย่อยและรายใหญ่ที่ได้รับความเสียหายจากการระบาดของโรคเอเอสเอฟ ให้ถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน และเตรียมมาตรการเยียวยาตามระเบียบของทางราชการที่เกี่ยวข้อง

3.กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เฝ้าระวัง ควบคุม กำกับ การเคลื่อนย้ายสุกรและซากให้เป็นไปตามมาตรการที่กรมปศุสัตว์กำหนดอย่างเคร่งครัด 4.มอบหมายสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตรวจตราป้องกันการกักตุนเนื้อสุกร และกำกับดูแลร้านจำหน่ายเนื้อสุกรชำแหละ ให้ติดป้ายราคาสินค้าอย่างชัดเจน 5.ขอให้อำเภอกำชับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและ เครือข่ายประชาชนในพื้นที่ เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ อย่างใกล้ชิด หากพบสุกรป่วยหรือตายผิดปกติให้แจ้งอาสาปศุสัตว์ประจำหมู่บ้าน หรือเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทันที และ 6.ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารและช่วยเฝ้าระวัง และแจ้งเหตุให้ทราบผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ผ่านโทร.1567 ทันที

รถพุ่มพวง – กระทรวงพาณิชย์ นำรถโมบายสินค้าราคาถูก อาทิ เนื้อไก่ เนื้อหมู น้ำมันปาล์ม น้ำตาลทรายมาจำหน่ายบรรเทาวิกฤตสินค้าแพง โดยมีประชาชนไปจับจ่ายซื้อหา ที่สโมสรหมู่บ้านเสนานิเวศน์ กทม. เมื่อวันที่ 19 ม.ค.

จับฉวยกักตุน-ขึ้นราคาสินค้า
“พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนมาตลอด ได้เน้นย้ำกับหน่วยงานในสังกัดให้สอดส่องดูแลเพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ปัญหาเนื้อสุกรมีราคาแพงถือเป็นปัญหาเร่งด่วนที่กระทบต่อปากท้องของประชาชนโดยตรง ต้องเร่งแก้ปัญหา ส่วนผู้ประกอบการหรือผู้ค้าเนื้อสุกรอย่าได้ซ้ำเติมประชาชน ฉวยโอกาสกักตุนเพื่อให้เนื้อสุกรขาดแคลนในท้องตลาด แล้วนำออกจำหน่ายในราคาสูง ทางเจ้าหน้าที่จะต้องกวดขัน ออกสำรวจการกักตุนเนื้อสุกรในพื้นที่หากพบว่ามีการฝ่าฝืนต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด นอกจากนี้ได้มอบหมายให้รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ฝ่ายความมั่นคง เร่งตรวจสอบข้อมูลและความจำเป็นในการตรวจตราสินค้าบริโภคอุปโภคอื่นๆ ไม่ให้ขึ้นราคาด้วย รวมถึงขอให้อธิบดีกรมการปกครองกำชับกวดขันให้ป้องกันจังหวัดและนายอำเภอทุกแห่ง เร่งดำเนินการแล้วรายงานผลการปฏิบัติงานให้ทราบด้วยทุกวันจันทร์ จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ” นายสุทธิพงษ์กล่าว

กล้วยทอดขอนแก่นคิดพักขาย
ที่จ.ขอนแก่น จากปัญหาราคาน้ำมันปาล์ม ที่ปรับขึ้นล่าสุดอยู่ที่ขวดละ 59 บาท นาย พงษ์ศักดิ์ ศิริกุล เจ้าของร้านขายกล้วยทอดขอนแก่นชื่อดัง กล่าวว่า แม้ร้านยังคงจำหน่ายราคาเดิม แต่ลดปริมาณลง คือ เดิมขาย 12 ชิ้นในราคา 20 บาท แต่ตอนนี้ลดลงเหลือ 8 ชิ้น 20 บาท ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เข้าใจ แต่หากน้ำมันปาล์มขึ้นราคาจนถึงขวดละ 60 บาท อาจตัดสินใจหยุดพักขายชั่วคราวเพื่อทำใจ

ปศุสัตว์-พณ.ตรวจฟาร์มระยอง
วันเดียวกัน นายพนธ์สมิทธิ์ กลางนภา ปศุสัตว์จังหวัดระยอง น.ส.สุวีรยา ปั้นปาน พาณิชย์จังหวัด นายธนโชค พงษ์ชวลิต เกษตร และสหกรณ์จังหวัด และนายอธิพงษ์ ตันศิริ ปลัดฝ่ายป้องกันอำเภอแกลง ได้เดินทางมาที่ฟาร์มหมู ในพื้นที่ต.ห้วยยาง อ.แกลง เพื่อตรวจสอบกรณีที่เจ้าของฟาร์มออกมาเปิดเผยเรื่องราคาหมูและไม่มีคนซื้อ

ด้านนายพนธ์สมิทธิ์ กล่าวว่า เตรียมประสานทางบริษัทคู่สัญญามาพูดคุยกันว่าจะสามารถเพิ่มราคาให้กับผู้เลี้ยงตามเหมาะสมได้ไหม ซึ่งจะมีการพูดคุยกันต่อไป

เจ้าของฟาร์มเครียด
ด้าน นางปริญทิพย์ ศึกษา เจ้าของฟาร์มกล่าวว่า หลังจากที่เป็นข่าว รู้สึกเครียดมาก ทั้งผู้ติดต่อจะมาซื้อหมู และภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้ติดต่อเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน