ระดมป้องกันอ่าวพร้าว ห้ามจับสัตว์น้ำ 1เดือนหวั่นเจอสารปนเปื้อน แม่รำพึงโล่งไม่มาเพิ่ม แม่ค้าโวยขายของไม่ได้

คราบน้ำมันรั่วลามต่อ จ่อเข้าเกาะเสม็ด เจ้าหน้าที่ระดมกำลังปกป้องอ่าวพร้าว หวั่นกระทบสัตว์น้ำและแนวปะการัง สั่งระดมทุ่นยาง เรือสกัดเต็มกำลัง ส่วนคราบน้ำมันที่หาดแม่รำพึงคลี่คลายแล้ว เจ้าหน้าที่ใช้สารเคมีฉีดพ่น แต่ยังต้องปิดหาดต่อ ชาวประมง พื้นบ้าน ร้านอาหารโอดครวญ ค้าขายไม่ได้ วอนรัฐเยียวยา ด้านจนท.เตือนห้ามจับสัตว์น้ำต่อไปอีก 1 เดือน หวั่นการปนเปื้อน สธ.ก็เตือน หวั่นเกิดสารก่อมะเร็ง ด้านอัยการแนะแนวทางเรียกร้องค่าเสียหายจากเอสพีอาร์ซี

ซับคราบ – เจ้าหน้าที่สวมใส่ชุดป้องกันเคมี ระดมใช้กระดาษชนิดพิเศษซับคราบน้ำมันตามชายหาดหินขาวหินดำ ใกล้หาดแม่รำพึง ต.เพ อ.เมือง จ.ระยอง ขณะที่คราบน้ำมันก้อนใหญ่มุ่งเข้าอ่าวพร้าว เกาะเสม็ดแล้ว เมื่อวันที่ 30 ม.ค.

เร่งเก็บกู้น้ำมันรั่วถึงหาดแม่รำพึง
จากกรณีน้ำมันดิบของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC รั่วไหลจากท่อใต้ทะเลของทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเล ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุด จ.ระยอง ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ 20 กิโลเมตร เมื่อช่วงค่ำ วันที่ 25 ม.ค. โดยคราบน้ำมันถูกคลื่นซัดใกล้ชายหาด เจ้าหน้าที่ต้องนำบีชบูมยาวกว่า 350 เมตร มากางเพื่อสกัดคราบน้ำมันตามแนวชายหาดข้างท่าเทียบเรือไออาร์พีซี ต.เชิงเนิน อ.เมือง และชายหาดแม่รำพึง ต.เพ อ.เมือง ล่าสุดคราบน้ำมันลอยเป็นเขม่าสีดำมาบริเวณหาดแม่รำพึง ต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง เป็นระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร และมีแนวโน้มจะขึ้นเรื่อยๆ จนเต็มทั้งหาด จนผู้ว่าฯระยอง ต้องปิดชายหาดแม่รำพึง ห้ามผู้ไม่เกี่ยวข้องเข้าออกเพื่อป้องกันอันตรายตามที่รายงานไปก่อนหน้านี้

ความคืบหน้าเมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 30 ม.ค. นายสุรินทร์ สินรัตน์ ที่ปรึกษานายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า จากเฝ้าระวังโดยศูนย์บัญชาการปฏิบัติการกู้คราบน้ำมันรั่วไหลกลางทะเล จังหวัดระยอง การเฝ้าระวังป้องกันชายฝั่ง มีเรือปั่นไฟส่องสว่าง เฝ้าระวังตลอดทั้งคืน 3 ลำ ปฏิบัติการในทะเลห่างฝั่ง 2 ก.ม.เรียงเป็นหน้ากระดานห่างกันลำละ 600 เมตร สังเกตการณ์ร่องน้ำระหว่างลานหินดำ-ก้นอ่าว และร่องน้ำเขาแหลมหญ้า-อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด หากพบคราบน้ำมันเข้ามาใกล้ระยะประมาณ 2,000 เมตร ให้รีบแจ้งมายังฝั่งเพื่อจะเตรียมการรับมือ ทั้งนี้เรือเฝ้าระวังต้องมีต่อไปสักระยะ เพื่อเฝ้าระวังก้อนน้ำมันใช้สารเคมีฉีดสลาย อาจจะจับตัวกันใต้ท้องทะเลที่มองไม่เห็น พัดเข้าฝั่งส่งผลกระทบเสียหายได้ในวงกว้าง

สำหรับมวลคราบน้ำมันจุดหนาแน่น หรือไข่แดง รวมทั้งเป็นฟิล์มบางๆ ที่พบมีประมาณ 51 ตร.ก.ม.หรือ 32,000 ไร่ จากภาพถ่ายดาวเทียมของจิสต้า พบว่าทิศทางหัวของคราบน้ำมัน กระแสน้ำพัดมุ่งเข้าอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด เคลื่อนตัวอย่างช้าๆ อย่างไรก็ตามต้องดูว่าจะถึงฝั่งเวลาใด ทั้งนี้ในการรับมือทางกรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชผนึกกำลังกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รับมือเพิ่มสารเคมีฉีดสลายกลางทะเล และติดตั้งทุ่นร่องน้ำป้องกันพื้นที่เกาะเสม็ดเต็มที่ เนื่องจากเป็นแหล่งปะการังและหญ้าทะเลจำนวนมาก

ส่วนที่หาดแม่รำพึงในช่วงเช้าคราบน้ำมันได้หมดไปแล้ว หลังน้ำขึ้นได้ซัดหายไป พร้อมกับการเก็บกู้ของเจ้าหน้าที่ที่เร่งกันกำจัดคราบน้ำมันตลอดทั้งคืน มีการวางทุ่นเพิ่มที่หาดก้นอ่าว ซึ่งอยู่ในระนาบเดียวกับหาดแม่รำพึง ซึ่งมีฝนตกลงมาด้วย

ประมงพื้นบ้าน-ร้านอาหารส่อเจ๊ง
ต่อมาเมื่อเวลา 10.30 น. นายสำออย รัตนวิจิตร นายกสมาคมประมงพื้นบ้านเรือเล็กระยอง พร้อมด้วยสมาชิก เดินทางมายัง บริเวณหาดแม่รำพึง ต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง ตรงจุดที่เกิดคราบน้ำมันเข้ามาเกยชายหาด เพื่อร่วมสังเกตสถานการณ์

นายสำออยกล่าวว่า ในฐานะนายก สมาคม เป็นตัวแทนเรือเล็กระยองกว่า 3 พันลำเพื่อสะท้อนถึงปัญหาที่เกิดตามมาหลังจากน้ำมันรั่ว ต้องการให้ทางบริษัท SPRC เปิดเผยความจริงเกี่ยวกับจำนวนน้ำมัน เพราะชาวประมงทราบดีว่ามีจำนวนมากกว่าการรั่วครั้งก่อนแน่นอน การใช้สารเคมีนับแสนลิตรฉีดสลายคราบน้ำมัน เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมใต้ทะเลอย่างแน่นอน สัตว์ทะเลหนีหายหมด

“หลังเกิดเหตุน้ำมันรั่ว ชาวประมงเรือเล็กเกือบทั้งหมดต้องหยุดออกหาปลา เพราะปลาลดจำนวนลง ที่สำคัญคือไม่สามารถขายสัตว์ทะเลที่จับมาได้ เพราะผู้บริโภคกลัวคราบน้ำมันปนเปื้อน ปัญหาหนักคือเรื่องรายได้ของชาวประมง การกอบกู้ธรรมชาติทางทะเลให้กลับมาปกติเหมือนเดิม พร้อมทั้งให้ทางบริษัท SPRC เปิดการรับข้อเสนอของขาวประมง หากยังไม่มีการเปิดรับหรือไม่มีความรับผิดชอบต่อความเสียหาย ก็จะเสนอต่อ นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผวจ.ระยอง เพื่อให้เป็นเสาหลักในการแก้ปัญหา และทางสมาคมฯจะทำการฟ้องร้องตามกฎหมายต่อไป”

นางอัมพร แซ่เหลา อายุ 40 ปี เจ้าร้าน อาหารเจ้แมวซีฟู๊ด ริมหาดแม่รำพึง กล่าวว่า ร้านตนเองอยู่ตรงจุดศูนย์กลางของน้ำมันเกยหาด ก่อนที่คราบน้ำมันจะเข้ามา ร้านค้าทุกร้านเตรียมลงอาหารสดไว้ทุกร้าน ที่ร้านตนเองลงอาหารไปกว่า 3 หมื่นบาท แต่มีการประกาศปิดหาด ตกใจมาก แล้วจะขายใคร ขาดทุนยับ ของสดที่สั่งมาไม่รู้จะทำอย่างไร ขอความชัดเจนจากจังหวัดในเรื่องการประกาศข้อกำหนดต่างๆ รวมถึงเรื่องการเยียวยาจะมีการช่วยเหลืออย่างไร

ต่อมาชาวประมงและเจ้าของร้านอาหารริมหาดแม่รำพึง ประมาณ 100 คน ที่ได้รับความเดือดร้อนแห่กันไปที่บริเวณกลุ่มประมงพื้นบ้านคลองกะเฌอ ริมหาดแม่รำพึง เข้าใจผิดคิดว่ามีการเปิดจุดให้ลงทะเบียนรับการเยียวยา แต่ปรากฏว่าต้องผิดหวัง เพราะไม่มีการเปิดรับการเยียวยาแต่อย่างใด

ชี้กระแสลมซัดเข้าอ่าวพร้าว
ต่อมาเวลา 15.30 น. นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผวจ.ระยอง ได้กล่าวว่า ขณะนี้เปิดศูนย์รับร้องเรียน จากผู้ได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมันของ บริษัทสตาร์ปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) โดยมี 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมารับเรื่อง ประกอบด้วย ศูนย์ดำรงธรรม อบต.ตะพง และ อบต.เพ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ ที่คราบน้ำมันลอยเข้ามาในชายหาด โดยเปิดศูนย์ภายในหมู่บ้านสบายสบาย ริมหาดแม่รำพึง ต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกคนสามารถนำหลักฐาน เข้ามาแจ้งด้วยตนเอง

นายไวฑูรย์ เกิดมณี อายุ 45 ปี อยู่บ้าน เลขที่ 82/3 ม.5 ต.ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง ได้กล่าวว่า ตนเองมีอาชีพหาหอยตลับ โดยออกไปดำหาหอยทุกวัน หลังจากน้ำมันรั่วก็ไม่สามารถหาหอยได้เลย จึงหยุดการออกเรือ ต้องสูญเสียรายได้ 3-5 พันบาทต่อวัน จึงนำหลักฐานเข้ามาร้องเรียน เพื่อให้เกิดการเยียวยา เพราะยังไม่รู้จะหาเงินจากไหน เพราะการทำประมงคืออาชีพเดียวที่เลี้ยงครอบครัว

นายดำรงศักดิ์ อบเหลือง นักวิชาการสุขาภิบาล อบต.เพ ระยอง เจ้าหน้าที่ที่รับเรื่องร้องเรียน เปิดเผยว่า หลังเปิดศูนย์เริ่มมี ผู้เดือดร้อนทยอยเข้ามา แต่ก็ยังไม่มาก เพราะเพิ่งเปิดวันแรก ชาวบ้านจึงอาจจะไม่ทราบเรื่อง คาดว่าหลังจากมีการประชาสัมพันธ์ออกไป จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

ก่อนหน้านี้เมื่อเวลา 12.30 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นั่งเฮลิคอปเตอร์บินด่วนไปติดตามการแก้ไขปัญหาคราบน้ำมันดิบรั่วบริเวณหาดแม่รำพึง อ.เมืองระยอง โดยนายวราวุธกล่าวว่า สถานการณ์คราบน้ำมันที่หาดแม่รำพึง จากทิศทางลมและคลื่นทะเลทำให้ปริมาณน้ำมันเป็นกลุ่ม และแตกตัวไม่ได้เข้ามาหาดแม่รำพึงมากเท่าที่คิด เป็นสัญญาณที่ดี นักท่องเที่ยวและประชาชนอยู่ในสถานการณ์ปลอดภัยแล้ว แต่อย่างไรก็ขอห้ามเข้าพื้นที่หาดบริเวณที่มีคราบน้ำมันจะทำให้ปนเปื้อน

ทั้งนี้ได้เสนอประชุมให้ปกป้องอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด ซึ่งพบทิศทางคราบน้ำมันกลุ่มใหญ่กำลังเคลื่อนตัวเข้าเกาะเสม็ดจำเป็นต้องปกป้องอ่าวพร้าวอย่างเร่งด่วน ซึ่งอ่าวพร้าวมีลักษณะอ่าวที่เว้าเข้าไป ถ้าน้ำมันเข้ามีทั้งหาดทราย ปะการังน้ำตื้นได้รับความเสียหายอย่างหนัก เบื้องต้นจะมีการระดมกำลังทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทำทุกวิถีทางกันคราบน้ำมันกลุ่มใหญ่ดังกล่าว ไม่ให้เข้าเกาะเสม็ดจะระดมทั้งทุ่นยาง หรือบูม และเรือสกัดเต็มกำลัง

เตือนห้ามจับสัตว์น้ำ 1 เดือน
“จากการคาดการณ์การเคลื่อนตัวของคราบน้ำมันโดยใช้โปรแกรม Oil Map พบว่าคราบน้ำมันจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ชายฝั่งหาดแม่รำพึง ในวันที่ 28 ม.ค. เวลาประมาณ 17.00 น. โดยหลังจากที่น้ำมันมีการเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งตามการคาดการณ์เมื่อเวลา 22.00 น. ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถรับมือ และดำเนินการการเก็บกู้คราบน้ำมันได้อย่างรวดเร็วจนสถานการณ์ปัจจุบันได้กลับเข้าสู่สภาพปกติ และจากข้อมูลแนวลมเคลื่อนตัวจากทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออกทำให้หาดแม่รำพึงมีความปลอดภัย แต่ยังมีกลุ่มคราบน้ำมันที่ยังลอยอยู่ซึ่งคาดว่าจะเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด แต่เนื่องจากมีช่องแคบประมาณ 500 เมตรที่จะป้องกันไม่ให้คราบน้ำมันขึ้นชายฝั่งได้ จึงขอให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องระดมสรรพกำลังในการเตรียมความพร้อมรับมือ” นายวราวุธกล่าว

นายวราวุธกล่าวว่า ส่วนการเฝ้าระวัง ขอให้จังหวัดประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชน งดจับสัตว์น้ำประมาณ 1 เดือน ในเบื้องต้นจังหวัดจะดูแลประสานช่วยเหลือการเยียวยาให้กับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ ส่วนการฟื้นฟูและประเมินความเสียหายด้านทรัพยากรทางทะเล จะดำเนินการฟ้อง ร้องเรียกค่าเสียหายกันต่อไป ขอให้จังหวัด เข้มงวด ตรวจตราโรงงานในพื้นที่ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการจะต้องหมั่นตรวจตราอุปกรณ์เครื่องมือ ทั้งที่อยู่บนบก และในทะเล ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ เนื่องจากการฟื้นฟูทรัพยากรจะใช้งบประมาณมากกว่าการป้องกันที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี กำชับให้ทุกหน่วยงานเร่งฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้อยู่ในสภาพปกติโดยเร็ว ทั้งนี้ในส่วนของ ทส. โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะดำเนินการตรวจสอบ และเฝ้าระวังผลกระทบที่จะ เกิดขึ้นกับทรัพยากรทางทะเล และ คพ. จะติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเล และ จะรายงานผลคุณภาพน้ำเพื่อให้มั่นใจว่าสถานการณ์จะเข้าสู่สภาพปกติ

เต่ากระ – ชาวบ้านพบซากเต่ากระขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตายกลางทะเล ตรงข้ามเกาะเสม็ด จ.ระยอง ห่างจากจุดน้ำมันรั่ว 2 ไมล์ทะเล ก่อนมอบให้เจ้าหน้าที่นำไปตรวจพิสูจน์สาเหตุการตาย เกี่ยวกับน้ำมันรั่วหรือไม่ เมื่อวันที่ 30 ม.ค.

สลด‘เต่ากระ’ลอยตาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากเหตุน้ำมันรั่ว มีการโพสต์ภาพเต่ากระ ตัวยาวกว่า 1 เมตร ตายอยู่ในทะเลใกล้จุดน้ำมันรั่ว โดย นาย อัษวัฒน์ ยมจินดา นักตกปลากลุ่มบ้าน เพฟิชชิ่งทีม ผู้ใช้เฟซบุ๊ก ชื่อ bas Fishing Man ที่พบเต่ากระตาย เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเช้าตนออกแล่นเรือออกไปตกปลาในทะเลช่วงตรงข้ามเกาะเสม็ดห่างจากจุดที่เรือกำลังกำจัดคราบน้ำมัน ประมาณ 2 ไมล์ทะเล ปรากฏว่า พบเต่ากระความยาวประมาณ 1 เมตร ลอยตายอยู่ในทะเล เข้าไปตรวจสอบพบว่าเพิ่งตายไม่นาน โดยไม่พบบาดแผล จึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อย เพราะเต่าเป็นสัตว์ที่มีความทน ไม่ค่อยพบตาย ส่วนใหญ่จะพบแต่ตัวเป็นๆ จึงแจ้งทางเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้าหมู่เกาะเสม็ด ตรวจพิสูจน์ว่าตายจากสาเหตุใดกันแน่

ทั้งนี้เต่ากระมีลักษณะคล้ายเต่าตนุ (Chelonia mydas) โดยที่เป็นเต่าทะเลขนาดกลาง มีลำตัวไม่ใหญ่มากนัก จะงอยปากแหลมงองุ้มคล้ายกับจะงอยปากของนกเหยี่ยว มีเกล็ดบริเวณหัวด้านหน้า 2 คู่ และเกล็ดบริเวณด้านข้างข้างละ 4 เกล็ด ลักษณะของกระดองมีลวดลายและสีสันสวยงาม ขอบกระดองเป็นหยักโดยรอบ ซึ่งในอดีตมักจะถูกนำไปทำเป็นเครื่องประดับและข้าวของต่างๆ เช่น หวี เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดความยาวประมาณ 100 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 120 กิโลกรัม

เต่ากระพบกระจายพันธุ์ในเขตอบอุ่นในมหาสมุทรทั่วทั้งโลก โดยมักอาศัยอยู่ใกล้ชายฝั่งที่สงบเงียบไม่มีการรบกวน จากการศึกษาพบว่าเต่ากระกินทั้งพืชและสัตว์ โดยใช้ปากที่งองุ้มนี้กินทั้งสาหร่ายทะเล, หญ้าทะเล รวมทั้งสัตว์น้ำประเภทต่างๆ รวมถึงปะการังด้วย วางไข่บนชายหาดครั้งละ150-250 ฟอง

จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครอง สัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 และจัดเป็น 1 ใน 4 ชนิดของเต่าทะเลที่พบได้ในน่านน้ำไทย

อัยการจี้เรียกค่าเสียหายเอกชน
นายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการในหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานกระบวนการยุติธรรม สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด โพสต์เฟซบุ๊กให้ความเห็นข้อกฎหมาย ข้อกฎหมายการ เรียกร้องค่าเสียหายจากเอกชน กรณีน้ำมันรั่วที่ระยอง ว่า กรณีน้ำมันดิบของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC รั่วไหลจากท่อใต้ทะเลของทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเล บริเวณมาบตาพุด จังหวัดระยอง ว่า ในการเรียกร้องค่าเสียหายจากเอกชน ภาครัฐมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ ทรัพย์สินของรัฐ และค่าใช้จ่ายในการขจัดคราบน้ำมันที่รั่วไหลจากบริษัท SPRC ได้ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฯ มาตรา 96 ที่กำหนดว่า กรณีที่มีการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษทำให้ทรัพย์สินของรัฐ เสียหาย ไม่ว่าการรั่วไหล หรือแพร่กระจายของมลพิษนั้นจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่อของเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษหรือไม่ก็ตาม รวมทั้งในกรณีที่มีการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษและราชการต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการขจัดมลพิษที่เกิดขึ้นให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษนั้น มีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่รัฐด้วย ซึ่งเป็น “หลักความรับผิดโดยเคร่งครัด (Strict Liability)” กล่าวคือ เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษต้องรับผิดแม้จะไม่ได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อก็ตาม

นอกจากนี้ยังมีมาตรา 97 ที่กำหนดให้บุคคลที่กระทำหรือละเว้นการกระทำโดย มิชอบด้วยกฎหมายอันเป็นการทำลายหรือทำให้สูญหาย หรือเสียหายแก่ทรัพยากร ธรรมชาติซึ่งเป็นของรัฐ หรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายไปด้วย

สำหรับประชาชนที่ได้รับความเสียหายที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาวประมง ผู้ประกอบการต่างๆ และผู้อยู่อาศัยที่ได้รับผลกระทบ มีสิทธิเรียกร้องให้บริษัท SPRC ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นได้ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฯ มาตรา 96 เช่นเดียวกัน ตามที่มาตรา 96 กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่มีการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพอนามัย หรือเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษนั้น มีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหาย ไม่ว่าการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษนั้นจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษหรือไม่ก็ตาม

และเนื่องจากมีประชาชนผู้ได้รับความ เสียหายเป็นจำนวนมาก โดยมีข้อเท็จจริง และหลักกฎหมายที่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายร่วมกันของกลุ่มประชาชนผู้ได้รับความเสียหาย และมีลักษณะเฉพาะของกลุ่มเหมือนกัน แม้ว่าจะมีลักษณะของความเสียหายที่แตกต่างกันก็ตาม กลุ่มประชาชนผู้เสียหายจึงสามารถแต่งตั้งตัวแทนสมาชิกกลุ่มให้เป็นโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลขอดำเนินคดีแบบกลุ่มพร้อมกับการยื่นฟ้องคดีต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้ โดยประชาชนผู้ที่ได้รับความเสียหายจะอยู่ในฐานะเป็นสมาชิกกลุ่ม และสมาชิก กลุ่มที่เป็นโจทก์จะมีฐานะเป็นคู่ความในคดี โดยการดำเนินคดีแบบกลุ่มเป็นการหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนในการฟ้องคดีของประชาชนและเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีในศาลด้วย

สธ.เตือนเสี่ยงเกิดมะเร็ง
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากการสำรวจข้อมูล พบว่า เบื้องต้นพบคราบน้ำมันดิบบริเวณหาดแม่รำพึง (ลานหินดำ) และในพื้นที่มีสถานประกอบการ 15 แห่ง ตลาดแพปลาประมงพื้นบ้าน 3 แห่ง ซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารเคมีในสิ่งแวดล้อม หากมีการสัมผัสหรือเข้าสู่ร่างกาย โดยผล กระทบต่อสุขภาพแบบเฉียบพลัน เช่น หายใจลำบาก ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน โดยเฉพาะผู้มีอาการภูมิแพ้ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ก็จะทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้นได้ และหากมีการสัมผัสทางดวงตาและผิวหนังโดยตรง อาจ ส่งผลให้ทำให้เกิดการระคายเคือง

นอกจากนี้อาจส่งผลกระทบแบบเรื้อรัง และระยะยาว หากได้รับสารพิษในปริมาณความเข้มข้นเกินมาตรฐาน และได้รับเป็นเวลานานอาจส่งผลต่อระบบไต ตับ ระบบทางเดินอาหาร ระบบสืบพันธุ์ ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบประสาท และในกรณีที่มีการกินอาหารทะเลที่มีสารปนเปื้อนสารโลหะหนักที่เกินค่ามาตรฐาน ในระยะยาวมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้

เพื่อเป็นการเร่งแก้ปัญหาในทุกส่วน กรมอนามัยจึงมีข้อแนะนำสำหรับการปฏิบัติงาน ดังนี้
1.เฝ้าระวังความเสี่ยงสุขภาพบุคคล โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จำแนกความเสี่ยงของผู้รับสัมผัสสารพิษเป็น 3 ระดับ คือ เสี่ยงสูงมาก (เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเก็บกู้คราบน้ำมัน) เสี่ยงปานกลาง (เจ้าหน้าที่ทีมสนับสนุน ในพื้นที่) และเสี่ยงต่ำ (ประชาชนและนัก ท่องเที่ยว) เพื่อการติดตามผลในระยะสั้นระยะกลาง และระยะยาว จัดทำข้อมูลความเสี่ยงสุขภาพรายวันสำหรับผู้ที่มีโอกาสรับสัมผัสสารเคมี ทั้งกลุ่มผู้ปฏิบัติงานและประชาชนเพื่อใช้สำหรับการกำกับ ติดตามและเฝ้าระวังความเสี่ยงสุขภาพในระยะยาวและสำรวจข้อมูลร้านอาหาร หรือร้านจำหน่ายอาหารทะเลพื้นที่

โดยอาศัยความร่วมมือจากชมรม ผู้ประกอบการร้านอาหารในพื้นที่ ให้ ผู้ประกอบการ แจ้งข้อมูลแหล่งที่มาของวัตถุดิบจำพวกอาหารทะเล หรือสัตว์ทะเลที่ใช้ประกอบเป็นอาหารจำหน่ายแก่หน่วยงานในพื้นที่เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจต่อประชาชนในการเลือกซื้ออาหารทะเลที่มาจากแหล่งที่ได้มาตรฐานไม่มีการปนเปื้อนของสารพิษจากคราบน้ำมัน รวมถึงสำรวจข้อมูล เพื่อการกำกับ ติดตาม และป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากการรับสัมผัสสารพิษจากกรณีน้ำมันรั่วไหลในทะเลของกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ เช่น ผู้สูงอายุ หญิง ตั้งครรภ์ และเด็กเล็ก

2.สื่อสารความเสี่ยง สร้างการรับรู้ และมีคำแนะนำประชาชน รวมทั้งสถานประกอบการ ด้วยการให้ประชาชนติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมการรับมือต่อผลกระทบสุขภาพ หลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำในจุดที่มีความเสี่ยงต่อการมีคราบน้ำมันที่ชายหาด หากพบว่ามีอาการผื่นขึ้น ผิวหนังอักเสบบริเวณที่สัมผัสกับคราบน้ำมันให้รีบปรึกษาแพทย์โดยทันที และแจ้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ทราบ

อีกทั้งแนะนำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารและจำหน่ายอาหารทะเลพื้นบ้าน ดูแลป้องกันตนเองจากการรับสัมผัสสารเคมี เลือกหาปลาและจับสัตว์น้ำทะเลในบริเวณที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำมันดิบรั่วไหล เน้นย้ำประชาชนเลือกกินอาหารทะเลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และไม่ได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมันดิบ รวมทั้งสังเกตลักษณะ กลิ่น สี และคราบน้ำมันในสัตว์ทะเลหากพบความผิดปกติให้หลีกเลี่ยงการกิน ส่วนกรณีได้รับกลิ่นไอระเหยจากคราบน้ำมันให้สวมหน้ากากป้องกันสารเคมีตลอดเวลา

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน