ผลิต-ไม่มีอย.ทำเด็กป่วยอื้อ

อย.-ตำรวจปคบ.บุกโรงงาน ไส้กรอกไร้ยี่ห้อ กลางเมืองชลบุรี ต้นตอทำเด็กหลายจังหวัดป่วยเมทฮีโมโกลบิน ตัวซีด หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย ตรวจไม่มีอย. แปะฉลากเถื่อน ไม่ชั่งตวงสารกันเสีย ค่าไนไตรต์สูง สาวเจ้าของโรงงานสารภาพผลิตจริง ทั้งไส้กรอก ลูกชิ้น และหมูยอ พักการผลิตแล้วหลังตกเป็นข่าว แต่ที่ทำเสร็จแล้วแช่แข็งรอขายอีกอื้อ สั่งปิดโรงงาน เอาผิด สถานที่ผลิตไม่ได้มาตรฐานจีเอ็มพี และฉลากไม่มีอย. เก็บสินค้าตรวจหาสารปนเปื้อนเอาผิดเพิ่ม สธ.เตือนภัย สารไนไตรต์ หากกินมากไปทำให้ส่งเลือดออกซิเจนไปเลี้ยง ร่างกายน้อยลง จนอาเจียน หมดสติ หากมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

จากกรณีพบเด็กหลายรายเข้ารักษาตัว ในโรงพยาบาล ด้วยภาวะ เมทฮีโมโกลบิน คือ มีอาการซีดเขียว หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย หลังรับประทานไส้กรอกที่ไม่มียี่ห้อและไม่มี อย.รับรอง ซึ่งเกิดจากวัตถุกันเสียสารไนไตรต์ ที่มากเกินไปทำให้ไปจับกับเลือดแทนออกซิเจน ทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายไม่เพียงพอและเกิดภาวะดังกล่าว เหตุเกิดขึ้นในหลายจังหวัดขึ้นนั้น

ความคืบหน้า เมื่อวันที่ 2 ก.พ. นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ร่วมกับ อย. กองระบาดวิทยาและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ที่มีผู้ป่วย ตรวจสอบพบว่า น่าจะมีแหล่งผลิตที่จ.ชลบุรี ดังนั้น อย.จึงร่วมกับ บก.ปคบ. และสสจ.ชลบุรี ลงพื้นที่โรงงาน เป้าหมายที่ อ.เมือง จ.ชลบุรี พบ น.ส.รักทวี ขุนแพง แสดงตนเป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า โรงงานดังกล่าวมีการทำผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เช่น ไส้กรอก ลูกชิ้น หมูยอ เป็นต้น แต่วันที่เข้าไปไม่พบว่ามีการผลิต แต่พบผลิตภัณฑ์ที่ทำเสร็จแล้วอยู่ในถังแช่แข็งเพื่อรอจำหน่าย

นพ.วิทิตกล่าวว่า เจ้าหน้าที่สอบถามเพิ่มเติม เจ้าของโรงงานรับว่า เป็นผู้ผลิตไส้กรอกตามที่เป็นข่าวจริง แต่หลังเป็นข่าวก็เลิกผลิตแล้ว เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นสถานที่ผลิต พบฉลากผลิตภัณฑ์ไส้กรอกและวัตถุดิบหลายรายการ โดยไม่ได้แจ้งเลขสารบบอาหาร ถือเป็นฉลากไม่ถูกต้อง ส่วนสถานที่ผลิตก็ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน จีเอ็มพี (Good Manufacturing Practice) ได้คะแนนการประเมินเพียง 16.6% มีข้อบกพร่องหลายเรื่อง นพ.วิทิตกล่าว ส่วนการใช้วัตถุเจือปนอาหารที่พบปริมาณไนไตรต์ เกินมาตรฐานนั้น พบว่า มีการใช้แรงงาน คนตักสารไนไตรต์โดยไม่ได้ชั่ง ตวงหรือวัดตามมาตรฐาน แต่กะเกณฑ์ตักใส่ๆ ทำให้ปริมาณไนไตรต์เกินค่าความปลอดภัย สำหรับโรงงานมีกำลังการผลิต 11 แรงม้า พนักงาน 8 คน ซึ่งไม่เข้าข่ายโรงงานตามกฎหมายของกระทรวงอุตสาหกรรม และไม่เข้าข่ายการขอขึ้นทะเบียนอาหารของ อย.

นพ.วิทิตกล่าวต่อว่า เจ้าหน้าที่ได้แจ้งความผิด 3 ประเด็นคือ 1.สถานที่ผลิตไม่ผ่านจีเอ็มพี ปรับ 1 หมื่นบาท 2.การใช้ฉลากไม่ถูกต้อง ไม่มี อย.ปรับ 3 หมื่นบาท และ3.เก็บสินค้าส่งตรวจแล็บเพื่อตรวจหาสารเคมีปนเปื้อน ทั้งไนไตรต์ เบนโซอิกแอซิด และสีผสมอาหาร หากพบว่ามีค่าเกินมาตรฐานจะมีความผิดเรื่องอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท สั่งปิดโรงงาน และอายัดผลิตภัณฑ์อาหารไว้ทั้งหมด จากการสอบถามเพิ่มเติม พบว่ามีการส่งผลิตภัณฑ์อาหารเหล่านี้ไปที่ จ.สมุทรสาคร ก่อนกระจายไปยังทั่วประเทศต่อ แต่ไม่ได้ซัดทอดว่ามีแหล่งผลิตที่อื่นอีก แต่ก็ได้ผลิตมานานแล้ว จึงให้ สสจ.แต่ละจังหวัดไปตรวจสอบทั่วประเทศก่อนหน้านี้ ก็พบอีกหลายแห่ง และสืบหาแหล่งผลิต สำหรับประชาชน การสังเกตรูปลักษณ์อาจเห็นความผิดปกติยาก ขอให้ดูฉลากผลิตภัณฑ์ ส่วนใหญ่มักเขียนระบุว่าเป็นไส้กรอกอะไร มีรูปพรีเซ็นเตอร์ แต่ไม่มีตรา หรือเลขสารบบ อย. จึงขอให้สังเกต เลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ อาหาร หรือพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภค ขอให้ร้องเรียนมาได้ที่ สายด่วน อย. โทร. 1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีเด็กกินไส้กรอกไม่มี อย. แล้วพบ อาการป่วยภาวะเมทฮีโมโกลบิน จำนวน 10 ราย ว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุระหว่าง 1-12 ปี ในจ.เพชรบุรี 3 ราย, ตรัง 3 ราย, เชียงใหม่ 2 ราย, กาญจนบุรี 1 ราย และสระบุรี 1 ราย ทุกรายมีประวัติรับประทานไส้กรอกที่ไม่มียี่ห้อ ก่อนมีอาการประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง 30 นาที โดยอาการที่พบ ได้แก่ อาเจียน ซึม สับสน หมดสติ ผิวหนัง/ปากเขียวคล้ำ ซีด เวียนศีรษะ ปลายมือเขียวคล้ำ และตรวจพบออกซิเจนปลายนิ้วต่ำ

“ไส้กรอกที่ไม่มียี่ห้อหรือไม่ได้มาตรฐาน อาจใช้สารไนเตรตและไนไตรต์ เพื่อเป็นวัตถุกันเสียมากเกินกำหนด โดยทั่วไปในไส้กรอกจะมีสารประเภทไนไตรต์ในปริมาณที่กำหนด เพื่อใช้ในการคงสภาพสีแดงอมชมพูและถนอมอาหาร ซึ่งสธ. กำหนดให้ใส่ไม่เกิน 80 มิลลิกรัม/กิโลกรัมอาหาร หากมีปริมาณเกินที่กำหนดจะทำให้ได้รับไนไตรต์มากเกินไป ซึ่งไนไตรต์จะไปจับกับเลือด ทำให้ส่งออกซิเจน ไปเลี้ยงร่างกายได้น้อยลง เกิดอาการอาเจียน ซึม สับสน หมดสติ ผิวหนัง/ปากเขียวคล้ำ ซีด เวียนศีรษะ ปลายมือเขียวคล้ำ ภายหลัง รับประทาน 2 ชั่วโมง และอาจเสียชีวิตได้ ซึ่งถ้าหากมีอาการดังกล่าวร่วมกับมีประวัติ รับประทานไส้กรอก ให้รีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติเสี่ยง” นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า การเลือกซื้อไส้กรอก ต้องเลือกจากแหล่งที่เชื่อถือได้ สะอาด ปลอดภัย เก็บรักษาในอุณหภูมิเย็นตลอดการจำหน่าย สุขลักษณะของสถานที่ผลิตต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต หรือจีเอ็มพี ให้มีรายละเอียดอย่างครบถ้วน ทั้งชื่อผลิตภัณฑ์ ที่ตั้งของผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตหรือวันหมดอายุ และมีเครื่องหมาย อย. กำกับบนฉลากอาหาร นอกจากนี้ ควรยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” เพราะในอาหารอาจปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียและไวรัสได้ เสี่ยงต่อโรคอุจจาระร่วง และโรคอาหารเป็นพิษได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน