ลงขัน-ประกัน รอผลอีก2ศาล
‘อานนท์-เพนกวิน’ลุ้นได้อิสรภาพ ศาลอาญาให้ประกันตัวแล้วในทุกคดี แต่ยังติดหมายขังของศาลอาญากรุงเทพใต้-ศาลจังหวัดอยุธยา ทนายยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อในวันนี้ พร้อมระดมทุนนำเงินมาวางศาล เนื่องจากกองทุนราษฎรประสงค์มีไม่พอ ม็อบหลายกลุ่มฮือประชิดทำเนียบอีก ทั้งพีมูฟ-เครือข่ายแรงงานไทรอัมพ์และอาชีวะขับไล่บิ๊กตู่ร่วมแต่งดำกดดัน ด้านขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม แถลงการณ์เรียกร้องปลดปล่อยอิสรภาพของประชาชนด้วยการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลังสมาชิกในกลุ่มรวม 16 คนโดนหมายเรียกข้อหาขัดพ.ร.ก.ฉุกเฉินจากเหตุชุมนุมครั้งที่แล้ว ยันไม่ยอมไปพบพนักงานสอบสวนพร้อมจี้ให้ยกเลิกทันที

เมื่อวันที่ 22 ก.พ. นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ เปิดเผยว่าวันเดียวกันนี้ ศาลอาญา มีคำสั่งให้ประกันตัวนายอานนท์ นำภา และนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน ในคดีที่อยู่ในอำนาจศาลอาญาทุกคดี ซึ่งมีประมาณ 9-10 คดี แต่ยังมีคำสั่งขังในศาลอาญากรุงเทพใต้ เเละศาลจังหวัดอยุธยาคาอยู่ จึงปล่อยตัวไม่ได้ ซึ่งทีมทนายความจะดำเนินการยื่นประกันต่อไป

ขณะที่นายนรเศรษฐ นาหนองตูม ทนายความ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์ข้อความว่า ศาลอาญาให้ประกันตัวนายอานนท์ กับเพนกวิน ทุกคดีแล้ว แต่ติดปัญหาเงินกองทุนราษฎรประสงค์ไม่เพียงพอสำหรับวางศาล ขอแรงทุกคนระดมช่วยกันครับ บัญชีธนาคารกสิกรไทย สาขาศาลยุติธรรม เลขที่บัญชี 086-2-70434-7 ชื่อบัญชี ชลิตา บัณฑุวงศ์ และไอดา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา

ทั้งนี้ กำหนดเงื่อนไข ห้ามทำกิจกรรมที่อาจเสื่อมเสียต่อสถาบันและศาลในทุกด้าน ห้ามขัดขวางการพิจารณาคดี ห้ามชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวาย ห้ามออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 21.00-06.00 น. ห้ามออกนอกประเทศ และให้ติดกำไลข้อเท้าอีเอ็ม

วันเดียวกัน นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวกรณีนายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นเรื่องให้ดีเอสไอตรวจสอบดำเนินคดีกับบุคคลและเครือข่ายล้มล้างการปกครอง ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าเรื่องดังกล่าวเป็นการร้องไปยังนายกฯ จากนั้นมีการส่งเรื่องมายังกระทรวงยุติธรรมและส่งต่อมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษในช่วงสัปดาห์นี้

ทั้งนี้ ผู้ร้องต้องการให้ดีเอสไอเข้าตรวจสอบว่ามีบุคคลหรือเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการล้มล้างการปกครอง เป็นบุคคลใดบ้างเพื่อดำเนินคดีอาญา กรณีดังกล่าวนั้นดีเอสไอจะพิจารณาส่งเรื่องไปยังสำนักคดีความมั่นคง เพื่อตั้งสำนวนการสืบสวน จากนั้นจะรวบรวมข้อมูลเสนอให้คณะกรรมการคดีพิเศษซึ่งมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เป็นประธาน เพื่อให้ที่ประชุมร่วมพิจารณาอีกครั้งว่าจะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ เนื่องจากกรณีดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมายคดีพิเศษ มาตรา 23/1 วรรค 2 ซึ่งต้องเสนอให้บอร์ดพิจารณาไม่ใช่คดีความผิดตามบัญชีแนบท้ายตามพ.ร.บ.คดีพิเศษ

นายกฤษฎางค์เปิดเผยอีกครั้งว่าศาลให้วางหลักประกันทั้งหมดรวม 2,079,000 บาท แต่ในตอนแรกหลักทรัพย์จากกองทุนราษฎรประสงค์ไม่เพียงพอ แต่ล่าสุดเวลา 20.30 น. ทราบว่าได้รับเงินมาเพียงพอแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 23 ก.พ.ทีมทนายความก็จะยื่นประกันผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในช่วงเช้า เนื่องจากนายอานนท์ยังติดคดีของศาลอาญากรุงเทพใต้ เเละนายพริษฐ์ติดคดีศาลจังหวัดพระนครศรี อยุธยาอยู่ โดยจะแนบคำสั่งอนุญาตของศาลอาญาให้ทั้ง 2 ศาลพิจารณาประกอบด้วย หากศาลอนุญาตคาดว่าช่วงเย็นนายอานนท์กับนายพริษฐ์จะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

ม็อบกลับมา – พีมูฟ-ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ชุมนุมเรียกร้องปลดปล่อยอิสรภาพของประชาชนด้วยการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน วันเดียวกันเครือข่ายแรงงาน ไทรอัมพ์ และกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นัดชุมนุมประท้วงรัฐบาลเช่นกัน ที่ข้างทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 22 ก.พ.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มผู้ชุมนุมหลากหลายกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มพีมูฟ สหพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย และสหภาพแรงงาน ไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่างๆ โดยกลุ่มพีมูฟ เรียกร้องให้ยกเลิกพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนได้รับหมายเรียกจากการชุมนุมครั้งก่อนๆ ส่วนสหพันธ์เกษตรกรแห่งประเทศไทย ขอให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหาหนี้สินของชาวนาและเกษตรกร ซึ่งเดินทางมาชุมนุมเรียกร้องบริเวณหน้ากระทรวงการคลังนานกว่าหนึ่งเดือน ขณะที่สหภาพแรงงาน ไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย ขอให้รัฐช่วยอนุมัติงบกลางเพื่อช่วยเพราะโรงงานชุดชั้นในได้ปิดตัวลง

ด้านขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ออกแถลงการณ์ เรียกร้องปลดปล่อยอิสรภาพประชาชน ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่าขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ คือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายและกฎหมายของรัฐจากทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค.-3 ก.พ. พวกเราได้ออกมาเคลื่อนไหวยาวนานถึง 15 วัน เพื่อ “ทวงสิทธิ” และ “สร้างอำนาจกำหนดชีวิตประชาชน” จนเมื่อบรรลุข้อเรียกร้องแล้วจึงได้ยุติการชุมนุมและเดินทางกลับภูมิลำเนา ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 8 ก.พ. สน.นางเลิ้งได้ออกหมายเรียกสมาชิกพีมูฟจำนวน 11 คน ข้อหาร่วมกันฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และเมื่อวันที่ 12 ก.พ.ออกหมายเรียกกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่ออกมาเรียกร้องสิทธิร่วมกับพวกเราเพิ่มอีก 6 คนในข้อหาเดียวกัน รวมทั้งสิ้น 2 หมายเรียก มีผู้ถูกออกหมายถึง 16 คน

พีมูฟเห็นว่าการแจ้งข้อกล่าวหาและออกหมายเรียกดังกล่าวคือความไม่เป็นธรรม และยังแสดงให้เห็นถึงความ “หน้าไหว้ หลังหลอก” ของรัฐบาลชุดนี้ เนื่องจากการกลับมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ เป็นไปเพื่อการทวงสิทธิที่รัฐบาลและหน่วยงานรัฐได้พรากไปจากประชาชน ประชาชนมาจากหลากหลายพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดเพื่อเรียกร้องสิทธิที่ตนพึงมี การใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อจัดการเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องที่ไร้มนุษยธรรมอย่างยิ่ง และยิ่งแสดงให้เห็นชัดเจนขึ้นไปอีกว่าตั้งแต่มีการนำพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กลับมาใช้ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. 2563 โดยอ้างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด เป็นเพียงการอ้างมาตรการทางกฎหมายในการ “ปิดปาก” ประชาชนและกดหัวจมดินเท่านั้น

ดังนั้น ขอประกาศจุดยืนของเราต่อเพื่อนๆ ผู้ร่วมอุดมการณ์ และต่อสาธารณชน ดังนี้ ยืนยันว่า การชุมนุมติดตามการแก้ไขปัญหาของพีมูฟเป็นไปตามหลักสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามหลักการประชาธิปไตยที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญทุกฉบับและหลักสิทธิมนุษยชนสากล ไม่ควรถูกจำกัดด้วยพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉะนั้น จะไม่ไปรายงานตัวตามหมายเรียก ที่นัดหมายให้เข้าพบพนักงานสอบสวนในวันเดียวกันนี้

ขอเรียกร้องให้ยกเลิกการออกหมายเรียกตัวแทนพีมูฟและนักเคลื่อนไหวทั้ง 16 คนโดยทันที และต้องยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตลอดจนยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่ถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิของประชาชนอย่างพร่ำเพรื่อ

หลังจากนี้ พีมูฟจะประสานงานเครือข่ายทั่วประเทศเพื่อติดตามให้ยกเลิกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต่อไป เพื่อปลดปล่อยอิสรภาพของพวกเราในนามประชาชนให้สามารถมีสิทธิ มีเสียงบนแผ่นดินประเทศนี้อย่างแท้จริง

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศ ก่อนการชุมนุมของกลุ่มอาชีวะขับไล่นายกฯ แยกมัฆวาน ถนนราชดำเนินนอกโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตู้คอนเทนเนอร์ปิดสะพานมัฆวาน ที่จะมุ่งหน้าทำเนียบรัฐบาล รถทุกชนิดไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ทุกคันต้องเข้าถนนกรุงเกษม มุ่งหน้าแยกสะพานเทวกรรม โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้ย้ายมาชุมนุมที่บริเวณแยกสนามม้านางเลิ้ง ซึ่งมีกลุ่มผู้ชุมนุมทยอยเดินทางเข้าพื้นที่ โดยส่วนใหญ่กลุ่มผู้ชุมนุมจะสวมชุดสีดำ และมีการ์ดของกลุ่มอยู่บริเวณแยกนางเลิ้ง ซึ่งทำเป็นทางเข้า
ขณะที่ผู้สื่อข่าวกำลังถ่ายภาพบรรยากาศ จะมีกลุ่มการ์ดเดินมาขอความร่วมมือ บอกถึงกติกาในการถ่ายภาพในพื้นที่ชุมนุม โดนห้ามถ่ายป้ายทะเบียนรถ ห้ามถ่ายหน้าผู้ชุมนุม

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมครม.ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ฝากผู้เกี่ยวข้องให้ดูแลกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล และพื้นที่โดยรอบ รวมทั้งสถานที่ต่างๆ หากเกี่ยวข้องกับหน่วยงานใดให้ชี้แจงและติดตามแก้ไขปัญหา ยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการเร่งแก้ปัญหาความยากจน มุ่งไปสู่รายครัวเรือน โดยลงลึกในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และยึดหลักการอยู่รอด พอเพียง และยั่งยืน เพื่อให้เป็นผลงานของรัฐบาล ประเทศชาติ และประชาชน

ด้านนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กล่าวถึงกรณีที่เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิมนุษยชนมาชุมนุมกดดันที่หน้าทำเนียบรัฐบาลระหว่างประชุมครม. เพื่อเรียกร้องให้ใช้งบกลางมาเยียวยาก่อนแล้วค่อยไปเรียกเก็บจากนายจ้างว่า เราเยียวยาตามกฎหมายไปแล้วทุกอย่างทุกมิติ 30 กว่าล้านบาท แต่ไม่สามารถนำงบกลางมาจ่ายแทนนายจ้างได้ ไม่อย่างนั้นทั่วโลกก็ทำแบบนี้กันหมด ดังนั้น เราจะเรียกร้องอะไรต้องอยู่ในกรอบประชาธิปไตยและกฎหมายประเทศนั้นๆ เพราะเป็นภาษีของประชาชนทุกคน เอามาทำแบบนี้มันถูกต้องหรือไม่ ส่วนจะไปพูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุมอย่างไร นายสุชาติตอบว่ารู้อยู่แก่ใจว่าคืออะไร ใครอยู่เบื้องหลัง คนที่เป็นแกนนำก็เห็นมาชุมนุมทุกกลุ่ม ไม่รู้ว่าอยู่ตำแหน่งอะไรในสหภาพ เป็นเรื่องของสามัญ สำนึกของคนเป็นแกนนำต้องรู้ว่าทำถูกหรือทำผิด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน