ทำใจทะลุ 30บ.พลังงานถกแก้ตู่แนะประหยัดล้างแอร์-ปิดไฟปุ๋ยขอปรับราคา

วันนี้ขึ้นอีกลิตรละบาท ทั้งเบนซิน-โซฮอล์ คาดไปถึงลิตร 50 บาท ให้จับตาน้ำมันแตะ 200 เหรียญต่อบาร์เรล รมว.พลังงานส่อชงเลิกตรึงดีเซล 30 บาท ชี้มีข้อจำกัด-ทำได้ยาก เชื่อประชาชนจะเข้าใจ ตู่สั่งทุกกระทรวงไปคิดวิธีแก้ของแพง กลับมาเสนอ แนะประชาชนช่วยกันประหยัด ล้างแอร์-ปิดไฟ ปุ๋ยขอขึ้นราคา หลังต้นทุนพุ่งเท่าตัว ส่วนมะนาวลูกละ 7 บาทแล้ว

ตู่ฝากช่วยกันประหยัดพลังงาน
เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เรียกประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกรอบเพื่อเตรียมการรับมือสถานการณ์ การสู้รบระหว่างยูเครน-รัสเซีย พร้อมหามาตรการ ผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะปัญหาด้านพลังงานที่ขณะนี้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น อย่างต่อเนื่อง มีรองนายกฯ รัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการ และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เข้าร่วมประชุม โดยใช้เวลาหารือเป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ด้วยสีหน้าเคร่ง เครียด ว่า ขอให้ฟังแถลงผลการประชุม จากโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเพราะมีหลายเรื่อง สิ่งสำคัญที่สุดจะแก้ปัญหา ผลกระทบจากการสู้รบอย่างไร ซึ่งหลายๆ มาตรการจะต้องเตรียมการไว้เป็นการล่วงหน้า ปัจจุบันก็เริ่มเดือดร้อนแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพลังงาน แก๊ส น้ำมัน ซึ่งรัฐบาลได้ใช้จ่ายเงินไปพอสมควรกับตรงนี้ เพื่อรักษาระดับ ราคาให้อยู่ในเกณฑ์ 30 บาทในช่วงที่ผ่านมา แต่ตอนนี้ราคามันสูงมากขึ้นทุกวันเราจะทำอะไรได้ต่อไป ซึ่งตรงนี้ต้องเตรียมการอยู่แล้ว

“ขอความร่วมมือให้พวกเราได้ช่วยกัน เรื่องแรกที่เราควรจะช่วยกันได้ก่อนที่รัฐจะช่วย คือการใช้พลังงานอย่างประหยัดได้หรือไม่ เปิด-ปิดไฟ การใช้รถยนต์ผมไม่ได้ห้ามใช้นะ ใครใช้ได้ก็ใช้ ใครที่ไม่จำเป็นก็ลดลง แอร์ก็ล้าง ที่บ้านสักหน่อย เปิด-ปิดไฟเป็นเวลาสักหน่อย การทำงานใช้ทางวิดีโอบ้าง เวิร์กฟอร์มโฮมบ้าง อันนี้คือมาตรการช่วยตัวเองเพื่อลดค่าใช้จ่ายตัวเองลง ผมขอได้แค่นั้น ส่วนที่เหลือรัฐบาลก็ต้องหามาตรการที่จะมาดูแลตรงนี้ ซึ่งการใช้มาตรการต่างๆ ก็ต้องใช้เงินทั้งสิ้น วันนี้ราคาพลังงานเอาเฉพาะราคาน้ำมัน อย่างเดียวใช้เงินประมาณวันละ 600 ล้านบาทในการดูแลราคาน้ำมันดีเซลอย่างเดียวในขณะนี้ ลองคิดดูแล้วกันถ้ามันขึ้นอย่างนี้ไปทุกวันเราจะใช้เงินวันละเท่าไหร่ ถ้าเราใช้วิธีการแบบนี้ ฝากช่วยคิดด้วยแล้วกัน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

สั่งทุกกระทรวงไปแก้ของแพง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศหารือ ครม.นอกรอบเป็นไปด้วยความเคร่งเครียด โดยนายกฯ แสดงสีหน้าของความเครียดออกมามากที่สุด เนื่องจากปัญหาที่แต่ละกระทรวงเสนอมายังหาทางออกมาไม่ได้ จึงมอบหมายให้แต่ละกระทรวง ไปคิดแนวทางแก้ปัญหามาเสนอในการประชุม ครม.ครั้งต่อไป โดยกระทรวงที่พบว่ามีปัญหาหนักมากที่สุดคือ กระทรวงพลังงาน เนื่องจากราคาน้ำมันสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

โดยนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรมว.พลังงาน เสนอว่าจะขอเจรจาซื้อน้ำมัน จากซาอุดีอาระเบีย โดยขอให้ลดค่าพรีเมียม พลัส ลงมาเหลือเท่าภาวะปกติที่ 2-3 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลได้หรือไม่ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า การสู้รบที่เกิดขึ้นกระทบต่อการนำเข้าและส่งออกสินค้าอย่างหนัก โดยเฉพาะการขนส่งทางเรือไม่สามารถวิ่งตาม เส้นทางปกติและต้องวิ่งอ้อมทำให้ค่าขนส่งแพงขึ้น กระทรวงเกษตรฯ รายงานปัญหาราคาปุ๋ยที่แพงขึ้นอย่างมาก เพราะส่วนใหญ่นำเข้าจากรัสเซียเพราะราคาถูกที่สุด แต่ตอนนี้ คงต้องหาตลาดนำเข้าจากประเทศอื่นแทน เช่น จีน มาเลเซีย

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ในการประชุม ครม.เต็มคณะ ช่วงต้นการประชุม พล.อ.ประยุทธ์พูดถึงมาตรการลดค่าครองชีพประชาชนว่า ให้ดูแลค่าน้ำ ค่าไฟ ให้แก่คนยากจนและผู้มีรายได้น้อย โดยในวันที่ 9 มี.ค. หลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน นายสุพัฒนพงษ์จะเป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการที่ออกมา








Advertisement

งดเก็บภาษีน้ำมันที่ผลิตไฟฟ้า
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลประชุมครม. ว่า ครม.อนุมัติปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันดีเซลที่มีปริมาณกำมะถันเกินและไม่เกินร้อยละ 0.005 โดยน้ำหนัก หรือน้ำมันดีเซล บี0 และน้ำมันเตาที่ใช้ในการผลิตกระแส ไฟฟ้าและขายไฟฟ้าทั้งหมด ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยกำหนดให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราศูนย์ มีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 15 ก.ย.2565 เพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.เป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งจะเป็นการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนทั่วประเทศ ลดภาระค่าไฟฟ้าลงประมาณ 1-1.50 บาทต่อหน่วย อีกทั้งการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในภาคอุตสาหกรรม จะมีต้นทุนการผลิตที่ลดลงด้วย เนื่องจากภาระค่าไฟฟ้าที่ลดลง

น.ส.รัชดากล่าวต่อว่า ครม.ยังมีมติอนุมัติให้กฟผ. กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินในปี 2565 – 2567 ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 25,000 ล้านบาท ด้วยวิธีการจัดหาเงินกู้ในรูปแบบ Term Loan อายุไม่เกิน 3 ปี โดยกระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน ซึ่งในปี 2564 ที่ผ่านมา กฟผ.ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง เนื่องจากแบกรับภาระค่าไฟฟ้าอัตโนมัติหรือค่าเอฟทีตามมาตรการของรัฐบาลในการ ตรึงค่าไฟฟ้าและการขาดแคลนก๊าซเอ็นจีวี ในประเทศ ทำให้ต้องนำเข้าในช่วงที่ราคาในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก

แพง – แม่ค้าตลาดสดเขตเทศบาลนครขอนแก่น ปรับราคามะนาวขนาดต่างๆ สูงขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากผลผลิตมีน้อยและต้นทุนสูงขึ้น เช่นเดียวกับทั่วประเทศที่มะนาวและพืชผักราคาแพงขึ้นมาก เมื่อวันที่ 8 มี.ค.

จับตาน้ำมันแตะ 200 เหรียญ
รายงานข่าวแจ้งว่า ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี ตั้งแต่ปี 2551 หลังสหรัฐและยุโรปพิจารณาสั่งห้ามการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย โดยราคาน้ำมันดิบปิดตลาด ณ วันที่ 7 มี.ค. 2565 ตลาดเวสต์เท็กซัสอยู่ที่ 119.40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ตลาดเบรนต์อยู่ที่ 123.21 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และตลาดดูไบอยู่ที่ 125.30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

“นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า หากการส่งออก น้ำมันดิบจากรัสเซียถูกตัดออกไป จะมีการขาดแคลนน้ำมันสูงถึง 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงถึง 200 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลได้ เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ส่งออก น้ำมันรายใหญ่ของโลก ที่มีปริมาณการส่งออก คิดเป็น 7% ของอุปทานทั่วโลก ขณะที่หลายประเทศในยุโรปมีท่าทีไม่เห็นด้วยกับมาตรการ ดังกล่าว โดยเฉพาะเยอรมนี”

รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ บริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรมว.พลังงาน เป็นประธาน ได้พิจารณาปรับอัตราการชดเชยดีเซลเพิ่มขึ้น 70 สตางค์/ลิตร เป็น 6.50 บาท/ลิตร จากเดิมที่อุดหนุนดีเซลอยู่ 5.80 บาท/ลิตร

คาดเบนซินถึงลิตรละ 50 บาท
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ยอมรับราคาน้ำมันดิบที่เคลื่อนไหวแตะระดับสูงถึง 130 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าสัปดาห์นี้ราคาน้ำมันดิบจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 100-125 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และมีโอกาสที่จะได้เห็น ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นไปแตะที่ระดับ 150 เหรียญ สหรัฐ/บาร์เรลเร็วๆ นี้ ทำให้โลกต้องเผชิญภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรง (Hyperinflation) รวมถึงไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากไทยเป็นประเทศนำเข้ามากกว่า 90%

นอกจากนี้ รัสเซียและยูเครนยังเป็นประเทศ ผู้ส่งออกข้าวสาลี และข้าวโพดรายใหญ่ของโลก ทำให้ขณะนี้ราคาปรับตัวสูงมากและกระทบต่อราคาอาหารสัตว์ให้ปรับสูงขึ้นตามไปด้วย เพราะเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ สุดท้าย จะกระทบห่วงโซ่ปศุสัตว์ทั่วโลก รวมถึงไทย โดยเฉพาะกรณีปุ๋ยที่รัสเซียเป็นผู้ส่งออก รายใหญ่สุดก็จะมีปัญหาด้วย

ดังนั้น ต้องติดตามสถานการณ์สงครามระหว่างยูเครน-รัสเซียอย่างใกล้ชิด ว่ารัสเซียจะมีมาตรการโต้กลับสหรัฐและชาติพันธมิตร และสหภาพยุโรป (อียู) อย่างไร หลังสหรัฐและยุโรปห้ามนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย ซึ่งจะส่งผลต่อระดับราคาพลังงานของโลกให้ขยับขึ้นสูง สิ่งที่เห็นว่าคนไทยทุกคนทำได้คือการประหยัดการใช้หรือใช้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยภาครัฐควรต้องเร่งออกมาตรการส่งเสริมการประหยัดการใช้ในทุกภาคส่วน

นายเกรียงไกกล่าวเพิ่มเติมว่า ราคาน้ำมันดิบ ที่ปรับขึ้นทุก 1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศเพิ่มขึ้น 0.25 สตางค์/ลิตร ดังนั้นหากราคาน้ำมันดิบปรับสูงขึ้นจาก 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เป็น 150 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อย่างรวดเร็ว ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินของไทยก็มีโอกาส อยู่ที่ 50 บาท/ลิตรในเร็วๆ นี้แน่นอนเช่นกัน

หอการค้าคาดดีเซล 55-เบนซิน 70
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัย หอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงกรณีที่มีนักวิเคราะห์ออกมาคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะปรับสูงขึ้นถึง 200 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเกิดภาวะสงคราม โดยราคาน้ำมันดิบที่ปรับ เพิ่มขึ้นทุก 1 เหรียญสหรัฐจะส่งผลกระทบทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับเพิ่มขึ้นลิตรละ 25 สตางค์ โดยหากราคาน้ำมันดิบขึ้นไปแตะที่ 200 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จะทำให้ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นเป็นลิตรละ 55 บาท หรือปรับเพิ่มขึ้นอีก 25 บาท/ลิตร จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 30 บาท/ลิตร ส่วนน้ำมันเบนซิน จะอยู่ที่ ประมาณ 70 บาทต่อลิตร

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ภาวะเงินเฟ้อ และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่สร้างผลกระทบต่อภาพรวมทั่วโลก สร้างแรงกดดันให้ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของธุรกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม หากสถานการณ์ยังยืดเยื้อจะยิ่งส่งผลให้เงินเฟ้อ เร่งตัวขึ้น และอาจนำไปสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ตลท.ยังไม่จำเป็นต้องมีมาตรการใหม่ๆ ออกมาเพิ่มเติมในการดูแลตลาดหุ้นไทย แต่จะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งตลาดหุ้นไทยถือว่ามีความผันผวนน้อยมาก และนักลงทุนต่างประเทศ ยังมองตลาดหุ้นไทยเป็นที่ปลอดภัย

กพช.เร่งถกรับมือน้ำมันแพง
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรมว.พลังงาน เปิดเผยว่า วันที่ 9 มี.ค. คณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จะพิจารณาแนวทางที่จะใช้รับมือสถานการณ์น้ำมันแพง ประชาชนต้องเข้าใจว่าขณะนี้ราคาผันผวนมาก และราคาขึ้นสูงมากภายในสัปดาห์เดียวขึ้นมา 50% สิ่งที่ต้องทำคือ ต้องประหยัดพลังงาน สำหรับการช่วยผู้ใช้น้ำมัน เบนซินนั้นจะมีการช่วยเหลือโดยพิจารณา ในส่วนของผู้มีรายได้น้อย ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา

“ราคาน้ำมันขึ้นมารวดเร็วมาก แบบไม่ ลืมหูลืมตา แนวทางในการตรึงราคาพลังงาน เพื่อไม่ให้กระทบกับเงินเฟ้อที่จะกระทบกับประชาชน ก็ต้องหารือเพราะขณะนี้กรอบราคาน้ำมันเกินไปกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก หลักการคือต้องใช้กองทุนน้ำมันเป็นตัวหลัก เพราะภาษีสรรพสามิตก็ลดไปแล้ว ต้องไปดูว่า งบประมาณเงินกู้ที่ให้กับกองทุนน้ำมัน หากสถานการณ์เป็นแบบนี้จะใช้ไปได้นานขนาดไหน ดูแล้วแนวโน้มราคาสูงถ้าแบบนี้ใช้ได้ไม่นาน ก็ต้องดูแนวทางอื่นๆ ซึ่งก็เป็นไปได้ที่จะขยายเพดานเงินกู้ของกองทุนน้ำมันด้วย ซึ่งจะได้เงินกู้เข้ามาในช่วงเดือนเม.ย.นี้ แต่ก็ต้องหาวิธีที่จะเพิ่มสภาพคล่องของ กองทุนน้ำมัน” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

ชี้ตรึงดีเซล 30 บ.ทำได้ยาก
นายสุพัฒนพงษ์กล่าวต่อว่า การผลิตไฟฟ้าปัจจุบันไทยใช้ก๊าซธรรมชาติ แต่ราคาก๊าซธรรมชาติปรับขึ้นอย่างรวดเร็วจากระดับ 5-10 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียูมาเป็น 90 ดอลลาร์ต่อ ล้านบีทียู จากความตึงเครียดเมื่อรัสเซียจะงดส่งก๊าซให้ยุโรป ทำให้ต้องหามาตรการในการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าอย่างหลากหลาย และพึ่งพาการใช้พลังงานในประเทศให้มากที่สุด นอกจากนี้ จะพิจารณาการเพิ่มสำรองน้ำมันในประเทศจากปัจจุบันการสำรองตามกฎหมายอยู่ที่ประมาณ 60 วัน ปัจจุบันเข้าสู่สถานการณ์ที่วิกฤตพอสมควรแล้ว ราคาพลังงานกระทบปรับเพิ่มขึ้นทั้งโลก การผลิตน้ำมันของโอเปกยังอยู่ที่ 4 แสนบาร์เรล เมื่อรวมกับข่าวความตึงเครียดต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับยูเครนและรัสเซีย ประชาชนจึงต้องมีการช่วยกันประหยัด โดยกระทรวงพลังงานจะให้ข้อมูลให้ประชาชนร่วมกันประหยัดพลังงาน โดยหน่วยงานราชการจะลดการใช้พลังงาน 20% และในบ้านเรือนให้ได้ 10% ก็จะช่วยเพิ่มได้

แหล่งข่าวจากที่ประชุม ครม. กล่าวว่า นายสุพัฒนพงษ์ได้รายงาน ครม. ว่าราคาน้ำมันสัปดาห์นี้มีการปรับขึ้นไปกว่า 50% หรือปรับขึ้นวันละเกือบ 3 บาท เมื่อตีราคาเป็นราคาน้ำมันขายปลีกในไทย ซึ่งการตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ลิตรละ 30 บาทมีข้อจำกัดมากและทำยาก เนื่องจากขณะนี้เกิดเป็นวิกฤตราคาพลังงาน จากภาวะสงครามหากจะปรับขึ้นราคาจากที่ตรึงไว้ประชาชนก็คงจะเข้าใจได้ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย แจ้งถึงสถิติราคานำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศ ว่า เมื่อเปรียบเทียบราคานำเข้าวันที่ 4 มี.ค. 2565 กับวันที่ 4 มี.ค.ปีก่อน พบว่าราคานำเข้าปุ๋ยเคมีปรับเพิ่มสูงขึ้นมาก เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทั่วโลกแพง ซึ่งปุ๋ยคือผลิตภัณฑ์ ที่ต่อเนื่องจากน้ำมันเชื้อเพลิง ชนิดของปุ๋ย ที่ราคานำเข้าประบเพิ่มขึ้น ได้แก่ 1.ยูเรีย (UREA) ปรับจาก 360 เป็น 770 เหรียญสหรัฐ/ตัน เพิ่มขึ้น 113% 2.แอมโมเนียมซัลเฟต (AS) ปรับจาก 180 เป็น 390 เหรียญสหรัฐ/ตัน เพิ่มขึ้น 117% 3.โพแทสเซียมคลอไรด์ (MOP) ปรับจาก 256 เป็น 625 เหรียญสหรัฐ/ตัน เพิ่มขึ้น 144% และ 4.ไดอะลูมิเนียมฟอสเฟต (DAP) ปรับจาก 570 เป็น 877 เหรียญสหรัฐ/ตัน เพิ่มขึ้น 54%

ส.ปุ๋ยขอขึ้นราคาเหตุต้นทุนพุ่ง
วันเดียวกัน นายกองเอก เปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย เปิดเผยว่า วันนี้สมาคมได้ทำหนังสือถึงนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ขอให้กระทรวงพาณิชย์ปรับขึ้นราคาเพดานควบคุมปุ๋ยยูเรีย ทุกชนิด เนื่องจากวิกฤตสู้รบรัสเซีย ทำให้ต้นทุน นำเข้าเพิ่มขึ้น 100% จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งเป็นสารตั้งต้นผลิตแม่ปุ๋ยยูเรียปรับสูงขึ้น ขณะที่รัสเซีย ยูเครน และเบลารุส คู่ค้านำเข้าหยุดส่งออกมาไทย เพราะปิดท่าเรือ ทำให้ผลผลิตปุ๋ยในประเทศหายไป 6.8 แสนตัน ซ้ำเติมให้ราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้นอีก

“ที่ผ่านมาสมาคมให้ความร่วมมือช่วยตรึงราคามาตั้งแต่ต้นปี 2564 แต่ตอนนี้ตรึงต่อไปไม่ไหวแล้ว เหมือนเอาเงินมาละลายน้ำ เพราะขายขาดทุนกว่า 50% และเพดานราคาควบคุมที่พาณิชย์กำหนด ยังเป็นราคาที่ประกาศ มาตั้งแต่ 5 ปีก่อน ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง จึงขอปรับขึ้นเพดานราคาควบคุมปุ๋ยทุกรายการ เพื่อให้ธุรกิจเดินต่อไปได้และไม่กระทบ ต่อเนื่องไปยังเกษตรกรผู้ใช้ ทั้งนี้ยอมรับว่าปัจจุบันเริ่มเกิดปัญหาปุ๋ยในตลาดขาดแคลนแล้ว เพราะนำเข้าได้น้อยลง และขอเสนอให้รัฐบาลใช้มาตรการอุดหนุนค่าใช้จ่ายด้านปัจจัย การเกษตรหรือปุ๋ยเคมีให้กับเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรต่อไปได้” นายกองเอกกล่าว

หมู-ไข่-ไก่แพงสุดในรอบ 8 ปี
รายงานข่าวจากผู้ประกอบการปศุสัตว์ ว่า จากการพิจารณาข้อมูลสถิติราคาสินค้าเกษตรของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พบว่า ระหว่างปี 2558-2565 สินค้าเกษตร 3 รายการสำคัญคือ ไข่ไก่ หมู และไก่ มีการปรับราคาปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเดือนมี.ค.2565 สินค้าทั้ง 3 รายการทำสถิติราคาสูงสุดในรอบ 8 ปี

ดังนี้ ราคาไข่ไก่สดหน้าฟาร์ม (2558-2565) ราคาอยู่ที่ฟองละ 2.69 บาท, 2.95 บาท, 2.65 บาท, 2.68 บาท, 2.79 บาท, 2.82 บาท, 2.83 บาท และราคาเฉลี่ย ม.ค.-มี.ค.2565 ขึ้นมาอยู่ที่ฟองละ 3.00 บาท

ส่วนราคาสุกรมีชีวิต น้ำหนัก 100 ก.ก.ขึ้นไป ราคาอยู่ที่ ก.ก. ละ 66.08 บาท, 66.96 บาท, 59.01 บาท, 55.68 บาท, 66.52 บาท, 71.87 บาท, 73.14 บาท และ ราคาเฉลี่ย ม.ค.-มี.ค. 2565 ขึ้นมาอยู่ที่ 96.70 บาท

และไก่เนื้อมีชีวิต ราคาอยู่ที่ ก.ก.ละ 38.34 บาท, 37.34 บาท, 37.28 บาท, 34.40 บาท, 36.85 บาท, 35.44 บาท, 34.87 บาท และราคา เฉลี่ย ม.ค.-มี.ค. 2565 ขึ้นมาอยู่ที่ 40.48 บาท

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาเพิ่มขึ้นเนื่องจากวัตถุดิบอาหารสัตว์มีราคาแพง โดยจากข้อมูลสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์พบว่าราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลีนำเข้า และกากถั่วเหลืองจากเมล็ด นำเข้าในเดือนมี.ค.2565 ปรับราคาเพิ่มขึ้นจากเดือน ธ.ค.2564

โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปรับจาก ก.ก.ละ 10.5 บาท เป็น 11.45 บาท เพิ่มขึ้น 13.93% ข้าวสาลีนำเข้าปรับจาก ก.ก. ละ 8.91 บาท เป็น 12.75 บาท เพิ่มขึ้น 43.10% และกาก ถั่วเหลืองนำเข้าปรับจากก.ก.ละ 19.50 บาท เป็น 22.50 บาท เพิ่มขึ้น 15.38%

มะนาวแพงอีกลูกละ 7 บาท
ที่จ.ตรัง ผู้สื่อข่าวสำรวจตลาดสดตำบล นาเมืองเพชร อ.สิเกา จ.ตรัง พบว่า ราคามะนาวไข่หรือมะนาวแป้นขยับสูงขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง โดยเช้าวันนี้ มะนาวที่รับซื้อเป็น กระสอบอยู่ที่กระสอบละ 1,030 บาท แม่ค้านำมาขายปลีกกิโลกรัมละ 110 บาท หรือตกลูกละ 7 บาท ซึ่งแม่ค้าจะขาย 3 ลูก 20 บาท ส่วนมะนาวบ้านกิโลกรัมละ 60 บาท มะนาวไร้เมล็ดหรือตาฮิติกิโลกรัมละ 70 บาท และมะนาวแป้นพิจิตรกิโลกรัมละ 80 บาท ซึ่งมีน้ำและความหอมน้อยกว่ามะนาวแป้น ทำให้ชาวบ้านส่วนหนึ่งหันไปใช้มะขามเปียกและมะม่วงเบาที่กำลังออกตามฤดูกาลแทน เนื่องจากมีราคาถูกกว่าและให้รสเปรี้ยว ที่กลมกล่อมไม่แพ้กัน นอกจากนี้ยังพบว่า พืชผักหลายชนิดเริ่มปรับราคาสูงขึ้น หลังพื้นที่ ปลูกในภาคกลางเริ่มประสบปัญหาภัยแล้ง

โดยแม่ค้าระบุว่า ช่วงหน้าแล้งของทุกปีหรือระหว่างเดือนมี.ค.-เม.ย. มะนาวจะมีราคาแพงขึ้น แต่ปีนี้มะนาวแพงกว่าปีที่แล้ว ปีที่ผ่านมาขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท แต่ปีนี้ขึ้นสูงถึงกิโลกรัมละ 110-120 บาท โดยมะนาวแพงมาเกือบเดือนแล้ว และคาดจะแพงขึ้นไปเรื่อยๆ

ที่จ.หนองคาย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดแจ้งสว่าง อ.เมืองหนองคาย ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในตัวเมืองหนองคาย มะนาวปรับราคาขึ้นจากเดิมก.ก.ละ 60 บาท เป็นก.ก.ละ 100 บาท ลูกค้าที่นำมะนาวไปทำอาหาร หรือ เครื่องดื่มขายต่อ ก็จำเป็นต้องซื้อในราคา ดังกล่าว แต่อาจจะซื้อน้อยลง จากเดิมที่ซื้อคราวละมากๆ ก็ซื้อน้อยลง หรือใช้วิธีทยอยซื้อบ่อยครั้งแทน

น้ำมันขึ้นลิตรละ 1 บาท
รายงานข่าวแจ้งว่า พีทีที สเตชั่น และบางจาก ได้ประกาศปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในประเทศทุกชนิด 1 บาทต่อลิตร มีผลวันที่ 9 มี.ค.2565 เวลา 05.00 น. เป็นต้นไป โดยราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน จะอยู่ที่ 46.76 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 39.35 บาทต่อลิตร E20 อยู่ที่ 38.24 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 39.08 บาท ต่อลิตร E85 อยู่ที่ 31.54 บาทต่อลิตร

ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลไม่ได้ปรับราคา โดยดีเซล B7 อยู่ที่ 29.94 บาทต่อลิตร ดีเซล B10 อยู่ที่ 29.94 บาทต่อลิตร ดีเซล B20 อยู่ที่ 29.94 บาทต่อลิตร และดีเซลพรีเมียม B7 อยู่ที่ 35.96 บาทต่อลิตร โดยราคาขายปลีกข้างต้นยังไม่รวมภาษีบำรุงกรุงเทพมหานคร

สำหรับราคาทองคำประจำวันที่ 8 มี.ค. 2565 เดินหน้าทะยานขึ้นสร้างราคาสูงสุดใหม่ไม่หยุด ดันราคาขายทองคำแท่งในระหว่างวันทะลุแตะ 31,150 บาทต่อบาททองคำ และทองรูปพรรณ ขายออกที่ 31,650 บาท ก่อนจะมาปิดตลาดที่ราคาการประกาศราคาครั้งที่ 7 ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ของสมาคมค้าทองคำ หรือ Gold Traders Association ณ เวลา 16.00 น. โดยทองคำแท่งมีราคารับซื้อในประเทศอยู่ที่บาทละ 31,000 บาท ขายออกที่ราคาบาทละ 31,100 บาท ด้านราคาทองรูปพรรณ รับซื้ออยู่ที่บาทละ 30,441.28 บาท และมีราคาขายออกที่ 31,600 บาท ส่วนราคาทองคำโลก หรือ Gold Spot อยู่ที่ 2,008 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน