ซีกสส.จับมือค้าน

‘ธรรมนัส-พรรคเล็ก’ นัดตั้งวงกินข้าวเที่ยง หลังไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมดินเนอร์กับ ‘3ป.’ แกนนำระบุแค่ปรับทุกข์การเมือง โต้โชว์พลังต่อรอง-แจกกล้วย ‘ไผ่ ลิกค์’ เผยถาม ‘บิ๊กป้อม’ แล้ว ไม่ได้พูดว่า ‘ธรรมนัส’ อาจมีปัญหาเรื่องหนุนรัฐบาล กมธ.เริ่มถกร่างกฎหมายลูกว่าด้วยพรรค การเมือง ‘นิกร’ เชื่อซีกส.ส.-ส.ว.เห็นแย้งหนักปมไพรมารีโหวต ชี้เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ไม่มีเรื่องนี้แต่แรก ‘เลิศรัตน์’ ฉะคนอ้างนับคะแนนสูตรส.ส.พึงมี หวังประโยชน์ตัวเอง แนะส่งให้พรรคเล็กยุบรวมกันสู้ศึกเลือกตั้งดีกว่า

‘ธรรมนัส’ร่วมปาร์ตี้พรรคเล็ก
เมื่อวันที่ 10 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 11 มี.ค. เวลา 12.00 น. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา แกนนำพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย และหัวหน้าพรรคเล็ก ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ที่ไม่ได้รับเทียบเชิญไปรับประทานอาหารค่ำ ร่วมพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ และเลขาธิการพรรค ที่สโมสรราชพฤกษ์ ถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ได้นัดรับประทานกลางวัน ที่โรงแรมโกลเดน ทิวลิป ซอฟเฟอริน พระราม 9 กทม.

การรับประทานอาหารกลางวันครั้งนี้ เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมือง เรื่องแนวทางการทำงานของพรรคร่วมรัฐบาล และปัญหาพื้นที่ของแต่ละพรรค เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหา และการเดินกิจกรรมร่วมกันในการช่วยเหลือประชาชนรากหญ้าที่ได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบเศรษฐกิจในตอนนี้

‘พีระวิทย์’ปัด‘ผู้กองนัส’โต้โผ
นายพีระวิทย์ เลื่องลือดลภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคไทรักธรรม (ท.ธ.) กล่าวว่า การนัดหมายดังกล่าวเป็นของพรรคเล็ก 7-8 พรรค ประมาณ 10 คน นัดกันมาตั้งแต่ก่อนปิดสมัยประชุมสภาแล้ว แต่เพิ่งมีเวลาว่างตรงกันในวันที่ 11 มี.ค. ไม่ใช่ร.อ.ธรรมนัสเป็นคนนัดหมายพรรคเล็กกินข้าว แต่เป็นการนัดหมายกินข้าวในหมู่พรรคเล็กเอง เพื่อหารือเรื่องการแก้กติกาเลือกตั้งเป็นบัตร 2 ใบ ที่พรรคเล็กได้รับผลกระทบ

“เมื่อร.อ.ธรรมนัสทราบว่าพรรคเล็กนัดหารือกินข้าวในวันดังกล่าว ก็ได้โทรศัพท์มา สอบถาม จึงชี้แจงไปว่า พรรคเล็กนัดหมายกินข้าวกันจริง ซึ่งร.อ.ธรรมนัส ไม่ได้รับปากว่าจะมาร่วมรับประทานอาหารกับพรรคเล็ก แต่ส่วนตัวเชื่อเกิน 80% ว่า ร.อ.ธรรมนัสจะมารับประทานอาหารกับพรรคเล็ก” นาย พีระวิทย์ กล่าว

โต้ต่อรอง-แค่นับเสียงรัฐบาล
ด้านนายสุรทิน พิจารณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ (ปธม.) ตนเป็นคนนัดพรรคเล็กเอง เพราะพรรคเล็กนัดรับประทานอาหาร่วมกันเป็นปกติอยู่แล้ว เพื่อพูดคุยเรื่องการเมือง เรื่องรัฐบาล การนับเสียงของรัฐบาลว่าตอนนี้มีเท่าไหร่อย่างไร เหลือ ขาด และพอหรือไม่ ตอนนี้มีคนตอบรับมาร่วมรับประทานอาหารแล้วหลายคน แต่ยังไม่รู้ว่ากลุ่ม 16 จะมาร่วมด้วยหรือไม่

“ยืนยันว่าการนัดรับประทานอาหารครั้งนี้ไม่ใช่การแสดงพลัง เรียกร้องอะไร ไม่มีเรื่องกล้วยหรือต่อรองทางการเมืองใดๆ เรายังเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ และในวันที่ 11 มี.ค.หลังจากพรรคเล็กรับประทานอาหารแล้ว จะแถลงท่าทีกลุ่มพรรคเล็กว่าเป็นอย่างไร ซึ่งการแก้กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่เป็นแบบนี้ และรัฐบาลก็เป็นแบบนี้ เราจึงนิ่งเฉยไม่ได้ เพราะเขาต้องการทำให้เราสลาย” นายสุรทินกล่าว

กลุ่ม 16 โวเป็นตัวแปรสำคัญ
เวลา 15.00 น. นายคฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติไทย ในฐานะเลขานุการ “กลุ่ม 16” ของนาย มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ให้สัมภาษณ์ว่า ตนไม่ทราบเรื่องนี้ ขณะนี้ยังไม่มีใครติดต่อมา รวมถึงส.ส.ในกลุ่ม 16 ด้วย ยังไม่ได้มีการประสานอะไรมา แต่ในส่วนของกลุ่มเรามีการพูดคุยกันทุกวัน ซึ่งไม่เกี่ยวกับกลุ่มของร.อ.ธรรมนัส ที่นัดกันเมื่อไหร่ไม่รู้

“ตอนนี้กลุ่ม 16 ถือเป็นตัวแปรสำคัญ เรามีการพูดคุย และรับประทานอาหารร่วมกันตลอด แต่ไม่เกี่ยวกับกลุ่มของร.อ.ธรรมนัส อีกทั้งช่วงนี้เป็นช่วงปิดสมัยการประชุมสภา หัวหน้าพรรค และส.ส.แต่ละคนทยอยลงพื้นที่ต่างจังหวัดของตนเอง เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน” นายคฑาเทพกล่าว

‘เต้’ลั่นอยู่ฝ่ายค้าน 100%
เวลา 16.30 น. นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ (ทศล.) ให้สัมภาษณ์ว่า ตนเพิ่งทราบว่ามีนัดรับประทานอาหารกันก็ตอนผู้สื่อข่าวถาม ส่วนจะเป็นการปิดบังไม่ให้ตนร่วมรับประทานอาหารหรือไม่ ตนไม่ทราบ และไม่ทราบว่าเขาไปคุยเรื่องอะไรกัน ตนอยู่ฝ่ายค้าน ไม่ได้อยู่กึ่งๆ เดี๋ยวฝ่ายค้านเดี๋ยวรัฐบาลแล้วแต่ข้อต่อรอง ฝ่ายค้านคือตรงข้ามพล.อ.ประยุทธ์ 100% ส่วน ร.อ.ธรรมนัสนั้นตนไม่แน่ใจว่าอยู่ฝ่ายไหน อาจจะเป็นฝ่ายค้าน 60% ฝ่ายรัฐบาล 40% เขาต้องแสดงตัวให้ชัดๆ ส่วนกลุ่มพรรคเล็กตนก็ยังไม่แน่ใจว่าอยู่ฝ่ายค้าน กี่เปอร์เซ็นต์ ฝ่ายรัฐบาลกี่เปอร์เซ็นต์ เพราะที่ผ่านมาพรรคเล็กมีการโหวตสวนรัฐบาลประมาณ 4-5 เสียง

“ยืนยันว่ายังไม่ได้คุยอะไรกันเลย และเห็นว่าพรรคเล็กเขาน้อยใจกันว่า เวลาเชิญไปกินข้าวก็เชิญแค่ไม่กี่พรรค หรือเขามองว่าเป็นของตาย พรรคการเมืองจะต้องมีอุดมการณ์ ยิ่งใกล้เลือกตั้งด้วยยิ่งต้องชัดเจนในทิศทางทางการเมืองถ้าจะเป็นผู้แทนราษฎรต่อไป ถ้ากึ่งยิงกึ่งผ่านชักเข้าชักออกมันไม่ได้ จะเสียหาย” นายมงคลกิตติ์กล่าว

‘บิ๊กป้อม’ยันไม่ได้พูด‘นัส’มีปัญหา
นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร พรรคเศรษฐกิจไทย ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีข่าวว่าพล.อ.ประวิตร ระบุในวงรับประทานอาหารค่ำที่สโมสรราชพฤกษ์เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ว่าพรรคเศรษฐกิจไทยจะยังสนับสนุนรัฐบาล ต่อไป ยกเว้นเสียงเดียวที่อาจจะมีปัญหาคือร.อ.ธรรมนัส ว่า ได้สอบถามพล.อ.ประวิตร ท่านยืนยันว่าไม่ได้พูดอย่างที่เป็นข่าว และการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็ไม่ต้องไปกลัวฝ่ายค้านจะพูดอะไร หากไม่ได้ทำอะไรอย่างที่ฝ่ายค้านพูด สำหรับพรรคเศรษฐกิจไทย ย้ำจุดยืนเดิมคือยึดประโยชน์และความต้องการของประชาชนเป็นหลัก

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการเชิญพรรคเศรษฐกิจไทย ร่วมรับประทานอาหารในครั้งต่อไป จะตัดสินใจอย่างไร นายไผ่กล่าวว่า ยังตอบอะไรไม่ได้ เป็นเรื่องของวันข้างหน้า เพราะยังไม่รู้จะเชิญหรือไม่ ไม่อยากตอบอะไรไปก่อน

ส่วนการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565 พรรคเศรษฐกิจไทย ในวันที่ 18 มี.ค. จะมีการปรับเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรค เพื่อวางนโยบายพรรคให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเปิดโลโก้พรรค จากนั้นวางแผนยุทธศาสตร์พรรค เมื่อบ้านหลังนี้รีโนเวตเสร็จ วันข้างหน้าจะเห็นผู้มาร่วมงานกับพรรคแน่

กมธ.ถกแก้กม.พรรคการเมือง
เมื่อเวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) หรือกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ฉบับที่… พ.ศ….ซึ่งครั้งนี้เป็นการพิจารณาเกี่ยวกับร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับที่… พ.ศ….ที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาวาระแรก 3 ร่าง

นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ประธานกมธ. เป็นประธานการประชุม ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่ามีกมธ.ลาประชุม คือนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายรงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ส.ว. และพล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ ส.ว.

ทั้งนี้ นายไพบูลย์ ซึ่งชวดตำแหน่งประธานกมธ. ได้ลาประชุมเป็นวันที่สองหลังจากวันที่ 9 มี.ค.ได้ลาเช่นกัน

ยังไม่สรุปตั้งพรรค-ค่าสมาชิก
เวลา 13.30 น. นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ โฆษก กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. แถลงภายหลังประชุม ว่า วันนี้เป็นการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรค การเมืองเป็นวันแรก โดยเริ่มพิจารณาตั้งแต่ชื่อร่างพ.ร.ป.จนถึงร่างมาตรา 3 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ ชื่อร่างพ.ร.ป. ไม่มีการแก้ไข มาตราที่ 1 และมาตราที่ 2 ไม่มีการแก้ไข แต่แก้ไขมาตรา 2/1 โดยกมธ.ได้พิจารณาประเด็นการจัดตั้งพรรคการเมือง คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ร่วมจัดตั้งพรรคการเมือง

กมธ.ส่วนใหญ่เห็นว่าการจัดตั้งพรรค การเมืองต้องเป็นเรื่องที่ไม่ยากจนเกินไป และคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ร่วมจัดตั้งพรรคการเมือง ตามมาตรา 9 ของพ.ร.ปว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ต้องพิจารณาให้รอบคอบและรอบด้านว่าควรกำหนดไว้เพียงใด โดยพิจารณามาตรา 96 และมาตรา 98 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ประกอบเป็นเรื่องๆ ไป ซึ่งกมธ.ได้มอบหมายให้นายนิกร จำนง เลขานุการ กมธ.และคณะพิจารณาประเด็นนี้แล้วนำเสนอกมธ.ให้พิจารณาต่อไป

สำหรับมาตราที่ 3 นั้น กมธ.ได้พิจารณาในประเด็นการกำหนดจำนวนค่าบำรุงพรรค การเมืองที่ต้องเรียกเก็บจากสมาชิกพรรค การเมือง กมธ.ส่วนหนึ่งเห็นว่าการกำหนดจำนวนค่าบำรุงพรรคการเมืองไว้ในอนุ 15 ของมาตรา 15 แห่งพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น ควรกำหนดจำนวนค่าบำรุงพรรคการเมืองไว้ในข้อบังคับของพรรคการเมือง ไม่ควรกำหนดไว้ในร่างพ.ร.ป. ขณะที่กมธ. อีกส่วนเห็นว่า อาจกำหนดให้พรรคการเมืองพิจารณาเรียกเก็บค่าบำรุงพรรคการเมืองจากสมาชิกหรือไม่ก็ได้ โดยให้เป็นดุลพินิจของพรรคการเมืองนั้นๆ แต่ประเด็นนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป จึงได้พักการประชุมและจะพิจารณาต่อในสัปดาห์หน้า

‘นิกร’เผยศึกหนักปมไพรมารี
นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) เลขานุการกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมว่า การพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ไม่เอาร่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นหลักเพราะเขาไม่กล้าแก้ให้กว้าง แก้เฉพาะจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) จาก 150 เหลือ 100 เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น เราจึงยึดร่างของพรรคร่วมรัฐบาลที่มีความกว้างกว่า

หลักการสำคัญคือเรื่องไพรมารีโหวต ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหากันเองกับพรรคการเมือง เชื่อว่าต้องมีการพูดคุยกันมากในฝ่ายการเมืองและฝ่ายส.ว.ในกมธ. เนื่องจากการประชุมที่ผ่านมา ส.ว.แย้งโดยให้เหตุผลว่าจะขัดหลักการ เรื่องไพรมารีโหวตในร่างหลักคือร่างของพรรคร่วมรัฐบาลจะไม่มีไพรมารี แต่จะฟังความเห็นจากตัวแทนสาขาและตัวแทนประจำจังหวัด ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45

อีกเรื่องหนึ่งคือตัวแทนประจำจังหวัด ซึ่งเป็นกฎหมายที่มาจากการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตอนที่ร่าง ไม่มีส.ส.หรือพรรคการเมืองเข้าไปให้ความเห็นจึงมีปัญหา การเลือกตั้งที่ผ่านมา คสช.ก็ต้องปัดทิ้งเพราะทำไม่ได้ในเรื่องตัวแทนประจำเขต ร่างของพรรคร่วมรัฐบาลจึงกำหนดให้ใช้ตัวแทนประจำจังหวัดเท่านั้น การพิจารณาจึงจะยึดร่างของพรรคร่วมรัฐบาลเป็นหลัก

ชี้เจตนารมณ์รธน.ไม่มีแต่แรก
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากปรับขั้นตอนไพรมารีโหวตจะถือว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ เพราะตอนยกร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่มีการเสนอในวาระแรก นายนิกรกล่าวว่า ตอนนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอร่างเข้ามาไม่มีไพรมารี ฉะนั้นหากจะบอกว่าเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญให้มีไพรมารีก็พูดไม่ได้ แต่เป็นการเพิ่มเข้าไปภายหลัง เรื่องนี้ตนเตรียมข้อมูลไว้แล้วว่าจะเอาร่างของ กรธ.ที่เสนอเป็นร่างแรกมาเป็นข้อโต้แย้ง

เมื่อถามว่าประธานกมธ.บอกว่าจะทำกฎหมายลูกให้เสร็จภายในเดือนเม.ย. มี แนวโน้มจะเสนอให้รัฐสภาเปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาวาระ 2-3 หรือไม่ นายนิกรกล่าวว่า เมื่อวันที่ 9 มี.ค.ตนเป็นคนเสนอให้ปรับการพิจารณาจากที่เริ่มประชุมเวลา 10.30 น. เป็นเวลา 09.30 น. เพื่อเร่งเวลา เราไม่ได้เคาะว่าจะเสร็จเมื่อไร แต่สิ้นเดือนมี.ค.จะมาคุยกันอีกครั้งว่าตกลงจะให้เสร็จเมื่อไร หากต้องเร่งเพิ่มวันประชุมเป็น 4 วันต่อสัปดาห์ก็ทำได้ หลักการขณะนี้คือทำให้เสร็จ เมื่อเปิดประชุมสภาสมัยหน้าก็นำเข้าสภาโดยไม่ต้องเปิดประชุมสมัยวิสามัญ แต่หากมีเหตุต้องเปิดประชุมสมัยวิสามัญต้องคุยกับประธานรัฐสภา เราเปิดเองไม่ได้

ไทยภักดียื่น 3 ข้อเสนอ
ที่รัฐสภา นายวสันต์ มีวงษ์ คณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคไทยภักดี (ทภด.) พร้อมทีมกฎหมาย เป็นตัวแทน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรค ยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ต่อประธานกมธ. โดยมีนายนิกร จำนง เลขานุการกมธ. วิสามัญฯ เป็นตัวแทนรับเรื่อง

นายวสันต์กล่าวว่า พรรคมีข้อเสนอ 3 ข้อ ขอให้กมธ.พิจารณา 1.เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติให้การเลือกตั้งส.ส.เขต รวมทั้งวิธีคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อต้องยึดหลักว่า ทุกคะแนนมีความหมายต่อผลการเลือกตั้ง ต้องไม่ตกน้ำ การคำนวณจึงต้องยึดถือตามหลักการ ดังกล่าวโดยไม่อาจเป็นอื่นได้ หากเป็นประเด็นข้อขัดแย้งอาจทำให้มีผู้ร้องศาลรัฐธรรมนูญ กระทบกระบวนการตรากฎหมายล่าช้า

2.เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ 2560 ถูกขนานนามฉบับปราบโกง หากกมธ.ใช้โอกาสนี้แปรญัตติเพิ่มเติมประเด็น ให้ผู้รับเงินจากการซื้อเสียงมีสิทธิ์ดำเนินคดีกับผู้ให้เงินเพื่อซื้อเสียงได้ โดยผู้รับจะไม่มีความผิดเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และมีรางวัลนำจับเพื่อตัดวงจรการซื้อสิทธิ์ขายเสียงอย่างเป็นรูปธรรม 3.เสนอให้มีระบบดิจิตอลบาทในการใช้จ่ายเงินงบประมาณช่วยหาเสียง ผ่านการโอนจาก แอพพลิเคชั่นของธนาคารเท่านั้น โดยห้ามให้ใช้จ่ายด้วยเงินสดเด็ดขาด เพื่อแสดงถึงความโปร่งใส ตรวจสอบได้

‘เลิศรัตน์’แจงสูตรส.ส.พึงมี
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. อดีตโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) ชุดที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีข้อเสนอของพรรคการเมืองและส.ส.ให้ใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือ MMP ว่า ในสมัยที่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญและบัญญัติความให้มีส.ส.พึงมีนั้น สาระสำคัญที่เขียนไว้ชัดเจนคือ ให้คำนวณหาส.ส.จากคะแนนทั้งหมดที่มีและหารด้วยจำนวนส.ส.ที่มี 500 คน จากนั้นให้นำคะแนนเฉลี่ยที่ไปคำนวณหาส.ส.ที่พรรคจะได้ โดยหักจากส.ส.เขตเลือกตั้ง

ต่อมาในสมัยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้นำวิธีคิดดังกล่าวไปใช้ แต่ปรับให้เป็นบัตรใบเดียว ดังนั้นจากที่จะนำคะแนนทั้งหมดไปคำนวณหาส.ส. ให้ใช้แค่คะแนนเลือกตั้งเขต เพราะมีบัตรเลือกตั้งใบเดียว

“คำว่าพึงมี หมายถึงเป็นแต่ละกรณี ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2564 นั้นหมายถึง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ดังนั้นการหาคะแนนเฉลี่ยต้องใช้จำนวน 100 หาร และไม่สามารถย้อนไปใช้สูตรแบบ MMP ได้อีก เพราะรัฐสภาได้เห็นชอบให้ใช้ระบบคำนวณแบบคู่ขนานแล้ว อีกทั้งร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่รัฐสภารับหลักการทั้ง 4 ฉบับเขียนเนื้อหาไว้เหมือนกัน คือ ให้คำนวณโดยใช้ 100 หาร ส่วนที่มีคนเสนอให้ใช้ 500 หารนั้นเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง” พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว

แนะพรรคเล็กยุบรวมสู้เลือกตั้ง
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ส่วนประเด็นทุกคะแนนเสียงไม่ตกน้ำ ความหมายคือ ไม่ตัดเศษ หรือใช้เปอร์เซ็นต์คะแนนขั้นต่ำ เช่น 1% กำหนดเกณฑ์ที่พรรคจะได้ส.ส. ดังนั้นทุกคะแนนที่ประชาชนเลือกส.ส.จะนำมาคิดคำนวณทั้งหมด ส่วนที่มีบางพรรคนำคำว่าเสียงไม่ตกน้ำไปใช้ เพราะต้องการให้ตนเองได้ประโยชน์ ได้คะแนนเลือกตั้งแค่ 3 หมื่นคะแนน แต่อยากได้ส.ส. กรณีดังกล่าวตนมองว่าเป็นการทำลายการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย

“ผมขอย้ำว่าคะแนนไม่ตกน้ำ คือ ไม่นำเปอร์เซ็นต์ขั้นต่ำมาใช้ หากเอามาใช้จะทำให้คะแนนที่เลือกพรรคไม่ครบตามเกณฑ์ อย่างประเทศเยอรมันที่ใช้ระบบ MMP มีการตัดเปอร์เซ็นต์ ที่ 5% ทำให้ปัจจุบันมีพรรคการเมืองแค่ 5 พรรคเท่านั้น และหากพรรคเล็กต้องการได้ส.ส. ควรไปรวมกับพรรคการเมืองอื่นเพื่อแข่งขันเลือกตั้ง หากได้คะแนน 2-3 แสนคะแนน จะได้ส.ส. 1 คน” พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ายังมีวิธีคำนวณส.ส.รูปแบบอื่นที่ทำให้พรรคได้ส.ส.ตามคะแนนนิยมที่แท้จริง และไม่บวกเพิ่ม เหมือนระบบคู่ขนานหรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ระบบคิดคะแนนในการเลือกตั้งมี 2 ระบบใหญ่คือ 1.แบบ MMP ที่ใช้ใน 10 ประเทศทั่วโลก เช่น เยอรมัน ตุรกี ญี่ปุ่น โดยใช้กับการเลือกส.ว. ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับของนายมีชัยนำมาใช้ และ 2.ระบบคู่ขนาน เคยใช้เมื่อรัฐธรรมนูญ 2540 และนำกลับมาใช้ในรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขปี 2564

หากจะให้กลับไปใช้แบบ MMP ตอนนี้ทำไม่ได้ และหากจะย้อนกลับไปต้องแก้รัฐธรรมนูญอีกครั้ง ซึ่งตนมองว่าไม่มีเวลา เพราะอีก 1 ปีจะมีการเลือกตั้งส.ส.แล้ว คนที่จะเสนอคำแปรญัตติให้กมธ.พิจารณา สามารถเสนอได้ หากเขาชนะในชั้นกมธ. ก็ต้องเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาให้ลงมติอีก หากเขาชนะอีก ก็ต้องส่งไปศาลรัฐธรรมนูญ

กกต.จ่อเคาะเลือกตั้งกทม.-พัทยา
จากกรณีเมื่อวันที่ 8 มี.ค. ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทย เสนอให้พิจารณากำหนดวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) พร้อมแจ้งไปยังกกต.เพื่อให้กกต.กำหนดวันเลือกตั้ง แล้วแจ้งกลับมาที่ครม.อีกครั้ง ส่วนการ เลือกตั้งนายกเมืองพัทยา จะดำเนินการไปพร้อมกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.หรือไม่ เป็นเรื่องของ กกต. ซึ่งคาดว่าจะมีการเลือกตั้งพร้อมกันในปลายเดือนพ.ค.

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต. ให้สัมภาษณ์ว่า กกต.จะหารือกันในเร็วๆ นี้ เพื่อพิจารณากำหนดวันที่จะประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้ง กทม. และพัทยา โดยสัปดาห์หน้าสำนักงาน กกต. จะเสนอเรื่องให้ กกต. พิจารณา

ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า การพิจารณาเรื่องการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. และนายกเมืองพัทยา จะเสนอเข้าที่ประชุม กกต.วันที่ 14 มี.ค. คาดว่า กกต.จะออกประกาศให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และนายกเมืองพัทยา ในวันที่ 28 มี.ค. และกำหนดให้มีการรับสมัครเลือกตั้งวันที่ 7-11 เม.ย. และเลือกตั้งวันที่ 22 พ.ค. ซึ่งสามารถเลื่อนไทม์ไลน์ให้เร็วกว่านี้ได้ แต่อาจติดกับช่วงวันหยุดยาววันวิสาขบูชา แต่ไทม์ไลน์ดังกล่าวไม่สามารถขยายให้ช้ากว่านี้ได้ เนื่องจากหากเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 29 พ.ค.จะกระชั้นชิดกับวันสุดท้ายของกรอบเวลาในการจัดการเลือกตั้งจนเกินไป

‘สุเทพ’หนุน‘สกลธี’ชิงผู้ว่าฯกทม.
เวลา 15.00 น. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) เผยแพร่รายการ “คุยกับลุง” EP21 ทางเฟซบุ๊กส่วนตัว “Suthep Thaugsuban (สุเทพ เทือกสุบรรณ)” ว่า ในสัปดาห์นี้ มีข่าวที่น่าตื่นเต้น คือข่าวนายสกลธี ภัททิยกุล ลาออกจากตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม. แล้วเสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นผู้ว่าฯ กทม. ในสังกัดอิสระ คือ ไม่สังกัดพรรคอะไร และตนสืบดูแล้วไม่สังกัดพรรคไหนจริงๆ

นายสกลธี เคยเป็น ส.ส. เคยเป็นรองผู้ว่าฯ กทม.เกือบ 4 ปี มีประสบการณ์เรื่องของกทม. มากกว่าผู้สมัครคนอื่นๆ ในสายตาของตน และแน่นอนที่พวกเราร่วมเป็นร่วมตายในการต่อสู้กับมวลมหาประชาชน กปปส.เพื่อ ต่อต้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม นอนกลางดินกินกลางถนนร่วมกันมา 6-7 เดือนร่วมกันเป็นจำเลย สิ่งที่เราทำเพื่อชาติบ้านเมือง วันนี้ถ้าสามารถช่วยเหลือสนับสนุนนายสกลธี ได้ด้วยวิธีไหนก็ตาม ตนก็ตั้งใจจะทำ เพราะป็นผู้ร่วมอุดมการณ์มาด้วยกัน เป็นคนหนุ่ม เป็นคนที่จะเป็นอนาคตของกทม.ในวันข้างหน้า

นายชำนาญ จันทร์เรือง คณะกรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์ถึงการ เตรียมพร้อมการเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา และสมาชิกสภาเมืองพัทยา (สม.) ว่า คณะก้าวหน้าคัดเลือกว่าที่ผู้สมัครนายกเมืองพัทยาเสร็จแล้ว และจะเปิดตัวพร้อมกับว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาเมืองพัทยา (สม.) ในวันที่ 14 มี.ค. ที่จ.ชลบุรี ส่วนว่าที่ผู้สมัคร ชื่ออะไร จะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายนั้น ถ้าพูดชื่อแล้วทุกคนจะรู้ทันที ขอให้รอพร้อมกันในวันเปิดตัวอย่างเป็นทางการ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน