ขอ2.6พันล.แก้ปุ๋ยแพงเลิกอุ้มดีเซลเอ็กซ์ตร้า

แห่ขึ้นราคาอีก ถึงคิวปลา กระป๋อง-ผลไม้กระป๋องขอปรับเพิ่ม 5-15% เริ่มสัปดาห์นี้ สมาคมอาหารกระป๋องแจง แบกต้นทุนเพิ่มขึ้นมา 2 ปีแล้ว เจอสงครามรัสเซีย-ยูเครน ตรึงราคาต่อไป ไม่ไหว ส่วนไข่ได้ขึ้นราคาฟองละ 10 สตางค์ มีผลทันที แต่สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไม่พอใจ ขออีก 10 สตางค์ ถ้าไม่ได้เตรียมรวมตัวประท้วงรัฐ ‘บิ๊กตู่’ แจง 5 มาตรการสู้วิกฤตแพง กระทรวง เกษตรฯ ขอครม. 2.6 พันล้านแก้ปุ๋ยแพง รับมือยืดเยื้อถึงไตรมาส 2 ปีนี้ กองทุนน้ำมันถกคลัง แยกอุดหนุนดีเซลพรีเมียมกลุ่มรถหรูออกจากอุดหนุนดีเซล บี 7 นกแอร์แจงวุ่นยกเลิกเที่ยวบินเบตง ยะลา ปตท.-บางจาก ลดอีกวันนี้ เบนซินลิตรละบาท

ปลากระป๋องขอขึ้น 5-15%
เมื่อวันที่ 16 มี.ค. นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปเปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการผลิตอาหารสำเร็จรูป รวมถึงอาหารกระป๋องได้รับผลกระทบอย่างหนักจากราคาเหล็กแผ่นทำกระป๋องที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมากว่า 2 ปี ราคาปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 100% และสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังเข้ามาซ้ำเติมทำให้ราคาปรับเพิ่มขึ้นอีก โดยหากเทียบราคาช่วงต้นปีนี้กับปัจจุบันราคาปรับเพิ่มขึ้น 30% ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะปลากระป๋อง ผลไม้กระป๋อง ผักกระป๋อง และสินค้ากระป๋องชนิดอื่นอีกหลายรายการ ดังนั้น ผู้ผลิตที่เตรียมที่จะทำหนังสือไปยังกรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์เพื่อขอปรับขึ้นราคาสินค้าอาหารกระป๋องทุกชนิด 5-15%

“เมื่อสัปดาห์ก่อนได้คุยปัญหานี้กับกรมการค้าภายใน ซึ่ง คน.ก็เข้าใจว่าต้นทุนเราเพิ่มขึ้น และกลัวว่าหากไม่ให้ขึ้นราคาผู้ผลิตอาจลดกำลังการผลิตและเกิดปัญหาของขาดแคลน จึงเปิดทางให้ผู้ผลิตเสนอขอปรับราคาอาหารกระป๋องได้ ซึ่งขณะนี้ได้แจ้งไปยังสมาชิกสมาคมจำนวน 200 รายแล้ว ให้ทำเรื่องเสนอขอปรับราคาไปยังคน. คาดว่าจะเริ่มยื่นขอปรับราคาตั้งแต่สัปดาห์นี้เลย” นายวิศิษฐ์กล่าว

ไฟเขียวไข่ไก่ขึ้น 10 สตางค์
รายงานข่าวจากกรมการค้าภายใน (คน.) เปิดเผยถึงผลการประชุมร่วมกับสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่และกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ เพื่อแก้ไขปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์มีราคาแพงซึ่งส่งผล กระทบต่อต้นทุนการเลี้ยง ว่า คน.อนุมัติให้ปรับราคาไข่คละหน้าฟาร์ม เพิ่มขึ้น 10 สตางค์/ฟอง คือปรับจาก 3.10 บาท/ฟอง เป็น 3.20 บาท/ฟอง เริ่มตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค.2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้เพื่อลดภาระต้นทุนให้กับเกษตรกร โดยในที่ประชุมฝ่ายเกษตรกรได้เสนอขอปรับขึ้นราคาไข่คละหน้าฟาร์มอีก 20 สตางค์/ฟอง หรือ 3.20 บาท/ฟอง เนื่องจากต้นทุนการเลี้ยงเดือนมี.ค. ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 3.94 บาท แต่คน.อนุมัติให้เพียง 10 สตางค์เท่านั้น สัปดาห์หน้า คน.จะนัดหารือร่วมกับเกษตรกรเพื่อพิจารณาเรื่องการปรับราคาไข่ไก่อีกครั้ง

นายดำรงค์ ธาราสมบัติ ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรี จำกัด เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับคน.ว่า การอนุมัติให้เกษตรกรปรับขึ้นราคาไข่คละเพียงฟองละ 10 สตางค์/ฟอง เป็นราคาที่เกษตรกรยังไม่พอใจ ยังไม่คุ้มต้นทุนการผลิตซึ่งอยู่ที่ 3.20-3.30 บาท/ฟอง โดยราคาที่เหมาะสมและทำให้เกษตรกรอยู่รอดได้คือ 3.40-3.50 บาท/ฟอง ดังนั้น สหกรณ์จะเดินหน้าเรียกร้องขอปรับขึ้นราคาไข่ไก่ต่อไปเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โดยหลังจากนี้ จะกลับไปหารือร่วมกับสมาชิกเพื่อกำหนดท่าทีว่าจะดำเนินการอย่างไร หากจำเป็นต้องรวบรวมสมาชิกออกมารวมตัวเรียกร้องก็คงต้องทำ นอกจากนี้ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ยังได้แจ้งว่าจะปรับขึ้นราคาอาหารสัตว์อีก 9-12 บาท/กระสอบ(30 ก.ก.) เริ่มตั้งแต่วันที่ 21 มี.ค. 2565 เป็นต้นไป

คาดปุ๋ยแพงถึงไตรมาส 2
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาสินค้าแพงขึ้นมาก ปัจจัยหนึ่งมาจากต้นทุนการผลิตที่สูง ดังนั้น ต้องดูกันไปก่อน ไม่สามารถบอกได้ว่าราคาสินค้าจะสูงแบบนี้ถึงเมื่อไหร่ ส่วนต้นทุนราคาปุ๋ยที่สูงขึ้นมามากกว่า 100% หลังจากหารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) จะนำรายละเอียดที่ได้จากการหารือ ทั้งเรื่องความต้องการ พื้นที่เพาะปลูก มาตรการที่การที่กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการอยู่ เพื่อเคาะมาตรการแก้ปัญหา ให้เกิดผลกระทบต่อ ผู้บริโภค เกษตรกรน้อยที่สุด

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์รายงานว่าสถานการณ์ราคาขายส่งปุ๋ยเคมีภายในประเทศ มี.ค.2565 ยังคงปรับตัวสูงขึ้นตามราคาแม่ปุ๋ยในตลาดโลก ขณะนี้ปุ๋ยเคมีบางชนิดเริ่มขาดตลาด เช่น ปุ๋ยสูตร 21-0-0 สูตร 46-0-0 สูตร 18-46-0 สูตร 0-0-60 สูตร 16-20-0 และสูตร 15-15-15 คาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะต่อเนื่องไปถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 ซึ่งเป็นช่วงเพาะปลูกของไทย ประกอบกับผู้ประกอบการได้ชะลอการนำเข้าปุ๋ยเคมีบางชนิดที่มีราคาสูงเกินไป

ขอครม.2.6พันล.สู้ปุ๋ยแพง
แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี แสดงความกังวลต่อราคาสินค้ารวมถึงปุ๋ยราคาแพงหวั่นกระทบกับเกษตรกร จึงสั่งการให้กระทรวง เกษตรฯ เร่งหามาตรการรับมือ ให้หน่วยงานต่างๆ พิจารณาโครงการเพื่อสนับสนุนมาตรการแก้ปัญหาราคาปุ๋ยแพง เตรียมเสนอของบประมาณจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) 2,675.4 ล้านบาท เพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง ปุ๋ยพืชสด และโครงการเพื่อร่วมพัฒนาเกษตรกรให้ใช้ปุ๋ยอย่างถูกวิธี และเหมาะสม

ถกเลิกอุดหนุนดีเซลรถหรู
ด้านนายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผอ.สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กล่าวว่า ขณะนี้กองทุนอยู่ระหว่างหารือกับกรมธุรกิจพลังงาน กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาแนวทางแยกการอุดหนุนน้ำมันดีเซลเกรดพรีเมียม หรือเอ็กซ์ตร้า ที่ใช้ในกลุ่มผู้ใช้รถราคาแพง ออกจากการอุดหนุนราคาดีเซล บี 7 เป็นน้ำมันพื้นฐานที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่งและภาคเกษตร ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายตรึงราคาไว้ไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร เพื่อไม่ให้ส่งผ่านไปยังต้นทุนราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นเป็นภาระค่าครองชีพประชาชน คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์นี้

“กองทุนกำลังพิจารณาว่าจะสามารถแยกการอุดหนุนผู้ใช้น้ำมันดีเซลในกลุ่มรถหรูออกจากน้ำมันดีเซลพื้นฐานได้หรือไม่ และรูปแบบจะเป็นอย่างไรกำลังคิดอยู่ เพื่อกองทุนจะได้ ไม่ต้องเอาเงินไปอุดหนุนส่วนนี้มากเกินความจำเป็น เพราะคนมีรถหรูเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพเติมน้ำมันดีเซล พรีเมียม เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) พิจารณาเพื่อออกประกาศต่อไป”นายวิศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ หากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเปลี่ยนแปลงผันผวนอยู่ในระดับสูงอีกอาจต้องอาศัยอำนาจพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ที่กำหนดให้ใช้งบกลางหรือการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลงจากปัจจุบันที่เรียกเก็บในอัตรา 3.20 บาท/ลิตร เป็นเครื่องมือเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระกองทุนเพิ่มเติมจากการกู้เงินที่ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกเพดานเงินกู้ 40,000 ล้านบาทแล้ว หากถึงที่สุดจะมีแผนลดการช่วยเหลือ แต่จะไม่ให้ราคากระชากมากเกินไปจนเกิดภาวะตื่นตระหนก เช่น ดีเซลราคาไม่เกิน 30 บาท/ลิตร อาจปรับขึ้น 50 สตางค์/ลิตร เป็น 30.50 บาท/ลิตร เป็นสเต็ป

ปตท.แจ้งลดน้ำมัน 1 บาท
รายงานข่าวแจ้งว่า พีทีที สเตชั่น และบางจากประกาศปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ทุกชนิดลง 1 บาท/ลิตร มีผลวันที่ 17 มี.ค. เวลา 05.00 น. เป็นต้นไป โดยราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินอยู่ที่ 46.16 บาท/ลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 38.75 บาท/ลิตร อี20 อยู่ที่ 37.64 บาท/ลิตร แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 38.48 บาท/ลิตร อี85 อยู่ที่ 30.94 บาท/ลิตร ขณะที่กลุ่มดีเซลทุกชนิด คงเดิมโดยดีเซล บี7 อยู่ที่ 29.94 บาท/ลิตร ดีเซล บี10 อยู่ที่ 29.94 บาท/ลิตร ดีเซล บี20 อยู่ที่ 29.94 บาท/ลิตร ดีเซลพรีเมียม บี7 อยู่ที่ 35.96 บาท/ลิตร โดยราคาขายปลีกข้างต้นยังไม่รวมภาษีบำรุงกรุงเทพมหานคร

5 มาตรการสู้วิกฤตพลังงาน
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ว่าในการหารือข้อเสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์รัสเซียและยูเครน และภาวะราคาพลังงานสูง ทำให้อย่างอื่นตามขึ้นไปทั้งหมด ซึ่งขณะนี้มีหลายอย่างด้วยกัน ในเรื่องของน้ำมันเราพยายามจะดึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรตรงนี้ไปก่อน ซึ่งราคาจริงสูงกว่านี้มาก ช่วงที่ผ่านมาได้ใช้กองทุนน้ำมันที่ติดลบอยู่ในปัจจุบันต้องหาเงินจากตรงอื่นมาเติมในส่วนนี้ ก็ต้องขอความร่วมมือจากประชาชนด้วย เพราะช่วงนี้เป็นช่วงสถานการณ์วิกฤต

ส่วนเรื่องการช่วยเหลือแรงงานซึ่งได้รับผลกระทบเช่นกันต้องพิจารณาลดรายจ่ายของนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งกำลังจะให้กองทุนประกันสังคมพิจารณาดำเนินการ การช่วยเหลือการขาดแรงงานก็จะพิจารณา ซึ่งขณะนี้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวเพิ่มเติมในด้านการเกษตรซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ มีหลายเรื่องด้วยกันทั้งในเรื่องของอาหารสัตว์ ปุ๋ย โดยตนได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พณ. สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้พิจารณาความช่วยเหลือเรื่องปุ๋ยเคมีราคาแพง เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกร

ส่วนกลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้มีรายได้น้อย เราก็ต้องพิจารณาที่จะช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอย่างไร ขณะนี้มีมาตรการเบื้องต้นที่อยู่ระหว่างการหารือ คือบรรเทาผลกระทบราคาแก๊สหุงต้ม แอลพีจี ให้กับกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การช่วยเหลือค่าแก๊สหุงต้มแอลพีจี สำหรับร้านอาหารและเครื่องดื่มที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง การช่วยเหลือค่าไฟฟ้า การช่วยเหลือเรื่องของราคาน้ำมันเบนซินในกลุ่มจักรยานยนต์รับจ้าง รวมถึงจะขอความร่วมมือให้ผู้ค้าเอ็นจีวีให้ตรึงราคาในช่วงวิกฤตพลังงานไปก่อน เป็นสิ่งที่รัฐทำได้ในเวลานี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า มาตรการทั้งหมดจะต้องสรุปให้ได้เมื่อไหร่ นายกฯ กล่าวว่า ภายในสัปดาห์นี้เขาก็หารือกันอยู่ เมื่อถามว่าราคาน้ำมันดีเซลรัฐบาลจะสามารถตรึงได้ในระยะเวลากี่เดือน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า จะตรึงเท่าที่มีเงินเหลืออยู่ ปัจจุบันก็มีอยู่ประมาณ 4 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งวันนี้ก็ใช้ไปจนเกือบจะ หมดแล้ว

ชี้ปัญหาเปิดสนามบินเบตง
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงกรณีสายการบินนกแอร์ประกาศยกเลิกเที่ยวบินดอนเมือง-เบตง วันที่ 16 และ 18 มี.ค. ทั้งที่นายกฯ เพิ่งเดินทางไปเปิดเที่ยวบินเมื่อวันที่ 14 มี.ค.ว่า จะให้ทำอย่างไร ต้องไปหาวิธีการอื่น ต้องไปหารือกัน เขาขอให้รับรองรายได้ เราก็ต้องหาเงินอีก ดังนั้น ต้องไปดูอีกที แต่เดี๋ยวมันจะดีขึ้น เปิดประเทศกับมาเลเซีย อะไรต่างๆ ก็จะพัฒนาขึ้น เพราะผู้โดยสารบางส่วนก็มาจากต่างประเทศ เราก็มีศักยภาพ โดยต้องเห็นใจซึ่งกันและกัน ผู้ประกอบการขาดทุนเขาก็ไม่ไหว แต่มีสนามบินย่อมดีกว่าไม่มี อย่างไรก็ตามช่วงแรกๆ ฝ่ายผู้ประกอบการจะพิจารณาว่าคุ้มทุนหรือไม่ในแต่ละเที่ยว หากผู้โดยสารไม่เพียงพอ ไม่เต็มเที่ยวบินก็จะเป็นปัญหา ซึ่งมีหลายอย่างเกี่ยวข้อง

‘นกแอร์’แจงโละไฟลต์
ด้านฝ่ายประชาสัมพันธ์สายการบินนกแอร์ ชี้แจงการยกเลิกเที่ยวบินดอนเมือง-เบตง เมื่อวันที่ 15 มี.ค.ว่า อ.เบตง จ.ยะลา เป็นจุดหมายใหม่ของนกแอร์ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการประชาสัมพันธ์ทางการตลาด ประกอบกับการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชนเป็นสิ่งจำเป็น และด้วยระยะเวลาในการทำตลาดที่มีน้อย ทำให้จำนวนผู้โดยสารไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับต้นทุนการปฏิบัติการบินที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะค่าน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการปฏิบัติการบินต่างๆ

แผนการตลาดผิดพลาด
รายงานข่าวจากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) แจ้งว่าสายการบินนกแอรแจ้งว่า การยกเลิกเที่ยวบินเนื่องจากเกิดข้อผิดพลาดด้านการวางแผนการตลาด จึงต้องทบทวนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในวันศุกร์ที่ 18 มี.ค. สายการบินจะทำการบินไฟลต์โปรโมตการท่องเที่ยวเบตง โดยจะเชิญนักข่าว ยูทูบเปอร์โซเชี่ยล และบริษัททัวร์

สำหรับแนวทางชดเชยผู้โดยสารที่ได้ซื้อบัตรโดยสารเส้นทางดอนเมือง-เบตง-ดอนเมือง ในวันที่ 16 และ 18 มี.ค. สายการบินจะคืนเงินค่าโดยสารเต็มจำนวน ภายใน 7 วัน พร้อมทั้งค่าชดเชยการแจ้งยกเลิกเที่ยวบินล่วงหน้าตามประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยอีกรายละ 1,200 บาท

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน