4บาท/หน่วยเริ่ม พค.‘ข้าวสารถุง’ก็จ่อขยับยืดอุ้มเอ็นจีวี 3เดือนส.ไก่วอนเลิกคุมราคา

ของแพง-ขยับราคาไม่หยุด ‘ค่าไฟ’ขึ้นเป็น 4 บาทต่อหน่วย สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เริ่มพ.ค.นี้ ‘ข้าวสารถุง’ก็จ่อปรับราคาเพิ่ม มิ.ย.นี้ กก.กิจการพลังงานแจง ผลพวงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลต่อวิกฤตพลังงานโลก ชี้เม.ย.66แนวโน้มอาจปรับเพิ่มขึ้นอีก 110 สตางค์ต่อหน่วย จากเดิม 3.78 บาทต่อหน่วย เพิ่มขึ้น 5.82% ส่วนข้าวสารถุงแบกต้นทุนปลายข้าวแพงจากผลกระทบสงครามไม่ไหว หอการค้าคาดเอกชนทยอยขึ้นราคาสินค้า 5% ปรับเป้าเงินเฟ้อปี 65 เป็น 3.5% ปตท.ยืดเวลาขายเอ็นจีวี 15.59 บาทต่อกิโลให้ประชาชน และ 13.62 บาทต่อก.ก.ให้แท็กซี่ ต่ออีก 3 เดือน จากเดิมสิ้นสุด 15 มี.ค. เป็น 15 มิ.ย. สมาคมผู้เลี้ยงไก่โอด ยกเลิกมาตรการซื้อข้าวโพด 3 ส่วน ต่อการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ไม่ส่งผลดีต่อเกษตร ซ้ำเติมให้ขาดทุนมากขึ้นไปอีก ย้ำยึดกลไกตลาดกำหนดราคา ก่อนเกษตรกรถอดใจเลิกเลี้ยง

พ.ค.ขึ้นค่าไฟ 4 บ./หน่วย
เมื่อวันที่ 17 มี.ค. นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกพ. มีมติให้ปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือนพ.ค.-ส.ค.2565 โดยให้เรียกเก็บที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 23.38 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับประชาชนเป็น 4.00 บาทต่อหน่วย จากเดิมเรียกเก็บที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ซึ่งเพิ่มขึ้น 5.82% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ หากแอลเอ็นจียังมีราคาเหนือระดับ 20 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู คาดว่าค่าไฟจะยืนเหนือระดับ 4 บาทต่อหน่วยต่อไป เพราะการผลิตไฟฟ้าของไทยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก แต่ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลว่าจะสนับสนุนเชื้อเพลิงประเภทใด

นายคมกฤชกล่าวว่า เนื่องจากผลกระทบสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลต่อวิกฤตราคาพลังงานโลกเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทำให้ กกพ. ต้องปรับสมมติฐานการประมาณการค่าเอฟทีใหม่ให้สะท้อนราคาเชื้อเพลิงในสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นปัจจัยลบเพิ่มเติมจากสถานการณ์ก๊าซธรรมชาติ (แอลเอ็นจี) ในอ่าวไทยลดลงในช่วงปลายสัมปทาน ประมาณการค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น ส่งผลให้ประมาณการค่าเอฟที ช่วงเดือนพ.ค.-ส.ค. 2565 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 129.91 สตางค์ต่อหน่วย และหากพิจารณาภายใต้หลักการการปรับขึ้นแบบขั้นบันได อาจทำให้ต้องขึ้นค่าเอฟที งวดละ 47.3 สตางค์ต่อหน่วย แต่ด้วยมาตรการการบริหารจัดการต้นทุนเชื้อเพลิงให้ต่ำที่สุด ทำให้ค่า เอฟทีลดลง เป็นผลให้ปรับขึ้นค่าเอฟทีงวดนี้เพียง 23.38 สตางค์ต่อหน่วย”

เม.ย. 66 อาจเพิ่ม 110 ส.ต.
สำหรับแนวโน้มค่าไฟต้นปี 2566 งวดเดือนม.ค.-เม.ย.2566 ค่าเอฟทีอาจเพิ่มขึ้น 110.82 สตางค์หน่วย อยู่ที่ 1.10 บาทต่อหน่วย แต่หากราคาพลังงานลดลงหลังจากนี้จะทำให้ต้นทุนผลิตไฟฟ้าลดลง ส่งผลให้ค่าไฟแบบขั้นบันไดที่ประมาณการออกมามีโอกาสลดลงเช่นกัน

ทั้งนี้ จากการรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากสปป.ลาว การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มเติม การปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตา มาตรการการบริหารการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตา ร่วมกับมาตรการการนำ “Energy Pool Price” มาใช้ เพื่อเฉลี่ยต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าให้เกิดความเป็นธรรม ทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าอยู่ในราคาที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ตามแนวทางจากภาคนโยบายการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะแบกรับค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงในงวดที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดไว้ก่อน และจะทยอยเรียกคืนค่า เอฟทีเมื่อราคาเชื้อเพลิงปรับตัวลดลง

ยืดอุ้ม‘เอ็นจีวี’อีก 3 เดือน
ด้านนายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการ ผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท. เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการคงราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ที่ 15.59 บาท/ก.ก. และราคาขายปลีกเอ็นจีวีที่ 13.62 บาทต่อก.ก. ต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 3 เดือน จากเดิมสิ้นสุดในวันที่ 15 มี.ค. เป็นวันที่ 15 มิ.ย. ตามมาตรการ “เอ็นจีวีเพื่อลมหายใจเดียวกัน” สำหรับผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่เคยได้รับสิทธิ์ผ่านมาตรการเอ็นจีวีเพื่อลมหายใจเดียวกัน คิดเป็นมูลค่าที่สนับสนุนทั้งสิ้นกว่า 3,322 ล้านบาท นับจากเริ่มมาตรการช่วยเหลือตั้งแต่ 1 พ.ย.2564-15 มิ.ย.2565 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่ผันผวนในตลาดโลกตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามนโยบายของรัฐบาล

มิ.ย.ข้าวสารขึ้นราคาด้วย
นายบุรินทร์ ธนถาวรลาภ นายกกิติมศักดิ์สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย เปิดเผยว่า จากการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนทำให้ไทยไม่สามารถนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์โดยเฉพาะข้าวสาลีจากยูเครนได้ ส่งผลกระทบทำให้ราคาปลายข้าวในไทยปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ส่งผลทำให้ราคาข้าวนาปรัง ประเภทข้าวขาว และข้าวหอมพวงภายในประเทศ ปรับเพิ่มขึ้นตัน 2-3 พันบาท/ตัน คือปรับจาก 6-7 พัน/ตัน เป็น 1 หมื่นบาท/ตัน เนื่องจากอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ในประเทศหันมาใช้ปลายข้าวขาวในประเทศมากขึ้น โดยในระยะสั้น 1-2 เดือนจากนี้ จะยังไม่ส่งผล กระทบต่อราคาจำหน่ายปลีกข้าวสารบรรจุถุงต้องปรับขึ้นราคา แต่ในระยะยาวอาจจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาข้าวสารถุงตามต้นทุน

“คาดว่าช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. อาจจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาข้าวสารบรรจุ เพราะอีก 1-2 เดือนสต๊อกข้าวสารเก่าจะหมด รวมทั้งช่วงดังกล่าวยังเป็นช่วงที่เป็นช่องว่าง ปริมาณผลผลิตข้าวมีน้อย เนื่องจากข้าวฤดูใหม่จะออกอีกทีราวเดือนส.ค. 2565” นายบุรินทร์กล่าว

คาดสินค้าทยอยปรับ 5%
รายงานข่าวจากสมาคมโรงสีข้าวไทยแจ้งถึงราคาปลายข้าวเดือนก.พ.2565 เปรียบเทียบกับล่าสุด ณ วันที่ 17 มี.ค. ว่า ปลายข้าวขาวเอวันเลิศ ราคาปรับเพิ่มขึ้น 30-50 บาท/กระสอบ (100ก.ก.) คือปรับ จาก 1,130-1,190 บาท/กระสอบ เป็น 1,180-1,220 บาท/กระสอบ และ ปลายข้าวขาวซีวัน ราคาปรับเพิ่มขึ้น 50 บาท/กระสอบ คือปรับจาก 1,000-1,070 บาท/กระสอบ เป็น 1,050-1,120 บาท/กระสอบ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลกระทบต่อราคาสินค้าจากกรณีการสู้รับรัสเซียยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและวัตถุดิบผลิตสินค้านำเข้าของไทยว่า คาดว่ากระทรวงพาณิชย์จะอนุญาตให้ ผู้ผลิตสินค้าที่ได้รับผลกระทบต้นทุนปรับขึ้นราคาตามต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งคาดว่าจะภาพรวมจะปรับขึ้นราคาราว 5% เนื่องจากกำลังซื้อของประชาชนยังมีมากไม่มากนัก แต่อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อทั้งปีนี้ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3-3.5% สูงกว่าเป้าหมายที่ 2-2.5% แต่ก็ยังไม่น่าจะบั่นทอนกำลังซื้อของประชาชนให้ลดลงมากนัก เนื่องจากประชาชนยังพอมีทางเลือกในการบริโภคสินค้าชนิดอื่นทดแทนสินค้าที่ปรับขึ้นราคา เช่น บริโภค ปลา แทนเนื้อไก่ เนื้อหมู และไข่

ติงปรับมาตรการซื้อข้าวโพด
ส่วนกรณีมติที่ประชุม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ไก่เนื้อ สุกร และไก่ไข่ และตัวแทนเกษตรกรด้านการเพาะปลูก เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาผลกระทบจากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าสูงขึ้น ทั้งวัตถุดิบอาหารสัตว์ ปุ๋ยและผลไม้ โดยที่ประชุมเห็นชอบยกเลิกมาตรการ 3:1 ที่กำหนดให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วนต่อการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน เป็นการชั่วคราว และให้นำเข้าข้าวสาลีได้เสรีจนถึงวันที่ 31 ก.ค.2565 ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวโพดยังไม่ออกสู่ตลาดและต้องนำเข้าภายใต้โควตาที่กำหนดเท่านั้น

นางฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ภาครัฐต้องกำหนดรายละเอียดนำเข้าและวันที่เริ่มนำเข้าซึ่งต้องใช้เวลา ยังโดนจำกัดด้วยโควตานำเข้าและระยะเวลา เพื่อปกป้องชาวไร่ข้าวโพด แต่ทอดทิ้งเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ให้แบกภาระต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้นแรงมากในปีนี้และเป็นต้นทุนการเลี้ยง 60-70% ของการเลี้ยง ขณะที่อาหารสัตว์และเนื้อสัตว์ โดนควบคุมราคาทั้งห่วงโซ่การผลิต

สำหรับวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบต่อภาคปศุสัตว์ทั่วโลกรวมทั้งไทย เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นผู้ผลิตธัญพืชรายใหญ่ของโลกทั้งข้าวโพดและข้าวสาลี ทำให้ไทยไม่สามารถนำเข้าข้าวสาลีได้ตามปกติขณะที่ราคาพุ่งขึ้น 43% จาก 8.91 บาท/ก.ก. เป็น 13 บาท/ก.ก. และข้าวโพดจาก 10.05 บาท/ก.ก. เป็น 13 บาท/ก.ก.

ห่วงคุมราคาทำฟาร์มไก่เจ๊ง
นางฉวีวรรณกล่าวย้ำว่า แม้ภาครัฐจะยกเลิกมาตรการ 3:1 ชั่วคราว ก็ไม่เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการภาคปศุสัตว์ ที่ผ่านมาสมาคมในฐานะตัวแทนเกษตรกรเรียกร้องไปยังภาครัฐให้พิจารณานำกลไกการตลาดมาใช้แทนมาตรการควบคุมราคา เพื่อให้ราคาปรับขึ้นลงอย่างสมดุลตลอดห่วงโซ่การผลิตตามหลักการอุปสงค์ และอุปทาน จึงควรยกเลิกการคุมราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์และราคาเนื้อสัตว์ ให้ราคาขึ้นลงตามกลไกตลาด โดยมีภาครัฐเป็นผู้กำกับดูแล

นางฉวีวรรณกล่าวเพิ่มเติมว่า ภาคผู้เลี้ยงสัตว์ขาดทุนสะสมต่อเนื่องจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งข้าวโพดและกากถั่วเหลืองสูงขึ้นโดยตลอด ในปี 2564 ราคาปรับสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึง 30-40% รวมถึงปัจจัยการผลิตและการป้องกันโรคระบาดปรับราคาสูงขึ้นทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นตามไปด้วย การปล่อยให้ราคาเนื้อไก่ที่ปรับสูงขึ้นตามกลไกตลาดจะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร ผู้เลี้ยงไก่ให้มีต้นทุนการผลิตที่เหมาะสมและขายสินค้าได้ในราคาที่สอดคล้องกับต้นทุน ที่สำคัญยังดำเนินธุรกิจต่อไปได้ หากรัฐบาลยังคงใช้มาตรการการคุมราคาสินค้าภาคปศุสัตว์ทั้งห่วงโซ่การผลิตต่อไป จะส่ง ผลกระทบต่อผู้เลี้ยงรายย่อยและรายเล็กไม่สามารถแบกภาระต้นทุนที่สูงขึ้นได้ เมื่อ ผู้เลี้ยงอยู่ไม่ได้ก็ต้องหยุดเลี้ยง อาจทำให้เกิดปัญหาอาหารขาดแคลนได้

มั่นใจแก้ธุรกรรมการเงิน 2 ปท.
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงสถานการณ์สู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลกระทบต่อปัญหาเศรษฐกิจ จะตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้นมารับมือสถานการณ์ เหมือนกับศบค.หรือไม่ว่า ไม่มี ในสมช. มีนายกฯ เป็นประธาน ส่วนตนเป็นเลขาฯ จะมีคณะอนุกรรมการ ที่ตั้งไว้แล้วเพื่อแก้ปัญหาความมั่นคง และแก้ไขปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ กลไกนี้จะขับเคลื่อนงานตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว และสรุปทุกเรื่องรายงานนายกฯ จนมีมาตรการออกมาช่วยเหลือ

เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่เกี่ยวกับคนของรัสเซียและยูเครนที่ยังตกค้างอยู่ในไทย และไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ และอาจก่อเหตุในประเทศไทย พล.อ.สุพจน์กล่าวว่า ไม่มี ภาคการท่องเที่ยวเราดูแล ร่วมมือกับสถานทูต ยืนยันว่าจะไม่เป็นอาชญากรรม ดูแลหมดแล้วว่ามีใครอยู่บ้าง ดูแม้กระทั่งความเคลื่อนไหวของความขัดแย้ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน