ใช้รักษาโควิด สธ.ชี้ผลดีกว่า
รองอธิบดีกรมการแพทย์ชี้ ‘แพกซ์โลวิด’ รักษาโควิดมีประสิทธิภาพสูงสุด สั่งนำเข้ากลางเดือนหน้า ด้านร.พ.ศิริราชระบุเก็บค่ารักษาตัวที่บ้านวันละ 600 บาทตามระเบียบ เผยยอดดับโควิดทำนิวไฮอีก 87 ศพจาก 40 จังหวัด สลดคร่าชีวิตหนูน้อย 2 ขวบด้วย จำนวนติดเชื้อใหม่ 25,804 คน อธิบดีกรมควบคุมโรคชี้ตัวเลขเกิน 2 หมื่นรายต่อเนื่องหลายสัปดาห์ไม่น่ากังวล ชี้ติดเชื้อมากย่อมต้องมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม วอนอย่าด้อยค่า ‘ยาฟาวิพิราเวียร์’ ยืนยันใช้รักษาได้ผลลดการตาย นายกฯ ห่วงโควิดแพร่ขยายช่วงสงกรานต์ แนะอสม.ชักชวนกลุ่มเสี่ยง ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ได้มากกว่าร้อยละ 70 หวังสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

แห่ตรวจ – ชาวโคราชเป็นจำนวนมากพากันเข้าคิวตรวจเอทีเค เพื่อหาเชื้อโควิด-19 ที่หน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา หลังสถานการณ์ระบาดในพื้นที่ยังพบผู้ติดเชื้อสูงอยู่ โดยผู้ป่วยใหม่รายวันถึง 1,710 ราย เมื่อวันที่ 19 มี.ค.

ตายทำนิวไฮอีก 87 ราย-40 จว.
เมื่อวันที่ 19 มี.ค. ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 เผยแพร่ยอดผู้ป่วยประจำวันเสาร์ที่ 19 มี.ค. รวม 25,804 ราย จำแนกเป็นผู้ป่วยจากในประเทศ 25,778 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 26 ราย ผู้ป่วยสะสม 1,105,538 ราย (ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2565) หายป่วยกลับบ้าน 18,801 ราย หายป่วยสะสม 898,798 ราย (ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2565) ผู้ป่วยกำลังรักษา 237,519 ราย เสียชีวิต 87 ราย จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล(ร.พ.) 1,414 ราย เฉลี่ยจังหวัดละ 18 ราย อัตราครองเตียงร้อยละ 25.6

ขณะที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) รายงานสถานการณ์ทั่วโลก พบว่ามีผู้ติดเชื้อสะสม 468,424,614 ราย รักษาหายแล้วรวม 399,298,817 ราย และเสียชีวิตรวม 6,093,827 ราย ประเทศที่มีจำนวน ผู้ติดเชื้อสูงที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ เกาหลีใต้ เยอรมนี เวียดนาม ฝรั่งเศส และอังกฤษ ส่วนไทยอยู่ในอันดับที่ 17 โดยวันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 25,804 ราย ติดเชื้อในประเทศ 25,720 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 26 ราย จากเรือนจำและที่ต้องขัง 58 ราย เป็นผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 3,328,973 ราย หายป่วย 18,801 ราย โดยผู้ป่วยหายสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 3,067,292 ราย เสียชีวิต 87 ราย

เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 24,162 ราย ผู้ป่วยรักษาอยู่ 237,519 ราย แบ่งเป็นอยู่ในร.พ. 72,756 ราย และร.พ.สนามอื่นๆ 164,763 ราย มีอาการหนัก 1,414 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 512 ราย

สลดเด็ก 2 ขวบคนแก่ 98 ปีดับ
ศบค.ระบุต่อว่า ผู้เสียชีวิต 87 ราย อยู่ในกรุงเทพมหานคร 15 ราย สมุทรปราการ 4 ราย สมุทรสาคร 4 ราย นครปฐม ปทุมธานี จังหวัดละ 1 ราย นครราชสีมา 4 ราย ร้อยเอ็ด 3 ราย ชัยภูมิ อุบลราชธานี จังหวัดละ 2 ราย เลย บุรีรัมย์ อุดรธานี ศรีสะเกษ กาฬสินธุ์ หนองคาย และสกลนคร จังหวัดละ 1 ราย ตาก 2 ราย แพร่ กำแพงเพชร และพะเยา จังหวัดละ 1 ราย สุราษฎร์ธานี 4 ราย พัทลุง ปัตตานี จังหวัดละ 3 ราย พังงา กระบี่ สตูล สงขลา จังหวัดละ 2 ราย ชุมพร นครศรีธรรมราช และยะลา จังหวัดละ 1 ราย ราชบุรี 4 ราย สุพรรณบุรี 3 ราย พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี สระบุรี จังหวัดละ 2 ราย นครสวรรค์ เพชรบุรี ปราจีนบุรี ชลบุรี และระยอง จังหวัดละ 1 ราย
จำแนกเพศเป็นชาย 48 ราย และหญิง 39 ราย แบ่งเป็นอายุ 60 ปีขึ้นไป 59 ราย ต่ำกว่า 60 ปีมีโรคเรื้อรัง 24 ราย และไม่มีประวัติ โรคเรื้อรัง 4 ราย
ทั้งนี้ผู้เสียชีวิต 87 ราย จำแนกเป็นชาย 48 ราย หญิง 39 ราย อายุ 2-98 ปี เฉลี่ย 70 ปี โดยเป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวรวม 95%

สำหรับจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10 อันดับแรก คือ 1.กรุงเทพมหานคร 3,335 ราย 2.นครศรีธรรมราช 1,629 ราย 3.ชลบุรี 1,420 ราย 4.สมุทรปราการ 928 ราย 5.สมุทรสาคร 867 ราย 6.นครปฐม 642 ราย 7.ร้อยเอ็ด 623 ราย 8.นนทบุรี 586 ราย 9.นครราชสีมา 551 ราย และ 10.ราชบุรี 545 ราย

รายงานศบค.ระบุว่า จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เมื่อวันที่ 18 มี.ค. รวม 269,172 ราย สะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 2564 จำนวน 127,068,984 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 เพิ่มขึ้น 114,591 ราย สะสม 54,777,644 ราย คิดเป็น 78.8% ของจำนวนประชากร เข็มที่ 2 เพิ่มขึ้น 27,394 ราย สะสม 50,084,753 ราย คิดเป็น 72% ของจำนวนประชากร เข็มที่ 3 เพิ่มขึ้น 127,187 ราย สะสม 22,206,587 ราย คิดเป็น 31.9% ของจำนวนประชากร

ตู่ย้ำรับวัคซีน‘ลดป่วยลดตาย’
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไทยแม้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องแต่ยังน้อยกว่าหลายประเทศในอาเซียนและของโลก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เสนอแนะให้อสม. เป็นกลไกสำคัญในระดับพื้นที่เชิญชวนบุคคลใกล้ชิด คนในชุมชน รวมทั้งกลุ่ม 608 คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์ เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ได้มากกว่าร้อยละ 70 เพื่อลดอาการรุนแรงและการเสียชีวิตหากติดเชื้อ รวมทั้งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่รองรับเทศกาลสงกรานต์ หรือปีใหม่ไทยที่กำลังจะมาถึง

นายธนกรกล่าวด้วยว่า ศบค.ย้ำมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในปีนี้ โดยเฉพาะการเตรียมตัวก่อนร่วมงานว่าประชาชนที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนา เข้าร่วมงานสงกรานต์ และกลุ่ม 608 ต้องได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่กำหนด มีการประเมินความเสี่ยงของตนเอง ขอให้หลีกเลี่ยงการเข้าร่วมงาน หรือให้ตรวจ ATK ก่อนเดินทาง หรือก่อนร่วมงานภายใน 72 ชั่วโมง ขณะเดินทางโดยขนส่งสาธารณะ ต้องเข้มงวดการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ และงดรับประทานอาหาร

สำหรับผู้จัดงาน และกิจการกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานสงกรานต์ให้ลงทะเบียนบนระบบ TSC2+ และประเมินตนเองตามประเภทมาตรการ COVID Free Setting ได้แก่ การจัดกิจกรรมพิเศษ (แสดงคอนเสิร์ต แสดงดนตรี งานอีเวนต์ งานเทศกาล มหกรรม) การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มในชุมชน ศาสนสถาน ร้านอาหาร ขนส่งมวลชนสาธารณะ ซึ่งการขออนุญาตจัดงานให้เป็นไปตามเขตพื้นที่สถานการณ์ หรือตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร กำหนด ระหว่างช่วงงานสงกรานต์ กรณีพื้นที่จัดงานสงกรานต์ที่มีการจัดเตรียมสถานที่และควบคุมกำกับนั้น อนุญาตให้เล่นน้ำ และจัดกิจกรรมตามประเพณี เช่น รดน้ำดำหัว สรงน้ำพระ การแสดงทางวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ขบวนแห่ การแสดงดนตรีพื้นบ้าน โดยต้องปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting และมีการกำกับอย่างเคร่งครัด ห้ามประแป้ง ปาร์ตี้โฟม จำหน่ายและบริโภคแอลกอฮอล์ในพื้นที่จัดงาน พื้นที่สาธารณะไม่มีการควบคุม เช่น ท้องถนน ห้ามเล่นน้ำ ประแป้ง และปาร์ตี้โฟม

ห่วงกลุ่มผู้สูงอายุ-608 และเด็ก
ส่วนมาตรการหลังกลับจากสงกรานต์ ให้สังเกตอาการตนเอง 7 วัน หากพบมีอาการสงสัยติดเชื้อให้ตรวจ ATK และขอให้หลีกเลี่ยงการพบปะผู้คนจำนวนมากโดยไม่จำเป็น พิจารณามาตรการ WFH ให้เป็นไปตามความเหมาะสม

“นายกฯ ห่วงใยกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่ม 608 และกลุ่มเด็ก (5-11 ขวบ) ที่พบว่ามีการเข้ารับการฉีดวัคซีนเข้มกระตุ้นน้อยอยู่ จึงขอความร่วมมือผู้ที่ยังไม่เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นรีบเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นโดยเร็วด้วย เพราะจะลดป่วย ลดตายได้ ต้องมารับวัคซีน พร้อมขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนร่วมกันเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจ และการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม ถูกต้องให้กับประชาชนเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัย (Living with COVID-19)” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว

ย้ำ‘ฟาวิฯ’รักษาโควิดได้ผลดี
ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงประเด็นประโยชน์การใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ว่า เชื้อโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ที่ไม่เคยเจอมาก่อน และระบาดกว้างขวาง แม้ช่วงแรกจะไม่รู้จักมาก่อน แต่ในฐานะแพทย์และบุคลากรทางสาธารณสุขก็ต้องหายาและวิธีมาบรรเทาอาการให้ดีขึ้น ตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่พบครั้งแรก ยังไม่รู้จักโรคนี้ดี ไม่มียารักษา บุคลากรทางการแพทย์จึงนำยาต้านไวรัสต่างๆ ที่มี อยู่เดิมและขึ้นทะเบียนแล้วว่าปลอดภัยมา ทดลองใช้ ทั้งยาต้านไวรัสเอดส์ ยารักษาไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น ซึ่งในทางทฤษฎีกลไกการออกฤทธิ์ของยาน่าจะยับยั้งได้ โดยหลายรายมีอาการดีขึ้น ต่อมาพบว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ที่ขึ้นทะเบียนกับอย.ประเทศไทยในการรักษาไข้หวัดใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยหลายรายอาการดีขึ้นและสามารถจัดหาได้ ราคาไม่แพงเกินไปนัก

อย่าด้อยค่ายาฟาวิฯเหมือนวัคซีน
นพ.โอภาสกล่าวว่า ผลจากการติดตามภายใน 14 วัน กลุ่มรับยาฟาวิพิราเวียร์ มีอาการดีขึ้น 79% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งอาการดีขึ้น 32.3% จะเห็นว่าการให้ยาทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กลุ่มที่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์อาการดีขึ้นเร็วกว่าอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีอาการดีขึ้นตั้งแต่วันที่ 2 ของการรักษา และในวันที่ 13 และ 28 ของการรักษาจะมีปริมาณไวรัสที่ต่ำกว่าผู้ที่ไม่ได้รับยา ทำให้มีความเชื่อมั่นในการใช้ยา ขณะที่ยาอยู่ในรูปแบบการกินทำให้ง่ายและสะดวก ไม่มีผลข้างเคียงที่ต้องกังวล แต่มีข้อจำกัดคือ หากรักษาช้า และอาการค่อนข้างหนัก ประสิทธิภาพของยาจะไม่ดีนัก โดยแนะนำให้ยาในผู้ที่อาการไม่หนัก และรักษาแต่เนิ่นๆ

“ขอยืนยันว่า เราจะไม่นำยาที่ไม่มีประสิทธิภาพประสิทธิผล และเป็นอันตรายต่อชีวิตมารักษาผู้ป่วย ที่ผ่านมารักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์เกินกว่าล้านคนแล้ว ทำให้ลดการเสียชีวิต ประชาชนกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ลดการแพร่ระบาดของโรค เพราะเชื้อหมดไปจากผู้ป่วยได้เร็วกว่า ขอให้เชื่อมั่นในสิ่งที่สธ.ทำและยารักษา อย่ากังวล อย่าด้อยค่ายารักษา ซึ่งเราเคยด้อยค่าวัคซีนมาแล้ว ทำให้หลายคนเสียโอกาสในการรับวัคซีน บางคนกลัวจนไม่กล้าฉีด และหลายรายเสียชีวิตจากการไม่รับวัคซีน” น.พ.โอภาสกล่าว

เมื่อถามถึงกรณีการยื่นฟ้องเรื่องการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ จะส่งผลต่อความเชื่อมั่น จนทำให้ผู้ป่วยเลือกรับยาหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดว่าฟ้องในลักษณะใด สามารถทำได้ตามสิทธิของหลักรัฐธรรมนูญ แต่ในฐานะแพทย์ต้องนำสิ่งที่ดีที่สุดมารักษาผู้ป่วย ย้ำว่าโควิดเป็นโรคใหม่ ระยะแรกที่ยังไม่มีข้อมูลว่ายาใดรักษาได้ผล แต่ก็มีข้อมูลเชิงทฤษฎีว่ายาบางตัวยับยั้งไวรัสได้ จึงต้องนำมารักษาผู้ป่วย พร้อมทำวิจัยการใช้ยานั้นๆ เป็นข้อดีที่สามารถพัฒนาข้อมูลมาใช้ในประเทศได้

นำเข้ายาแพกซ์โลวิดเดือนหน้า
ด้าน นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงการใช้ยารักษาโควิด-19 ว่า มีการติดตามข้อมูล และปรับแนวทางการรักษาเป็นระยะ สำหรับยาฟาวิพิราเวียร์ใช้มาแล้ว 2 ปี โดยช่วงแรกศึกษาข้อมูลจากต่างประเทศ ซึ่งกลไกออกฤทธิ์คือการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส ทำให้เชื้อไวรัสเปลี่ยนแปลงไป จากการทบทวนอย่างเป็นระบบ ข้อมูลล่าสุดพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์มีอาการดีขึ้นเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับ โดยเฉพาะในช่วง 14 วัน สัดส่วนอาการดีขึ้น 86.9%

ส่วนการติดตามอาการจากการใช้ยาอื่น มียาเรมดิซิเวียร์ ซึ่งมีกลไกการออกฤทธิ์ตำแหน่งเดียวกับยาฟาวิพิราเวียร์ ช่วงเริ่มต้นองค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่ได้แนะนำหรือรับรอง แต่เมื่อใช้ยามาสักระยะก็ได้รับการรับรองจาก อย.สหรัฐให้ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ให้ทางหลอดเลือดดำ ซึ่งมีประโยชน์ในกลุ่มคนที่รับประทานไม่ได้ มีปัญหาการดูดซึม สามารถใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ จากการศึกษาวิจัยพบว่าผู้ป่วยมีอาการลดลง นอนร.พ.ลดลง เมื่อเทียบกับกลุ่มที่รับยาหลอก โดยกลุ่มรับยาเรมดิซิเวียร์พบนอนร.พ. 10 วัน กล่มที่รับยาหลอกนอนร.พ. 15 วัน

ยาตัวที่ 3 คือ โมลนูพิราเวียร์ อยู่ในกระบวนการเตรียมพร้อมกระจายหลังอนุมัติจากอีโอซี สธ. และศบค.แล้ว กลไกออกฤทธิ์จุดเดียวกันกับฟาวิพิราเวียร์ ช่วยให้ผู้ป่วยลดความเสี่ยงการเกิดอาการรุนแรง โดยขนาดยาคือ 800 ม.ก. แบ่งเป็น 200 ม.ก. จำนวน 4 แคปซูล รับประทานทุก 12 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 5 วัน รวม 40 แคปซูลต่อคน และยาตัวที่ 4 แพกซ์โลวิดที่กำลังดำเนินการจัดหาเข้ามา กลไกการออกฤทธิ์ต่างกัน โดยออกฤทธิ์ที่เอนไซม์ทำให้เชื้อลดจำนวนลง ไม่สามารถเกิดผลกับโรคได้ ยานี้ประกอบด้วยยา 2 ตัว คือ Nirmatrelvir 150 ม.ก. และ Ritonavir 100 ม.ก. รับประทาน Nirmatrelvir 2 เม็ด และ Ritonavir 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน ช่วยลดความเสี่ยงการนอนร.พ.ลง 88% กรณีให้ยาภายใน 5 วันหลังมีอาการถือว่ามีประสิทธิภาพสูงสุด จึงมีการสำรองสำหรับประชาชน โดยกลางเดือนเม.ย.น่าจะนำเข้ามาและกระจายต่อไป

ชี้ยาแต่ละตัวมีข้อดี-ข้อเสีย
“จากการติดตามการใช้ยามาสักระยะหนึ่ง ยาแต่ละตัวมีข้อดีข้อเสียต่างกัน เช่น เรมดิซิเวียร์ช่วยกลุ่มอาการปานกลาง ให้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ หรือมีปัญหาการรับประทานหรือการดูดซึม, ยาฟาวิพิราเวียร์ยังมีประโยชน์และให้ได้ในคนตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ส่วนยา 2 ตัวที่เหลือยังเป็นข้อห้ามสำหรับหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร อย่างไรก็ตาม นอกจากประสิทธิภาพและความปลอดภัยแล้ว ยังต้องคำนึงถึงความพร้อมในการใช้ยา การจัดหายา และราคายา ซึ่งมีคณะกรรรมการพิจารณาแนวทางการรักษา โดยมีการติดตามค่าใช้จ่ายแต่ละราย เช่น ยาฟาวิพิราเวียร์ ทั้งกระบวนการรักษา 1 คอร์ส อยู่ที่ 800 บาท เรมดิซิเวียร์ 1,512 บาท ส่วนยาใหม่ทั้งโมลนูพิราเวียร์และแพกซ์โลวิดอยู่ที่คอร์สละ 1 หมื่นบาท” น.พ.มานัสกล่าวว่า
ล่าสุดมีการปรับปรุงแนวทางการรักษาไปเมื่อวันที่ 1 มี.ค. และสัปดาห์หน้าอาจมีการปรับแนวทางอีก

ศิริราชแจงเหตุเก็บค่ารักษา
วันเดียวกัน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ออกคำชี้แจงกรณีข่าวเรียกเก็บค่ารักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในรูปแบบรักษาที่บ้าน (HI) ว่า ตามที่มีการเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ กรณีที่ร.พ.ศิริราชเก็บค่าบริการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อ โควิด-19 แบบรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) วันละ 600 บาท เป็นเวลา 2 วันนั้น ได้ตรวจสอบแล้วและขอชี้แจงรายละเอียดดังนี้

ผู้ป่วยชายอายุ 16 ปี มีประวัติว่าตรวจพบการติดเชื้อโควิด-19 จากการตรวจ ATK ด้วยตนเอง และมาขอรับการตรวจรักษาที่คลินิก ARI (คลินิกโรคติดเชื้อ) ร.พ.ศิริราช เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ผลการตรวจได้รับการยืนยันว่าเป็นโรคติดเชื้อโควิด-19 จริง แพทย์ลงความเห็นตามอาการของผู้ป่วยว่าสามารถรักษาและกักตัวในที่พักอาศัยของผู้ป่วยได้ระหว่างวันที่ 15-23 มี.ค. ต่อมาผู้ป่วยได้รับการลงทะเบียนเข้ารับการรักษาแบบ Home isolation (HI) ในวันที่ 16 มี.ค. โดยพยาบาลได้โทรศัพท์ติดตามการรักษาประเมินอาการ และให้คำแนะนำ

ในวันที่ 17 มี.ค. นอกจากการติดตามอาการแล้ว เจ้าหน้าที่การเงินได้ติดต่อแจ้งผู้ปกครองให้ทราบว่าการติดตามอาการแบบ home isolation จะมีค่าใช้จ่าย แต่สามารถเบิกจ่ายได้ตามสิทธิ์ (สิทธิ์ สปสช.ไม่เกิน 600 บาทต่อวัน และสิทธิ์กรมบัญชีกลางไม่เกิน 1,000 บาทต่อวัน ไม่เกิน 10 วัน) เนื่องจากสิทธิ์การรักษาของผู้ป่วยรายนี้เป็นสิทธิ์เบิกบุคคลในครอบครัว สังกัดกรุงเทพมหานคร (เบิกใบเสร็จ/หนังสือรับรองสิทธิ) ซึ่งเป็นสิทธิเบิกจากบิดา จึงต้องมีการสำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลก่อน แล้วจึงนำใบเสร็จไปเบิกค่ารักษากับต้นสังกัดของบิดาคืนได้ในภายหลัง

ในกรณีดังกล่าวร.พ.ศิริราชจึงเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลแบบ home isolation 600 บาท/วัน โดยมีอัตราเทียบเท่าประกาศของสปสช. และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกรมบัญชีกลาง ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับบริการดูแลรักษา การให้คำปรึกษา การติดตามประเมินอาการในแต่ละวัน ตลอดจนการจัดระบบส่งต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลงตลอด 24 ชั่วโมง อนึ่ง สำหรับการให้การรักษาแบบ home isolation ของผู้ป่วยที่มีสิทธิ์การรักษากรมบัญชีกลางปกติจะไม่ต้องสำรองจ่ายค่ารักษาและสามารถใช้สิทธิ์ได้เลย

ร.พ.ศิริราชจึงขอชี้แจงข้อมูลของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และต้องขออภัยในความคลาดเคลื่อนของการให้ข้อมูลในกระบวนการให้การรักษาพยาบาลแบบ home isolation ทางร.พ.ศิริราชจะนำผลการตรวจสอบครั้งนี้ไปแก้ไขกระบวนการทำงานเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วยต่อไป

แห่เอทีเควันเดียวเจอเกือบ 100
เวลา 09.00 น. ที่งานทะเบียนราษฎร์ เทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา ด้านหน้าอาคารทำการ เจ้าหน้าที่ได้กางเต็นท์สีขาวเพื่อจัดเตรียมพื้นที่ให้บริการ ซึ่งเป็นการลดความแออัดของประชาชนและที่โต๊ะงานบัตรประจำตัวประชาชน บริเวณด้านข้างเป็นจุดตรวจคัดกรองเบื้องต้นและมีป้ายพิมพ์ข้อความ “พื้นที่เสี่ยงสูง เจ้าหน้าที่ติดโควิด”

นายประเสริฐ บุญชัยสุข นายก ทน.นคร ราชสีมา เผยว่ารับแจ้งจากกลุ่มงานควบคุมโรค สำนักการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินมาตรการ Active case finding หรือค้นหาเชิงรุกเฉลี่ยทุก 3 วัน โดยสุ่มตรวจ ATK เจ้าหน้าที่ พนักงานและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ในสนง.ทน.นครราชสีมา เพื่อป้องกัน พบเจ้าหน้าที่ทะเบียนราษฎร์ติดเชื้อ 1 ราย และผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจำนวนหนึ่ง จึงสั่งปิดงานทะเบียนราษฎร์และงานบัตรประจำตัวประชาชนตั้งแต่บัดนี้เป็นเวลา 2 วัน ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา ตรวจพบเจ้าหน้าที่กลุ่มงานดังกล่าวติดเชื้อรวม 3 ราย และสั่งปิดทำความสะอาด จากนั้นอีก 14 วัน ก็พบการติดเชื้อซ้ำอีก

เวลา 12.00 น. ที่บริเวณเต็นท์ใต้ต้นโพธิ์ หน้าศาลากลางจ.นครราชสีมา ประชาชนทยอยเดินทางมาลงทะเบียนเพื่อเข้ารับบริการตรวจ ATK กันอย่างคึกคัก โดยมีบุคลากรทางการแพทย์สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นครราชสีมา และอาสาสมัครชมรมเทคนิคการแพทย์โคราชให้บริการฟรี
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 มี.ค. มีผู้เข้ารับการตรวจ ATK ฟรี 504 ราย ติดเชื้อ 96 ราย ล่าสุดเฉพาะวันนี้ 2 ชั่วโมง พบผลบวก 35 ราย

ยันราชบุรียังเป็นพื้นที่ควบคุม
พ.ญ.ปาจรีย์ อารีย์รบ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) ราชบุรี เปิดเผยรายงานสถานการณ์โควิด-19 จ.ราชบุรี วันนี้พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม 572 ราย เสียชีวิต 3 ราย รักษาหายวันนี้ 528 ราย ส่วนคนที่เสียชีวิตเป็นกลุ่มคน 608 ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้น่าเป็นห่วงทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะแต่พื้นที่ราชบุรี คือ ต้องกระตุ้นช่วยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมาฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 โดยเฉพาะกลุ่ม 608 และประชาชนทั่วไป จะมีแคมเปญสำหรับเซฟ 608 โดยการฉีดเข็มกระตุ้น และถ้ากรณีที่ลูกหลานจะกลับมาในพื้นที่อย่างน้อยฉีดวัคซีนมาให้ครบและทำ ATK ก่อนเข้ามาในพื้นที่ด้วย

ในภาพรวมไม่ว่าจะเป็นของจ.ราชบุรี หรือของประเทศมีแนวโน้มกำลังขึ้นแบบไม่พุ่งมาก ถ้ากระตุ้นเรื่องการฉีดวัคซีนได้โอกาสที่จะติดเชื้อในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น กลุ่ม 608 อาจลดลงได้ ขณะนี้พื้นที่ราชบุรียังคงจัดอยู่ในการประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมเหมือนเดิมอยู่ ยังไม่ได้เปลี่ยนสี

แพร่ขอก่อนกลับบ้านฉีดครบ 3 เข็ม
นายสมหวัง พ่วงบางโพ ผวจ.แพร่ กล่าวว่าขอความร่วมมือผู้ที่จะกลับบ้านฉีดวัคซีนก่อนกลับบ้านช่วงสงกรานต์มาหาพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย และขอให้ผู้สูงอายุในจ.แพร่ฉีดวัคซีนให้ครบ 3 เข็ม เพื่อต้อนรับลูกหลาน และขอให้ศึกษาแนวทางการปฏิบัติงานสงกรานต์วิถีใหม่ทั้งส่วนบุคคลและหน่วยงาน เมื่อทุกคนได้ปฏิบัติตามมาตรการของสาธารณสุขจะได้ปลอดภัยจากโรคโควิด-19

สงขลาตัวเลขพุ่งสูงติดต่อ 2 เดือน
ส่วนที่จ.สงขลา สำนักงานสาธารณสุข (สสจ.) สงขลา เปิดเผยตัวเลขติดเชื้อรายใหม่ ยังพบเพิ่มและขยายออกเป็นวงกว้าง และคาดว่าหลังสงกรานต์ซึ่งมีการพบปะสังสรรค์และร่วมกิจกรรมทางสังคมจะพบติดเชื้อเพิ่ม และที่อันตรายมากคือผู้สูงอายุ ขณะนี้ได้ออกรณรงค์ฉีดวัคซีนกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง ทั้งนี้เครือข่ายลงตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วย RT-PCR เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 6,753 ราย ทราบผลวันที่ 19 มี.ค.เป็นบวก 525 ราย รวมติดเชื้อสะสม 14,242 ราย เสียชีวิต 2 ราย เสียชีวิตสะสม 40 ราย ตลอดสัปดาห์ติดเชื้อไม่ลด เฉลี่ยวันละ 400-600 ราย กำลังรักษา 1,380 กว่าคน ติดเชื้อเข้าข่าย ATK รายใหม่ 5,541 ราย กำลังรักษา 38,279 ราย ตัวเลขค่อนข้างสูงติดต่อกันตลอด 2 เดือน รักษาหาย 1,997 ราย

แจงสาเหตุผู้ป่วยโควิดดับ
นพ.โอภาสกล่าวถึงกรณีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังสูงต่อเนื่อง และผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นเป็นสูงสุด (นิวไฮ) ต่อเนื่องหลายวัน ว่า ผู้ติดเชื้อทรงตัวที่ 2 หมื่นรายต่อเนื่องมาราว 2-3 สัปดาห์ แต่ข้อที่ไม่ทำให้กังวลมากเกินไป คือ ตัวเลขติดเชื้อไม่พุ่งสูงมาก หากเปรียบเทียบการระบาดโอมิครอน เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป หรือเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ที่เมื่อตัวเลขขึ้นจะขึ้นสูงมาก แต่ไทยไม่ขึ้นสูงขนาดนั้น เพราะมีมาตรการและประชาชนให้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างดี เพื่อชะลอการระบาดให้มากที่สุด ฉะนั้นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ 90% มีอาการน้อย และอีก 10% มีอาการหนักและในจำนวนนี้มีส่วนหนึ่งที่เสียชีวิต ซึ่งภาครัฐพยายามลดตัวเลขการเสียชีวิตให้ต่ำที่สุด จากการวิเคราะห์พบว่า ส่วนใหญ่เป็น ผู้อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป มีโรคประจำตัว ส่วนหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิตลดลงในระลอก โอมิครอน

“ปัจจัยสำคัญพบว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่ได้รับวัคซีนหรือรับเพียง 2 เข็ม โดยคนที่รับวัคซีน 3 เข็มขึ้นไป โอกาสเสียชีวิตมีน้อยกว่ามาก ปัจจุบันคนรับวัคซีนครบ 2 เข็ม โอกาสเสียชีวิตน้อยกว่าไม่ได้รับ 6 เท่า หากรับ 3 เข็มโอกาสเสียชีวิตลดลงถึง 41 เท่า แต่เนื่องจากระยะหลังพบว่าผู้เสียชีวิตสอดคล้องกับผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง มะเร็งระยะสุดท้าย และติดเตียง แม้ว่ารับวัคซีนแล้วแต่ภูมิคุ้มกันขึ้นไม่ค่อยดี จึงต้องเร่งฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ห่างจากเข็ม 2 เป็นเวลา 3 เดือน และเข็ม 4 ห่างจากเข็ม 3 ประมาณ 3-4 เดือนขึ้นไป ขึ้นกับสถานการณ์และความเหมาะสม ขณะนี้สธ. ได้หายาใหม่เข้ามาที่มีผลวิจัยว่าผู้ป่วยอาการ ดีขึ้น เช่น แพกซ์โลวิด โมลนูพิราเวียร์ รวมถึงความร่วมมือผู้ผลิตยาอื่นๆ ด้วย” นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสกล่าวอีกว่า หลักการคือผู้ติดเชื้อมาก ผู้เสียชีวิตก็เพิ่มขึ้น จึงต้องช่วยกันลดผู้ป่วยให้มากที่สุด โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์ที่มีการเดินทาง มีการพบปะ กิจกรรมร่วมกัน เช่น งานเลี้ยง งานทางศาสนา ในการระบาดโอมิครอนพบว่าโอกาสที่ 1 คนติดเชื้อแล้วนำเชื้อไปติดคนในบ้านมากกว่าเดลตา ดังนั้นช่วงสงกรานต์ขอให้ลดความเสี่ยงแพร่เชื้อในบ้าน โดยฉีดวัคซีนคนในบ้าน และผู้สูงอายุรับเข็มกระตุ้น

ปรับเป็นโรคประจำถิ่นช้าสุด1ก.ค.
เมื่อถามการคาดการณ์ตัวเลขผู้เสียชีวิตระยะนี้ นพ.โอภาสกล่าวว่า หากดูจากประสบการณ์จากยุโรป อเมริกาใต้ และเกาหลีใต้ พบว่าตัวเลขพุ่งสูงมากใน 1-2 เดือนแล้วลดลง แต่หากชะลอการระบาดจะทอดเวลายาวออกไป แต่ที่ไม่เลือกให้ตัวเลขพุ่งสูง เพราะจะส่งผลต่อระบบสาธารณสุขที่รองรับไม่ไหว จะมีผู้เสียชีวิตมาก เช่น ฮ่องกงที่ขณะนี้ติดเชื้อพุ่งสูงและเสียชีวิตมาก จนคนกลัวสายพันธุ์โอมิครอน BA.2.2 แต่ในหลักการแล้ว การเสียชีวิตมากเกิดจากคนติดเชื้อมากแล้วระบบสาธารณสุขรองรับไม่ไหว ส่วนระยะที่ผ่านมาประเทศไทยยันได้ดี ไม่เกิดสถานการณ์อย่างหลายประเทศ หากถามว่าคาดการณ์อย่างไร ต้องพยายามให้อัตราติดเชื้อเสียชีวิตน้อยที่สุด ให้ต่ำกว่า 0.1 หรือ 0.2% ให้ได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ที่อัตรา 0.22% และเชื่อว่าหากเร่งวัคซีนในช่วงสงกรานต์ได้ จะช่วยลดอัตราเสียชีวิตได้ รวมถึงเรามียาใหม่เข้ามาก็จะช่วยได้ในอนาคต

ส่วนที่ว่าจะส่งผลกระทบต่อแผนการปรับโควิดเป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่ น.พ.โอภาสตอบว่า แผนปรับเป็นโรคประจำถิ่น ที่เสนอต่อศบค.เห็นชอบ อย่างช้าที่สุดคือวันที่ 1 ก.ค.นี้ มีเวลาอีก 2-3 เดือนในการเตรียมความพร้อม ช่วงนี้ต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น จัดหายาใหม่ๆ เพื่อปรับแนวทางการรักษา และให้ประชาชนเข้าใจในระบบการดูแล อย่างเจอแจกจบที่ใช้ในกลุ่มผู้รับวัคซีนครบ ร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว พบว่าเป็นผลดี ประชาชนหลายคนเห็นด้วย รับยาแล้วดูแลตนเองได้ ตามข้อมูลจ่ายยา 3 สูตร พบว่าไม่มีอาการไม่ต้องรับยาถึง 50% ยาฟ้าทะลายโจร 25% และฟาวิพิราเวียร์ 25% ส่วนกลุ่มเสี่ยง 608 จัดให้อยู่กลุ่มสีเหลืองเพื่อรักษาอีกแบบหนึ่ง ขณะนี้จึงมีวิธีการรักษาที่เหมาะกับสถานการณ์กับประชาชน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน