ผ่านบัตรคนจนจยย.วินได้250บ.รัฐทุ่ม7หมื่นล.ใช้10มาตรการฝ่าวิกฤตน้ำมัน

ทุ่ม 7 หมื่นล้านอุ้มคนจน วาง 10 มาตรการช่วยสู้วิกฤตพลังงาน แจกเดือนละ 100 ผ่านบัตรคนจน ช่วยค่าแก๊สครัวเรือน- ผู้ค้า วินจยย.ที่ลงทะเบียนได้ค่าน้ำมัน 250 บาทต่อเดือน แท็กซี่ร่วมโครงการรัฐเติมแก๊สโลละ 13.62 บาท ขณะเอ็นจีวีให้ขาย 15.59 บาท ส่วนดีเซลไม่เกิน 30 บาทไปจนสิ้นเม.ย. ‘ตู่’ครวญโดน 2 เด้งจากโควิด-น้ำมัน

‘ตู่’ปล่อย 10 มาตรการแก้ศก.
เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ในการประชุม ครม.ได้หารือหลายเรื่องความเดือดร้อนและ ผลกระทบจากสงคราม จากการประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ได้ข้อสรุปว่า สถานการณ์ไม่น่าจะยุติได้โดยเร็ว จึงได้สั่งการให้ระดมความคิดเพื่อหามาตรการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนโดยเร่งด่วน ซึ่งต้องทยอยดำเนินการเพิ่มเติมจากมาตรการต่างๆ ที่รัฐได้ออกไปแล้ว และยังใช้อยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิดที่เราให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจและเรื่องสุขภาพ และวันนี้มีสถานการณ์สงครามเข้ามาอีก ดังนั้นเราต้องหาวิธีการใหม่ๆ เพิ่มเติม บางอันต้องต่อยอดของเดิม ของเก่า ฉะนั้น สิ่งที่ตนได้เห็นชอบไปแล้วและจะเริ่มดำเนินการได้ ตั้งแต่เดือนพ.ค.จนถึงเดือนก.ค.นี้ อย่างน้อย 10 มาตรการ และขอทีละ 3 เดือนก่อนได้หรือไม่ เพราะต้องดูงบประมาณและสถานการณ์ไปด้วย

สำหรับมาตรการประกอบด้วย 1.เพิ่มเงินช่วยเหลือเพื่อซื้อก๊าซหุงต้มสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน โดยเพิ่มเงินจากเดิม 45 บาท เป็น 100 บาทต่อเดือน 2.ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม เดือนละ 100 บาท สำหรับผู้ค่าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประมาณ 5,500 คน 3.ช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก 157,000 คน โดยช่วยลดค่าใช้จ่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 250 บาทต่อเดือน และขอให้ กรมการขนส่งทางบกกำกับราคาการให้บริการเพื่อให้พี่น้องประชาชนที่ต้องใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเท่าเดิม 4.คงราคาขายปลีกผู้ที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวีไว้ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม 5.ผู้ขับขี่แท็กซี่มิเตอร์ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน สามารถซื้อก๊าซได้ในราคา 13.62 บาทต่อกิโลกรัม

แจงต้องช่วยคนจนก่อน
6.ช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยลดค่าเอฟทีลง 22 สตางค์ต่อหน่วยในช่วงเดือนพ.ค.-ส.ค. 7.ตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร ไปจนถึงสิ้นเดือนเม.ย. หลังจากนั้นรัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลือส่วนที่ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นครึ่งนึง เมื่อถึงเวลานั้นถ้าเราอั้นไม่ไหวจริงๆ ก็ต้องเพิ่มจากที่ช่วยครึ่งหนึ่งที่เพิ่มไป 8.กำกับดูแลการปรับราคาก๊าซหุงต้มในช่วงตั้งแต่เดือนเม.ย.-มิ.ย. โดยใช้กองทุนน้ำมันเข้าไปช่วยลดผลกระทบจากการปรับราคาให้ไม่ขึ้นสูงเกินไป ซึ่งตอนนี้เราก็ใช้ไปมากแล้ว

9.ลดอัตราเงินสมทบของนายจ้างและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 จากร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 1 เพื่อให้ลูกจ้างและนายจ้างสามารถมีกำลังในการใช้จ่ายและผู้ประกอบการสามารถมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในการดำเนินธุรกิจในช่วงถัดไป และ 10.ลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 39 จากร้อยละ 9 เหลือร้อยละ 1.9 และลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 ลงเหลือ 42-180 บาทต่อเดือน อันนี้ก็ใช้เงินไปเยอะพอสมควรรายได้ก็ลดลง ก็ขอให้เห็นใจรัฐบาลด้วยก็แล้วกัน ตอนนี้เราพุ่งเป้าไปที่คนที่ เดือดร้อนที่สุดก่อน ที่เหลือก็ช่วยกันกับรัฐบาลไปด้วย นึกถึงคนที่ยากจนลำบากก่อน

ครวญโดนปัญหารุม 2 เด้ง
“วันนี้เราดูทั้ง 2 ทาง สุขภาพก็ดูและดูเรื่องสงครามเข้าไปอีก เท่ากับโดนสองเด้ง ทุกหน่วยงานวางแผนช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุด ต้องเข้าใจคำว่าให้ได้มากที่สุดตามขีดความสามารถที่เรามีอยู่เพื่อให้พ้นวิกฤตที่ซ้อนวิกฤตนี้ไปให้ได้ เราไม่อยากทิ้งใครไว้ข้างหลัง และเราต้องเร่งเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ทั้งระยะสั้น ระยะยาว และระยะกลาง” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ 10 มาตรการของรัฐบาลในครั้งนี้ มีมาตรการเพิ่มเงินช่วยเหลือเพื่อซื้อก๊าซหุงต้มสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน มาตรการส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม เดือนละ 100 บาท สำหรับผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประมาณ 5,500 คน และมาตรการช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก 157,000 คน โดยช่วยลดค่าใช้จ่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 250 บาทต่อเดือน ที่เป็นมาตรการใหม่ ส่วนอีก 7 มาตรการที่เหลือได้สั่งเร่งดำเนินการไปก่อนหน้านี้แล้ว

เผยทุ่ม 7 หมื่นล้านช่วย
ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมครม.ว่า ครม.เห็นชอบแนวทางประหยัดพลังงานในหน่วยงานภาครัฐ โดยให้หน่วยงานราชการดำเนินการลดการใช้พลังงาน ร้อยละ 20 ในช่วงครึ่งปีหลังของปีงบประมาณ 65 ตั้งแต่เดือนเม.ย.-ก.ย. ซึ่งที่ปฏิบัติได้ทันทีมีทั้งเปิด-ปิดแอร์เวลา 08.30-16.30 น. ตั้งอุณหภูมิ 25-26 องศา ล้างแอร์ทุก 6 เดือน ใช้หลอดไฟแอลอีดี ตั้งโปรแกรมปิดหน้าจออัตโนมัติ ลิฟต์ อาจให้หยุดเฉพาะชั้นคู่-คี่ รณรงค์ใช้บันได ส่วนด้านน้ำมันเชื้อเพลิง เลือกใช้รถยนต์ให้เหมาะสมกับสภาพการเดินทางและจำนวน ผู้เดินทาง ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ เช่น แก๊สโซฮอล์ไบโอดีเซล ตรวจเช็ก รถยนต์ตามระยะเวลาที่กำหนด เติมลมยางให้เหมาะสม และใช้เทคโนโลยีการสื่อสารแทนการเดินทาง เช่น การประชุมออนไลน์การจัดส่งเอกสารทางอีเมล์ ส่วนแผนระยะยาวเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน คาดว่าจะสามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 120 ล้านหน่วย และลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้ 12 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่า 1,020 ล้านบาท โดย นายกฯ กำชับส่วนราชการ กำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจน พร้อมให้ข้าราชการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประชาชน

นายธนกรกล่าวด้วยว่า สำหรับการออก 10 มาตรการเพื่อช่วยเหลือและลดผลกระทบต่อประชาชนในช่วงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย จากสถานการณ์ความผันผวนของราคาพลังงาน ภายใต้วงเงิน 70,000 ล้านบาท

พณ.นัดถกแก้ปุ๋ย-อาหารสัตว์
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์แพงว่า ช่วงบ่ายวันที่ 23 มี.ค. จะประชุมร่วมกระทรวงพาณิชย์ เกษตรฯ คลัง เกษตรกร ชาวไร่ข้าวโพด ไร่มันสำปะหลัง ผู้ประกอบการผลิตอาหารสัตว์ ที่ได้รับผลกระทบเรื่องต้นทุนอาหารสัตว์สูง ทำให้ราคาเนื้อสัตว์มีต้นทุนสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องหารือให้มีข้อยุติร่วมกัน เพราะต้นทุนอาหารสัตว์ขึ้นอยู่กับราคาข้าวโพดที่สูงขึ้นขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 10 กว่าบาท จากกิโลกรัมละ 6-8 บาท และที่สำคัญข้าวสาลีราคาสูงขึ้นมากในตลาดโลก เพราะ ผู้ผลิตข้าวสาลีรายใหญ่ของโลกคือยูเครนกระทบมาก ทำให้ต้นทุนนำเข้าข้าวสาลีสูงขึ้นมาก ต้องมาดูว่ามาตรการเดิมที่กำหนดช่วยชาวไร่ข้าวโพดไว้ที่นำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วนต้องซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน 1:3 ในสถานการณ์นี้ยังมีความเหมาะสมหรือไม่ ถ้าจำเป็นต้องเดินหน้าก็จะนำเข้าครม.โดยเร็ว

นายจุรินทร์กล่าวถึงภาวะราคาสินค้าว่า การกำกับราคาสินค้ายังอยู่ในระดับที่ดี หลายตัวที่จำเป็นต่อการอุปโภค-บริโภค ยังทรงอยู่ทั้ง 18 หมวดโดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ยังไม่ขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เช่นหมูเนื้อแดงเฉลี่ยทั้งประเทศกิโลกรัมละ 151 บาท ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 มี.ค. ไข่ไก่เบอร์ 3 ฟองละ 3.50-3.60 บาท มะนาวราคาเฉลี่ยทั้งประเทศลูกละ 5 บาท เนื่องจากเข้าหน้าแล้ง จะเป็นทุกครั้งและมาเจอกับพายุเมื่อไม่กี่วันทำให้ลูกร่วงเป็นประเด็นปัญหาทำให้มะนาวในตลาดลดน้อยลง เป็นช่วงระยะเวลาที่เป็นกรณีเฉพาะ ไม่ใช่ถาวร ส่วนสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทำให้น้ำมันราคาสูงขึ้น ได้เร่งคลี่คลาย พยายามดูมาตรการผ่อนคลายให้ทั้ง 3 ฝ่าย เกษตรกร ผู้ประกอบการและผู้บริโภคอยู่ด้วยกันได้ภายใต้ภาวะการสงครามที่เกิดขึ้น ถ้าสงครามคลี่คลาย ตนคิดว่าทุกอย่างจะกลับมาอยู่ในสภาพที่ดีขึ้น

เผยกระเทียมแพงขึ้นโลละ10บาท
รายงานข่าวจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์แจ้งถึงสถิติราคาสินค้าในเขตกรุงเทพมหานคร ประจำวันที่ 21 มี.ค.2565 ว่า จากการออกสำรวจราคาจำหน่ายปลีกกระเทียม ณ วันที่ 21 มี.ค.2565 เปรียบเทียบกับช่วงต้นเดือน (1 มี.ค.2565) พบว่ากระเทียมแห้งมัดจุกหัวใหญ่ ราคาปรับเพิ่มขึ้น 10 บาท/ก.ก. คือปรับจาก 85-90 บาท/ก.ก. เป็น 95-100 บาท/ก.ก., กระเทียมแห้งแกะกลีบ กลีบใหญ่ ราคาปรับเพิ่มขึ้น 20 บาท/ก.ก. คือปรับจาก 80-90 บาท/ก.ก. เป็น 100-110 บาท/ก.ก.

นอกจากนี้ ไก่สดชำแหละยังมีราคาปรับสูงขึ้นด้วย โดยเนื้ออกล้วน ราคาปรับเพิ่มขึ้น 5 บาท/ก.ก. คือปรับจาก 80-85 บาท/ก.ก. เป็น 85-90 บาท/ก.ก.

เบนซิน-โซฮอล์ขึ้นอีก 60 ส.ต.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปตท.และบางจาก ปรับราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ทุกชนิดขึ้น 60 สตางค์ต่อลิตร ส่วนกลุ่มดีเซลทุกชนิดราคาคงเดิม มีผลตั้งแต่เวลา 05.00 น. วันที่ 23 มี.ค.เป็นต้นไป

โดยราคาน้ำมันเบนซิน ปรับขึ้น 60 สตางค์ เป็น 47.36 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 ปรับขึ้น 60 สตางค์ เป็น 39.95 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 91 ปรับขึ้น 60 สตางค์ เป็น 39.68 บาทต่อลิตร E20 ปรับขึ้น 60 สตางค์ เป็น 38.84 บาทต่อลิตร และ E85 ปรับขึ้น 60 สตางค์ เป็น 32.14 บาทต่อลิตร

ส่วนราคาดีเซลยังคงที่ โดย ดีเซลพรีเมียมB7 ราคา 35.96 บาทต่อลิตร ดีเซลB7 ราคา 29.94 บาทต่อลิตร ดีเซล ราคา 29.94 บาทต่อลิตร และ ดีเซล B20 ราคา 29.94 บาทต่อลิตร (ราคาดังกล่าวยังไม่รวมภาษีบำรุงท้องที่ กทม.)

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน