สธ.ยันคุมได้-ไม่รุนแรงป่วยใหม่ยังพุ่ง2.5หมื่น

ไทยติดเชื้อ‘เดลตาครอน’ 73 คน สธ.ยันตอนนี้หายดีแล้วทุกคน ไม่ต้องกังวล ชี้ยัง ไม่พบข้อมูลแพร่ระบาดเร็ว หลบภูมิทำป่วยรุนแรง ขณะที่‘โอมิครอน’ระบาดทั่วไทย 99.9% ศบค.เผยป่วยโควิดรายวัน 2.5 หมื่น เกินหมื่น 47 วันติดกัน เสียชีวิตเพิ่ม 80 มีทารก 2 เดือนด้วย รัฐบาลดัน 4 ยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีน 5 ปี งบ 1.4 หมื่นล้าน ด้านตัวแทน ผู้เสียหายเคลมประกันโควิดบุกร้องกมธ.พัฒนาการเมือง หลังถูกบริษัทประกันภัยเบี้ยวจ่าย จ่อเชิญหน่วยงานรัฐ-คปภ.เข้าชี้แจง

ติดเชื้อ 2.5 หมื่น-เสียชีวิต 80
เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า ประเทศไทยยังพบผู้ติดเชื้อใหม่เกินหมื่นรายเป็นวันที่ 47 ในการระบาดระลอกโอมิครอน วันนี้พบติดเชื้อรายใหม่ 25,164 ราย ติดเชื้อสะสม 3,423,956 ราย หายป่วยเพิ่ม 24,770 ราย หายป่วยสะสม 3,162,331 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 80 ราย เสียชีวิตสะสม 24,497 ราย ขณะที่ผู้ติดเชื้อเข้าข่ายจากผลแอนติเจน เทสต์ คิต (เอทีเค) อีก 26,812 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 237,128 ราย อยู่ในร.พ. 63,396 ราย อยู่ร.พ.สนาม HI, CI 173,732 ราย มีอาการหนัก 1,496 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 562 ราย อัตราครองเตียงสีเหลืองสีแดงอยู่ที่ 26.1%

ทั้งนี้ผู้เสียชีวิต 80 ราย มาจาก 39 จังหวัด ได้แก่ กทม. 12 ราย, ปทุมธานี 5 ราย, ยะลา 4 ราย, เพชรบุรี เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี ชลบุรี ลพบุรี จังหวัดละ 3 ราย, สมุทรสาคร สมุทรปราการ ขอนแก่น มหาสารคาม หนองคาย พิจิตร ระนอง ภูเก็ต นครสวรรค์ สระบุรี ราชบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว จังหวัดละ 2 ราย และนครปฐม สุรินทร์ บุรีรัมย์ หนองบัวลำภู อุดรธานี กาฬสินธุ์ สุโขทัย นครศรีธรรมราช ตรัง สงขลา นราธิวาส ปัตตานี นครนายก ตราด ชัยนาท สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และอ่างทอง จังหวัดละ 1 ราย เป็นชาย 42 ราย หญิง 38 ราย อายุ 2 เดือน-95 ปี โดยเป็นผู้สูงอายุและโรคประจำตัวรวม 93%

กทม.-ชลบุรี-นครศรีฯติดเกินพัน
ส่วน 10 จังหวัดที่มีรายงานติดเชื้อรายใหม่สูงสุดคือ 1.กทม. 3,378 ราย 2.ชลบุรี 1,434 ราย 3.นครศรีธรรมราช 1,188 ราย 4.สมุทรปรา การ 869 ราย 5.สมุทรสาคร 732 ราย 6.สงขลา 700 ราย 7.นนทบุรี 646 ราย 8.ฉะเชิงเทรา 605 ราย 9.ราชบุรี 575 ราย และ 10.บุรีรัมย์ 547 ราย นอกจากนี้ยังมีจังหวัดติดเชื้อเกิน 100 รายขึ้นไปยังมีอีก 51 จังหวัด

ส่วนการติดเชื้อมาจากเรือนจำพบ 43 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 48 ราย ใน 18 ประเทศ โดยมาจากตุรกีมากที่สุด 17 ราย, สิงคโปร์ เยอรมนี ประเทศละ 4 ราย ที่เหลือติดเชื้อประเทศละ 1-3 ราย โดยเข้าระบบ Test&Go 15 ราย แซนด์บ็อกซ์ 3 ราย ระบบกักตัว 30 ราย

สำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 1-22 มี.ค. 2565 จำนวน 187,487 ราย รายงานติดเชื้อ 1,249 ราย คิดเป็น 0.67% แบ่งเป็นระบบ Test&Go 166,534 ราย ติดเชื้อ 814 ราย คิดเป็น 0.49% แซนด์บ็อกซ์ 17,857 ราย ติดเชื้อ 342 ราย คิดเป็น 1.92% และกักตัว 3,096 ราย ติดเชื้อ 93 ราย คิดเป็น 3%

การฉีดวัคซีนโควิด-19 วันที่ 22 มี.ค. ฉีดได้ 169,542 โดส สะสมรวม 127,658,569 โดส เป็นเข็มแรก 54,972,110 ราย คิดเป็น 79% ของประชากร เข็มสอง 50,143,878 ราย คิดเป็น 72.1% ของประชากร และเข็มสาม 22,542,581 ราย คิดเป็น 32.4% ของประชากร

‘โอมิครอน’ครองไทยเกือบ 100%
ด้านนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ว่า จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 สัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 12-18 มี.ค.2565 จำนวน 1,982 ราย เจอสายพันธุ์เดลตา 1 ราย คิดเป็น 0.05% ที่เหลือทั้งหมด 1,981 รายเป็นโอมิครอน คิดเป็น 99.95% เรียกว่าโอมิครอนครองประเทศไทยเกือบ 100% แล้ว ส่วนสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน พบ BA.2 จำนวน 1,479 ราย คิดเป็น 78.5% ถือว่าเพิ่มขึ้นจากที่พบ 51.% และ 67.6% ขณะที่ตัวอย่างจากการติดเชื้อภายในประเทศ เป็น BA.2 ถึง 82.9% คาดว่าจะพบมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังไม่มีความแตกต่างเรื่องความรุนแรง แต่แพร่เร็วกว่า ทำให้ตรวจจับได้มากกว่า โดยขณะนี้เกือบทุกเขตสุขภาพเป็น BA.2 มากกว่า BA.1 ยกเว้นเขตสุขภาพที่ 9 ที่อาจมีการตรวจน้อย ทำให้พบสัดส่วนที่น้อยกว่า ส่วนเขตสุขภาพที่ 4 พบสัดส่วน BA.2 สูงสุด 90%

นพ.ศุภกิจกล่าวต่อว่า จากการตรวจสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน เราสุ่มตรวจจากทุกกลุ่ม ทั้งประชาชนทั่วไป เดินทางมาจากต่างประเทศ กลุ่มที่อาการรุนแรงและเสียชีวิต บุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มที่มีค่า CT ต่ำหรือติดเชื้อเยอะ กลุ่มคลัสเตอร์ 50 คนขึ้นไป และกลุ่มที่ได้รับวัคซีนครบโดส ซึ่งทุกกลุ่มมีสัดส่วนการติดเชื้อเป็น BA.2 ใกล้เคียงกัน เปอร์เซ็นต์ไม่ได้แตกต่างจากภาพรวม อย่างกลุ่มที่เสียชีวิตพบ BA.2 ประมาณ 60% ดังนั้น BA.2 จึงไม่ได้มีอิทธิฤทธิ์อิทธิเดชทำให้เสียชีวิตมากขึ้น

สายพันธุ์BA.2.2 ติดเชื้อแล้ว 22
“ส่วนกรณีสายพันธุ์ BA.2.2 ในฮ่องกง ขณะนี้ก็เงียบไปแล้ว และไม่ได้มีการยืนยันว่าการเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นมาจาก BA.2.2 หรือไม่ นอกจากนี้ ทาง GISAID ก็ยังไม่ได้ประกาศชื่อ BA.2.2 หรือ BA.2.3 อย่างเป็นทางการ และยังไม่มีข้อมูลเพียงพอเรื่องการแพร่เร็ว ความรุนแรง หรือการหลบวัคซีน ส่วนประเทศไทยมีการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว 500-600 รายต่อสัปดาห์ พบว่า BA.2.2 ในประเทศ 14 ราย จากต่างประเทศ 8 ราย และ BA.2.3 ในประเทศ 27 ราย ต่างประเทศ 34 ราย ซึ่งสัดส่วนก็สอดคล้องกับ GISAID ที่พบ BA.2.2 น้อยกว่า BA.2.3 ซึ่งการกลายพันธุ์ส่วนนี้ไม่ได้มีผลอะไรก็อาจจะหายไป”

นพ.ศุภกิจกล่าวด้วยว่า ส่วนเดลตาครอนช่วงแรกที่พบในไซปรัสเป็นการปนเปื้อน ซึ่งการพบ 2 เชื้อนั้นจะมี 2 กรณี คือตรวจพบ 2 สายพันธุ์ในคนเดียวกัน คือเชื้อ 2 เชื้ออยู่ในคนเดียวกัน และกรณีเชื้อ 2 สายพันธุ์ผสมกันและออกลูกหลาน โดยมีทั้ง 2 สายพันธุ์ในนั้น เรียกว่าไฮบริด หรือ Recombinant ซึ่ง “เดลตาครอน” ที่พบมาจากทั้งโอมิครอนในส่วนของ BA.1 และเดลตา AY.4 ซึ่งรายงานเข้า GISAID ประมาณ 4 พันกว่าราย แต่มีที่ตรวจสอบและยอมรับอย่างเป็นทางการ 64 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในฝรั่งเศส 50 กว่าราย ที่เหลืออีก 4 พันกว่ารายยังต้องรอวิเคราะห์เพิ่มเติมว่าใช่เดลตาครอนหรือไม่ ซึ่งส่วนนี้มีข้อมูลจากไทยที่ส่งเข้าไปด้วยประมาณ 70 กว่าราย

ไทยป่วย‘เดลตาครอน’ 73 ราย
“กรณีนี้ไม่ต้องตกใจ ถ้าใช่เดลตาครอนก็คือใช่ แต่ขณะนี้ประเทศไทยเดลตาลดลงเรื่อยๆ โอกาสที่เจอแบบ Recombinant ก็จะเกิดน้อยลง เพราะไม่มีเดลตาเหลือให้ไปผสมแล้ว จึงขึ้นกับว่าเดลตาครอนที่มีอยู่จะมีอิทธิฤทธิ์อิทธิเดชอะไรหรือไม่ ถ้าเดลตาครอนแพร่เร็วขึ้นก็จะเห็นมาครองแทนโอมิครอน ก็ต้องรอดู แต่วันนี้ยังไม่เห็นวี่แวว คิดว่าไม่น่ามีปัญหา ส่วนความรุนแรงก็ไม่มีข้อมูล ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังจัดชั้นของเดลตาครอนเป็นสายพันธุ์ที่ต้องติดตามดูข้อมูล ยังไม่จัดชั้นว่าเป็นสายพันธ์ที่น่าสนใจหรือน่ากังวล” นพ.ศุภกิจกล่าว

นพ.ศุภกิจกล่าวต่อว่า สรุปแล้วประเทศไทยเป็นโอมิครอนเกือบทั้งหมด เดลตาหายาก ส่วนอัลฟาและเบตาหายไปหมดแล้ว สายพันธุ์ย่อยโอมิครอนเป็น BA.2 ขึ้นมาเกือบ 80% และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วน BA.2.2 และ BA.2.3 เจอประปรายจากการตรวจถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว โดยจะตรวจว่ามีการเพิ่มมากน้อยแค่ไหน ขณะที่เดลตาครอน GISAID ยืนยันทางการ 64 ราย ยังรอการวิเคราะห์ทวนสอบข้อมูลอีก 4 พันกว่าราย ซึ่งรวมถึงของไทยที่ส่งไป 73 ราย แต่ยังเป็นแค่สายพันธุ์ที่ต้องติดตาม ไม่มีข้อมูลเพียงพอเรื่องแพร่เร็ว รุนแรง หรือหลบภูมิ ส่วนมาตรการป้องกันต่างๆ ยังใช้ได้ ต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพราะโอมิครอนหลบภูมิได้เยอะ หากมีภูมิไม่พออาจมีโอกาสติดเชื้อง่ายขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ยังต้องเร่งฉีดวัคซีน

เมื่อถามถึงเดลตาครอนของไทย 73 รายเป็นอย่างไร นพ.ศุภกิจกล่าวว่า GISAID ยอมรับเดลตาครอนแล้ว 64 ราย เหลืออีก 4 พันรายที่รอตรวจสอบข้อมูล จริงๆ ที่ได้ยินข่าวเจอที่อังกฤษมาก แต่ยังไม่ได้มีการส่งข้อมูลเข้าไป ส่วนของไทยเมื่อถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวพบ 73 รายเข้าข่ายว่าเป็น เดลตาครอน แต่ผู้เชี่ยวชาญยังต้องช่วยกันดูว่าสรุปแล้วใช่จริงหรือไม่ ทั้งหมดไม่ใช่ตัวอย่างที่เกิดใน 1-2 สัปดาห์นี้ แต่เกิดขึ้นช่วง ธ.ค. 2564-ม.ค. 2565 ซึ่งยังมีเดลตากับโอมิครอนกันมาก ทำให้มีโอกาสผสมกันได้มาก โดยคนไข้ทั้ง 73 รายหายเรียบร้อยดีแล้ว ไม่มีเสียชีวิต อาจจะเป็นพันธุ์ผสมอันหนึ่งที่ไม่ได้หนักหนา และถ้าไม่แพร่เร็ว อีกสักระยะก็จบ และแม้ว่าจะเป็นสายพันธุ์หนักแต่ไม่แพร่เร็วเหมือนเบตาก็จะหายไป

“เท่าที่เห็นโอมิครอนมีคุณสมบัติอย่างหนึ่ง คือหลบภูมิคุ้มกันได้ค่อนข้างดี จะเห็นคนติดเดลตามาแล้ว ไม่ได้การันตีว่าจะไม่ติดโอมิครอนซ้ำ จึงเป็นอีกได้ เพราะฉะนั้นวัคซีนไม่ว่าอะไรฉีด 2 เข็มนานพอควร ภูมิจะตก ป้องกันติดเชื้อไม่ได้จะต้องมากระตุ้น แต่ช่วยป้องกันป่วยตายได้พอสมควร แต่ถ้าภูมิยิ่งสูงยิ่งช่วยได้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม 608 ซึ่งอัตราการติดเชื้อเสียชีวิตยังสูง” นพ.ศุภกิจกล่าว

โคราชติดเชื้อยังสูงเกือบ 2 พัน
ส่วนจ.นครราชสีมา พบผู้ป่วยรายใหม่ 1,981 ราย มากสุดที่อ.ปากช่อง 228 ราย ป่วยสะสม 47,992 ราย กำลังรักษา 21,163 ราย รักษาหายแล้ว 26,760 ราย เสียชีวิตสะสม 69 ราย

ด้านนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าฯ นครราชสีมา เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ป่วยรายใหม่ในพื้นที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นไปตามภาพรวมของทั้งประเทศ ทุกหน่วยงานพยายามเข้มงวดมาตรการป้องกัน รณรงค์ให้ประชาชนการ์ดไม่ตก พร้อมเน้นรณรงค์ฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมที่สุด

ลำปางติดเชื้อนิวไฮทะลุพัน-ตาย 5
ขณะที่จ.ลำปางพบผู้ป่วยเพิ่ม 1,345 ราย เป็นนิวไฮของการติดเชื้อ ผู้ติดเชื้อมากสุดอยู่ที่อ.เมืองลำปาง 583 ราย ยอดผู้ป่วยสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.65 จำนวน 22,205 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 5,567 ราย

นอกจากนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 5 ราย ประกอบด้วย ชาย อายุ 89 ปี ชาวต.ชมพู อ.เมือง จ.ลำปาง รับวัคซีน 2 เข็ม ชาย อายุ 86 ปี ชาวบ้านต.บ่อแฮ้ว อ.เมือง จ.ลำปาง ไม่มีประวัติการรับวัคซีน ชายอายุ 81 ปี ชาว ต.บ้านแลง อ.เมือง ไม่มีประวัติการรับวัคซีน ส่วนรายที่ 4 และรายที่ 5 เป็นผู้เสียชีวิตจากนอกพื้นที่ โดยประสานทีมกู้ภัยสว่างเข้าไปรับศพเพื่อประกอบพิธีฌาปณกิจ

ภูเก็ตป่วยเพิ่ม 1,038
ส่วนจ.ภูเก็ตพบผู้ติดเชื้อรายใหม่จากในจังหวัดและต่างประเทศ 310 ราย เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ในจังหวัด 296 ราย ผู้ติดเชื้อภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ 1 ราย ผู้ติดเชื้อ test&go 13 ราย ผู้ติดเชื้อหายและกลับบ้าน 399 ราย ติดเชื้อสะสม 44,079 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย เสียชีวิตสะสม 84 ราย ยังครักษาพยาบาล 3,173 ราย

สำหรับผลตรวจ ATK พบอ.เมืองติดเชื้อ 476 ราย อ.กะทู้ 61 ราย อ.ถลาง 191 ราย รวมติดเชื้อใหม่ทั้งจากการตรวจพีซีอาร์ และเอทีเค 1,038 ราย

สงขลานิวไฮติดเชื้อ 700
สำนักงานสาธารณสุขจ.สงขลา รายงานว่า จากการตรวจเชิงรุก RT-PCT พบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุดอันดับ 5 ของประเทศ เป็นนิวไฮ 700 ราย ติดเชื้อสะสม 16,496 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เสียชีวิตสะสม 46 ราย กำลังรักษา 1,355 ราย และพบผู้ติดเชื้อเข้าข่ายจากการตรวจ ATK จำนวน 6,272 ราย กำลังรักษา 42,518 ราย รักษาหาย 332 ราย รักษาหายสะสม 15,140 ราย

รัฐบาลดันแผนวัคซีน 1.4 หมื่นล.
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่ประเทศไทยเผชิญกับการแพร่ระบาดของ โควิด-19 มากว่า 2 ปี รัฐบาลให้ความสำคัญกับการมีแผนสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันประชาชนจากโรคอุบัติใหม่ผ่านโครงการต่างๆ ซึ่งร่างนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ.2566-2570 ที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมครม.เมื่อ 22 มี.ค.2565 ก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานดังกล่าว

ทั้งนี้ร่างแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนฯจะเป็นแผนยุทธศาสตร์ ฉบับที่ 2 ที่รับช่วงต่อจากฉบับที่ 1 ที่จะสิ้นสุดลงในปี 2565 จะเป็นกรอบในการขับเคลื่อนผลักดันการพัฒนาสู่ความมั่นคงด้านวัคซีนในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) ตามร่างแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนฯ ฉบับที่ 2 ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ 11 แผนงาน 67 โครงการ ระยะเวลาการดำเนินงาน 5 ปี วงเงินงบประมาณรวม 14,326.54 ล้านบาท

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาระบบและบริหารจัดการงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้มีประสิทธิภาพทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน 15 โครงการ อาทิ โครงการสำรองวัคซีนรองรับการระบาด โครงการรณรงค์ให้วัคซีนป้องกันโรคหัดและหัดเยอรมัน (MR) ในกลุ่มเสี่ยง โครงการพัฒนา Big Data ฐานข้อมูลกลางการให้บริการวัคซีนและระบบ PHR ข้อมูลการรับบริการวัคซีนรายบุคคล โครงการพัฒนาระบบข้อมูลและบริหารจัดการวัคซีน งบประมาณ 2,889.76 ล้านบาท

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยพัฒนา และอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนอย่างครบวงจร 26 โครงการ อาทิ โครงการการพัฒนา adenoviral vector platform สำหรับการวิจัยและพัฒนาวัคซีนต้นแบบ โครงการการพัฒนาเทคโนโลยีฐานสำหรับพัฒนาต้นแบบวัคซีนจาก Viral vector เพื่อตอบสนองต่อโรคอุบัติใหม่ โครงการการพัฒนาต้นแบบวัคซีน เด็งกี่ (วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก (Dengue Vaccine) เพื่อทดสอบในมนุษย์ การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อโรต้า โครงการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสำหรับสัตว์ โครงการการจัดตั้งโรงงานโดยใช้เทคโนโลยีการใช้เซลล์เพาะเลี้ยงในระดับต้นแบบและระดับอุตสาหกรรม โครงการส่งเสริมสนับสนุนการจัดซื้อวัคซีนที่ผลิตในประเทศ งบประมาณ 9,911.38 ล้านบาท

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาศักยภาพบุคลากรรองรับภารกิจความมั่นคงด้านวัคซีน 23 โครงการ อาทิ โครงการการพัฒนาสมรรถนะของบุคลากรด้านวัคซีนอย่างครบวงจร โครงการสร้างความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยวัคซีนทางคลินิก โครงการการพัฒนา ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนผ่านเครือข่ายความ ร่วมมือ งบประมาณ 315.8930 ล้านบาท

ยุทธศาสตร์ที่ 4 เสริมสร้างขีดความสามารถขององค์กรภาคีเครือข่ายด้านวัคซีนของประเทศ 3 โครงการ อาทิ โครงการสนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีนโดยความร่วมมือกับเครือข่ายด้านวัคซีน โครงการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านการวิจัย เพื่อพัฒนาวัคซีน การรักษา การวินิจฉัย สำหรับโรคอุบัติใหม่และตอบโต้อาวุธชีวภาพ เพื่อความมั่นคงของประเทศ งบประมาณ 1,209.5 ล้านบาท เป็นต้น

ร้องสภาประกันภัยเบี้ยวจ่ายโควิด
เมื่อเวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา น.ส.ศุกร์จรรญา อารีย์ ตัวแทนผู้ได้รับความเสียหายผู้ถือกรมธรรม์ประเภทโควิด-19 ของบริษัทแห่งหนึ่ง ยื่นหนังสือต่อน.ส.สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.นครปฐม พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อร้องเรียนกรณีไม่สามารถเคลมประกันได้ ทั้งที่เป็นเคสที่เข้าเงื่อนไข 5 ข้อและเป็นเคสสีเขียวเบสิก แต่ก็ถูกบริษัทปฏิเสธ

น.ส.สุทธวรรณกล่าวว่า กมธ.จะนำเรื่องนี้เข้าสู่วาระการประชุมกมธ.โดยเร่งด่วน เพราะมีผู้เดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบจำนวนมาก ตอนนี้เราตั้งคณะทำงานเพื่อดูแลผู้ได้รับผล กระทบจากการเคลมประกันภัยโควิด โดยกมธ.จะเชิญหน่วยงานของรัฐ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และกองทุนประกันวินาศภัย รวมถึงบริษัทประกันภัยดังกล่าว เข้ามาชี้แจง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน