เล่นสงกรานต์ย้ำตรวจเอทีเคก่อนกลับตจว.

‘ถนนข้าวสาร-ถนนคนเดิน’ ร้องผ่อนปรนให้เล่นน้ำสงกรานต์ สธ.ให้ศบค.ชี้ขาด ด้านกทม.นัดถก 28 มี.ค. ติดเชื้อใหม่พุ่ง2.7 หมื่น จากเอทีเคอีก 2.6 หมื่น เสียชีวิต 82 ปอดติดเชื้อ 1.5 พันราย แนะตรวจ ATK ก่อนไปเที่ยวฉลองสงกรานต์ ย้ำจัดงานประเพณีสงกรานต์ได้ แต่ห้ามสาดน้ำ ประแป้ง ห้ามซื้อขายเหล้า และดื่มตามที่สาธารณะ ห่วงคลัสเตอร์บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้ออื้อ สธ.เซ็นซื้อยา ‘แพกซ์โลวิด’ 5 หมื่นคอร์สรักษา ใช้กลุ่มสูงอายุ มีโรคประจำตัว ยังรับวัคซีนไม่ครบ อาการเล็กน้อยถึงปานกลาง มีความเสี่ยงอาการรุนแรง คาดส่งถึงไทยต้นเม.ย. กระจายให้ครอบคลุมก่อนสงกรานต์

ติดเชื้ออีก 2.7 หมื่น-ดับ 82
เมื่อวันที่ 24 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 27,024 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 26,924 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 26,740 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 184 ราย มาจากเรือนจำ 54 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 46 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 3,450,980 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 23,721 ราย ยอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 3,186,052 ราย อยู่ระหว่างรักษา 240,349 ราย อาการหนัก 1,553 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 583 ราย โดยจำนวน ติดเชื้อเข้าข่าย/ATK จำนวน 26,768 คน เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 82 ราย เป็นชาย 46 ราย หญิง 36 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 60 ราย มีโรคเรื้อรัง 18 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 24,579 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 476,481,934 ราย เสียชีวิตสะสม 6,128,270 ราย

พญ.อภิสมัยกล่าวต่อว่า สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดในวันที่ 24 มี.ค. ประกอบด้วย กทม. 3,722 ราย นครศรีธรรมราช 1,746 ราย ชลบุรี 1,341 ราย สมุทรปราการ 920 ราย สงขลา 861 ราย สมุทรสาคร 849 ราย ร้อยเอ็ด 730 ราย ระยอง 593 ราย ราชบุรี 592 ราย ฉะเชิงเทรา 573 ราย

ห่วงคลัสเตอร์บุคลากรแพทย์
ทั้งนี้มีผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวอยู่ใน โรงพยาบาล 1,553 ราย เฉลี่ยจังหวัดละ 20 ราย อัตราครองเตียงของผู้ป่วยปอดอักเสบอยู่ที่ ร้อยละ 26.4 อย่างไรก็ตาม มีความกังวลในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งจากโรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพคริสเตียน และพระราม 9

ขณะเดียวกัน ช่วงที่ผ่านมาคลัสเตอร์โรงเรียนและโรงงานเริ่มน้อยลง เนื่องจาก ผู้ปกครองและผู้ประกอบการเข้าใจในมาตรการของสาธารณสุข แต่ขณะที่คลัสเตอร์พิธีกรรมทางศาสนายังมีอยู่ต่อเนื่อง คือคลัสเตอร์งานบวชที่จ.มหาสารคาม คลัสเตอร์งานบุญแจกข้าวที่จ.กาฬสินธุ์ และคลัสเตอร์งานแต่งที่จ.อุดรธานี

“ที่สธ.สนใจมากคืออัตราครองเตียง จาก 10 จังหวัดที่มีผู้ป่วยปอดอักเสบนอนร.พ.มากที่สุด อัตราครองเตียงระดับ 2-3 ยังรองรับได้ และเพิ่มศักยภาพรองรับได้ แต่ที่ครองเตียง น่าเป็นห่วงคือสงขลา ครองเตียง 58.4% ถือว่าเกินครึ่ง ส่วนกทม.อยู่ที่ 32.3% นครศรีธรรมราช บุรีรัมย์ ยังค่อนข้างต่ำ แม้รายงานติดเชื้อไม่น้อย แต่ส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อแข็งแรง อายุน้อย จึงรับการรักษาที่บ้าน ร.พ.สนามหรือ CI ได้”

พญ.อภิสมัยกล่าวต่อว่า ผู้เสียชีวิต 82 รายวันนี้ กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสรุนแรงและเสียชีวิต คือสูงอายุเกิน 60 ปี มีโรคประจำตัว อีกปัจจัยหนึ่งที่เน้นย้ำคือการรับวัคซีน วันนี้ 82 ราย มี 46 รายไม่ได้รับวัคซีนเลยสักเข็ม ขณะที่ 6 รายรับวัคซีนเข็มหนึ่งไม่นานก็ติดเชื้อ มีอาการรุนแรงถึงเสียชีวิต อีก 16 ราย รับ 2 เข็ม และ 6 รายเพิ่งรับเข็มกระตุ้นเข็ม 3 แต่ยังนานไม่พอ จึงไม่มีภูมิคุ้มกันเพียงพอต่อสู้กับโรค และเป็นกลุ่มที่มีโรคประจำตัวทุกราย ดังนั้นกลุ่มเสี่ยงทั้งสูงอายุและโรคประจำตัวต้องรณรงค์ให้พาไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้น

กักตัว‘หมอทวีศิลป์’รอผลเอทีเค
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า วันนี้ตนมาปฏิบัติหน้าที่แทน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.ที่อยู่ระหว่างกักตัว รอผลตรวจ ATK ที่คาดว่าจะเป็นลบ โดยขอส่งกำลังใจให้นพ. ทวีศิลป์ด้วย อย่างไรก็ตาม การรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุขจะปรับมาเป็นรายงานทุก 7 วัน หรือ 1 สัปดาห์ โดยจะสรุปสถานการณ์โลกมารายงานให้ทราบ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 มี.ค. มีการฉีดวัคซีน 204,171 โดส สะสม 127,862,740 โดส เป็นเข็มสาม 22,655,745 ราย คิดเป็น 32.6% ถือว่าไม่ค่อยขยับเท่าไรและยังต่ำอยู่ หากดูตามเขตสุขภาพ 12 เขตสุขภาพ การรับเข็มสองครบแล้วตั้งแต่ 30 พ.ย. 2564 ซึ่งควรรับเข็มสามได้แล้ว จะพบว่าการรับเข็มสามยังค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับเป้าหมาย เช่น เขตสุขภาพที่ 8 อุดรธานี สกลนคร นครพนม เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และบึงกาฬ และเขตสุขภาพที่ 12 คือ สงขลา สตูล ตรัง พัทลุง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ส่วน กทม.ที่ฉีดได้ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับเป้าหมาย

สำหรับกลุ่มเสี่ยงอายุ 60 ปีขึ้นไปทั้งประเทศเป้าหมายฉีดเข็มสอง 10 ล้านคน คิดเป็น 79% แต่การฉีดเข็มสามยังอยู่ที่ 4.2 ล้านคน หรือ 33.6% ถือว่ายังน้อย ต้องรณรงค์ ต่อเนื่อง ส่วนเด็กอายุ 5-11 ขวบ ที่เพิ่งเริ่มฉีดเข็มแรก บางส่วนรับเข็มสองแล้วแต่ยังน้อยอยู่ประมาณ 3 หมื่นราย คิดเป็น 0.6% ต้องรณรงค์ควบคู่กัน ขณะที่กลุ่ม 608 ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่โรคหลอดเลือดสมอง ไต หัวใจ เบาหวาน ความดัน ไขมัน โรคปอด หญิงตั้งครรภ์ ก็ฉีดเข็มกระตุ้นได้ไม่ต่างกันคือ 30% ต้องรณรงค์ไปฉีดกระตุ้นเช่นกัน

เด็กสอบเข้ามหา’ลัยติดเชื้อ 3.2 พัน
พญ.อภิสมัยกล่าวด้วยว่า ที่ประชุมศบค.ชุดเล็ก กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นำเสนอโครงการห้องเรียนพิเศษให้ความช่วยเหลือเด็กติดเชื้อไม่ให้เสียสิทธิโอกาสศึกษา การสอบ และพัฒนาการ สัปดาห์ที่ผ่านมามีการสอบทั่วประเทศทั้งระดับ ม.1 และ ม.4 รวมๆ แล้วมีโรงเรียนเก็บรวบรวมข้อมูล 317 โรงเรียน ผู้สมัครสอบ ม.1 และ ม.4 มี 124,478 ราย เป็นเด็กติดเชื้อ 1,205 ราย และเสี่ยงสูงติดเชื้ออีก 1,180 ราย หากตัดสิทธิ ไม่ให้เข้าสอบก็จะเสียโอกาส ต้องขอบคุณศธ.และโรงเรียนที่จัดการสอบห้องเฉพาะ มีแพทย์ดูแลเด็กๆ ด้วย

กลุ่มมหาวิทยาลัยก็เช่นกัน เมื่อวันที่ 12-15 มี.ค. มีการจัดสนามสอบทั่วประเทศสำหรับ ผู้ที่จะเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย รวม 32 สนามสอบ เด็กที่เข้าสอบมี 389,674 คน จำนวนนี้มีเด็กติดเชื้อ 3,232 คน คิดเป็น 0.8% โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ซึ่งเป็นสนามที่ใหญ่ที่สุด วันที่ 12 มี.ค. มีเด็กติดเชื้อมาร่วมสอบ 525 คน และมีประวัติเสี่ยงสูงอีก 70 คน ซึ่งขอชื่นชมการจัดการของ ศธ.และพื้นที่ทำให้เด็กไม่เสียสิทธิ

ย้ำตรวจเอทีเคก่อนไปสงกรานต์
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ช่วงที่มีการปิดเทอมหรือบางโรงเรียนปิดเทอมแล้ว อีกประเด็นที่ศบค.เป็นห่วงคือเทศกาลสงกรานต์ หลายครอบครัววางแผนพาเด็กไปท่องเที่ยว ไปพบญาติผู้ใหญ่ มีการพบปะสังสรรค์ ที่ประชุมมีการหารือหลักการอยู่ร่วมกับโควิด โดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ขอความร่วมมือว่าจัดงานสงกรานต์ได้ เดินทางข้ามพื้นที่ ไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ สังสรรค์ ร่วมงานประเพณีได้ แต่ทำในลักษณะที่ขับเคลื่อนเดินหน้าเศรษฐกิจ ดำรงวัฒนธรรมประเพณีได้ อยู่ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยทางสาธารณสุขด้วย บางประเทศที่ยกเว้นมาตรการต่างๆ รวมถึงการสวมหน้ากากอนามัยถือว่าทำโดยยอมรับความเสี่ยง แต่เรายังต้องทำโดยช่วยประคับประคองความเสี่ยงด้วย รักษาประเพณีที่ดีด้วย ก็ต้องศึกษารายละเอียดก่อนตัดสินใจเดินทาง

“วธ.ขอความร่วมมือคือห้ามการละเล่นประเภทใกล้ชิด งดการสาดน้ำ ประแป้ง หรือผู้จัดงดปาร์ตี้โฟม ไม่ให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่สาธารณะ ทั้งที่จัดงานและท้องถนน หากประชาชนที่เดินทางให้ เช็กเอกสาร เชื่อว่าทุกที่ทั้งสนามบิน รถบัส สถานที่เดินทาง อาจขอตรวจสอบเอกสารการฉีดวัคซีน หรือแสดงผลการตรวจ ATK ก็ต้อง เตรียมการให้พร้อมด้วย ระหว่างเดินทางระมัดระวังเพื่อนร่วมทางด้วย คนที่อาจนั่งรถส่วนตัวด้วยกันหลายคนมีประวัติเสี่ยงหรือไม่ ต้องคัดกรองความเสี่ยงอย่างระมัดระวัง” พญ.อภิสมัยกล่าว

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ขณะที่สาธารณสุขขอให้เลี่ยงรับประทานอาหารร่วมกันในพื้นที่ปิดหรือใช้เวลานาน หลายคนอาจจำเป็นต้องจองร้านอาหาร โรงแรม เพื่อพบปะสังสรรค์ รับประทานอาหารร่วมกัน ขอให้ซักประวัติความเสี่ยง รักษามาตรการ อาจตรวจ ATK ก่อนร่วมรับประทานอาหาร ระหว่างรับประทานก็ระมัดระวังเท่าที่ทำได้ เพื่อลดความเสี่ยง เน้นผู้สูงอายุและเด็กเล็กในบ้าน ถ้าครอบครัวที่เราไปเยี่ยม มีผู้สูงอายุ มีติดเตียง มีโรคติดตัวหลายอย่าง ก็ไปเยี่ยมไปกราบให้ท่านชื่นใจได้ แต่ขณะเข้าไปต้องสวมหน้ากากให้ตัวเราและท่านด้วย เว้นระยะห่างล้างมือ ระหว่างพูดคุยรับประทานอาหารให้เลี่ยงใกล้ชิด ไอจาม รดกัน และเพื่อป้องกันให้ผู้สูงอายุปลอดภัยก่อนถึงเทศกาลให้พาไปฉีดวัคซีน ส่วนการไปชมการแสดงมหรสพ การละเล่น ขบวนแห่ ผู้จัดมีการจัดมาตรการ นักแสดงคนร่วมขบวนแห่ ตรวจ ATK ฉีดวัคซีน ประชาชนก็ต้องร่วมมือมาตรการต่างๆ ที่แต่ละจังหวัดกำหนดเคร่งครัด ขอความร่วมมือร้านอาหาร ผู้ประกอบการขอให้เข้มมาตรการสาธารณสุขด้วย จะได้ผ่านไปอย่างปลอดภัย

‘ถนนข้าวสาร’ขอจัดสงกรานต์
ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์กรณีกลุ่มเครือข่ายผู้ประกอบการถนนคนเดิน เช่น ถนนข้าวสาร ถนนคนเดิน จ.เชียงใหม่ ภูเก็ต พัทยา เรียกร้องให้ศบค.พิจารณาผ่อนปรนพื้นที่จัดกิจกรรมให้เล่นน้ำในเทศกาลสงกรานต์เหมือนที่เคยทำได้ว่า กระทรวงวัฒนธรรมเสนอเรื่องให้ที่ประชุมศบค.พิจารณาให้เล่นน้ำได้ตามประเพณี ซึ่งก็ชัดเจน ส่วนหน่วยงานอื่นหากจะขอยกเว้นต้องเสนอเรื่องถึงคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เช่นเดียว กับกทม. จากนั้นให้ส่งเรื่องถึงศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศปก.ศบค.) เพื่อพิจารณา ก่อนเสนอที่ประชุมศบค.ต่อไป ขณะนี้ยังมีเวลาเสนอเรื่องให้พิจารณาตามกลไกกระบวนการ ทั้งนี้มติที่ประชุมของศบค.เมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวก็ชัดเจนแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่ากระทรวงสาธารณสุขคิดว่าจะเปิดให้เล่นน้ำสงกรานต์ได้ตามปกติหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ต้องดูรายละเอียดที่กลุ่มผู้ประกอบการจะเสนอมาให้พิจารณาว่าเป็นอย่างไร แต่เวลานี้ยังไม่เห็นรูปแบบวิธีการจัดการของกลุ่มผู้ประกอบการ และหากมีมาตรการชัดเจนแล้วให้เสนอมาที่ศปก.ศบค.พิจารณา

เมื่อถามว่ากระทรวงสาธารณสุขจะปิดตายห้ามเล่นน้ำสงกรานต์เลยหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวย้ำว่า ต้องรอดูมาตรการที่ผู้ประกอบการจะเสนอมา ขณะนี้เห็นผ่านทางสื่อเท่านั้น

กทม.เคาะสงกรานต์ 28 มี.ค.
นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการใช้มาตรการในจัดงานสงกรานต์ว่า สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว (สวท.) จะเสนอรายละเอียดการจัดกิจกรรมงานสงกรานต์ประจำปี 2565 ที่ถูกเสนอ จากภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการทั้งหมด รวมถึงที่ถนนข้าวสาร ถนนสีลม ด้วย ต่อที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ซึ่งกำหนดประชุมในวันที่ 28 มี.ค.นี้ หากที่ประชุมคณะกรรมการมีมติอย่างไร กทม.จะยึดตามมาตรการนั้น จากนั้นในวันที่ 29 มี.ค. จะสั่งการผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขต ดำเนินการตามมาตรการของที่ประชุมคณะกรรมการ

“สำหรับการจัดงานเทศกาลมหาสงกรานต์กรุงเทพมหานคร ประจำปี 2565 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-14 เม.ย. 65 ที่ลานสแควร์ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ สี่แยกราชประสงค์ เพื่อรักษาวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม ส่งเสริมด้านวัฒนธรรม การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมในวันสำคัญทางประเพณีให้คงอยู่สืบไป ตลอดจนเพื่อเป็นการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยปีนี้จะไม่ให้มีการเล่นสาดน้ำในบริเวณพื้นที่จัดงาน และจะมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจ และแนะนำแนวทางการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรค ทั้งก่อน จัดงานและภายในงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ ผู้เข้าร่วมงาน เจ้าหน้าที่ ผู้จัดงาน ผู้ค้า และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการแสดง ปฏิบัติตามมาตรฐานอย่างเคร่งครัด”

สธ.เซ็นซื้อยา‘แพกซ์โลวิด’
วันเดียวกัน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และน.ส.เด็บบราห์ ไซเฟิร์ท กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ลงนามแบบดิจิทัลในสัญญาการจัดซื้อยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย จำนวน 5 หมื่นคอร์สการรักษา

นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีนโยบายจัดหายารักษาโควิด-19 ที่สำคัญคือการเข้าถึงยาที่มีประสิทธิผลในการรักษา ปัจจุบันมีการใช้ยาต้านไวรัสรักษา ผู้ป่วยโควิด ได้แก่ยาฟาวิพิราเวียร์ ยาเรม เดซิเวียร์ ยาโมลนูพิราเวียร์ และยาใหม่ที่อยู่ระหว่างจัดหาและลงนามวันนี้ ถือเป็นการลงนามระดับรัฐบาล คือยาแพกซ์โลวิด 50,000 คอร์สการรักษา ซึ่งมีผลศึกษาวิจัย 1,379 คน พบลดความเสี่ยงการนอนร.พ.หรือเสียชีวิต 88% เมื่อได้รับยาภายใน 5 วัน นับตั้งแต่เริ่มมีอาการ โดยกลุ่มที่ได้ยาแพกซ์โลวิดนอนร.พ. 0.77% ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มยาหลอก นอน ร.พ.หรือเสียชีวิต 6.31%

นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า แม้จะติดโควิดไม่ได้แปลว่าทุกคนจะอาการรุนแรง คือผู้ติดเชื้อ ไม่จำเป็นต้องรับยานี้ทุกคน จึงจำกัดการรับยาแพกซ์โลวิด โดยกำหนดข้อบ่งชี้ในผู้ติดเชื้อโควิดที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางและเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง คือผู้สูงอายุ 60 ปี มี โรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น อ้วน เบาหวาน โรคหัวใจ และหลอดเลือด ไตเรื้อรัง ภูมิต้านทานร่างกายต่ำ เป็นต้น เริ่มมีอาการถึงปานกลาง โดยยาแพกซ์โลวิด ประกอบด้วยยา เนียร์มาเทรลเวียร์ (Nirmatrelvir) 150 ม.ก. และยาริโทนาเวียร์ (Ritonavir) 100 ม.ก. กินวันละ 6 เม็ด คือเนียร์มาเทรลเวียร์ 2 เม็ด และริโทนาเวียร์ 1 เม็ดต่อครั้ง วันละ 2 ครั้งเช้าเย็น เป็นเวลา 5 วัน รวม 30 เม็ด โดยหารือกับไฟเซอร์ว่าอยากจะให้มีการกระจายยาไปทั่วประเทศก่อนถึงสงกรานต์ เพื่อให้มียาไปรองรับที่ปลายทาง เนื่องจากอาจเป็นช่วงที่มีการระบาดอีกรอบ และผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจ ติดเชื้อมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้สูง

คาดถึงไทยต้นเมย.รับสงกรานต์
“คนเริ่มมีอาการถึงปานกลาง ไม่ว่าจะรักษาตัวที่ไหน ทั้ง HI CI หรือนอนร.พ.แล้ว เพื่อช่วยให้ไม่ป่วยรุนแรงและไม่เสียชีวิต ส่วนจะจัดซื้อเพิ่มหรือไม่ยังต้องติดตามผลการใช้จริงในประเทศ ซึ่งเราขอข้อมูลไฟเซอร์ว่าการใช้จริงในยุโรปผลเป็นอย่างไร ซึ่งรองนายกฯก็ให้หารือกับไฟเซอร์เป็นระยะ ถ้าใช้ได้ผลดีอาจจะสั่งยาเพิ่มก็เป็นได้ โดยยาที่จัดซื้อนี้จะส่งมาภายในต้นเม.ย.นี้ และขอให้กระจายยาก่อนสงกรานต์ ซึ่งเป็นช่วงมีวิกฤตได้ ถ้าติดเชื้อในสูงอายุมาก เราอยากเซฟ กลุ่มนี้มากที่สุด” นพ.สมศักดิ์กล่าว

เมื่อถามถึงแนวทางการรับยาแพกซ์โลวิด นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า โอมิครอนครึ่งหนึ่งไม่มีอาการ ไม่จำเป็นต้องกินยา ส่วนอีกครึ่งหนึ่งมีอาการก็ต้องดูว่าอายุเท่าไร มีโรคร่วมหรือไม่ ฉีดวัคซีนหรือยัง ซึ่งถ้าเป็นผู้สูงอายุ มีโรคร่วมแต่ควบคุมได้ค่อนข้างดี รับวัคซีนครบ อาจพิจารณาเป็นรายๆ ทั้งยารักษาตามอาการ ฟ้าทะลายโจร หรือฟาวิพิราเวียร์ ส่วนยาแพกซ์โลวิดข้อบ่งใช้คล้ายยาโมลนูพิราเวียร์ คือ อายุ 60 ปีขึ้นไป มีโรคร่วม ฉีดวัคซีนยังไม่ครบ คือ ยังไม่ได้ฉีดเลยหรือเข็มเดียว และเริ่มมีอาการถึงอาการปานกลาง โดยยาแพกซ์โลวิดออกฤทธิ์ในการยับยั้งโปรตีนเอส ส่วนยาโมล นูพิราเวียร์ออกฤทธิ์เหมือนฟาวิพิราเวียร์ยับยั้งการสร้างเซลล์ไวรัส ซึ่งแพกซ์โลวิดสามารถใช้คู่ฟาวิพิราเวียร์หรือโมลนูพิราเวียร์ได้ แต่ยังไม่มีการศึกษาการใช้ร่วม จึงกำหนดให้ใช้ ตัวใดตัวหนึ่งก่อน โดยจะเลือกใช้ยาแพกซ์โลวิดหรือโมลนูพิราเวียร์ให้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ ทั้งนี้ ยายังมีปริมาณจำกัด จึงอยากใช้ในกลุ่มที่มีโอกาสรุนแรงจนถึงเสียชีวิตก่อน

ด้านนพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การกระจายยาแพกซ์ โลวิด เนื่องจากยามีจำนวนจำกัดจะไปที่ โรงพยาบาลศูนย์ที่มีผู้เชี่ยวชาญตามมติอีโอซี สธ. โดยในเขตสุขภาพให้ผู้ตรวจราชการพิจารณาปรับการกระจาย ส่วนยาโมลนู พิราเวียร์เริ่มมีการใช้ตามข้อบ่งชี้ อาจมีคำถามจากหน้างาน จึงจะมีการสื่อสารกับแพทย์ผู้ใช้ วันที่ 25 มี.ค.2565

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน