ฮอตไลน์1569‘ค้าภายใน’เต้น

กรมการค้าภายในเผย ยอดร้องเรียนสินค้าแพง 2 เดือนพุ่งเกือบ 700 ราย ชี้หมวดอาหารและเครื่องดื่มมากสุด สั่งลงพื้นที่ตรวจสอบหากมีมูลเอาผิดทุกกรณี เอกชนชี้สงกรานต์เหงาแน่ หลังลูกค้าแห่ยกเลิกจองล่วงหน้าทั้งเดือนเม.ย.นี้กว่า 80% สวนดุสิตโพลเผยผลสำรวจเรื่อง ‘ความหนักใจของคนไทย’ อันดับ 1 คือ ของแพง น้ำมันแพง ค่าครองชีพสูง ร้อยละ 89.73

เมื่อวันที่ 27 มี.ค. ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงสถิติร้องเรียนราคาสินค้าและบริการ ผ่านสายด่วน 1569 ของกรมว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-11 มี.ค.2565 พบว่ามีการร้องเรียนจำนวน 697 เรื่อง แบ่งเป็น ไม่ปิดป้ายแสดงราคา 349 ราย ลดลง 3.86% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รองลงมาคือ ราคาแพง 123 ราย ลดลง 67.55% แสดงราคา ไม่ตรงกับราคาที่จำหน่าย 64 ราย ลดลง 11.11% ปรับราคาสูงขึ้น 59 ราย ลดลง 56.93% เครื่องชั่ง/มาตรวัดไม่ได้มาตรฐาน 38 ราย เพิ่มขึ้น 8.57% และไม่ได้รับความเป็นธรรม 64 ราย ลดลง 80.95%

“หมวดที่ประชาชนโทร.เข้ามาร้องเรียนมากที่สุดคือ สินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม รองลงมาคือหมวดของใช้ประจำบ้าน หมวดของใช้ส่วนบุคคล หมวดบริการ หมวดการเกษตร และหมวดยานยนต์และอุปกรณ์ โดยกรมได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบคำร้อง และข้อเท็จจริงหากพบว่าทำผิดจริงก็สั่งจับกุมดำเนินคดีทุกราย” ร.ต.จักรากล่าว

ส่วนสถิติร้องเรียนราคาสินค้าและบริการ ปี 2564 พบว่ามีจำนวนรวมทั้งสิ้น 4,200 เรื่อง แบ่งออกเป็นไม่ปิดป้ายแสดงราคาจำหน่ายปลีก 1,879 เรื่อง จำหน่ายราคาแพง 921 เรื่อง แสดงราคาจำหน่ายปลีกไม่ตรงกับราคาที่จำหน่าย 229 ราย ปรับราคาจำหน่ายสูงขึ้น 396 ราย ปฏิเสธการจำหน่ายโดยไม่มีเหตุผล 3 ราย กักตุนสินค้า 4 ราย ขายเกินราคากำหนด 26 ราย ใช้เครื่องชั่ง/มาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ได้มาตรฐาน 169 ราย สินค้าเกษตรราคาตกต่ำ 14 ราย ไม่ได้รับความเป็นธรรม 619 ราย

ร.ต.จักรากล่าวถึงแนวโน้มการปรับราคาสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าสูงขึ้นจากภาวะสงครามรัสเซียยูเครนว่า ในส่วนของปุ๋ยเคมีนั้น คาดว่าจะให้มีการปรับราคาตามต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่าผู้ประกอบการจะเริ่มทยอยยื่นเรื่องขอปรับขึ้นราคามาในช่วงสัปดาห์หน้า ซึ่งจะต้องเชิญผู้ประกอบการแต่ละรายมาหารือเพื่อชี้แจงรายละเอียดต้นทุนต่อไป ส่วนอาหารกระป๋องก็เริ่มทยอยยื่นขอปรับราคามาบ้างแล้ว โดยอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งขณะนี้กรมการค้าภายในยังไม่ได้อนุมัติให้สินค้าจำเป็น 18 รายการปรับขึ้นราคา

วันเดียวกัน สวนดุสิตโพลเผยผลสำรวจเรื่อง “ความหนักใจของคนไทย ณ วันนี้” พบว่า กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,047 คน สำรวจระหว่างวันที่ 22-24 มี.ค. พบว่า เรื่องที่ประชาชนหนักใจมากที่สุด อันดับ 1 คือ ของแพง น้ำมันแพง ค่าครองชีพสูง ร้อยละ 89.73 โดยรู้สึกค่อนข้างหนักใจกับปัญหาต่างๆ ร้อยละ 56.73 และหนักใจมาก ร้อยละ 38.78 สาเหตุที่ทำให้หนักใจคือ ทุกอย่างขึ้นราคา ร้อยละ 80.97 รองลงมาคือ การแก้ปัญหาของรัฐบาล ร้อยละ 57.10


ชีวิตต้องสู้ – ชาวบ้านออกเหวี่ยงแหจับปลาและเก็บผักบุ้งในคลองริมถนนรามอินทรา ก.ม.1 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพฯ นำไปประกอบอาหารลดค่าครองชีพ หลังสินค้าจำเป็นต่างๆ ขึ้นราคาอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 27 มี.ค.








Advertisement

โดยประชาชนรับมือกับปัญหาด้วยการตั้งสติ อดทน ให้กำลังใจตัวเอง ร้อยละ 76.14 โดยอยากให้รัฐบาลรับฟังความคิดเห็น ช่วยเหลือประชาชนให้มากขึ้น ร้อยละ 75.77 ในภาพรวมรายได้ของประชาชน ณ วันนี้ไม่พอใช้และมีหนี้สิน ร้อยละ 41.26

น.ส.พรพรรณ บัวทอง นักวิจัยสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า ประชาชน ณ วันนี้มีเงินไม่พอใช้และมีหนี้สิน หรือถึงมีพอใช้ก็ไม่มีเงินเหลือเก็บ ผนวกกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ลากยาวก็ยิ่งทำให้ลำบากมากขึ้น นอกจากจะหนักใจเรื่องของแพงแล้วยังหนักใจเรื่องการบริหารงานของรัฐบาลอีกด้วย ส่วนนี้สะท้อนให้เห็นว่าการแก้ปัญหาของ รัฐบาลถึงจะมาถูกทางแต่ก็ยังไม่ถูกใจประชาชน รัฐบาลซึ่งเป็นความหวังของประชาชนจึงควรรับฟังและแก้ปัญหาให้เร็วยิ่งขึ้น

ด้าน ผช.ดร.อนงค์นาถ ทนันชัย ประธานกรรมการบริหารหลักสูตรการจัดการบัณฑิต คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า จากผลสำรวจสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนให้ความสำคัญกับปัญหาเศรษฐกิจอย่างมาก และต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง รวดเร็ว ในฐานะที่ตนเป็นทั้งอาจารย์ ผู้ประกอบการและประชาชนเห็นว่ารัฐบาลควรแก้ปัญหาให้ตรงจุด โดยเชิญผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่เข้าใจอย่างถ่องแท้เข้ามาช่วย ฟังเสียงประชาชนอย่างจริงใจ เข้าถึงแหล่งข้อมูลที่เป็นจริง ทางรัฐบาลนั้นเชื่อว่าขณะนี้ค่อนข้างทำงานหนักเพราะเจอสถานการณ์วิกฤตต่างๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง เรียกว่าความวัวไม่ทันหาย ความวุ่นวายอย่างอื่นก็เข้ามาแทรกตลอดเวลา ข้อสังเกตจากผลโพลอีกประการหนึ่งในเรื่องวิธีรับมือปัญหาหนักใจคือ การตั้งสติ ยอมรับ ปลง นั้น อาจารย์เห็นว่าไม่ควรท้อ อย่ามองว่าเป็นปัญหา ยิ่งเป็นผู้ประกอบการต้องไม่กลัว กล้าที่จะเผชิญกับปัญหาแล้วหาทางออกอย่างมีสติ ไม่ว่าจะฐานะใด ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนนั้นดีที่สุด เพราะจะมองเห็นปัญหาก่อนเพื่อการแก้ไขที่รวดเร็วและตรงจุด

ส่วนนายภูริวัจน์ ลิ้มถาวรรัตน์ ผู้ช่วยประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมการท่องเที่ยวในประเทศ ขณะนี้ต้องยอมรับว่าภาพไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นเหมือนอย่างที่คาดหวังไว้ เนื่องจากการระบาดโควิด-19 สายพันธุ์ โอมิครอนยังคงอยู่ รวมถึงเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันรวมการตรวจเอทีเคแล้ว อยู่ประมาณ 4 หมื่นคนต่อวัน ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูง และสร้างความกังวลใจมาก ทำให้แนวโน้มช่วงเทศกาลสงกรานต์ในเดือนเม.ย.2565 ไม่ได้ดีเหมือนที่คาดไว้ โดยภาพในปีนี้จะเป็นเหมือนปี 2564 อีกครั้ง เนื่องจากขณะนี้เราเห็นการยกเลิกการจองล่วงหน้าแล้วกว่า 80% และเป็นการยกเลิกทั้งเดือนเม.ย. เพราะไม่มั่นใจการระบาดโควิด-19 และอยากขอรอดูความชัดเจนของเงื่อนไขต่างๆ ก่อน

ตอนนี้สงกรานต์ไม่ต้องพูดถึงแล้ว รู้ชะตากรรมแล้วว่าคงไม่ได้คึกคักมากเท่าใดนัก เพราะยังมีโอมิครอนอยู่ รวมถึงภาวะเศรษฐกิจไม่ดี น้ำมันแพง ค่าครองชีพสูง จึงมีการตัดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นออก ทำให้การเดินทางน้อยลงมาก คนส่วนใหญ่ระมัดระวังตัว เพราะพูดจริงๆ โควิด-19 คนยังกลัวน้อยกว่าปัญหาเศรษฐกิจ ที่หากคนไม่มีเงินก็ไปเที่ยวไม่ได้ เมื่อพ้นเดือนเม.ย.นี้ จะเป็นหน้าฝน ซึ่งปกติถือเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวน้อยอยู่แล้ว การท่องเที่ยวในประเทศก็จะหายไปอีกอย่างน้อย 1 ไตรมาส หรือ 3 เดือน ที่การเดินทางทรงตัวต่ำๆ แบบนี้ เพราะที่ผ่านมาเดิมเราเห็นในช่วงเดือนมี.ค. เริ่มมีการจองเดินทางท่องเที่ยวในช่วงปลายเดือนมี.ค.นี้ แต่เมื่อยอดติดเชื้อพุ่งขึ้นเรื่อยๆ ก็เห็นการยกเลิกการจองจนหมด ลากยาวไปถึงเดือนเม.ย.นี้ ทั้งเดือนด้วย ทำให้การท่องเที่ยวในประเทศ ยังคาดหวังว่าจะเห็นความคึกคักได้อีกครั้งในช่วงปลายปี 2565 รอบปลายฝนต้นหนาว หรือไตรมาสสุดท้ายของปีเลย

นายภูริวัจน์กล่าวต่อว่า สำหรับตลาดต่างประเทศยังไม่ได้คิดไว้เลยว่าจะกลับมาดีขึ้น และคาดหวังได้มากน้อยเท่าใด เพราะคนไทยก็ยังกลัวอยู่ รวมถึงหลายประเทศก็เปิดประเทศท่องเที่ยวมากขึ้น มีตัวเลือกสูง รวมถึงเงื่อนไขการเข้าประเทศก็น้อย ทำให้แม้มีความต้องการ (ดีมานด์) ในการมาเที่ยวไทย แต่หากเงื่อนไขยังไม่เอื้ออำนวยมากนัก ประเมินว่าตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ อาจต้องรอฟื้นตัวอีกทีในปี 2566 ทีเดียว

ตอนนี้อยากให้รัฐบาลเตรียมมาตรการส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลัก ทำอย่างต่อเนื่อง และทำมากที่สุด เพราะการคาดหวังนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยังทำได้ค่อนข้างน้อย โดยรูปแบบมาตรการหรือโครงการกระตุ้น อยากให้ออกมาในรูปแบบการส่งเสริมเที่ยวผ่านบริษัทนำเที่ยว เหมือนโครงการทัวร์เที่ยวไทย แต่อยากให้เงื่อนไขต่างๆ ในการใช้บริการทั้งส่วนของประชาชนและผู้ประกอบการเอื้ออำนวยมากกว่านี้ เพราะทัวร์เที่ยวไทยถือว่าช่วยต่อลมหายใจ ผู้ประกอบการได้ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เนื่องจากขั้นตอนและเงื่อนไขค่อนข้างยุ่งยากเกินไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน