กระจายยาฟาวิพิราเวียร์ 50 ล้านเม็ด-ยาโมลนูพิราเวียร์อีก 25 ล้านเม็ดส่งร.พ.ทั่วประเทศ รับสถานการณ์หลังสงกรานต์องค์การเภสัชฯ แบ่งเป็นสองล็อต กลางเม.ย.และปลายเดือน สธ.ยันมียาฟาวิพิราเวียร์เพียงพอ สำรองในสต๊อกอยู่ 25 ล้านเม็ด ส่วนร.พ.ที่มีปัญหาไม่ได้ยา เพราะคีย์ข้อมูลส่งมาช้าจึงเติมให้ไม่ทัน ห่วงเด็กต่ำกว่า 5 ขวบดับจากโควิดเกือบทุกวัน เป็นกลุ่มภูมิคุ้มกันต่ำ มีโรคร่วม ยอดโควิดเกินหมื่น 53 วันรวด ป่วยอีก 2.1 หมื่นราย ATK ผลบวก 1.3 หมื่นราย ตาย 78 ยังระบาดเกินร้อยใน 51 จังหวัด กทม.กำชับจัดกิจกรรมสงกรานต์ห้ามปาร์ตี้โฟม ห้าม ประแป้ง ห้ามเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีคนร่วมงานเกิน 1 พันต้องขออนุญาต มี 46 สำนักงานเขตแจ้งงดจัดงานแล้ว

โควิดเกินหมื่น 53 วันรวด
เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า ประเทศไทยยังพบผู้ติดเชื้อใหม่เกินหมื่นรายเป็นวันที่ 53 ในการระบาดระลอกโอมิครอน โดยพบติดเชื้อรายใหม่ 21,678 ราย สะสม 3,575,398 ราย หายป่วย 27,183 ราย สะสม 3,305,286 ราย เสียชีวิต 78 ราย สะสม 24,958 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 245,154 ราย อยู่ใน ร.พ. 57,234 ราย อยู่ ร.พ.สนาม เอชไอ ซีไอ 187,920 ราย มีอาการหนัก 1,748 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 691 ราย อัตราครองเตียงสีเหลืองสีแดงอยู่ที่ 28.3% สำหรับยอดติดเชื้อเข้าข่าย ATK 13,296 ราย

ผู้เสียชีวิตมาจาก 40 จังหวัด ได้แก่ กทม. 7 ราย, ร้อยเอ็ด 5 ราย, สมุทรปราการ ตาก ชลบุรี จังหวัดละ 4 ราย, เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช ระยอง จังหวัดละ 3 ราย, นครปฐม ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี อุตรดิตถ์ สตูล ระนอง พัทลุง จันทบุรี ตราด สระแก้ว กาญจนบุรี จังหวัดละ 2 ราย และเลย นครราชสีมา กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก พะเยา ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี ชุมพร ตรัง ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ฉะเชิงเทรา นครนายก พระนครศรีอยุธยา นครสวรรค์ และสระบุรี จังหวัดละ 1 ราย เป็นชาย 46 ราย หญิง 32 ราย อายุ 24-97 ปี เฉลี่ย 70 ปี โดยเป็นผู้สูงอายุและโรคประจำตัวรวม 99%

51 จังหวัดป่วยเกินร้อย
ส่วน 10 จังหวัดที่มีรายงานติดเชื้อรายใหม่สูงสุดคือ 1.กทม. 3,611 ราย 2.ชลบุรี 1,089 ราย 3.นครศรีธรรมราช 880 ราย 4.สมุทรปราการ 857 ราย 5.นนทบุรี 730 ราย 6.สมุทรสาคร 690 ราย 7.ระยอง 570 ราย 8.บุรีรัมย์ 540 ราย 9.สงขลา 532 ราย และ 10.นครปฐม 511 ราย

สำหรับจังหวัดติดเชื้อถึง 100 รายขึ้นไปยังมีอีก 41 จังหวัด คือ ขอนแก่น 468 ราย, ร้อยเอ็ด 422 ราย, อุดรธานี 417 ราย, ฉะเชิงเทรา 408 ราย, กาญจนบุรี 382 ราย, นครราชสีมา 372 ราย, สุพรรณบุรี 343 ราย, สุรินทร์ 337 ราย, เชียงใหม่ 328 ราย, พระนครศรีอยุธยา 320 ราย, สมุทรสงคราม 319 ราย, ประจวบคีรีขันธ์ 314 ราย, นครสวรรค์ 295 ราย, ปทุมธานี 273 ราย, ปราจีนบุรี 268 ราย, อุบลราชธานี 262 ราย, ภูเก็ต 253 ราย, อ่างทอง 251 ราย, ศรีสะเกษ 247 ราย, พัทลุง 235 ราย, ราชบุรี 220 ราย, หนองคาย 218 ราย, พิษณุโลก 216 ราย, สระแก้ว 215 ราย, สระบุรี 210 ราย, สุโขทัย 189 ราย, ระนอง 185 ราย, เลย 184 ราย, กาฬสินธุ์ 182 ราย, ชุมพร 180 ราย, กำแพงเพชร 162 ราย, สุราษฎร์ธานี 161 ราย, เพชรบุรี 154 ราย, ตาก 153 ราย, จันทบุรี 144 ราย, กระบี่ 143 ราย, สกลนคร 131 ราย, ยโสธร 128 ราย, มหาสารคาม 124 ราย, สิงห์บุรี 114 ราย และชัยภูมิ 102 ราย ขณะที่ชัยนาท 5 ราย ส่วนลำพูนไม่พบผู้ติดเชื้อ

ด้านการติดเชื้อมาจากเรือนจำพบ 68 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 64 ราย ใน 23 ประเทศ โดยมาจากกัมพูชามากที่สุด 11 ราย เป็นลักลอบเข้าประเทศ 10 ราย ซาอุดีอาระเบีย 8 ราย เยอรมนี 7 ราย อังกฤษ 6 ราย อิหร่าน 5 ราย ออสเตรเลีย 4 ราย ที่เหลือติดเชื้อประเทศละ 1-3 ราย โดยเข้าระบบ Test&Go 44 ราย แซนด์บ็อกซ์ 8 ราย กักตัว 2 ราย และลักลอบเข้าประเทศ 10 ราย สำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 1-28 มี.ค.2565 จำนวน 247,094 ราย รายงานติดเชื้อ 1,450 ราย คิดเป็น 0.59% แบ่งเป็นระบบ Test&Go 222,158 ราย ติดเชื้อ 979 ราย คิดเป็น 0.44% แซนด์บ็อกซ์ 21,100 ราย ติดเชื้อ 365 ราย คิดเป็น 1.73% และกักตัว 3,836 ราย ติดเชื้อ 106 ราย คิดเป็น 2.76%

ขณะที่การฉีดวัคซีนโควิด-19 ข้อมูล ณ วันที่ 28 มี.ค. ฉีดได้ 121,596 โดส สะสมรวม 128,882,039 โดส เป็นเข็มแรก 55,353,039 ราย คิดเป็น 79.6% ของประชากร เข็มสอง 50,257,501 ราย คิดเป็น 72.3% ของประชากร และเข็มสาม 23,271,499 ราย คิดเป็น 33.5% ของประชากร

ปอดอักเสบ 1.7 พันคน
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ย้ำให้ประชาชนทุกคนต้องป้องกันตนเองขั้นสูงสุด ถึงแม้จะติดเชื้อและรักษาจนหาย ยังกลับมาติดเชื้อซ้ำได้ จึงขอให้ประชาชนทุกคนเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อป้องกันตนเองและครอบครัว ก่อนเทศกาลสงกรานต์ ที่จะมีความเสี่ยงสูงในการนำเชื้อกลับไปติดครอบครัว ผู้สูงอายุ โดยการฉีดเข็ม 2 ป้องกันการติดเชื้อของสายพันธุ์โอมิครอนไม่ได้ แต่ป้องกันการเสียชีวิตได้สูง ขณะที่การฉีดเข็ม 3 ป้องกันติดเชื้อ 45-68% ป้องกันเสียชีวิตสูง 98% ส่วนเข็ม 4 ป้องกันติดเชื้อสูง 82% ยังไม่พบการเสียชีวิต ขณะที่จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ รักษาตัวอยู่ในร.พ. 1,748 ราย เฉลี่ยจังหวัดละ 23 ราย อัตราครองเตียงร้อยละ 28.3








Advertisement

สธ.ยันมีฟาวิฯ พอ
ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงประเด็นการบริหารจัดการยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 หลังจากกรณีชมรมแพทย์ชนบทออกมาระบุมีการขาดแคลนในต่างจังหวัดว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2-4 หมื่นราย ซึ่งรวมการตรวจ ATK ด้วย ประเทศไทยมีการใช้ยารักษาผู้ป่วยโควิดหลายตัว ทั้งยาฟ้าทะลายโจร ฟาวิพิราเวียร์ เรมดิซิเวียร์ และโมลนูพิราเวียร์ ล่าสุดยังทำสัญญาในการจัดหายาแพกซ์โลวิดเข้ามาใช้เพิ่มเติม

“ยาฟาวิพิราเวียร์ข้อมูลวันที่ 28 มี.ค.2565 มียาคงคลังใน ร.พ.ต่างๆ ที่ให้ผู้ติดเชื้อได้ทั่วประเทศ 22.8 ล้านเม็ด แต่ยอมรับว่าปัจจุบันการใช้ยาค่อนข้างสูง เฉลี่ยวันละประมาณ 2 ล้านเม็ด ใช้ได้นาน 10 วัน แต่เราเพิ่มเติมยาให้ตลอดเวลา โดยจะมีระบบการรายงานข้อมูลการใช้ยาทางออนไลน์คือ VMI โดยเมื่อ ร.พ.ใช้ยาจะคีย์ข้อมูลลงในระบบว่าใช้ไปเท่าไร ทำให้ส่วนกลางทราบว่าร.พ.ไหน จังหวัดไหน มียาเหลือเท่าไร ก็จะเติมยาลงไปให้ โดยมอบหมายองค์การเภสัชกรรม (อภ.) จัดหายามาเติมให้แต่ละจังหวัด เพื่อให้มียาสำรองอยู่ในช่วงประมาณ 10 วันเสมอ ยอมรับว่าใน 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา บางพื้นที่มีผู้ป่วยสูงขึ้นและมีการใช้ยา โดยไม่ได้คีย์ข้อมูลการใช้ยาที่เป็นปัจจุบัน แต่มาคีย์เพียงครั้งเดียว ก็ทำให้ยาหายไปในครั้งดียว ทำให้ส่วนกลางไม่ทราบว่ายาบางพื้นที่มีการใช้ไปแล้ว ทำให้เติมยาไม่ทัน แต่ยืนยันว่าไม่มีการขาดยา เพราะมีการหมุนเวียนใช้ภายในจังหวัดได้ แต่ละร.พ.ส่งสต๊อกไปช่วยเหลือกันได้” นพ.ธงชัยกล่าว

สำรองในสต๊อก 25 ล้านเม็ด
นพ.ธงชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมาเรามีการกระจายยาฟาวิพิราเวียร์ในช่วงวันที่ 1-28 มี.ค. จำนวน 72 ล้านเม็ด โดยกระจายทุกสัปดาห์ และมีการสำรองยากระจายในสต๊อกอีก 25 ล้านเม็ด โดยอยู่ใน ร.พ.ต่างๆ 22.8 ล้านเม็ด และสต๊อกที่ส่วนกลางอีก 2.2 ล้านเม็ด ถ้ามองภาพรวมปัจจุบันมียาในประเทศไทยเลย 25 ล้านเม็ด มีแผนที่ อภ.จะนำเข้ามาตลอดเวลาทุกสัปดาห์ อภ.จะพยายามนำเข้ามา 15-20 ล้านเม็ดต่อสัปดาห์ก็จะเพียงพอ ตอนนี้เราใช้ประมาณ 2 ล้านเม็ดต่อวัน คือ 14-15 ล้านเม็ดต่อสัปดาห์ บางสัปดาห์เราเข้ามาได้ 15-20 ล้านเม็ดก็ถือว่าเพียงพอ ภาพรวมจังหวัดไม่ขาด แต่บางแห่งอาจไม่คล่องตัวในการจัดการยา แต่บริหารจัดการได้ในจังหวัด จึงมอบให้ผู้ตรวจราชการ สธ.และนพ.สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ที่บริหารจัดการโยกยาจากบาง ร.พ.ไปใช้ก่อนได้

ทั้งนี้ ผู้ป่วยทุกรายไม่จำเป็นต้องได้รับยา โดยเฉพาะที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย โดยการให้ยาจะเป็นไปตามแนวเวชปฏิบัติในการรักษาโควิด-19 ที่ออกโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งข้อมูลการรักษาขณะนี้พบว่า เราใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ 26% แต่บางเขตอาจมีปริมาณการใช้เยอะมาก ยาฟ้าทะลายโจร 24% และเป็นยารักษาตามอาการ 52% เช่น แก้ไข้ แก้ไอ และหากไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อยไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส ย้ำว่ายาทุกตัวเป็นสารเคมี แพทย์จะวินิจฉัยว่าใครสมควรหรือมีความเสี่ยงมากที่จะต้องรับยา เนื่องจากยาก่อปัญหาเรื่องตับและไตได้

“ผู้ที่รับวัคซีนแล้ว โดยเฉพาะรับครบ 3 เข็ม เท่ากับร่างกายมีโรงงานผลิตยา เมื่อได้รับเชื้อก็จะสร้างภูมิคุ้มกันมาต่อสู้ โดยคนที่ไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อย หมายความว่าร่างกายต่อสู้กับเชื้อได้ โดยภายใน 5-7 วันเชื้อจะถูกทำลาย เหมือนกับยาฟาวิพิราเวียร์ที่รับประทาน 5 วัน ส่วนบางคนภูมิคุ้มกันอาจไม่ดีพอ การผลิตมาต่อสู้กับเชื้อโรคอาจผลิตได้ไม่เต็มที่ ก็ต้องเติมยาใส่เข้าไปช่วย ดังนั้น จึงต้องสำรองยาให้คนที่ควรจะได้รับยา ดังนั้นขอเชิญชวนทั้งประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ทำความเข้าใจว่า ทุกรายไม่จำเป็นต้องรับประทานยา ฟาวิพิราเวียร์ เราใช้รักษาโดยดูตามอาการ อย่าไปเสี่ยงกับการที่ยาอาจเกิดผลกระทบต่อตับหรือไตได้ ขอให้ทุกคนช่วยกันรณรงค์ร่วมมือกันใช้ยาสมเหตุสมผล เพื่อลดและป้องกันการดื้อยา ป้องกันผลกระทบจากยาที่มีทั้งตับและไตวาย และช่วยลดค่าใช้จ่ายของตัวเองและประเทศ และควรไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นเมื่อรับวัคซีน 2 เข็มครบตามกำหนดแล้ว เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น” นพ.ธงชัยกล่าว

เม.ย.ส่งอีกให้ 50 ล้านเม็ด
ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวถึงการจัดหายาฟาวิพิราเวียร์ว่า ช่วงปลายเดือนก.พ. สธ.แจ้งให้อภ.สำรองยาฟาวิพิราเวียร์ 110 ล้านเม็ด ซึ่งทยอยส่งมอบไปแล้ว 80 ล้านเม็ด เหลืออีก 30 ล้านเม็ด ซึ่งจะทยอยส่งอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงกลางเดือนเม.ย. อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่อาจจะมีผู้ติดเชื้อมากขึ้น เพื่อให้มียาสำรองอย่างเพียงพอ ช่วงปลายมี.ค. สธ.จึงแจ้งแผนความต้องการยาฟาวิพิราเวียร์และโมลนูพิราเวียร์รวม 75 ล้านเม็ด โดย เบื้องต้นจะเป็นยาฟาวิพิราเวียร์ 50 ล้านเม็ด ทยอยส่งในช่วงกลาง เม.ย. 30 ล้านเม็ด และช่วงปลายเม.ย.อีก 20 ล้านเม็ด ถือว่ามีจำนวนมากเพียงพอที่จะใช้ในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งสำหรับยาฟาวิพิราเวียร์มีทั้งส่วน อภ.ผลิตได้เองและนำเข้า กระจายยาไปหน่วยงานต่างๆ ตามที่รับแจ้งจากทางสธ. ขอให้สบายใจได้ว่าเรามีการสำรองและติดตามอย่างใกล้ชิด ส่วนอีก 25 ล้านเม็ดที่เหลืออยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะเป็นยาโมลนูพิราเวียร์หมดหรือไม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือและต่อรองราคากับบริษัทในจีนและอินเดีย ซึ่งยังไม่ได้ลงนามจัดซื้อ โดยต้องรอดูเรื่องของราคาก่อน เพราะหากราคาแพงจะได้จำนวนเม็ดลดลง ซึ่งทางบริษัทยืนยันว่าจัดส่งให้ได้จำนวน 10 ล้านเม็ดใน 2 สัปดาห์หลังลงนามในสัญญา

ห่วงเด็กต่ำ 5 ขวบดับรายวัน
ส่วนกรณีช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ซึ่งเป็นวัยที่ยังรับวัคซีนโควิดไม่ได้ เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เกือบทุกวัน โดยวันที่ 19 มี.ค. เป็นเด็กอายุ 2 ขวบ วันที่ 20 มี.ค. อายุ 1 ขวบ วันที่ 22 มี.ค. อายุ 3 ขวบ วันที่ 23 มี.ค. อายุ 2 เดือน วันที่ 24 มี.ค. อายุ 1 เดือน วันที่ 25 มี.ค. อายุ 11 เดือน วันที่ 28 มี.ค. อายุ 9 เดือนนั้น

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ขณะนี้สถานการณ์โรคโควิด-19 มีการระบาดเป็นวงกว้าง มีการติดเชื้อจากการสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน ทั้งจากในครอบครัวและชุมชน เมื่อมีการติดเชื้อเยอะจึงมีโอกาสมาติดเชื้อในเด็กได้ ซึ่งเด็กที่เสียชีวิตเป็นกลุ่มที่มีร่างกายไม่แข็งแรงหรือมีภูมิต้านทานที่ไม่ค่อยดี เช่น เด็กที่มีความพิการแต่กำเนิด มีโรคประจำตัว หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ ปัจจัยสำคัญคือเมื่อเข้าถึงการรักษาล่าช้าก็อาจทำให้เกิดการเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด

“ขณะนี้ก็ยังไม่มีวัคซีนสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบลงไป ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการป้องกันไม่ให้เด็กเล็กเหล่านี้ติดเชื้อโควิด ซึ่งความเสี่ยงในการติดเชื้อของเด็กเล็กยังมาจากผู้ใหญ่ในครอบครัวเป็นหลักที่นำเชื้อมาสู่เด็ก เพราะบางครั้งผู้ใหญ่ก็ติดเชื้อไม่มีอาการ ทำให้ไม่รู้ตัวว่าติดและนำเชื้อมาสู่เด็ก ทำให้เด็กไม่ได้รับการตรวจคัดกรอง ส่วนการจะลดการเสียชีวิตในเด็กเล็ก ขอให้พ่อแม่ผู้ปกครองประเมินดูว่าลูกมีภาวะเสี่ยงหรือไม่ หากเด็กเล็กมีภาวะโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ถือว่ามีความเสี่ยงมาก ให้สังเกตว่ามีอาการไข้สูง ไอ เหนื่อยหอบ อาเจียนหรือไม่ หากมีอาการระบบทางเดินหายใจให้รีบพาไปพบแพทย์เพื่อรักษา เพราะมีความเสี่ยงที่อาจเกิดอาการรุนแรงได้” นพ.โสภณกล่าว

ชี้ติดโอมิฯ ซ้ำใน 1 เดือนได้
วันเดียวกัน จากกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่าติดโควิดครั้งที่ 2 ในรอบ 1 เดือน ขณะที่อธิบดีกรมควบคุมโรคระบุมีโอกาสเกิดขึ้นได้ในกรณีติดต่างสายพันธุ์ แต่ส่วนใหญ่จะไม่ติดซ้ำในเวลาสั้นๆ ยกเว้น ผู้มีปัญหาการสร้างภูมิต้านทานนั้น

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์โพสต์ถึงเรื่อง ดังกล่าวว่า “เรามีโอกาสจะติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย “BA.2” ซ้ำหลังจากติดเชื้อ “BA.1” ภายใน 1 เดือนได้หรือไม่ คำตอบคือเกิดขึ้นได้ แต่พบไม่บ่อย เพียงร้อยละ 0.126 หรือ 1 ใน 1,000 โดยมีรายงานจากหลายประเทศในยุโรปถึงการติดเชื้อซ้ำในลักษณะนี้ว่าไม่พบอาการรุนแรงในผู้ติดเชื้อซ้ำที่จำเป็นต้องเข้ารักษาตัวในร.พ.หรือเสียชีวิต มีการศึกษาการติดเชื้อซ้ำในประชากรประเทศเดนมาร์ก ระหว่างวันที่ 22 พ.ย. 2564-11 ก.พ. 2565 จากผู้ติดเชื้อจำนวน 1.8 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่ติดเชื้อ BA.1 พบว่ามีการติดเชื้อซ้ำด้วย BA.2 ภายหลังจากหายจากการติดเชื้อครั้งแรก (BA.1) ภายในระยะเวลา 20-60 วัน คิดเป็นร้อยละ 0.126 โดยผู้ติดเชื้อซ้ำ (BA.1>BA.2) ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ไม่พบผู้ติดเชื้อ BA.2 ครั้งแรกแล้วกลับมาติดเชื้อ BA.1 ซ้ำ

สาเหตุที่มีการติดเชื้อซ้ำได้เพราะทั้ง BA.1 และ BA.2 ไม่เหมือนกัน หากเปรียบเทียบกับคนเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายคือ BA.1 และ BA.2 ไม่เหมือนกันทุกส่วนเหมือนเด็กแฝด แต่มีความเหมือนกันในระดับพี่น้องจากพ่อแม่เดียวกัน บริเวณหนามบางส่วนจะมีลักษณะเฉพาะตัวไม่เหมือนกัน BA.1 บริเวณหนามกลายพันธุ์ต่างไปจาก BA.2 จำนวน 7 ตำแหน่ง BA.2 บริเวณหนามกลายพันธุ์ต่างไปจาก BA.1 จำนวน 5 ตำแหน่ง ทำให้ภูมิคุ้มกันแอนติบอดีที่ได้จากการติดเชื้อ BA.1 ไม่อาจปกป้องการติดเชื้อจาก BA.2 ได้ 100%

กทม.กำชับห้ามปาร์ตี้โฟม
ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) นายขจิต ชัชชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ว่า กทม. ได้รับทราบมาว่าจะให้มีการจัดเล่นน้ำสงกรานต์ได้ตามประเพณี แต่ข้อปฏิบัติและระเบียบต่างๆ จะต้องให้ผ่านการพิจารณาของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ชุดใหญ่ ที่ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก่อน หลังจากนั้น กทม.จะออกคำสั่งตามระเบียบดังกล่าวในวันที่ 31 มี.ค. เพื่อให้มีผลในวันที่ 1 เม.ย.

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้มีการจัดกิจกรรมสงกรานต์ โดยเบื้องต้นอนุญาตให้เล่นน้ำแบบประพรม จัดกิจกรรมตามประเพณี ได้ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting ห้ามประแป้ง ปาร์ตี้โฟม รวมถึงห้ามจำหน่ายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่จัดงาน ตลอดจนต้องควบคุมความหนาแน่นในพื้นที่จัดงาน 1 คน ต่อ 4 ตารางเมตร และต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาด้วย

46 เขตงดจัดสงกรานต์
ส่วนพื้นที่สาธารณะไม่มีการควบคุม อย่างเช่น ท้องถนน ห้ามให้มีการเล่นน้ำ ประแป้ง และปาร์ตี้โฟม ส่วนกิจกรรมรวมกลุ่มในครอบครัวนั้น ให้มีการรดน้ำดำหัว และจัดกิจกรรมในที่มีการระบายอากาศได้ดี สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา งดกิจกรรมการสัมผัสใกล้ชิด หรือใช้สิ่งของร่วมกัน หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มร่วมกันเป็นเวลานาน อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุควรได้รับวัคซีนให้ครบก่อนเข้าร่วมกิจกรรม

สำหรับพื้นที่ที่ต้องการจัดกิจกรรมสงกรานต์ หากมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่เกิน 1,000 คนให้ทำเรื่องขออนุญาตมาที่สำนักงานเขตนั้นๆ แต่หากมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเกิน 1,000 คน ต้องทำเรื่องขออนุญาตมายังสำนักอนามัย กทม. ก่อนการจัดงาน 5 วัน อย่างไรก็ตามขณะนี้มีพื้นที่เอกชนที่เป็นแลนด์มาร์กต่างๆ และวัด ยื่นเรื่องมาแล้วประมาณ 7-8 แห่ง อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบ ส่วนการจัดงานสงกรานต์ของแต่ละสำนักงานเขต ขณะนี้ยื่นเรื่องมาว่าไม่จัดงานแล้ว 46 เขตเหลืออีก 4 เขตยังไม่ได้แจ้ง ว่าจะจัดหรือไม่จัด ส่วนสาเหตุที่ไม่จัดเพราะเกี่ยวเนื่องมาจากช่วงนี้เป็นช่วงรับสมัครผู้ว่าฯ กทม. และจะต่อเนื่องไปจนถึงช่วงหาเสียง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน