‘พริก-ผักชี-หอมแดง’กะปิ-ปลาร้าก็ปรับด้วย แห่ซื้อบะหมี่ซองไว้ตุน สมาคมเลี้ยงไก่ครวญ แบกต้นทุน-วอนช่วย
ดีเซลขึ้นแล้วลิตรละ 2 บาท หลังรัฐเลิกอุ้ม ขณะที่หมูแพง ทั้งแผ่นดิน สมาคม ผู้เลี้ยงสุกรปรับราคาขึ้นทั่วประเทศ โลละ 4 บาท ภาคเหนือขึ้นมากสุด ส่งผลให้ราคาขายส่งห้างสรรพสินค้าเพิ่มโลละ 7 บาท และ ขายปลีกทั่วไปโลละ 8 บาท ทำให้แตะโล 200 บาท สาเหตุยังต้องพึ่งพาชิ้นส่วนและสุกรขุนจากภาคอื่น อีกทั้งภาวะต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงขึ้นต่อเนื่อง ส่วนสินค้าอื่นทั้งหอมแดง ต้นหอม ผักชี ซอสก็ขึ้นราคา ผู้เลี้ยงไก่โอดแบกต้นทุนอ่วม วอนรัฐช่วยเหลือด่วน

หมูปรับขึ้นราคาทั่วปท.
เมื่อวันที่ 30 เม.ย. รายงานข่าวจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ แจ้งถึงสภาวะตลาดสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม (สัปดาห์ที่ 17/2565) ประจำวันว่า สมาคมได้ปรับขึ้นราคาลูกสุกรขุนหน้าฟาร์มทุกภาค โดยภาคตะวันตกปรับขึ้น 4 บาท/ก.ก. เป็น 98-100 บาท/ก.ก. ทำให้ราคาขายส่งห้างสรรพสินค้า ปรับเพิ่มขึ้น 4 บาท/ก.ก. เป็น 156-160 บาท/ก.ก. ส่วนราคาขายปลีกทั่วไป ปรับเพิ่มขึ้น 4 บาท/ก.ก. เป็น 194-200 บาท/ก.ก.

ภาคตะวันออก ปรับขึ้น 2 บาท/ก.ก. เป็น 98-100 บาท/ก.ก. ขายส่งห้างสรรพสินค้า ปรับเพิ่มขึ้น 4 บาท/ก.ก. เป็น 156-160 บาท/ก.ก. ส่วนราคาขายปลีกทั่วไป ปรับเพิ่มขึ้น 4 บาท/ก.ก. เช่นกัน เป็น 194-200 บาท/ก.ก.

ภาคอีสาน ปรับขึ้น 2 บาท/ก.ก. เป็น 98-100 บาท/ก.ก. ทำให้ราคาขายส่งห้างสรรพสินค้า ปรับเพิ่มขึ้น 4 บาท/ก.ก. เป็น 156-160 บาท/ก.ก. ส่วนราคาขายปลีกทั่วไป ปรับเพิ่มขึ้น 4 บาท/ก.ก. เป็น 194-200 บาท/ก.ก.

เหนือขึ้นมากสุด-พุ่งโลละ 200 บ.
ภาคเหนือ ปรับขึ้น 4 บาท/ก.ก. เป็น 100 บาท/ก.ก. ทำให้ราคาขายส่งห้างสรรพสินค้า ปรับเพิ่มขึ้นมากสุด 7 บาท/ก.ก. เป็น 160 บาท/ก.ก. ส่วนราคาขายปลีกทั่วไป ปรับเพิ่มขึ้น 8 บาท/ก.ก. เป็น 198-200 บาท/ก.ก. และภาคใต้ ปรับขึ้น 2 บาท/ก.ก. เป็น 96 บาท/ก.ก. ทำให้ราคาขายส่งห้างสรรพสินค้า ปรับเพิ่มขึ้น 3 บาท/ก.ก. เป็น 156 บาท/ก.ก. ส่วนราคาขายปลีกทั่วไป ปรับเพิ่มขึ้น 4 บาท/ก.ก. เป็น 194-196 บาท/ก.ก.

โดยผู้เลี้ยงสุกรทุกภูมิภาคสนองนโยบายรัฐบาล โดยรักษาระดับราคาหน้าฟาร์มอยู่ไม่เกิน 100 บาทต่อก.ก. ในช่วงที่ทุกฝ่ายพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว หลังเริ่มนโยบายเปิดประเทศ 1 พ.ค.นี้ โดยพื้นที่ภาคเหนือยังคงพึ่งพาชิ้นส่วนสุกร และสุกรขุนจากภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งจะมีราคาในพื้นที่สูงกว่าพื้นที่อื่นเล็กน้อย ผู้เลี้ยงสุกรยังคงรับภาระต้นทุนการเข้มงวดด้านสุขภาพสัตว์ และต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีราคาสูงอย่างต่อเนื่อง และยังคงรอความชัดเจนกับแนวทางแก้ปัญหาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์

เติมก่อนขึ้น – ประชาชนส่วนใหญ่ที่ใช้รถปิกอัพแห่เติมน้ำมันดีเซลปั๊มย่านแจ้งวัฒนะ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ก่อนจะทยอยปรับราคาขึ้นเป็น 32 บาทต่อลิตรในวันที่ 1 พ.ค.นี้ หลังรัฐบาลเลิกอุดหนุน และปล่อยราคาลอยตัว

โคราชแห่เติมดีเซล
วันเดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ปั๊มน้ำมัน ปตท.สาขาโคกกรวด ริมถนนมิตรภาพ ต.โคกกรวด อ.เมือง จ.นครราช สีมา มีประชาชนแห่นำรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลเข้ามาเติมน้ำมันกันอย่างคึกคัก หลังจากคณะกรรมการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หรือกบน.มีมติเห็นชอบแนวทางการปรับราคาน้ำมันดีเซล ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.65 ขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 32 บาทต่อลิตร และจะปรับราคาขึ้นเป็นขั้นบันได ไปจนถึง 35 บาทต่อลิตร ทำให้ประชาชนรีบมาเติมน้ำมันตุนไว้เต็มถัง ในช่วงที่ราคาน้ำมันดีเซล ยังอยู่ที่ราคา 30.29 บาทต่อลิตร ก่อนที่ราคาน้ำมันดีเซลจะปรับขึ้นราคาเป็น 32 บาทในวันที่ 1 พ.ค.

จากการสอบถามพนักงานเติมน้ำมันในปั๊ม บอกว่า จากการที่รัฐบาลจะปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลในวันที่ 1 พ.ค.65 ทำให้มีลูกค้าเข้ามาเติมน้ำมันมากกว่าปกติ 2 เท่า รถยนต์ส่วนใหญ่ที่มาเติมน้ำมันดีเซลช่วงกลางวัน จะเป็นรถกระบะที่ประชาชนใช้ขับไปทำงานทั่วไป และมีบางส่วนที่เป็นรถบรรทุก เนื่องจากรถบรรทุกส่วนใหญ่จะมาเติมในช่วงกลางคืน

ด้านนายชนัฐฎา สองเมือง อายุ 27 ปี ชาว อ.เมืองนครราชสีมาที่นำรถยนต์กระบะมาเติมน้ำมันดีเซล กล่าวว่า ส่วนตัวแล้วจะขับรถกระบะไปทำงานทุกวัน จะเติมน้ำมันครั้งละ 1,000 บาท อยู่ได้ 3 วัน แต่ตอนนี้รัฐบาลปรับขึ้นราคาน้ำมันไปอีก จะทำให้ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก เพราะค่าครองชีพอื่นๆ ก็ขึ้นไปมากแล้ว ยุคนี้อะไรก็แพงไปหมด ทำมาหากินก็ลำบาก จึงอยากขอให้รัฐบาลช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนด้วย อย่างน้อยถ้าไม่สามารถตรึงราคาน้ำมันไว้ได้ ขอให้ช่วยทำให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ และน้ำมันพืช ถูกลงกว่านี้ ก็จะสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ในระดับหนึ่ง

แห่ซื้อ‘บะหมี่ซอง’ไว้ตุน
หลังจากรัฐบาลประกาศลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.65 เป็นต้นไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้น ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบอื่นๆ ปรับขึ้นราคาไปก่อนหน้าแล้วนั้น ทำให้สินค้าหลายชนิดเริ่มปรับราคาขึ้นตาม รวมถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอย่าง “มาม่า” ซึ่งปรับราคาขายส่งขึ้น 10 สตางค์ต่อซองไปตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ล่าสุดตัวแทนจำหน่ายหรือซัพพลายเออร์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรายใหญ่ บริษัทไทยเพรสซิเด้นท์ฟู้ด จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” ประกาศปรับราคาขายปลีกไปยังคู่ค้า ร้านโชห่วย ซองละ 0.50-1 บาท ในเดือนพ.ค.นี้ โดยให้เหตุผลว่าเกิดจากปัญหาค่าขนส่ง วัตถุดิบสำคัญ อาทิ แป้ง และน้ำมันพืชที่ขึ้นราคาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมานั้น

วันเดียวกันผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจร้านค้าต่างๆ เช่น ที่ร้านมิลค์กะมอส ถนนเดชอุดม ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา พบว่ามีประชาชนที่ทราบข่าวว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จะปรับขึ้นราคาในเดือนพ.ค. พากันมาซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไปตุนไว้

โดยน.ส.ภานุมาศ มาตรโคกสูง อายุ 30 ปี ชาวอ.เมืองนครราชสีมา กล่าวว่า วันนี้ตนมาซื้อ “มาม่า” 1 แพ็ก เพื่อติดห้องไว้รับประทานในช่วงไม่ได้ทำกับข้าว เนื่องจากเป็นอาหารที่ทำรับประทานได้ง่าย สะดวก และอิ่มได้ในราคาประหยัดที่สุด ทุกครั้งที่เรายากลำบาก ไม่มีเงินซื้ออาหารรับประทาน มักจะคิดถึงมาม่าก่อนสิ่งอื่นใด แต่พอทราบข่าวว่ามาม่าจะขึ้นราคาก็รู้สึกตกใจมาก ไม่คิดว่าเราจะมาถึงยุคที่อะไรก็แพงไปหมด แม้กระทั่งมาม่าที่คิดว่าราคาถูกแล้ว ก็ยังแพงได้อีก ทุกวันนี้เงิน 100 บาทกินข้าวได้แค่มื้อเดียว ต่างจากแต่ก่อนจะอยู่ได้ทั้งวัน

ด้านน.ส.ภัทรวดี น้อยกลาง ชาว อ.เมืองนครราชสีมาที่มาซื้อมาม่ากักตุนไว้หลายแพ็ก กล่าวว่า ปกติแล้วเพื่อนๆนักศึกษาที่อยู่ในหอพัก จะมีมาม่าและปลากระป๋อง ติดห้องไว้ตลอด เพราะเป็นอาหารที่ราคาประหยัด สามารถทำกินได้เองสะดวกสบาย แต่พอทราบข่าวว่ามาม่าจะขึ้นราคาก็รู้สึกตกใจ เพราะราคาปัจจุบันถือว่าเหมาะสมแล้ว ไม่อยากให้มาม่าขึ้นราคาอีก

เซรามิกกระอักแก๊สLPGขึ้นต่อเนื่อง
จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอเพื่อลดภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยการตรึงราคาแก๊ส LPG ไว้ที่ 318 บาทต่อถัง 15 ก.ก. ตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค.63 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจ่ายเงินชดเชยแก๊ส LPG รวมแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 22,614 ล้านบาท ส่งผลให้ปัจจุบันฐานะกองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของบัญชีแก๊ส LPG ติดลบสูงถึง 28,093 ล้านบาท

หากปัจจุบันไม่มีการอุดหนุนราคาแก๊ส LPG จะอยู่ที่ 463 บาทต่อถัง 15 ก.ก. จึงมีมติเห็นชอบให้ทยอยปรับขึ้นราคา LPG 3 ครั้ง โดยปรับขึ้นเดือนละ 1 บาทต่อก.ก. ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.65 ทำให้ราคาขายปลีกปรับเป็น 333 บาทต่อถัง 15 ก.ก.ในเดือนเม.ย. จากการปรับราคาดังกล่าวส่งผล กระทบต่อประชานทั่วไป รวมถึงการทำอุตสาหกรรมหลากหลายอาชีพในจ.ลำปางที่ใช้แก๊ส LPG เป็นต้นทุนในการผลิต โดยเฉพาะผู้ประกอบการเซรามิกในพื้นที่จ.ลำปาง ทั้งขนาดกลาง ขนาดเล็ก และครัวเรือนที่มีอยู่กว่า 300 โรงงานมีแรงงานกว่า 2 หมื่นคนที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง

นายปรีชา ศรีมาลา นายกสมาคมเครื่องปั้นดินเผา จ.ลำปาง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เคอร่าไทล์ เซรามิค จำกัด วิงวอนภาครัฐหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาทางช่วยเหลือผู้ประกอบการเซรามิกใน จ.ลำปาง ทั้งโรงงานขนาดกลาง ขนาดเล็ก และรูปแบบครัวเรือน กว่า 300 โรงงาน ที่ขณะกำลังจะไปไม่ไหวกันแล้ว เพราะแบกรับภาระต้นทุนต่างๆ มาตั้งแต่เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาเป็นปีที่ 3 และกำลังจะฟื้นตัวกลับมา แต่ต้องเจอการปรับราคาแก๊ส LPG ซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการผลิตเซรามิก

“อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยพยุงราคาแก๊ส LPG ให้อยู่ในระดับที่สามารถพาโรงงานให้รอดพ้นวิกฤตนี้ไป โรงงานหลายแห่งพยายามต่อสู้ เพื่อจะให้เซรามิกเคียงคู่ชาวลำปางให้นานที่สุด จ.ลำปาง มีผู้ประกอบการโรงงานเซรามิก มากกว่า 300 แห่ง มีแรงงานกว่า 2 หมื่นคน ที่ร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้จ.ลำปาง และประเทศไทย ไม่ใช่เรื่องง่ายกว่าจะสร้างรากฐานเหล่านี้ขึ้นมาและมีความเข้มแข็ง และรัฐบาลคงไม่สร้างเมืองแห่งเซรามิกขึ้นมาใหม่ได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้นอย่าปล่อยให้ลำปางเมืองเซรามิกต้องกลายเป็นตำนาน”

น้ำมันปาล์มขวดแตะ 70 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจราคาของแห้งของสดในตลาดสดย่านสะพานใหม่ ดอนเมือง กรุงเทพฯ ก่อนที่รัฐบาลจะปรับราคาน้ำมันดีเซลอีก 2 บาทต่อลิตรในวันที่ 1 พ.ค.65 พบว่าภาพรวมร้านค้าต่างระบุไปในทิศทางเดียวกันว่าสินค้าทุกรายการ ทางซัพพลายเออร์ได้ปรับราคาต้นทุนขนส่งและขายปลีกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเม.ย. และเดือนพ.ค.นี้คาดว่าจะปรับราคาอีกระลอก

นายบัญชา คำกิ่ง เจ้าของร้านจำหน่ายอาหารแห้ง กล่าวว่า ตอนนี้สินค้าขึ้นราคาทุกอย่าง โดยเฉพาะน้ำมันพืชปาล์มขวดขนาด 1 ลิตร ในเดือนเม.ย.ปรับขึ้นราคาต้นทุนขนส่ง 2 รอบ หรือขึ้นมา 35 บาทต่อลัง (จำนวน 12 ขวด) จาก 750 บาทต่อลัง เป็น 785 บาทต่อลัง ทำให้ราคาขายปลีกล่าสุดจากเดิม 68 บาท เป็น 70 บาทต่อขวด

“ตั้งแต่สงกรานต์การค้าขายเงียบมาก ยอดขายตก 40-50% เพราะเมื่อของแพงขึ้นคนก็ไม่ค่อยซื้อเยอะ หลังสินค้าทยอยปรับราคาขึ้นมาตลอด เมื่อของมาแพง เราก็ต้องขายแพงไปด้วย เช่นน้ำมันพืชปาล์ม แต่สินค้าไหนที่เป็นสินค้าล็อตเก่า เราก็ยังไม่ปรับราคาขายปลีก แต่ถ้าสั่งล็อตใหม่คงต้องปรับตามราคาต้นทุน”นายบัญชากล่าว

ด้านนางสำราญ เจ้าของร้านจำหน่ายสินค้าทั่วไป กล่าวว่า ขณะนี้สินค้าทุกรายการขึ้นราคาล่วงหน้าไปแล้ว และเดือนพ.ค.จะขึ้นอีกหลายรายการ อาทิ น้ำมันพืชขวด 1 ลิตร เมื่อ 2 วันที่ผ่านมาปรับราคาขายปลีกน้ำมันถั่วเหลืองจาก 65 บาทต่อขวด เป็น 68 บาทต่อขวด ส่วนน้ำมันปาล์ม ปรับขึ้นตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย. จาก 68 บาทต่อขวด เป็น 70 บาทต่อขวด หลังจากนี้คาดว่าจะปรับขึ้นอีก

“ของปรับราคาขึ้นตลอดเวลา ไม่มีอะไรที่ไม่ขึ้นเลย จะขึ้นมากขึ้นน้อยเท่านั้นเอง และมีบางสินค้าที่ไม่ขึ้นราคาแต่ลดปริมาณลงก็มี ขณะนี้ร้านค้ายังพอมีสินค้าล็อตเก่าจะยังไม่ปรับราคา แต่ถ้าสั่งล็อตใหม่ต้องปรับขึ้นแน่นอนตามต้นทุนขนส่งที่สูงขึ้น ไม่งั้นร้านค้าก็อยู่ไม่ได้ เพราะพอเศรษฐกิจไม่ดี คนซื้อของน้อยลง อย่างที่ร้านรายได้ลดลงถึง 50%” นางสำราญกล่าว

ซอสปรุงรส-น้ำพริกเผาขึ้นด้วย
นางกัญญา เจ้าของร้านจำหน่ายของแห้ง กล่าวว่า ทางร้านได้ปรับราคาสินค้าขึ้นเกือบทุกรายการ อาทิน้ำมันพืชปาล์มขวดขึ้นอีก 4 บาทต่อขวด จาก 65 บาทต่อขวด เป็น 69-70 บาทต่อขวด ซอสปรุงรสทุกขนาดขึ้น 2-3 บาทต่อขวด น้ำพริกเผาขนาด 500 กรัม ขึ้น 15 บาท จาก 50 บาท เป็น 65 บาทต่อกระปุก และขนาด 1 ก.ก. จาก 105 บาท เป็น 120 บาทต่อกระปุก สินค้าธัญพืชมีปรับขึ้นราคาต้นทุนขนส่ง แต่ราคาขายปลีกยังคงเดิม เช่นพริกไทยเม็ดขึ้นอีก 3 บาทต่อขีด ถั่วลิสงดิบขึ้น 3 บาทต่อก.ก.

‘หอมแดง-พริกแห้ง’ราคาพุ่ง
นอกจากนี้ยังมีน้ำปลาร้าขวดขึ้น 2 บาท จาก 15 บาท เป็น 17 บาทต่อขวด พริกแห้งขึ้น 20 บาทต่อก.ก. จาก 120 บาท เป็น 140 บาทต่อก.ก. หอมแดงปรับขึ้น 5 บาท จาก 50 บาท เป็น 55 บาทต่อก.ก. ส่วนกระเทียมราคาเริ่มปรับลดลงตามฤดูกาล แบบแกะจากเดิม 95 บาท อยู่ที่ 90 บาทต่อก.ก. แบบยังไม่แกะจาก 100 บาท อยู่ที่ 95 บาทต่อก.ก. วุ้นเส้นบรรจุห่อขนาด 500 กรัมขึ้นจาก 65 บาท เป็น 67 บาทต่อห่อ ขนาด 80 กรัม จาก 15 บาท เป็น 16 บาทต่อห่อ กะปิขึ้น 3 บาท จาก 13 บาท เป็น 16 บาทต่อกระปุก เส้นบะหมี่เหลืองขึ้น 2 ครั้งช่วงม.ค.กับเม.ย. จาก 20 บาท เป็น 23 บาทต่อถุง (น้ำหนัก 500 กรัม) โดยเดือนเม.ย.ของขึ้นราคาทั้งร้าน หลังราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น คาดว่าพ.ค.นี้มีปรับราคาอีก ตอนนี้ที่ยังไม่ปรับราคา เช่นน้ำตาลปี๊บ เส้นหมี่ไวไว ซึ่งจากโควิด ภาวะเศรษฐกิจและของแพงรายวัน ทำให้ขายของยากขึ้น รายได้ลดลง 50%

‘ต้นหอม-ผักชี-กะเพรา’ก็ขึ้น
น.ส.สมใจ แม่ค้าขายผักกล่าวว่า วันนี้มีผักบางชนิดที่ปรับราคาขึ้นสูง เช่นผักชีขึ้น 30 บาท จาก 50 บาท เป็น 80 บาทต่อก.ก. ต้นหอมขึ้น 50 บาท จาก 30 บาท เป็น 80 บาทต่อก.ก. แตงกวาขึ้น 3 บาท จาก 15 บาท เป็น 18 บาทต่อก.ก. กะเพราขึ้น 10 บาท จาก 30 บาท เป็น 40 บาทต่อก.ก. ถั่วฝักยาวขึ้น 10 บาท จาก 40 บาท เป็น 50 บาทต่อก.ก. ตั้งโอ๋ขึ้น 30 บาท จาก 70 บาท เป็น 100 บาทต่อก.ก. พริกสวนขึ้น 20 บาท จาก 100 บาท เป็น 120 บาทต่อก.ก.

ส่วนที่ราคาทรงตัว เช่นคะน้าอยู่ที่ 20-25 บาทต่อก.ก. ผักกาดขาวอยู่ที่ 20-25 บาทต่อก.ก. และราคาเริ่มลง เช่นกะหล่ำปลี จาก 15 บาท เหลือ 10 บาทต่อก.ก. มะนาว จาก 7-9 บาท เหลือ 3-4 บาทต่อลูก เป็นต้น

รง.ขนมจีนขึ้น 2 บาท
ด้านนางสุภา แม่ค้าขายขนมจีนแป้งหมัก กล่าวว่า ได้รับแจ้งจากโรงงานผลิตขนมจีนรายใหญ่แห่งหนึ่งว่าตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้จะขึ้นราคาขายส่งขนมจีนอีก 2 บาทต่อกิโลกรัม หลังไม่ได้ปรับราคามาตั้งแต่ปี 2554 เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทั้งค่าใช้จ่าย วัตถุดิบค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า ค่าแรงงาน ค่าภาชนะบรรจุภัณฑ์ เช่น ตะกร้าพลาสติก ฟิล์มปิดขนมจีน ปิดตะกร้าที่มีราคาสูงขึ้น ทำให้ที่ร้านต้องปรับราคาขายปลีกขึ้นตามจาก 20 บาท เป็น 22 บาทต่อกิโลกรัม

ไข่เยี่ยวม้าขึ้นค่าขนส่ง
ด้านนางสนธยา แม่ค้าขายไข่ไก่กล่าวว่า ทางร้านปรับราคาขายขึ้น 3 บาทต่อแผงตามราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มขึ้น 10 สตางค์ต่อฟองเมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยราคาไข่ไก่เบอร์ศูนย์อยู่ที่ 4.80 บาทต่อฟอง เบอร์หนึ่ง 4.90 บาทต่อฟอง เบอร์สอง 4.30 บาทต่อฟอง เบอร์สาม 4.2 บาทต่อฟอง เบอร์สี่ 4 บาท ต่อฟอง

ส่วนไข่เยี่ยวม้าวันนี้ปรับราคาต้นทุนขายส่งขึ้น 5 บาทต่อกล่อง (จำนวน 50 ลูก) แต่ราคาขายปลีกยังคงเดิม 7 บาทต่อฟอง ขณะที่ไข่เค็มขึ้นเกือบ 1 บาท จาก 4.90 บาท เป็น 5.50 บาทต่อฟอง

ด้านแม่ค้าหมูรายหนึ่งระบุว่า ราคาหมูจะปรับขึ้นทุกวันพระ ซึ่งวันพระล่าสุดปรับขึ้น 10 บาทต่อก.ก. เช่น เนื้อแดงจาก 165 บาท เป็น 175 บาทต่อก.ก. สามชั้นจาก 190 บาท เป็น 200 บาทต่อก.ก. และในวันที่ 1 พ.ค. คาดว่าราคาจะขึ้นอีกเพราะถึงรอบปรับตามวันพระ แต่ยังไม่ได้รับแจ้งจากหน้าฟาร์มจะปรับขึ้นเท่าไหร่ คาดว่าจะไม่เกิน 5-10 บาทต่อก.ก. เท่ากับวันพระที่ผ่านมา

“ราคาที่ขายแทบจะไม่ได้กำไร เพราะต้นทุนจากต้นทางมาแพง และจากภาวะเศรษฐกิจ คนก็ซื้อน้อยลง ทำให้รายได้ของร้านลดลง 30-40%”

นางสมสุข แม่ค้าขายไก่กล่าวว่า ปัจจุบันราคาเนื้อไก่ยังทรงตัว อาทิ เนื้ออก 90 บาทต่อก.ก. สันใน 95 บาทต่อก.ก. น่อง 75 บาทต่อก.ก. สะโพก 80 บาทต่อก.ก. เช่นเดียวกับแม่ค้าขายเนื้อวัวระบุว่าราคาทรงตัว เช่น เนื้อแดงอยู่ที่ 250 บาทต่อก.ก.

‘ผู้เลี้ยงไก่’โอดแบกต้นทุนอ่วม
นางฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่ ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ในช่วงที่ภาคปศุสัตว์ต้องเผชิญกับสถานการณ์วิกฤตซ้อนวิกฤตถึง 3 ชั้น คือ 1.โรคระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกต่อเนื่องมากกว่า 2 ปี 2.ผล กระทบจากการบุกรุกของรัสเซียในยูเครน ทำให้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับสูงขึ้นทั่วโลกเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวสาลีประมาณ 30% ตลอดจนน้ำมันดิบปรับสูงขึ้นเกิน 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล หรือมากกว่า 20% และ 3.การระบาดของโรค ASF ในสุกร ทำให้การผลิตเนื้อหมูหายไป 50% และโรคยังคงหลงเหลือในประเทศไทย ส่งผลราคาปรับตัวสูงขึ้นตามอุปสงค์ที่มีน้อยขณะที่ต้นทุนปัจจัยการผลิตและการป้องกันโรคปรับสูงขึ้น ต่อเนื่อง

สำหรับอุตสาหกรรมไก่เนื้อ แม้จะต้องเผชิญปัญหาจากวิกฤตซ้อนวิกฤตเช่นเดียวกัน แต่ผู้เลี้ยงไก่พยายามบริหารจัดการธุรกิจและต้นทุนอย่างเต็มประสิทธิภาพ เสริมแหล่งโปรตีนทางเลือกให้กับผู้บริโภค ที่สำคัญราคาเข้าถึงได้ แม้จำเป็นต้องปรับราคาหน้าฟาร์มเพื่อให้เกษตรกรไม่ขาดทุนจากเดือนม.ค.2565 ที่ราคา 39 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 42 บาทต่อกิโลกรัมในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการปรับอย่างสมเหตุผลและมีปริมาณเพียงพอให้การผลิตเดินหน้าโดยไม่ให้หยุดชะงักและไม่ขาดแคลน

“สิ่งที่ภาคปศุสัตว์เป็นกังวลและจะส่งผลกระทบต่อการผลิตในระดับสูงคือราคาเนื้อสัตว์ไม่เป็นไปตามกลไกตลาด เนื่องจากรัฐบาลต้องรักษาสมดุลทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ จึงขอความร่วมมือผู้เลี้ยงในการตรึงราคาไว้ แต่เมื่อต้นทุนการผลิตปรับขึ้นรอบด้านในสถานการณ์ไม่ปกติแบบนี้ ควรให้กลไกตลาดทำงานเพื่อให้เกษตรกรสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และผู้บริโภคได้อาหารในราคาที่เป็นธรรม” นางฉวีวรรณกล่าว

วอนรัฐช่วยเหลือด่วน
นางฉวีวรรณกล่าวต่อว่า ผู้เลี้ยงไก่ก็ประสบปัญหาขาดทุนไม่ต่างกับผู้เลี้ยงหมู โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ความต้องการเนื้อไก่ลดลงมากและราคาตกต่ำ เนื่องจากผู้บริโภคไม่มั่นใจ รวมถึงการประกาศให้ทำงานที่บ้านและการเรียนออนไลน์ของโรงเรียนทั่วประเทศ ทำให้ผู้เลี้ยงต้องชะลอการเลี้ยงและการจับสัตว์ ทั้งที่ต้องแบกรับภาระต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างสมดุลปริมาณที่ออกสู่ตลาดและราคาไม่ให้ตกต่ำมากจนเกษตรกรอยู่ไม่ได้

“เนื้อไก่มีโปรตีนสูงกว่าเนื้อหมู 3 เท่า แต่ราคาถูกกว่าเนื้อหมูมาก และเนื้อไก่ที่จำหน่ายในประเทศเป็นมาตรฐานเดียวกันกับมาตรฐานส่งออกที่สามารถบริโภคทดแทนเนื้อหมูในช่วงที่ขาดแคลนและมีราคาสูงได้” นางฉวีวรรณกล่าว

สำหรับราคาเนื้อไก่และชิ้นส่วนต่างๆ ในตลาดสดยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับต้นทุนการเลี้ยงที่เพิ่มสูงขึ้น โดยราคา ณ วันที่ 28 เม.ย. 2565 ไก่ทั้งตัวเฉลี่ยต่อกิโลกรัมอยู่ที่ 75 บาท อกไก่ 85 บาท น่องไก่ 65 บาท ขณะที่ราคาไก่หน้าฟาร์มอยู่ที่ 42 บาทต่อกิโลกรัม เป็นต้น ซึ่งเนื้อไก่สามารถปรุงอาหารได้ หลากหลายเมนูไม่ต่างจากเนื้อหมู และเป็นทางเลือกในช่วงที่หมูมีราคาแพงได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ สมาคมขอเรียกร้องให้ภาครัฐพิจารณามาตรการสนับสนุนต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ ให้นำเข้าในส่วนที่ขาดแคลนและยกเลิกอุปสรรคการนำเข้า เช่น ภาษีและโควตานำเข้า และให้ราคาเนื้อปรับขึ้นลงตามกลไกการตลาดและมีมาตรการป้องกันโรค ที่เคร่งครัด เพื่อรักษามาตรการผลิตและส่งออกเนื้อไก่ของไทยตามมาตรฐานสากล สร้างหลักประกันอาหารปลอดภัยให้กับ ผู้บริโภค

ดีเซลปรับขึ้นแล้วอีก 2 บาท
รายงานข่าวแจ้งว่า PTT Station และบางจากปรับราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มดีเซลทุกชนิดขึ้น 2 บาทต่อลิตร ส่งผลให้ดีเซล B7 อยู่ที่ 31.94 บาทต่อลิตร ดีเซล B10 อยู่ที่ 31.94 บาทต่อลิตร และดีเซล B20 อยู่ที่ 31.94 ดีเซลพรีเมียม B7 อยู่ที่ 37.96 บาทต่อลิตร ส่วน E85 ปรับขึ้น 1 บาทต่อลิตร อยู่ที่ 32.84 บาทต่อลิตร มีผลวันที่ 1 พ.ค.2565 เวลา 05.00 น. เป็นต้นไป

ส่วนกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ชนิดอื่น คงเดิม โดยเบนซินอยู่ที่ 47.06 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 39.65 บาทต่อลิตร E20 อยู่ที่ 38.54 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 39.38 บาทต่อลิตร โดยราคาขายปลีกข้างต้นยังไม่รวมภาษีบำรุงกรุงเทพมหานคร

‘แอลพีจี-ค่าไฟ’ก็ปรับขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. รัฐลดการอุดหนุนเชื้อเพลิงลงในส่วนของ ดีเซล ก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) และค่าไฟ ส่งผลให้ดีเซลหน้าปั๊มปรับขึ้น 2 บาทต่อลิตร โดยดีเซล B7 อยู่ที่ 31.94 บาทต่อลิตร ดีเซล B10 อยู่ที่ 31.94 บาทต่อลิตร และดีเซล B20 อยู่ที่ 31.94 ดีเซลพรีเมียม B7 อยู่ที่ 37.96 บาทต่อลิตร ส่วน E85 ปรับขึ้น 1.00 บาทต่อลิตร อยู่ที่ 32.84 บาทต่อลิตร และจะทยอยปรับขึ้นแบบขั้นบันไดครั้งละไม่เกิน 1 บาทต่อลิตร ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลก แต่สูงสุดไม่เกิน 35 บาทต่อลิตร จากราคาจริงอยู่ที่ประมาณ 40 บาทต่อลิตร

ส่วนแก๊สหุงต้ม (แอลพีจี) ยังปรับขึ้น 1 บาทต่อกิโลกรัม จากราคา 318 บาทต่อถัง 15 ก.ก. เป็น 333 บาทต่อถัง เดือนพ.ค.จะปรับขึ้นเป็น 348 บาทต่อถัง และเดือนมิ.ย.จะปรับขึ้นเป็น 363 บาทต่อถัง จากปัจจุบันราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 463 บาทต่อถัง โดยรัฐยังมีมาตรการดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบางที่เป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั่วไป จะได้รับส่วนลดเพิ่มเติมอีก 55 บาท รวมเป็น 100 บาทต่อ 3 เดือน และในส่วนกลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้ส่วนลดไม่เกิน 100 บาทต่อรายต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน

ส่วนค่าไฟฟ้าในรอบเดือนพ.ค.-ส.ค.2565 จะเพิ่มขึ้นอีก 23.38 สตางค์/หน่วย เป็น 24.77 สตางค์/หน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4 บาท/หน่วย โดยรัฐยังมีมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน กว่า 20 ล้านราย คิดเป็น 90% ของครัวเรือน จะได้ส่วนลดโดยคงค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) รอบเดือนพ.ค.-ส.ค. 2565 ไว้ที่ 1.39 บาทต่อหน่วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน