ตร.เล็งดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องกับแพลตฟอร์มลาซาด้า เบื้องต้นมีอย่างน้อย 3 ราย ทั้งบริษัทผู้ผลิตเนื้อหา, บริษัทเจ้าของแพลตฟอร์มที่เป็นผู้เผยแพร่ รวมถึงตัวนักแสดงด้วย เตรียมเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาสอบสวน และนำคำให้การมาประกอบพยานหลักฐานว่าใครจะเข้าข่ายความผิดอย่างไร ขณะที่รมต.สำนักนายกฯเผยสคบ.เรียกชี้แจงข้อเท็จจริง ชี้ส่อผิดพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค โฆษณาดังกล่าวเข้าข่ายสนับสนุนโดยตรงหรือโดยอ้อมให้มีการกระทำผิดกฎหมาย หรือศีลธรรม หรือนำไปสู่ความเสื่อมเสียในวัฒนธรรมของชาติ และมีข้อความที่จะทำให้เกิดความแตกแยกหรือเสื่อมเสียความสามัคคีในหมู่ประชาชน

เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา นาคาศัย รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวถึงกรณีข่าวแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ลาซาด้า ลงโฆษณาที่มีลักษณะไม่เหมาะสมว่า ตนได้สั่งการสคบ.ไปแล้วให้เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาว่ามีความผิดอย่างไร

นายอนุชากล่าวว่า สคบ.ได้เร่งตรวจสอบและพิจารณาแล้วว่า กรณีการโฆษณาสินค้าของแพลตฟอร์มลาซาด้า อาจมีความผิดตามมาตรา 22 ของพระราชบัญญัติคุ้มครอง ผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ที่ระบุว่า “การโฆษณาจะต้องไม่ใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อ ผู้บริโภคหรือใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม…” โดยโฆษณาดังกล่าวเข้าข่าย (3) ข้อความที่เป็นการสนับสนุนโดยตรงหรือโดยอ้อมให้มีการกระทำผิดกฎหมาย หรือศีลธรรม หรือนำไปสู่ความเสื่อมเสียในวัฒนธรรมของชาติ และ (4) ข้อความที่จะทำให้เกิดความแตกแยกหรือเสื่อมเสียความสามัคคีในหมู่ประชาชน

นายอนุชากล่าวว่า สคบ. ได้ออกหนังสือถึงทางลาซาด้าแล้ว เมื่อวันที่ 6 พ.ค.เพื่อให้มาชี้แจงข้อเท็จจริงดังกล่าว หากพบว่ามีความผิดจริงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 จะต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดทันที การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของ สคบ. ในการคุ้มครองและดูแลผู้บริโภคไม่ให้รับความเสียหายทั้งทางร่างกายและทรัพย์สิน รวมถึงต้องไม่เป็นภัยต่อสังคมส่วนรวม จึงขอกำชับให้ ผู้ประกอบการคำนึงถึงประชาชนผู้บริโภคและสังคมส่วนรวม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบใน วงกว้าง ลดการสร้างความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคมไทย

วันเดียวกัน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. เปิดเผยถึงกรณีการดำเนินคดีกับแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ว่า เรื่องนี้พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร ได้สั่งให้ติดตามการบังคับใช้กฎหมาย ตั้งแต่ทราบว่ามีการเผยแพร่โฆษณาตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 พ.ค.โดยเป็นการนำเสนอสินค้า ที่มีเนื้อหาพาดพิงไปยังบุคคลที่มีอาการเจ็บป่วย มีความบกพร่องหรือความไม่เท่าเทียม โดยเมื่อวันที่ 7 พ.ค. มีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง อย่างน้อย 2 ข้อหา คือ มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งอาจจะมีข้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม โดยทางผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้ตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนขึ้นมา และดำเนินการสอบปากคำตัวแทนจากศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบันฯ หรือ ศปปส. และได้ประสานงานกับทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเอส ให้ตรวจสอบและปิดกั้น URL ที่นำเสนอเนื้อหาไม่เหมาะสมดังกล่าวไปแล้ว 49 URL ทั้งลิงก์ที่นำไปโพสต์และแชร์

พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวต่อว่า ส่วนการดำเนินคดี ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง เบื้องต้นอย่างน้อย 3 ราย ทั้งบริษัทผู้ผลิตเนื้อหา, บริษัทเจ้าของแพลตฟอร์มที่เป็นผู้เผยแพร่, รวมถึงตัวนักแสดง ซึ่งก็จะต้องเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาสอบสวน และนำคำให้การมาประกอบพยานหลักฐานว่าใครจะเข้าข่ายความผิดอย่างไรบ้าง เจ้าหน้าที่ไม่ได้เลือกปฏิบัติ แต่เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ผู้เสพสื่อออนไลน์ก็เห็นอยู่แล้วว่าการกระทำนี้เหมาะสมหรือไม่ แม้บริษัทผู้ผลิตเนื้อหาจะมีการออกแถลงการณ์แล้วแต่เมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น โดยเฉพาะความผิดที่เสี่ยงต่อการฝ่าฝืนกฎหมายเรื่องความมั่นคง ก็ต้องดำเนินตามกฎหมาย ซึ่งบริษัทอาจทำเพื่อการตลาด แต่ก็ต้องดูเรื่องสิทธิและหน้าที่ด้วย อย่าทำอะไรที่สุ่มเสี่ยง

ส่วนกรณีที่ 3 เหล่าทัพ มีการออกคำสั่งแบนไม่ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาใช้บริการแพลตฟอร์มดังกล่าวนั้น พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวว่า ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่มีความจำเป็นที่ต้องออกคำสั่งดังกล่าว เพราะตำรวจ ถือว่ามี 2 สถานะ คือ ผู้บังคับใช้กฎหมายและประชาชนทั่วไป ซึ่งในฐานะประชาชนทั่วไป ก็ต้องให้พิจารณาไตร่ตรองเองว่าจะปฏิบัติอย่างไรต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คงไม่ถึงขั้นต้องมีคำสั่งไปห้ามปราม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน