ช้ำอายัดไม่ได้ แบงก์ให้แจ้งตร.
ใช้แอพแบงก์โอนเงินผิดบัญชี สุดช้ำอายัดเงินไม่ได้ ตามทวงเองคู่กรณีบอกใช้หมดแล้ว ยอมติดคุก ขณะธนาคารแจงวุ่นไร้อำนาจอายัด ทำได้แค่ช่วยประสานให้โอนคืน ถ้าไม่คืนต้องไปแจ้งความดำเนินคดีเอง แม่ค้าหมูหมักเปิดใจสุดช้ำ เล่าเหตุโอนเงินค่าหมู 3 แสนให้คู่ค้ารายใหม่ ดันกดเลขผิดไปเข้าบัญชีสาวบุรีรัมย์ ติดต่อแบงก์สุดยุ่งยาก พบมียักย้ายไปแสนห้า ตามทวงตามอายัดเอง ส่วนคู่กรณีบอกมีคืนแค่หมื่นเดียว ที่เหลือยอมติดคุก

เมื่อวันที่ 15 พ.ค. น.ส.วรรณ ชวดพงษ์ อายุ 40 ปี อยู่เลขที่ 9/229 หมู่ 3 ต.บางหญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เปิดเผย ได้โอนเงินผิดบัญชี เงินไปเข้าบัญชีของสาวชาวจังหวัดบุรีรัมย์ ต้องลำบากวิ่งหาสืบสวนเอง ไม่สามารถพึ่งธนาคารอายัดเงินไว้ได้ทัน โดยตนประกอบธุรกิจขายส่งหมูหมักชื่อ “เอส.พี.ฟู้ดส์ 2017” อยู่สมุทรสาคร เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 08.30 น. ได้ใช้แอพธนาคารโอนเงินค่าเนื้อหมูให้กับคู่ค้าที่เพิ่งค้าขายด้วยกันเป็นครั้งแรก 293,439 บาท หลังโอนได้ส่งสลิปไปให้คู่ค้าดู ได้รับคำตอบว่าใบสลิปไม่ใช่ชื่อเขา เมื่อมาตรวจสอบหมายเลขบัญชี พบว่าตัวเองกดเลขผิดจากเลข 1 มาเป็นเลข 7 แล้วเงินไปเข้าบัญชีหญิงสาวรายหนึ่งที่จ.บุรีรัมย์

น.ส.วรรณกล่าวต่อว่า หลังรู้ว่าโอนเงินผิดภายใน 2 นาที ให้สามีซึ่งเป็นเจ้าของบัญชีเดินทางไปที่ธนาคารในสมุทรสาครทันที ส่วนตนติดต่อคอลเซ็นเตอร์ของธนาคาร โดยคอลเซ็นเตอร์ ระบุว่า ไม่สามารถอายัดบัญชีได้ เพราะไม่มีหน้าที่โดยตรง ต้องไปที่ธนาคารสาขา ขณะที่สามีโทรศัพท์มาบอกว่า เจ้าหน้าธนาคารสาขาแจ้งว่า ต้องติดต่อคอลเซ็นเตอร์ เพราะรวดเร็วกว่า และให้ไปแจ้งความเอาหลักฐานมายืนยันกับธนาคาร จึงไปแจ้งความที่สภ.เมืองสมุทรสาคร เพื่อเป็นหลักฐานไปแจ้งธนาคารให้อายัดบัญชีไว้ก่อน สุดท้ายได้รับคำตอบจากธนาคารสาขาว่า ไม่สามารถอายัดได้ต้องส่งเรื่องไปที่สำนักงานใหญ่ก่อนตามขั้นตอน

น.ส.วรรณกล่าวอีกว่า ตนรู้สึกว่าไม่ทันการณ์ จึงให้ทีมงานค้นหาเฟซบุ๊กตามชื่อในบัญชีที่โอนผิด และระดมค้นหาบุคคลที่เกี่ยวข้องใกล้ชิด จนกระทั่งไปพบญาติพี่น้องของคู่กรณีหลายคน จนได้เบอร์โทร.มา และสามารถติดต่อลูกสาวคู่กรณีได้ และยอมรับว่าแม่โอนเงินให้ 50,000 บาท ให้เอาไปปิดค่างวดรถ 20,000 บาท เหลือเงิน 30,000 บาท และมาทราบต่อมาอีกว่าคู่กรณียังเอาเงินไปซื้อทองน้ำหนัก 1 บาท และซื้อรถมอเตอร์ไซค์อีก 1 คัน จึงติดต่อตำรวจให้ไปประสานร้านทอง ร้านทองยอมโอนเงินคืนให้ 30,000 บาท โดยตำรวจไปทวงทองมาคืนให้ร้านทอง

น.ส.วรรณกล่าวต่อ รวมทั้งหมดที่คู่กรณีโยกย้ายเงินและไปซื้อสินค้าได้เงินคืนมาแล้ว 150,000 บาท หลังจากตนเอาไปแชร์ในเพจศูนย์แจ้งข่าวบุรีรัมย์ คู่กรณีโทร.กลับมาหา บอกจะโอนเงินคืนให้ 55,000 บาท ที่เหลือจะขอผ่อนชำระ ตนก็ยอม แต่สุดท้ายก็โอนเงินมาคืนให้เพียง 10,000 บาท เมื่อโทร.ไปถาม กลับตอบว่า “ใช้หมดแล้ว” ที่เหลือไม่มีจะยอมติดคุกแทน สรุปได้เงินกลับคืนมาทั้งหมด 160,000 ยังคงค้างอีก 133,439 บาท หลังจากนี้จะต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมายเพราะได้แจ้งความเอาไว้แล้ว

น.ส.วรรณกล่าวด้วยว่า ความรู้สึกส่วนตัวยอมรับว่าเสียใจ ทำไมคนเราไม่ยึดหลักศีลธรรม ไม่ใช่ของตนก็อยากได้ และอยากฝากถึงธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง ว่ากรณีแบบนี้ ควรจะเร่งด่วนอย่างไร หากลูกค้าธนาคารยืนยันตัวตนชัดเจน น่าจะดำเนินการอย่างเร่งด่วนหรือไม่ ต่างจากการโฆษณาของธนาคาร ว่าทันสมัย สะดวก รวดเร็วแค่ใช้ปลายนิ้ว

รายงานข่าวจากธนาคารพาณิชย์ เปิดเผยว่า การโอนเงินผิดบัญชี ตามกฎหมายแล้ว ธนาคารจะไม่สามารถโอนเงินคืนให้แก่ผู้โอนเงินผิดได้ หากเจ้าของบัญชีปลายทางไม่ยินยอม เพราะธนาคารไม่มีสิทธิ์ในการดึงเงินออกจากบัญชีโดยพลการ แต่ธนาคารจะเป็นตัวกลางช่วยประสานงานขอคืนเงินให้เท่านั้น โดยข้อมูลจากศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับการโอนเงินผิด ให้เจ้าของบัญชีที่โอนเงินผิด ดำเนินการ 1.นำเอกสารการทำรายการ ไปติดต่อสถานีตำรวจ เช่น สลิปการโอน ใบบันทึกรายการ หรือภาพถ่ายหน้าจอของข้อความแจ้งผลการโอนเงิน สำเนาบัตรประชาชน (เซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง)

2.แจ้งเจ้าหน้าที่ประจำสถานีตำรวจเพื่อขอออกใบแจ้งความ/บันทึกประจำวันที่ระบุเหตุการณ์ โดยระบุข้อมูลในเอกสาร ต้องมีชื่อธนาคารที่ทำรายการ ทั้งฝั่งต้นทางและปลายทาง วันที่และเวลาที่ทำรายการ จำนวนเงินที่โอน ช่องทางการโอนเงิน เช่น เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (ATM/ CDM/ VTM), Mobile Banking, Internet Banking ชื่อบัญชีและเลขที่บัญชีของผู้ทำรายการโอน (บัญชีต้นทาง) ชื่อบัญชีและเลขที่บัญชีของผู้ที่ได้รับเงินผิด (บัญชีปลายทางที่โอนผิด) หรือชื่อบัญชีและเลขที่บัญชี/หมายเลขพร้อมเพย์ของปลายทางที่ต้องการโอนที่ถูกต้อง

หลังจากนั้นให้นำส่งหลักฐานตามให้แก่ธนาคารที่ใช้ในการโอนเงิน หากพบว่าเอกสารไม่ครบถ้วน ธนาคารจะติดต่อกลับภายใน 1 วันเพื่อขอเอกสารเพิ่มเติม เมื่อธนาคารได้รับข้อมูลครบถ้วนแล้ว ธนาคารจะช่วยประสานงานกับปลายทางที่เป็นผู้รับโอนเงินผิด/ธนาคารปลายทางที่รับโอนเงินผิด ในกรณีผู้รับโอนยินยอมคืนเงิน ธนาคารจะโอนเงินคืนเข้าบัญชีผู้โอนให้ แต่หากในกรณีผู้รับโอนไม่ยินยอมคืนเงินหรือไม่สามารถติดต่อได้ ผู้โอนต้องแจ้งความ ณ สถานีตำรวจ ขอออกเอกสารตราครุฑที่เรียกว่า “หมายเรียกพยานเอกสาร/พยานวัตถุ” เพื่อออกคำสั่งทางกฎหมายให้ธนาคารของผู้รับโอนเงินดำเนินการอายัดบัญชี หรือให้เปิดเผยข้อมูลบัญชีปลายทางให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ ในกรณีที่มีการโอนเงินผิดบัญชีแล้วได้มีการติดต่อให้ผู้ที่รับโอนคืนเงินแล้ว แต่ผู้รับโอนกลับเพิกเฉยและนำเงินที่ได้มาไปใช้เองโดยไม่ส่งคืนเจ้าของ ถือว่ามีความผิดความผิดฐานยักยอกทรัพย์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน