อุ้มต่อ-ดีเซล32บ.สินค้าขยับยกแผง

กระอักแน่! น้ำมันขึ้นอีกลิตรละบาท เบนซินทะยาน 50.36 บาท โซฮอล์ 91 อยู่ที่ 42.68 บาท โซฮอล์ 95 ลิตรละ 42.95 บาท อี 20 อยู่ที่ 41.84 บาท ขณะที่อี 85 ปรับขึ้น 60 สตางค์ เป็น 35.84 บาท ส่วนดีเซลธรรมดาทุกชนิดยังราคาเดิม 31.94 บาทต่อลิตร ปตท.-บางจากปรับขึ้นมีผล 19 พ.ค. มติที่ประชุมบอร์ดกองทุนน้ำมันให้ตรึง ดีเซลไม่เกิน 32 บาทต่อลิตรอีกสัปดาห์ รับมือราคาน้ำมันผันผวนสูง แจงกองทุนติดลบ 7.2 หมื่นล้านแล้ว แม้ลดภาษีดีเซล 5 บาท ชี้แนวโน้มพุ่งติดลบแสนล้าน กรมการค้าภายในแจงเปิดเทอมวันแรก 17 พ.ค. สินค้าขึ้นราคายกแผง ทั้งหมู-ปลา-หอย-ผัก-หอมแดง หมูสามชั้นพุ่ง 245 บาทต่อกิโล ปลาสวายปรับเพิ่ม 5 บาท แตะกิโลละ 60 บาท ส่วนหอมแดงขยับ 10 บาท เป็น 50-60 บาทต่อกิโล

เมื่อวันที่ 18 พ.ค. รายงานข่าวจากกรมการค้าภายใน (คน.) กระทรวงพาณิชย์ แจ้งถึงราคาอาหารสดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประจำวันที่ 17 พ.ค.2565 ซึ่งเป็นวันเปิดภาคเรียนวันแรก เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงสัปดาห์ก่อนหน้าพบว่าสินค้าหลายรายการมีการปรับราคาเพิ่มขึ้น เช่น สุกรมีชีวิต หน้าฟาร์ม ราคาขายส่งปรับเพิ่มขึ้น 1 บาท/ก.ก. เป็น 101-102 บาท/ก.ก. ขณะที่สุกรชำแหละหน้าฟาร์ม ราคาขายส่ง ปรับเพิ่มขึ้น 2 บาท/ก.ก. เป็น 122-123 บาท/ก.ก. ส่งผลให้ราคาขายปลีก เนื้อสันนอกปรับขึ้น 5 บาท/ก.ก. เป็น 205-215 บาท/ก.ก., เนื้อแดง สะโพก ตัดแต่ง ปรับขึ้น 5 บาท/ก.ก. เป็น 195-205 บาท/ก.ก., เนื้อสันในปรับขึ้น 4 บาท/ก.ก. เป็น 192-194 บาท/ก.ก. และเนื้อสามชั้น ตัดแต่ง ปรับขึ้น 5 บาท/ก.ก. เป็น 225-245 บาท/ก.ก.

นอกจากนี้ราคาสัตว์น้ำหลายรายการ ยังปรับราคาเพิ่มขึ้น เช่น ปลาหมึกกระดอง คละ ปรับขึ้น 10-20 บาท/ก.ก. เป็น 180-260 บาท/ก.ก., หอยลาย คละ ปรับขึ้น 10 บาท/ก.ก. เป็น 60-80 บาท/ก.ก., หอยแมลงภู่ คละ ปรับขึ้น 10 บาท/ก.ก. เป็น 50-70 บาท/ก.ก., ปลาสวายปรับขึ้น 5 บาท/ก.ก. เป็น 50-60 บาท/ก.ก. เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง จากสภาพอากาศที่แปรปรวนส่งผลกระทบ ต่อการเจริญเติบโตและเป็นอุปสรรคต่อการทำประมงในขณะที่ความต้องการบริโภคยังมีอย่างสม่ำเสมอ

ส่วนผักสดบางรายการยังปรับราคาขึ้น ต่อเนื่องเช่นกัน เช่น ผักบุ้งจีน ปรับขึ้น 5 บาท เป็น 30-35 บาท/ก.ก., ผักกวางตุ้ง ปรับขึ้น 5 บาท เป็น 30-35 บาท/ก.ก., ผักกาดหอม คัด ปรับขึ้น 15 บาท/ก.ก. เป็น 65-70 บาท/ก.ก., หอมแดงภาคเหนือ ตัดจุก หัวใหญ่ ปรับขึ้นก.ก.ละ 10 บาท เป็น 50-60 บาท/ก.ก., หอมแดงภาคเหนือ มัดจุก หัวใหญ่ ปรับขึ้น 10 บาท/ก.ก. เป็น 45-50 บาท/ก.ก., หอมแดงศรีสะเกษ ตัดจุก หัวใหญ่ ปรับขึ้น 10 บาท/ก.ก. เป็น 50-60 บาท/ก.ก. และหอมแดงศรีสะเกษ มัดจุก หัวใหญ่ ปรับขึ้น 10 บาท/ก.ก. เป็น 45-50 บาท/ก.ก.

วันเดียวกัน มีการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ภายหลัง การประชุม นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุม กบน.มีมติให้คงราคาดีเซลสัปดาห์นี้ไว้ที่ 32 บาท/ลิตร จนถึงวันที่ 22 พ.ค.นี้ หลังจากนั้นจะประเมินสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและดีเซลตลาดโลก เพื่อประเมินแนวทางการกำหนดราคาในประเทศ อีกครั้ง

ทั้งนี้ แม้ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีมติ ลดอัตราภาษีสรรพสามิตดีเซลเพิ่มเติมอีก 2 บาท/ลิตร รวมกับครั้งก่อน 3 บาท/ลิตร เป็น 5 บาท/ลิตร แต่กองทุนยังคงนำไปลดราคาดีเซลในอัตรา 2 บาท/ลิตรตามเดิม ส่วนอีก 3 บาท/ลิตร จะนำไปช่วยลดภาระกองทุน ที่ปัจจุบันติดลบ 72,062 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 37,854 ล้านบาท และบัญชีแก๊สหุงต้ม (แอลพีจี) ติดลบ 34,208 ล้านบาท

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าภายใต้สถานการณ์ราคา น้ำมันตลาดโลกผันผวน มีโอกาสที่กองทุน จะติดลบถึงแสนล้านบาทหรือไม่ นายกุลิศ กล่าวยอมรับว่า มี เนื่องจากสถานการณ์ยังคงอยู่ในภาวะวิกฤต ซึ่งในอดีตกองทุนก็เคยติดลบมาแล้ว แต่วิกฤตครั้งนี้มีความยากและท้าทายมากกว่า อีกทั้งกองทุนต้องมีภาระรายจ่าย ในการอุดหนุนแอลพีจีมาก่อนหน้านี้ด้วย

“การลดภาษีดีเซลลง 5 บาท/ลิตร แต่ยังไม่มีการลดราคาขายปลีกดีเซล เพราะนำไปเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมัน เพื่อช่วยตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 32 บาท/ลิตรไว้ให้นานที่สุด ซึ่งการลดภาษี 5 บาท/ลิตร เป็นส่วนของ เนื้อดีเซล บี0 ที่เดิมเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตที่ 6.44 บาท/ลิตร และเมื่อลดลง 5 บาท จะเหลือ เรียกเก็บภาษี 1.44 บาท/ลิตร แต่ปัจจุบันประเทศไทยใช้น้ำมันดีเซลแบบผสมที่ 7% หรือ บี7 ที่เรียกเก็บภาษีอยู่ที่ 5.99 บาทต่อลิตร และเมื่อนำภาษีจากเนื้อดีเซลมาผสมจะส่งผลให้มีการลดราคาภาษีเหลืออยู่ที่ 4.65 บาทต่อลิตร ซึ่งจะทำให้คงเหลือเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตกับน้ำมัน บี7 อยู่ที่ 1.34 บาทต่อลิตร” นายกุลิศกล่าว

นายกุลิศกล่าวต่อว่า การลดภาษีสรรพสามิต ดีเซลลง 5 บาท/ลิตร ช่วยลดภาระการอุดหนุนของกองทุนลง 2.46 บาท/ลิตร เพิ่มเติมจากเดิมที่ลดภาระได้ 79 สตางค์/ลิตร เหลือ 7.25 บาท/ลิตร จากขณะนี้อุดหนุนดีเซลอยู่ที่ 9.41 บาท/ลิตร จากสัปดาห์ก่อนอุดหนุนที่ 10.89 บาท/ลิตร ขณะที่ความจำเป็นในการปรับราคาดีเซลขึ้นไปอยู่ที่ 33 บาท/ลิตร ก็ต่อเมื่อกองทุนติดลบถึงระดับ 8 หมื่นล้านบาท หรือสมมติฐานราคาน้ำมันตลาดโลกผันผวนสูงขึ้นไปอีก

ส่วนความคืบหน้าการกู้เงิน 20,000 ล้านบาท ของกองทุนนั้น ยังอยู่ในกระบวนการหารือสถาบันการเงิน และกระทรวงการคลังว่า จะดำเนินการอย่างไร ต้องปฏิบัติภายใต้เงื่อนไข อย่างไร โดยยังมั่นใจว่าจะมีเงินเข้ามาเสริมสภาพคล่องกองทุนภายในเดือนมิ.ย.นี้ ตามแผน

ด้านนายทองคำ ธงธุระมานิตย์กุล ผู้บริหาร การเดินรถ บริษัท เอ็นแอนด์บี โลจิสติคส์ จำกัด เปิดเผยว่า จากภาวะเศรษฐกิจของแพงในปัจจุบันนี้ก็ทำให้บริษัทได้รับผลกระทบอยู่แล้ว ต้องมาเจอกับราคาน้ำมันดีเซล ที่แพงขึ้นอีก ตอนนี้ค่าใช้จ่ายในบริษัทโดยเฉพาะค่าน้ำมัน ต้องจ่ายเพิ่มเป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงต้นปีที่ผ่านมา เช่นเมื่อวานนี้ตนเพิ่งจ่ายค่าน้ำมัน ให้รถขนส่ง 6 ล้อ เที่ยวจาก จ.ขอนแก่น ไป จ.สุรินทร์ เป็นเงิน 4,000 บาท ทั้งที่เมื่อช่วงต้นปีค่าน้ำมันเที่ยวนี้จะจ่ายเพียง 2,500 บาทเท่านั้น ส่วนรถที่วิ่งส่งของสายยาว ไปภาคเหนือ ภาคใต้ จ่ายค่าน้ำมันจนแทบจะไม่เหลือกำไรเลย ดังนั้นบริษัทก็ต้องพยายามปรับตัว โดยการลดเที่ยววิ่งลงเป็นบางเที่ยว หากเที่ยววิ่งใกล้ๆ ที่ของไม่เต็มรถ ก็จะนำมาให้ รถเที่ยววิ่งยาวส่งแทน เพื่อประหยัดค่าน้ำมัน แต่ทั้งนี้ก็ต้องให้ทันเวลาด้วย หากช้าไปเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง ก็จะทำให้เสียลูกค้าได้ ซึ่งสินค้า ที่บริษัทส่ง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวันของประชาชน ถ้ายังเป็นเช่นนี้อยู่อีก ผู้ประกอบการ ขนส่งก็คงจะอยู่ไม่ได้ ต้องขอปรับราคาค่าขนส่ง เพิ่มขึ้น จึงอยากให้รัฐบาลช่วยพยุงราคาน้ำมันดีเซล ไม่ให้สูงไปกว่านี้ หรือลดราคาลง

ส่วนชาวนาในพื้นที่ต.ท่าหลวง อ.พิมาย จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ในช่วงนี้ปุ๋ยราคาแพงมาก ทำให้ชาวนาต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น เมื่อก่อนราคาปุ๋ยจะอยู่ที่กระสอบละ 600-700 บาทเท่านั้น แต่มาในปีนี้ ราคาปุ๋ยพุ่งสูงขึ้นกว่าเท่าตัวเพิ่มเป็น 1,300-1,500 บาท และที่สำคัญไปกว่านั้น ราคาน้ำมันเบนซินที่ต้องนำมาใช้กับเครื่องสูบน้ำ ก็ปรับตัวสูงขึ้นทุกวัน จึงอยากวอนให้หน่วยงานภาครัฐเร่งหาแนวทาง แก้ไขปัญหาราคาปุ๋ยแพงด่วน

วันเดียวกัน พีทีที สเตชั่น และบางจาก ประกาศปรับราคาขายปลีกกลุ่มเบนซินและแก๊สโซฮอล์ทุกชนิดขึ้น 1 บาท/ลิตร ส่งผลให้เบนซินอยู่ที่ 50.36 บาท, แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 42.95 บาท, อี20 อยู่ที่ 41.84 บาท และแก๊สโซฮอล์ 91 อยู่ที่ 42.68 บาท ส่วน อี85 ปรับขึ้นอีก 60 สตางค์/ลิตร อยู่ที่ 35.84 บาท มีผลวันที่ 19 พ.ค. เวลา 05.00 น.เป็นต้นไป

ขณะที่ราคาดีเซล บี7, ดีเซล บี10, ดีเซล บี20 คงอยู่ที่ 31.94 บาท/ลิตร ส่วนดีเซลพรีเมียม บี7 อยู่ที่ 40.36 บาท/ลิตร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน