พริกขี้หนูแพงเท่าหมู ไก่ขยับพรวดกิโล100

ไฟเขียวแก๊สหุงต้ม แอลพีจี ขึ้นก.ก.ละ 1 บาท 3 เดือน ดันราคาแก๊สถัง15 ก.ก.พุ่ง 378-393 และ 408 บาท ดีเดย์ 1 ก.ค. สิ้นสุด 30 ก.ย. มติบอร์ดกบง.ให้ปรับราคาแบบขั้นบันได แต่ยังอุ้มกลุ่มเปราะบางผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 100 บาท ให้คงสัดส่วนผสมไบโอดีเซล บี5 ถึง 30 ก.ย. แพงยกแผงอีก เนื้อไก่ขึ้นยกแผงอีก กิโลละ 5 บาท ราคาทะลุ 100 บาท ปลาดุกอุยขยับอีกเป็นกิโลละ 80-85 บาท ขณะที่ผักกวางตุ้งก็ขึ้นด้วย เป็นกิโลละ 35-40 บาท พริกขี้หนูเมืองเบตงที่ยะลาก็พุ่งพรวด จากก.ก.ละ 200 บาท เป็น 250 บาท ราคาเท่าเนื้อหมู ส่วนพริกจินดาก็ขึ้นอีก 50 บาท เป็นกิโลละ 150 บาท

เนื้อไก่พุ่งทะลุกิโล 100บ.
เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจราคาสินค้าภายในตลาดสด พื้นที่กรุงเทพมหานคร ของกรมการค้าภายใน (คน.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ประจำวันที่ 14 มิ.ย. เปรียบเทียบกับ 13 มิ.ย.2565 พบว่ามีสินค้าหลายรายการปรับราคาสูงขึ้น ได้แก่ ไก่สดทั้งตัว ไม่รวมเครื่องใน ปรับขึ้น 5 บาท/ก.ก. เป็น 75-85 บาท/ก.ก., ไก่สดทั้งตัว รวมเครื่องใน ปรับขึ้น 5 บาท/ก.ก. เป็น 65-75 บาท/ก.ก., ไก่เนื้ออกล้วน ปรับขึ้น 5 บาท/ก.ก. เป็น 90-100 บาท/ก.ก., ไก่สดชำแหละ เนื้อสันใน ปรับขึ้น 5 บาท/ก.ก. เป็น 100-105 บาท/ก.ก. และไก่สดชำแหละ สะโพก ปรับขึ้น 5 บาท/ก.ก. เป็น 85-90 บาท/ก.ก.

เนื่องจากความต้องการบริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น หลังจากเปิดประเทศเต็ม รูปแบบ ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์และค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการบริโภคเพื่อทดแทนเนื้อสุกรที่มีราคาอยู่ในเกณฑ์สูง

นอกจากนี้ ปลาดุกพันธุ์บิ๊กอุย ยังปรับขึ้น 5 บาท/ก.ก. เป็น 80-85 บาท/ก.ก. เนื่องจากพายุฝนทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโต ผลผลิตที่ได้ขนาดจึงออกสู่ตลาดลดลง ขณะที่ความต้องการบริโภคยังมีต่อเนื่อง รวมทั้วผักกวางตุ้งคัด ก็ปรับขึ้นราคา 5 บาท/ก.ก. เป็น 35-40 บาท/ก.ก. เนื่องจากสภาพอากาศที่มีฝนตกในพื้นที่เพาะปลูก ทำให้เป็นอุปสรรคในการเก็บเกี่ยว อีกทั้งบางส่วนได้รับความเสียหาย ผลผลิตจึงออกสู่ตลาดลดลง ประกอบกับต้นทุนการผลิต และค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ความต้องการบริโภคยังคงมีอย่างต่อเนื่อง

พริกขี้หนูเบตงขึ้นเท่าหมูแล้ว
ด้านสถานการณ์ราคาสินค้าในพื้นที่ต่างๆ ในภาวะน้ำมันพุ่งข้าวของแพง ผู้สื่อข่าวสำรวจราคาผักสดที่ตลาดสดเทศบาลเมืองเบตงและตลาดนัดในเขตเทศบาลเมืองเบตง จ.ยะลา พบว่า พริกขี้หนูสวน ปรับขึ้นราคา จากก.ก.ละ 170-200 บาท เป็น 250 บาท/ก.ก. ราคาเท่ากับเนื้อหมูแล้วตอนนี้ จากภาวะน้ำมันแพง ทำให้บรรดาพ่อค้าแม่ค้าต้องปรับการขายเพื่อเป็นตัวเลือก โดยนำพริกชนิดต่างๆ แบ่งขายเป็นตะกร้า มีราคาตั้งแต่ตะกร้าละ 10 บาท 20 บาท เพราะแต่ละครอบครัวตอนนี้เดือดร้อนมากกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ส่วนพริกจินดาก็ปรับขึ้นราคาจาก 100 บาท/ก.ก. เป็น 150 บาท

ส่วนผักชนิดอื่นๆ เช่น ต้นหอม จาก 80-100 บาท/ก.ก. ก็ปรับขึ้นมาเป็น 150 บาท ส่วนร้านอาหารต่างๆ ก็บ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า จากราคาแก๊สหุงต้ม (แอลพีจี) ก็ปรับขึ้นราคา ขนาดถัง 15 ก.ก.จากเดิมราคา 390 บาท ภายใน 2 เดือนได้ปรับพุ่งเป็นถังละ 440 บาท หากยังคงเป็นแบบก็คงจะแบกรับต้นทุน ไม่ไหว ก็จำเป็นต้องขึ้นราคาอาหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สำรวจตลาด – นายสุระชัย วิชาชัย หัวหน้ากลุ่มกำกับและพัฒนาเศรษฐกิจการค้า สำนักงานพาณิชย์จังหวัดขอนแก่น นำเจ้าหน้าที่ตรวจสอบราคาสินค้าอุปโภคบริโภค พบว่าผักสดปรับราคาโดยเฉพาะพริกขึ้นถึง 50% ที่ตลาดสดบางลำภู เขตเทศบาลนครขอนแก่น เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.

ขอนแก่นก็ขยับยกแผง
ที่ตลาดสดบางลำภู เขตเทศบาลนครขอนแก่น นายสุระชัย วิชาชัย หัวหน้ากลุ่มกำกับและพัฒนาเศรษฐกิจการค้า สำนักงานพาณิชย์จังหวัดขอนแก่น นำเจ้าหน้าที่ลง พื้นที่สำรวจและตรวจสอบราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ในกลุ่มผักสดหลังพบว่ามีการปรับขึ้นราคาหลายประเภท โดยเฉพาะพริกปรับขึ้น 50% จากเดือนที่ผ่านมา

นายสุระชัยกล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่าราคาผักสดปรับขึ้นลงเล็กน้อย แต่ที่ปรับราคาขึ้นอย่างเห็นได้ชัดคือ พริกแดงจินดา เดือนพ.ค. อยู่ที่ก.ก.ละ 80 บาท วันนี้ปรับมาเป็น 140 บาท พริกขี้หนูสวน จาก ก.ก.ละ 100 บาท ปรับขึ้นเป็น 200 บาท ถือว่าเป็นการปรับขึ้นราคามา 100% ส่วนราคาผักชนิดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นผักชี สัปดาห์ที่ผ่านมา ก.ก.ละ 140 บาท วันนี้ปรับลดลงเหลือ 120 บาท แต่ต้มหอม จากก.ก.ละ 70 บาท ก็ขึ้นราคาเป็น 90 บาท นอกนั้นผักประเภทอื่นๆ ราคายังทรงตัว สาเหตุที่เป็นปัจจัยในการปรับราคานั้นหลักๆ คือ ค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาน้ำมันแพงและสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการนำเข้าพริกจากต่างประเทศลดลงทำให้พริกในประเทศมีราคาปรับสูงขึ้น และในระยะนี้เข้าสู่ช่วงฤดูฝน ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้การเก็บเกี่ยว ไม่ได้เพราะพริกเน่า

สองแถวบุรีรัมย์หยุดวิ่งอื้อ
ส่วนที่ตลาดทอง อยู่ในเขตเทศบาลเมือง จ.บุรีรัมย์ ร้านอาหารตามสั่งก็เริ่มทยอย ปรับขึ้นราคาอาหารตามสั่งเฉลี่ยจานละ 5-10 บาท หลังแบกรับภาระต้นทุนวัตถุดิบ ทั้งเนื้อสัตว์ ผัก เครื่องปรุงรส และแก๊สหุงต้ม ที่มีการปรับขึ้นราคาอย่างต่อเนื่องไม่ไหว จากเดิมจานละ 35-40 บาท ปรับเป็นจานละ 40-50 บาทตามภาวะข้าวของราคาแพง แต่บางเมนู เช่น ประเภทไก่ยังขายราคาเดิม และหากข้าวของราคาแพงขึ้นกว่านี้ก็ต้องปรับขึ้นตามสถานการณ์เพื่อความอยู่รอด แต่หากเป็นไปได้ก็อยากให้รัฐบาลเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาของแพง หรือควบคุมไม่ให้สูงไปกว่านี้อีก

ขณะที่รถสองแถวที่วิ่งให้บริการตามหมู่บ้าน ตำบล ที่บุรีรัมย์ ที่เคยมีเกือบ 20 คัน ได้ทยอยหยุดวิ่งให้บริการไปแล้วมากกว่า 10 คัน ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 3 คันเท่านั้น หลังจากประสบปัญหาโรคโควิด-19 ระบาด ทำให้ผู้โดยสารหดหาย กระทั่งมาถึงภาวะน้ำมันแพงซ้ำเติมอีก ต้องหันไปทำอาชีพอื่นหรือหางานรับจ้างแทน เพื่อให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัว

ไฟเขียวแก๊สหุงต้มขึ้น1ก.ค.
วันเดียวกัน นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรมว.พลังงาน เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ทยอยปรับราคาแก๊สหุงต้ม (แอลพีจี) ขึ้นก.ก.ละ 1 บาท ส่งผลให้แก๊สหุงต้มขนาดถัง 15 ก.ก. อยู่ที่ 378 บาทมีผลวันที่ 1 ก.ค.2565 และจะทยอยปรับขึ้นอีก 15 บาท อยู่ที่ 393 บาท/ถัง 15 ก.ก.ในเดือนส.ค. และอยู่ที่ 408 บาท ในเดือนก.ย. โดยรัฐยังช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อแก๊สหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 100 บาท/คน/3 เดือน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-30 ก.ย.2565

ทั้งนี้ ปัจจุบันราคาแอลพีจีตามต้นทุนจริงอยู่ที่ประมาณ 460 บาท/ถัง 15 ก.ก. ซึ่ง กบง.มีกรอบเป้าหมายราคาขายปลีกแอลพีจีอยู่ที่ 408 บาท/ถัง 15 ก.ก. และหลังจากวันที่ 30 ก.ย.2565 จะมาพิจารณาสถานการณ์อีกครั้ง โดย กบง.มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงานจัดทำคำขอรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อใช้สำหรับดำเนินโครงการยกระดับความช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อแก๊สหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสำหรับผู้ใช้สิทธิ 4 ล้านราย รวมเงินงบประมาณ 220 ล้านบาท

จี้จับลอบขายแก๊สปท.เพื่อนบ้าน
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน (พน.) จะทำหนังสือถึงกรมศุลกากร เพื่อขอให้ติดตามตรวจสอบการลักลอบจำหน่ายแก๊สหุงต้มให้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเข้มข้นมากขึ้น เนื่องจากราคาขายปลีกของไทยมีราคาถูกกว่า เช่น สปป.ลาว ที่มีราคาขายในประเทศสูงถึง 500 บาท

ขณะเดียวกัน ยังเห็นชอบให้ขยายมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันสูง โดยให้คงสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี5 ต่อไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-30 ก.ย.2565

ในส่วนของมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาแก๊สธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (เอ็นจีวี) ที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้ขอให้ พน.ขอความอนุเคราะห์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คงราคาขายปลีกเอ็นจีวีที่ 15.59 บาท/ก.ก. จากราคาจริงอยู่ที่ 21 บาท/ก.ก. และคงราคาขายปลีกเอ็นจีวี “โครงการเอ็นจีวี เพื่อลมหายใจเดียวกัน” ให้กับผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถแท็กซี่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ 13.62 บาท/ก.ก.ต่อไปอีก 3 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย.-15 ก.ย.2565

สำหรับความคืบหน้ามาตรการลดค่าการกลั่นนั้นยังอยู่ในกระบวนการพิจารณา จึงตอบไม่ได้ แต่จะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งยอมรับว่าเป็นช่วงวิกฤตก็จะขอความร่วมมือชั่วคราว ไม่ได้เป็นมาตรการถาวรแต่อย่างใด ส่วนมาตรการลดผลกระทบค่าครองชีพและลดผลกระทบด้านราคาพลังงานที่จะเป็นแพ็กเกจใหม่จะนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน