เจ้าของตึกลั่นฟ้องแพ่ง ชัชชาติจี้ถอดบทเรียน

ตร.จ่อเรียก ‘กฟน.’ สอบ ยกหม้อแปลงพิสูจน์ คลี่ปมไหม้สำเพ็ง รอรวบรวมหลักฐานก่อนสรุปใครประมาท ผู้ว่าการการไฟฟ้าฯ ยัน หากเป็นต้นเหตุพร้อมจ่ายเยียวยา ขั้นแรก ขอคุยผู้เสียหายไม่ต้องถึงศาล ด้านเจ้าของตึกลั่นรวมตัวฟ้องแพ่งการไฟฟ้าฯ สภาวิศวกรตรวจที่เกิดเหตุชี้ต้องทุบทิ้ง 2 ตึก ‘ชัชชาติ’ จี้ถอดบทเรียน

จากเหตุเพลิงไหม้ลุกลามอคารพาณิชย์ บริษัท ราชวงศ์รุ่งเรือง จำกัด ค้าถุงพลาสติก ตั้งอยู่เลขที่ 157 ถนนราชวงศ์ แขวงจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กทม. ก่อนลุกลามไปยังอาคาร ข้างเคียงหลายคูหาทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และได้รับบาดเจ็บสำลักควันไฟอีกหลายราย เมื่อช่วงสายวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา

ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 27 มิ.ย. พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผบช.น. ในฐานะโฆษกบช.น. เปิดเผยถึงการตรวจสอบ เหตุเพลิงไหม้อาคารพาณิชย์ย่านตลาดสำเพ็ง เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 26 มิ.ย. ว่า ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน พนักงานสอบสวน สน.จักรวรรดิ และการไฟฟ้านครหลวง ได้ยกหม้อแปลง ไฟฟ้าที่คาดว่าเป็นจุดต้นเพลิงไปตรวจสอบ ที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) แล้วและอยู่ระหว่างรอผลการตรวจสอบ ส่วนการสอบปากคำ ผู้ที่อยู่ในร้านค้ารวมทั้งผู้ที่เห็นควันไฟจากหม้อแปลงก่อนเกิดเหตุรวมแล้ว 5 ราย และจะเชิญเจ้าหน้าที่ กฟน. มาสอบกรณีมีควันไฟออกจากหม้อแปลงด้วย ทั้งนี้อยู่ระหว่าง การรวบรวมพยานหลักฐานว่าเหตุเพลิงไหม้นี้เกิดจากความประมาทของฝ่ายใด

วันเดียวกัน พ.ต.อ.วสันต์ ธวัชชัยวิรุตษ์ ผกก.สน.จักรวรรดิ กล่าวว่า ขณะนี้กระบวนการ สอบสวนยังดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าสาเหตุเกิดจากสิ่งใด จนกว่า จะรอผลการสอบสวนผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเสร็จสิ้น อีกทั้งยังต้องรอผลการตรวจสอบของกองพิสูจน์ หลักฐาน นำมาประกอบสำนวนคดี ซึ่งต้องใช้ ระยะเวลานานพอสมควร ส่วนเรื่องผู้เสียหายที่ประสงค์จะเดินทางเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับหน่วยงานใด ก็สามารถเดินทางเข้าแจ้งความ กับพนักงานสอบสวนได้ตามสิทธิ์

ที่สถาบันนิติเวชวิทยา น.ส.อนงค์วรรณ สุ่มมาก อายุ 59 ปี เข้าติดต่อขอรับศพน้องสาว น.ส.จิราพัชร สุ่มมาก อายุ 52 ปี พนักงานแคชเชียร์ บริษัท ราชวงศ์รุ่งเรือง จำกัด ค้าถุงพลาสติก ที่เสียชีวิตจากเหตุเพลิงไหม้ โดยน.ส.อนงค์วรรณกล่าวว่า ทันทีที่ทราบข่าว รู้สึกตกใจ จากนี้จะนำศพน้องสาวไปบำเพ็ญกุศล ที่วัดอ่างแก้ว เขตภาษีเจริญ อยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุหม้อแปลง ไฟฟ้าระเบิดเข้ามารับผิดชอบ รวมถึงบริษัท ที่น้องทำงานด้วย เพราะน้องมีภาระผ่อนส่งบ้านร่วมกับน้องสาวของตนอีกคน

ส่วนศพนายเพชร เดือม อายุ 34 ปี สัญชาติเมียนมา ที่เสียชีวิตจากเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าว ยังไม่มีญาติมาติดต่อขอรับศพแต่อย่างใด

วันเดียวกัน นายเกียรติศักดิ์ แซ่แต๊ เจ้าของตึกที่ขายของใช้เด็ก 1 ในตึกที่ได้รับความเสียหาย จากเพลิงไหม้ เปิดใจกับ ‘ข่าวสด’ ว่า เมื่อวานทางร้านปิดให้บริการ ไม่เช่นนั้นตนและลูกจ้าง อีก 5-6 คนไม่รู้จะมีชะตากรรมเป็นเช่นไร รู้สึกเห็นใจกับผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ราย อยากให้ดูแล ในเรื่องผู้เสียชีวิตทั้งสองราย และทรัพย์สินบ้านเรือนอื่นๆ ที่เสียหายจากเหตุการณ์นี้ ประชาชนธรรมดาไม่สามารถดูแลเองได้ นอกจากจะต้องแจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบ หม้อแปลงเก่ามากอะไรที่จะเปลี่ยนมันก็ต้องเปลี่ยน อย่าให้เกิดเหตุโศกนาฏกรรมแล้วค่อยมาแก้ทีหลัง ตึกแถวของตนเสียหายทั้งหลังข้าวของและทรัพย์สินต่างๆ ก็เสียหายด้วย เช่นกัน ประเมินมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท และหากซ่อมเพื่อกลับมาดำเนินธุรกิจเหมือนเดิม คงจะใช้งบประมาณ 20 ล้าน








Advertisement

นายเกียรติศักดิ์กล่าวต่อว่า ตนและผู้เสียหาย รายอื่นๆ จะแจ้งความฟ้องร้อง กฟน. เพื่อให้ร่วมรับผิดชอบความเสียหายแน่นอน ที่ผ่านมา ทั้งสายไฟและหม้อแปลงมีปัญหาบ่อยครั้ง ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิ.ย. เวลาประมาณ 19.00 น. หม้อแปลงไฟฟ้าลูกนี้ก็เพิ่งมีปัญหา มีเสียงคล้ายเกิดการชอร์ตจนชาวบ้านต้องแจ้งเจ้าหน้าที่มาดู แต่เจ้าหน้าที่มาแก้ไขเพียงชั่วครู่ แล้วกลับไป กระทั่งช่วงเช้าวันนี้หม้อแปลง ก็มีปัญหาอีก ก่อนจะเกิดระเบิด มีทรัพย์สินได้รับความเสียหาย มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ จำนวนมาก เรื่องนี้ กฟน.ควรต้องรับผิดชอบ นอกจากนี้จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งตามกระบวนการศาลควบคู่กันไป

ตรวจสอบ – เจ้าหน้าที่เขตสัมพันธวงศ์ พร้อม เจ้าหน้าที่กฟน. ตรวจสอบอาคารในตลาดสำเพ็ง กทม. หลังเหตุไฟไหม้ โดยเตรียมเยียวยาผู้ได้รับความเดือดร้อน และตรวจสอบหม้อแปลงไฟฟ้าอันตรายอีก 400 ลูก เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.

ด้านนายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ กฟน. กล่าวหลังนำคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่จุดเกิดเหตุเพลิงไหม้ ว่า กฟน.ขอแสดงความเสียใจกับ ผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ รวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบ จากเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้ วันนี้ลงพื้นที่เพื่อมา ติดตามการแก้ไขปัญหา รวมถึงเร่งติดตาม การติดตั้งระบบไฟฟ้ากลับคืนปกติให้มีความมั่นคงปลอดภัยให้กับประชาชนในพื้นที่ และรับทราบข้อมูลในการบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกๆ พร้อมช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นในระยะเร่งด่วนตามมาตรการฉุกเฉินที่ กฟน.กำหนดไว้อย่างเต็มที่ สำหรับการดำเนินการด้านการตรวจสอบระบบไฟฟ้ารวมจุดเสี่ยงต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้น กฟน.พร้อมให้ความร่วมมือดำเนินการ ตามแนวทางการป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้น ซึ่งจะมีรายละเอียดที่ชัดเจนต่อไป

นายวิลาศกล่าวต่อว่า สำหรับสาเหตุเพลิงไหม้ที่อาจมาจากหม้อแปลงไฟฟ้านั้น ขณะนี้ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบโดยละเอียด จากนี้จะจัดเจ้าหน้าที่ดูแลตรวจสอบพื้นที่บริเวณย่านสำเพ็งให้เรียบร้อยปลอดภัย เพื่อให้ย่านธุรกิจแห่งนี้กลับมาเป็นศูนย์รวมสินค้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ดีต่อไป

ผู้ว่าการกฟน.กล่าวด้วยว่า หม้อแปลงลูกดังกล่าวไม่ได้เปิดใช้งานมา 10 วันแล้ว เนื่องจาก อยู่ในระหว่างขั้นตอนการตรวจสอบระบบภายในและสายไฟที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ช่วงก่อน ที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ได้ลงมาเตรียมการเปิดใช้งาน เปิดสวิตช์ เพื่อให้กระแสไฟเข้าสู่ระบบ แต่ในช่วงระหว่างเดินทางกลับไปเพื่อรายงาน ได้รับแจ้งว่าเกิดเหตุไฟดับและเกิดเพลิงไหม้ สำหรับหม้อแปลงลูกนี้ ใช้งานมาแล้วประมาณ 20 ปี ซึ่งตามมาตรฐานแล้วการไฟฟ้าจะเปลี่ยน หม้อไฟประมาณ 25 ปี และจากการตรวจสอบหม้อแปลงลูกนี้ยังสามารถใช้การได้เพราะก่อน หน้านี้ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจเมื่อปีที่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่าวันศุกร์ที่ผ่านมาได้รับแจ้งว่า หม้อแปลงขัดข้องหรือไม่ เนื่องจากมีประชาชน หลายคนพูดตรงกันว่า เห็นกลุ่มควันจากหม้อแปลงไฟฟ้า ผู้ว่าการ กฟน.กล่าวว่า ตนยัง ไม่ได้รับรายงานเรื่องนี้ขอกลับไปตรวจสอบอีกครั้ง

เมื่อถามว่า ผู้เสียหายกังวลว่าจะไม่ได้รับการเยียวยา นายวิลาศกล่าวว่า ต้องพิสูจน์สาเหตุก่อน หากเป็นความผิดพลาดของการไฟฟ้าฯจริง ก็ยินดีที่จะเยียวยาผู้เสียหายที่ได้รับกระทบโดยตรงจากเหตุหม้อแปลงขัดข้อง โดยจะให้ลงรายละเอียดว่า จะรับผิดชอบ ส่วนไหนอย่างไร ขณะนี้อาจจะเร็วเกินไปต้องรอให้ได้ผลสรุปก่อน แต่ลำดับแรกจะพูดคุยกับผู้เสียหายเพื่อทำความเข้าใจก่อนหากตกลงกันได้จะได้ไม่ถึงขั้นตอนของการฟ้องร้องทางกฎหมาย

ต่อมา รศ.ดร.ปิยะบุตร วานิชพงษ์พันธุ์ นายก สภาวิศวกร พร้อมด้วยน.ส.บุษกร แสนสุข ประธานคณะทำงานประสานงานด้านภัยพิบัติ จากอัคคีภัย สภาวิศวกร, ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, น.ส.อาทิตยา โชคกิจมนัสชัย ผอ.เขตสัมพันธวงศ์, กฟน.และ เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานกลางสำนักงานตำรวจ แห่งชาติ ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบ โดยใช้เวลาประมาณ 30 นาที

น.ส.อาทิตยากล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าอาคารพาณิชย์เสียหายประมาณ 4 คูหา จากการประเมินมีมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท และยอมรับว่า ยังไม่เคย เกิดเหตุรุนแรงแบบนี้ มีผู้เสียชีวิตถึง 2 ราย ซึ่งถือเป็นบทเรียนสำคัญ โดยหลังจากนี้ จะให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปเร่งสำรวจสายไฟเก่า เครื่องใช้ไฟฟ้าเก่า และช่วยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนช่วยกันเป็นหูเป็นตา หากพบจุดที่มีความเสี่ยงก็ให้แจ้งมายังสำนักงานเขตได้ รวมถึงจะเชิญการไฟฟ้าฯมาประชุมร่วมกันว่าให้ไปตรวจสอบว่าในพื้นที่ มีหม้อแปลงไฟฟ้าที่เก่าเกินอายุ ที่สมควร คือ มากกว่า 20 ปี หรือไม่ เพื่อดำเนินการซ่อมแซมต่อไป

รศ.ดร.ปิยะบุตรกล่าวว่า เบื้องต้นจพบว่าอาคารที่ 2 และ 3 ในจุดเกิดเหตุเสียหาย มากที่สุดที่บริเวณชั้น 2-3 ถือว่าไม่มีความปลอดภัยของตัวอาคาร เนื่องจากเป็นอาคาร ที่ต่อเติมชั้นเหล็กขึ้น และโดนความร้อนเป็นระยะเวลานานทำให้โครงสร้างอาคารที่เป็นส่วนรับน้ำหนักมีการแอ่นตัว ควรต้องรื้อถอนเพื่อความปลอดภัย ส่วนอาคารริมที่เป็น อาคารที่ 1 และ 4 โครงสร้างบางส่วนเสียหาย แต่ยังสามารถซ่อมแซมเสริมแนวคานรับ น้ำหนักของตัวอาคารเพื่อใช้งานอาคารต่อได้

น.ส.โสภา เกียรตินิรชา ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้ตรวจสอบพบว่าผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ราย มีการทำประกันสังคมไว้ รวมถึงรายที่เป็นแรงงานต่างด้าวด้วย ซึ่งในเบื้องต้นทั้งคู่จะได้รับเงินชดเชยจำนวน 5 หมื่นบาทต่อราย และยังมีเงินทดแทน ตามระยะเวลาการทำงาน ที่กระทรวงแรงงานจะจ่ายให้ร้อยละ 70 ของค่าแรง โดยต้องไปตรวจสอบระยะเวลาการทำงานของทั้ง 2 คนก่อน ส่วนยอดผู้ได้รับบาดเจ็บจากการที่มีการสรุปตั้งแต่เมื่อวานคือ 11 คน ตอนนี้กลับบ้านได้แล้ว 10 คน ยังเหลืออีก 1 คนที่นอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล

ที่ศาลาว่าการ กทม.2 ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงเหตุไฟไหม้ ที่สำเพ็ง ว่า การแก้ปัญหาจะมี 2 ส่วนคือ 1.กระบวนการภายใน ประกอบด้วย ผู้บัญชาการ เหตุ เพื่อเข้าแก้ปัญหา และวางแผนการฉีดน้ำ 2.กระบวนการภายนอก กฟน.ต้องควบคุมความเสี่ยงเรื่องหม้อแปลง ซึ่งภายในเขตกรุงเทพฯ ชั้นในมีหม้อแปลงอยู่ประมาณ 400 กว่าลูก รวมถึงสายสื่อสารที่เป็นตัวไฟลุกลามมายังอาคารที่มีเชื้อเพลิงจำนวนมาก เป็น 3 ปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้ โดยมี 3 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กฟน. การประปานครหลวง (กปน.) และตำรวจ ซึ่งจะนัดหารือกันในบ่ายวันที่ 28 มิ.ย. ขณะเดียวกัน กทม.จะเร่งหารือในการตัดสายไฟฟ้า และสายสื่อสาร ให้เร็วขึ้น ขณะนี้ได้ติดต่อทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แล้ว

เมื่อถามว่า ชาวบ้านได้แจ้ง กฟน.แล้ว ถึงหม้อแปลงที่เกิดเหตุมีปัญหา แต่การแก้ไขล่าช้า นายชัชชาติกล่าวว่า ทางกฟน.คิดว่า หม้อแปลงไม่ได้มีเชื้อเพลิงอยู่ข้างใน คงต้องดูรายละเอียดกันอีกที แต่เบื้องต้นได้นัดกับทางรองผู้ว่าการ กฟน.หารือแล้ว

“เป็นบทเรียนราคาแพงที่ไม่ควรจะเกิด ต้องรีบแก้ไข ประชาชนต้องตรวจสอบความเสี่ยงของตัวเอง เช่น หม้อแปลงที่อยู่ใกล้สายสื่อสาร และรกรุงรัง อีกทั้งอยู่ใกล้อาคารที่มีเชื้อเพลิง เป็นปัจจัยที่มีความเสี่ยงทำให้เกิดเหตุ ไฟไหม้เหมือนเมื่อวานนี้” ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน