พิษศก.ซบ-แค่5เดือน ทำเจ๊งแล้ว4.5พันร้าน

ถึงคิวรถเมล์สองแถวกรุงเทพฯ-ปริมณฑลขอขึ้นค่าโดยสารรวดเดียว 2 บาท สองแถวจาก 8 เป็น 10 บาท ส่วนรถเมล์จาก 10 เป็น 12 บาท ให้เริ่ม 1 ก.ค. หากไม่อนุมัติจะเคลื่อนไหวกดดันเพราะแบกน้ำมันแพงไม่ไหว ต้องเลิกกิจการไปแล้วกว่า 40% รมว.คมนาคมขอประเมินผล 3 เดือน หลังขนส่งขึ้นค่าตั๋วให้รถบัสหมวด 2 และ 3 ก.ม.ละ 5 สตางค์ ตั้งแต่ 4 ก.ค. ส่วนบขส.ยังตรึงค่าโดยสารช่วยประชาชนต่ออีก 3 เดือน ‘บิ๊กตู่’ ตัดพ้อน้ำมันเป็นปัญหาทั้งโลก รัฐอยากลดราคาจะตายอยู่แล้ว

‘บิ๊กตู่’ยันน้ำมันปัญหาทั้งโลก
เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติฯ จ.เชียงใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิด FTI EXPO 2022 : SHAPING FUTURE INDUSTRIES FOR STRONGER THAILAND โดยกล่าวตอนหนึ่งถึงวิกฤตพลังงานว่า วันนี้ปัญหาราคาพลังงานค่าขนส่งแพงขึ้นเพราะน้ำมันราคาแพงขึ้น ซึ่งเราซื้อเขามาและต้องผ่านกลไกต่างๆ อยู่แล้ว ทั้งหมดมีข้อบังคับและระเบียบเยอะแยะไปหมดและมีมาตรฐาน อีกทั้งนอกจากวันนี้พลังงานสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ก็มีปัญหาเงินเฟ้ออีก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการดำเนินนโยบายการเงินการคลังของต่างประเทศด้วย

“ยืนยันเราดูทุกอย่างด้วยความรัดกุมที่สุด ทำอะไรก็ตามจะไม่ทำให้เงินการคลังของประเทศอ่อนแอลง และให้ต่างประเทศเชื่อมั่นศักยภาพการเงินการคลังของไทยที่วันนี้ยังแข็งแกร่งอยู่ระดับบีบวก แม้มีการกู้อะไรต่างๆ ซึ่งไม่ได้อยากกู้ ถ้าไม่จำเป็นผมก็ไม่อยากกู้ เรื่องน้ำมันติดปัญหาทั้งโลก โธ่! ทำไมจะไม่อยากลด อยากลดจะตายอยู่แล้ว” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

จี้พาณิชย์จังหวัดจับฉวยแพง
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ (พณ.) เปิดเผย ระหว่างการเวิร์ก ฟรอม โฮม รักษาโรค โควิด-19 ว่า มีความเป็นห่วงพี่น้องประชาชน จึงได้สั่งการให้ปลัดพณ.ติดตามนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคและประชาชนเกี่ยวกับราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด โดยกำชับให้หน่วยงานเกี่ยวข้องติดตามราคาสินค้าทั้งราคาหน้าโรงงาน ราคาขายส่ง ขายปลีก และให้พาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัดติดตามราคาและภาวะสินค้าอุปโภคบริโภคทุกชนิดอย่างใกล้ชิดทุกวัน รวมถึงประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจและขอความร่วมมือให้ร้านค้าปฏิบัติตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 อย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้มีการฉวยโอกาสขึ้นราคาเข้าข่ายค้ากำไรเกินควร รวมถึงไม่ให้มีการกักตุนสินค้า หากไม่ปฏิบัติตามให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการดูแลราคาสินค้าและบริการระดับจังหวัดกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเข้าตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด และ ให้รายงานผลการปฏิบัติการให้ทราบทุกวันต่อไป

ซาอุฯ ขายปุ๋ยให้ไทยเพิ่ม
นายจุรินทร์กล่าวถึงความคืบหน้าในการเจรจานำเข้าปุ๋ยจากประเทศซาอุดีอาระเบียว่า ขณะนี้ทางการซาอุฯ ได้อนุญาตให้บริษัทปุ๋ยยักษ์ใหญ่จำหน่ายปุ๋ยให้กับประเทศไทยได้เพิ่มเป็น 3 บริษัท ซึ่งได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและกรมการค้าภายในประสานให้ผู้นำเข้าปุ๋ยของไทยได้พบกับผู้ส่งออกปุ๋ยของซาอุฯ โดยเร็ว ประสานงานร่วมกับทูตพาณิชย์ไทยประจำเจดดาห์อย่างใกล้ชิด

ล่าสุด พณ.จะเป็นเจ้าภาพจัดให้มีการเจรจากันผ่านระบบ Web EX ระหว่างผู้ผลิตและส่งออกปุ๋ยซาอุดีอาระเบียกับสมาคมผู้ค้าปุ๋ยไทยและผู้นำเข้าปุ๋ยไทยกว่า 10 บริษัท โดยมีกระทรวงการลงทุนของซาอุดีฯ อุปทูตไทย ณ กรุงริยาด ทูตพาณิชย์ไทย ประจำเจดดาห์ และสภาหอการค้าไทยเข้าร่วมด้วย มีรองอธิบดี กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมเปิดการเจรจา ซึ่งในรายละเอียดจะเป็นหน้าที่ของภาคเอกชนทั้งสองประเทศคุยกันเองทั้งในเรื่องราคาและการส่งมอบต่อไป คาดว่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้เกษตรกรไทยมีปริมาณปุ๋ยใช้อย่างเพียงพอมากขึ้นโดยไม่ประสบปัญหาการขาดแคลนปุ๋ยทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองปลัดพณ.กล่าวว่า เพื่อให้การดำเนินการในการติดตามราคาสินค้าอุปโภคบริโภคตามนโยบายของนายจุรินทร์ ได้บันทึกสั่งการให้พาณิชย์จังหวัดดำเนินการจัดชุดเจ้าหน้าที่ตรวจติดตามสถานการณ์ราคา ภาวะการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างใกล้ชิด และขอให้รายงานผลการติดตามสถานการณ์สินค้าเป็นประจำทุกวัน

5 เดือนธุรกิจเจ๊ง 4.5 พันราย
นายจิตรกร ว่องเขตกร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงสถิติการจดทะเบียนธุรกิจประจำเดือนพ.ค. 2565 ว่า มียอดจัดตั้งธุรกิจใหม่ 5,917 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 10% หรือเพิ่ม 541 ราย และเพิ่มขึ้นกับเดือนเดียวกันของปีก่อน 6% หรือเพิ่ม 349 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียน 14,357 ล้านบาท ลดลง 92% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หรือลดลง 156,784 ล้านบาท และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 33% หรือลดลง 7,156 ล้านบาท โดยธุรกิจจัดตั้งสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ การก่อสร้างอาคารทั่วไป 543 ราย อสังหาริมทรัพย์ 382 ราย และภัตตาคาร/ร้านอาหาร 225 ราย

ส่วนธุรกิจที่เลิกกิจการมีจำนวน 1,102 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 30% หรือเพิ่มขึ้น 252 ราย และเพิ่มขึ้นกับเดือนเดียวกันของปีก่อน 39% หรือเพิ่มขึ้น 310 ราย โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการรวม 3,760 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าลดลง 59% หรือลดลง 5,349 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 62% หรือเพิ่มขึ้น 1,438 ล้านบาท ธุรกิจที่เลิกกิจการสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ การก่อสร้างอาคารทั่วไป 141 ราย อสังหาริมทรัพย์ 52 ราย และภัตตาคาร/ร้านอาหาร 36 ราย

“ช่วง 5 เดือนแรก ม.ค.-พ.ค.2565 มีธุรกิจตั้งใหม่รวม 33,640 ราย เมื่อเทียบกับปีก่อน ลดลง 3.69% รวมทุนจดทะเบียนจัดตั้ง 259,860 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 131% ส่วนธุรกิจเลิกกิจการมีจำนวน 4,546 ราย เพิ่มขึ้น 17% รวมทุนจดทะเบียนเลิกกิจการ 53,343 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 95.3% ทั้งนี้ ณ 31 พ.ค. 2565 มีธุรกิจที่ยังดำเนินการอยู่จำนวน 837,840 ราย มูลค่าทุน 20 ล้านล้านบาท ขณะที่ยอดจดทะเบียนตั้งใหม่ลดลงเพียง 4% เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูง การยกเลิกการตรึงราคาแก๊สหุงต้ม การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าทำให้ราคาสินค้าปรับสูงขึ้นจากต้นทุนการผลิต ส่วนภาคการท่องเที่ยวเริ่มดีขึ้นหลังเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ขณะที่การส่งออกก็มีแนวโน้มขยายตัวดีเป็นผลบวกต่อการประกอบธุรกิจ ทำให้คาดว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 จะมียอดจัดตั้งธุรกิจราว 40,000 ราย และตลอดทั้งปีรวม 70,000-75,000 ราย” นายจิตรกรกล่าว

ญี่ปุ่นยังลงทุนอันดับ 1
นายจิตรกรกล่าวถึงการลงทุนประกอบธุรกิจในไทยภายใต้กฎหมายต่างด้าวเดือนพ.ค.2565 ว่า มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจทั้งสิ้น 41 ราย แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจ 19 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ 22 ราย มีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 18,695 ล้านบาท เป็นผลให้ในปี 2565 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติประกอบธุรกิจทั้งสิ้น 237 ราย เพิ่มขึ้น 6% เงินลงทุน 55,076 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากที่สุด 3 สัญชาติแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 12 ราย เงินลงทุน 14,440 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ สิงคโปร์ 10 ราย เงินลงทุน 1,653 ล้านบาท และสหรัฐอเมริกา 5 ราย เงินลงทุน 458 ล้านบาท ตามลำดับ

วัดผล 3 เดือนให้รถบัสขึ้นตั๋ว
ส่วนกรณีที่ คณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง มีมติอนุมัติให้ปรับขึ้นค่าโดยสารประจำทางหมวด 2 และหมวด 3 ในอัตรา 5 สตางค์ต่อกิโลเมตร (ก.ม.) เริ่มวันที่ 4 ก.ค.นี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า การอนุมัติให้ปรับขึ้นราคาให้ที่ 5 สตางค์ ต่อก.ม. จากที่ขอมา 10 สตางค์นั้น ทาง ผู้ประกอบการขนส่งเอกชน และรถร่วม บขส.ก็พอใจ โดยหลังจากนี้จะประเมินสถานการณ์ตามดัชนีผู้บริโภค (ซีพีไอ) และติดตามสถานการณ์ราคาพลังงาน ภายในระยะเวลา 3 เดือนแรก ก่อนพิจารณาต่อไปว่าจะมีปรับขึ้น หรือลดลงต่อไป ได้มอบหมายให้ นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง หารือร่วมกับผู้ประกอบการ เพื่อมาทำความเข้าใจร่วมกัน แต่ทุกอย่างมีปรับขึ้นก็ต้องมีการปรับราคาลง ต้องไปด้วยกัน เราจะไม่ทำแบบสุดโต่ง และที่สำคัญคือผู้ประกอบการต้องไม่หยุดให้บริการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การปรับขึ้นราคาค่าโดยสาร 5 สตางค์ต่อก.ม. จะส่งผลให้ค่าโดยสารปรับขึ้นตามระยะทาง ยกตัวอย่าง อาทิ บริษัท นครชัยแอร์ จำกัด มีเส้นทางเดินรถสายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ เส้นทางหลักจะมีการปรับราคาขึ้น อาทิ เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 713 ก.ม. จากเดิมราคาเริ่มต้นที่ 617 บาท จะปรับขึ้นอีกประมาณ 36 บาท เป็น 653 บาท เช่นเดียวกับเส้นทางกรุงเทพฯ-ขอนแก่น มีระยะทาง 444 ก.ม. เดิมราคาเริ่มต้น 397 บาท ก็ปรับขึ้นราว 22 บาท เป็น 419 บาท ส่วนเส้นทางกรุงเทพฯ-เกาะสมุย รถวีไอพี ค่าโดยสารรถร่วม บขส. อยู่ที่ 860 บาท ค่าโดยสารใหม่ อยู่ที่ประมาณ 963 บาท มีส่วนต่าง 103 บาท และเส้นทางกรุงเทพฯ-ภูเก็ต รถ ป.1 ค่าโดยสาร 637 บาท ค่าโดยสารใหม่ อยู่ที่ประมาณ 715 บาท มีส่วนต่าง 78 บาท

รถเมล์หมวด 4 ขอขึ้นบ้าง 2 บ.
ด้านนายบรรยง อัมพรตระกูล ประธานสหพันธ์รถเมล์ กรุงเทพฯ และปริมณฑล กล่าวว่า วันเดียวกัน ทางสหพันธ์ได้เดินทางมายื่นหนังสือที่กระทรวงคมนาคม ถึงนาย สรพงศ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง โดยต้องการขอให้พิจารณาปรับค่าโดยสารให้รถเมล์และรถสองแถว หมวด 4 (รถโดยสารที่วิ่งประจำอำเภอกับจังหวัด หรือระหว่างอำเภอ) โดยขอขึ้นค่าโดยสารสองแถว จาก 8 บาท เป็น 10 บาท ส่วนรถเมล์ขอค่าโดยสาร จาก 10 บาท เป็น 12 บาท ตั้งแต่ วันที่ 1 ก.ค.นี้ หากรัฐบาลไม่พิจารณาปรับขึ้นให้ หลังจากนั้น จะออกมาเคลื่อนไหวต่อไป เพราะเนื่องจากแบกภาระค่าใช้จ่ายเรื่องค่าพลังงานไม่ไหว รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ประกอบการรถหมวด 4 ลดลงกว่า 40% ปัจจุบัน ทั้งน้ำมันดีเซล และแก๊สก็ขึ้นราคา ส่งให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแก๊สธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) เดิมราคา 8.50 บาท เพิ่มเป็น 15.50 บาท ทำให้รายได้ไม่พอรายจ่าย และส่งผล ให้ผู้ประกอบการรถหมวด 4 ต้องหยุดวิ่งหลายรายแล้ว

บขส.ยังตรึงค่าตั๋วต่อ3เดือน
นายสัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า ในส่วน บขส. ยังคงตรึงราคา ค่าโดยสารในอัตราเดิม เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพ และเป็นทางเลือกในการเดินทางให้กับประชาชน ทั้งนี้ปัจจุบัน บขส. เปิดให้บริการเดินรถ ในเส้นทางภาคเหนือ จำนวน 15 เส้นทาง รวม 40 เที่ยววิ่ง (ไป-กลับ) เช่น กรุงเทพ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-เชียงราย กรุงเทพฯ-สุโขทัย-อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย กรุงเทพฯ-(อุตรดิตถ์) พิษณุโลก กรุงเทพฯ-แม่สาย กรุงเทพฯ-หล่มเก่า กรุงเทพฯ-คลองลาน กรุงเทพฯ-เชียงคำ กรุงเทพฯ-ทุ่งช้าง กรุงเทพฯ-เขื่อนภูมิพล กรุงเทพฯ-สารจิตร และกรุงเทพฯ-ป่าแดด-เชียงของ เป็นต้น

เส้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก จำนวน 18 เส้นทาง รวม 52 เที่ยววิ่ง (ไป-กลับ) อาทิ กรุงเทพฯ-หนองคาย กรุงเทพฯ-เชียงคาน กรุงเทพฯ-สุรินทร์ กรุงเทพฯ-บุรีรัมย์ กรุงเทพฯ-นครพนม กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี กรุงเทพฯ-มุกดาหาร กรุงเทพฯ-สระบุรี เอกมัย-แหลมงอบ และจตุจักร-ตราด เป็นต้น และเส้นทางภาคใต้ จำนวน 13 เส้นทาง รวม 35 เที่ยววิ่ง (ไป-กลับ) อาทิ กรุงเทพฯ-ภูเก็ต กรุงเทพฯ-เกาะสมุย กรุงเทพฯ-คลองท่อม-กระบี่ กรุงเทพฯ-สงขลา กรุงเทพฯ-สุไหงโก-ลก กรุงเทพฯ-ปัตตานี-ยะลา กรุงเทพฯ (หมอชิต2) -หาดใหญ่ กรุงเทพฯ (หมอชิต2)-สตูล กรุงเทพฯ (หมอชิต2)-นครศรีฯ-หัวไทร และกรุงเทพฯ (หมอชิต 2)-ตรัง

“จากสถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ บขส. มีค่าใช้จ่ายต้นทุนน้ำมันเพิ่มขึ้น ประมาณ 3-5% หรือเดือนละ 6-8 ล้านบาท จากเดิมเฉลี่ยประมาณ 24-25 ล้านบาทต่อเดือน โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 บขส.มีต้นทุนค่าใช้จ่ายน้ำมัน ประมาณเกือบ 200 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม บขส. ยินดีตรึงราคาค่าโดยสารให้กับประชาชน และยังคงมุ่งมั่นที่จะให้บริการประชาชนด้วยบริการที่มีคุณภาพ สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย รวมทั้งให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยและมีการป้องกันและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเข้มงวด ทั้งภายในสถานีขนส่งผู้โดยสารและบนรถโดยสาร” นายสัญลักข์กล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน