‘ฮอสพิเทล’ด้วยรับโรคประจำถิ่น

‘สปสช.’ ยกเลิกระบบรักษาโควิดที่บ้านฮอสพิเทล และยูเซ็ปพลัส เริ่มวันนี้ รองรับสู่โรคประจำถิ่น ให้ผู้ป่วยเข้ารักษาตามสิทธิ เหลือเพียงวิกฤตสีแดงยังใช้สิทธิยูเซ็ปรักษาที่ใดก็ได้ ส่วนป่วยใหม่พุ่งเกิน 2 พันรายอีก เสียชีวิตเพิ่ม 14 พบแค่ 4 จังหวัด กทม. นนทบุรี สมุทรปราการ ภูเก็ตฉีดเข็มกระตุ้นเกิน 60% ชี้ติดเชื้อ ยอดป่วยหนักเพิ่มขึ้นเป็นไปตามคาดการณ์ หลังผ่อนคลายผับบาร์ เปิดหน้ากากสมัครใจ แต่ระบบยังรองรับได้ วอนอย่าตื่นตระหนก แนะกลุ่มเสี่ยง 608 ฉีดเข็มกระตุ้น “หมอยง’ ชี้โอมิครอน BA.5 ยึดครองพื้นที่แทน BA.2 เผยหลบวัคซีนสูงกว่า

ป่วยใหม่เกิน 2 พัน-ตายอีก 14
เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค.แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า ช่วงนี้เป็นช่วงสำคัญของการเปลี่ยนผ่านที่จะพ้นระยะการระบาดใหญ่ ทั่วโลก วันนี้ประเทศไทยมีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,695 ราย และเสียชีวิต 14 ราย ป่วยปอดอักเสบ 684 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 292 ราย ถือว่าสูงขึ้น แต่ยังเป็นไปตามคาดการณ์ จากสัปดาห์ที่ผ่านมามีการปลดล็อกการสวมหน้ากากให้ผ่อนคลาย ยิ่งขึ้น และการเปิดสถานบันเทิง ก็คาดการณ์ว่าอาจมีผู้ติดเชื้อและเข้ารักษาในระบบร.พ.เพิ่มขึ้นได้ แต่ตัวเลขสำคัญคือต้องอยู่ในเกณฑ์ที่ระบบสาธารณสุขรองรับได้ ทั้งอัตราครองเตียง ซึ่งระดับ 2-3 อยู่ที่ 9.9% จะมีแค่บางจังหวัดใหญ่ เช่นสมุทรปราการ สูงเกิน 20% แต่ยังไม่เกิน 25% ที่สาธารณสุขคาดการณ์ไว้

“การรักษานอกร.พ.นั้นสัดส่วนลดลงอย่างมาก ประชาชนส่วนมากลงทะเบียนรักษาแบบผู้ป่วยนอก ตรวจ ATK พบติดเชื้อ จะไปติดต่อรับบริการร.พ. คลินิกใกล้บ้าน รับการจ่ายยาและไปดูแลตัวเองที่บ้าน การรักษาในร.พ.สัดส่วนก็ลดน้อยลง สิ่งที่ศบค.ชุดเล็กให้ความสำคัญ ผู้เสียชีวิต 14 รายวันนี้ ทั้งหมด 100% เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง อายุเกิน 60 ปี มีโรคประจำตัว พบว่า 6 ราย หรือ 43% ไม่ได้รับวัคซีนเลยแม้แต่เข็มแรก และ 6 รายรับเข็มสองแล้วเกิน 3 เดือน คือยังไม่ได้เข็มกระตุ้น จึงขอย้ำให้คนยังไม่ได้รับวัคซีนเลยมารับ ซึ่งเข็มหนึ่งกระเพื่อมอย่างช้ามาก แต่ก็ขอให้เข้ามารับ เมื่อวานฉีด 7 พันราย ถือว่าคืบหน้าขอให้มากขึ้น ทุกๆ วัน”

แค่ 4 จว.ฉีดเข็มกระตุ้นเกิน 60%
กลุ่มอายุ 60 ปี รับเข็มหนึ่ง 84% เป็นไปตามแผน เข็มสอง 80% เป็นตามคาดหมาย แต่เข็มสามอยู่ที่ 46.5% ยังไม่เข้าเป้า ก็ขอให้มารับ ภาพรวมทั่วประเทศก็เช่นกัน เข็มสามยังอยู่ที่ 42.6% ก็ต้องช่วยกันเพิ่มตรงนี้ เข็มกระตุ้นจะปกป้องอาการป่วยรุนแรง ไม่ให้ป่วยหนักเข้ารักษาใน ร.พ. ลดอัตราเสียชีวิต ตอนนี้เป้าหมาย 60% เข็มกระตุ้นมีเพียง 4 จังหวัดที่เกิน คือกทม. นนทบุรี สมุทรปราการ และภูเก็ต ขอให้แต่ละจังหวัดช่วยกันรณรงค์เข้ารับเข็มกระตุ้นต่อเนื่อง

มาตรการถอดหน้ากากอนามัยซึ่งประกาศ ก่อนหน้านี้ ศบค.ชุดเล็กติดตามมาตรการเช่นกัน ซึ่งการสวมหน้ากากมีการระบุผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง สูงอายุ โรคประจำตัวขอให้สวมตลอดเวลา การผ่อนคลายเป็นไปโดยสมัครใจ บนพื้นฐานความเสี่ยงยังอยู่แต่ยอมรับได้ ขอให้เข้มมาตรการส่วนบุคคลเข้มงวด เว้นระยะห่าง ล้างมือตลอดเวลา การสวมหน้ากากผ่อนคลายมากขึ้น แต่ขอให้ติดตามประกาศแต่ละพื้นที่ เพราะคำประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดอาจแตกต่างกันได้ อาจมีการยกระดับมาตรการตามสถานการณ์แพร่ระบาด เช่นมีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในสถานประกอบการ ให้ทำตามประกาศในพื้นที่นั้น เช่นเดียวกับองค์กร หน่วยงาน สถานประกอบการ ร้านอาหาร โรงงานใดๆ หากต้องการกำหนดให้พนักงาน ผู้เข้ารับบริการสวมหน้ากากไว้ก็สามารถทำได้ ปรับมาตรการให้เข้มงวดตามสถานการณ์ในพื้นที่ได้ ขอให้ประชาชนร่วมมือปฏิบัติตาม

ศบค.ใหญ่นัดถกอีก 8 ก.ค.
“การประชุมศบค.ชุดใหญ่วันที่ 8 ก.ค.จะเสนอมาตรการต่างๆ และทบทวนมาตรการที่ประกาศไปแล้ว จะปรับขึ้นลงอย่างไรก็ขอให้ติดตาม แต่เราจะทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป การเปลี่ยนผ่านไม่ได้เป็นอย่างก้าวกระโดด การปรับลดมาตรการขอให้ยึดสถานการณ์พื้นที่เป็นหลัก และทำตามประกาศของกรมอนามัย เช่น สถานประกอบการ ทำตามมาตรการ COVID Free Setting อยู่ ฉีดวัคซีนให้ครบถ้วน หากทำมาตรการร่วมกันก็จะนำมาสู่การเสนอผ่อนคลายได้มากขึ้น”

ส่วนสายพันธุ์ BA.4, BA.5 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ติดตามใกล้ชิด รายงานว่าผู้ที่พบเป็นผู้เดินทางต่างประเทศ พบในคนไทยบ้าง แต่น้อยกว่ามาก สายพันธุ์ระบาดยังเป็นโอมิครอนส่วนใหญ่ การรายงานขององค์การอนามัยโลก ต่างประเทศ ยังไม่มีข้อมูลว่ารุนแรงเท่าเดลตา แต่ก็เร็วเกินไปที่จะสรุป โดยจะติดตามการ กลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง เบื้องต้นยังไม่มีการปรับมาตรการอย่างใด หากจะปรับเปลี่ยน จะเสนอที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่วันที่ 8 ก.ค.นี้








Advertisement

เผยแนวโน้มบางจว.ติดเชื้อเพิ่ม
ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์โรคโควิด 19 จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในบางจังหวัด โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 27-29 มิ.ย. มีรายงานพบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 1,735 1,761 และ 2,569 ราย ตามลำดับ ผู้ป่วยปอดอักเสบ 610, 638, 665 ราย ตามลำดับ และผู้ป่วยที่ใส่เครื่องช่วยหายใจ 286, 290, 300 ราย ตามลำดับ จากจำนวนผู้ป่วยหนักและผู้ป่วยที่ใส่เครื่องช่วยหายใจมีรายงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แสดงให้เห็นว่าผู้ที่ติดเชื้อรายใหม่มักมีอาการน้อยไม่รุนแรง และผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เข้าระบบการรักษาในร.พ.เป็นผู้ป่วยระดับสีเหลือง คือกลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีอาการเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว ซึ่งอัตราการครองเตียงระดับ 2-3 หรือสีเหลืองและสีแดงต่ำกว่า 10% ตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย.65 จนถึงปัจจุบัน ระบบสาธารณสุขเตรียมความพร้อมสามารถรองรับได้ ทั้งเตียง แพทย์ ยา และเวชภัณฑ์

“ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก รักษาสุขภาพให้แข็งแรง และปฏิบัติตามมาตรการ 2U คือ U ที่ 1 Universal Prevention คือ การป้องกันการติดโรค การเว้นระยะห่าง และล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในสถานที่แออัด หากพบมีอาการน่าสงสัยควรตรวจหาเชื้อ และ U ที่ 2 Universal Vaccination คือขอความร่วมมือให้มารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 เป็นพื้นฐาน และฉีดเข็มกระตุ้นต่อไปทุก 4 เดือน เพื่อยกระดับภูมิคุ้มกัน โดยเน้นกลุ่มเสี่ยง 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ ขอให้หลีกเลี่ยงการร่วมกิจกรรมที่มีคนรวมกลุ่มจำนวนมาก หลีกเลี่ยงโดยสารขนส่งสาธารณะทุกประเภท และเลี่ยงการเดินทางไปต่างประเทศ ส่วนสถานประกอบการต่างๆ ยังขอให้ปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting” นพ.โอภาสกล่าว

‘หมอยง’ชี้ BA.5 แทนที่ BA.2
ด้านศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawanb ถึงโควิด-19 สายพันธุ์ BA.5 กำลังจะครองพื้นที่ทำให้มีการระบาดมากขึ้นว่า หลังจากนักเรียนเปิดเทอม โควิด-19 ก็ระบาดเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด โดยเฉพาะช่วง 2 อาทิตย์หลังนี้ มีผู้ป่วยจำนวนมาก ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง โดยเฉพาะในเด็ก ถ้าดูการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ ที่ศูนย์ได้ตรวจมาโดยตลอด จะเห็นได้ชัดว่าแต่ละสายพันธุ์จะครองพื้นที่อยู่ไม่นาน กราฟที่เห็นจะเห็นได้ชัดว่า สายพันธุ์โอมิครอน เปลี่ยนจาก BA.1 มาเป็น BA.2 และในเดือนนี้ สายพันธุ์ BA.2 กำลังจะถูกแทนที่ด้วยสายพันธุ์ BA.5 ในอาทิตย์ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ สายพันธุ์ BA.5 กำลังจะยึดพื้นที่ทั้งหมดแทน BA.2 ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ การระบาดจะเพิ่มขึ้นเป็นระลอก

สายพันธุ์ BA.5 เป็นสายพันธุ์ที่หลบหลีกภูมิต้านทานของวัคซีนได้สูงขึ้นไปอีก จึงไม่แปลกที่ฉีดวัคซีนแล้ว มีโอกาสติดโรคได้ อย่างไรก็ตามอาการของโรคที่ผ่านมาไม่ได้รุนแรง ถ้านับจำนวนทั้งหมดของผู้ติดเชื้อ ขณะนี้น่าจะอยู่ที่หลายหมื่นคน มากกว่ายอดที่รับไว้ในโรงพยาบาลที่กระทรวงรายงานหลายสิบเท่า ดังนั้นอัตราการเสียชีวิตขณะนี้น่าจะน้อยกว่า 0.1 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ติดเชื้อ และผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ก็ยังเป็น 608 และผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบ 3 เข็ม วัคซีนช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ ทำให้การระบาดขึ้นสูงขณะนี้ จึงสามารถดูแลรักษาที่บ้านได้จำนวนมาก การระบาดขณะนี้อยู่ในฤดูกาล และจะระบาดต่อไป จนถึงเดือนส.ค. จึงจะค่อยๆ ลดลง ประชาชนส่วนใหญ่ก็จะติดเชื้อจำนวนมาก อยากให้ทุกคนควรได้รับวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็มขึ้นไป จะเป็น 4 เข็มหรือ 5 เข็ม ก็คงขึ้นอยู่กับระยะเวลาห่างของเข็มสุดท้ายว่าฉีดมาแล้วนานเท่าไหร่

สำหรับผู้ที่ติดเชื้อถ้าร่างกายแข็งแรงดี สามารถหายได้เอง ที่เป็นห่วงคือกลุ่มเปราะบาง และผู้ที่ยังได้วัคซีนไม่ครบ 3 เข็ม ควรจะได้ยาต้านไวรัส อย่างเร็ว ยาต้านไวรัสที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ มีอยู่ 3 ตัวที่ใช้ในการป้องกันลดความรุนแรงของโรค ลดการนอนโรงพยาบาล ลดการเสียชีวิต คือ เรมเดซิเวียร์, โมลนูพิราเวียร์ และแพ็กซ์โลวิด จึงเป็นยาที่แนะนำให้ใช้ในกลุ่มเปราะบางตั้งแต่เริ่มวินิจฉัยได้ และให้เร็วที่สุด อย่างน้อยต้องภายใน 5 วันหลังมีอาการ

ยกเลิก‘HI-ฮอสพิเทล-ยูเซ็ปพลัส’
จากกรณีราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการยกเลิกกรณีมีเหตุสมควรเกี่ยวกับโรคโควิด-19 เพื่อรองรับการเป็นโรคประจำถิ่น พ.ศ.2565 มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2565 เป็นต้นไป โดยยกเลิกกรณีมีเหตุสมควรในการเข้ารับบริการของผู้มีสิทธิตามกฎหมาย ว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการเข้ารับบริการตรวจคัดกรอง บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันการติดเชื้อโรคโควิด-19 สำหรับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามดุลพินิจของแพทย์และการเข้ารับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอื่นที่เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ตามความจำเป็นของผู้มีสิทธิในสถานบริการอื่นนั้น

นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า โดยหลักทั่วไปของระบบการรักษานั้น เมื่อเจ็บป่วยก็เป็นไปตามสิทธิ แต่ช่วงโควิดก็จะมีกฎหมายเข้ามาว่าถ้าเป็นโควิดจะต้องรักษาแบบไหน อย่างไร และเบิกอย่างไรได้บ้าง ส่วนการประกาศของศบค.จะมีผลในทางกฎหมายอย่างไร ต้องขอไปดูประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อน ส่วนที่จะเข้าสู่โรคประจำถิ่นหรือระยะ Post-Pandemic ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.เป็นต้นไป ไม่ได้แปลว่า เราจะถอดหน้ากากทั้งหมดแล้วไม่ป้องกันตนเอง ยังจำเป็นต้องป้องกันตนเอง เพราะยอมรับว่ามีการติดเชื้อมากขึ้น เหมือนอย่างสิงคโปร์ อังกฤษ ยุโรปก็เพิ่มมากขึ้น แต่ตัวเลขที่มากขึ้นยังไม่มีนัยสำคัญของผู้ติดเชื้อกับความรุนแรงและอัตรา เสียชีวิต พอ 2 ตัวนี้ไม่เพิ่มศักยภาพเตียงก็ยังรับได้ ทั้งนี้รัฐบาล ศบค. และกระทรวงสาธารณสุขก็จะทำความเข้าใจกับประชาชน ซึ่งจะเริ่มวันพรุ่งนี้แล้ว

ด้านทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขา ธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ประกาศดังกล่าวสิ่งที่จะยกเลิกคือการรักษาแบบ Home Isolation, Hospitel และกรณีของสิทธิ UCEP Plus ซึ่งเดิมให้ผู้ป่วยโควิดอาการสีเหลืองและ สีแดงเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินที่เข้ารับการรักษาสถานพยาบาลรัฐและเอกชนใดก็ได้ ก็จะปรับให้ผู้ป่วยอาการสีเหลืองกลับมารักษาฟรีตามสิทธิ ซึ่งแนวทางการรักษาจะให้รักษาแบบ ผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยในในร.พ.ขึ้นกับดุลพินิจและการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งจะมีแนวเวชปฏิบัติอยู่ ส่วนผู้ป่วยอาการสีแดง ที่วิกฤต ยังสามารถใช้สิทธิ UCEP เข้ารักษาแห่งใดก็ได้ตามเดิม ซึ่งตามกระบวนการนั้น การตรวจหาเชื้อตามแนวทางของกรมควบคุมโรคคือตรวจ ATK เมื่อมีอาการ

หากสงสัยอาการรุนแรงให้โทร.สายด่วน 1669 เพื่อประเมินความรุนแรงและเดินทางไปยังสถานพยาบาล ส่วนสายด่วน 1330 ยังให้ประชาชนที่ข้องใจสอบถามได้ หรือช่วยเหลือประสานหาเตียง ทั้งนี้จะเร่งชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน ซึ่งตลอด 3 ปีที่ผ่านมา มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลรวม 150,000 ล้านบาท

ประกันสังคมก็ยกเลิก HI
ด้านนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า สำหรับประกันสังคมมีการดำเนินการเช่นกันในเรื่องนี้ โดยเตรียมยกเลิกการรักษา HI ใน วันที่ 4 ก.ค.นี้ แต่ผู้ติดเชื้อโควิดสามารถเข้ารับการรักษาตามแนวทาง “เจอ แจก จบ” ได้เช่นเดิม และสามารถรักษาที่ไหนก็ได้ในร.พ.ของประกันสังคม รวมทั้งของสิทธิยูเซ็ปเช่นกัน โดยจะประกาศแนวทางเพื่อดำเนินการตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค.เป็นต้นไป

 

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน