42ล้านคนรับอานิสงส์ ให้กดยืนยันสิทธิ์19สค. เงินเข้า‘เป๋าตัง’เดือนกย. คลังอ้างศก.ดีจึงให้น้อย อุดหนุนน.ร.อีก8พันล.

เทอีก 2.7 หมื่นล้าน คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการคนละครึ่งเฟส 5 ด้านกระทรวงคลังแจงรายละเอียดได้อีกคนละ 800 บาท เปิดให้กดยืนยันสิทธิ์ในแอพฯ ‘เป๋าตัง’ ได้วันที่ 19 ส.ค.นี้ เริ่มใช้จ่ายได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.-31 ต.ค. ส่วนกลุ่มบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ- กลุ่มเปราะบางได้อีกคนละ 400 บาท ส่วนรมว.คลังชี้เพราะเศรษฐกิจเริ่มดี เลยให้แค่คนละ 800 บาท ใช้รับมือราคาสินค้าราคาพุ่งและดอกเบี้ยขาขึ้น

เมื่อวันที่ 26 ก.ค. รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบอนุมัติวงเงิน 27,426 ล้านบาท เพื่อดำเนิน 3 โครงการ ได้แก่ คนละครึ่งเฟส 5 วงเงิน 2.12 หมื่นล้านบาท โดยจะให้เงินไม่เกินคนละ 800 บาท ตลอดระยะเวลาโครงการ โดยให้สิทธิประชาชนผู้ได้รับสิทธิจำนวน 26.5 ล้านคน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.-31 ต.ค. 2565 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 5 ให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการฯ จำนวน 13.34 ล้านคน โดยช่วยเหลือ 200 บาทต่อคน เป็นเวลา 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.-31 ต.ค.2565 รวม 400 บาท รวมวงเงิน 5,336 ล้านบาท และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 3 ให้กับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือฯ จำนวนไม่เกิน 2.22 ล้านคน โดยช่วยเหลือ 200 บาทต่อคน เป็นเวลา 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.- 31 ต.ค. 2565 รวม 400 บาท รวมวงเงิน 890 ล้านบาท

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า การประชุม ครม.วันนี้มีเรื่องพิจารณาที่สำคัญ โดยเฉพาะการช่วยเหลือประชาชน การฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการขับเคลื่อนประเทศท่ามกลางวิกฤตที่ยังคงอยู่ในโลก เรื่องแรกคือ มาตรการช่วยเหลือ ลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ซึ่งเป็นการใช้เงินกู้ ในปี 2564 ต่อเนื่องมา 2 ปี กว่า จนถึงปัจจุบัน โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้ ช่วยเหลือเยียวยาด้านเศรษฐกิจให้แก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย แรงงานประกันสังคม ผู้ประกอบการ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เกษตรกร กลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุกว่า 45 ล้านคนวงเงินประมาณ 854,000 ล้านบาท รวมถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการจ้างงาน วงเงินประมาณ 280,000 ล้านบาท

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โดย ครม.พิจารณาเห็นชอบการเติมเงินช่วยเหลือแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เช่น ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ผู้ที่ไม่สามารถใช้งานแอพพลิเคชั่นเป๋าตัง ผู้ไม่มีสมาร์ตโฟนและผู้มีภาวะพึ่งพิงไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เป็นระยะเวลา 2 เดือน วงเงิน 200 บาทต่อคนต่อเดือน รวมเป็น 400 บาท ตั้งแต่เดือนก.ย.-ต.ค.

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า นอกจากนี้ ครม. ยังพิจารณาเห็นชอบโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 ให้ใช้สิทธิ 2 เดือนวงเงิน 800 บาทต่อคน โดยใช้ได้ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน โดยทั้ง 2 โครงการ จะเริ่มใช้สิทธิได้ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.นี้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนแล้ว ยังเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับฐานราก โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยให้มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการ เศรษฐกิจจะได้ไม่ติดขัด เกิดเงินหมุนเวียนในระบบ ขับเคลื่อนได้อย่าง ต่อเนื่อง

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า สำหรับเรื่องการขับเคลื่อนประเทศอย่างต่อเนื่องไม่ให้สะดุด และสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของโลก โดยเฉพาะการผลักดันบทบาทของประเทศ ไทยให้เป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งตนไม่ได้บังอาจว่าจะใหญ่ที่สุด ดีที่สุด ไม่ใช่ แต่ให้เป็นแห่งหนึ่งของโลก ให้มีความก้าวหน้าให้เป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญ เพื่อส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งครม.เห็นชอบมาตรการทางภาษีเพิ่มเติมคือ 1. การลดอัตราภาษีประจำปี ลงร้อยละ 80 จากอัตราที่กำหนดตามขนาดของรถเป็นระยะเวลา 1 ปี สำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวที่จดทะเบียนระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2565 ถึง 30 ก.ย. 2568 ซึ่งคาดว่าจะใช้รถยนต์ไฟฟ้าในช่วงดังกล่าวมากกว่า 128,000 กว่าคัน

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า มาตรการที่ 2 การยกเว้นอากรศุลกากร สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ได้แก่ รถยนต์นั่งทั่วไป รถยนต์โดยสารสำหรับไม่เกิน 10 คน รถกระบะแบบพลังงานไฟฟ้าที่ประกอบ ผลิตในประเทศ ตั้งแต่วันที่ร่างประกาศฉบับนี้ มีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 31ธ.ค. 2568 ซึ่งปัจจุบันรถยนต์แบบแบตเตอรี่ไฟฟ้ายังไม่มีการผลิตภายในประเทศ แต่เราก็เตรียมการเพื่อสนับสนุนในการผลิตในประเทศไทย โดยทั้ง 2 มาตรการนี้เป็นส่วนหนึ่งในหลายมาตรการที่รัฐบาลดำเนินการอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ที่ตนได้ประกาศเป้าหมายพลิกโฉม การผลิตและใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เพื่อส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และฝุ่น PM 2.5 ในอากาศแล้ว ยังช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ

วันเดียวกัน นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเรับทราบและอนุมัติตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 ซึ่งมีมติเห็นชอบโครงการ ดังต่อไปนี้ 1.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 5 (โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรฯ ระยะที่ 5) 2.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 3 (โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือฯ ระยะที่ 3) และ 3.โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ตามที่กระทรวงการคลังโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเสนอ เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้แก่กลุ่มที่มีความเปราะบางทางด้านรายได้ ทรัพย์สิน และหนี้สิน และผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ (ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือฯ) ตลอดจนเพื่อรักษาแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปี 2565 ผ่านการเพิ่มอุปสงค์การบริโภคภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยทำให้ ผู้ประกอบการมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการ และลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยประชาชนสามารถเลือกเข้าร่วมโครงการได้เพียง 1 โครงการ ดังมีรายละเอียด ดังนี้

1.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 5 ช่วยเหลือวงเงินค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น (ร้านธงฟ้าฯ) และค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการจากร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 จำนวน ไม่เกิน 200 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน-31 ตุลาคม 2565 (กรณีมีวงเงินคงเหลือในเดือนใดจะไม่มีการสะสมไปในเดือนถัดไป) รวมทั้งสิ้น 400 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการ ให้แก่ ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ผู้มีบัตรฯ) จำนวนไม่เกิน 13.34 ล้านคน

2.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือฯ ระยะที่ 3 ช่วยเหลือวงเงินค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าฯ และค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการจากร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 จำนวน ไม่เกิน 200 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน-31 ตุลาคม 2565 (กรณีมีวงเงินคงเหลือในเดือนใดจะไม่มีการสะสมไปในเดือนถัดไป) รวมทั้งสิ้น 400 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการ ให้แก่ ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือฯ ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ต ผู้ที่ไม่มีสมาร์ตโฟนทำให้ไม่สามารถใช้งานแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ได้ ผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง (ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ทุพพลภาพ ผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่สามารถเดินทางไปลงทะเบียนหรือเดินทางไปใช้จ่ายวงเงินที่ได้รับผ่านแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ได้) ผู้ที่ลงทะเบียนด้วยตนเองไม่สำเร็จ เนื่องจากข้อมูลส่วนบุคคลไม่ถูกต้อง เป็นต้น ซึ่งเป็น กลุ่มที่ได้รับสิทธิตามโครงการเราชนะ กลุ่ม 4 จำนวนไม่เกิน 2.23 ล้านคน ทั้งนี้ หากผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือฯ ประสงค์จะรับสิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 จะต้องลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิตามโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ผ่านแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ภายในวันที่ 25 สิงหาคม 2565 และถือเป็นการสละสิทธิตามโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือฯ ระยะที่ 3 และจะ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อีก

3.โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 สนับสนุนวงเงินค่าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไป บริการนวดสปา ทำผม ทำเล็บ และบริการขนส่งสาธารณะ ยกเว้นสลากกินแบ่ง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ บัตรกำนัล บัตรเงินสด และบริการรูปแบบอื่นๆ ที่เป็นการชำระค่าสินค้าหรือบริการล่วงหน้า และสินค้าหรือบริการที่กระทรวงการคลังกำหนด จากภาครัฐในอัตราร้อยละ 50 ทั้งนี้ ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน และไม่เกิน 800 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน-31 ตุลาคม 2565 ให้กับประชาชน ผู้ได้รับสิทธิที่เข้าร่วมโครงการจำนวนไม่เกิน 26.5 ล้านคน

ในส่วนของการลงทะเบียนและการใช้จ่ายโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 มีรายละเอียดและระยะเวลาดำเนินโครงการ ดังนี้ สำหรับประชาชนผู้ที่เคยใช้สิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 สามารถยืนยันสิทธิเพื่อเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ผ่านแอพ พลิเคชั่น “เป๋าตัง” ได้ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2565 โดยจะต้องใช้สิทธิโครงการคนละครึ่งระยะที่ 5 ในการซื้อสินค้าหรือบริการภายใต้โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ครั้งแรกผ่านแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ภายในวันที่ 14 กันยายน 2565 เวลา 22.59 น. ซึ่งหากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว จะถูกตัดสิทธิการเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5

สำหรับประชาชนทั่วไปนอกเหนือจาก ข้างต้นจะต้องดำเนินการ ดังนี้ กรณีเป็นประชาชนที่เคยได้รับสิทธิมาตรการ/โครงการอื่นของรัฐที่มีการใช้จ่ายผ่านแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ผ่านแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” หรือผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง .com ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2565 และประชาชนนอกจากนี้สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2565

ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับการยืนยันสิทธิจากการลงทะเบียน ก่อนวันที่ 1 กันยายน 2565 จะต้องใช้สิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 โดยการซื้อสินค้าหรือบริการในโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ครั้งแรกผ่านแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ภายในวันที่ 14 กันยายน 2565 เวลา 22.59 น. ซึ่งหากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว จะถูกตัดสิทธิในโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5

สำหรับประชาชนที่ได้รับการยืนยันสิทธิจากการลงทะเบียน ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2565 เป็นต้นไป จะต้องใช้สิทธิโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 โดยการซื้อสินค้าหรือบริการในโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ครั้งแรกผ่านแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ได้รับข้อความผ่านแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” หรือข้อความสั้น (SMS) แจ้งยืนยันสิทธิในโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ซึ่งหากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว จะถูกตัดสิทธิในโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5

คุณสมบัติประชาชนที่จะเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ 1.ประชาชนที่มีสัญชาติไทย 2.มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันลงทะเบียน 3.มีบัตรประจำตัวประชาชน 4.ไม่เป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐตามฐานข้อมูลกระทรวงการคลัง ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2565 และไม่เป็นผู้ที่ได้รับสิทธิโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะ ที่ 3 5.ไม่เป็นผู้ที่ถูกระงับสิทธิหรือถูกเรียกเงินคืนในมาตรการ/โครงการอื่นๆ ของรัฐ และ 6.ไม่เป็นผู้ฝ่าฝืนเงื่อนไขของมาตรการ/โครงการอื่นๆ ของรัฐ หรือฝ่าฝืนมาตรการใดๆ ของรัฐเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19

ส่วนการยืนยันตัวตน ก่อนการใช้สิทธิครั้งแรก ผู้ได้รับสิทธิตามโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 จะต้องยืนยันตัวตนด้วยบัตร ประจำตัวประชาชนที่สาขาหรือตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) (ธนาคารกรุงไทยฯ) ยกเว้นผู้ที่เคยยืนยันตัวตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชนกับธนาคารกรุงไทยฯ หรือผู้ที่มีแอพพลิเคชั่น “Krungthai NEXT” ซึ่งผ่านการยืนยันตัวตนกับธนาคารกรุงไทยฯ แล้ว ไม่ต้องยืนยันตัวตนใหม่อีก

การเข้าร่วมโครงการของผู้ประกอบการร้านค้า สำหรับผู้ประกอบการร้านค้าสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 ได้ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป เวลา 06.00-22.00 น. จนกว่ากระทรวงการคลังจะประกาศปิดรับสมัคร โดยผู้ประกอบการที่เคยเข้าร่วมมาตรการ/โครงการอื่นของรัฐที่มีแอพพลิเคชั่น “ถุงเงิน” แล้ว และประสงค์จะเข้าร่วมโครงการต่อไปจะต้องลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น “ถุงเงิน” ส่วนผู้ที่ไม่เคยเข้าร่วมมาตรการ/โครงการอื่นสามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com หรือสาขาหรือจุดรับลงทะเบียนของธนาคารกรุงไทยฯ

ทั้งนี้ การดำเนินการทั้ง 3 โครงการ ครอบคลุมประชาชนจำนวน 42 ล้านคน โดยจะช่วยรักษากำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ และคาดว่าจะมีเม็ดเงินเติมเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในปี 2565 จำนวน 48,628 ล้านบาท อีกทั้งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่พี่น้องประชาชน เพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยและ ผู้ผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งรักษาระดับและทิศทางของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เป็นไปได้อย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปีนี้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า การออกมาตรการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 นั้น เนื่องจากมองเห็นว่าการบริโภคภายในประเทศเริ่มแผ่วลง จากราคาสินค้าและราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังมีอยู่ประปราย ขณะเดียวกันคาดว่าระยะต่อไปธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งมีการประเมินว่าอาจจะส่งผล กระทบกับกำลังซื้อของประชาชนด้วย โดยประเมินว่ามาตรการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 นั้น น่าจะทำให้การบริโภคภายในประเทศมีความคึกคักมากขึ้น

รมว.คลังกล่าวต่อว่าสำหรับวงเงินที่ลดลงเหลือ 800 บาทต่อคนนั้น เพราะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันฟื้นตัวดีขึ้นกว่าช่วงก่อน ดังนั้นการช่วยเหลือต่างๆ จากภาครัฐก็ควรลดลงเรื่อยๆ ตามความเหมาะสม ทั้ง 3 โครงการเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศที่ ครม.อนุมัติไปนั้น จะเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจรวม 48,628 ล้านบาท โดยคาดว่าจะช่วยทำให้จีดีพีปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.13% แต่ไม่ได้ทำให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 3.5% ที่คลังได้คาดการณ์มากนัก ทั้ง 3 โครงการกระตุ้นกำลังซื้อใช้วงเงินดำเนิน 27,427 ล้านบาท ซึ่งมาจาก พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 เพิ่มเติม จำนวน 5 แสนล้านบาท ที่ภายหลังจากออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อครั้งนี้แล้ว จะยังมีวงเงินเหลือราว 4-5 หมื่นล้านบาท ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกลั่นกรองว่าจะเอาวงเงินที่เหลือ ดังกล่าวนี้ไปใช้ทำอะไร สำหรับคนละครึ่งเฟส 5 ครอบคลุมผู้ได้สิทธิ์จำนวน 26.5 ล้านคน ในจำนวนนี้จะเป็นสิทธิ์ที่เปิดให้ลงทะเบียนใหม่ 2 แสนกว่าสิทธิ์

นายอาคมกล่าวอีกว่า สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ประเมินว่าตัวเลข จีดีพีจะขยายตัวได้ที่ระดับ 4.2% ซึ่งมองว่าหากเศรษฐกิจไทยสามารถโตเกิน 4-4.2% ได้ ก็ถือเป็นระดับที่ดี ที่เศรษฐกิจยังมีแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องจากปีนี้ ซึ่งหลักๆ มาจากภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า

วันเดียวกัน น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.มีมติให้ความเห็นชอบการปรับอัตราเงินอุดหนุน รายหัวตามความจำเป็นพื้นฐาน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้เรียนและเพิ่มศักยภาพสถานศึกษาในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี ตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา ประถมศึกษา มัธยม ศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ทั้งสถานศึกษาของรัฐและเอกชน ครอบคลุมการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาทางเลือก โดยปรับเพิ่มแบบขั้นบันไดต่อเนื่อง 4 ปีงบประมาณ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2566-2569 ตามที่ ศธ.เสนอ

น.ส.ตรีนุชกล่าวต่อว่า การปรับอัตราเงินอุดหนุนรายหัวฯที่ปรับเพิ่มขึ้น สามารถจำแนกตามรายการค่าใช้จ่าย ดังนี้ ค่าใช้จ่ายด้านผู้เรียน มี 2 ส่วน คือ 1.ค่าอุปกรณ์การเรียน ปรับเพิ่มตามผลการศึกษาค่าใช้จ่ายจริงสำหรับอุปกรณ์การเรียนพื้นฐาน ซึ่งอ้างอิงราคาขายร้านสหกรณ์โรงเรียน โดยจัดให้ ผู้เรียนการศึกษาชั้นพื้นฐานทุกคน ตั้งแต่ ปี 2566 และคงอัตราเดิมในปีต่อไป และ 2.ค่าเครื่องแบบ ปรับตามผลการศึกษาค่า ใช้จ่ายจริง สำหรับเครื่องแบบนักเรียน 1 ชุด ประกอบด้วยเสื้อ กางเกง หรือกระโปรง โดยให้ผู้เรียนทุกคนมีเครื่องแบบครบ 1 ชุด และเพิ่มเติมอีก 1 ชุดเฉพาะผู้เรียนยากจนที่ ผู้ปกครองถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

น.ส.ตรีนุชกล่าวต่อไปว่า สำหรับค่าใช้จ่ายด้านสถานศึกษา ได้แก่ 1.ค่าจัดการเรียนการสอน และ 2.ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ทั้งในระบบและนอกระบบ ให้ใช้วิธีทยอยปรับเพิ่มอัตราแบบขั้นบันได ในลักษณะงบประมาณผูกพันต่อเนื่อง ต่อเนื่อง 4 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2566-2569 ซึ่งปัจจุบันหรือปีงบฯ 2565 รัฐให้เงินอุดหนุนฯ ประมาณ 46.482 ล้านบาท ปีงบฯ 2566 จะเพิ่มขึ้น 2,259 ล้านบาท เป็นอุดหนุน 48,741 ล้านบาท ปีงบฯ 2567 เพิ่มขึ้น 3,916 ล้านบาท เป็นอุดหนุน 52,612 ล้านบาท ปีงบฯ 2568 เพิ่มขึ้น 6,129 ล้านบาท เป็นอุดหนุน และในปีที่ 4 หรืองบฯ ปี 2569 จะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 8,066 ล้านบาท เป็นอุดหนุนฯ 54,548 ล้านบาท

“ครม.ได้อนุมัติในหลักการให้เพิ่มอัตราเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครอบคลุม 4 รายการ ได้แก่ ค่าจัดการเรียนการสอน เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 20 ค่าอุปกรณ์การเรียน เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 15 ค่าเครื่องแบบนักเรียน จากเดิมได้ไม่เต็มชุดก็ได้เต็ม 1 ชุด และเพิ่มอีก 1 ชุดสำหรับเด็กยากจน และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 30 จากที่ทั้ง 4 รายการไม่ได้มีการปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนฯมานานกว่า 10 ปี โดยปรับครั้งล่าสุดในปี 2553 ขณะที่ปัจจุบันราคาสินค้าเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งการเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนฯครั้งนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระรายจ่ายของนักเรียน จำนวนกว่า 11.5 ล้านคน และลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ครอบครัวนักเรียนยากจนลงได้ รวมทั้งจะช่วยเพิ่มศักยภาพของสถานศึกษาในการจัดและพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วย สำหรับเงินอุดหนุนค่าหนังสือเรียนที่ผ่านมาได้ปรับเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว” น.ส.ตรีนุชกล่าว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน