ใช้งานนานกว่า15ปี190จุดทั่วกรุงเทพฯ

กทม.เร่งขุดคลองทำแก้มลิงรับน้ำ ผู้ว่าฯ ชัชชาติตรวจสถานีสูบน้ำบางซื่อ พร้อมรับน้ำเหนือบ่า สั่งเปลี่ยนเครื่องสูบน้ำ 300 ตัว พบใช้งานเกิน 15 ปี ยันใช้งบฯ แค่ตัวละ 4 ล้าน ไม่มากเท่าทำอุโมงค์ 5-6 พันล้าน ขอเอกชนยอมให้อุดแนวฟันหลอ กรมชลฯ ลดระบายน้ำเขื่อนชัยนาทลงเหลือ 850 ลบ.ม.ต่อวินาที จาก 1.1 พันลบ.ม. คลองโผงเผง อ่างทอง น้ำลดแล้ว แต่พื้นที่ลุ่มต่ำติดเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย ใน 3 อำเภอ อยุธยา ทั้งอ.ผักไห่ อ.บางบาล และอ.เสนา น้ำยังล้นตลิ่ง นายกแจ๊ด เรียกถกด่วนรับสถานการณ์น้ำ ระดมเสริมบิ๊กแบ๊กจุดเสี่ยงท่วม ป้องแนวถนน พื้นที่เศรษฐกิจ ทั้งตลาดรังสิต และหมู่บ้านหลายพันแห่ง ลั่นไม่ยอมให้น้ำบ่าเข้าท่วมกลายเป็นแก้มลิง ประสานกรรมการลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่ระบบระบายน้ำเชื่อมกัน จากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ให้น้ำไหลออกปากอ่าวไทยเร็วที่สุด

คลองอ่างทองน้ำเริ่มลด
เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากกรมชลประทาน ได้ปรับลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จากเดิม 1,100 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที เหลือในอัตรา 1,050 ลบ.ม.ต่อวินาที ตั้งแต่เวลา 17.00 น. วันที่ 28 ก.ค. ส่งผลให้สถานการณ์ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ไหลผ่าน จ.อ่างทอง รวมถึงในคลองโผงเผง ต.โผงเผง อ.ป่าโมก มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 320 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยระดับน้ำเริ่มทรงตัว และคาดว่าจะมีแนวโน้มลดลง ซึ่งช่วงนี้ระดับน้ำในคลองโผงเผงต่ำกว่าคันกั้นน้ำ ประมาณ 4 เมตร หลังจากระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ทำให้ในขณะนี้เรือเล็กยังผ่านสัญจรได้ แต่เรือใหญ่สัญจรผ่านไม่ได้แล้ว ขณะที่บริเวณที่ยังสร้างเขื่อน ไม่เสร็จ ได้เร่งดำเนินการตลอด 24 ชั่วโมง

ส่วนในเขตพื้นที่ ต.บางจัก อ.วิเศษชัยชาญ ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำน้อย และได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำในเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทางกรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำ โดยการปรับลดปริมาณน้ำที่ไหลเข้าในแม่น้ำน้อย ประตูระบายน้ำบรมธาตุ ที่ 100 ลบ.ม.ต่อวินาที และวันเดียวกันเวลา 12.00 น. ได้ปรับลดลงอีกเหลือ 60 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลทำให้ระดับน้ำที่เอ่อล้นตลิ่ง มีระดับที่ลดลง ขณะที่ระดับน้ำที่สถานีชลมาตร หน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทอง อยู่ที่ 4.59 เมตร จากระดับตลิ่ง 10.00 เมตร มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,064 ลบ.ม.ต่อวินาที

3อำเภออยุธยาท่วมตลิ่ง
ด้านอ.ผักไห่ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา เกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมใต้ถุนบ้านของชาวบ้าน ถนนทางเข้าออกชุมชนแล้ว โดยพบว่าที่หมู่ 5 ต.หัวเวียง อ.เสนา ประชาชนที่อยู่ริมน้ำได้นำเรือมาซ่อมแซมและยาเรือเพื่อเตรียมใช้ในการเข้าออกบ้าน หลังจังหวัดและกรมชล ประทาน ประกาศแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่พื้นที่ลุ่มต่ำ ซึ่งบ้านเรือนของประชาชนที่อยู่ ริมแม่น้ำให้ยก เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือปริมาณน้ำที่มีการเพิ่มการระบายน้ำมาจากเขื่อนเจ้าพระยา ส่งผลทำให้น้ำเอ่อเข้าท่วมใต้ถุนบ้านในพื้นที่ลุ่มต่ำ

นายธนากร ตันติกุล ผอ.โครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาลงแล้ว จากเดิมที่ระบายอยู่ที่ 1,100 ลบ.ม.ต่อวินาที เหลือ 850 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยในพื้นที่ลุ่มต่ำติดแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย ที่รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา และลำคลองสาขาต่างๆ ยังคงมีน้ำล้นตลิ่งอยู่ อ.ผักไห่ อ.บางบาล และอ.เสนา

ยันไม่ให้ปทุมฯจมเป็นแก้มลิง
ส่วนที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกอบจ.ปทุมธานี ได้เรียกประชุมด่วน เรื่องเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทักภัย โดยมีตัวแทนเจ้าหน้าที่โครงการชลประทานปทุมธานี รังสิตเหนือ รังสิตใต้ และพระยาบรรลือ รวมถึงนายก อบต.ในพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และส.จ.ทุกพื้นที่ ร่วมประชุม

พล.ต.ท.คำรณวิทย์กล่าวว่า นื่องจากชาวปทุมธานีตื่นตระหนกมากกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบปี 2554 หรือไม่ และปี 2564 ปริมาณน้ำถึงจะเยอะแต่ปีนี้ปริมาณน้ำจะมากกว่าแต่ไม่เท่ากับปี 2554 ในส่วนของอุตสาหกรรมบางกะดี มีการเตรียมการอย่างดีแล้ว รวมถึงนิคมนวนคร และพื้นที่เศรษฐกิจ โดยรังสิตเหนือมีหมู่บ้านจัดสรรหลายพันหมู่บ้าน หากท่วมจะมีความเสียหายเยอะมาก เรายอมไม่ได้ที่จะให้พื้นที่ต่างๆ เหล่านั้นเป็นแก้มลิงรองรับน้ำอีกต่อไป วันนี้จึงเรียกประชุม เพื่อรับฟังสภาพปัญหา เอาบทเรียนจากปี 2554 บทเรียนจากปี 2564 เพื่อให้นายก อบต.ประสาน ทำงานร่วมกับชลประทานและส.จ. เพื่อตรวจสภาพประตูน้ำทั้งหมดที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่อยู่ในความรับผิดชอบของทางชลประทาน ให้ร่วมกันสำรวจประตูน้ำให้มีความเข้มแข็ง และแข็งแรงพอที่จะป้องกันน้ำได้ มีความพร้อมที่จะรับน้ำ นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมาได้ขุดลอกคูคลองทั้งหมดภายในพื้นที่จังหวัดแล้ว โดยเฉพาะคลองทาง อ.ลาดหลุมแก้ว คลองไหว้พระ คลองลากค้อน และคลองชลประทาน

“เราต้องเฝ้าระวังทั้งหมด ปทุมธานีมีถนนกั้นเป็นแนวเขื่อนป้องกันน้ำ หากน้ำข้ามถนนไปได้ก็จะท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ จุดไหนเป็นแนวถนนที่ต่ำ ของให้ อบต.กับส.จ. สำรวจแล้วรีบรายงานเข้ามา ทาง อบจ.จะไปเสริมจุดอ่อนเหล่านั้น พร้อมเอาแบริเออร์ไปเสริม กระสอบทรายไปอัด และมีเบอร์โทร.กองป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อบจ.ปทุมธานี 0-2975-8940-8 ต่อ 161-164 และ 09-9758-8558 เพื่อแจ้งเหตุฉุกเฉิน ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนการแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำบางปะกง เนื่องจากระบบการระบายน้ำเชื่อมกัน จากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ มีการสูบน้ำออกเจ้าพระยาแล้ว ยังสูบทางด้านตะวันออกเพื่อผันน้ำไปทาง จ.นครนายก และผันน้ำออกไปลงแม่น้ำบางปะกง ผมจึงเป็นตัวเชื่อมและประสานระหว่างคณะกรรมการลุ่มน้ำบางปะกง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อให้น้ำไหลออกปากอ่าวเร็วและได้ผล” พล.ต.ท.คำรณวิทย์กล่าว

ดูระบาย – นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ตรวจการระบายน้ำที่สถานีสูบน้ำคลองบางซื่อ พบปัญหาเครื่องสูบน้ำใช้งานมานาน ประสิทธิภาพลดลงจึงเตรียมเปลี่ยนใหม่ 300 เครื่องใน 190 จุดทั่วกทม. เมื่อวันที่ 29 ก.ค.กทม.เร่งขุดคลองทำแก้มลิง
ที่สถานีคลองสูบน้ำคลองบางซื่อ นาย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ตรวจความพร้อมสถานีสูบน้ำ โดยมีนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. นายเจษฎา จันทรประภา รองผอ.สำนักการระบายน้ำ (สนน.) ร่วมลงพื้นที่

นายชัชชาติ และคณะ ได้ตรวจดูระดับน้ำด้านในและด้านนอกของสถานีสูบน้ำ รวมทั้งตรวจเยี่ยมบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ในแนวคันกั้นน้ำ ได้รับผลกระทบน้ำท่วมบ้าน เนื่องจากคันกั้นน้ำมีรอยรั่ว ตลอดจนสั่งการให้เปลี่ยนกระสอบทรายที่ชำรุด เพื่อป้องกันน้ำท่วมด้วย นอกจากนี้ยังได้ติดตามการทำงานของเครื่องปั๊มสูบน้ำ โดยเจ้าหน้าที่ได้รายงานว่าที่สถานีสูบน้ำดังกล่าวมีปั๊มสูบน้ำ 17 ตัว เป็นชนิดไฟฟ้า ใช้งานได้ทุกตัว มีประสิทธิภาพในการสูบ 51 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยไม่มีเครื่องสูบน้ำชนิดดีเซลสำรอง หากเกิดกรณีไฟดับ เจ้าหน้าที่จะติดต่อเจ้าหน้าที่การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มาดำเนินการต่อไฟทันที และกฟน. ได้ทำตู้ไฟสำรองในบริเวณใกล้เคียงอยู่แล้ว 2 จุด ส่วนอุโมงค์ยักษ์มีอยู่ 4 แห่ง รองรับน้ำใน 20 ก.ม. มีคลอง 2,600 กว่าคลอง แต่ปัญหาของคลองในกรุงเทพฯ ไม่ได้ขุดลอก ดังนั้น ทั้ง 2 ระบบต้องทำควบคู่ไปด้วยกัน

นายชัชชาติกล่าวว่า มาตรวจระบบระบายน้ำ ปัจจุบันการระบายน้ำ มี 2 ระบบ คือ ระบบคลองกับอุโมงค์ระบายน้ำ รับน้ำ 200 ลบ.ม.ต่อวินาที ครอบคลุมระยะทางใน 20 ก.ม. ทั้งกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกและตก แต่ระบบคลองคือหัวใจหลัก จึงต้องเพิ่มประสิทธิภาพคลอง โดยการขุดลอกคลอง เพื่อพร่องน้ำ ในการเตรียมพร้อมรับน้ำ โดยเฉพาะหน้าประตูระบายน้ำอาจต้องขุดลอกให้ลึก เพื่อให้เป็นแก้มลิง

สั่งเปลี่ยนเครื่องสูบน้ำเจ๊ง
สำหรับสถานีสูบน้ำคลองบางซื่อ ปัจจุบันมีเครื่องสูบน้ำชนิดไฟฟ้า 17 เครื่อง เพิ่งเปลี่ยนใหม่เพียง 5 เครื่อง เครื่องที่เหลือใช้งานมา 15 ปี ซึ่งหากเปลี่ยนเครื่องสูบน้ำ จะใช้งบจัดซื้อพร้อมติดตั้ง 4 ล้านบาทต่อเครื่อง ซึ่งใช้งบน้อยเมื่อเทียบกับโครงการอุโมงค์ยักษ์ ที่ใช้งบ 5-6 พันล้าน ดังนั้นต้องสำรวจตรวจสอบเครื่องสูบน้ำทุกจุด หากไม่ดีไม่มีประสิทธิภาพต้องเปลี่ยน เพื่อให้เครื่องสูบน้ำทำงานเต็มประสิทธิภาพ พร้อมทั้งจัดหาแหล่งจ่ายไฟสำรองกรณีไฟดับ เพราะหากปล่อยไว้จะส่งผลกระทบในวงกว้าง

ส่วนสถานีสูบน้ำที่มีอยู่ 190 สถานี หากต้องเปลี่ยนเครื่องสูบก็ต้องทำ และเครื่องต้องมีความทันสมัย มีประสิทธิภาพ คาดว่าจะต้องเปลี่ยนเครื่องสูบน้ำ กว่า 300 เครื่อง เพราะมีอายุใช้งานเกิน 15 ปี ขณะเดียวกัน ต้องเร่งปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพคลอง ซึ่งคลองบางซื่อไม่ได้ขุดลอกมาหลายปี มีเพียงบางส่วนที่ขุดลอก ทำให้พร่องน้ำได้ไม่เต็มที่ ตลอดจนขอความร่วมมือประชาชนไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง โดยเฉพาะขยะชิ้นใหญ่ ส่วนเครื่องเก็บขยะ มี 11 ตัว ใช้งานได้ 2 ตัว จึงใช้คนจัดเก็บแทน แต่ก็ต้องจัดหาเครื่องเก็บขยะมาด้วย ในส่วนนี้ได้กำชับให้เร่งซ่อมแซมให้แล้วเสร็จ

นายชัชชาติกล่าวอีกว่า ภาพรวมเครื่องสูบ น้ำกทม.มี 733 ตัว ชำรุด 22 ตัว เครื่องเก็บขยะอัตโนมัติ 263 ตัว ชำรุด 63 ตัว ประตูระบายน้ำ 523 ประตู ชำรุด 14 ประตู ประสิทธิภาพในภาพรวมตามตัวเลขยังพอใช้ได้อยู่ หากปรับปรุงไม่ได้ใช้เงินเยอะ หรือเป็นโครงการขนาดใหญ่ หลังจากนี้จะดูว่างบประมาณปี 2565 มีเพียงพอหรือไม่ หรือไม่ต้องแปรญัตติงบประมาณรายจ่ายปี 2566 โดยจะพยายามใช้เงินให้คุ้มค่ามากที่สุด ใช้เงินน้อยแต่ได้ประโยชน์มากที่สุด อันไหนที่ยังไม่สำคัญ อุโมงค์ก็ชะลอไปก่อน ปรับปรุงประสิทธิภาพของคลองให้ดี เชื่อว่าจะช่วยบรรเทาได้ จากนั้นจึงจะทำเส้นเลือดฝอย ลอกท่อ ขยายท่อ ทำระบบดันท่อลอดใต้ดิน หรือไปป์ แจ๊กกิ้ง ที่จำเป็นเพื่อเอาน้ำในซอยลงมาที่คลองให้ได้

ส่วนสถานการณ์น้ำเหนือ นายชัชชาติกล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนประมาณ 900 ล้านลบ.ม.ต่อวินาที ยังไม่ได้รุนแรงมาก ปีที่แล้วที่ท่วมหนัก แถวถนนทรงวาด ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อน 2,200 ล้าน ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งเราแก้ปัญหาได้ แต่ต้องไม่ประมาท เพราะแนวฟันหลอต่อให้น้ำมาไม่เยอะก็ท่วมได้ จึงต้องเตรียมกระสอบทรายไปเสริม ซึ่งแนวฟันหลอเกิดจากส่วนหนึ่งเอกชนไม่ให้สร้างเขื่อน บอกว่ากลัวผิดฮวงจุ้ย ไม่อยากให้ทำ สุดท้ายน้ำมาท่วมทั้งหมู่บ้าน ดังนั้นต้องฝาก บางทีต้องเสียสละเหมือนกัน อย่างน้อยให้กทม.เรียงกระสอบทรายก่อน ตรงที่เป็นฟันหลอ ตรงถนนทรงวาด มีอยู่เกือบ 200 เมตร ช่วงนี้อาจไม่ต้องกังวลเรื่องความสวยงามหรือฮวงจุ้ยมาก เอาชีวิตรอดก่อน จะได้ดูแลเพื่อนบ้านเราด้วย

นาจม – ชาวนาลอยคอชี้ให้ดูนาข้าวที่ถูกน้ำท่วมสูงจากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทุ่งสัมฤทธิ์ (เขื่อนพิมาย) อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ยกบานประตูระบายน้ำขึ้นทั้งหมด 6 บาน เร่งระบายน้ำลงท้ายเขื่อนจนเอ่อเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรนับพันไร่ เมื่อวันที่ 29 ก.ค.

ท้ายเขื่อนพิมายจมกว่าเมตร
ขณะที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาทุ่งสัมฤทธิ์ (เขื่อนพิมาย) อ.พิมาย จ.นครราชสีมา ได้ยกบานประตูระบายน้ำด้านท้ายเขื่อนขึ้นทั้งหมด 6 บาน เพื่อเร่งระบายน้ำ ส่งผลให้มวลน้ำจำนวนมากที่ปล่อยออกไป ได้ไหลเอ่อเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรที่อยู่ด้านท้ายเขื่อน ถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหายระดับน้ำสูง กว่า 1 เมตร โดยนาข้าวของเกษตรกรที่อยู่ติดกับลำน้ำมูนได้รับความเสียหายกว่า 1,000 ไร่ ในพื้นที่ ต.ในเมือง และ ต.ท่าหลวง ก่อนขยายออกเป็นวงกว้าง คาดว่าปริมาณน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นอีกและขยายพื้นที่ไปอีก เพิ่มความเสียหายออกไปมากขึ้น เนื่องจากยังคงมีมวลน้ำก้อนใหญ่ไหลเข้ามาสะสมภายในเขื่อนพิมายต่อเนื่องทุกวัน นอกจากนี้น้ำปริมาณดังกล่าวยังได้ไหลเอ่อเข้าท่วมถนนสายบ้านใหม่ไทรงาม ไปบ้านท่าหลวง อ.ท่าหลวง และอ.พิมาย อีกด้วย

นางจำรัส บัวจัสตุรัส อายุ 47 ปี ชาวนา อ.พิมาย ที่อยู่บริเวณท้ายเขื่อนพิมาย กล่าวว่า มีพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด 80 ไร่ ลงทุนไปกว่า 60,000 บาท เริ่มปลูกข้าวมาแล้วกว่า 1 เดือน เพิ่งหว่านปุ๋ยไปได้ 3 วัน น้ำก็ไหลเอ่อเข้าท่วมได้รับความเสียหายทั้งหมด ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาดูแล

ปิดน้ำตกเหวนรก 2 เดือน
นายชัยยา ห้วยหงษ์ทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝน และเกิดน้ำป่าไหลหลากลงมาจากภูเขาสูงรุนแรง ก่อให้เกิดอันตรายต่อสัตว์ป่าที่ออกหากินที่เดินข้ามลำธาร และอันตรายต่อนักท่องเที่ยว ประกอบกับมีช้างป่า 2 ตัวถูกน้ำป่าพัดตกเหวนรกตายเพื่อการเก็บกู้ซากช้างป่าขึ้นมาจากน้ำเพื่อฝังกลบ และเป็นช่วงปิดจุดท่องเที่ยวเหวนรกตามฤดูกาล

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จึงมีประกาศปิดเหวนรก 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค.-30 ก.ย.2565 ตามที่ นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีประกาศ ปิดการท่องเที่ยวตามฤดูกาล ประจำปี ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงฤดูการของธรรมชาติ รวมทั้งเป็นการฟื้นฟูทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว

“ปกติเหวนรกจะปิดตามฤดูกาลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. เป็นต้นไปกำหนด 2 เดือน แต่คราวนี้มีเหตุช้างป่าถูกน้ำพัดพาตกลงเหวนรกตาย จึงจำเป็นต้องปิดก่อนกำหนด 4 วัน น้ำตกเหวนรก มีน้ำตกรุนแรง มีความสูงของชั้นน้ำตกกว่า 150 เมตร ไม่ว่าสัตว์หรือมนุษย์ถ้าตกลงไปโอกาสรอดยาก ส่วนบริเวณจุดชมวิวผาเดียวดาย ยังปิดต่อเนื่อง ซึ่งถือว่าเป็นจุดที่อันตราย มีหน้าผาสูงชันอีกจุดหนึ่ง พื้นหินทางเดินลื่นน้ำเกาะ ทำให้ลื่นง่ายในช่วงฤดูฝน โดยจะเปิดให้เข้าไปท่องเที่ยวได้ในราวต้นเดือนต.ค.นี้” นายชัยยากล่าว

นายชัยยากล่าวด้วยว่า ขอฝากไปยัง นักท่องเที่ยวว่า การท่องเที่ยวอุทยานฯ ต้องปฏิบัติตามระเบียบการป้องกันโรคติดต่อการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 สวมแมสก์ ส่วนการเดินทางมาได้ทั้ง 2 ด้านคือ ด่านศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา และด่านทางขึ้นเนินหอม จ.ปราจีนบุรี โดยช่วงนี้ถือว่าพบสัตว์ป่าออกมาหากินเป็นจำนวนมาก เช่น ช้างป่า เก้ง กวาง และสัตว์ป่าอื่นๆ ออกมาหากินให้นักท่องเที่ยวได้ชม

เติมน้ำใต้ดิน – นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดโครงการทดลองเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินผ่านระบบสระเติมน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำก่ำ แก้ปัญหาภัยแล้ง ที่สระเติมน้ำบ้านดงขวาง ต.ดงมะไฟ อ.เมือง จ.สกลนคร เมื่อวันที่ 29 ก.ค.

นำร่องเติมน้ำใต้ดินที่สกลฯ
ด้านนายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล พร้อมด้วย นายชานน วาสิกศิริ รองผวจ.สกลนคร นายนเรศ ชมบุญ ผอ.สำนักทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัด จ.ส.อ.คำนึง พรหมพิมพ์ นายอำเภอเมือง น.ส.สุภาวดี ตระกูลศรสูรย์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดงมะไฟ ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ ต.ดงมะไฟ ร่วมพิธีเปิดโครงการทดลองเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินผ่านระบบสระเติมน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำก่ำ ที่สระเติมน้ำบ้านดงขวาง ต.ดงมะไฟ อ.เมือง จ.สกลนคร

นายศักดิ์ดากล่าวว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาล จากผลการศึกษา 3 พื้นที่ พบว่าสามารถเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำบาดาลระดับตื้นต่อปีได้มากกว่า 50,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ประกอบด้วย 1.บ้านดงขวาง ต.ดงมะไฟ เติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำบาดาลได้ประมาณ 112,600 ลบ.ม.ต่อปี หรือ 308 ลบ.ม.ต่อวัน มีทิศทางการไหลของน้ำที่เติมไปในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และน้ำเคลื่อนที่ได้ไกลที่สุด 1,805 เมตร ในเวลา 10 ปี 2.บ้านนาเชือกน้อย ต.หนองเทาใหญ่ อ.ปลาปาก จ.นครพนม เติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำบาดาลได้ 107,600 ลบ.ม.ต่อปี หรือ 294 ลบ.ม.ต่อวัน มีทิศทางการไหลของน้ำที่เติมไปในทิศตะวันออก และมีผลการคาดการณ์ในระยะเวลา 10 ปี น้ำเคลื่อนที่ได้ไกลที่สุด 525 เมตร และ 3.บ้านใหม่วังเซือม ต.ปลาปาก อ.ปลาปาก จ.นครพนม เติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำบาดาลได้ 58,600 ลบ.ม.ต่อปี หรือ 160 ลบ.ม.ต่อวัน โดยมีทิศทางการไหลของน้ำที่เติมไปในทิศตะวันตกเฉียงใต้ และมีผลการคาดการณ์ในระยะเวลา 10 ปี น้ำเคลื่อนที่ได้ไกลที่สุด 1,266 เมตร ซึ่งช่วยเพิ่มปริมาณน้ำบาดาลระดับตื้นในฤดูแล้ง และช่วยลดความเสียหายจากน้ำท่วมขังในฤดูฝน สร้างความมั่นคงด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำก่ำ จ.สกลนคร และจ.นครพนมอย่างยั่งยืน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน