กรุงเก่าวุ่นสั่งกู้5อำเภอ ระดมสูบลงเจ้าพระยา

เขื่อนป่าสักเตรียมระบายเพิ่มเกือบเท่าตัว เตือนจังหวัดท้ายเขื่อนเฝ้าระวัง ลพบุรี-สระบุรี-อยุธยา ต้องระวัง ขณะที่กรุงเก่าท่วมแล้ว 5 อำเภอ เร่งสูบน้ำระบาย เหนือ-อีสาน ยังหนักพิษฝนถล่มน้ำป่าซัดหลายพื้นที่ ทั้งที่พะเยา-ลำปาง ต้องอพยพวุ่น ที่แพร่น้ำป่ามากลางดึก ท่วมทันที ซัดหนุ่มวัย 26 สูญหาย เร่งติดตามหา แม่ฮ่องสอนกัดเซาะสะพาน-ถนนขาดเสียหาย สัตว์เลี้ยงถูกน้ำซัดเสียหาย ส่วนที่ชาติตระการ พิษณุโลก น้ำทะลักสลดสามีภรรยาช่วยกันเก็บของหนีน้ำกลับถูกไฟชอร์ตดับ ปภ.เตือน 4 จังหวัด เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด อุบลฯ น้ำล้นตลิ่งอีก

อุตุเตือนทุกภาคยังมีฝนหนัก
วันที่ 21 ส.ค. กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 21-22 ส.ค.2565 ระบุว่า ร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านประเทศเมียนมา ภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน และอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังปานกลาง ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ และมีฝนตกหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพ มหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม

วันที่ 22 ส.ค. ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง สุโขทัย กำแพงเพชร และตาก

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา และบุรีรัมย์

ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทร สาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล

ภาคตะวันออก : จังหวัดฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้ : จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบน มีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

ปภ.สรุปท่วมแล้ว 19 จังหวัด
ขณะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย รายงานจากสถานการณ์ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศลาวตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ ขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศเมียนมาและประเทศลาวตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง และการระบายน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่ง โดยตั้งแต่วันที่ 15-21 ส.ค. ได้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่รวม 19 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ลำปาง พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร ลำพูน ตาก นครสวรรค์ มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ ศรีสะเกษ มุกดาหาร ยโสธร อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง รวม 46 อำเภอ 118 ตำบล 399 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 12,621 ครัวเรือน

ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 8 จังหวัด รวม 13 อำเภอ 54 ตำบล 198 หมู่บ้าน ดังนี้ ชัยภูมิ เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่อ.แก้งคร้อ น้ำได้ท่วมผิวการจราจรหลายจุด ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 20-30 ซ.ม. ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ

ยโสธร เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ชุมชนเมืองยโสธร อ.เมืองยโสธร และน้ำยังได้ท่วมผิวการจราจรบนถนนวิทยะธัมรงค์ ซอย 10 ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ มุกดาหาร เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่เทศบาลตำบลนิคมคำสร้อย อ.นิคมคำสร้อย น้ำได้ท่วมผิวการจราจรบริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212 บริเวณหน้าโรงเรียนคำสร้อยพิทยาสรรค์ ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 10-20 ซ.ม. ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ

มหาสารคาม เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.โกสุมพิสัย และอ.บรบือ รวม 3 ตำบล 3 หมู่บ้าน ความเสียหายอยู่ระหว่างการสำรวจ ปัจจุบันระดับน้ำลดลง ปราจีนบุรี เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ชุมชนตลาดเก่าเทศบาลตำบลกบินทร์ อ.กบินทร์บุรี ประชาชนได้รับผลกระทบ 23 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว ขอนแก่น เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่อ.มัญจาคีรี รวม 2 ตำบล 5 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 37 ครัวเรือน และน้ำยังได้ท่วมผิวการจราจรบริเวณทางหลวงหมายเลข 229 ดอนบ้านไผ่-มัญจาคีรี ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 40 ซ.ม. ปัจจุบันระดับน้ำลดลง

อุบลราชธานี เกิดน้ำเอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่ชุมชนวังแดง เทศบาลนครอุบลราชธานี อ.เมืองอุบลราชธานี ประชาชนได้รับผล กระทบ 17 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง พระนครศรี อยุธยา เกิดน้ำล้นตลิ่งจากการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เสนา อ.ผักไห่ อ.บางบาล อ.บางไทร และอ.บางปะหัน รวม 44 ตำบล 182 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 5,286 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น

4 จังหวัดระวังน้ำล้น22-25ส.ค.
กอปภ.ก. ระบุว่า พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขังระหว่างวันที่ 22-25 ส.ค.ดังนี้ ลุ่มน้ำป่าสัก แม่น้ำป่าสัก บริเวณอ.หล่มเก่า และหนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ คาดการณ์ระดับน้ำจะสูงกว่าตลิ่งบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำป่าสักประมาณ 0.60 ม. ลุ่มน้ำชี แม่น้ำชี บริเวณอ.เมืองอุบลราชธานี และเขื่องใน จ.อุบลราชธานี ลำน้ำยัง บริเวณอ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด ลำปะทาว บริเวณอ.เมือง จ.ชัยภูมิ

ลุ่มน้ำมูล แม่น้ำมูล บริเวณอ.เมืองอุบลราชธานี พิบูลมังสาหาร วารินชำราบ และสว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี ลำเซบก บริเวณอ.ม่วงสามสิบ ดอนมดแดง และตาลสุม จ.อุบลราชธานี ลำโดมใหญ่ บริเวณอ.น้ำยืน นาจะหลวย บุณฑริก เดชอุดม นาเยีย และพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี

จึงแจ้ง 4 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด และอุบลราชธานี ดำเนินการจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ และสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตรในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำ พร้อมแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำและลำน้ำ โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำตามริมแม่น้ำ ลำน้ำ เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือน้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขัง

ล้นป่าสัก – น้ำป่าทะลักล้นแม่น้ำป่าสักเข้าท่วมบ้านเรือนพื้นที่หมู่ 1 บ้านวังขอน ต.ตาดกลอย อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ เป็นบริเวณกว้าง หลังฝนตกหนักตลอดคืน ขณะที่หลายจังหวัดในภาคเหนือก็โดนน้ำท่วมหนัก เมื่อวันที่ 21 ส.ค.

เขื่อนป่าสักเร่งระบาย
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เตือนประชาชนให้ระมัดระวังอันตรายจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องทั่วทั้งประเทศไทย ในช่วงวันที่ 20-24 ส.ค.นี้ ขอให้ระมัดระวังการเกิดน้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มในพื้นที่เชิงเขา การเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ รวมถึงพื้นที่ที่มีการกีดขวางทางระบายน้ำ โดยจะมีผลกระทบต่อพื้นที่ต่างๆ ในระดับที่ใกล้เคียงกับผลจาก พายุมู่หลานที่ผ่านมา

นายอนุชากล่าวว่า จากสถานการณ์ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกําลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศเมียนมาและประเทศลาวตอนบนประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทย ทําให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง และการระบายน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการควบคุมระดับน้ำและปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ จะเพิ่มการระบายโดยทยอยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับจากอัตรา 280 ลบ.ม.ต่อวินาที ตั้งแต่เวลา 12.00 น. วันที่ 21 ส.ค. จนถึง 400 ลบ.ม.ต่อวินาที ในวันที่ 22 ส.ค. เวลา 12.00 น. ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อทรัพย์สินของประชาชน ขอให้ประชาชนในพื้นที่เตรียมรับมือกับสถานการณ์ และปฏิบัติตามการแจ้งเตือนอย่างใกล้ชิด

ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดต่อทรัพย์สินของประชาชนจากการที่ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่พื้นที่ จังหวัดลพบุรี สระบุรี และ อยุธยา จะเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน อีกประมาณ 0.90-2.00 ม.โดยระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นยังอยู่ในลำน้ำ ไม่เกิดสภาวะน้ำล้นตลิ่งแม่น้ำป่าสัก แต่เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ขอแจ้งเตือน 3 จังหวัด ด้านท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกาศประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัท ห้างร้าน ที่ประกอบกิจการในแม่น้าป่าสัก อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร เป็นต้น รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำป่าสัก ให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำ อย่างใกล้ชิดต่อไป

กาฬสินธุ์น้ำท่วมนา 100 ไร่
สำหรับสถานการณ์ในจังหวัดต่างๆ ที่จ.กาฬสินธุ์ ฝนตกต่อเนื่องเกิดน้ำป่าเขา ภูพานไหลลงสู่ห้วยลำพะยัง และลำห้วยยาง ส่งผลให้ปริมาณน้ำเอ่อเข้าท่วมนาข้าวของเกษตรกรในพื้นที่อำเภอนาคู และอำเภอเขาวง กว่า 100 ไร่ โดยเฉพาะพื้นที่นาข้าวของเกษตรกรใน ต.สระพังทอง ต.กุดสิมคุ้มใหม่ อ.เขาวง และ ต.สายนาวัง ต.โนนนาจาน ต.ภูแล่นช้าง อ.นาคู ซึ่งเริ่มได้รับผลกระทบ หลังจากปริมาณน้ำทั้งสองลำห้วยเอ่อล้นเข้าท่วมนาข้าวที่กำลังอยู่ในช่วงเติบโตลึกถึง 1 เมตร และมีบางจุดที่เป็นพื้นที่ราบลุ่มมีความลึกกว่า 2 เมตร เบื้องต้นมีพื้นที่นาข้าวของเกษตรกรถูกน้ำแล้วกว่า 100 ไร่

นอกจากนี้ยังมีพื้นที่นาข้าวใน ต.แจนแลน อ.กุฉินารายณ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ทางน้ำเริ่มได้รับผลกระทบบ้างแล้วเช่นกัน ทั้งนี้หากยังมีฝนตกหนักลงมาซ้ำอีกในช่วงนี้ อาจจะทำให้น้ำป่าจากเขาภูพานไหลลงมาที่ลำห้วยยางและลำห้วยลำพะยังเพิ่มมากขึ้น และเอ่อล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมพื้นที่นาข้าวของเกษตรกรขยายวงกว้างเพิ่มขึ้นอีก

ถอนราก – ต้นโพธิ์เก่าแก่อายุกว่า 100 ปี ในวัดโพธิ์ศรีบ่อใหญ่ ต.บ่อใหญ่ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม โค่นล้มจาก พิษฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ทำให้ดินอ่อนตัว โชคดีไม่มีใครบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เมื่อวันที่ 21 ส.ค.

ที่จ.มหาสารคาม ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ที่วัดโพธิ์ศรีบ่อใหญ่ ต.บ่อใหญ่ อ.บรบือ จ.มหาสารคาม ภายหลังจากทราบว่า ต้นโพธิ์ที่มีอายุกว่า 100 ปี ขนาด 7 คนโอบ หักโค่น เพราะฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา เนื่องจากต้นโพธิ์มีอายุมาก ประกอบกับดินอ่อนตัว จึงโค้นล้มลง โดยพระ แม่ชี และหมอธรรมประจำหมู่บ้าน ได้มาสวดขอขมาโพธิ์ และสวดสูตรถอด เพื่อขอตัดแต่งและเคลื่อนย้ายกิ่งก้านให้พ้นทาง

นายหวัน ดำหรือ อายุ 62 ปี มัคนายกวัด เล่าว่า วัดโพธิ์ศรีบ่อใหญ่ สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2430 ต้นโพธิ์ต้นนี้มีมาตั้งแต่ก่อนตั้งวัด เพราะในสมัยก่อนชาวบ้านจะหาพื้นที่สร้างวัด ที่ตรงนั้นต้องมีต้นโพธิ์ ก่อนที่ชาวบ้านจะสร้างวัดสร้างโบสถ์ขึ้น โดยต้นโพธิ์ต้นดังกล่าวอยู่กับวัดมานานกว่า 100 ปี ตอนที่ต้นโพธิ์ล้ม ตนอยู่ในบ้านมีความรู้สึกว่าสะดุ้ง ตกใจ คิดว่าต้องมีเหตุอะไรบางอย่าง สักพักก็มีคนมาบอกว่าต้นโพธิ์ล้ม จึงได้ออกมาดู ก่อนจะโทร.แจ้งผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และเจ้าหน้าที่ อบต.บ่อใหญ่ มาดูและตัดแต่งกิ่งต้นโพธิ์ ทรัพย์สินที่เสียหายมีแค่เสาไฟเสาเดียว ซึ่งถือว่าโชคดีที่ไม่ล้มไปทับกำแพง และซุ้มประตูโบสถ์ของวัด ตนคิดว่าเป็นเพราะบารมีเจ้าปู่บ่อใหญ่ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน เป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้าน ปกปักรักษา ไม่ให้เกิดเหตุเภทภัย เพราะหากต้นโพธิ์ล้มผิดองศาไปนิดเดียว ก็จะล้มทับซุ้มประตูทางเข้าโบสถ์เสียหายไปมากกว่านี้

อุบลฯระทึกแม่น้ำมูลจ่อล้นตลิ่ง
ที่จ.อุบลราชธานี นายพงษ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าฯ อุบลราชธานี พร้อมเจ้าหน้าที่ สำรวจเส้นทางระบายน้ำตามถนนสำคัญทางเศรษฐกิจภายในตัวเมือง ตั้งแต่ถนนชยางกูร ถนนแจ้งสนิท ถนนอุปลีสาน ถนนเลี่ยงเมือง เมื่อเกิดฝนตกหนักเกิดน้ำท่วมขังตามผิวจราจร และไหลเข้าท่วมบ้านเรือนสองฝั่งถนน โดยถนนแจ้งสนิทตัดชยางกรูและจุดที่เชื่อมต่อกับท่อระบายน้ำของแขวงทางหลวงที่กำลังสร้างทางลอดถนนเลี่ยงเมือง เมื่อการก่อสร้างเสร็จในปลายปีนี้ จะทำให้น้ำไหลลงแม่น้ำมูลได้เร็วลดการท่วมขังตามผิวจราจร

สำหรับถนนชยางกรูช่วงห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ที่มีลำรางสาธารณะส่งน้ำไปลงแม่น้ำมูลมีขนาดเล็ก เมื่อฝนตกหนักทำให้น้ำระบายไม่ทัน เทศบาลจะขยายลำรางให้กว้างขึ้น เพื่อรองรับปริมาณน้ำฝน เมื่อเกิดฝนตกหนักได้มากกว่านี้ เพราะเมื่อสองสามวันก่อน น้ำจากลำรางได้ไหลท่วมลานจอดรถชั้นใต้ดินของเดอะแกรนด์คอนโดฯ ทำให้ท่วมรถของผู้พักอาศัย ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้นำเครื่องสูบน้ำมาติดตั้งสูบน้ำชั่วคราว จนกว่าเครื่องสูบน้ำของคอนโดฯ ที่เสียจะซ่อมเสร็จ ส่วนการระบายน้ำตามถนนสายสำคัญเส้นอื่น ถ้าฝนหยุดตกไม่เกิน 1 ชั่วโมงระดับน้ำก็จะลดลง

สำหรับแม่น้ำมูลที่สถานีวัดน้ำ M7 สะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมืองวันนี้น้ำได้ปรับตัวสูงขึ้นอีก 42 ซ.ม. ทำให้ขณะนี้ แม่น้ำมูลสูง 6.05 ม. ต่ำกว่าตลิ่งเพียง 95 ซ.ม. ซึ่งหน่วยงานได้มีการระดมกำลังเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ เมื่อแม่น้ำมูลเกิดล้นตลิ่งไว้แล้ว

‘พะเยา-ลำปาง’น้ำป่าถล่ม
ที่จ.พะเยา พายุฝนกระหน่ำหลายชั่วโมง ทำให้น้ำไหลหลากเข้าท่วมหลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่อ.ดอกคำใต้ และอ.ปง เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมหมู่บ้านในพื้นที่บ้านแบ่ง ต.งิม อ.ปง และอีกหลายพื้นที่ราบลุ่ม และพื้นที่เสี่ยงทำให้ประชาชนในพื้นที่ ได้รับผลกระทบ จากน้ำท่วมไหลหลากบ้านเรือน ถนนไร่นา เรือกสวน ต้องขนย้ายข้าวของสิ่งของมีค่าออกจากบ้านเรือนและไว้ที่สูงอย่างรีบด่วน

สำหรับขณะนี้ฝนยังคงตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำลำคลองต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ อ.ปง มีน้ำท่วมหลายตำบล ขณะที่เจ้าหน้าที่ กำนัน ผญบ.และฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่นได้แจ้งเตือนประชาชนที่อยู่พื้นที่เสี่ยงได้รับผล กระทบให้รีบเก็บข้าวของไว้ที่สูง พร้อมกับระดมกำลังเจ้าหน้าที่ให้การช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในครั้งนี้ด้วย

นางกัญญาณัฐ ศรีใจ นายกเทศมนตรีต.งิม อ.ปง เผยมีหมู่บ้าน 5 หมู่บ้านได้แก่หมู่ที่ 2, 3, 5, 8 และหมู่ที่ 15 เขตเทศบาลตำบลเงิน บ้านเรือนชาวบ้านได้รับผล กระทบถูกน้ำเข้าท่วมประมาณ 100 หลังคาเรือน ขณะที่พื้นที่ทางการเกษตรในพื้นที่ตำบลงิม อำเภอปง จังหวัดพะเยา ได้รับผลกระทบทั้ง 19 หมู่บ้านซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในช่วงของการสำรวจความเสียหายอยู่ โดยเบื้องต้นทางเทศบาลตำบลงิม ได้ดำเนินการที่จะเข้าช่วยเหลือโดยการนำน้ำ อาหาร แจกจ่ายให้กับชาวบ้าน เนื่องจากชาวบ้านไม่สามารถที่จะประกอบอาหารรับประทานเองได้

ที่จ.ลำปาง เกิดเหตุการณ์น้ำป่าที่ไหลหลากอย่างรุนแรงที่น้ำตกวังแก้ว ภายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยหลวง ต.วังแก้ว อ.วังเหนือ จ.ลำปาง โดยหลังเกิดเหตุทางเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติดอยหลวง แจ้งเตือนไปยังส่วนราชการและส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง ให้แจ้งเตือนประชาชนที่มีบ้านเรือนติดอยู่ลำห้วยให้ไหลผ่านอพยพ และขนย้ายทรัพย์สินไปที่สูงเรียบร้อยแล้ว

สองแควไฟชอร์ตดับ 2 ผัวเมีย
ที่อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก มีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ลำน้ำภาค ลำน้ำสายหลักของอ.ชาติตระการล้นตลิ่งและไหลหลากข้าท่วมพื้นที่บ้านปากรอง ม.3 ต.ชาติตระการ อ.ชาติตระการ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ริมลำน้ำภาค และใกล้กับน้ำตกชาติตระการ ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ท่วมพื้นที่บ้านเรือนราษฎรนับ 100 หลังคาเรือน ในช่วงเวลาประมาณ 02.30 น. ที่ผ่านมา ระดับน้ำที่ล้นเข้าท่วมหมู่บ้านสูง 1-1.5 เมตร สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือน รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และทรัพย์สินบริเวณชั้นล่างของบ้านเรือนจำนวนมาก โดยมีผู้เสียชีวิต 2 ราย จากการถูกน้ำท่วมบ้าน เพราะกระแสไฟฟ้าชอร์ต

สำหรับผู้เสียชีวิต 2 ราย เป็นสามีภรรยากัน ชื่อนายคนึง พุดฉิม อายุ 48 ปี และนางณัฐกุลภรณ์ กันกล่ำ พนักงานราชการกรม อุทยานฯ อายุ 48 ปี บ้านเลขที่ 10/1 ม.3 บ้านปากรอง ต.ชาติตระการ บ้านถูกน้ำท่วมชั้นล่าง ขณะเก็บของเคลื่อนย้ายขึ้นที่สูง โดยนางณัฐกุลภรณ์ กันกล่ำ ช่วยสามีเก็บของทำให้เกิดไฟฟ้าชอร์ต ระหว่างนั้นสามีได้รีบเข้าไปช่วย ทำให้เสียชีวิตทั้งคู่ ขณะนี้เจ้าหน้าที่กู้ภัยได้เข้าไปช่วยเหลือและนำร่างผู้เสียชีวิตออกมาแล้ว

สรุปสถานการณ์ในพื้นที่ อ.ชาติตระการ เบื้องต้น ต.ชาติตระการ 5 หมู่บ้าน 150 หลังคาเรือน มีผู้เสียชีวิตจากเหตุน้ำท่วมถูก ไฟฟ้าดูด ม.3 ต.ชาติตระการ เป็นสามีภรรยา 2 ราย ส่วนลูกชาย เรียนชั้น ม.1 เร่งดูแลช่วยเหลือ

ส่วน ต.ท่าสะแก 3 หมู่บ้าน 50 หลังคาเรือน ต.บ่อภาค 1 หมู่บ้าน 10 หลังคาเรือน เบื้องต้นได้กำหนดจุดอพยพสำหรับประชาชนและ ขนย้ายสิ่งของ และมอบหมาย อบต. ในพื้นที่รับผิดชอบในการจัดเตรียมอาหารและน้ำดื่มสำหรับผู้ประสบภัย

ล่าสุดนายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ลงพื้นที่ด้วยตนเองเพื่อดูแลสั่งการช่วยเหลือผู้ประสบภัย แจกจ่ายเครื่องอุปโภค บริโภค ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่อ.นครไทย และชาติตระการ โดยที่ อ.นครไทย ณ ที่ทำการ ผู้ใหญ่บ้าน ม.7 ต.นครชุม จำนวน 50 ชุด อ.ชาติตระการ ณ วัดท่าสะแก 50 ชุด และ อบต.ชาติตระการ 150 ชุด

แพร่น้ำป่าซัดสูญหาย
ที่จ.แพร่ นายสายัณห์ กาวีวงศ์ หน.ปภ.แพร่ เมื่อตี 3 ที่ผ่านมา เกิดฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดแพร่ ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก ท่วมบ้านเรือนประชาชนและสิ่งสาธารณประโยชน์ ส่งผลให้บ้านเรือนได้รับผลกระทบ 2 อำเภอ 2 ตำบล 3 หมู่บ้าน มีผู้สูญหาย 1 ราย รายละเอียด ดังนี้การให้ความช่วยเหลือ อ.ร้องกวาง ต.บ้านเวียง หมู่ 5 และ หมู่ 13 น้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนและพื้นที่การเกษตร

โดยนายนิกร พรมท้าว นายกทต.บ้านเวียง เข้าสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือเบื้องต้นอบจ.แพร่ นำเครื่องจักรกลเข้ากำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำมีผู้สูญหาย 1 คน คือนาย จีระวัฒน์ ถาฐาน อายุ 26 ปี อยู่ระหว่างการค้นหา

นางเบญจมาศ อินกา อายุ 49 ปี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 14 ต.บ้านเวียง กล่าวว่า เมื่อช่วงเวลา 04.00 น.ต้องสะดุ้งตื่น เมื่อได้ยินเสียงมวลน้ำขนาดใหญ่มาและทำเอาฝายน้ำล้นที่เชื่อมต่อระหว่างหมู่ 14 และ หมู่ 3 ได้รับความเสียกัดเซาะน้ำเข้าท่วมในหมู่บ้าน เป็นน้ำที่มาจากเก็บน้ำแม่เติ๊ก ปลากระชังของชาวบ้านได้สูญหายไปกว่า 10 ราย มีต้นสักล้มด้วย นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงในรอบ 7-8 ปี ขณะนี้ได้ให้ชาวบ้านได้ระมัดระวังเนื่องจากทราบมาว่าน้ำในอ่างเก็บน้ำแม่ถาง เริ่มล้นสปิลเวย์แล้ว

แม่ฮ่องสอนถนนขาด
ที่จ.แม่ฮ่องสอน ฝนตกหนักเมื่อคืนที่ผ่านมา ทำให้ถนน สะพาน พื้นที่การเกษตร เสียหายเป็นจำนวนมาก อาทิ ถนนเส้นทางลำลองเลี่ยงเมืองอำเภอขุนยวมหมู่ที่ 1 ถูกกระแสน้ำหลากกัดเซาะจนทำให้ผิวถนนพังรถยนต์ไม่สามารถผ่านได้ และถนนขึ้นสู่หมู่บ้านหว่าโน ต.แม่ ยวมน้อย ถูกกระแสน้ำกัดเซาะบล็อกคอนเวิร์สขาด รถทุกชนิดไม่สามารถผ่านได้ และถนนเชื่อมต่อหมู่บ้านแม่ซอหมู่ที่ 5 ต.เมืองปอน ถูกกระแสน้ำลำน้ำปอนที่เชี่ยวกราก กัดเซาะคอสะพานขาดรถทุกชนิดไม่สามารถผ่านไปมาได้ วัวของชาวบ้านที่ผูกไว้ในสวนถูกกระน้ำพัดหายไป 1 ตัว และล้มตายไป 1 ตัว

ที่วัดแม่สะกึด หมู่ 4 ต.ผาบ่อง อ.เมือง น้ำป่าในลำห้วยแม่สะกึดไหลบ่าอย่างแรง กัดเซาะที่ดินของวัดลึกเข้ามากว่า 3 เมตร ส่งผลให้โรงครัวที่ใช้ประกอบอาหารเลี้ยงแขกในงานบุญต่างๆ 2 โรง ทรุดตัวลงไปในลำห้วยแม่สะกึด ทำให้อุปกรณ์ทำครัวทั้งหมด สูญหายไปกับน้ำป่า ทางวัดขอให้ญาติโยมพากันรื้ออาคารโรงครัวที่เหลือเพียงครึ่งเดียวออกทั้งหมด นอกจากอาคารโรงครัวแล้ว อาคารศาลาการเปรียญที่อยู่ติดกัน ก็ได้รับผลกระทบจากน้ำป่ากัดเซาะดิน ส่งผลให้เสาอาคาร 3 ต้นลอยกลางอากาศ และหากมีน้ำป่ามาอีกครั้งน่าจะ ส่งผลกระทบต่อศาลาการเปรียญอย่างแน่นอน

ที่อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ฝนตกบนเทือกเขาเลย วัดปริมาณน้ำฝนได้ถึง 206.2 มิลลิเมตร ส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลทะลักเข้าท่วมในพื้นที่ ต.ศิลาและตำบลตาดกลอย น้ำป่ามีความรุนแรงและมีระดับสูงเกือบ 1 เมตร อาสากู้ภัยระดมกำลังเข้าช่วยเหลืออพยพประชาชนออกมาจากพื้นที่ ขณะที่ระดับน้ำยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนั้นน้ำป่ายังได้ไหลทะลักลงสู่แม่น้ำป่าสัก ไหลเอ่อล้นท่วมบ้านเรือนประชาชนที่อยู่สองฝั่งแม่น้ำ รวมทั้งได้ไหลท่วมเส้นทาง ทางหลวงหมายเลข 2216 ตอน โคกมน-กกกะทอน ระหว่าง ก.ม.80+450 -ก.ม.80+725 ระดับน้ำท่วมผิวจราจร 90 ซ.ม. การจราจรรถทุกชนิดไม่สามารถผ่านได้

นายเสกสรร กลิ่นพูน นายอำเภอหล่มเก่า เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมที่อำเภอหล่มเก่า เริ่มคลี่คลาย เนื่องจากในพื้นที่อำเภอหล่มเก่ามีฝนตกลงมาไม่มาก เดิมที่มีน้ำท่วม 2 ตำบล มีประชาชนได้รับผลกระทบ 10 หมู่บ้าน คือ ตำบลศิลา 3 หมู่บ้าน ต.ตาดกลอย 7 หมู่บ้าน แต่ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมได้ลดลงจาก 10 หมู่บ้าน เหลือเพียง หมู่ที่ 1 บ้านวังขอน และหมู่ที่ 8 บ้านวังม่วง ต.ตาดกลอย ที่ยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่อยู่ นอกจากนั้นน้ำได้ลดระดับลงจนเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว ในขณะที่สะพานบ้าน ท่าไฮหย่อง ต.ศิลา ซึ่งเป็นจุดที่วัดระดับน้ำ เดิมที่ระดับน้ำอยู่ที่ 10 เมตรกว่าๆ แต่ตอนนี้ระดับน้ำลดลงเหลือ ประมาณ 8 ม. ซึ่งต่ำกว่าตลิ่ง 44 ซ.ม.และมีแนวโน้มว่าน้ำจะลดลงไปเรื่อยๆ ถ้าไม่มีฝนตกลงมาซ้ำอีก คาดว่าในวันพรุ่งนี้สถานการณ์น้ำท่วมอาจจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

เกี่ยวหนีน้ำ – ชาวนา ต.บางแตน อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ต้องรีบลงแขกเกี่ยวข้าวหนีน้ำ หลังฝนตกหนัก น้ำป่าไหลทะลักท่วมทุ่งนา รถเกี่ยวข้าวไม่สามารถลงเกี่ยวได้ เนื่องจากน้ำท่วมสูงเกือบ 1 เมตร เมื่อวันที่ 21 ส.ค.

ปราจีนฯ-อ่างทองก็ท่วม
ที่จ.ปราจีนบุรี น้ำป่าจากที่ไหลหลากท่วมพื้นที่ อ.ประจันตคาม ในต.โพธิ์งาม ต.บุฝ้าย ต.หนองแก้ว ต.ประจันตคาม ล่าสุดท่วมที่ชุมชนตลาดเก่า เทศบาลต.กบินทร์ อ.กบินทร์บุรี ระบายลงมาในแม่น้ำปราจีนบุรี ส่งผลให้พื้นที่ ต.บางแตน อันเป็นแหล่งรวมรับมวลน้ำสุดท้าย ที่บรรจบกันของแม่น้ำปราจีนบุรี กับแม่น้ำนครนายกที่น้ำไหลมาจาก จ.นครนายก ไหลมารวมบรรจบกันเป็นแม่น้ำบางปะกง ก่อนไหลผ่าน จ.ฉะเชิงเทรา ลงสู่ปากอ่าวไทย เอ่อล้นเข้าคลองบางต้นจิกและล้นตลิ่งท่วมนาข้าวเกษตรกร พื้นที่ลุ่มต่ำติดคลองบางต้นจิกหลายหมู่บ้าน ระดับน้ำลึกกว่า 80 ซ.ม. – 1 ม. รถเกี่ยวข้าวไม่สามารถลงเกี่ยวได้ ชาวบ้านพากันนำเรือยาง โฟมอัดแผ่นช่วยกันเกี่ยวข้าวที่ถูกน้ำท่วมยอดรวงข้าวโผล่ให้เห็นเล็กน้อย ทยอยขนนำมาขึ้นรถ อีแต๊กเพื่อนำไปตาก เพื่อไม่ให้ผลผลิตชาวนาเสียหายมากนัก

ที่จ.อ่างทอง แม่น้ำน้อย ซึ่งเป็นสาขาแม่น้ำเจ้าพระยา เอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ริมตลิ่ง บริเวณที่ราบลุ่มพื้นที่ หมู่ที่ 9 ต.บางจัก อ.วิเศษชัยชาญ ท่วมบ้านเรือนประชาชน สูงประมาณ30-60 ซ.ม. โดยบ้านเรือนประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำน้อยส่วนใหญ่ เป็นบ้านไม้ยกใต้ถุนสูง ชาวบ้านเร่งเก็บข้าวของขึ้นไว้ที่สูง รวมทั้งสร้างสะพานไว้เดินทางเข้าออกบ้านไปยังถนน ส่วนบ้านประชาชนที่อยู่ไกลออกไป ก็จะใช้เรือพายมายังถนนเพื่อใช้เดินทาง ชาวบ้านเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ เนื่องจากอยู่นอกคันกั้นน้ำ ซึ่งจะถูกน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ

สถานการณ์น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านจังหวัดอ่างทอง มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากฝนตกต่อเนื่องทำให้พื้นที่หลายจังหวัดภาคเหนือตอนบนต้องระบายน้ำลงสู่ภาคกลางตอนล่าง โดยเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ระบายน้ำลงสู่ท้านเขื่อน 1,500 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ที่ไหลผ่านจังหวัดอ่างทอง ที่ไหลผ่านสถานี โทรมาตร C7A บริเวณหน้าศาลากลาง จังหวัดอ่างทอง มีระดับน้ำสูง 6.17 ม. จากระดับตลิ่ง 10 ม. ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,465 ลบ.ม.ต่อวินาที

กรุงเก่าท่วม 5 อำเภอ-เร่งสูบ
ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ปภ.รายงานผล กระทบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย และลำคลองสาขา ล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมชุมชนริมน้ำในเขตจ.พระนครศรีอยุธยา แล้ว 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอผักไห่ เสนา บางบาล บางไทร และ บางปะหัน รวม 44 ตำบล 182 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 5,286 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นไปอีกเพราะเขื่อนเจ้าพระยายังปล่อยน้ำในปริมาณสูงที่ 1,500 ลบ.ม./วินาที

ขณะที่หลายหน่วยงานทั้ง ปภ.และกรมชลประทาน รวมถึงหน่วยงานท้องถิ่นกำลังเร่งตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ สูบน้ำจากทุ่งนาทิ้งลงแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อยในเขต อ.บางบาล, อ.เสนา, อ.ผักไห่ และ อ.บางไทร เพราะทุ่งนาเต็มไปด้วยต้นข้าวนาปรังที่จะเริ่มเก็บเกี่ยวได้ในต้นเดือนกันยายนนี้ แต่ปัจจุบันเกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง น้ำฝนท่วมทุ่งนา และกรมชลประทานไม่สามารถเปิดประตูน้ำผลักดันน้ำฝนทิ้งลงแม่น้ำได้เพราะระดับน้ำในแม่น้ำสูงกว่าในทุ่งนา จึงต้องใช้วิธีการสูบน้ำจากทุ่งทิ้งลงแม่น้ำ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน