เจ้าพระยาเอ่อ2เมตร ‘ปากน้ำ-นนทบุรี’ด้วย เตือน25จังหวัดเสี่ยง ฝนเทหนัก-ดินสไลด์

‘ชัชชาติ’ชี้ฝนเทจากสมุทรปราการ น้ำไม่มีที่ระบาย ไหลย้อนกลับมาท่วมพื้นที่ชานกรุงกทม. ทั้งเขตประเวศ พระโขนง สั่งเร่งเพิ่มระบายน้ำในคลอง รับมือทะเลหนุนต้นเดือนก.ย. ตั้งเครื่องดันน้ำเพิ่ม กรมทรัพยากรเตือน 25 จังหวัด เหนือ อีสาน และตะวันออก เฝ้าระวังดินถล่ม น้ำป่าไหลหลาก หลังฝนยังกระหน่ำหนัก หล่มสัก เพชรบูรณ์ อ่วมจม รอบสาม น้ำจากหล่มเก่าไหลบ่าเข้าท่วมบ้านริมตลิ่งกว่า 1 พันหลัง สูงครึ่งเมตร เกษตรกรปลากระชัง มโนรมย์ ชัยนาทโอด ปลาลอยตายเป็นเบือหลังเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มระบายน้ำ ซัดกระชังพัง ระดับน้ำคลองโผงเผง ที่อ่างทอง เพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังเขื่อนปล่อยน้ำเพิ่ม บ้านริมตลิ่ง 5 อำเภออยุธยา อพยพขึ้นที่สูง หนีน้ำทะลักกว่าครึ่งเมตร

เร่งช่วย 12 จังหวัดท่วมขัง
เมื่อวันที่ 22 ส.ค. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานจากสถานการณ์ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศลาวตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ ขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศเมียนมาและประเทศลาวตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง และการระบายน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่ง โดยตั้งแต่วันที่ 15-22 ส.ค. ได้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่รวม 26 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ลำปาง แม่ฮ่องสอน พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิจิตร ลำพูน ตาก นครสวรรค์ มหาสารคาม ขอนแก่น ชัยภูมิ ศรีสะเกษ มุกดาหาร บึงกาฬ ยโสธร อุบลราชธานี อุดรธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง รวม 71 อำเภอ 178 ตำบล 583 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 13,532 ครัวเรือน

ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมในพื้นที่ 12 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ แพร่ พิษณุโลก พะเยา น่าน อุบลราชธานี ขอนแก่น อุดรธานี ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง รวม 28 อำเภอ 95 ตำบล 339 หมู่บ้าน บางพื้นที่ระดับน้ำยังทรงตัว

เตือน 25 จว.น้ำป่า-ดินถล่ม
ด้านศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ประกาศแจ้งเตือนเฝ้าระวังภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ในระยะ 1-2 วันนี้ โดยขอให้อาสาสมัครเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัยของกรมทรัพยากรธรณี และประชาชนทั่วไปพื้นที่จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูณ์ ตาก เลย หนองบัวลำภู ขอนแก่น ชัยภูมิ หนองคาย อุดรธานี นครราชสีมา อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ระยอง จันทบุรี และตราด เฝ้าระวังภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ในระหว่างวันที่ 22-23 ส.ค.

โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มบริเวณอ.ขุนยวม แม่สะเรียง เมือง แม่ลาน้อย ปางมะผ้า ปาย จ.แม่ฮ่องสอน อ.ฮอด แม่แจ่ม แม่แตง กัลยาณิวัฒนา เชียงดาว แม่ออน จ.เชียงใหม่ อ.ห้างฉัตร สบปราบ แม่พริก เสริมงาม เมืองปาน แจ้ห่ม จ.ลำปาง อ.เมือง บ่อเกลือ เฉลิมพระเกียรติ ท่าวังผา ปัว ทุ่งช้าง เชียงกลาง นาน้อย นาหมื่น จ.น่าน อ.เมืองแพร่ ลอง วังชิ้น ร้องกวาง เด่นชัย จ.แพร่ อำเภอน้ำปาด ฟากท่า ท่าปลา ลับแล บ้านโคก พิชัย จ.อุตรดิตถ์ อ.ชาติตระการ นครไทย วังทอง จ.พิษณุโลก อ.หนองไผ่ เมือง ชนแดน หล่มเก่า หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เนื่องจากมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องและวัดปริมาณน้ำฝนได้มากกว่า 100 มิลลิเมตรต่อวัน ประกอบกับบางพื้นที่เริ่มมีน้ำป่าไหลหลากและการเลื่อนไถลของดินและหินแล้วอาจส่งผลให้เกิดดินถล่มได้

ขณะที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า (GISTDA) รายงานว่า จากการใช้ดาวเทียม คอสโม สกายเมด 1 เมื่อวันที่ 21 ส.ค. พบพื้นที่น้ำท่วมขังในบางส่วนของจ.พิจิตร 70,986 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมในพื้นที่ลุ่มต่ำ และริมสองฝั่งแม่น้ำสายหลักสายรองของพื้นที่โดยรอบ ซึ่งรวมถึงชุมชนที่อยู่อาศัย และเส้นทางคมนาคมบางส่วน ในขณะที่พื้นที่ปลูกข้าวได้รับผล กระทบแล้วรวมเกือบ 7 พันไร่

ทั้งนี้ ข้อมูลจากดาวเทียมในระบบ GSMAP พบการกระจายตัวของฝนในประเทศไทยมีปริมาณเพิ่มขึ้นกว่าวันก่อนโดยเฉพาะในแถบภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยสถานการณ์ดังกล่าวจิสด้าได้ส่งต่อข้อมูลภาพจากดาวเทียมให้กับหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ เพื่อนำไปใช้สนับสนุนการบริหารจัดการตามภารกิจ ทั้งด้านการวางแผน การติดตาม เพื่อประเมินสถานการณ์ต่อไป ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://flood.gistda.or.th

3 จังหวัดรับทะเลหนุนซ้ำ
ด้านกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้คาดการณ์สถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา พบว่า สภาวะระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า จ.สมุทรปราการ และพื้นที่ใกล้เคียง ในช่วงวันที่ 24-29 ส.ค.2565 เวลาประมาณ 17.00-20.30 น. เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับมีฝนตกบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน และลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก จะทำให้มีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 1,500-1,800 ลบ.ม.ต่อวินาที และเขื่อนพระรามหก มีน้ำไหลผ่านในเกณฑ์ 400-500 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเพิ่มสูงขึ้น โดยคาดการณ์มีความสูงประมาณ 1.90-2.20 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณพื้นที่ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่จ.นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร

กอนช. จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงอาคารป้องกันริมแม่น้ำและเสริมคันบริเวณจุดเสี่ยงบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวฟันหลอ และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำตามริมแม่น้ำทราบล่วงหน้า เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที และติดตามสถานการณ์น้ำทะเลหนุนในช่วงเวลาดังกล่าว พร้อมปรับแผนบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ และประตูระบายน้ำ เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์

ห่วงท่วมปากน้ำกระทบกทม.
ที่อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกทม.2 ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะ ผู้บริหาร ว่า ภาพรวมสถานการณ์น้ำยังบริหารจัดการได้ ซึ่งจากการรายงานสถานการณ์น้ำฝน น้ำเหนือ น้ำหนุน ยังไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ที่เฝ้าระวังคือน้ำฝั่งตะวันออก ตอนนี้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาปล่อยอยู่ประมาณ 1,400 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งยังไม่ถึงระดับวิกฤต ประมาณ 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาที ที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งจริงๆ แล้วสามารถรับได้ถึง 2,800 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่จะมีน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ไหลมาสมทบ กรมชลประทานผันน้ำส่วนใหญ่มาที่แม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากพื้นที่ฝั่งตะวันออกน้ำค่อนข้างเต็ม ซึ่งอาจทำให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มถึง 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่เรายังสามารถควบคุมได้

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า กทม. พร้อมรับมือทุกด้าน มีการประสานงานกับกรมชลประทานอย่างเข้มข้น มีการกั้นกระสอบทรายตามแนว และจุดฟันหลอ คิดว่าน่าจะเป็นช่วงวันที่ 7-10 ก.ย. นี้ ที่น้ำทะเลหนุนและน้ำเหนือจะไหลลงมา แนวป้องกันเขื่อนทุกจุดมีผู้รับผิดชอบดูแล มีการพร่องน้ำในคลองเท่าที่พร่องได้เพื่อเตรียมรับมือ ตอนนี้สถานการณ์น้ำทางด้านตะวันออกเริ่มดีขึ้น มีการติดเครื่องผลักดันน้ำเพิ่ม เพื่อให้น้ำออกมาที่พระโขนงได้ดีขึ้น ในระยะยาวสุดท้ายแล้วต้องดูว่า ในอนาคตถ้าแม่น้ำเจ้าพระยาปล่อยจากข้างบนมาเยอะขึ้นต้องบริหารจัดการอย่างไร คงต้องดูรายละเอียดอีกครั้ง

“ถ้าจะเป็นห่วงคือ ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ที่บางทีไม่ได้กดดันแค่กทม. แต่กดดันฝั่งปากน้ำ สมุทรปราการด้วย ทำให้ไม่สามารถระบายออกทางอื่นได้ หากด้านนอกเต็มหมด ก็ต้องไหลเข้ามาที่ประเวศ พระโขนงเป็นหลัก ตอนนี้ต้องเร่งประสิทธิภาพของพระโขนงให้สูงสุด หรือประตูระบายน้ำตรงคลองเตย ต้องเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อให้อย่างน้อยสามารถนำน้ำออกจากประเวศ แถวเฉลิมพระเกียรติ แถวอ่อนนุช ก็จะดีขึ้น ซึ่งพื้นที่ 98% ของกทม. ไม่มีน้ำท่วมขัง ถือว่าปฏิบัติการได้ตรงตามแผน” นาชัชชาติกล่าว

เจ้าพระยาเอ่อ-ปลากระชังตาย
ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท หลังระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบกับปลา กระชังในพื้นที่หมู่ที่ 1 ต.ศิลาดาน อ.มโนรมย์ โดยนายสนั่น ล้อมวงษ์ ประธานกลุ่มเลี้ยงปลากระชังบ้านท่าแขก กล่าวว่า ในพื้นที่มีเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังจำนวน 28 ราย จากสถานการณ์น้ำที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีปลาทยอยตายลงทุกวัน สาเหตุเกิดจากน้ำขุ่นแดง ไหลแรงทำให้กระชังปลิวมาทับปลาขึ้นมาหายใจไม่ได้ ปลาเกิดแผลบริเวณหู ครีบ ปาก เกล็ดถลอก ไม่ค่อยกินอาหาร จึงต้องนำถุงทรายไปมัดถ่วงกระชังไว้ ป้องกันกระชังทับปลาตาย และเร่งจับปลาที่ได้ขนาดขายให้หมด ตอนนี้เหลือปลาเล็กประมาณ 10 กระชัง มีทั้งปลาทับทิม สังกะวาด ปลากด ต้องประคับประคองให้รอดพ้นสถานการณ์น้ำช่วงนี้ ต้องดูสถานการณ์น้ำตลอดเวลา หากน้ำขึ้นมาอีกต้องขยับกระชังเข้าชิดตลิ่ง

ขณะที่สถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยายังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยวันเดียวกัน ที่สถานีวัดน้ำ C2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 1,590 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ที่เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท มีปริมาณน้ำทางด้านเหนือเขื่อนอยู่ที่ 16.02 เมตร (รทก.) มีปริมาณน้ำทางด้านท้ายเขื่อนอยู่ที่ 12.83 เมตร และเขื่อนมีอัตราการระบายน้ำลงสู่ด้านท้ายเขื่อนอยู่ที่ 1,500 ลบ.ม.ต่อวินาที

คลองโผงเผงเอ่อล้นตลิ่ง
ที่บริเวณพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ หมู่ 1 และ 2 ริมคลองโผงเผง ซึ่งเป็นสาขาแม่น้ำเจ้าพระยา ต.โผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง มวลน้ำเริ่มเอ่อล้นไหลเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือนประชาชนที่อยู่ริมตลิ่งนอกคันกั้นน้ำ มีระดับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีบ้านเรือนประชาชนหลายหลังที่ใช้กระสอบทรายเรียงกั้นป้องกันน้ำไหลเข้าท่วมบ้าน โดยพื้นที่ต.โผงเผง เป็นแอ่งกระทะ ประชาชนในพื้นได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์จากภาวะน้ำล้นตลิ่งแล้ว รวมทั้งพื้นที่ริมแม่น้ำน้อย ต.บางจัก อ.วิเศษชัยชาญ ซึ่งเป็นที่ราบลุ่ม และจะประสบปัญหาจากน้ำท่วมเป็นแห่งแรกของจ.อ่างทอง

ขณะที่แม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านที่สถานีโทรมาตร C7A บริเวณ หน้าศาลากลางจังหวัดอ่างทอง ระดับน้ำสูง 6.47 เมตร จากระดับตลิ่ง 10 เมตร มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,554 ลบ.ม.ต่อวินาที

สวนกล้วยกรุงเก่าจม
ด้านจ.พระนครศรีอยุธยา หลังเขื่อนเจ้าพระยา ระบายน้ำ 1,500 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งส่งผลให้น้ำท้ายเขื่อน ทั้งในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย ซึ่งไหลผ่านอำเภอต่างๆ ของจังหวัดระดับน้ำสูงขึ้น ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำ ใน 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เสนา อ.บางบาล อ.ผักไห่ อ.บางปะอิน และอ.บางปะหัน ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมตลิ่งถูกน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมในหลายชุมชน และพื้นที่การเกษตร จำนวน 5 อำเภอ 44 ตำบล 194 หมู่บ้าน 3 ชุมชน 6,066 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 2,793 ไร่

ส่วนที่ชุมชนติดคลองบางหลวง อ.บางบาล ซึ่งรับน้ำมาจากแม่น้ำน้อย ส่งผลให้ล้นตลิ่งท่วมบ้านเรือนประชาชน กระทบความเป็นอยู่ ประชาชนต้องออกมาตั้งเต็นท์บนถนนเพื่อจอดรถยนต์ หรือใช้เก็บข้าวของหนีน้ำที่ล้นตลิ่งเข้าท่วมใต้ถุนบ้าน ระดับน้ำสูงกว่า 30-60 ซ.ม. ทั้งนี้พบว่าพื้นที่เกษตรที่ชาวบ้านใช้ปลูกกล้วยและพืชผักสวนครัวต่างๆ เสียหาย เนื่องจากกล้วยส่วนใหญ่ยังไม่ถึงเวลาตัด แต่ด้วยน้ำมาเร็วกว่าทุกปีทำให้ท่วมพืชไร่จมน้ำไปหมด

เยี่ยมชาวบ้าน – พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ สวมชุดชนเผ่าเมี่ยนหรือชนเผ่าเย้า ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจชาวบ้านจ.น่าน ที่ประสบอุทกภัยจากพายุมู่หลาน โดยสั่งการดูแลต่อเนื่องพร้อมเยียวยาอย่างทั่วถึง เมื่อวันที่ 22 ส.ค.

‘บิ๊กป้อม’ตรวจฟื้นฟูท่วมน่าน
ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดน่าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กนช.) พร้อมคณะ ลงพื้นที่พบปะประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากพายุดีเปรสชันมู่หลาน และติดตามโครงการบริหารจัดการน้ำของจังหวัด รวมทั้งติดตามโครงการช่วยเหลือประชาชน มีนายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผวจ.น่าน รายงานสรุปภาพรวมสถานการณ์น้ำในพื้นที่

โดยจากเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลทำให้เกิดภาวะน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคเหนือ ได้รับความเสียหายอย่างหนัก ทั้งอาคารบ้านเรือน ถนน สะพาน เสียหาย ประชาชนเดือดร้อน โดยรัฐบาลอนุมัติงบประมาณ 2 ครั้ง เพื่อดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน จำนวน 98 โครงการ วงเงินกว่า 120 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟู เยียวยา และซ่อมแซมสถานที่ที่ เสียหาย ให้กลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม ขณะที่โครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมโยงเศรษฐกิจภูมิภาค ระหว่าง บ้านผาเวียง อ.ฟากท่า จ.อุตรดิตถ์-บ้านปากนาย อ.นาหมื่น จ.น่าน จาก ผอ.แขวงทางหลวงน่าน ที่ 1

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า รัฐบาลห่วงใยประชาชนทุกครัวเรือน ที่เดือดร้อนจากภาวะน้ำท่วม โดยกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมชล ประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และจ.น่าน เร่งปฏิบัติตาม 13 แผนรับมือฤดูฝน และกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งจัดทำแหล่งน้ำกักเก็บขนาดใหญ่ช่วยเหลือพื้นที่แล้งซ้ำซาก 4 อำเภอ ได้แก่ อ.ท่าช้าง อ.เชียงกลาง อ.ท่าวังยา และอ.ปัว และแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคนอกเขตชลประทาน พร้อมดำเนินการกับผู้บุกรุกป่าอย่างจริงจัง โดยระหว่างปี 61-64 รัฐบาลดำเนินโครงการกว่า 1 แสนกว่าไร่ มีผู้ได้รับประโยชน์กว่า 3 แสนครัวเรือน

จากนั้น พล.อ.ประวิตร และคณะ ได้เดินทางต่อไปที่ อบต.ไชยสถาน อ.เมือง เพื่อติดตามความก้าวหน้า โครงการก่อสร้างฝายกั้นลำน้ำซาว ก่อนเดินทางไปที่ ต.บ่อ อ.เมือง เพื่อติดตามความคืบหน้าการช่วยเหลือ ผู้ประสบอุทกภัย และมอบสิ่งของช่วยเหลือ ผู้ประสบภัย 1 พันครัวเรือน

ดินถล่ม‘แม่ออน-แม่อาย’
ส่วนที่จ.เชียงใหม่ นายชลิต ทิพย์คำ นายอำเภอแม่ออน จ.ชียงใหม่ นายสิทธิพัฒ บุญทรง ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง อ.แม่ออน ลงพื้นที่ตรวจสอบการเกิดดินถล่มจากการเกิดฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ซึ่งมีดินและต้นไม้ขนาดใหญ่ปิดเส้นทางสัญจรทางหลวงชนบทสาย ชม.4063 จำนวน 4 แห่ง ระหว่างบ้านปางจำปี หมู่ 7 ต.ห้วยแก้ว อ.แม่ออน ติดต่อกับ ต.เทพเสด็จ อ.ดอยสะเก็ด ทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้เส้นทางดังกล่าวได้ โดยได้ประสานและให้ผู้ที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือเปิดทางอย่างเร่งด่วนแล้ว เบื้องต้นไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บและทรัพย์สินประชาชนเสียหายแต่อย่างใด

ด้านอ.แม่อาย เกิดเหตุดินสไลด์ ที่หมู่ 12 ต.ท่าตอน โดยทางอบต.ท่าตอน ได้ดำเนินเปิดเส้นทางจราจรให้สัญจรได้ตามปกติแล้ว ขณะที่บริเวณหมู่ 10 ต.แม่สาว เกิดเหตุดินสไลด์ บริเวณข้างเส้นทางสัญจร และน้ำกัดเซาะบริเวณไหล่ทาง อบต.แม่สาวอยู่ระหว่างการประเมินความเสียหาย เพื่อซ่อมแซมไหล่ถนนต่อไป

หล่มสักอ่วม – ปริมาณน้ำจาก อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ทะลักเข้าท่วมชุมชนเขตเทศบาลเมืองหล่มสัก และ 11 หมู่บ้านเขตเทศบาลตำบลตาลเดี่ยว อ.หล่มสัก ระลอกที่ 3 ส่งผลให้ถนนถูกน้ำท่วมขัง และโรงเรียนต้องปิดการเรียนการสอน เมื่อวันที่ 22 ส.ค.

‘หล่มสัก’อ่วมหนักจมรอบสาม
ขณะที่แม่น้ำป่าสักในพื้นที่อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ลดลง แต่ปริมาณน้ำได้ไหลมาเอ่อล้นเข้าท่วม 4 ชุมชน ที่อยู่ในเขตเทศบาลเมืองหล่มสัก และ 11 หมู่บ้านในเขตเทศบาลตำบลตาลเดี่ยว เป็นระลอกที่ 3 ส่งผลให้สถานที่ราชการ อาคาร ร้านค้า โรงเรียน และวัดวาอาราม เริ่มถูกน้ำท่วมขัง บ้านเรือนราษฎรได้รับความเดือดร้อนจากการถูกน้ำท่วมกว่า 500 หลังคาเรือน ถนนผดุงราษฎร ซึ่งเป็นถนนสายหลักจาก อ.หล่มสัก ไปบ้านปากห้วยขอนแก่น ถูกน้ำท่วมขังเป็นช่วงๆ ระดับน้ำสูง 30-40 ซ.ม. ยาวหลายกิโลเมตร จนรถยนต์ขนาดเล็กสัญจรวิ่งผ่านไปมาด้วยความยากลำบาก

นอกจากนั้นแม่น้ำป่าสัก ที่อ.หล่มสัก ยังได้เอ่อล้นไหลเข้าท่วมทั้ง 11 หมู่บ้านที่ติดกับแม่น้ำ ในเขตเทศบาลตำบลตาลเดี่ยว ที่เชื่อมต่อกับเทศบาลเมืองหล่มสัก โดยหนักที่สุด คือ หมู่ 2 บ้านตาลเดี่ยว หมู่ 3 บ้านน้ำอ้อย หมู่ 4 บ้านท่ากกแก และ หมู่ 11 บ้านศรีสะอาด หรือชุมชนศรีสะอาด มีบ้านเรือนกว่า 1,000 หลังคาเรือนถูกน้ำท่วม โดยเฉพาะบ้านเรือนราษฎร กว่า 40 หลังคาเรือนที่อาศัยอยู่ที่หมู่ 11 ชุมชนศรีสะอาด กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากถูกน้ำท่วมซ้ำซากเป็นประจำทุกปี และในปีนี้ก็เป็นระลอกที่ 3 แล้ว ซึ่งต้องสั่งปิดการเรียนการสอนออกไปอย่างไม่มีกำหนด ในขณะที่ถนนสายหล่มสัก-บ้านติ้ว และถนนเลียบคลองชลประทาน บริเวณสี่แยกร่องไผ่ก็ถูกน้ำท่วมสูง 30-50 เมตร เกือบทั้งสาย ทำให้รถยนต์ที่สัญจรวิ่งผ่านไปมาวิ่งด้วยความยากลำบาก

ล่าสุดทหารจากกองพันทหารม้าที่ 28 กองพลทหารม้าที่ 1 และทหารหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 16 สำนักงานพัฒนาภาค 1 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา อาสากู้ภัยสว่างมงคลศรัทธาธรรมสถานหล่มสัก อาสากู้ภัยกกไทรหล่มสัก และอาสาสมัครร่วมกตัญญูหล่มสัก ได้นำเรือท้องแบนมาคอยให้บริการประชาชนที่จะเดินทางเข้าออก พร้อมทั้งนำน้ำดื่ม และข้าวสารอาหารแห้ง ไปแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน

จมรอบ 3 – ปริมาณน้ำจาก อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ทะลักเข้าท่วมชุมชนเขตเทศบาลเมืองหล่มสัก และ 11 หมู่บ้านเขตเทศบาลตำบล ตาลเดี่ยว อ.หล่มสัก ระลอกที่ 3 ส่งผลให้ถนนถูกน้ำท่วมขัง โรงเรียนต้องปิดการเรียนการสอน เมื่อวันที่ 22 ส.ค.

โคราชอพยพหนีน้ำวุ่น
ที่จ.นครราชสีมา หลังจากได้มีฝนตกลงมาติดต่อกันหลายชั่วโมง และหลายพื้นที่ โดยเฉพาะ อ.ลำทะเมนชัย จ.นครราชสีมา ส่งผลทำให้น้ำได้ไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชน หมู่ 2 ต.ขุย และหมู่ 5 ต.ช่องแมว จำนวน 20 หลังคาเรือน ระดับน้ำท่วมสูง 20-30 ซ.ม. ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถขนของหนีน้ำได้ทัน ทำให้ข้าวของภายในบ้านได้รับความเสียหาย

นายศิวะเสก สินโทรัมย์ นายอำเภอลำทะเมนชัย ได้นำถุงยังชีพเข้าช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน และได้ให้เจ้าหน้าที่อส. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เร่งช่วยขนย้ายสิ่งของภายในบ้านเรือนของประชาชนที่ถูกน้ำท่วมออก และได้แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ ให้เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพราะบ้านเรือนของชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมส่วนใหญ่ เป็นบ้านชั้นเดียว อยู่ในที่ราบลุ่มต่ำ

ตั้ง 100 เครื่องดันน้ำระบายลงน้ำมูน
ด้านนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สำนักงานชลประทานที่ 7 จ.อุบลราชธานี ร่วมกับสำนักเครื่องจักรกล ได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ จำนวน 100 เครื่อง บริเวณสะพานพิบูลมังสาหาร อ.พิบูลมังสาหาร เสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน ด้วยการเร่งผลักดันน้ำในแม่น้ำมูน ให้ระบายลงสู่แม่น้ำโขงอย่างรวดเร็ว พร้อมรับน้ำเหนือที่กำลังจะไหลมาอีกในระยะต่อไป โดยคาดว่าอีก 3 วัน จะเริ่มเดินเครื่องผลักดันน้ำได้

ขณะที่ชลประทาน จ.ขอนแก่น ได้เดินเครื่องสูบน้ำ บริเวณประตู D 8 จำนวน 6 บาน เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากห้วยพระคือ และลำน้ำพอง ลงสู่แม่น้ำชี หลังพบระดับน้ำในลำน้ำสาขา เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง และเตรียมรองรับการระบายน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ที่ได้ขอเพิ่มการระบายน้ำจากวันละ 15 ล้านลบ.ม. เป็นวันละ 20-25 ล้านลบ.ม. เตรียมรับมวลน้ำที่คาดว่าจะไหลเข้าเขื่อนอย่างต่อเนื่อง

นายสมปอง ฉ่ำกระมล ผอ.ส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 6 กล่าวว่า สถานการณ์น้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ระดับน้ำในเขื่อนอยู่ที่ 177.92 เมตร มีปริมาณน้ำอยู่จำนวน 1,156.32 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 47.56 ของความจุเขื่อน ซึ่งมีความจุที่ 2,431.30 ล้านลบ.ม. โดยเมื่อวานที่ผ่านมามีน้ำไหลเข้าเขื่อน 45.19 ล้านลบ.ม. และเขื่อนยังคงรับน้ำได้อีก 1,274.98 ล้านลบ.ม.

ผลักดันน้ำ – กรมชลประทานติดตั้งเครื่องผลักดันรวม 100 เครื่อง ที่สะพานพิบูลมังสาหาร อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี เพื่อเร่งผลักดันน้ำให้ระบายลงสู่แม่น้ำโขงโดยเร็ว เตรียมรับปริมาณน้ำเหนือจำนวนมากที่จะไหลมา เมื่อวันที่ 22 ส.ค.

น้ำชีปริ่มตลิ่ง-ปักธงแดงเตือน
นายสมปองกล่าวต่อว่า คณะอนุกรรมการมีมติการระบายน้ำ ดังนี้ วันที่ 22-23 ส.ค. ระบายน้ำวันละ 15 ล้านลบ.ม. วันที่ 24 ส.ค. วันละ 18 ล้านลบ.ม. และวันที่ 25 ส.ค. วันละ 21 ล้านลบ.ม. จากนั้นปรับการระบายน้ำตามปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน ในอัตราไม่เกินวันละ 25 ล้านลบ.ม.

สำหรับแม่น้ำชีน้ำริมตลิ่งต่ำน้ำเริ่มปริ่มแล้ว บางช่วงที่เป็นพื้นที่ต่ำ มีน้ำเข้าท่วมบ้างแล้วโดยเฉพาะในพื้นที่ จ.มหาสารคาม ส่วนขอนแก่นระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่ง 1-2 เมตร ซึ่งจะมีการระบายน้ำอย่างต่อเนื่องที่โครงการประตูระบายน้ำคลองระบายน้ำ ดี 8 ห้วยพระคือ อ.เมือง สำหรับพื้นที่ที่ทางชลประทานเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด คือ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ สำหรับพื้นที่ติดธงแดงเตือนประชาชน อยู่ในลุ่มน้ำยัง ที่บ้านท่าเยี่ยม อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เป็นพื้นที่ตลิ่งต่ำ ทำให้น้ำเข้าท่วมพื้นที่บ้างแล้ว ครอบคลุมพื้นที่ 1,000-2,000 ไร่ อย่างไรก็ตาม น้ำปีนี้ถือว่ามาเร็วและไปเร็ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน