จม‘ตลาดเสาไห้’‘ป้อม’โชว์ฟิตอีก ต่อสายถึงผู้ว่าฯ ป้องท่วมอยุธยาจุดเสี่ยงกรุงเทพ

‘นายกฯ ป้อม’ฟิตต่อเนื่องโทร.สายตรง ผู้ว่าฯอยุธยา กำชับบริหารจัดการน้ำเจ้าพระยา ไม่ให้ประชาชนได้รับผล กระทบ จนท.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมเข้าช่วยผู้ประสบภัย 24 ช.ม. เร่งป้องกันพื้นที่เสี่ยงท่วมฉับพลัน-น้ำล้นตลิ่ง ทะเลหนุน ทั้งในกทม.และต่างจังหวัด สั่งสทนช.บูรณาการระบายน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาไปทางฝั่งตะวันตก ตะวันออก และท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด เขื่อนป่าสักฯ เพิ่มระบายเต็มพิกัด 500 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักสูงขึ้น เอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร เมืองแก่งคอย ตลาดน้ำเสาไห้ สระบุรี เกิดดินสไลด์ริมตลิ่ง พ่อค้า แม่ค้า ขนย้ายสิ่งของหนีน้ำกันอลหม่าน ลำปางเศร้า เด็ก 10 ขวบจมแม่น้ำวัง หลังชวนเพื่อนไปเดินเล่นริมฝั่ง 3 คน พลเมืองดีช่วยไว้ได้ 2 ขณะที่แม่น้ำยม-น่านที่พิจิตรจ่อล้นตลิ่ง เตือนชาวนาเร่งเกี่ยวข้าว

12 จังหวัดโดนหาง‘หมาอ๊อน’
เมื่อวันที่ 28 ส.ค. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานสถานการณ์พายุโซนร้อน “หมาอ๊อน” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และ ภาคใต้ฝั่งตะวันตก และที่ผ่านมาพบว่าหลายพื้นที่มีปริมาณฝนตกสะสมมากกว่า 150 มิลลิเมตร และปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลัก ลำน้ำสาขามีปริมาณมากในบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูน รวมถึงการระบายน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา 1,500-1,800 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ เฝ้าระวัง ระหว่างวันที่ 24-30 ส.ค. ซึ่งในระหว่างวันที่ 24-28 ส.ค. มีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 21 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง ตาก เพชรบูรณ์ อุบลราชธานี อุดรธานี บุรีรัมย์ ขอนแก่น มหาสารคาม นครราชสีมา เลย จันทบุรี สระแก้ว นครนายก พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง เพชรบุรี ปราจีนบุรี กระบี่ และภูเก็ต รวม 47 อำเภอ 162 ตำบล 621 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผล กระทบ 19,630 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 1 ราย (เชียงราย)

ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง เพชรบูรณ์ อุบล ราชธานี อุดรธานี บุรีรัมย์ ขอนแก่น มหาสารคาม นครราชสีมา นครนายก พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง รวม 23 อำเภอ 106 ตำบล 405 หมู่บ้าน

นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดวาตภัยในพื้นที่ 12 จังหวัด ได้แก่ จ.แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำปาง ลำพูน สุโขทัย กำแพงเพชร อุดรธานี กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ตราด ปราจีนบุรี และอ่างทอง รวม 22 อำเภอ 40 ตำบล 72 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหาย 91 หลัง ไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งสถานการณ์ยุติแล้วใน ทุกจังหวัด สำหรับการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผล กระทบจากอิทธิพลพายุโซนร้อนหมาอ๊อน ปภ.โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่และให้การดูแลช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง ส่วนพื้นที่ที่สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้ว ได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจประเมินความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวง การคลังฯ ต่อไป

หนีน้ำ – ชาวบ้านและพ่อค้าแม่ขายช่วยกันขนย้ายสิ่งของในตลาดท่าน้ำต้นตาล อ.เสาไห้ จ.สระบุรี หนีน้ำจากแม่น้ำป่าสัก เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพิ่มระดับสูงขึ้นจนเอ่อล้นทะลักเข้าท่วมพื้นที่ เมื่อวันที่ 28 ส.ค.

จี้ช่วยท่วม-ล้นตลิ่ง-ทะเลหนุน
ด้านพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์ภัยพิบัติที่มีความรุนแรงมาก ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากประเทศไทย ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุและมรสุมที่พาดผ่าน ส่งผลให้มีปริมาณฝนตกชุก และต่อเนื่องในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ส่งผลให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ต่างๆ ในระยะที่ผ่านมา ได้สั่งการให้กระทรวงกลาโหม จัดกำลังพล เข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ต่างๆ เนื่องจากมีความพร้อม ทั้งกำลังคน และเครื่องมือที่จะเข้าช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที ทั้งด้านการอพยพประชาชน การซ่อมบำรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น การวางแผนเร่งระบายน้ำ โดยจะทำงานร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่น ที่ผ่านมามีหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบ โดยกำชับกระทรวงกลาโหม ระดมกำลังพล และยุทโธปกรณ์ร่วมกับส่วนราชการ และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้บูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อให้การช่วยเหลือประชาชน ในพื้นที่เสี่ยงที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งให้ทุกหน่วยงานให้การสนับสนุนประชาชน วางแผนการใช้น้ำระยะยาว เก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง สำหรับพืชไร่ และการทำเกษตร

สำหรับพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง จากการรายงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พบว่า แบ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจากปัญหาของปริมาณน้ำใน 3 รูปแบบ คือ พื้นที่ที่อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง ในภาคเหนือ ได้แก่ จ.ตาก (อ.แม่ระมาด ท่าสองยาง) พิษณุโลก (อ.นครไทย เนินมะปราง ชาติตระการ วังทอง) และเพชรบูรณ์ (อ.หล่มเก่า หล่มสัก เขาค้อ) พื้นที่ภาคกลาง ได้แก่ จ.นครนายก (อ.เมือง) ปราจีนบุรี (อ.ประจันตคาม นาดี) และกรุงเทพมหานคร

ส่วนพื้นที่ต้องเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จ.ร้อยเอ็ด (อ.เสลภูมิ จังหาร โพนทอง) มหาสารคาม (อ.เมือง และกันทรวิชัย) และอุบลราชธานี (อ.เมือง) พื้นที่ภาคกลาง ได้แก่ จ.อ่างทอง (อ.ป่าโมก วิเศษชัยชาญ) และพระนครศรีอยุธยา (อ.เสนา ผักไห่ บางบาล บางไทร บางปะหัน พระนครศรีอยุธยา) สำหรับพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณปากแม่น้ำ และพื้นที่ราบลุ่มชายฝั่ง ได้แก่จังหวัดต่างๆ ดังนี้ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทร ปราการ นนทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบ คีรีขันธ์ และกรุงเทพฯ ภาคใต้ ได้แก่ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

‘ป้อม’สายตรงคุยผู้ว่าฯอยุธยา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประวิตรได้โทรศัพท์สายตรงพูดคุยกับ นายวีระชัย นาคมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรี อยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหาอุทกภัยอยู่ในขณะนี้และเกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง ซึ่งรองนายกฯ ได้กำชับและสั่งการเร่งรัดให้เกิดการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้ระดับน้ำไม่ส่งผลกระทบกับประชาชน โดยเฉพาะกรมชลประทาน และกรมป้องกันสาธารณภัย ในการตรวจสอบเครื่องจักรเครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ ประตูระบายน้ำ ระบบไฟ เจ้าหน้าที่ ผู้ปฏิบัติงาน 24 ชั่วโมง เพื่อให้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่โดยเร็ว

ขณะเดียวกัน ต้องจัดกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมทันที ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หน่วยทหาร ตำรวจ หน่วยงานจิตอาสา ในการอำนวยความสะดวกในการสัญจร สิ่งของที่จำเป็นในการดำรงชีพ รวมถึงเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านสุขภาพที่อาจจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในพื้นที่ด้วยเช่นกัน จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายเป็นปกติ

สำหรับ จ.พระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันมีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 7 อำเภอ ได้แก่ อ.บางบาล อ.บางปะหัน อ.เสนา อ.ผักไห่ อ.บางไทร อ.พระนครศรีอยุธยา และ อ.ท่าเรือ รวม 75 ตำบล 340 หมู่บ้าน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา

ทั้งนี้ ยังได้กำชับ สทนช.ให้บูรณาการในการบริหารจัดการน้ำในการระบายน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาไปทางฝั่งตะวันตก ตะวันออก และท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเชื่อมโยงไปแต่ละจังหวัดที่มีทางน้ำผ่านไปสู่ทะเลซึ่งรวมถึงกรุงเทพฯ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและลดผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด

ป่าสักเอ่อเพิ่ม-อพยพวุ่น
ด้านสถานการณ์น้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ หลังจากเขื่อนระบายน้ำที่ประมาณ 500 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่งผลให้ขณะนี้น้ำในแม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่หลังช่วงเขื่อนเป็นต้นไปมีระดับน้ำสูงขึ้น เอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรบางจุดในพื้นที่อ.แก่งคอย จ.สระบุรี และเกิดดินสไลด์ริมตลิ่งบางจุดในพื้นที่ต.ตะกุด อ.เมือง ส่วนที่ตลาดต้า น้ำต้นตาล อ.เสาไห้ น้ำได้เอ่อเข้าท่วมบริเวณตลาดริมฝั่งแม่น้ำป่าสัก พ่อค้า แม่ค้า ต้องเร่งขนย้ายสิ่งของหนีน้ำไปยังที่ปลอดภัย โดยระดับน้ำยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากเขื่อนระบายน้ำเพิ่มจะส่งผลกระทบมากขึ้นเหมือนกับปีที่ผ่านมา

‘ปากน้ำโพ’เร่งช่วยท่วมนา
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ ที่อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ พล.ต.อ.สมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ พร้อมคณะเจ้าหน้าที่กองช่าง เข้าตรวจสอบระดับน้ำ และ หาทางเร่งระบายน้ำในเขตพื้นที่ต.ทำนบ ต.พนมรอก และต.วังมหากร หลังจากเกิดฝนตกติดต่อกันหลายวัน ทำให้มีน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่นาของชาวนาได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถเกี่ยวข้าวหนีน้ำได้ทันเวลา และเกิดความเสียหายขาด รายได้ จากการตรวจดูทางน้ำพบว่ามีน้ำส่วนหนึ่งไหลมาจากทางอ.ไพศาลี เข้ามาที่ต.ทำนบ ไหลลงคลองเตาขนมจีน คลองท่าตะโก แล้วไหลลงมาสู่ต.วังมหากร จึงเร่งระบายน้ำ พร้อมทั้งบริหารจัดการน้ำ ให้ไหลลงบึงบอระเพ็ดและลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาให้เร็วที่สุด

ขณะที่ต.พระนอน อ.เมือง พื้นที่นาได้ถูกน้ำท่วมเช่นกัน หลังน้ำป่าไหลหลากมาจากต.เขากะลา อ.พยุหะคีรี ส่วนคลองหลายแห่งอยู่ในสภาพรก ตื้นเขิน และ ท่อระบายน้ำเล็ก และมีไม่พอ พล.ต.อ. สมศักดิ์ จึงได้สั่งการให้ทางเจ้าหน้าที่ กองช่าง นำรถแบ๊กโฮ มาขุดลอกคลองให้น้ำระบายไหลไปได้สะดวกมากขึ้นกว่าเดิม พร้อมทั้งจะทำแผนที่ทางน้ำไว้ เพื่อเตรียมแผนการรองรับในระยะต่อไป

เขื่อนระบายเพิ่ม-แม่น้ำวังสูงขึ้น
ที่จ.ตาก นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผวจ.ตาก นำคณะตรวจติดตามสถานการณ์น้ำแม่น้ำวัง ในพื้นที่อ.สามเงา และอ.บ้านตาก หลังเขื่อนกิ่วลมระบายน้ำเพิ่มลงสู่แม่น้ำวังตามหลักเกณฑ์เฝ้าระวังรักษาระดับน้ำในเขื่อนไม่ให้สูงเกินมาตรฐาน ซึ่งจะทำให้แม่น้ำวังเพิ่มสูงขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ริมตลิ่ง โดยจุดเสี่ยง ในพื้นที่หมู่ 2 บ้านแม่สลิด ต.แม่สลิด อ.บ้านตาก ซึ่งน้ำได้กัดเซาะตลิ่ง จึงได้ ปักเสาและนำกระสอบทราย สร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งชั่วคราว เพื่อป้องกันการกัดเซาะและน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมไร่นาและพื้นที่บ้านเรือนประชาชน

ปัจจุบันสถานการณ์น้ำในแม่น้ำวัง ในพื้นที่อ.สามเงา และอ.บ้านตาก ยังอยู่ต่ำกว่าตลิ่ง ทั้งนี้ คาดว่ามวลน้ำจากลำปาง จะไหลเข้าสู่พื้นที่ต.ยกกระบัตร อ.สามเงา และต.แม่สลิด อ.บ้านตาก ในวันเดียวกัน นายสมชัยจึงกำชับได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมให้ความช่วยเหลือ หากเกิดอุทกภัยขึ้น พร้อมกันนี้ ยังได้มีการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง

งม10ขวบ – เจ้าหน้าที่กู้ภัยงมหาด.ช.วัย 10 ชวบ พลัดตกแม่น้ำวังถูกกระแสน้ำพัดจมหายเสียชีวิต จนสามารถนำร่างขึ้นมาได้บริเวณถนนเลียบแม่น้ำวัง ด้านหลังวัดชมภูหลวง อ.เมือง จ.ลำปาง เมื่อวันที่ 28 ส.ค.

สลดเด็ก 10 ขวบจมแม่วังดับ
ด้านศูนย์วิทยุ 191 จ.ลำปาง รับแจ้งเกิดเหตุเด็กพลัดตกแม่น้ำวัง บริเวณถนนเลียบแม่น้ำวัง หลังวัดชมภูหลวง หมู่ 7 ต.ชมพู อ.เมือง จ.ลำปาง จึงประสานชุดประดาน้ำ สมาคมกู้ภัยอัมรินทร์ รุดให้การช่วยเหลือเร่งด่วน ในที่เกิดเหตุอยู่บริเวณบันไดทางลงแม่น้ำวัง พบรอยเท้าเด็กเหยียบย่ำอยู่หลายรอยด้วยกัน เบื้องต้นทราบว่าผู้สูญหายเป็นเด็กชายอายุ 10 ขวบ ทราชื่อเด็กชายโบ๊ท ชาวบ้านต้าหมู่ 10 ต.ชมภู เมืองลำปาง เจ้าหน้าที่กู้ภัยจึงได้ลงงมค้นหาในรัศมี 100 เมตร ซึ่งน้ำค่อนข้างลึกและขุ่น เนื่องจากฝนตกติดต่อกันหลายวัน ก็พบร่างของเด็กชายโบ๊ท ติดอยู่กับตอไม้ในน้ำห่างจากจุดตกไปประมาณ 30 เมตร จึงได้นำร่างขึ้นมา พร้อมประสานร้อยเวรสอบสวน สภ.เมืองเขลางค์ และแพทย์นิติเวช ร.พ.ลำปาง ร่วมชันสูตรพลิกศพ นอกจากนั้นยังมีเด็กชายที่ประสบเหตุพร้อมกันอีก 2 คน ซึ่งทางญาติได้พา กลับไปดูแลสภาพจิตใจที่บ้านแล้ว

สอบถามเบื้องต้นทราบว่า เด็กชายโบ๊ท พักอาศัยอยู่กับทวด โดยเพิ่งจะผ่านวันเกิดอายุ 10 ขวบได้เพียง 2 วันเท่านั้น ก่อนเกิดเหตุเด็กชายทั้ง 3 คน ได้ปั่นรถจักรยานเที่ยวเล่นกัน และพากันเดินลงไปดูแม่น้ำวังและเกิดลื่นโคลนและพลัดตกลงไปในน้ำ จากนั้นทั้ง 3 ได้ตะโกนเรียกให้คนช่วย โชคดีที่มีกลุ่มของนายแมน อายุ 15 ปี นั่งอยู่ใกล้ๆ ได้ยินเสียงจึงพากันไปช่วยเหลือ ดึงขึ้นจากน้ำขึ้นมาได้ 2 คน ส่วนเด็กชายโบ๊ทตัวเล็กกว่าคนอื่นได้ถูกน้ำพัดจม หายไป

‘แม่น้ำยม-น่าน’จ่อล้นตลิ่ง
ส่วนที่จ.พิจิตร นายเอกฉัตร เอี่ยมตาล ผอ.โครงการชลประทานพิจิตร กล่าวว่า สถานการณ์ของฝนที่ตกในภาคเหนือตอนบนยังคงมีฝนตกต่อเนื่องส่งผลให้น้ำป่าไหลหลากจากจ.แพร่เข้าสู่ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ที่ประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์มีมวลน้ำที่ควบคุมได้ 500 ลบ.ม.ต่อวินาที และให้ผ่านตัวเมืองสุโขทัยควบคุมได้ 420 ลบ.ม.ต่อวินาที ดังนั้นน้ำส่วนเกินจึงต้องระบายน้ำลงสู่คลองสาขาและเข้าสู่จ.พิษณุโลกและไหลต่อมายังพื้นที่ลุ่มน้ำยม ในพื้นที่จ.พิจิตร มีปริมาณน้ำในแม่น้ำยมจึงมีปริมาณน้ำสูงขึ้นระดับน้ำโดยเฉลี่ยอยู่ต่ำกว่าตลิ่งเพียงแค่ ไม่ถึงเมตรก็จะล้นตลิ่ง เช่นเดียวกับแม่น้ำน่านที่ อ.บางมูลนาก ระดับน้ำในแม่น้ำน่านก็มีปริมาณสูงขึ้น ระดับน้ำโดยเฉลี่ยอยู่ต่ำกว่าตลิ่งเพียงแค่ 1 เมตรเศษ ด้วยเช่นกัน

นายเอกฉัตรกล่าวว่า ขอให้เกษตรกรติดตามการพยากรณ์อากาศว่าถ้าหากมีฝนตกต่อเนื่องในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบนหรือในเขต จ.พิษณุโลก จ.เพชรบูรณ์ จ.กำแพงเพชร อาจทำให้มีน้ำป่าไหลหลากเข้ามายังพื้นที่ จ.พิจิตร ซึ่งถือเป็นจุดเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มได้ ดังนั้นช่วงนี้จึงขอเตือนชาวนาหรือพื้นที่ปลูกข้าวฝั่งขวาของแม่น้ำยมขอให้เร่งเก็บเกี่ยวผลผลิต เพราะคาดการณ์ว่าภายใน 2-3 วันนี้ หากมีฝนตกภาคเหนือตอนบนต่อเนื่อง อาจเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มของ ต.รังนก อ.สามง่าม ซึ่งจะกลายเป็นทุ่งรับน้ำเหมือนทุกปี

4 เขื่อนโคราชยังรับน้ำได้อีก
ด้านจ.นครราชสีมา นายสุคนธ์ เต็ม ยศยิ่ง ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา ลำตะคอง กรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการตรวจสภาพน้ำในเขื่อน วัดได้ 189.891 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 60.38 ซึ่งระบายออกประมาณ 1.269 ล้านมิลิเมตร ในขณะนี้เขื่อนลำตะคองยังสามารถรับน้ำได้อีกเยอะไม่น่าเป็นห่วง

นายคณัสชนม์ ศรีเจริญ นายอำเภอปากช่อง ได้ลงพื้นที่ ขณะที่ นายยุทธศาสตร์ ธีระวัฒนา หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง กรมชลประทาน ตรวจบริเวณพื้นที่เก็บกักน้ำ ท้ายเขื่อนบ้านท่างอย หมู่ 13 ต.จันทึก อ.ปากช่อง ที่เป็นสันดอนดิน โดยคณัสชนม์กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นหางพายุหมาอ๊อนแล้ว เขื่อนลำตะคองยังรองรับน้ำจากอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ไหลลงมาตามลำตะคอง ผ่านชุมชน ต.หมูสี ต.ขนงพระ ต.ปากช่อง และชุมชนเมืองปากช่อง ก่อนไหลลงสู่เขื่อน ยังรองรับน้ำได้อีกมาก ประชาชนที่อยู่ใต้เขื่อน เช่น อ.สีคิ้ว สูงเนิน ขามทะเลสอ และอ.เมือง

ขณะเดียวกันปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว, อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย, อ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรี และอ่างเก็บน้ำมูนบน อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำกักเก็บรวมกัน 571.558 ล้านลบ.ม. หรือร้อยละ 64.55 ของความจุกักเก็บทั้งหมด 885.49 ล้านลบ.ม.เท่านั้น จึงไม่น่าเป็นห่วงอะไร ยังรับน้ำได้อีกในปริมาณมาก

ซ่อมสำเร็จ – เจ้าหน้าที่ระดมอุปกรณ์หนักซ่อมทั้งวันทั้งคืนสันอ่างเก็บน้ำ ลำตะโคง อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ ที่พังเสียหายยาวกว่า 10 เมตรทำให้น้ำทะลักออกไปท่วมหมู่บ้านจนแล้วเสร็จปิดทางน้ำไหลได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 28 ส.ค.

บุรีรัมย์กั้นทำนบสำเร็จ
ส่วนความคืบหน้ากรณีที่เกิดเหตุน้ำ กัดเซาะอาคารระบายน้ำล้นอ่างเก็บน้ำ ลำตะโคง อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ พังเสียหาย ทั้งยังเซาะบริเวณสันอ่างขาดยาวกว่า 10 เมตร กว้าง 6 เมตร ทำให้น้ำในอ่างที่มีมากกว่า 10 ล้านลบ.ม. ซึ่งเกินระดับ กักเก็บ ได้ไหลทะลักออกตรงบริเวณที่ สันอ่างขาดอย่างรวดเร็วและเชี่ยวแรงจนไม่สามารถควบคุมได้ ต้องมีการประกาศแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ใต้อ่างและใกล้ทางน้ำไหลผ่าน ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยง จะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน 4 หมู่บ้าน เตรียมอพยพทั้งคนและทรัพย์สิน เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น

วันเดียวกัน หลังจากที่ทางโครงการชลประทานจังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมกับ สำนัก งานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อบต.หัวฝาย ทหาร และอีกหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้ระดมทั้งเครื่องจักร และกำลังคนกว่า 100 ชีวิต เร่งทำงานทั้งวางกล่องเกเบี้ยนหรือกล่องลวดตาข่ายบรรจุหินกว่า 1,000 ลูก วางถุงบิ๊กแบ็กบรรจุหินและทรายอีก 1,000 ถุง รวมถึงก้อนหินขนาดใหญ่และดินล้อมบริเวณที่ถูกน้ำเซาะขาดตลาดทั้งวันทั้งคืนที่ผ่านมา จนสามารถสร้างทำนบดินชั่วคราว (cover dam) ปิดล้อมตัวอาคารระบายน้ำที่ชำรุด และสันอ่างที่ขาดได้สำเร็จ ปิดทางน้ำที่จะทะลักออกไปสร้างความเดือดร้อนเสียหายให้กับประชาชนและพื้นที่การเกษตรได้แล้ว แต่ยังพร่องน้ำออกที่บริเวณประตูระบายน้ำเพื่อรองรับน้ำใหม่ที่จะเข้ามาเติมในอ่างเก็บน้ำหลังจากนี้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก ทั้งนี้คาดว่าในช่วงปลายฤดูจะกักเก็บน้ำไว้ได้เต็มความจุ เพื่อให้ประชาชนและเกษตรกรมีน้ำไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปีแน่นอน

เร่งสำรวจพื้นที่เกษตรจม
ขณะที่นายสัญญ์ธวัชช์ ริ้วเหลือง ปภ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า หลังเกิดเหตุน้ำกัดเซาะอาคารระบาย และสันอ่างเสียหายจนน้ำในอ่างทะลักออก ทางผวจ.ได้สั่งการให้ลงพื้นที่สำรวจดูพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน แต่จากการลงพื้นที่สำรวจก็ยังไม่พบอาคารบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมวลน้ำที่ไหลทะลักออกจากอ่างเก็บน้ำลำตะโคงแต่อย่างใด มีเพียงคอกสัตว์และพื้นที่การเกษตรที่ถูกน้ำท่วมเท่านั้น ซึ่งอยู่ระหว่างประสานทางกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ตรวจสอบความเสียหาย เพื่อรวบรวมรายงานทางอำเภอและจังหวัดอีกครั้ง และพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามระเบียบขั้นตอนต่อไป

ส่วนนาข้าวของเกษตรกรประมาณ 1,000 ไร่ ที่ถูกน้ำท่วมขัง คาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจนทำให้ต้นข้าวตายได้ เนื่องจากน้ำท่วมข้าวได้เพียง 2 วัน ขณะที่ปริมาณน้ำได้ลดลงอย่างต่อเนื่องจนเกือบใกล้ปกติแล้ว คาดว่าใน 1-2 วันสถานการณ์ทั่วไปจะเป็นปกติ

ทั่วไทยข่าวสด-new 56-ขาวดำ.epsl นครศรีฯ-ชนกำแพงดับ วันที่ 28 ส.ค. สภ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช รับแจ้ง มีจยย.ชนกำแพง ที่บ้านหัวถนน ม.4 ต.นาโพธิ์ นายบุญเคียง หอมหวล อายุ 67 ปี สภาพมีบาดแผลฉีกขาดบริเวณใบหน้า เสียชีวิตคร่อมรถ จยย.อยู่ คาดว่าผู้ตาย ขี่จยย.มาแล้วเสียหลักพุ่งชนกำแพงเข้าจนเสียชีวิต เจ้าหน้าที่จะสอบสวนหาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน