เมื่อวันที่ 28 ส.ค. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงความคืบหน้ามะเร็งรักษาทุกที่ (Cancer anywhere) ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2564-30 มิ.ย. 2565 มีผู้ป่วยโรคมะเร็งรับบริการที่ไหนก็ได้ จำนวน 603,060 ครั้ง จากเป้าหมายที่ได้รับจัดสรร 339,371 ครั้ง แบ่งเป็นผู้ป่วยนอก 506,941 ครั้ง และแบบผู้ป่วยใน 96,119 ครั้ง

นพ.จเด็จกล่าวอีกว่า โรคมะเร็งต้องรับการรักษาโดยเร็ว เพื่อควบคุมระยะและการแพร่กระจาย แต่มีอุปสรรคการเข้าถึง ซึ่งการรักษาใน ร.พ.ตามสิทธิ ปกติต้องรอตรวจ รอคิวรักษา มีหลาย ขั้นตอน แต่ละขั้นตอนใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน กว่าจะได้ผลชิ้นเนื้อว่าเป็นมะเร็งหรือ ทราบว่าเป็นมะเร็งชนิดใด ถือเป็นคอขวดทำให้เข้าถึงการรักษาช้า ทั้งเรื่องระบบส่งตัวและวินิจฉัย อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการมากขึ้นและเพิ่มระยะของมะเร็งได้

“นโยบายมะเร็งรักษาทุกที่ ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ได้รับวินิจฉัยว่าเป็น มะเร็ง ให้ได้รับการรักษาครอบคลุมทุกวิธี เช่น ผ่าตัด เคมีบำบัด รังสีรักษา ฮอร์โมน ทั้งตามโปรโตคอลรักษามะเร็ง 20 ชนิด และรักษามะเร็งทั่วไปใน ร.พ.ที่มีศักยภาพและใกล้บ้านโดยเร็วที่สุด สามารถรักษาข้ามเขต ข้ามจังหวัดได้ ซึ่งสถิติข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าผู้ป่วยมะเร็งสามารถเข้าถึงบริการรักษาได้มากขึ้น เร็วขึ้น ทำให้ผลการรักษาดีขึ้นด้วย” นพ.จเด็จกล่าว

ทั้งนี้ ขั้นตอนรักษามะเร็งทุกที่ เริ่มจากผู้ป่วยได้รับวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง จากนั้นเจ้าหน้าที่และผู้ป่วยหารือเพื่อตัดสินใจเลือกหน่วยบริการที่จะไปรักษาร่วมกัน จะได้ใบรับรองและประวัติเพื่อไปรับบริการที่หน่วยบริการนั้นต่อไป และมีระยะเวลารอคิวไม่นานได้โดยตรง ไม่จำกัดว่าจะต้องไปเฉพาะร.พ.รับส่งต่อตามกำหนด ไม่ต้องใช้ใบส่งตัวยืนยันสิทธิ เนื่องจากกรมการแพทย์จัดทำฐานข้อมูลเชื่อมโยง ร.พ.ทั่วประเทศไว้แล้ว และการดูแลผู้ป่วยยังมีระบบทางไกล ให้ยาเคมีบำบัดที่บ้านสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการตามเกณฑ์ที่กำหนดและดุลพินิจของแพทย์ ช่วยลดจำนวนครั้งในการเดินทางมาร.พ. และประหยัดค่าใช้จ่าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน