ป้อมโทรชัชชาติ จัดทหารช่วยป้องท่วมกรุง

เตือน 58 จังหวัดเหนือ-อีสาน-กลาง-ใต้ และกทม.รับมือมรสุมถล่มช่วง 4-10 ก.ย. ขณะที่อุตุฯเตือนฝนถล่มหนักตลอดสัปดาห์นี้ ครอบคลุมทั่วประเทศ ‘บิ๊กป้อม’โทรศัพท์หารือชัชชาติ ส่งกำลังทหารร่วมกับกทม.กำจัดผักตบชวา เปิดทางระบายน้ำ ป้องกันท่วมกรุง ขณะที่หลายจว.เตรียมพร้อมรับมือ ลำปางเร่งระบายน้ำ 2 เขื่อนใหญ่ เช่นเดียวกับที่โคราชก็ระบายน้ำจากอ่างใหญ่ ชัยนาทสั่งพื้นที่ท้ายเขื่อนรับมือ

2 เขื่อนใหญ่ลำปางเร่งระบายน้ำ
เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศว่า หลังจากเกิดฝนตกชุกหนาแน่นและต่อเนื่องเป็นเวลานาน ในหลายพื้นที่ของจ.ลำปาง ช่วงวันที่ 24-25 ส.ค. 2565 เป็นผลมาจากอิทธิพลพายุโซนร้อนกำลังแรง “หมาอ๊อน” ส่งผลให้น้ำมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น และเกิดน้ำป่าไหลหลากน้ำล้นตลิ่งท่วมชุมชนพื้นที่ในหลายอำเภอ โดยเฉพาะ อ.แจ้ห่ม มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนกิ่วลมมากกว่า 30 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนเพิ่มระดับจาก 74 ล้านลบ.ม. ซึ่งถึงจุดกักเก็บสูงสุดแล้ว ต้องเร่งระบายน้ำออกลงสู่แม่น้ำวัง ทำให้น้ำล้นตลิ่งในจุดที่ลุ่มต่ำหลายพื้นที่

นายพีระยุทธ์ เหมาะพิชัย ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมาเปิดเผยว่า เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ตอนนี้สถานการณ์คลี่คลายลง น้ำในเขื่อนกิ่วลมคงเหลืออยู่ต่ำกว่า 70 ล้านลูกบาศก์เมตร จากการคาดการณ์จะมีฝนมาอีกครั้งช่วงวันที่ 6-8 ก.ย.นี้ ทางเขื่อนจึงรักษาระดับน้ำให้เขื่อนให้อยู่ในระดับ 65 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อรองรับน้ำก้อนใหม่ที่จะเข้ามาเพิ่ม ล่าสุดระบายน้ำอัตรา 80 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เราไม่สามารถเร่งปล่อยน้ำออกมามากเกินไปได้ เนื่องจากถ้าฝนไม่ตก อาจจะส่งผลกระทบ ต่อช่วงฤดูแล้งปีหน้า ดังนั้นช่วงนี้เฝ้าจับตาติดตาม สถานการพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด ระยะนี้สภาพน้ำวังยังจะคงที่หรืออาจเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยเท่านั้นประชาชนที่อยู่สองฟากฝั่งสบายใจได้

เร่งซ่อมแซมพนังกั้นน้ำเขื่อนยาง
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หลังจากมีฝนตกหนักจากพายุหมาอ๊อน มีน้ำป่าไหลหลากน้ำล้นตลิ่งท่วมบ้านเรือนชาวบ้านในจ.ลำปางเสียหาย 7 อำเภอ และเขื่อนกิ่วลมปล่อยน้ำระบายจากเขื่อนลงสู่แม่น้ำวัง ทำให้ระดับน้ำในเขตเทศบาลนครลำปางสูงขึ้น และกระแสน้ำไหลแรงกัดเซาะตลิ่งใต้เขื่อนยาง ริมฝั่งแม่น้ำวัง ฝั่งบ้านดง อ.เมืองลำปาง ทรุดเสียหาย ระยะทางกว่า 15 เมตร ทำให้พนังกั้นตลิ่ง ทรุดลงมา และน้ำกัดเซาะเป็นโพรงดินลึกกว่า 5 เมตร เมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา

ล่าสุด นายกิตติ จิวะสันติการ และนายสุรพล ตันสุวรรณ รองนายเทศมนตรีนครลำปาง ลงพื้นที่ตรวจสอบพนังกั้นตลิ่งริมแม่วังทรุดพังลงมาเกิดจากน้ำกัดเซาะ

นายกิตติกล่าวว่า ในการแก้ไขปัญหา เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นบริเวณทางโค้งของน้ำ น้ำที่ปล่อยลงมากระแทกฝั่งนี้ ขณะที่ฝั่งตรงข้ามไม่มี ทำให้กระแสน้ำไหลไปได้ แต่ฝั่งนี้ มันไหลม้วนกระแทกฝั่ง จึงทำให้เกิดความเสียหาย สำหรับพนัง กั้นน้ำที่ทรุดลงมา เบื้องต้นแก้ไขด่วนเอาดินและหินฐานเสาไฟฟ้าที่ไม่ใช้แล้ว เอารถเครนมาแล้วทิ้งหย่อนลงไปในช่วงที่มันถล่ม และขุดลอกดินโคลนที่ขวางทางน้ำ เพื่อกันแรงปะทะของน้ำ

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่สำนักช่างเทศบาลนครลำปาง ดำเนินการขุดลอกกองตะกอนที่ไหล มากับน้ำจากเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา ทำให้มีตะกอนกองสะสมเป็นเกาะกลางแม่น้ำ และเกิดกระแสน้ำวนกัดเซาะดินบริเวณใต้พนังตลิ่ง จนทำให้ตลิ่งทรุดตัวลงมา จึงนำรถแบ๊กโฮเร่งขุดเศษตะกอนจากกลางแม่น้ำไปไว้บริเวณ ริมขอบพนังตลิ่ง เพื่อให้น้ำไหลระบายได้สะดวกยิ่งขึ้น กระแสน้ำไม่ไหลเบี่ยงไปทางริมขอบตลิ่ง ลดแรงกัดเซาะของน้ำ และป้องกันพนังตลิ่งไม่ให้เกิดความเสียหายเพิ่มและซ่อมแซม พนังกันตลิ่งท้ายเขื่อนยาง เร่งแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด

โคราชระบายนํ้าจากอ่างใหญ่
ส่วนสถานการณ์น้ำในพื้นที่จ.นครราชสีมา อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางมีมวล น้ำไหลลงอ่างอย่างต่อเนื่อง จากอิทธิพล ของร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศเมียนมา ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศลาวตอนล่าง ประกอบกับมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทย ลักษณะอากาศเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของประเทศไทย มีฝนฟ้าคะนอง กับมีฝนตกหนักและมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ซึ่งวันนี้สถานีอุตุนิยม วิทยานครราชสีมา พยากรณ์ลักษณะอากาศว่าจะยังมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ รวมถึงแก้มลิงต่างๆ มีน้ำกักเก็บจำนวนมาก

โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำห้วยตะคร้อ ต.หนองมะนาว อ.คง จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำล่าสุด 6.71 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 70.72 จากความจุทั้งหมด 9.5 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นน้ำใช้การได้ 6.08 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 68.64 ซึ่งในช่วงเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ปริมาณน้ำภายในอ่างเก็บน้ำบ้านห้วยตะคร้อแห้งขอดจนหมด จากพื้นที่ 3,588 ไร่ มีปริมาณน้ำเหลือไม่ถึงร้อยละ 1 ของความจุ ทำให้ไม่สามารถสูบน้ำขึ้นมาใช้ผลิตประปาหล่อเลี้ยงชาวบ้านในพื้นที่ได้ แต่หลังจากพายุและลมมรสุม เคลื่อนผ่านประเทศไทยหลายลูกในช่วงนี้ ทำให้มีฝนตกชุก จึงมีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำจนเกือบเต็มความจุกักเก็บ และจากภาพจากมุมสูง จะเห็นว่าปริมาณน้ำภายในอ่างเก็บน้ำห้วยตะคร้อปริมาณน้ำเกือบเต็มความจุอ่างแล้ว

นายคมิก มูลจันทร์ อายุ 65 ปี ชาวบ้านในต.หนองมะนาว เปิดเผยว่า ชาวบ้านดีใจและรู้สึกอุ่นใจที่มีน้ำใช้อุปโภค-บริโภค และใช้ทำการเกษตร ไม่ต้องเดือดร้อนขาดแคลนน้ำเหมือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ชลประทานจำเป็นต้องระบายน้ำภายในอ่างเก็บน้ำออก เพื่อเตรียมรับน้ำฝนใหม่ที่จะไหลเข้ามาเติมลงอ่างอีกในระยะนี้ เนื่องจากอุตุนิยมวิทยาคาดว่า ช่วงวันที่ 4-7 ก.ย.2565 ร่องมรสุมจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง จึงต้องทยอยพร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำ เพื่อความมั่นคงแข็งแรงของอ่าง และไม่ให้เกิดผล กระทบตามแผนบริหารจัดการน้ำ

ผู้ว่าฯ ชัยนาทสั่งปิดจุดเสี่ยงท่วม
วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายรังสรรค์ ตันเจริญ ผู้ว่าฯ ชัยนาท พร้อมด้วยนายเอกภพ จันทร์เพ็ญ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 16 ชัยนาท นายคำรณ อิ่มเนย ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดชัยนาท นายณัฐวุฒิ ตั่งสินชัย นายอำเภอสรรพยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจจุดเสี่ยง บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำทางด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม พร้อมเร่งป้องกันโดยการอุดท่อและเสริมคันดินกั้นน้ำ ในพื้นที่ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท

นายรังสรรค์เปิดเผยว่า ตามที่ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่อ.สรรพยา พร้อมด้วยนายอำเภอสรรพยา พบว่าสถานการณ์น้ำขณะนี้ยังไม่น่าเป็นห่วง ยังสามารถรับได้ ขณะนี้เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที น้ำยังไม่ล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชน แต่จะมีจุดเสี่ยงบางจุด เบื้องต้นลักษณะเป็นท่อระบาย น้ำทิ้งจากชุมชน โดยเฉพาะในพื้นที่ ต.หาดอาษา และ ต.โพนางดำออก ทางหน่วยงานในพื้นที่นำกระสอบทรายลงไปปิดกั้นไว้ หากระดับน้ำ ขึ้นสูงกว่านี้ น้ำจะได้ไม่ไหลย้อนเข้าไป ในหมู่บ้าน

เตือนท้ายเขื่อนขนของหนีน้ำ
“เบื้องต้นทาง จ.ชัยนาท สั่งการไปยังนายอำเภอสรรพยา เพื่อให้สื่อสารไปยังนายกเทศมนตรีในพื้นที่ทุกแห่งให้เตรียมรับสถานการณ์น้ำ เนื่องจากกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ และกรมชลประทานแจ้งเตือนว่าในสัปดาห์หน้าอาจมีการปล่อยน้ำลงท้ายเขื่อนเจ้าพระยาถึง 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจ.ชัยนาทจะเริ่มมีปัญหาในพื้นที่ลุ่มต่ำ เพราะฉะนั้นจุดไหนที่เปราะบางให้รีบกั้นน้ำไว้ก่อน ไม่ต้องรอให้เกิดปัญหา เพราะอ้างอิงได้จากประกาศเตือนของกรมชลประทาน ขอแจ้งเตือนประชาชนริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เตรียมความพร้อม สิ่งไหนที่สามารถยกขึ้นที่สูงได้ให้ทำก่อน หากน้ำมาเร็วจะเก็บไม่ทัน แต่เวลานี้ยังไม่มีฝนตกหนักและระดับน้ำ ที่จ.นครสวรรค์เริ่มลดลงเล็กน้อย แต่เขื่อนเจ้าพระยายังระบายน้ำคงที่ เพื่อรอรับน้ำเหนือที่อาจจะมีมาอีกเพราะคาดว่ายังมีฝนตกมาอีก”

สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ขณะนี้กรมชลประทานปรับลดการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาลงเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะฝนที่ตกทางด้านตอนบนลุ่มน้ำเจ้าพระยา เนื่องจากปริมาณน้ำที่ไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ เริ่มลดลง ปัจจุบันสถานการณ์น้ำที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 1,690 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่สถานี C.13 เขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท มีปริมาณน้ำทางด้านเหนือเขื่อนอยู่ที่ 15.00 เมตร/รทก. มีปริมาณน้ำทางด้านท้ายเขื่อนอยู่ที่ 13.58 เมตร/รทก. ซึ่งระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 2.76 เมตร และเขื่อนเจ้าพระยามีอัตราการระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อนอยู่ที่ 1,713 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งส่งผลทำให้ที่สถานีวัดน้ำ C.3 บ้านบางพุทรา อ.เมือง จ.สิงห์บุรี มีปริมาณน้ำไหลผ่านจุดวัดอยู่ที่ 1,877 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อย่างไรก็ตามในช่วงนี้ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำทางด้าน ท้ายเขื่อนเจ้าพระยายังคงต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

ลพบุรีสั่งเตรียมพร้อมรับฝนถล่ม
ด้านนายวชิระ เกตุพันธุ์ รองผู้ว่าฯ ลพบุรี แจ้งว่าศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ อุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม จ.ลพบุรี ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง กอปรกับกรมอุตุนิยมวิทยามีประกาศฉบับที่ 1 ลงวันที่ 3 ก.ย. 2565 เวลา 05.00 น. แจ้งว่าช่วงวันที่ 5-9 ก.ย. 2565 ร่องมรสุมกำลังแรงจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตก เฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาให้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม

สำหรับวันนี้ จ.ลพบุรีจะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 ของพื้นที่ ได้สั่งการให้ทุกอำเภอและท้องถิ่นเฝ้าติดตามสถานการณ์และแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า โดยให้ประชาสัมพันธ์ผ่านหอกระจายข่าวและเสียงตามสายและทุกช่องทางอย่างทั่วถึง และให้เตรียมความพร้อมทั้งด้านบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักรกลสาธารณภัย พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยตลอด 24 ชั่วโมง หากเกิดสาธารณภัยและ ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ให้เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยจัดกำลัง ในรูปแบบประชารัฐเข้าสำรวจความเสียหาย และให้ความช่วยเหลือประชาชนทันที

รอระบาย – หน่วยตชด.425 นำเรือยางและเรือท้องแบนออกช่วยเหลือประชาชน เดินทางเข้าออกตามชุมชนต่างๆ ในอ.ถลาง จ.ภูเก็ต ที่ยังถูกน้ำท่วมขังรอการระบาย ล่าสุดสถานการณ์เกือบเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เมื่อวันที่ 3 ก.ย.

ภูเก็ตเร่งช่วยเหยื่อน้ำท่วม
ส่วนที่จ.ภูเก็ต หลังจากมีฝนตกต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมาเกิดฝน ตกหนัก ทำให้หลายพื้นที่มีน้ำท่วมขังบางแห่งระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร โดยเฉพาะ ในอ.ถลาง ที่หน้าสนามบินภูเก็ต น้ำท่วมมิดคันรถ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ตสรุปและสำรวจความเสียหาย พบว่ามีประชาชนได้รับความเดือดร้อน 3 ตำบล ของอ.ถลาง ได้แก่ ต.ไม้ขาว หมู่ที่ 1 น้ำท่วมบ้านเรือนประชาชน สูง 30 ซ.ม. ต.เทพกระษัตรี หมู่ที่ 7 น้ำท่วม ถนนสายเทพกระษัตรี (ทล.402) หมู่ที่ 8 น้ำท่วมถนนในพื้นที่บ้านพรุสมภาร-บ้านเหรียง และหมู่ที่ 9 น้ำท่วมถนนป่าครองชีพ สาย 1 ส่วนพื้นที่ต.สาคู หมู่ที่ 1 น้ำท่วมถนนบริเวณหน้าปั๊มบางจาก จนถึงปั๊มปตท.สามแยกสนามบิน น้ำท่วมถนน ทางหลวง หมายเลข 4026 และน้ำท่วมบ้านเรือนประชาชน และเส้นทางในพื้นที่ซอยในยาง 13 ประชาชนได้รับผลกระทบ 5 หลัง

ล่าสุด ระดับน้ำลดลงเกือบปกติแทบทุกจุดแล้ว ตั้งแต่ถนนเทพกระษัตรีฝั่งขาเข้า บริเวณหน้าสถานีบริการน้ำมันเชลล์, ทางแยกเข้าท่าอากาศยานนานาชาติ สายเก่า จุดตัดถนนเทพกระษัตรี และบริเวณหน้าสนามกอล์ฟบลูแคนย่อน และทางแยกเข้าท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต แยกสาคู-ในยาง และซอยในยาง 13 พื้นที่น้ำท่วมขังระดับน้ำลดลงเกือบปกติแล้ว แต่บางส่วนซึ่งเป็นที่ลุ่มยังคงมีน้ำท่วมขังอยู่บ้าง

นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าฯ ภูเก็ต เปิดเผยว่า หลังจากลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ พบว่าปัญหาดังกล่าวคลี่คลายอย่างรวดเร็ว โดยเส้นทางที่เกิดน้ำท่วมขังกลับสู่ภาวะปกติภายในเวลาไม่นาน ส่วนการเดินทางไม่ว่าจะเป็นทางบก หรือทางอากาศสามารถ เดินทางได้ตามปกติ โดยสั่งการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่เร่งสำรวจ และช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดเตรียมอาหารของอุปโภคบริโภคให้กับครัวเรือน ที่ประสบภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ให้กับประชาชน และสั่งการทุกหน่วยให้เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อเกิดปัญหาขึ้นจะได้เข้าไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้อย่างทันท่วงที

ภูเก็ตสรุปน้ำท่วม 3 ตำบล
เมื่อช่วงบ่าย วันเดียวกัน ที่ศาลาวัดมงคล วราราม (วัดในยาง) อ.ถลาง นายณรงค์ วุ่นซิ้ว ร่วมกับพล.ร.ท.สมพงษ์ นาคทอง ผบ.ทรภ.3/ผอ.ศรชล.ภาค 3 เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหากรณีน้ำท่วมฉับพลัน ในพื้นที่อ.ถลาง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานสรุปเหตุ น้ำท่วมขังในอ.ถลางว่า หมู่ที่ 6 บ้านโคกโตนด ต.เชิงทะเล น้ำท่วมขังเส้นทางจราจร รถไม่สามารถสัญจรผ่านได้ หมู่ที่ 1 บ้านในยาง ต.สาคู บริเวณซอยในยาง 13 น้ำท่วมขัง บ้านเรือนประชาชนเส้นทางจราจรภายในซอย โดยมีความเสียหาย 3 ตำบล คือต.เทพกระษัตรี ต.ไม้ขาว ต.สาคู จำนวน 372 ครัวเรือน ประชากรได้รับความเดือดร้อน 853 คน ขณะนี้ ฝนหยุดตก และอยู่ระหว่างเฝ้าระวังสถานการณ์ และยังมีน้ำท่วมขังในบางพื้นที่บริเวณพื้นที่ตำบลสาคูซึ่งเป็นพื้นที่แอ่งกระทะ จำเป็นต้องใช้เครื่องสูบน้ำเพื่อสูบน้ำออก

ทางจังหวัดประกาศเขตพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ แจ้งเตือนอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินสไลด์ น้ำล้นอ่างเก็บน้ำเสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง และคลื่นลมแรง เนื่องจากฝนตก หนักถึงหนักมากในช่วง วันที่ 2-8 ก.ย. 2565

นายณรงค์กล่าวว่า ภาพรวมของสถานการณ์ น้ำท่วมในพื้นที่อ.ถลาง สรุปว่าพื้นที่ส่วนใหญ่กลับคืนภาวะปกติเรียบร้อยแล้ว บางจุดยังมี น้ำขังเป็นจุดซ้ำซาก บริเวณไม่กว้าง ในส่วนสนามบินไม่กระทบ การขึ้นลงของเครื่องบิน ได้หารือกันเปิดทางเดินน้ำให้ไหลลงทะเล จะดำเนินการร่วมกันทุกฝ่ายให้การระบายน้ำเป็นไปด้วยดี ขอยืนยันทุกฝ่ายมาเที่ยวจังหวัดภูเก็ตได้ตามปกติ การหารือวันนี้เพื่อแก้ปัญหา ในระยะสั้น เฉพาะหน้าจะต้องทำช่องทางเปิดให้น้ำได้มากขึ้น ในปัจจุบันน้ำที่ลงทะเล โดยรอบสนามบินมาจากเขตอบต.ไม้ขาว และไหลรวมกันในเขตอบต.สาคู ในเขตอุทยานสิรินาถ ปริมาณน้ำที่มากทำให้พื้นที่รองรับน้ำน้อยไหลช้า จะเพิ่มช่องทางระบายน้ำให้มากขึ้น ทั้งส่วนของตำบลไม้ขาวและตำบลสาคู ซึ่งตำบลไม้ขาวจะเพิ่มช่องทางน้ำมากขึ้นอยู่ในแผนของท่าอากาศยานภูเก็ตอยู่แล้ว และเร่งดำเนินการ ทั้งสองอบต.ตกลงกัน ในการดำเนินการและได้รับสนับสนุนเครื่องมือ จากอบจ.ภูเก็ต เริ่มดำเนินงานตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป

“ส่วนประชาชนที่น้ำท่วมบ้าน ได้เข้าทำความสะอาดบ้านเรือนแล้วและมีสิ่งชำรุด เสียหายจากน้ำท่วม ได้สำรวจรายบ้านว่า มีทรัพย์สินใดเสียหายบ้าง ก็ปฏิบัติตามระเบียบ ท้องถิ่น ส่วนรถยนต์น้ำท่วมมีประกันมาดูแล เจ้าของรถนำรถไปทำ ความสะอาดแล้ว กับประกันภัยดำเนินการตามกระบวนการ” นายณรงค์กล่าว

น้ำ2เมตร – น้ำยังคงท่วมสูงเกือบ 2 เมตร ต.บ้านแพน อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ต้องใช้เรือพายเข้าออกหมู่บ้าน ขณะที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขออกช่วยเหลือผู้ป่วย ติดเตียง ผู้สูงอายุ และ ผู้พิการที่ได้รับผล กระทบจากอุทกภัย เมื่อวันที่ 3 ก.ย.

อยุธยาเกี่ยวข้าวหนีน้ำ
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในจ.พระนคร ศรีอยุธยา พบว่าเขื่อนเจ้าพระยาได้ปรับลดการระบายน้ำลง โดยระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อนที่ 1,692 ลบ.ม./วินาที ยังคงส่งผลทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านจ.พระนคร ศรีอยุธยา ไหลลงสู่คลองสาขาแม่น้ำน้อยที่รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีกประมาณ 5-10 ซ.ม.

จากการสำรวจ พบว่าชาวนาในทุ่งอ.ผักไห่ อ.เสนา อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา เร่งเก็บเกี่ยวนาข้าวให้ทันก่อนวันที่ 15 ก.ย. เพื่อเตรียมใช้พื้นที่ทุ่งนาเป็นแก้มลิงในการ ผันน้ำจากแม่น้ำและคลองต่างๆ เข้าในพื้นที่ แก้มลิงกักเก็บน้ำเอาไว้ บรรเทาความเดือดร้อน ของชาวบ้านที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ

นายสัญญา ตรีวิสูตร อายุ 48 ปี ชาวนา ที่ทำนาอยู่ในอ.เสนา กล่าวว่า ชาวนาทุกคน ต้องรับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะในข้อตกลง ของชลประทาน และเกษตรจังหวัด ต้องเก็บเกี่ยวข้าวไม่เกินวันที่ 10 ก.ย. เพราะวันที่ 15 ก.ย. จะมีการระบายน้ำเข้าทุ่ง แก้มลิงเสนา-บางบาล

ด้านนายเกียรติศักดิ์ ชั้วทอง สาธารณสุขอำเภอเสนา ผอ.รพ.สต.บ้านแพน เจ้าหน้าที่ สาธารณสุข ลงพื้นที่ปักธงห่วงใยกลุ่มเป้าหมาย บ้านผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ อยู่บ้านคนเดียวที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ในอ.เสนา 14 หลัง ที่ถูกน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร ประมาณ 1 เดือน โดยแบ่งออกเป็นต.บ้านกระทุ่ม 1 หลัง ต.หัวเวียง 4 หลัง ต.บ้านแพน 2 หลัง ต.บ้านโพธิ์ 5 หลัง และต.รางจรเข้ 2 หลัง พร้อมทั้งประเมินอาการผู้ป่วย สภาพแวดล้อม ประสานกำนันผู้ใหญ่บ้าน อสม.ดูแลกลุ่มผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด

ท่วมรังสิต – ฝนตกน้ำท่วมขังหน้าหมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี เยื้องตลาดรังสิต ต.ประชาธิปัตย์ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ขณะที่กรมอุตุฯ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแจ้งเตือน 58 จังหวัด รับมือมรสุมถล่มหนักช่วงวันที่ 4-10 ก.ย.นี้

ปทุมฯเฝ้าระวังน้ำทะลักท่วม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำบริเวณชุมชนบ้านม่วง ชุมชนวัดมะขาม ชุมชนวัดโบสถ์ ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.ปทุมธานี ประมาณ 400 หลัง ซึ่งอยู่นอกแนวคันกั้นน้ำก็ได้รับผลกระทบบ้างในช่วงน้ำทะเลหนุน

นายสายัณห์ นพขำ นายกเทศบาลตำบลบ้านกลาง เปิดเผยว่า ระดับน้ำในชุมชนวัดมะขาม ชุมชนบ้านม่วง และชุมชนวัดโบสถ์ซึ่งอยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ ได้รับผลกระทบ สูงขึ้นเนื่องจากน้ำทะเลหนุน ประกอบกับการปล่อยน้ำของกรมชลประทานที่ประตูระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท แม้จะเพิ่มอัตราการระบายน้ำมากขึ้น แต่ในพื้นที่ของเทศบาลตำบลบ้านกลางที่มีชุมชนกว่า 400 หลังคาเรือนก็ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากชาวบ้านยังต้องการพักอาศัยหลับนอนอยู่ที่บ้านตัวเอง อย่างไรก็ตามเทศบาลตำบลบ้านกลางมีความพร้อมตลอดเวลาที่จะช่วยเหลือประชาชนกรณีจะขนย้ายทรัพย์สิน หากมีระดับน้ำสูงขึ้นจนไม่สามารถพักอาศัยอยู่ได้ ทั้งนี้เทศบาลตำบลบ้านกลางประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนที่มีบ้านเรือนพักอาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาถึงสถานการณ์น้ำอยู่เป็นระยะๆ และให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากทางราชการ หากสุ่มเสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วมและไม่สามารถพักอาศัยในบ้านเรือนของตนเองได้ ให้แจ้งมาทางเทศบาลเพื่อให้หน่วยเคลื่อนที่เร็วปฏิบัติการช่วยเหลือได้ทันที

‘ป้อม’โทรคุย‘ชัชชาติ’รับมือท่วม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี โทรศัพท์พูดคุยกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.เมื่อวันที่ 2 ก.ย. ที่ผ่านมา เพื่อติดตามการทำงานในการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่กทม. โดยรัฐบาลสั่งการให้ทหาร ร่วมขนกระสอบทรายไปวางตามจุดต่างๆ ในกทม. เพื่อป้องกันน้ำท่วม ตามที่ร้องขอ

ขณะที่กทม.ขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงาน เพื่อกำจัดผักตบชวาที่กีดขวางทางระบายน้ำในช่วงฤดูฝน ที่กระทบต่อการระบายน้ำและก่อให้เกิดน้ำท่วมขังได้ โดยพล.อ.ประวิตรมอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมือง บูรณาการทำงานร่วมกับกรมชลประทาน กรมเจ้าท่า และกทม. เร่งกำจัดผัดตบชวา ในแม่น้ำสายหลักสายรอง เพื่อให้การระบายน้ำช่วงน้ำหลากมีประสิทธิภาพ และให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กระทรวงกลาโหม จัดกำลังพลและอุปกรณ์กำจัดผักตบในแม่น้ำเจ้าพระยา และคลองระบายน้ำหลัก และคลองสาขา 13 เขตในกทม. ได้แก่ เขตประเวศ คลองภาษีเจริญ คลองสนามชัย เขตหนองจอก เขตลาดกระบัง เขตคลองสามวา เขตมีนบุรี เขตสะพานสูง เขตสายไหม เขตบางเขน เขตหนองแขม และเขตบางขุนเทียน เริ่มดำเนินการวันที่ 5-6 ก.ย.นี้ที่เขตบางเขน คลองหนองบัว และให้ครอบคลุมทุกเขต โดยเร็ว

ลอกท่อ – นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด ประธานคณะกรรมการประสานงานด้านการเมืองพื้นที่กรุงเทพฯ พรรคเพื่อไทย นำทีมว่าที่ผู้สมัครส.ส. และส.ก.ของพรรค ลอกท่อระบายน้ำในชุมชนเคหะดอนเมือง เปิดทางให้น้ำระบายได้รวดเร็วขึ้น เมื่อวันที่ 3 ก.ย.

อุตุฯเตือน 5-9 ก.ย.ฝนหนักทั่วปท.
วันเดียวกัน กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศฉบับที่ 1 เตือนฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย และคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 5-9 ก.ย.65 ร่องมรสุม กำลังแรง จะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุม ทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วม ฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ลุ่ม

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 5-9 ก.ย.นี้ไว้ด้วย

ปภ.เตือน 58 จว.ระวังฝนถล่ม
วันเดียวกัน กองอำนวยการป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานว่าได้ติดตามสภาวะอากาศ และพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศ ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 3 ก.ย. 2565 เวลา 05.00 น. แจ้งว่า ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และ ภาคกลางตอนบน อีกทั้งมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้น

โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทย ตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร และกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ มีประกาศเมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2565 ให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง น้ำหลากและน้ำท่วมขัง

โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ดังนี้ พื้นที่ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ระหว่างวันที่ 4-10 ก.ย. 65 ภาคเหนือ จ.แม่ฮ่องสอน ทุกอำเภอ, เชียงใหม่ (อ.จอมทอง ฝาง แม่แจ่ม), เชียงราย (อ.เมือง แม่จัน แม่สาย แม่ฟ้าหลวง แม่สรวย), ลำพูน (อ.เมือง), ลำปาง (อ.สบปราบ วังเหนือ เมืองปาน แจ้ห่ม ห้างฉัตร), พะเยา (อ.เชียงคำ ปง จุน ดอกคำใต้), แพร่ (อ.สอง ลอง ร้องกวาง วังชิ้น), น่าน (อ.ท่าวังผา บ่อเกลือ ปัว สองแคว เวียงสา แม่จริม), อุตรดิตถ์ (อ.ท่าปลา น้ำปาด), พิษณุโลก (อ.วังทอง เนินมะปราง นครไทย ชาติตระการ วัดโบสถ์), ตาก (อ.ท่าสองยาง แม่ระมาด แม่สอด พบพระ อุ้มผาง), กำแพงเพชร (อ.เมือง คลองลาน โกสัมพีนคร), สุโขทัย (อ.เมือง ทุ่งเสลี่ยม กงไกรลาศ), เพชรบูรณ์ (อ.เมือง วังโป่ง ชนแดน หนองไผ่ หล่มสัก หล่มเก่า เขาค้อ), พิจิตร (อ.ดงเจริญ ทับคล้อ) และอุทัยธานี (อ.บ้านไร่ ห้วยคต ลานสัก ทัพทัน สว่างอารมณ์)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.เลย (อ.เมือง ด่านซ้าย ท่าลี่ นาแห้ว), หนองคาย (อ.สังคม โพธิ์ตาก), บึงกาฬ (อ.เมือง บุ่งคล้า), หนองบัวลำภู (อ.สุวรรณคูหา), อุดรธานี (อ.กุดจับ นายูง น้ำโสม), สกลนคร (อ.เมือง ภูพาน สว่างแดนดิน), นครพนม (อ.เมือง), มุกดาหาร (อ.เมือง ดงหลวง หว้านใหญ่ หนองสูง), ชัยภูมิ (อ.เมือง หนองบัวระเหว แก้งคร้อ บ้านแท่น ภูเขียว คอนสวรรค์), ขอนแก่น (อ.เมือง ชุมแพ ภูเวียง ภูผาม่าน มัญจาคีรี ชนบท บ้านแฮด บ้านไผ่), มหาสารคาม (อ.โกสุมพิสัย), กาฬสินธุ์ (อ.เมือง ยางตลาด), ร้อยเอ็ด (อ.เสลภูมิ), ยโสธร (อ.มหาชนะชัย คำเขื่อนแก้ว ป่าติ้ว), อำนาจเจริญ (อ.เมือง ชานุมาน), นครราชสีมา (อ.ด่านขุนทด โนนสูง ปากช่อง สีคิ้ว วังน้ำเขียว ปักธงชัย พิมาย จักราช ลำทะเมนชัย ชุมพวง), บุรีรัมย์ (อ.เฉลิม พระเกียรติ ประโคนชัย โนนดินแดง นางรอง), สุรินทร์ (อ.ปราสาท พนมดงรัก), ศรีสะเกษ (อ.ขุนหาญ กันทรลักษ์) และอุบลราชธานี (อ.เมือง วารินชำราบ บุณฑริก น้ำยืน นาจะหลวย น้ำขุ่น เดชอุดม นาเยีย)

ภาคกลาง จ.กาญจนบุรี (อ.ทองผาภูมิ สังขละบุรี หนองปรือ บ่อพลอย เลาขวัญ) ราชบุรี (อ.สวนผึ้ง ปากท่อ บ้านคา) สุพรรณบุรี (อ.ด่านช้าง) นครนายก (อ.เมือง ปากพลี) ปราจีนบุรี (อ.กบินทร์บุรี นาดี ประจันตคาม) สระแก้ว (อ.เมืองเขาฉกรรจ์ วัฒนานคร อรัญประเทศ) ระยอง (อ.เมือง แกลง ปลวกแดง) จันทบุรี (อ.เมือง นายายอาม เขาคิชฌกูฏ สอยดาว โป่งน้ำร้อน มะขาม ท่าใหม่ ขลุง) ตราด ทุกอำเภอ ปทุมธานี (อ.ธัญบุรี) นนทบุรี (อ.เมือง ปากเกร็ด) สมุทรปราการ (อ.เมือง บางพลี) เพชรบุรี (อ.หนองหญ้าปล้อง แก่งกระจาน ชะอำ ท่ายาง) และประจวบคีรีขันธ์ (อ.หัวหิน ทับสะแก บางสะพาน บางสะพานน้อย)

ภาคใต้ จ.ชุมพร (อ.หลังสวน ทุ่งตะโก พะโต๊ะ) สุราษฎร์ธานี (อ.พนม คีรีรัฐนิคม) นครศรีธรรมราช (อ.ทุ่งใหญ่ ทุ่งสง นบพิตำ พรหมคีรี ขนอม) ระนอง (อ.เมือง ละอุ่น กะเปอร์) พังงา (อ.เมือง ตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง กะปง คุระบุรี ท้ายเหมือง) ภูเก็ต (อ.ถลาง) และกระบี่ (อ.เขาพนม เกาะลันตา ลำทับ ปลายพระยา)

ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง ระหว่างวันที่ 5-9 ก.ย. 2565 ภาคกลาง จ.ชลบุรี (อ.เมือง ศรีราชา เกาะสีชัง บางละมุง สัตหีบ) ระยอง (อ.เมือง บ้านฉาง แกลง) จันทบุรี (อ.นายายอาม ท่าใหม่ แหลมสิงห์ ขลุง) และตราด (อ.เมือง แหลมงอบ คลองใหญ่ เกาะกูด เกาะช้าง),

ภาคใต้ จ.ระนอง (อ.เมือง สุขสำราญ กะเปอร์) พังงา (อ.เมือง เกาะยาว ทับปุด ตะกั่วทุ่ง ท้ายเหมือง ตะกั่วป่า คุระบุรี) ภูเก็ต (อ.เมือง กะทู้ ถลาง) และกระบี่ (อ.เมือง คลองท่อม เกาะลันตา เหนือคลอง อ่าวลึก)

สั่งเฝ้าระวัง‘ถ้ำ-น้ำตก’ด้วย
กอปภ.ก.จึงประสานแจ้งจังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ กรุงเทพฯ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยโดยติดตาม ปริมาณที่ตก ในพื้นที่แต่ละจุดอย่างใกล้ชิด และเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงที่มีฝนตกหนัก และปริมาณฝนตกสะสมจำนวนมาก ที่อาจส่งผลให้เกิดอุทกภัย

สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำ น้ำตก ถ้ำลอด หากมีฝนตกหนักมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัย ให้มีประกาศ แจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่ ในพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกประกาศหรือ ติดตั้งสัญญาณการแจ้งเตือนประชาชนบริเวณชายฝังทะเลโดยเฉพาะห้ามลงเล่นน้ำและประกอบกิจกรรมทางทะเล ด้วยความระมัด ระวังในช่วงคลื่นลมแรง พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง

พร้อมประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย อีกทั้ง จัดชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) รวมถึงนำเครื่องมือเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย เข้าประจำจุดเสี่ยงอันตรายและพื้นที่เสี่ยงภัย เพื่อให้พร้อมเผชิญเหตุ และช่วยเหลือประชาชน ทันที ทั้งนี้เน้นย้ำทุกหน่วยงานดำเนินการ ตามแผนเผชิญเหตุอย่างเคร่งครัดสำหรับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศและข้อมูลข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยขอให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัย ที่อาจเกิดขึ้น และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน