เตือนกทม.-ปริมณฑล ตกหนักแน่วันนี้-9กย.

แม่เฒ่าปากน้ำ เจอฝนหนักตอนตี 3 น้ำทะลักห้องนอนต้องนั่งดูน้ำทั้งคืน ผู้ว่าฯหลายจว.สั่งเตรียมพร้อมรับมือ หลังอุตุฯ เตือน ร่องมรสุมกำลังแรง ทำฝนหนักทั่วทุกภาค ระหว่าง 5-9 ก.ย. ทบ.ส่งกำลัง ช่วยเก็บผักตบชวาคลองในกทม. เขื่อนเซบายอุบลฯ ยกประตู 5 บานเร่งพร่องน้ำ โคราชแม่น้ำมูน ยังขยายวงท่วม เสิงสางลม-ฝนหนักรอบ 10 ปี ยายเล่านาทีพายุหอบหลังคาบ้านปลิว ชาวกรุงเก่าอ่วม จมมานานร่วมเดือนต้องขนของไว้บนถนน

อุตุเตือนฝนหนักทั่วทุกภาค
เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 4 ก.ย. น.ส. ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือน ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย และคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบน (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 5-9 กันยายน 2565) ฉบับที่ 3 ว่า ในช่วงวันที่ 5-9 ก.ย.2565 ร่องมรสุมกำลังแรงจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตก หนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม

จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้ วันที่ 5 ก.ย. ภาคเหนือ : จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ : จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง

เช็กด่วนรายชื่อจว.ฝนหนัก
วันที่ 6-7 ก.ย. ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองบัวลำภู หนองคาย อุดรธานี ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ : จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง

วันที่ 8-9 ก.ย. ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน แพร่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองบัวลำภู หนองคาย อุดรธานี ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล

ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ : จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา และภูเก็ต

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 5-9 กันยายน 2565

จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

เขื่อนเซบายเร่งพร่องน้ำ
ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำใน จ.อุบลราชธานีว่า เจ้าหน้าที่สำนักงานชลประทานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีล่างและเซบายล่าง สำนักงานชลประทานที่ 7 จ.อุบลราชธานี เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนกั้นลำเซบายทั้ง 5 บาน พร่องน้ำลงสู่แม่น้ำมูน ซึ่งกำลังมีระดับน้ำทรงตัว เพื่อเตรียมรับน้ำฝนจากร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทย ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ระหว่างวันที่ 5-9 ก.ย.นี้

ด้านทหารจากศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 6 ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ นำเบอร์โทรศัพท์ไปติดตามบ้านเรือนประชาชนชุมชนท่าก่อไผ่ และชุมชนติดริมแม่น้ำมูนในเขตเทศบาลเมืองวารินชำราบ หากระดับน้ำสูงขึ้นในช่วงนี้ รีบแจ้ง เพื่ออพยพ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ครอบครัวที่มีผู้ป่วยติดเตียงอาศัยอยู่ด้วยสามารถแจ้งขอความช่วยเหลืออพยพได้ 24 ชั่วโมง

สำหรับแม่น้ำมูนที่สถานีวัดน้ำสะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมืองอุบลราชธานี มีระดับน้ำสูง 6.64 เมตร ซึ่งอยู่ในระดับเตือนภัยเหลืออีกไม่ถึง 40 เซนติเมตร น้ำจะเริ่มล้นตลิ่งไหลท่วมชุมชน

โคราชน้ำมูนท่วมขยายวง
ที่ จ.นครราชสีมา ปริมาณน้ำในลำ น้ำมูนช่วง อ.พิมาย และ ลำน้ำลำสะแทด ช่วง อ.ประทาย ไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตรในตำบลกระเบื้องนอก อ.เมืองยาง ส่งผลทำให้พื้นที่นาข้าวได้รับผลกระทบทั้ง 4 ตำบล จำนวน 25 หมู่บ้าน พื้นที่นาข้าวได้รับความเสียหายประมาณ 8 พันไร่ ซึ่งขณะนี้ปริมาณน้ำท่วมยังคงขยายพื้นที่ออกไปมากขึ้น

นายสมศักดิ์ เป็นผลดี อายุ 66 ปี ชาวนาใน ต.กระเบื้องนอก กล่าวว่า ลงทุนทำนาจำนวน 22 ไร่ ถูกน้ำท่วมสูง 80-90 ซ.ม. บางจุดท่วมสูงกว่า 1 ม. นานหลายสัปดาห์แล้ว ต้นข้าวที่กำลังเจริญเติบโตถูกน้ำท่วมเสียหายเกือบทั้งหมด

ขณะที่ภาพจากมุมสูง จะเห็นว่าปริมาณน้ำทะลักท่วมนาข้าวเป็นวงกว้าง คาดว่าหากมีฝนตกลงมาซ้ำอีกภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ อาจจะส่งผลทำให้นาข้าวของเกษตรกรได้รับความเสียหายนับหมื่นไร่แน่นอน

ด้านสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา รายงานข้อมูลของพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัยในจังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2565 ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้มีพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัยไปแล้วทั้งหมด 14 อำเภอ 76 ตำบล 486 หมู่บ้าน 8 ชุมชน 11,897 ครัวเรือน มีพื้นที่การเกษตรที่เป็นพืชไร่เสียหาย 7,641 ไร่ และนาข้าวเสียหายไปกว่า 87,582 ไร่ ซึ่งสถานการณ์น้ำทั้ง 12 อำเภอได้กลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้วเหลือเพียงอำเภอประทายและที่อำเภอเมืองยางที่ยังคงมีน้ำท่วมในบางจุด

ประกาศเตือน 6 อำเภอ
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและดินโคลนถล่มจังหวัดนครราชสีมา ประกาศแจ้งโทรสารด่วนที่สุด เฝ้าระวังสถานการณ์พื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำชีและมูน ระดับมีแนวโน้มสูงขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ 6 อำเภอ ประกอบด้วย อ.แก้งสนามนาง อ.บ้านเหลื่อม อ.พิมาย อ.ชุมพวง อ.เมืองยาง และ อ.ลำทะเมนชัย ให้ติดตามสถานการณ์และแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นตามการกิจหน้าที่และทรัพยากรในความรับผิดชอบ

ล่าสุดนายสิทธิพล เสงี่ยม ผอ.ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 5 นครราชสีมา (ผอ.ปภ.เขต 5 นม.) ได้สั่งการเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการระบายน้ำภายในหมู่บ้านบึงทับช้าง หมู่ที่ 7 ต.จอหอ อ.เมือง และสนธิกำลังร่วมกับโครงการชลประทานจังหวัดติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำจำนวน 20 เครื่อง บริเวณท้ายเขื่อนพิมายและฝายบ้านขามใต้ 8 เครื่อง เพื่อช่วยเร่งอัตราการไหลของน้ำเร่งระบายลงสู่ลำน้ำมูนให้เร็วยิ่งขึ้น

หลังคาเปิง – บ้านพักและโรงเรือนในพื้นที่ ต.กุดโบสถ์ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา ถูกพายุฝนถล่มลมหอบหลังคาปลิวเสียหายกว่า 40 หลังคาเรือน ชาวบ้านระบุเป็นพายุฝนที่พัดถล่มรุนแรงหนักในรอบ 10 กว่าปี เมื่อวันที่ 4 ก.ย.

เสิงสางลม-ฝนหนักรอบ 10 ปี
วันเดียวกันเจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 3 พร้อมด้วยหน่วยกู้ภัยฮุก 31 จุดอำเภอเสิงสาง จ.นครราชสีมา ลงปฏิบัติงานในพื้นที่ ช่วยชาวบ้านจัดเก็บเศษซากต้นไม้และซากบ้านเรือนที่ถูกลมฝนถล่มพังเสียหาย จากเมื่อช่วงเย็นวานนี้ (3 ก.ย. 2565) เกิดพายุฝนลงแรงพัดถล่มในพื้นที่ ต.กุดโบสถ์ อ.เสิงสาง ทำให้มีบ้านเรือนหลายหลังได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะ ม.6, ม.7, ม.13 ของ ต.กุดโบสถ์ แรงลมได้พัดเอาต้นไม้ล้มหักโค่นขวางถนน และทับบ้านเรือนประชาชนหลายจุด โดยหมู่ที่ 6 บ้านหนองแดงและหมู่ที่ 7 บ้านสมบัติเจริญ มีบ้านเรือนได้รับความเสียหายจากกระแสลม ที่พัดกระโชกเอาหลังคาและฝาบ้านเรือนกับสิ่งปลูกสร้างปลิวหายไปหลายหลัง นอกจากนี้ ยังมีต้นไม้ล้มทับบ้านและสิ่งปลูกสร้างเป็นจำนวนมาก ส่วนพืชผลทางการเกษตรก็ได้รับความเสียหายด้วยเช่นกัน เบื้องต้นพบมีมากกว่า 40 หลังคาเรือน

นายสมศักดิ์ ป้องปัญจมิตร ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 6 บ้านสมบัติเจริญ บอกว่า ลมพายุจะมาช่วงประมาณ 16.00 น. มาทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน ตอนแรกท้องฟ้ายังดูปกติ มีลมพัดแรงเท่านั้น แต่สักพักมีฝนตามมาด้วย กระแสลมกระโชกแรง ท้องฟ้ากลายเป็นสีแดงไปหมด ลมแรงมาก ตนอยู่ในบ้าน มองไปด้านหน้าและด้านหลังบ้าน เห็นต้นไม้ 20 กว่าต้น ล้มระเนระนาด น่ากลัวมาก พอฝนซา ก็มีชาวบ้านวิ่งมาแจ้งว่าบ้านถูกกระแสลมแรงพัดหลังคาเปิด บางคนก็แจ้งว่าต้นไม้ล้มทับบ้าน นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียน รพ.สต.ถูกต้นไม้ล้มทับได้รับความเสียหายด้วย นับเป็นพายุฝนที่พัดถล่มรุนแรงอย่างมากในรอบ 10 กว่าปี

ด้านนางแม้น สุอนามัย อายุ 70 ปี หนึ่งในผู้ประสบภัย เล่าว่า ลมพายุฝนพัดหมุนไปมารอบบ้าน แล้วอยู่ๆ ก็หอบเอาหลังคาบ้านปลิวหายไปหมด ตอนนั้นตนก็อยู่ในบ้านรู้สึกหวาดกลัวอย่างมาก ถูกฝนกระหน่ำเปียกแฉะไปหมด เสื้อผ้า-ข้าวของก็เปียกฝนทั้งหมดด้วยเช่นกัน

เมืองกาญจน์สั่งเตรียมพร้อม
ที่ จ.กาญจนบุรี นายกองเอก พงศธรศิริสาคร รองผวจ. รักษาราชการแทน/ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี/ผู้อำนวยการจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า จากคำเตือนร่องมรสุมพาดผ่านประเทศไทย ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ระหว่างวันที่ 5-9 ก.ย. จ.กาญจนบุรี เป็นจังหวัดที่ต้อง เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ ทองผาภูมิ สังขละบุรี หนองปรือ บ่อพลอยและเลาขวัญ

เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ จึงให้ กอปภ.อ. กอปภ. อปท. และหน่วยงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดำเนินการดังนี้ 1. ประชาสัมพันธ์แจ้งประชาชนในพื้นที่ให้ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศ และข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง เฝ้าระวังสถานการณ์ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และปริมาณฝนสะสมที่ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก ให้รีบแจ้งเตือนภัยประชาชนในพื้นที่เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ทันที

2. หากเกิดสถานการณ์สาธารณภัยขึ้นในพื้นที่ ให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทันทีโดยประสานจัดกำลังจิตอาสาเข้าร่วมปฏิบัติงานด้วย พร้อมทั้งแจ้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรีทราบทันที ทางหมายเลข โทรศัพท์/โทรสาร 0-3451-5998 และ 0-3451-6795 หรือทางจดหมายอิเล็ก ทรอนิกส์ dpm [email protected] th และแอพพลิเคชั่นไลน์ รายงานสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี สำหรับอำเภอ ขอให้แจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เช่นเทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล ทราบและดำเนินการด้วย

จมนับเดือน – แม่น้ำน้อยล้นตลิ่งในพื้นที่ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ยังท่วมสูงกว่า 2 เมตร ปริ่มใต้ถุนบ้านมานานนับเดือน แม้เขื่อนเจ้าพระยาเริ่มลดการระบายน้ำลงท้ายเขื่อน แต่ระดับน้ำในพื้นที่ยังไม่ลดลง เมื่อวันที่ 4 ก.ย.

ชาวกรุงเก่าขนของไว้บนถนน
ขณะที่สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบว่าเขื่อนเจ้าพระยาปรับลดการระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อนเป็น วันที่ 2 โดยระบายน้ำลงสู่ท้ายเขื่อนที่ 1,598 ลบ.ม./วินาที ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านจังหวัดพระนครศรี อยุธยาไหลลงสู่คลองสาขาแม่น้ำน้อยที่รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับลดลงเฉลี่ยประมาณ 5-10 ซ.ม. แต่บ้านเรือนชาวบ้านที่อาศัยอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อย และคลองที่รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ยังคงถูกน้ำท่วมสูงประมาณ 2 เมตร ถึงแม้ระดับน้ำจะเริ่มลดลง

ในพื้นที่ของ ต.บางหลวงโดด อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบน้ำท่วม จำนวน 4 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตร 804 ไร่ ถูกน้ำท่วมขังสูงประมาณ 2 เมตรมานานกว่า 1 เดือนแล้ว โดยพบว่าสวนกล้วยที่ปลูกเอาไว้ถูกน้ำท่วมเสียหาย ต้นกล้วยและเครือกล้วย เริ่มเน่า แล้ว

ส่วนที่ ต.บ้านกระทุ่ม อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา บ้านเรือนชาวบ้านถูกน้ำจากแม่น้ำน้อยล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านจำนวน 9 หมู่บ้าน ประชาชนต้องอาศัยริมถนนสายเสนา-ผักไห่ พักอาศัย ถนนทางเข้าชุมชนหมู่บ้านยังคงถูกน้ำท่วมต้องใช้เรือพายในการเข้าออก รถยนต์ รถจักรยานยนต์นำมาจอดไว้บนถนน

ตรังปิดน้ำตกอ่างทอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.ตรัง ฝนที่ตกสะสม 2-3 วันที่ผ่านมาประกอบกับเมื่อคืนนี้มีฝนตกหนักเกือบทั้งคืน ทำให้น้ำจากน้ำตกอ่างทอง หลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่หมู่ 1 หมู่ที่ 2 หมู่ 3 และหมู่ที่ 6 ต.นาเมืองเพชร อ.สิเกา กว่า 15 หลังคาเรือน นอกจากนี้ กระแสน้ำยังไหลเข้าท่วมพื้นที่สวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมันอีกกว่า 500 ไร่

โดยวันนี้ ระดับน้ำเอ่อล้นคลองสว่าง หมู่ที่ 2 บ้านเขาแก้ว ต.นาเมืองเพชร อ.สิเกา ทำให้ถนนสายตรัง-สิเกา ช่วงหน้าวัดเขาแก้ว มีน้ำท่วมสูงตั้งแต่ 10-30 ซ.ม. แต่รถเล็กยังสามารถผ่านได้ ยกเว้นถนนทางเข้าหมู่บ้านในหมู่ที่ 1 ต.นาเมืองเพชร น้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร ชาวบ้านต้องใช้เส้นทางอื่นแทน ส่วนบ้านเรือนประชาชนมีน้ำท่วมสูง 10-60 ซ.ม. ซึ่งตอนนี้ฝนหยุดตก ท้องฟ้าแจ่มใส ทำให้กระแสน้ำป่าเริ่มลดระดับลง แต่ยังไหลเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำใน ต.นาโต๊ะหมิง และต.บางรัก อ.เมืองตรัง ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำต่อไป

และหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มในช่วงเย็นวันนี้ ระดับน้ำจะลดลงจนกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ยังคงปิดการท่องเที่ยวน้ำตกอ่างทอง เนื่องจากกระแสน้ำไหลท่วมที่พักและลานนั่งเล่น หวั่นเกิดอันตรายจากน้ำป่าอีกระลอก

ลำปาง 5 อำเภอเตรียมพร้อม
นายจำลักษ์ กันเพ็ชร์ รองผู้ว่าฯ ลำปาง ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าฯ ลงนามในหนังสือด่วนที่สุดถึง นอภ.13 อำเภอ นายกเทศมนตรี อบต.ทุกแห่งและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ด้วยกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปาง ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยงตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา มีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล และภาคใต้ ให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมขัง โดยระหว่างวันที่ 4-10 ก.ย. ซึ่ง จ.ลำปางมีพื้นที่เฝ้าระวัง 5 อำเภอ ได้แก่ อ.สบปราบ วังเหนือ เมืองปาน แจ้ห่ม และ อ.ห้างฉัตร

เพื่อเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ ให้อำเภอเทศบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้ 1. ติดตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่แต่ละจุดอย่างใกล้ชิด รวมถึงเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักหรือบริเวณฝนสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัยได้ 2.หากเกิดเหตุสาธารณภัย และส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินในพื้นที่ใดให้เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย เข้าสำรวจความเสียหายและดำเนินการตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว พร้อมทั้งรายงานการดำเนินการให้กองอำนวยการ ปภ.ลำปาง ภายใน 24 ชั่วโมง โทร.0-5426-5074

รับมือท่วม – ทหารสังกัด ทบ. ร่วมกับจนท.กรมเจ้าท่า และกทม. เร่งกำจัดผักตบชวาตามคูคลองในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เปิดทางน้ำให้ไหลสะดวก เตรียมพร้อมรับน้ำเหนือที่กำลังหลากใกล้เข้ามา เมื่อวันที่ 4 ก.ย.

ทบ.ช่วยเก็บผักตบชวา
พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) สั่งการให้ทุกหน่วยทหารของกองทัพบก ได้ประสาน กับทุกภาคส่วน เร่งปฏิบัติตามบัญชา ของรมว.กลาโหม ที่ให้เตรียมการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจากภาวะฝนตกหนัก ต่อเนื่อง น้ำหลากและเตรียมการรับ มวลน้ำเหนือที่กำลังไหลลงสู่พื้นที่ภาคกลางลุ่มเจ้าพระยาโดยด่วน เพื่อให้ทันต่อการป้องกันอุทกภัยและลดผลกระทบที่ จะเกิดขึ้นกับประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีคูคลองและมีผักตบชวาจำนวนมาก อาจเป็นอุปสรรคและทำให้ประสิทธิภาพการระบายน้ำของ คูคลองลดลง จะส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในแต่ละพื้นที่ได้

ขณะนี้ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบก ได้อำนวยการและขับเคลื่อนตามนโยบายเร่งด่วนดังกล่าว โดยมอบให้กองทัพภาคที่ 1 และหน่วยทหารที่รับผิดชอบพื้นที่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ประสานการปฏิบัติกับทุกหน่วยงานในจังหวัดเสี่ยงและกทม. ที่มีเรือเก็บขยะวัชพืชทางน้ำขนาดใหญ่ โดยกองทัพบกจะส่งกำลังพลและยุทโธปกรณ์ทางการช่างเข้าร่วมสนับสนุน เพื่อปฏิบัติการเก็บ ผักตบชวาเก็บวัชพืช เศษขยะในแม่น้ำลำคลองสายหลักในพื้นที่กทม., ปริมณฑล และจังหวัดริมเจ้าพระยา เพื่อสามารถรองรับปริมาณน้ำจำนวนมากและเปิดทางไหลของน้ำในแม่น้ำให้สะดวกรวดเร็ว

เบื้องต้นในระหว่าง 5-6 ก.ย. กองทัพ ภาคที่ 1 จะส่งกำลังทหาร 50 นาย เข้าสนับสนุนการกําจัดผักตบชวาและ สิ่งกีดขวางทางน้ำตามการร้องขอจาก กทม. ในพื้นที่เขตบางเขน บริเวณคลองหนอง บัวบาน (ร.ร.รัตนโกสินทร์สมโภช-คลองหนองบัวบาน) ระยะทางประมาณ 400 เมตร นอกจากนี้สำนักการระบายน้ำ สำนักงาน สิ่งแวดล้อม กทม. กรมเจ้าท่า กองทัพบก และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง มีกำหนด จัดประชุมร่วมเพื่อกำหนดรายละเอียดในแผนปฏิบัติการจัดเก็บผักตบชวาอย่างเร่งด่วนในพื้นที่ กทม. ใน 5 และ 6 ก.ย. นี้

ช่วยระทึก – คุณยายวัย 72 ปี พร้อมลูกและหลานสาวรวม 3 ชีวิต ต้องอยู่ในบ้านที่ถูกน้ำท่วมสูง หลังเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ ต.บางพึ่ง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ล่าสุดเทศบาลเมืองลัดหลวงช่วยสูบออกแล้ว เมื่อวันที่ 4 ก.ย.

ช่วยยาย 72 น้ำท่วมบ้าน
วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาลเมืองลัดหลวง จ.สมุทรปราการ เข้าช่วยเหลือนางสมศรี เลิศวิไลนริศ อายุ 72 ปี ซึ่งพักอาศัยอยู่กับลูกสาวและหลานสาวเพียง 3 คน ที่บ้านเลขที่ 77/2 หมู่ที่ 19 ซอยสุขสวัสดิ์ 64 แยกที่ 4 ถนนสุขสวัสดิ์ ต.บางพึ่ง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ หลังช่วงค่ำคืนที่ผ่านมามีฝนตกหนักในพื้นที่จนน้ำท่วมบ้าน สิ่งของภายในบ้านได้รับความเสียหาย พบน้ำท่วมขังสูงประมาณ 50 ซ.ม. ถึงห้องนอนไม่สามารถนอนได้ ทั้ง 3 ชีวิตต้องนั่งดูน้ำที่ท่วมอยู่ทั้งคืน

นางสมศรีเล่าว่า “ฝนตกตอนประมาณ ตีสามกว่าๆ ตกแรงมาก ทั้งลม ทั้งฝน ทั้งฟ้าร้อง พอฝนตกแป๊บเดียวน้ำก็ได้ ท่วมบ้านยาย ท่วมจากถนนเข้ามา พอฝนตกยายรู้เลยว่าน้ำต้องท่วมแน่ พอน้ำเริ่มเข้ามาในบ้านยายก็เริ่มเก็บของที่ยายพอ เก็บไหว เครื่องซักผ้าน้ำท่วมครึ่งตู้ ห้องครัวจมน้ำหมดเลย และครั้งนี้น้ำไหลเข้าห้องนอน ครั้งที่แล้วน้ำไม่เข้าห้องนอน ตอนนี้ยายรอคนมาช่วยดูดน้ำ เวลาที่น้ำเข้าบ้าน ยายจะเหนื่อยมากคอยภาวนาฝนอย่าตกเลย ถ้าตกก็ตกน้อยๆ

เจ้าหน้าที่นำเครื่องสูบน้ำมาสูบน้ำภายในบ้านระบายออกมาใส่ท่อระบายน้ำถนนหน้าบ้าน ใช้เวลาประมาณกว่า 1 ชั่วโมงกว่าจะสูบน้ำออกมาจนแห้ง แต่ก็เต็มไปด้วยความยุ่งยากลำบาก เพราะท่อระบายน้ำที่ออกไปสู่คลองแขกก็มีน้ำท่วมสูงเช่นเดียวกัน จึงทำให้การระบาย น้ำออกมาจากบ้านคุณยายต้องใช้เวลานาน แต่สุดท้ายก็ช่วยเหลือได้สำเร็จ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน