สายสีชมพูทำวุ่นต้นเหตุน้ำขังสูง สั่งเร่งกู้ ร.ร.จม

พ่อเมืองนนท์ยัวะโครงการรถไฟฟ้าสีชมพูทำน้ำท่วมชุมชน-โรงเรียน ขีดเส้นแก้ไขปัญหาให้ได้ใน 1 คืน ศูนย์ปฏิบัติการนํ้าอัจฉริยะประชุมทางไกลทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับมือฝนหนัก ‘จิสด้า’ เปิดแผนที่ดาวเทียม ‘ลุ่มน้ำโขงชีมูน’ จมแล้วนับแสนไร่ อุตุฯ แจ้งเตือนฝนหนักถึงหนักมากทั่วทั้งประเทศ ส่วนพัทยา-บางละมุงแทบทุกถนนรวมถึงสุขุมวิทน้ำเต็มทาง

เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 5 ก.ย. น.ส.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาส กรมอุตฯ เรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย และคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบน (มีผล กระทบตั้งแต่วันที่ 5-9 กันยายน 2565) ระบุว่า ร่องมรสุมกำลังแรงเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น

ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณ ดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 5-9 ก.ย.

วันเดียวกัน สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า (GISTDA) เผยข้อมูลจากดาวเทียม Radarsat-2 (เรดาร์แซท-2) ในวันที่ 4 ก.ย. ที่ผ่านมา พบน้ำท่วมขังในพื้นที่บางส่วนของลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูน และลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งสิ้น 224,094 ไร่ บริเวณ จ.ร้อยเอ็ด 68,396 ไร่ จ.สุรินทร์ 22,538 ไร่ จ.ยโสธร 18,683 ไร่ จ.มหาสารคาม 17,917 ไร่ จ.ศรีสะเกษ 16,609 ไร่ จ.อุดรธานี 13,273 ไร่ จ.อุดรธานี 13,273 ไร่ จ.หนองคาย 13,117 ไร่ จ.นครพนม 11,471 ไร่ จ.บึงกาฬ 10,223 ไร่ จ.สกลนคร 9,806 ไร่ จ.กาฬสินธุ์ 8,908 ไร่ จ.อุบลราชธานี 8,870 ไร่ จ.บุรีรัมย์ 3,255 ไร่ และ จ.อำนาจเจริญ 1,028 ไร่ ในขณะที่พื้นที่ปลูกข้าวกระทบแล้วกว่า 122,107 ไร่

สถานการณ์ดังกล่าว จิสด้าส่งข้อมูลภาพจากดาวเทียมดังกล่าวให้กับหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ เพื่อนำไปใช้สนับสนุนในการบริหารจัดการตามภารกิจ ทั้งด้านการวางแผน และการติดตาม เพื่อประเมินสถานการณ์ต่อไป สำหรับการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมขัง จิสด้าวางแผนและปรับแผนรับสัญญาณดาวเทียม เพื่อวิเคราะห์ ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง สามารถตรวจสอบพื้นที่อื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ http://flood.gistda.or.th

ที่ห้องประชุมพนมเบญจา ศาลากลางจังหวัดกระบี่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรักษาการนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำ การคาดการณ์ และการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคใต้ จ.กระบี่ พร้อมมอบนโยบายตอนหนึ่งว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักในหลายพื้นที่บริเวณภาคใต้ของประเทศไทย อาจเกิดอุทกภัย น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก รัฐบาลมีความห่วงใย ผลกระทบต่อประชาชน กำชับให้หน่วยงานต่างๆ ร่วมดำเนินการ จัดทำแผนเผชิญเหตุรับมือล่วงหน้า หากเกิดเหตุอุทกภัยขึ้น รวมถึงการวางแผนอย่างเป็นระบบ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในระยะยาว โดยให้สทนช. กรมชลประทาน และจังหวัดกระบี่ ดำเนินการตามแผนรับมือฤดูฝนทั้ง 13 มาตรการอย่างเคร่งครัด และดำเนินการตามแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมปี 2565 ที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้เห็นชอบไว้

ที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ฝนตกในพื้นที่ต่อเนื่อง ส่งผลให้น้ำหลากในพื้นที่ ต.แม่อาย ม.4-5 ท่วมถนนทางหลวง ตั้งแต่หน้าที่ว่าการอำเภอแม่อายถึงสะพานข้ามลำน้ำอาย, ต.มะลิกา ม.3-5 และ 8 น้ำหลากท่วมถนนทางหลวง บริเวณหน้าโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 12 ถึงหน้าโรงเรียนบ้านสันป่าเหียว, ต.แม่นาวาง ม.11 บ้านท่าปู น้ำหลากเข้าบ้านเรือนและพื้นที่เกษตร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ระหว่างการสำรวจและตรวจสอบความเสียหาย เพื่อให้ความช่วยเหลือและประกาศเขตพื้นที่สาธารณภัยต่อไป

ส่วนสภาพอากาศในพื้นที่ จ.พะเยา ตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงช่วงบ่าย เกิดฝนฟ้าคะนองลมพัดกระโชกแรง ฝนตกหนัก ส่งผลกระทบให้ที่ราบลุ่มและถนน หลายพื้นที่ถูก น้ำป่าไหลหลากท่วมขังหลายพื้นที่ บางพื้นที่ถูกน้ำท่วมขัง ทำให้ทรัพย์สินได้รับความเสียหายไป โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ตัวเมืองพะเยา น้ำป่าไหลหลากท่วมถนนสายพหลโยธินระหว่าง ต.เวียง และต.ต๋อง บริเวณจุดหน้าวัดศรีโคมคำ ระดับน้ำสูง 20-50 เซนติเมตร ทำให้การจราจรติดขัด

ขณะเดียวกันน้ำป่ายังหลากจากที่สูงไหลลงมารวมกันภายในบริเวณสถานีขนส่งในตัวเมืองพะเยาระดับน้ำสูงตั้งแต่ 30 เซนติเมตร ถึง 1.50 เมตร ทำให้ยานพาหนะทั้งรถเล็กรถใหญ่และรถมอเตอร์ไซค์ที่จอดไว้ภายในลานจอดรถถูกน้ำท่วมขังได้รับความเสียหายหลายสิบคัน นางสุมิตรา กัณฑมิตร นายกเทศมนตรีเมืองพะเยา พร้อมเจ้าหน้าที่นำเอาเครื่องจักรเครื่องสูบน้ำออกจากถนนและสถานีขนส่ง พร้อมกับเตรียมเครื่องมือสูบน้ำรอรับสถานการณ์น้ำฝนที่ยังตกลงมา ท่ามกลางบรรยากาศทั่วไปบนท้องฟ้ายังคงปกคลุมไปด้วยเมฆฝนอากาศปิดและมีฝนตกตลอดต่อเนื่องทั้งวัน

ขณะที่หมวดทางหลวงปากช่องที่ 1 แขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ 2 แจ้งมาว่า ทางหลวงหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพ ตอน บ่อทอง- มอจะบก ช่วง ก.ม.ที่ 83+100-ก.ม.83+200 บริเวณสวนท้าวสุรนารี ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง ฝั่งด้านซ้ายของเส้นทาง มีระดับน้ำท่วมขังสูงกว่า 30 เซนติเมตร เนื่องจากมีฝนตกหนัก ยานพาหนะเคลื่อนตัวได้ช้า ส่วนรถขนาดเล็กไม่สามารถสัญจรผ่านได้ เจ้าหน้าที่หมวดทางหลวงฯ ต้องช่วยกันอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน นำรถเปิดไฟวับวาบแจ้งเตือนให้ผู้ที่สัญจรป่าจุดดังกล่าวเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ วางกรวยยางเป็นแนวกั้นในจุดที่มีน้ำท่วมขังสูง พร้อมกับจัดเจ้าหน้าที่คอยช่วยโบกรถกำกับเส้นทางเพื่อความปลอดภัยด้านการจราจร

จมพัทยา – ฝนที่ถล่มลงมาอย่างหนักตลอดทั้งคืน ส่งผลให้หลายพื้นที่ในเมืองพัทยามีระดับน้ำสูง ถนนหลายสายโดยเฉพาะย่านประกอบการสถานบันเทิงมีน้ำท่วมขัง รถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่สัญจรผ่าน ได้รับความเสียหายจำนวนมาก เมื่อคืนวันที่ 4 ก.ย.

ส่วนในพื้นที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ฝนตกลงมาอย่างหนักติดต่อกันเป็นเวลากว่า 1 ชั่วโมง ประกอบกับมีลมกระโชกแรง ส่งผลให้เกิดมวลน้ำเอ่อขึ้นท่วมขังหลายจุด โดยเฉพาะจุดเดิมที่เคยท่วมอยู่เป็นประจำ เช่น บนถนนสุขุมวิท พัทยาใต้ ถนนสายเลียบหาดพัทยา ถนนซอยบัวขาว ถนนคนเดินวอล์กกิ้งสตรีต พัทยาใต้ ถนนสายสามบริเวณแยกเพนียดช้าง หรือแยกมุมอร่อย รวมถึงถนนเส้นเลียบทางรถไฟช่วงซอยเขาตาโลถึงวัดธรรมสามัคคี สูง 30 เซนติเมตร ถึงกว่า 1 เมตร ในบางจุด เจ้าหน้าที่เทศกิจเมืองพัทยาใช้แผงเหล็กพร้อมเปิดสัญญาณไฟเตือน ห้ามรถที่มีขนาดเล็กผ่านโดยเด็ดขาด เนื่องจากมีน้ำท่วมสูงเกรงว่าจะเกิดอันตราย

วันเดียวกัน นายคม แสงบำรุง ผอ.สำนักกองช่างเทศบาลนครนนทบุรี พร้อมเจ้าหน้าที่ปภ.เทศบาลนครนนทบุรี ระดมรถสูบน้ำขนาดใหญ่สูบน้ำออกจากโรงเรียนสมาน พิชากร ภายในติวานนท์ 45 ต.ท่าทราย อ.เมือง จ.นนทบุรี ตั้งแต่กลางดึกที่ผ่านมา พร้อมกับนำกระสอบทรายจำนวน 1 พันถุง มาวางป้องกันในส่วนของห้องพักครูบางส่วนที่ยังไม่ได้รับความเสียหาย หลังถูกน้ำท่วมสูงจากผลกระทบโครงการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพูบริเวณหน้าปากซอยทำให้เศษวัสดุทราย ดิน หิน จำนวนมากเข้าไปอุดตัน ท่อระบายหลักของชุมชนทำให้น้ำไม่มีทางระบายออกหลังเกิดฝนตกหนัก ล่าสุดจากฝนที่ตกเพิ่มเติมทำให้ระดับน้ำสูงขึ้นเป็น 50 เซนติเมตร จากเมื่อวันที่อยู่แค่ 30 เซนติเมตร และไม่มีทีท่าว่าจะลดระดับลง

ท่วมร.ร. – น.ส.สุจิตรา ไหมพรม ผอ.ร.ร.สมานพิชากร ติวานนท์ 45 อ.เมือง จ.นนทบุรี ชี้สภาพโรงเรียนที่ถูกน้ำท่วมขังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูก่อสร้างสถานี ทำให้เศษวัสดุทราย ดิน หิน จำนวนมากเข้าไปอุดตันท่อระบายน้ำ เมื่อวันที่ 5 ก.ย.

น.ส.สุจิตรา ไหมพรม ผอ.โรงเรียน เผยว่า นับตั้งแต่ทำงานที่โรงเรียนแห่งนี้มานานกว่า 30 ปี เพิ่งจะเคยเจอเหตุการณ์น้ำท่วมโรงเรียนเป็นครั้งแรก จากเดิมที่ต่อให้ฝนตกหนักแค่ไหนน้ำระบายออกได้ดี กระทั่งมีการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าที่หน้าปากซอย ระดับน้ำที่ท่วมขังในวันนี้สูงขึ้นมากกว่าเมื่อวานนี้เพราะฝนตกมาเพิ่มตลอดทั้งคืน ทำให้ทางโรงเรียนอาจจะต้องเลื่อนเปิดการเรียนการสอนออกไปอีกหนึ่งสัปดาห์ เพราะต้องดูว่าปัญหาน้ำที่ท่วมขังจะได้รับการแก้ไขคลี่คลายได้เมื่อไร ตอนนี้ทางโรงเรียนเดือดร้อนมากกว่าเดิมจากระดับที่ท่วมสูงขึ้นจนทำให้ไหลเข้าห้องเรียนได้รับความเสียหายทั้งหมด และยังไม่มีตัวแทนของโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูลงมาช่วยเหลือ หรือแก้ไขปัญหาให้ทางโรงเรียน นับตั้งแต่ถูก น้ำท่วมมาตั้งแต่เมื่อเช้าวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา

ต่อมา นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผวจ.นนทบุรี พร้อมนายสมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรีเทศบาลนครนนทบุรี ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณงานก่อสร้างสถานีขึ้นลงรถไฟฟ้าสายสีชมพู หน้าปากซอยติวานนท์ 45 จุดปัญหาที่ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในชุมชนจากเศษวัสดุของงานก่อสร้าง หิน ดิน ทราย เข้าไปอุดตันท่อระบายน้ำหลักของชุมชนจนทำให้เกิดน้ำท่วมขัง และเรียกผู้ดูแลรับผิดชอบโครงการมาซักถามรายละเอียดเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยสีหน้าเคร่งเครียด

นายสุจินต์ เผยว่า ผู้รับเหมาโครงการทำเรื่องขอเปลี่ยนเส้นทางระบายน้ำในจุดดังกล่าว แต่ปรากฏว่าเส้นทางระบายน้ำใหม่ที่จะใช้แทนกลับมีเศษวัสดุต่างๆ เข้าไปอุดตันตามท่อตลอดแนวเป็นสาเหตุให้น้ำในชุมชนระบายออกไม่ทัน ส่งผลกระทบสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านในชุมชน สั่งกำชับไปแล้วว่า ในวันนี้ทางโครงการจะต้องเร่งแก้ไขระบายน้ำท่วมขังในชุมชนแห่งนี้ออกไปให้หมดก่อนเที่ยงคืน หากแก้ไขไม่ได้จะมีคำสั่งให้ชะลองานก่อสร้างในจุดนี้ออกไป จนกว่าจะแก้ไขปัญหาการระบายน้ำในชุมชนให้แล้วเสร็จ

วันเดียวกัน ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน ถนนสามเสน นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ ปภ. สำนักการระบายน้ำ กทม. กฟผ. ติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

นายธเนศร์ เผยว่า ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 49,002 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 64 ของความจุอ่างฯ ยังสามารถรับน้ำได้อีก 27,087 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 13,530 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 54 ของความจุอ่างฯ สามารถรับน้ำได้อีก 11,342 ล้าน ลบ.ม.

เปิดทางน้ำ – ทหารกองทัพภาคที่ 1 ส.ก. และเจ้าหน้าที่กทม. ร่วมกันเก็บผักตบในคลองหนองบัวบาน หน้าร.ร.รัตนโกสินทร์ สมโภชบางเขน เพื่อเปิดทางระบายน้ำ ซึ่งการทำงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะวัชพืชปกคลุมแน่นหนามาก เมื่อวันที่ 5 ก.ย.

จากการคาดการณ์ของกรุมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 5-9 ก.ย. ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง ทั้งนี้ ในช่วงเดือนก.ย. ประเทศ ไทยจะมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น กรมชลประทาน พิจารณาปรับลดหรือเพิ่มการระบายน้ำในอ่างเก็บน้ำให้สอดคล้องกับการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ ยังกำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากคาดว่าจะมีปริมาณฝนสูงกว่าค่าปกติ

พร้อมจัดเจ้าหน้าที่ เครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องผลักดัน ประจำจุดพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขัง ให้สามารถใช้งานได้ทันที รวมทั้งตรวจสอบความพร้อมของอาคารชลประทานและพนังกันน้ำให้อยู่ในสภาพใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ หมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิการระบายน้ำ และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้รับทราบสถานการณ์น้ำล่วงหน้าอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน